ผลกระทบของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 12/2555 ต่อความสามารถในการแสวง หาพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความผิดของจำเลยในคดีอาญา

2 ธันวาคม 2555 18:25 น.

       การรักษาความสงบเรียบร้อยในสังคม.ถือเป็นภารกิจที่มีความสำคัญมากที่สุดประการหนึ่งของรัฐ หากมีบุคคลใดกระทำการฝ่าฝืนบรรทัดฐานของสังคมอันเป็นเหตุให้เกิดความวุ่นวายเดือดร้อนต่อสังคมโดยรวม รัฐก็มีหน้าที่จะต้องนำตัวผู้กระทำดังกล่าวมาลงโทษ เพื่อให้เขาได้รับผลร้ายจากการกระทำดังกล่าว และเพื่อเป็นการข่มขู่ยับยั้งไม่ให้บุคคลอื่นๆในสังคมยึดถือเอาการกระทำนั้นเป็นเยี่ยงอย่าง ซึ่งภารกิจดังกล่าวนี้เราเรียกว่าการดำเนินกระบวนการยุติธรรมทางอาญานั่นเอง
       
       แนวทางการนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษ
       หลักการดำเนินคดีอาญาในปัจจุบัน รัฐจะทำหน้าที่เป็นผู้ชี้ขาดตัดสินคดีโดยใช้อำนาจตุลาการ แต่สำหรับปัญหาที่ว่าใครจะเป็นผู้รับผิดชอบในการนำเสนอคดีเพื่อให้ตุลาการพิพากษาตัดสินคดีนั้นยังมีแนวความคิดที่แตกต่างกันออกไป โดยแนวคิดที่ว่าจะให้ใครเป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินคดีอาญากับผู้กระทำความผิด แบ่งออกได้เป็น 2 แนวคิดใหญ่ๆด้วยกัน[1] คือ
       
       1. หลักการดำเนินคดีอาญาโดยประชาชน ถือว่าประชาชนทุกคนมีสิทธิฟ้องคดีอาญาได้โดยไม่ต้องคำนึงว่าประชาชนคนนั้นจะเป็นผู้เสียหายในความผิดนั้นหรือไม่ ทั้งนี้เพราะประชาชนมีหน้าที่ที่จะรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคม เมื่อคดีอาญาเป็นเรื่องที่มีผลกระทบต่อส่วนรวม จึงเป็นหน้าที่ของประชาชนทุกคนที่จะมีหน้าที่ป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดอาญาในทุกขั้นตอนของกระบวนการ
       
       2. หลักการดำเนินคดีอาญาโดยรัฐ เป็นหลักที่เกิดมาโดยมีหลักการว่า รัฐเป็นผู้เสียหายต่อการที่มีผู้กระทำความผิดทุกคดี และมีหน้าที่ดำเนินคดีอาญาโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ ทั้งนี้ เพราะการกระทำความผิดเป็นการกระทำความเสียหายต่อสังคมโดยรวม และทำลายความสงบสุขของส่วนรวมซึ่งรัฐมีหน้าที่ต้องปกปักษ์รักษา ดังนั้นรัฐจึงต้องเป็นผู้ดำเนินการในความผิดนั้นๆ อย่างไรก็ตาม ในประเทศที่ใช้หลักการดำเนินคดีอาญาโดยรัฐนั้น ก็มีการเปิดโอกาสให้เอกชนสามารถดำเนินคดีเองได้ในบางฐานความผิดเช่นกัน
       
       ตามที่กล่าวมาข้างต้น ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินคดีอาญาโดยภาครัฐหรือภาคเอกชนก็ตาม วัตถุประสงค์สุดท้ายของการดำเนินคดีอาญาก็คือการมุ่งพิสูจน์ข้อเท็จจริงอันเป็นความผิดให้เป็นที่ประจักษ์แก่ศาล โดยในการพิสูจน์ข้อเท็จจริงในคดีอาญาต่อศาลนั้น โดยทั่วไปโจทก์มีภาระการพิสูจน์หรือมีหน้าที่ในการนำพยานหลักฐานเข้าพิสูจน์ความผิดของจำเลยจนกว่าศาลจะเชื่อโดยปราศจากข้อสงสัย (Beyond Reasonable Doubt) ว่าจำเลยได้กระทำความผิดจริง หากโจทก์ไม่สามารถหาพยานหลักฐานมาพิสูจน์จนปราศจากข้อสงสัยได้ว่าจำเลยกระทำความผิดจริง ศาลก็ต้องพิพากษายกฟ้อง ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่า โดยทั่วไปแล้วในคดีอาญา โจทก์จะมีหน้าที่ทำทุกวิถีทางเพื่อแสวงหาพยานหลักฐานมาพิสูจน์ความผิดของจำเลย หรือที่เรียกว่า โจทก์ในคดีอาญามีภาระการพิสูจน์ (Burden of Proof) นั่นเอง
       
       อย่างไรก็ตาม สำหรับคดีความผิดบางประเภทโดยเฉพาะในกลุ่มความผิดที่เป็นอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (Economic Crime) เช่น อาชญากรรมตลาดทุน, อาชญากรรมหุ้นส่วนบริษัท, อาชญากรรมทางการเงินหรือบัตรเครดิต, อาชญากรรมอิเล็กทรอนิกส์บนเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ฯลฯ มักเป็นอาชญากรรมที่มีลักษณะพิเศษกว่าอาชญากรรมธรรมดา (Street Crime) ทั่วๆไปในแง่ที่ว่า อาชญากรรมทางเศรษฐกิจนั้น ผู้กระทำความผิดมักจะมีวิธีการปกปิดความผิดและพยายามทำลายหลักฐาน เพื่อไม่ให้มีหลักฐานผูกมัดตน พยานหลักฐานที่จะใช้พิสูจน์ความผิดของผู้กระทำความผิดมักจะอยู่ในความรู้เห็นของผู้กระทำความผิดเท่านั้น ทั้งอาชญากรรมทางเศรษฐกิจมักจะมีความซับซ้อนและมีการกระทำทุกอย่างในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป และภายหลังจากที่มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น มักจะใช้เวลานานพอสมควรจึงจะทราบถึงความเสียหาย ทำให้การค้นหาพยานหลักฐานเป็นไปด้วยความยากลำบากไม่ทันต่อเหตุการณ์ อันเป็นเหตุให้อาชญากรรมประเภทนี้สามารถปกปิด ทำลาย ซ่อนเร้นหลักฐานได้เป็นอย่างดี อีกทั้งด้วยอำนาจของเงินที่ได้มาจากการกระทำความผิดทางเศรษฐกิจมักก่อให้เกิดอิทธิพลมืดในการปิดปากพยาน ติดสินบนเจ้าพนักงานตำรวจและเจ้าพนักงานของรัฐ[2] จึงยากที่จะนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษได้
       
       เมื่อเป็นเช่นนี้ หากให้โจทก์มีภาระการพิสูจน์ในคดีอาชญากรรมทางเศรษฐกิจจนปราศจากข้อสงสัยเหมือนกับคดีอาญาอื่นทั่วๆไป อาจทำให้รัฐไม่สามารถนำตัวผู้กระทำความผิดประเภทนี้มาลงโทษได้เลย ซ้ำยังทำให้วัตถุประสงค์ของกฎหมายอาญาที่มุ่งข่มขู่และยับยั้งสังคมให้เกรงกลัวต่อโทษที่จะได้รับจากการกระทำความผิดเสียไปด้วย ดังนั้น เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว กฎหมายลักษณะพยานหลักฐานจึงได้สร้างเครื่องมือชนิดหนึ่งที่เรียกว่า “ข้อสันนิษฐาน” (Presumption) ขึ้นมาเพื่อเป็นเครื่องมือช่วยลดความยากลำบากของเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารในการพิสูจน์ความผิดของผู้ก่ออาชญากรรมทางเศรษฐกิจเหล่านี้
        
       
       ข้อสันนิษฐานความผิดของจำเลยและปัญหา
       “ข้อสันนิษฐาน” (Presumption) เป็นหลักในทางกฎหมายลักษณะพยานหลักฐานซึ่งหมายถึง บทสันนิษฐานอันเป็นผลซึ่งกฎหมายหรือศาลรับรู้ไว้เป็นเบื้องแรกว่าความจริงเป็นอยู่เช่นไร[3] โดยผลของการที่กฎหมายได้กำหนดข้อสันนิษฐานเอาไว้ก็คือ ช่วยลดภาระการพิสูจน์ข้อเท็จจริงที่เป็นความผิดให้แก่คู่ความฝ่ายที่ได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานเหลือเพียงการนำสืบข้อเท็จจริงที่เป็นเงื่อนไขของการสันนิษฐาน (Basic Fact) เท่านั้น และเมื่อคู่ความฝ่ายที่ได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานสามารถสืบข้อเท็จจริงที่เป็นเงื่อนไขของการสันนิษฐานได้แล้ว ศาลก็จะฟังข้อเท็จจริงตามข้อสันนิษฐาน (Presumed Fact)[4] และ ภาระการพิสูจน์ก็จะตกอยู่แก่คู่ความฝ่ายตรงข้ามทันที (Reverse Burden of Proof)
       
