|
|
วิธีทางกฎหมาย จากหัวข้อข่าวกรณีข้อกล่าวหาการทุจริตในสถาบันอุดมศึกษา 16 ธันวาคม 2555 21:16 น.
|
ครูกฎหมายปกครองได้สั่งไว้ว่า กฎหมายปกครองเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำ ถ้าต้องการมีความรู้ในกฎหมายปกครองต้องหมั่นติดตามศึกษาและขบคิดค้นคว้าเรื่องราวที่เกิดขึ้นในหัวข้อข่าวของหนังสือพิมพ์ประจำวัน ซึ่งจะปรากฏทัศนคติทางกฎหมายของประชาชนในสังคมและบ่งบอกสถานะภาพความเจริญของกฎหมายปกครอง ดังนั้นตามหัวข้อข่าวว่า จ่อสอบวินัยอธิการ’มมส.’ สร้างตึก-เบิกเงิน มิชอบ แสดงการใช้กฎหมายตรวจสอบหน่วยงานทางปกครองและปรากฏข่าวเพิ่มเติมอีก ๒ ฉบับ ซึ่งในแต่ละฉบับมีประเด็นเรื่องอำนาจหน้าที่ในการปฏิบัติของหน่วยงานทางปกครอง จึงเป็นวัตถุประสงค์ของบทความฉบับนี้เพื่อศึกษาพฤติการณ์ต่างๆที่ปรากฏในข่าวโดยเปรียบเทียบกับบทบัญญัติของกฎหมายเพื่อประโยชน์ในการติดตามข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์และเพื่อศึกษาวิธีทางกฎหมายสำหรับการแก้ไขปัญหาทุจริตที่เกิดขึ้นในสถาบันอุดมศึกษา
สรุปสาระสำคัญของหัวข้อข่าวมติชนรายวัน ฉบับวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๕ หน้าที่ ๑ จ่อสอบวินัยอธิการ’มมส.’ สร้างตึก-เบิกเงิน มิชอบ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ ๒๕ ตุลาคมที่ผ่านมา ผู้ตรวจเงินแผ่นดินภาค 7 ปฏิบัติราชการแทนผู้ว่าราชการแผ่นดิน ได้ลงนามในหนังสือประทับตราลับมาก ถึงบุคคลต่างๆและผู้ถูกกล่าวหาจำนวนทั้งสิ้น ๘ ราย แสดงถึงความประสงค์ของผู้ริเริ่ม (สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน) แจ้งพฤติการณ์ของผู้ถูกกล่าวหาไปยังหัวหน้าหน่วยงานสำคัญเพื่อดำเนินการตรวจสอบผู้ถูกกล่าวหาด้วยการใช้อำนาจของสภามหาวิทยาลัยมหาสารคาม อำนาจของคณะกรรมการการอุดมศึกษา อำนาจของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ อำนาจของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ปปช.) อำนาจของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) อำนาจของกระทรวงศึกษาธิการ และอำนาจของสำนักนายกรัฐมนตรี
เนื้อหาของข่าวได้ระบุว่า ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินอาศัยอำนาจตามมาตรา ๔๖[1] แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.๒๕๔๒ ซึ่งเป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๕๐ มาตรา ๓๐๑ วรรคท้าย ประกอบมาตรา ๓๐๒ (๓) พิจารณาแล้วเห็นชอบกับผลการตรวจสอบของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ๒ กรณี คือ กรณีการเบิกจ่ายเงินล่วงหน้าให้บริษัทเอกชนฯ และ กรณีเบิกจ่ายค่าตอบแทนพิเศษฯ เป็นข้อกล่าวหาต่ออธิการบดีฯ
จากเนื้อหาของข่าวในฐานะผู้อ่านที่ได้รับข้อมูลอย่างจำกัดและเชื่อมั่นในการพิสูจน์เนื้อหาตามอักษรที่ถูกต้อง ผู้เขียนสรุปข้อกล่าวหาที่เกิดขึ้นต่ออธิการบดีทั้ง ๒ กรณีเกิดขึ้นจากการกระทำทางปกครอง ๒ ประการ คือ
ประการที่ ๑ อธิการบดีกระทำการใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบก่อให้เกิดความเสียหายแก่เงินหรือทรัพย์สินของราชการ ซึ่งเป็นการกระทำละเมิดต่อหน่วยงานของรัฐ และผลของการกระทำละเมิดเป็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติ หน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริต
