เลือกตั้งผู้ว่าฯ : กรุงเทพมหานคร กับ เชียงใหม่มหานคร

30 ธันวาคม 2555 22:30 น.

       ท่ามกลางกระแสข่าวที่แพร่สะพัดไปทั่วประเทศถึงข่าวคราวการเตรียมการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครของพรรคการเมืองใหญ่ที่จะมาถึงในต้นปี 2556 นี้ ได้สร้างความสนใจขึ้นอย่างมากมายให้แก่ประชาชนคนไทยที่อยู่ในกรุงเทพมหานครและคนที่อยู่นอกกรุงเทพมหานคร(ผมไม่ใช้คำว่า “คนต่างจังหวัด”เพราะคนกรุงเทพก็คือ “คนต่างจังหวัด”ของคนจังหวัดอื่นเช่นกัน)
       ประเด็นที่นอกเหนือจากที่ว่าพรรคใดจะส่งใครเข้าสมัคร ใครมีคะแนนจากการสำรวจความคิดเห็นว่ามีคะแนนเหนือใคร ฯลฯ แต่มีประเด็นหนึ่งที่สื่อมวลชนไม่ว่าจะเป็นสื่อกระแสหลักหรือสื่ออื่นใดไม่กล่าวถึงเลย ทั้งๆที่ผู้คนในจังหวัดอื่นนอกกรุงเทพมหานครมีคำถามค้างคาใจอยู่ตลอดมาว่า “ทำไมคนกรุงเทพเลือกผู้ว่าฯของตนเองได้ แล้วคนจังหวัดอื่นทำไมเลือกผู้ว่าฯของตนเองไม่ได้” ประหนึ่งว่าเขาเหล่านั้นเป็นพลเมืองชั้นสองของประเทศนี้
       
       คำอธิบายที่ออกมาจากไม่ว่าจากภาครัฐหรือนักวิชาการตกยุคต่างพร่ำบอกว่าหากให้คนจังหวัดอื่นนอกจากกรุงเทพมหานครเลือกผู้ว่าฯแล้วจะเกิดความวุ่นวาย กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ รัฐไทยเป็นรัฐเดี่ยว นักเลงครองเมือง รู้อยู่แล้วว่าตระกูลไหนจะได้เป็นหากให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ซื้อสิทธิขายเสียง เตะหมูเข้าปากหมา ทุจริตคอรัปชันจะเพิ่มขึ้น รายได้ไม่เพียงพอ ฯลฯ ประเด็นที่ตอกย้ำอยู่เสมอเป็นสูตรสำเร็จก็คือ “ประชาชนยังไม่พร้อม”
       
       ผมเคยถูกเชิญให้ไปชี้แจงเรื่องแนวความคิด ร่าง พรบ.เชียงใหม่มหานครต่อคณะกรรมาธิการร่วมระหว่างคณะกรรมาธิการปกครองและคณะกรรมาธิการทหารของวุฒิสภา ซึ่งประกอบไปด้วยอดีตข้าราชการเกษียณอายุหลายคน หลายคนเป็นอดีตผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งผมก็ให้เหตุผลแก้ข้อสงสัยข้างต้น(สามารถหาอ่านได้จาก “มายาคติและข้อสงสัยในการยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค” http://www.pub-law.net/publaw/view.aspx?id=1663)
       ที่ประชุมกรรมาธิการส่วนใหญ่รับฟังและให้ข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ พร้อมทั้งเชื่อว่าร่าง พรบ.ดังกล่าวเป็นวิวัฒนาการทางการเมืองการปกครองของไทยที่กำลังจะก้าวไปข้างหน้า แต่ก็มีบางคนที่ยังฝังใจและหลงภาพในอดีตเก่าๆว่าประชาชนยังไม่พร้อม เมื่อผมยกตัวอย่างเปรียบเทียบการปกครองของญี่ปุ่นที่เป็นรัฐเดี่ยวเหมือนไทย มีสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นประชาธิปไตยในระบบรัฐสภาแบบอังกฤษเหมือนกัน เป็นชาวเอเชียเหมือนกัน ที่สำคัญก็คือสมัยรัชกาลที่ 5 ความเจริญของไทยกับญี่ปุ่นไกล้เคียงกัน รถไฟเข้ามาพร้อมๆกัน(แต่เดี่ยวนี้ญี่ปุ่นมีชินกันเซนแล้ว) แต่ญี่ปุ่นก็ไม่มีราชการส่วนภูมิภาค มีเพียงราชการส่วนกลางกับส่วนท้องถิ่นเต็มพื้นที่ กรรมาธิการนายหนึ่งบอกว่า “ไม่ได้หรอก คนไทยไม่เหมือนคนญี่ปุ่น” เพียงเท่านั้นผมก็ไม่รู้จะอธิบายเพิ่มเติมอะไรอีกเพราะคงไม่สามารถเปลี่ยนแปลงทัศนคติที่ดูถูกประชาชนของเขาได้
       
       หากเรากลับมาพิจารณาเปรียบเทียบระหว่างกรุงเทพกับจังหวัดอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเชียงใหม่แล้ว ผมไม่เห็นว่าคนกรุงเทพกับคนเชียงใหม่จะมีความแตกต่างกันแต่อย่างใด มิหนำซ้ำเชียงใหม่มีอายุตั้ง 716 ปีแล้ว แต่กรุงเทพอายุเพียง 230 ปีเท่านั้นเอง จิตสำนึกทางการเมืองเมื่อเปรียบเทียบเชิงตัวเลขกันแล้วก็สูงกว่าตั้งมากมาย เดี๋ยวนี้ในตลาดร้านค้าไม่ว่าจะเป็นกาดหลวง กาดพะยอมหรือแม้แต่กาดอมก๋อย รถสามล้อ แท็กซี่ สองแถว ตุ๊กๆ เขาไม่คุยกันแล้วเรื่องละครน้ำเน่า แต่เขาคุยกันในเรื่องการเมือง และเป็นการเมืองลึกๆที่สื่อกระแสหลักไม่กล้าลงเสียด้วยซ้ำไป
       