       ประโยชน์ของการกำหนดข้อสันนิษฐานนี้จะเห็นประจักษ์ชัดเมื่อนำไปใช้ในการปราบปรามอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการกำหนดความรับผิดของผู้แทนนิติบุคคลในกรณีที่นิติบุคคลกระทำผิด ทั้งนี้ด้วยเหตุที่ว่า นิติบุคคลเป็นเพียงบุคคลที่กฎหมายสมมติขึ้น ไม่ได้มีชีวิตจิตใจหรือความคิดเป็นของตัวเอง หากแต่มีผู้แทนนิติบุคคลทำหน้าที่เป็นสมองหรือชีวิตของนิติบุคคลแทน ดังนั้นจึงไม่น่าเป็นไปได้ที่นิติบุคคลจะกระทำผิดได้โดยผู้แทนไม่รู้เห็น อย่างไรก็ตามในทางปฏิบัติมักจะหาพยานหลักฐานมาพิสูจน์ความรู้เห็นเกี่ยวข้องของผู้แทนนิติบุคคลได้ยาก และการจะลงโทษนิติบุคคลก็ทำได้แค่เพียงโทษปรับหรือริบทรัพย์ ซึ่งมีผลในทางข่มขู่หรือยับยั้งผู้กระทำความผิดได้น้อยมาก อีกทั้งยังเป็นช่องทางให้ผู้แทนนิติบุคคลทั้งหลายฉวยโอกาสทำความผิดเพื่อหาผลประโยชน์โดยโยนความผิดไปให้นิติบุคคลอีกด้วย[5] ดังนั้นจึงมีกฎหมายกำหนดข้อสันนิษฐานขึ้นเพื่อผลักภาระการพิสูจน์ไปให้ฝ่ายผู้แทนนิติบุคคลอยู่มากมาย เช่น พระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พุทธศักราช 2545 มาตรา 54 , พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พุทธศักราช 2522 มาตรา 72 , พระราชบัญญัติน้ำมันเชื้อเพลิง พุทธศักราช 2521 มาตรา 27 ฯลฯ เป็นต้น
       
       สำหรับเหตุผลที่กฎหมายลักษณะพยานหลักฐานยอมรับเอาข้อสันนิษฐานเข้ามาใช้ในระบบกฎหมายของประเทศไทยนั้น อาจสรุปได้ดังนี้[6]
       
       1. เพราะข้อสันนิษฐานเป็นเรื่องใกล้ความจริงมากกว่าการที่จะรับฟังข้อเท็จจริงไปในทางอื่น เมื่อมีหลักที่จะพอรับฟังเรื่องใดที่ใกล้ความจริงมากที่สุดแล้ว จึงเป็นการดีกว่าที่จะยอมให้สืบพยาน ซึ่งจะเป็นการเสียทั้งเวลาและค่าใช้จ่าย
       
       2. เพราะข้อสันนิษฐานช่วยให้การพิจารณาความของศาลรวดเร็วยิ่งขึ้น เป็นการประหยัดเวลาในการสืบพยาน
       
       3. เพราะข้อสันนิษฐานช่วยก่อให้เกิดความยุติธรรมแก่คู่ความซึ่งเป็นฝ่ายที่ไม่อาจเข้าถึงพยานได้เหมือนอีกฝ่ายหนึ่ง ในกรณีเช่นนี้กฎหมายโยนหน้าที่สืบพยานให้แก่ฝ่ายที่ได้เปรียบในการเข้าถึงพยาน
       
       4. เพราะในบางกรณีข้อสันนิษฐานมีความจำเป็นเพราะประโยชน์ในทางสังคมหรือเศรษฐกิจ เช่น ในเรื่องกรรมสิทธิ์ซึ่งมีข้อสันนิษฐานว่า ผู้ครอบครองก่อนย่อมได้สิทธิดีกว่า
       
       สำหรับคู่ความฝ่ายตรงข้าม จะสามารถนำสืบหักล้างข้อสันนิษฐานได้หรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับว่าประเภทของข้อสันนิษฐานนั้นเองได้เปิดโอกาสให้มีการพิสูจน์ข้อเท็จจริงโต้แย้งข้อสันนิษฐานได้หรือไม่ ซึ่งประเภทของข้อสันนิษฐานนั้นสามารถแบ่งออกได้ดังนี้ คือ
       
       1. ข้อสันนิษฐานไม่เด็ดขาด (Rebuttable Presumption) คือข้อสันนิษฐานที่กฎหมายเปิดโอกาสให้มีการนำสืบพยานโต้แย้งหรือหักล้างได้ ดังนั้น แม้คู่ความฝ่ายหนึ่งจะพิสูจน์ข้อเท็จจริงอันเป็นเงื่อนไขในการได้รับประโยชน์ตามข้อสันนิษฐานได้ ศาลก็ยังฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติตามข้อเท็จจริงที่ได้รับการสันนิษฐานนั้นไม่ได้ เพียงแต่จะมีผลเป็นการผลักภาระการพิสูจน์ไปให้แก่คู่ความฝ่ายตรงข้ามเท่านั้น หากคู่ความฝ่ายตรงข้ามไม่สามารถพิสูจน์หักล้างข้อสันนิษฐานได้ ศาลจะฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติตามข้อสันนิษฐานนั้นทันที อย่างไรก็ตาม ในการพิสูจน์หักล้างข้อสันนิษฐานความผิดที่ไม่เด็ดขาดของจำเลยในคดีอาญานั้น จำเลยไม่จำเป็นต้องพิสูจน์หักล้างจนถึงขึ้นปราศจากข้อสงสัย (Beyond Reasonable Doubt) แต่อย่างใด เพียงแต่จำเลยพิสูจน์หักล้างให้ศาลเห็นว่าพยานหลักฐานของจำเลยมีความน่าเชื่อถือมากกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ (Preponderance of Evidence) ก็เป็นการเพียงพอแล้ว
       
       2. ข้อสันนิษฐานเด็ดขาด (Irrebuttable Presumption) คือ ข้อสันนิษฐานซึ่งกฎหมายไม่เปิดโอกาสให้มีการนำสืบข้อเท็จจริงโต้แย้งหรือหักล้างข้อสันนิษฐานได้ ดังนั้นถ้าคู่ความฝ่ายที่ได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานสามารถพิสูจน์ข้อเท็จจริงอันเป็นเงื่อนไขในการได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานได้ ศาลก็จะรับฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติตามข้อสันนิษฐานนั้นทันที ทางต่อสู้ของจำเลยที่จะถูกผลร้ายจากข้อสันนิษฐานนี้ก็คือต้องพิสูจน์โต้แย้งว่าข้อเท็จจริงอันเป็นเงื่อนไขในการได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานนั้นไม่มีอยู่จริงเท่านั้น
       
       ตามที่กล่าวมาข้างต้นจะเห็นได้ว่าข้อสันนิษฐานความรับผิดของจำเลยในคดีอาญามีประโยชน์ต่อการรักษาความสงบเรียบร้อยภายในสังคมอย่างมาก อย่างไรก็ตาม แนวคิดการใช้ข้อสันนิษฐานความรับผิดของจำเลยในคดีอาญายังคงมีปัญหาเรื่องความชอบธรรมในการนำมาใช้อยู่มากพอสมควร โดยนักนิติศาสตร์ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการนำข้อสันนิษฐานความรับผิดของจำเลยในคดีอาญามาใช้นั้นได้ให้เหตุผลถึงความไม่ชอบธรรมของการกำหนดข้อสันนิษฐานในคดีอาญาเอาไว้ดังนี้
       
       1. หลักการสำคัญในการดำเนินคดีอาญาซึ่งถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของจำเลยประการหนึ่งก็  คือ ศาลจะต้องสันนิษฐานเอาไว้ก่อนว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์ (Presumption of Innocence) ซึ่งเป็นหลักที่ปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 39 ความว่า
        