ประการที่ ๒ อธิการบดีกระทำการเป็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติ หน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริต
อธิการบดีเป็นข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาจึงมีหน้าที่ต้องรักษาวินัยข้าราชการตามความในมาตรา ๓๗[2] พรบ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา ดังนั้นข้อกล่าวหาเรื่องความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติ หน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริต จึงเป็นข้อหาการกระทำความผิดวินัยร้ายแรงตามมาตรา ๓๙[3] ของระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งตามสาระจากข่าวประจำวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๕ สรุปเหตุการณ์ได้ดังนี้
ประเด็นที่ ๑ การจัดทำเอกสารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินถึงหน่วยงานต่างๆ แสดงให้เห็นถึง ความประสงค์ของวิธีการตรวจสอบที่มีความต้องการให้หน่วยงานทางปกครองต่างๆได้พิจารณาใช้อำนาจทางปกครองของหน่วยต่างๆ ซึ่งเป็นการใช้อำนาจของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินโดยอาศัยอำนาจตามวรรคท้ายของมาตรา ๓๐๑[4] แห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ.๒๕๕๐ และเป็นการใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.๒๕๔๒ คือ การกล่าวหาให้ดำเนินคดีต่ออธิการบดี
ประเด็นที่ ๒ ข้อกล่าวหาทั้งสองกรณีเป็นการกล่าวหาใน เรื่องการใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบก่อให้เกิดความเสียหายแก่เงินหรือทรัพย์สินของราชการ เรื่องความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติ หน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด และเรื่องปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริต(หรือกระทำการทุจริต)
ในวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๕ พบการตอบรับของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาโดยรองเลขาธิการฯ ความว่า สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาได้รับหนังสือจากผู้ตรวจเงินแผ่นดินภาค ๗ (ปฏิบัติราชการแทนผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน) โดยจะตั้งกรรมการสอบวินัย และการพิจารณาให้ออกจากราชการไว้ก่อนหรือไม่นั้น ตามหลักการแล้วถ้าคดียังไม่ถึงที่สุดยังไม่ถือว่ามีความผิดตามกฎหมาย การปฏิบัติดังกล่าวเป็นการกระทำตามหน้าที่ที่กฎหมายกำหนด เพราะถ้าเพิกเฉยไม่ดำเนินการตั้งคณะกรรมการสอบวินัยย่อมนำความเสี่ยงมาสู่เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษาความว่า ผู้บังคับบัญชาผู้ใดเมื่อปรากฏว่ามีมูลที่ควรกล่าวหาว่า ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาผู้ใดกระทำผิดวินัย ละเลยไม่ดำเนินการทางวินัยตามหมวด ๖ ให้ถือว่า ผู้นั้นกระทำผิดวินัย