       พูดถึงคุณวุฒิทางการศึกษาเฉลี่ยก็ไม่แตกต่างกันสักเท่าไหร่ ซึ่งในเรื่องคุณวุฒิการศึกษานี้จริงๆแล้วผมไม่เคยเชื่อว่าจะเป็นส่วนสัมพันธ์กับจิตสำนึกหรือความตื่นตัวทางการเมืองแต่อย่างใด ดังจะเห็นได้จากอินเดียที่ประชาชนมีอัตราการไม่รู้หนังสือสูงกว่าไทยเราตั้งมากมาย แต่อินเดียไม่เคยมีการปฏิวัติรัฐประหารแต่อย่างใด มิหนำซ้ำระบบการเมืองฝังรากตั้งแต่ระดับชาติลงมาถึงสถานศึกษาลงไปจนถึงชุมชนรากหญ้า
       
       แต่ที่แน่ๆในสถาบันการศึกษาของไทยที่มีผู้คนมีคุณวุฒิการศึกษาสูงเหล่านั้นพบว่าสถิติการออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งต่ำกว่าภายนอกรั้วมหาวิทยาลัยเสียด้วยซ้ำไป และระบบการบริหารงานในมหาวิทยาลัยเหล่านั้นไม่ได้เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตยเลย จากสถิติคดีที่การฟ้องร้องกันที่ศาลปกครองพบว่าอัตราการฟ้องร้องกันระหว่างบุคคลากรของมหาวิทยาลัยไม่ว่าจะเป็นการสรรหาผู้บริหาร การประเมินผลงาน ฯลฯ อยู่ในอันดับต้นๆ และถ้อยคำที่พิพาทฟ้องร้องกันนั้นแทบไม่น่าเชื่อว่าเป็นการทะเลาะกันของปัญญาชนชั้นสูงเสียด้วยซ้ำไป
       
       ที่น่าเศร้าไปกว่าในบางมหาวิทยาลัยที่มีการเรียนการสอนในสาขาวิชารัฐศาสตร์ถึงกับมีการถกกันภายในว่าหากประเทศไทยเรายกเลิกราชการส่วนภูมิภาคไปแล้ว บัณฑิตที่จบไปก็หมดโอกาสที่จะไปเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดหรือนายอำเภอ เป็นได้ก็เพียงปลัดเทศบาลหรือปลัด อบต. เท่านั้น ซึ่งผมก็ไม่รู้ว่าใช้สมองส่วนไหนคิด เพราะการปกครองท้องถิ่นนั้นคือหัวใจหลักของวิชาการเมืองการปกครองหรือวิชารัฐศาสตร์เสียด้วยซ้ำไป แต่ก็ไม่น่าแปลกอะไรนักเพราะคณะรัฐศาสตร์ของแต่ละมหาวิทยาลัยของไทยก็ใช้ตราสัญลักษณ์ของกระทรวงมหาดไทยคือ “ตราสิงห์”เป็นตราประจำคณะกันทั้งนั้นแล้วไปใส่สีเพิ่มเป็น สิงห์ดำ(จุฬา) สิงห์แดง(ธรรมศาสตร์) สิงห์ขาว(มช.) สิงห์ทอง(ราม) สิงห์เขียว(เกษตรศาสตร์) สิงห์ไพร (แม่โจ้) ฯลฯ ซึ่งว่ากันตามจริงแล้วผู้ที่จะเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดหรือนายอำเภอก็ไม่ได้รับเฉพาะผู้ที่จบรัฐศาสตร์เท่านั้น นิติศาสตร์หรือศาสตร์อื่นที่เกี่ยวข้องกับการบริหารก็เป็นได้
       
       ว่ากันตามจริงแล้วหลายคนกลัวที่จะได้คนขี้เหร่มาเป็นผู้ว่าที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งกรุงเทพมหานครก็มีผู้สมัครขี้เหร่ๆมาแล้วหลายต่อหลายคนแต่ก็ไม่เคยได้รับการเลือกตั้ง คนที่ได้รับการเลือกตั้งเข้ามาผมก็ไม่เห็นว่าจะมีใครขี้เหร่สักคนเดียว เช่น คุณสมัคร คุณอภิรักษ์ ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ ฯลฯ ส่วนจะชอบใจไม่ชอบใจก็เป็นเรื่องรสนิยมทางการเมืองของแต่ละบุคคล และผมก็เชื่อว่าในจังหวัดอื่นก็ย่อมเป็นเช่นเดียวกันเพราะเขาเลือกตั้งคนที่จะไปเป็นผู้นำเขากับมือเขาเอง มิใช่อยู่ที่การชี้นิ้วของคนไม่กี่คนดังเช่นที่ผ่านๆมา
       
       ถึงเวลาแล้วล่ะครับที่ไทยเราจะต้องก้าวไปข้างหน้า ฟิลิปปินส์ อินโด เขาเลือกตั้งผู้ว่ามาตั้งนานแล้ว ไทยเรายังมัวแต่ล้าหลังอยู่ อย่าว่าแต่การเป็นผู้นำอาเซียนเลยครับ ขอให้หนีบ๊วยของอาเซียนให้ได้เสียก่อนเถอะ
        
       ----------------


พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=1807
เวลา 22 พฤศจิกายน 2567 19:25 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)