       
       “บุคคลไม่ต้องรับโทษอาญา เว้นแต่ได้กระทำการอันกฎหมายที่ใช้อยู่ในเวลาที่กระทำนั้นบัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ และโทษที่จะลงแก่บุคคลนั้นจะหนักกว่าโทษที่กำหนดไว้ในกฎหมายที่ใช้อยู่ในเวลาที่กระทำความผิดมิได้
       ในคดีอาญา ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด ก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้”
       
       นอกจากนี้หลักการดังกล่าวยังปรากฏอยู่ใน The Universal Declaration of Human Rights (UDHR) และ International Covenant on Civil and Political Rights (ICCPR) อีกด้วย แสดงให้เห็นว่าสิทธิขั้นพื้นฐานของจำเลยที่จะได้รับการสันนิษฐานว่าบริสุทธิ์จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาว่ากระทำผิดจริง เป็นหลักการที่ได้รับการยอมรับกันเป็นสากลเลยทีเดียว ดังนั้น การที่ข้อสันนิษฐานความรับผิดของจำเลยโยนภาระการพิสูจน์ไปให้แก่จำเลยจึงถูกมองว่าขัดต่อหลักการดังกล่าวนี้ เพราะเสมือนหนึ่งว่าจำเลยถูกมองว่าเป็นผู้กระทำความผิดเสียตั้งแต่แรก จนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่าตนไม่ได้กระทำความผิดนั่นเอง
       
       2. การกำหนดข้อสันนิษฐานความรับผิดของจำเลยในคดีอาญา มีลักษณะที่ฝ่าฝืนต่อหลักการที่ว่า “รัฐจะลงโทษบุคคลใดในการกระทำที่มิได้มีกฎหมายบัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ในขณะนั้นไม่ได้” (Nulla Poena Sine Lege) ทั้งนี้เพราะลำพังเพียงโจทก์พิสูจน์ว่ามีข้อเท็จจริงที่เป็นเงื่อนไขในการได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐาน (Basic Fact) เกิดขึ้น ยังไม่อาจฟังได้ว่าเป็นการกระทำความผิดอาญา ถ้าหากฝ่ายนิติบัญญัติประสงค์จะกำหนดให้การกระทำตามข้อเท็จจริงที่เป็นเงื่อนไข (Basic Fact) เป็นความผิดแล้ว เหตุใดจึงไม่บัญญัติการกระทำนั้นเป็นความผิดอาญาเสียเลย การที่ฝ่ายนิติบัญญัติไม่สามารถบัญญัติความผิดดังกล่าวได้ ย่อมแสดงว่าประชาชนยังไม่เห็นว่าการกระทำดังกล่าวเป็นความผิด ดังนั้น จึงไม่สมควรที่จะออกกฎหมายโยงการกระทำที่ไม่ใช่ความผิดเข้าไปหาการกระทำที่เป็นความผิดทั้งๆที่เป็นการกระทำคนละอย่างกันเลย
       
       3. การกำหนดข้อสันนิษฐานความรับผิดของจำเลยในคดีอาญา เป็นการละเมิดสิทธิของจำเลยในอันที่จะไม่ต้องเบิกความปรักปรำตนเอง (Right against Self-Incrimination) เพราะการกำหนดบทสันนิษฐานเช่นนี้ทำให้จำเลยต้องนำพยานมาหักล้าง ซึ่งรวมถึงการที่จำเลยอาจต้องอ้างตนเป็นพยานเพื่อนำสืบให้พ้นจากข้อสันนิษฐานทั้งๆที่ในความจริงแล้วจำเลยมีสิทธิที่จะไม่เบิกความใดๆได้ตามสิทธิดังกล่าว
       
       ดังนั้น จึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องพิจารณากันอย่างถี่ถ้วนว่าการกำหนดข้อสันนิษฐานความรับผิดของจำเลยในคดีอาญาดังกล่าวมีความชอบธรรมมากน้อยเพียงไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดาพระราชบัญญัติที่มีบทสันนิษฐานความรับผิดทางอาญาของจำเลยจะถือว่าขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศหรือไม่
       ในประเด็นนี้ เคยมีคำวินิจฉัยตุลาการรัฐธรรมนูญที่ ต.2/2494 วินิจฉัยเอาไว้ว่า “คณะตุลาการรัฐธรรมนูญได้พิจารณาเรื่องนี้โดยละเอียดแล้ว เห็นสอดคล้องกันว่า ความในมาตรา 30 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยโดยเฉพาะที่เกี่ยวกับปัญหาในเรื่องนี้มีความหมายเพียงว่า ในคดีอาญาทั้งปวงต้องถือว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิดจนกว่าโจทก์จะมีพยานหลักฐานมาหักล้างข้อสันนิษฐานนั้นได้ ฉะนั้น กฎหมายใดที่บัญญัติว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยมีความผิดเสียแต่เบื้องต้นทีเดียว บทกฎหมายนั้นย่อมขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรานี้ และจะใช้บังคับไม่ได้ แต่พระราชบัญญัติการพนัน พุทธศักราช 2478 มาตรา 6 หาได้มีความบัญญัติไว้เช่นนั้นไม่ กล่าวคือยังต้องสันนิษฐานอยู่ว่า ผู้ต้องหาหรือจำเลยยังไม่มีความผิดจนกว่าโจทก์จะนำสืบได้ว่าจำเลยได้เข้าไปอยู่ในวงเล่นการพนัน จึงเป็นอันฟังได้ว่าในกรณีเช่นนี้มิได้มีการสันนิษฐานใดๆในเบื้องแรกก่อนที่โจทก์นำพยานมาสืบอันจะทำให้ขัดกับความในมาตรา 30 แห่งรัฐธรรมนูญที่กฎหมายสันนิษฐานก็เป็นการสันนิษฐานภายหลังจากที่โจทก์ได้นำพยานหลักฐานมาสืบแล้ว การสันนิษฐานเช่นนี้ไม่เป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 30 แต่อย่างใด”
       
       ในเรื่องนี้ พระราชบัญญัติการพนัน พุทธศักราช 2478 มาตรา 6 บัญญัติเอาไว้ว่า “ผู้ใดอยู่ในวงเล่นอันขัดต่อบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้…ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า ผู้นั้นเล่นด้วย เว้นแต่ผู้ซึ่งเพียงแต่ดูการเล่นในงานรื่นเริงสาธารณะ หรือในงานนักขัตฤกษ์ หรือในที่สาธารณสถาน” โดยคณะตุลาการรัฐธรรมนูญได้ให้เหตุผลรับรองความชอบธรรมของการกำหนดข้อสันนิษฐานความรับผิดของจำเลยในคดีนี้เพราะมองว่า บทสันนิษฐานความรับผิดตามพระราชบัญญัติการพนัน พุทธศักราช 2478 มาตรา 6 นี้ไม่ได้บัญญัติให้จำเลยรับผิดตั้งแต่ต้น อย่างไรเสียโจทก์ก็ยังต้องพิสูจน์ว่าจำเลยได้เข้าไปอยู่ในวงเล่นการพนันอันเป็นข้อเท็จจริงอันเป็นเงื่อนไขที่จะได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐาน(Basic Fact) เสียก่อน จึงไม่ใช่บทบัญญัติที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 30 ที่บัญญัติให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์แต่อย่างใด
       