มติชนรายวัน ฉบับวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๕ หน้าที่ ๓ เชื่อนายกสภามมส.ฟันอธิการบดี
เมื่อวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๕ รองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา ให้ข่าวว่าในสัปดาห์หน้าจะหาบุคคลมาเป็นคณะกรรมการสอบวินัยอธิการบดี (มมส) แต่ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่าตามขั้นตอนของพรบ.ระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ นั้น เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษามีฐานะเป็นผู้บังคับบัญชาของอธิการบดีฯ น่าจะตั้งคณะกรรมการสอบวินัยอธิการบดีได้ แต่เนื่องจากมหาวิทยาลัยมี พรบ.เป็นของตนเอง หน้าที่นี้จึงเป็นของนายกสภามหาวิทยาลัย และถ้าสภามหาวิทยาลัยฯมีข้อบังคับหรือระเบียบว่าด้วยการดำเนินการทางวินัยกับอธิการบดี แม้ว่า สกอ.จะเป็นผู้บังคับบัญชา ก็ไม่สามารถดำเนินการถอดถอนได้เพราะต้องเป็นไปตามข้อบังคับของสภามหาวิทยาลัยฯ
เนื้อหาในหัวข้อข่าวดังกล่าวเป็นแรงกระตุ้นที่สำคัญทำให้เกิดบทความฉบับนี้ เพราะเนื้อหาของข่าวแสดงถึงสาระสำคัญที่ขัดแย้งต่อกันอย่างเด่นชัดของความเป็นเจ้าภาพที่แท้จริง จนเชื่อได้แน่ว่า ในเร็ววัน(หรือสัปดาห์หน้าตามข่าวของรองเลขาธิการฯ) ไม่มีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบวินัยอธิการบดีโดยคณะกรรมการการอุดมศึกษา เช่นเดียวกับเชื่อว่าไม่มีการสอบวินัยอธิการบดีด้วยอำนาจของสภามหาวิทยาลัยฯเพราะเหตุสภามหาวิทยาลัยฯมีเพียงอำนาจแต่งตั้งและถอดถอน เท่านั้น
การบังคับใช้กฎหมายนั้นเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตามบทบัญญัติของกฎหมาย แต่ภาพข่าวที่รายงานในหนังสือพิมพ์คงปรากฏเรื่องราวทำให้เกิดความเชื่อว่าไม่มีหน่วยงานที่เป็นเจ้าภาพที่แท้จริง เป็นเสมือนรถยนต์ที่อยู่ในสภาพเกียรว่าง ในขณะที่ไม่ปรากฏข่าวของหน่วยงานเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบดำเนินการตามกฎหมายในมาตรา ๔๖ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.๒๕๔๒ ซึ่งคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินได้แจ้งต่อพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดี คือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ คณะกรรมการ ปปช. และคณะกรรมการ ปปง. จึงเป็นตัวอย่างแสดงให้เห็นวิธีทางกฎหมายตามหัวข้อข่าวว่า สังคมสับสนในประเด็นของข่าว เพราะข่าวเกิดเหตุการณ์สำคัญ คือ การแจ้งข้อกล่าวหาให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดี แต่การนำเสนอข่าวกลับเป็นเรื่องอำนาจของการสอบวินัย เรื่องขั้นตอนการพักราชการในขณะที่มีการสอบวินัย ตลอดจนเกิดประเด็นใหม่ในเรื่องศีลธรรมจรรยาบรรณ รวมทั้งการทำหน้าที่ของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในสภามหาวิทยาลัย
มติชนรายวัน ฉบับวันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๕๕ หน้าที่ ๕ มมส. ถกปม สตง.ชี้ทุจริต