       ต่อมาในปีพุทธศักราช 2544 ได้มีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 11/2544 วินิจฉัยเรื่องที่ศาลฎีกาส่งคำโต้แย้งของจำเลยในคดีอาญามายังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 มาตรา 264 ว่าพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรค 2 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญฯมาตรา 33 (หลักการที่ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์) และต้องด้วยมาตรา 6 (หลักความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ)หรือไม่ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยโดยกล่าวความตอนหนึ่งว่า “ปัญหายาเสพติดให้โทษในปัจจุบันเป็นปัญหาสำคัญร่วมกันของนานาอารยประเทศ ประกอบกับยาเสพติดให้โทษเป็นภัยร้ายแรงต่อสุขภาพและชีวิตของมนุษย์ จึงต้องมีบทลงโทษที่หนักกว่าปกติ รวมทั้งต้องมีมาตรการลงโทษขั้นเด็ดขาด การที่กฎหมายกำหนดให้ปริมาณสารเสพติดให้โทษในประเภทหนึ่งเป็นจำนวนที่ชัดเจนตามมาตรา 15 วรรค 2 นั้น มุ่งประสงค์เพื่อลงโทษผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษประเภท 1 ซึ่งคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ตั้งแต่ 20 กรัมขึ้นไป เสมือนหนึ่งว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นไปเพื่อการจำหน่าย เนื่องจากปริมาณยาเสพติดยิ่งมากเท่าใด ผลกระทบต่อสังคมยิ่งมากขึ้นตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม การที่กฎหมายกำหนดปริมาณสารเสพติดให้โทษประเภท 1 เป็นเพียงเกณฑ์เปรียบเทียบสำหรับฐานความผิดที่จะนำไปสู่การลงโทษเท่านั้น แต่ผู้ที่จะได้รับโทษตามกฎหมายดังกล่าวจะต้องผ่านการพิสูจน์หรือนำสืบของโจทก์แล้วว่าเป็นผู้กระทำความผิดจริง โดยศาลจะเป็นผู้วินิจฉัยหรือพิพากษาชี้ขาดและกำหนดโทษ ส่วนรัฐธรรมนูญมาตรา 33 เป็นบทบัญญัติที่รับรองหลักการพื้นฐานของกฎหมายอาญาของนานาอารยประเทศมีเจตนารมณ์เพื่อรับรองและคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพขึ้นพื้นฐานของบุคคลซึ่งตกเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญาทั่วไปซึ่งมีหลักว่าในคดีอาญาโจทก์มีภาระต้องนำสืบการกระทำของผู้ต้องหาหรือจำเลยให้ครบทุกองค์ประกอบความผิดตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ โดยผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่จำต้องนำพยานหลักฐานมาพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตน ดังนั้น พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พุทธศักราช 2522 มาตรา 15 วรรค 2 จึงไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 33”
       
       คดีนี้ก็เป็นอีกคดีหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญได้รับรองความชอบธรรมของการกำหนดข้อสันนิษฐานความรับผิดของจำเลยในคดีอาญา ทั้งนี้พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ มาตรา 15 วรรค 2 ได้บัญญัติว่า “การผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท ๑ ตามปริมาณดังต่อไปนี้ ให้ถือว่าเป็นการผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย…..” แต่ศาลรัฐธรรมนูญมองว่า ก่อนที่จะได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นผู้ผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำเลยจะต้องผ่านการพิสูจน์หรือนำสืบข้อเท็จจริงอันเป็นเงื่อนไขในการได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐาน (Basic Fact) ที่ว่า จำเลยมียาเสพติดให้โทษไว้ในครอบครองจริงมาก่อนแล้ว ซึ่งเป็นเหตุผลที่คล้ายคลึงกับที่คณะตุลาการรัฐธรรมนูญได้ให้เหตุผลเอาไว้ในคำวินิจฉัยตุลาการรัฐธรรมนูญที่ ต.2/2494
       
       จะเห็นได้ว่าในอดีต ตุลาการรัฐธรรมนูญหรือศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมกฎหมายไม่ให้ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ได้ยอมรับการมีอยู่และความชอบธรรมของการกำหนดข้อสันนิษฐานความรับผิดของจำเลยในคดีอาญามาโดยตลอด จนกระทั่งเมื่อไม่นานมานี้ ศาลรัฐธรรมนูญได้มีท่าทีต่อการกำหนดข้อสันนิษฐานความรับผิดของจำเลยที่เปลี่ยนแปลงไปคือไม่ยอมรับความชอบธรรมของการกำหนดข้อสันนิษฐานความรับผิดของจำเลยในคดีอาญาอีกต่อไป ดังคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 12/2555 ซึ่งได้วินิจฉัยไว้ดังนี้ “เห็นว่า พระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545 มาตรา 54 เป็นข้อสันนิษฐานตามกฎหมายที่มีผลการสันนิษฐานความผิดของจำเลย โดยโจทก์ไม่จำต้องพิสูจน์ให้เห็นถึงการกระทำหรือเจตนาอย่างใดอย่างหนึ่งของจำเลยก่อนเป็นการนำการกระทำความผิดของบุคคลอื่นมาเป็นเงื่อนไขของการสันนิษฐานให้จำเลยมีความผิดและต้องรับโทษทางอาญา เนื่องจาก การสันนิษฐานว่า ถ้าผู้กระทำความผิดเป็นนิติบุคคล ก็ให้กรรมการผู้จัดการ ผู้จัดการ หรือบุคคลที่รับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลนั้นต้องร่วมรับผิดกับนิติบุคคลผู้กระทำความผิดด้วย เว้นแต่ จะพิสูจน์ได้ว่าตนไม่ได้มีส่วนรู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดของนิติบุคคลดังกล่าว โดยโจทก์ไม่ต้องพิสูจน์ถึงการกทำหรือเจตนาของกรรมการผู้จัดการ ผู้จัดการ หรือบุคคลใดที่รับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลนั้นว่ามีส่วนร่วมเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดของนิติบุคคลอย่างไร คงพิสูจน์แต่เพียงว่านิติบุคคลกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้และจำเลยเป็นกรรมการผู้จัดการ ผู้จัดการ หรือบุคคลที่รับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลเท่านั้น กรณีจึงเป็นการสันนิษฐานไว้ตั้งแต่แรกแล้วว่า กรรมการผู้จัดการ ผู้จัดการ หรือบุคคลที่รับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลนั้นได้กระทำความผิดด้วย อันมีผลเป็นการผลักภาระการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ไปยังกรรมการผู้จัดการ ผู้จัดการ และบุคคลที่รับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลนั้นทั้งหมดทุกคน บทบัญญัติมาตราดังกล่าวจึงเป็นการสันนิษฐานความผิดของผู้ต้องหาและจำเลยในคดีอาญาโดยอาศัยสถานะของบุคคลเป็นเงื่อนไข มิใช่การสันนิษฐานข้อเท็จจริงที่เป็นองค์ประกอบความผิดเพียงบางข้อหลังจากที่โจทก์ได้พิสูจน์ให้เห็นถึงการกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดที่เกี่ยวข้องกับความผิดที่จำเลยถูกกล่าวหา และยังขัดกับหลักนิติธรรมข้อที่ว่าโจทก์ในคดีอาญาต้องมีภาระการพิสูจน์ถึงการกระทำความผิดของจำเลยให้ครบองค์ประกอบความผิด นอกจากนี้ บทบัญญัติมาตราดังกล่าวยังเป็นการนำบุคคลเข้าสู่กระบวนการดำเนินคดีอาญาให้ต้องตกเป็นผู้ต้องหาและจำเลย ซึ่งทำให้บุคคลดังกล่าวอาจถูกจำกัดสิทธิและเสรีภาพ เช่น การถูกจับกุม หรือถูกคุมขัง โดยไม่มีพยานหลักฐานตามสมควรในเบื้องต้นว่าบุคคลนั้นได้กระทำการหรือมีเจตนาประการใดอันเกี่ยวกับความผิดตามที่ถูกกล่าวหา บทบัญญัติมาตราดังกล่าวในส่วนที่สันนิษฐานความผิดอาญาของผู้ต้องหาและจำเลยโดยไม่ปรากฏว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยได้กระทำการหรือมีเจตนาประการใดเกี่ยวกับความผิดนั้น จึงขัดต่อหลักนิติธรรมและขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 39 วรรคสอง”
       
       สำหรับพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พุทธศักราช 2545 มาตรา 54 บัญญัติเอาไว้ว่า “ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดซึ่งต้องรับโทษตามพระราชบัญญัตินี้เป็นนิติบุคคล ให้กรรมการผู้จัดการ ผู้จัดการ หรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลนั้น ต้องรับโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น ๆ ด้วย เว้นแต่ จะพิสูจน์ได้ว่าตนมิได้มีส่วนในการกระทำความผิดของนิติบุคคลนั้น” ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญมองว่า นิติบุคคลกับผู้แทนนิติบุคคลนั้นเป็นบุคคลแยกต่างหากออกจากกัน ดังนั้น การนำการกระทำของนิติบุคคลมาโยงผูกพันเข้ากับการกระทำของผู้แทนนิติบุคคลเป็นการสันนิษฐานโดยอาศัยสถานะของบุคคลเป็นเงื่อนไข ไม่ใช่การสันนิษฐานจากองค์ประกอบความผิดบางข้อ หรืออาจกล่าวได้ว่าศาลรัฐธรรมนูญมองว่า Basic Fact ที่ว่านิติบุคคลเป็นผู้กระทำความผิด ไม่มีความสัมพันธ์อย่างสมเหตุสมผล (Rational Connection) กับ Presumed Fact ที่ถือว่าผู้แทนนิติบุคคลเป็นผู้กระทำผิดและต้องรับโทษตามกฎหมายในความผิดที่นิติบุคคลทำนั่นเอง
       
       ดังนั้นจึงเท่ากับว่า ณ ขณะนี้ ศาลรัฐธรรมนูญของประเทศไทย ไม่ยอมรับและไม่รับรองความชอบธรรมในการมีอยู่ของข้อสันนิษฐานความรับผิดของจำเลยในคดีอาญาอีกต่อไป
       
       อนึ่ง ผู้เขียนอยากจะให้ข้อสังเกตถึง “ความสับสน” ของศาลรัฐธรรมนูญในการพิจารณาประเด็นดังกล่าวนี้ว่ายังมีอยู่พอสมควร กล่าวคือ ศาลรัฐธรรมนูญเคยให้การรับรองและบังคับใช้บทบัญญัติมาตรา 237 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่บัญญัติว่า
       
       ถ้าการกระทำของบุคคลตามวรรคหนึ่ง ปรากฏหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าหัวหน้าพรรคการเมืองหรือกรรมการบริหารของพรรคการเมืองผู้ใด มีส่วนรู้เห็นหรือปล่อยปละละเลย หรือทราบถึงการกระทำนั้นแล้ว มิได้ยับยั้งหรือแก้ไขเพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ให้ถือว่าพรรคการเมืองนั้นกระทำการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ตามมาตรา 68 ”
       
       หากเราสังเกตบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 237 วรรค 2 จะพบว่าข้อเท็จจริงอันเป็นเงื่อนไข(Basic Fact) คือ การที่หัวหน้าพรรคการเมือง กรรมการบริหารพรรคการเมือง ได้รู้เห็น หรือทราบถึงการฝ่าฝืนกฎหมายที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งแล้วไม่ยับยั้งแก้ไขให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ส่วนข้อเท็จจริงตามข้อสันนิษฐาน(Presumed Fact) คือ ให้ถือว่าพรรคการเมืองนั้นกระทำการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้
       
       ผู้เขียนเห็นว่าลักษณะความสัมพันธ์ของหัวหน้าพรรคการเมืองหรือกรรมการบริหารพรรคการเมือง กับพรรคการเมืองนั้น ก็มีลักษณะความสัมพันธ์ที่เหมือนกับนิติบุคคลกับผู้แทนนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พุทธศักราช 2545 มาตรา 54 นั่นเอง กล่าวคือเป็นการวางบทสันนิษฐานความรับผิดของพรรคการเมืองโดยอาศัยเพียงฐานะของหัวหน้าพรรคการเมืองหรือกรรมการบริหารพรรคการเมืองมาโยงเข้ากับข้อสันนิษฐานว่าพรรคการเมืองกระทำความผิด ไม่ได้มีการสันนิษฐานบนพื้นฐานขององค์ประกอบความผิดแต่อย่างใด(ลักษณะเดียวกับมาตรา 54 ของพระราชบัญญัติขายตรงฯ) แต่ศาลรัฐธรรมนูญโดยคำวินิจฉัยที่ 18-20/2551 ก็ได้ยอมรับและใช้บังคับบทบัญญัติมาตรา 237 วรรค 2 ในการวินิจฉัยตัดสินคดีให้ยุบพรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาธิปไตยมาแล้ว
       
       นอกจากนี้ ลักษณะของบทสันนิษฐานตามมาตรา 237 วรรค 2 หากพิจารณาอย่างถี่ถ้วนแล้วจะพบว่าเป็นบทสันนิษฐานเด็ดขาด(Irrebuttable Presumption) ไม่เปิดโอกาสให้พรรคการเมืองได้พิสูจน์หักล้างข้อสันนิษฐานเป็นอย่างอื่นไปได้เลย ในขณะที่บทสันนิษฐานตามพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พุทธศักราช 2545 มาตรา 54 เป็นเพียงบทสันนิษฐานที่ไม่เด็ดขาด(Rebuttable Presumption) ที่เปิดโอกาสให้จำเลยสามารถพิสูจน์ข้อเท็จจริงหักล้างข้อสันนิษฐานได้ แต่กลับกลายเป็นว่าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้บทสันนิษฐานตามพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พุทธศักราช 2545 มาตรา 54 ซึ่งเป็นบทสันนิษฐานไม่เด็ดขาด ขัดต่อหลัก Presumption of Innocence ตามรัฐธรรมนูญ ในขณะเดียวกันกลับยอมรับและใช้บังคับบทสันนิษฐานความผิดเด็ดขาดที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมาตรา 237 วางเอาไว้ ทั้งๆที่บทสันนิษฐานเด็ดขาดมีลักษณะที่เป็นผลเสียต่อจำเลยมากกว่า
       
       จะเห็นได้ว่าในประเด็นเรื่องความชอบธรรมในการกำหนดข้อสันนิษฐานความรับผิดของจำเลยนั้น ศาลรัฐธรรมนูญของประเทศไทยยังมีความสับสนและไม่สามารถหาหลักเกณฑ์ที่แน่นอนในการทำคำวินิจฉัยได้เลย
       
       การกำหนดข้อสันนิษฐานความรับผิดของจำเลยในต่างประเทศ
       การกำหนดข้อสันนิษฐานนั้น เป็นหลักกฎหมายพยานหลักฐานที่ประเทศไทยรับอิทธิพลและพัฒนามาจากหลักกฎหมายของต่างประเทศโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศ Common Law ดังนั้น ผู้เขียนจึงขอนำเสนอถึงความชอบธรรมของการกำหนดข้อสันนิษฐานความรับผิดตามหลักกฎหมายของประเทศสหรัฐอเมริกา และประเทศอังกฤษว่ามีอยู่มากน้อยเพียงไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศสหรัฐอเมริกาที่มีการพัฒนาหลักการกำหนดข้อสันนิษฐานความรับผิดของจำเลยในคดีอาญามาอย่างยาวนาน อีกทั้งมีประเด็นเกี่ยวเนื่องกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของการกำหนดข้อสันนิษฐานความรับผิด เหมือนกับระบบของประเทศไทยอีกด้วย
       
       ในประเทศสหรัฐอเมริกานั้น ประเด็นเรื่องการกำหนดข้อสันนิษฐานความรับผิดของจำเลยในคดีอาญาก็ถือเป็นประเด็นที่มีการถกเถียงกันมาอย่างยาวนาน โดยมีทั้งฝ่ายที่สนับสนุนและโต้แย้งการกำหนดข้อสันนิษฐานความรับผิดของจำเลยในคดีอาญาเลยทีเดียว ซึ่งฝ่ายที่โต้แย้งการมีอยู่ของข้อสันนิษฐานความรับผิดจำเลยก็ได้ให้เหตุผลประกอบข้อโต้แย้งเอาไว้ดังนี้
       
       1. การกำหนดข้อสันนิษฐานของจำเลยในคดีอาญาเป็นการขัดแย้งต่อ The Universal Declaration of Human Rights และหลักศุภนิติกระบวน (Due Process Clause) ทั้งนี้เพราะในคดีอาญามีหลัก The Presumption of Innocence ที่ต้องสันนิษฐานเอาไว้ก่อนว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิดจริง ซึ่งหลักนี้ถือเป็นหลักประกันว่ารัฐมีหน้าที่ในการพิสูจน์ความผิดของจำเลยจนปราศจากเหตุอันควรสงสัยตามสมควร (Beyond Reasonable Doubt) ดังนั้น ก่อนหน้าที่รัฐจะพิสูจน์จนปราศจากข้อสงสัย ก็จะปฏิบัติต่อเขาเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดไม่ได้ แต่การมีข้อสันนิษฐานเท่ากับเป็นการถือว่าจำเลยกระทำความผิดตั้งแต่แรก เว้นแต่จะพิสูจน์หักล้างได้ว่าเป็นผู้บริสุทธิ์
       