ผู้สื่อข่าวได้รายงานข่าวการประชุมสภามหาวิทยาลัยมหาสารคามเป็นวาระพิเศษเมื่อวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๕ โดยอธิการบดีให้ข่าวว่า ได้ชี้แจ้งข้อกล่าวหาอย่างครบถ้วนและสภามหาวิทยาลัยจะนัดประชุมวาระพิเศษอีกครั้งในเดือนมกราคม ๒๕๕๖ โดยที่ประชุมฯมอบให้ฝ่ายกฎหมายไปศึกษาข้อกฎหมายรวมถึงแนวทางการดำเนินการกรณีดังกล่าวใน ๓ แนวทาง ดังนี้
๑ เห็นควรให้นายกสภาฯ มมส. มีหนังสือถึงเลขาธิการ กกอ. เพื่อดำเนินการทางวินัยกับอธิการบดี
๒ หารือ สกอ.ว่า สภามหาวิทยาลัยมีอำนาจออกมติจ่ายเงินค่าตอบแทนให้อธิการบดีได้หรือไม่
และ ๓ เห็นควรให้ มมส. รายงานผลการดำเนินงาน การตรวจสอบให้สภา มมส. รับทราบทุก ๖๐ วัน เพื่อสภา มมส แจ้ง สตง.ทราบทุก ๙๐ วัน
แนวทางดังกล่าวอาจเป็นหัวข้อในวาระการประชุมของสภามหาวิทยาลัยในเดือนมกราคม ๒๕๕๖ โดยสภามหาวิทยาลัยอาจลงมติให้เลขาธิการ กกอ ดำเนินการทางวินัยกับอธิการบดี ซึ่งสภามหาวิทยาลัยจะมีสถานะเป็นผู้แจ้งข้อกล่าวหาเช่นเดียวกับคณะกรรมการผู้ตรวจเงินแผ่นดิน ภายใต้กฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาในมาตรา ๔๙ วรรคท้าย ความว่า ในกรณีอธิการบดีถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัย คำว่าผู้บังคับบัญชาตามมาตรานี้ให้หมายถึงผู้บังคับบัญชาตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ ประกอบความในมาตรา ๓๐ วรรคสี่แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ.๒๕๔๖ กำหนดให้เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษาเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการในสถานศึกษาของรัฐในสังกัดที่เป็นนิติบุคคลที่จัดการศึกษาระดับปริญญาตรี
ประเด็นเรื่องกรณีเบิกจ่ายค่าตอบแทนพิเศษ นั้นสภามหาวิทยาลัยอาจมีมติขอหารือกับ สกอ.ว่า สภามหาวิทยาลัยมีอำนาจในการออกมติจ่ายค่าตอบแทนแก่อธิการบดี หรือไม่ ก่อนการลงมติดังกล่าวควรมีการพิจารณาเรื่องอำนาจภายใต้หลักความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำทางปกครอง โดยกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาในมาตรา ๘ วรรคสองความว่าข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาอาจได้รับเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษหรือเงินเพิ่มพิเศษสำหรับผู้ที่มีคุณวุฒิหรือความสามารถเป็นพิเศษก็ได้ ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่ ก.พ.อ. กำหนด โดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง
การออกกฎในเรื่องเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษ(ค่าตอบแทนพิเศษ) นั้น ไม่สามารถตรวจพบได้ประกาศเรื่องกฎจาก ก.พ.อ. แสดงให้เห็นว่าเกิดการใช้อำนาจโดยมิชอบด้วยกฎหมายในเรื่องค่าตอบแทนพิเศษในสถาบันอุดมศึกษาทั่วไป ดังนั้นสภามหาวิทยาลัยควรทบทวนการใช้อำนาจทางปกครองในสถาบันอุดมศึกษาที่มีลักษณะขาดหลักความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำทางปกครอง โดยเฉพาะหลัก ไม่มีกฎหมาย ไม่มีอำนาจ และควรเพิกถอนกฎที่ออกโดยปราศจากอำนาจของสภามหาวิทยาลัยเพื่อไม่ให้เกิดการเพิกถอนด้วยอำนาจตุลาการเป็นคดีในศาลปกครอง
บทสรุป