       2. การกำหนดข้อสันนิษฐานความผิดของจำเลยในคดีอาญาเป็นการฝ่าฝืนหลักที่ว่า “รัฐจะลงโทษบุคคลใดในการกระทำที่มิได้มีกฎหมายบัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ขณะนั้นไม่ได้” (Nulla Poena Sine Lege) เนื่องจาก ลำพังการกระทำตามข้อเท็จจริงที่เป็นเงื่อนไขของข้อสันนิษฐาน (Basic Fact) เท่านั้น ยังไม่มีกฎหมายบัญญัติให้เป็นความผิด จริงอยู่แม้มีกฎหมายกำหนดโยงการกระทำตามเงื่อนไขของข้อสันนิษฐาน (Basic Fact) เข้ากับฐานความผิด แต่ข้อเท็จจริงที่เป็นองค์ประกอบของความผิดนั้นจริงๆยังไม่ได้รับการพิสูจน์แต่อย่างใด ถ้าหากฝ่ายนิติบัญญัติต้องการให้ข้อเท็จจริงที่เป็นเงื่อนไขของข้อสันนิษฐาน (Basic Fact) เป็นความผิด เหตุใดไม่บัญญัติให้การกระทำตามเงื่อนไขของข้อสันนิษฐานโดยลำพัง เป็นความผิดเสียเลย การที่ฝ่ายนิติบัญญัติไม่สามารถบัญญัติความผิดดังกล่าวได้ ย่อมแสดงว่าประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจนิติบัญญัติที่แท้จริง ยังไม่เห็นว่าลำพังข้อเท็จจริงอันเป็นเงื่อนไขนั้นจะเป็นความผิดใดๆ จึงไม่สมควรออกกฎหมายโยงการกระทำที่ไม่เป็นความผิดเข้าหาการกระทำที่เป็นความผิดทั้งๆที่เป็นการกระทำคนละอย่างกันเลย
       
       3. เป็นการละเมิดสิทธิของจำเลยในอันที่จะไม่ต้องเบิกความปรักปรำตนเอง (Right Against Self-Incrimination) เพราะการกำหนดข้อสันนิษฐานเช่นนี้ทำให้จำเลยต้องนำสืบพยานหักล้าง ซึ่งรวมถึงจำเลยต้องอ้างตัวเองเป็นพยานเพื่อนำสืบให้พ้นจากข้อสันนิษฐานความรับผิด ทั้งๆที่ในคดีอาญา จำเลยมีสิทธิที่จะอยู่เฉยโดยไม่ต้องเบิกความก็ได้
       
       ที่กล่าวมานี้คือเหตุผลที่ฝ่ายโต้แย้งได้ให้เอาไว้ อย่างไรก็ตาม แม้เหตุผลของฝ่ายที่โต้แย้งจะมีน้ำหนักน่ารับฟังอยู่มากก็ตาม แต่ศาลสูงสุดของสหรัฐอเมริกา (The United States Supreme Court) ซึ่งทำหน้าที่แปลความและควบคุมไม่ให้กฎหมายขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ก็ยังยอมให้มีบทสันนิษฐานความรับผิดของจำเลยในคดีอาญาได้ โดยให้เหตุผลว่า กฎหมายจะกำหนดข้อสันนิษฐานความรับผิดของจำเลยในคดีอาญาได้ก็ต่อเมื่อมีความสัมพันธ์กันอย่างสมเหตุสมผล(Rational Connection )ระหว่างข้อเท็จจริงที่เป็นเงื่อนไขของข้อสันนิษฐาน(Basic Fact) กับข้อเท็จจริงตามข้อสันนิษฐาน(Presumed Fact) ซึ่งหมายความว่า หากมีข้อเท็จจริงอันเป็นเงื่อนไขของข้อสันนิษฐาน(Basic Fact) ย่อมเป็นที่แน่นอนแทบจะปราศจากข้อสงสัย(Beyond Reasonable Doubt) เลยว่า ข้อเท็จจริงตามข้อสันนิษฐาน(Presumed Fact) ย่อมมีอยู่ด้วย
       
       จะเห็นได้ว่า แม้แต่ในประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นต้นแบบของการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน และเป็นประเทศที่ได้ชื่อว่ามีความเข้มงวดกวดขันไม่ยอมให้บทบัญญัติแห่งกฎหมายขัดรัฐธรรมนูญยังยอมรับให้มีการกำหนดข้อสันนิษฐานความรับผิดของจำเลยในคดีอาญาได้
       
       สำหรับในประเทศอังกฤษนั้น ไม่ได้มีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดเหมือนในประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศไทย โดยถือว่ากฎหมายที่ออกมาจากฝ่ายนิติบัญญัติเป็นกฎหมายสูงสุดตามหลัก Supremacy of Parliament ดังนั้นกฎหมายที่ออกจากรัฐสภาของประเทศอังกฤษแม้จะกำหนดข้อสันนิษฐานความผิดของจำเลยในคดีอาญาเอาไว้ก็จะไม่ถูกพิจารณาว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญอย่างแน่นอน แต่ทั้งนี้ ในประเทศอังกฤษก็มีหลักเกี่ยวกับการพิสูจน์ความรับผิดของจำเลยในคดีอาญาอยู่ว่าโดยหลักแล้วภาระการพิสูจน์ความผิดของจำเลยจะตกอยู่กับโจทก์ผู้ฟ้องคดี โดยหลักนี้เรียกว่า “Woolmington principle”[14]  
       
       อย่างไรก็ตาม หลัก Woolmington principle นี้ มีข้อยกเว้นอยู่เช่นกันคือในกรณีที่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมาย (Statute) กำหนดให้โยนภาระการพิสูจน์ไปให้แก่จำเลย(Reverse Burden of Proof) เช่นนี้ภาระการพิสูจน์ก็จะตกแก่จำเลยทันที แต่ศาลอาจใช้ดุลพินิจพิจารณาได้ว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่โยนภาระการพิสูจน์ให้แก่จำเลยนั้นมีเหตุผลที่เป็นธรรมและสมเหตุสมผลมากน้อยเพียงไร (Fair and Reasonable) หากศาลเห็นว่ากฎหมายดังกล่าวไม่มีเหตุผลที่ดีพอศาลก็อาจไม่ยอมรับบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวได้[17]
       กล่าวคือ ในคดี AG v. Malta, Application No. 16641/90, 10 December 1991 (unreported) คณะกรรมาธิการ (ซึ่งปัจจุบันถูกยุบรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของศาลสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรปแล้วได้วินิจฉัยในประเด็นนี้ทำนองที่ว่า “ข้อสันนิษฐานเบื้องต้นที่สามารถพิสูจน์หักล้างได้ (Rebuttable Presumption) ที่ว่า ให้กรรมการบริษัทต้องรับผิดในทางอาญา ในกรณีที่บริษัทดังกล่าวถูกตัดสินว่ากระทำผิดอาญา เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่ามิได้รู้เห็นในการกระทำความผิด และได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำความผิดดังกล่าวแล้ว” มิได้ขัดหรือแย้งต่อข้อ 6 วรรคสอง ของ European Convention on Human Rights and Fundamental Freedoms (ECHR) ซึ่งบัญญัติว่า “Everyone charged with a criminal offence shall be presumed innocent until proved guilty according to law” แต่อย่างใด”
       
       บทวิเคราะห์
       ความชอบธรรมในการกำหนดข้อสันนิษฐานความรับผิดของจำเลยในคดีอาญาสำหรับประเทศไทยนั้น ได้หมดสิ้นไปโดยผลของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 12/2555 และภายหลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยดังกล่าว ก็มีการถกเถียงเกี่ยวกับประเด็นนี้อย่างกว้างขวาง และมีนักนิติศาสตร์ได้แสดงความคิดเห็นสนับสนุนคำวินิจฉัยนี้เอาไว้อย่างน่าสนใจว่า[18] “เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก มีผลกระทบไม่น้อยไปกว่ากรณีกฎหมายบังคับให้ภรรยาใช้นามสกุลสามี….เราจะต้องหาทางให้เจ้าหน้าที่บ้านเมืองรับทราบข้อมูลนี้อย่างรวดเร็วและต้องไม่หลงไปใช้กฎหมายประเภทนี้ช่วยในการทำงานอีกต่อไปแล้ว เจ้าหน้าที่บ้านเมืองต้องทำงานหนักขึ้นอีกนิดหนึ่งในการหาพยานหลักฐานเบื้องต้นให้เห็นว่าบรรดาผู้บริหารนิติบุคคลเหล่านั้นที่เราจะดำเนินคดีกับเขามีส่วนในการรู้เห็นเป็นใจหรือมีพฤติกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งเกี่ยวโยงถึงการกระทำผิดของนิติบุคคลด้วย เช่น เข้าประชุม เซ็นชื่อ รับรู้โดยไม่ได้คัดค้าน ซึ่งก็ต้องร่วมรับผิดกับนิติบุคคลนั้นในฐานะตัวการหรือผู้สนับสนุนแล้วแต่กรณี ตามแนวคำพิพากษาฎีกาซึ่งมีบรรทัดฐานวางไว้นานแล้วว่านิติบุคคลก็ทำผิดอาญาได้ เมื่อนิติบุคคลทำผิดแล้ว ผู้ใดก็ตามที่มีส่วนสนับสนุนหรือเป็นตัวการหรือผู้ใช้ให้กระทำผิดต้องรับผิดร่วมด้วย แต่จะไปสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบุคคลเหล่านั้นเป็นผู้ร่วมกระทำผิดเพียงเพราะเขามีฐานะเป็นผู้บริหารนิติบุคคลเท่านั้นหาชอบไม่ เพราะการสันนิษฐานเช่นนั้นมิใช่การสันนิษฐานข้อเท็จจริงที่เป็นองค์ประกอบความผิดเพียงบางข้อเหมือนดังกฎหมายการพนัน หรือกฎหมายยาเสพติดให้โทษ แต่เป็นการสันนิษฐานความผิดทั้งหมด ทำให้ผู้ต้องหาและจำเลยในคดีอาญาต้องมีภาระการพิสูจน์ว่าเขาเป็นผู้บริสุทธิ์ซึ่งขัดแย้งต่อมาตรา 39 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญโดยตรง ทั้งยังขัดต่อมาตรฐานสากล ขัดต่อพันธะกรณีที่ประเทศไทยมีตามกฎหมายระหว่างประเทศ และขัดต่อหลักนิติธรรมอีกด้วย”
       
       อย่างไรก็ตาม ด้วยความเคารพต่อคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ในความคิดเห็นของผู้เขียน บทสันนิษฐานความรับผิดของจำเลยในคดีอาญายังคงมีบทบาทสำคัญในการรักษาความสงบเรียบร้อยในสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการปราบปรามอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ(Economic Crime) เพราะอาชญากรรมประเภทนี้มีลักษณะพิเศษกว่าอาชญากรรมทั่วๆไป(Street Crime) ตามที่ได้กล่าวมาแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นที่ว่าลักษณะของอาชญากรรมทางเศรษฐกิจมักจะหาร่องรอยของพยานหลักฐานมาพิสูจน์ความผิดของจำเลยยากมาก เนื่องจากข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำความผิดของจำเลยมักอยู่ในความรู้เห็นของจำเลยเป็นส่วนใหญ่ จึงจำเป็นต้องพึ่งข้อสันนิษฐานความรับผิดของจำเลยเป็นเครื่องมือผ่อนภาระของฝ่ายบริหารในการพิสูจน์ความผิดของจำเลย แม้การกำหนดข้อสันนิษฐานอาจถูกมองว่าเป็นการละเมิดต่อสิทธิของจำเลยไปบ้าง แต่การรักษาความสงบเรียบร้อยที่มีประสิทธิภาพก็จะต้องกระทบกระเทือนต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนอยู่เป็นปกติธรรมดา และคงไม่มีการรักษาความสงบเรียบร้อยใดๆที่จะไม่กระทบกระเทือนสิทธิของประชาชนในสังคมอย่างแน่นอน นอกจากนี้ หากฝ่ายบริหารไม่มีข้อสันนิษฐานความรับผิดของจำเลยเป็นเครื่องมือในการช่วยลดภาระการพิสูจน์ความผิด ก็จะทำให้โอกาสนำตัวผู้ก่ออาชญากรรมทางเศรษฐกิจมาลงโทษนั้นเป็นไปได้ยากมาก หาใช่ว่าเจ้าหน้าที่บ้านเมืองต้องทำงานหนักกันขึ้นเพียงเล็กน้อย แต่จะกลายเป็นงานที่ยากยิ่งสำหรับเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารที่จะพิสูจน์ความผิดของจำเลย และจะยังผลให้เสียวัตถุประสงค์ของกฎหมายอาญาที่มุ่งข่มขู่สังคมให้เกรงกลัวต่อการก่ออาชญากรรมด้วย
       
       ผู้เขียนเห็นว่า หากเราจะให้เหตุผลเพื่อรับรองความชอบธรรมในการกำหนดข้อสันนิษฐานความรับผิดของผู้แทนนิติบุคคลในกรณีที่นิติบุคคลเป็นผู้กระทำความผิด ก็อาจให้เหตุผลได้ดังนี้
       
       1. พระราชบัญญัติขายตรงและการตลาดแบบตรง พุทธศักราช 2545 มาตรา 54 รวมถึงพระราชบัญญัติอื่นๆที่มีบทบัญญัติลักษณะเดียวกัน ไม่ได้สันนิษฐานความผิดของผู้แทนนิติบุคคลตั้งแต่แรกเริ่มคดี หากแต่โจทก์จะต้องพิสูจน์เงื่อนไขที่จะได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐาน(Basic Fact) ในเบื้องต้นว่านิติบุคคลดังกล่าวเป็นผู้กระทำความผิดเสียก่อน จึงจะโยนภาระการพิสูจน์(Reverse Burden of Proof) ไปให้แก่ฝ่ายจำเลย ซึ่งเหตุผลดังกล่าวนี้ก็สอดคล้องกับเหตุผลที่คณะตุลาการรัฐธรรมนูญเคยให้เอาไว้ในคำวินิจฉัยที่ ต.2/2494 และมีความชอบธรรมในระดับหนึ่งที่จะมองว่าบทสันนิษฐานความรับผิดดังกล่าวนี้ไม่ขัดหรือแย้งต่อมาตรา 39 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่มีหลักว่าต้องสันนิษฐานเอาไว้ก่อนว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์(Presumption of Innocence)
       
       2. ข้อสันนิษฐานความรับผิดของผู้แทนนิติบุคคล ไม่ใช่บทสันนิษฐานเด็ดขาด (Irrebuttable Presumption) แม้ผู้แทนนิติบุคคลจะถูกสันนิษฐานโดยผลของกฎหมายว่าเป็นผู้กระทำความผิดก็ตาม แต่ผู้แทนนิติบุคคลดังกล่าวก็ยังมีโอกาสที่จะนำสืบหักล้างข้อสันนิษฐานว่าตนมิได้มีส่วนในการกระทำความผิดของนิติบุคคลนั้นได้อยู่ตามที่กฎหมายเปิดช่องเอาไว้ให้ อีกทั้งยังมีโอกาสนำสืบพยานโต้แย้งโจทก์ว่าข้อเท็จจริงอันเป็นเงื่อนไขในการได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐาน(Basic Fact) นั้นไม่มีอยู่จริงด้วย
       
       3. ในการสืบข้อเท็จจริงของจำเลยเพื่อหักล้างข้อเท็จจริงที่ถูกสันนิษฐานตามกฎหมายนั้น นอกจากจะไม่เป็นการยากแก่จำเลยซึ่งเป็นผู้แทนนิติบุคคล เพราะข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานทุกอย่างอยู่ในความรู้เห็นของผู้แทนนิติบุคคลอยู่แล้ว การนำสืบหักล้างข้อเท็จจริงของจำเลยซึ่งเป็นผู้แทนนิติบุคคลนั้นก็ไม่จำเป็นต้องพิสูจน์ให้ศาลเชื่อโดยปราศจากข้อสงสัยตามสมควร(Prove Beyond Reasonable Doubt) เหมือนการสืบข้อเท็จจริงของโจทก์ เพราะการสืบพยานของจำเลยเพื่อให้พ้นจากข้อสันนิษฐานนั้นเพียงสืบให้ได้น้ำหนักน่าเชื่อถือกว่าฝ่ายโจทก์(Preponderance of Evidence) ก็เป็นการเพียงพอที่ศาลจะเชื่อตามข้อเท็จจริงที่จำเลยกล่าวอ้างแล้ว
       