ความคิดของผู้ใช้กฎหมายในหน้าหนังสือพิมพ์ได้แสดงทัศนะต่างๆในทิศทางที่หลากหลายซึ่งส่วนใหญ่ไม่สอดคล้องกับแนวทางปฏิบัติตามบทบัญญัติของกฎหมายทั้งนี้ เพราะการนำเสนอข่าวที่ขาดการตรวจสอบเนื้อหาของตัวบทกฎหมาย และความเชื่อที่หลงผิดว่ามหาวิทยาลัยเป็นหน่วยงานอิสระเพราะมีกฎหมายเป็นของตนเอง โดยความจริงมหาวิทยาลัยเป็นหน่วยงานของรัฐที่มีกฎหมายกำหนดโครงสร้างหน่วยงานภายในมหาวิทยาลัยเฉพาะของตนเอง แต่การปฏิบัติหน้าที่ราชการของข้าราชการในมหาวิทยาลัยหรือการแสดงเจตนาทางกฎหมายของมหาวิทยาลัยต้องอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาและกฎหมายอื่นๆ
เนื้อหาของข่าวภายใต้วิธีทางกฎหมายที่ขาดความรู้ในตัวบทและไม่มีการวิเคราะห์ถึงขั้นตอนการบังคับใช้กฎหมาย ย่อมนำสาระของปัญหาการทุจริตในสถาบันอุดมศึกษาออกไปสู่ข้อเสนอใหม่ในเรื่องศีลธรรมจรรยาบรรณ เรื่องของคนดี เป็นแนวทางการแก้ปัญหาทุจริตในสังคมไทย ซึ่งมีข้อพิสูจน์ในหลายเหตุการณ์ว่าคนดีนั้นไม่ดีจริงจนเกิดปัญหาทุจริตเพราะคนดีในสังคมไทย
ขณะที่มนุษย์ทั่วทั้งโลกเชื่อว่า กฎหมายเป็นเครื่องมือที่มนุษย์ใช้ในการแก้ไขปัญหาในสังคมมนุษย์ ซึ่งการบังคับใช้กฎหมายอย่างถูกต้องจะช่วยในการแก้ไขปัญหาการทุจริตได้ และสังคมไทยมีกฎหมายอยู่อย่างเพียงพอในการแก้ไขปัญหาทุจริต จึงขอเรียกร้องให้มีการติดตามการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานรัฐภายใต้หลักความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำทางปกครอง ดังนี้
๑ นักหนังสือพิมพ์ควรติดตามการดำเนินงานของพนักงานสอบสวนคดีตามคำร้องสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน และรายงานข่าวการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานสอบสวนของหน่วยงานสำนักงานตำรวจแห่งชาติ คณะกรรมการ ปปช. และคณะกรรมการ ปปง.
๒ ผู้สื่อข่าวควรติดตามการทำหน้าที่ของเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษาในประเด็นการลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการสอบวินัยอธิการบดี เพราะเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษาเป็นผู้บังคับบัญชาของอธิการบดีฯโดยชอบด้วยกฎหมายตามความในมาตรา ๔๙ วรรคท้าย แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ.๒๕๔๗ ประกอบความในมาตรา ๓๐ วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ.๒๕๔๖ จึงมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามความในมาตรา ๔๙ วรรคแรก[5] แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ.๒๕๔๗
โดยสรุป วิธีทางกฎหมายจากหัวข้อข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ ยังขาดความถูกต้องแม่นยำในตัวบทกฎหมาย แสดงถึงพัฒนาการทางกฎหมายปกครองในสังคมไทยยังต้องการทำงานอย่างเข้มแข็งของหน่วยงานต่างๆทางกฎหมายมหาชนเพื่อช่วยกันจุดแสงเทียนแห่งปัญญาสำหรับการพัฒนาหลักทางกฎหมายปกครอง โดยเฉพาะสถาบันอุดมศึกษาของรัฐจะต้องกระทำตนให้เป็นตัวอย่างที่ดีภายใต้หลักความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำทางปกครอง และควรเลิกวิธีทางกฎหมายภายใต้ทฤษฎีการตีความของกลุ่มนักนิติกรบริการ
............................................................................
[1] มาตรา ๔๖ ในกรณีคณะกรรมการพิจารณาผลการตรวจสอบแล้วปรากฏว่า มีพฤติการณ์น่าเชื่อว่าเป็นการทุจริตหรือมีการใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่เงินหรือทรัพย์สินของทางราชการ ให้คณะกรรมการแจ้งต่อพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดี และให้คณะกรรมการแจ้งผลการตรวจสอบดังกล่าวให้ผู้รับตรวจ หรือเกระทรวงเจ้าสังกัด หรือผู้บังคับบัญชา หรือผู้ควบคุมกำกับหรือรับผิดชอบของหน่วยรับตรวจ แล้วแต่กรณี ดำเนินการตามกฎหมายหรือตามระเบียบแบบแผนที่ราชการหรือที่หน่วยรับตรวจกำหนดไว้แก่เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบด้วย
การดำเนินคดีตามวรรคหนึ่ง ให้พนักงานสอบสวนนำรายงานการตรวจสอบของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินมาใช้เป็นหลักในการสอบสวน
เมื่อพนักงานสอบสวน ผู้รับตรวจ กระทรวงเจ้าสังกัด ผู้บังคับบัญชา หรือผู้ควบคุมกำกับหรือรับผิดชอบของหน่วยรับตรวจตามวรรคหนึ่ง ดำเนินการไปประการใดแล้วให้แจ้งให้คณะกรรมการทราบภายในทุกเก้าสิบวัน
ในกรณีที่พนักงานสอบสวน ผู้รับตรวจ กระทรวงเจ้าสังกัด ผู้บังคับบัญชา หรือผู้ควบคุมกำกับหรือรับผิดชอบของหน่วยรับตรวจไม่ดำเนินการตามวรรคหนึ่งภายในเวลาอันสมควรให้คณะกรรมการรายงานต่อสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภาและคณะรัฐมนตรี
[2] มาตรา ๓๗ ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาต้องรักษาวินัยและจรรยาบรรณตามที่บัญญัติไว้ในหมวดนี้โดยเคร่งครัด
[3] มาตรา ๓๙ ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา ต้องปฏิบัติหน้าที่ราชการด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เที่ยงธรรม และดูแลเอาใจใส่รักษาประโยชน์ของทางราชการ
ห้ามมิให้อาศัยหรือยอมให้ผู้อื่นอาศัยอำนาจหน้าทีราชการของตนไม่ว่าจะโดยตรงหรือทางอ้อมหาประโยชน์ให้แก่ตนเองหรือผู้อื่น
การปฏิบัติหรือการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบ เพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้รับประโยชน์ที่มิควรได้ เป็นการทุจริตต่อหน้าที่ราชการและเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง
ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาต้องปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย ระเบียบแบบแผนของทางราชการ มติคณะรัฐมนตรี หรือนโยบายของทางราชการ
การปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยจงใจ หรือประมาทเลินเล่อไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบแบบแผนของทางราชการ มติคณะรัฐมนตรี หรือนโยบายของทางราชการ หรือขาดการเอาใจใส่ระมัดระวังรักษาประโยชน์ของทางราชการ อันเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง
[4] ในระหว่างที่ยังไม่มีคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ให้ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินเป็นผู้ใช้อำนาจหน้าที่แทนประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน
[5] มาตรา ๔๙ ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาผู้ใดถูกกล่าวหาโดยมีหลักฐานตามสมควรว่าได้กระทำผิดวินัย หรือความปรากฏต่อผู้บังคับบัญชาว่าข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาผู้ใดกระทำผิดวินัย ให้ผู้บังคับบัญชาตั้งคณะกรรมการสอบสวนโดยพลันและต้องสอบสวนให้แล้วเสร็จโดยไม่ชักช้า เว้นแต่เป็นกรณีการกระทำผิดวินัยที่มิใช่ความผิดวินัยอย่างร้ายแรง หรือเป็นกรณีความผิดที่ปรากฏชัดเจนตามที่ ก.พ.อ. กำหนด จะไม่ตั้งคณะกรรมการสอบสวนก็ได้
|
|
|
พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=1802
เวลา 22 พฤศจิกายน 2567 19:42 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)
|