       4. ข้อเท็จจริงอันเป็นเงื่อนไข(Basic Fact) ที่ว่านิติบุคคลเป็นผู้กระทำความผิด กับข้อเท็จจริงตามข้อสันนิษฐาน(Presumed Fact) ที่ถือว่าผู้แทนนิติบุคคลต้องรับโทษด้วย ของพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พุทธศักราช 2545 มาตรา 54 นั้น หากพิจารณาอย่างถี่ถ้วนจะพบว่ามีความสัมพันธ์กันอย่างสมเหตุสมผล(Rational Connection) ทั้งนี้เพราะถึงแม้นิติบุคคลกับผู้แทนนิติบุคคลจะมีสถานภาพบุคคลแยกต่างหากออกจากกันก็ตามที แต่นิติบุคคลเป็นเพียงบุคคลสมมติตามกฎหมาย หาได้มีความคิดและการกระทำเป็นของตัวเองไม่ การคิดและการแสดงออกของนิติบุคคลล้วนกระทำผ่านผู้แทนนิติบุคคลทั้งสิ้น หากนิติบุคคลถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดจะปฏิเสธได้อย่างไรว่าผู้แทนนิติบุคคลไม่มีส่วนรู้เห็นกับการกระทำดังกล่าว การกำหนดข้อสันนิษฐานในลักษณะนี้จึงมีความสมเหตุสมผลอยู่ในตัว แม้ศาลรัฐธรรมนูญโดยคำวินิจฉัยที่ 12/2555จะปฏิเสธความสมเหตุสมผลของข้อสันนิษฐานในพระราชบัญญัตินี้ด้วยเหตุผลที่ว่า ข้อสันนิษฐานตามพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พุทธศักราช 2545 มาตรา 54 เป็นการสันนิษฐานโดยอาศัยเพียงสถานะของบุคคลที่เป็นผู้แทนนิติบุคคล ไม่ได้สันนิษฐานบนพื้นฐานของข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบความผิดก็ตาม แต่ผู้เขียนเห็นว่า ความสัมพันธ์อย่างสมเหตุสมผล(Rational Connection) ของข้อเท็จจริงอันเป็นเงื่อนไข กับข้อเท็จจริงตามข้อสันนิษฐาน อาจเกิดขึ้นได้จากข้อเท็จจริงอื่นๆที่ไม่ใช่องค์ประกอบความผิดก็ได้ แม้เป็นการสันนิษฐานบนพื้นฐานของสถานะบุคคลก็มีเหตุผลที่จะฟังว่ามีความสัมพันธ์อย่างสมเหตุสมผลโดยปราศจากข้อสงสัยได้ดังที่กล่าวมาแล้วนั่นเอง
       
       ผู้เขียนเห็นว่าด้วยเหตุผลที่กล่าวมาทั้ง 4 ประการนี้ น่าจะเพียงพอที่ศาลรัฐธรรมนูญจะนำไปใช้อธิบายรับรองความชอบธรรมของการกำหนดข้อสันนิษฐานความรับผิดทางอาญาของผู้แทนนิติบุคคลไม่ให้ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หากมีคดีขึ้นสู่ศาลรัฐธรรมนูญอีกครั้งหนึ่งในอนาคต
        
       
       
       บทสรุปและข้อเสนอแนะ
       จากที่ศึกษามาทั้งหมดนี้สามารถสรุปได้ว่า ณ ปัจจุบันนี้ ศาลรัฐธรรมนูญของประเทศไทยโดยผลของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 12/2555 ไม่ยอมรับและไม่รับรองความชอบธรรมของการกำหนดข้อสันนิษฐานความรับผิดของจำเลยที่เป็นผู้แทนนิติบุคคลในคดีอาญา โดยให้เหตุผลว่า “ข้อสันนิษฐานดังกล่าวเป็นการสันนิษฐานความผิดของผู้ต้องหาและจำเลยในคดีอาญาโดยอาศัยสถานะของบุคคลเป็นเงื่อนไข มิใช่การสันนิษฐานข้อเท็จจริงที่เป็นองค์ประกอบความผิดเพียงบางข้อหลังจากที่โจทก์ได้พิสูจน์ให้เห็นถึงการกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดที่เกี่ยวข้องกับความผิดที่จำเลยถูกกล่าวหา และยังขัดกับหลักนิติธรรมข้อที่ว่าโจทก์ในคดีอาญาต้องมีภาระการพิสูจน์ถึงการกระทำความผิดของจำเลยให้ครบองค์ประกอบความผิดด้วย”
       
       อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนขอเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาทบทวนแนวความคิดเกี่ยวกับการกำหนดข้อสันนิษฐานความรับผิดของจำเลยอีกครั้งหนึ่ง โดยศาลรัฐธรรมนูญควรจะให้การรับรองความชอบธรรมในการกำหนดข้อสันนิษฐานความรับผิดของจำเลยอีกครั้งหนึ่งด้วยเหตุผลดังที่ได้วิเคราะห์มาแล้วข้างต้น เพื่อให้ฝ่ายบริหารสามารถปราบปรามอาชญากรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผู้เขียนเข้าใจว่าศาลรัฐธรรมนูญคำนึงถึงสิทธิขั้นพื้นฐานของจำเลยในคดีอาญาเป็นสำคัญ แต่ศาลรัฐธรรมนูญก็ควรจะพิจารณาเรื่องดังกล่าวอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริงที่ว่าไม่มีการรักษาความสงบเรียบร้อยใดที่จะไม่กระทบกระเทือนสิทธิเสรีภาพของประชาชน
       
       นอกจากนี้ ผู้เขียนขอเสนอข้อคิดเห็นไปยังฝ่ายนิติบัญญัติซึ่งทำหน้าที่ออกกฎหมายมาบังคับใช้ว่า การกำหนดข้อสันนิษฐานความรับผิดของจำเลยในคดีอาญา ควรจะจำกัดฐานความผิดเอาไว้เฉพาะที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจหรืออาชญากรรมประเภทอื่นที่หาพยานหลักฐานมาพิสูจน์ความผิดของจำเลยได้ยากจริงๆเท่านั้น อีกทั้งการกำหนดข้อเท็จจริงอันเป็นเงื่อนไขของข้อสันนิษฐาน(Basic Fact) กับ ข้อเท็จจริงที่ได้จากการสันนิษฐาน(Presumed Fact) ก็จะต้องมีความสัมพันธ์กันอย่างสมเหตุสมผลด้วย เพราะถ้าหากฝ่ายนิติบัญญัตินำข้อสันนิษฐานความผิดของจำเลยในคดีอาญาไปใช้กับฐานความผิดหลายๆฐานโดยไม่มีความจำเป็น หรือกำหนดข้อสันนิษฐานที่ไม่สมเหตุสมผล ก็ย่อมส่งผลให้ประชาชนถูกละเมิดสิทธิขึ้นพื้นฐานในคดีอาญามากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
       
       ปัญหาเรื่องการกำหนดข้อสันนิษฐานความผิดของจำเลยในคดีอาญานี้เป็นปัญหาใหญ่ที่มีการถกเถียงกันมาอย่างยาวนาน เพราะมีปัญหาก้ำกึ่งกับการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของจำเลยอยู่มาก ซึ่งจากที่ศึกษามานั้น ทั้งเหตุผลของฝ่ายที่สนับสนุนและฝ่ายที่โต้แย้งการมีอยู่ของข้อสันนิษฐานต่างก็มีเหตุผลที่น่าฟังทั้งสิ้น แต่โดยส่วนตัวแล้วผู้เขียนเชื่อว่าการยอมรับให้มีการกำหนดข้อสันนิษฐานความผิดของจำเลยจะมีประโยชน์และคุ้มค่าต่อการรักษาความสงบเรียบร้อยในสังคมอย่างแน่นอน
       
       
       [1] ณรงค์ ใจหาญ. หลักกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เล่ม 1, พิมพ์ครั้งที่ 11 (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์วิญญูชน,2555), หน้า 31
       
       
       [2] ศาสตราจารย์วีระพงษ์ บุญโญภาส, อาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (สำนักพิมพ์นิติธรรม, พิมพ์ครั้งที่ 6, มกราคม 2552). หน้า 49
       
       
       [3] แอล ดูปลาดร์ และ วิจิตร ลุลิตานนท์ , กฎหมายลักษณะพยานและจิตวิทยา (กรุงเทพฯ, โรงพิมพ์อักษรนิติ, 2475),หน้า 186
       
       
       [4] เข็มชัย ชุติวงศ์, “ความชอบธรรมในการกำหนดข้อสันนิษฐานตามกฎหมายคดีอาญา”, วารสารอัยการ (2531): หน้า 18
       
       
       [5] เข็มชัย ชุติวงศ์, คำอธิบายกฎหมายลักษณะพยาน (กรุงเทพฯ,สำนักพิมพ์นิติบรรณาการ,2551), หน้า 116
       
       
       [6] อุดม รัฐอมฤต, คำอธิบายกฎหมายลักษณะพยานหลักฐาน, พิมพ์ครั้งที่ 4(กรุงเทพฯ:โรงพิมพ์เดือนตุลา,2555). หน้า 62
       
       
       [7] โสภณ รัตนากร , คำอธิบายกฎหมายลักษณะพยาน , พิมพ์ครั้งที่ 9 (กรุงเทพฯ,สำนักพิมพ์นิติบรรณาการ,2551), หน้า 506
       
       
       [8] United States V. Romano 382 U.S. 136, 144 (1965)
       
       
       [9] เข็มชัย ชุติวงศ์, คำอธิบายกฎหมายลักษณะพยาน (กรุงเทพฯ,สำนักพิมพ์นิติบรรณาการ,2551), หน้า 117
       
       
       [10] ความเห็นของ Mr.Justice Brennan ในคดี Barnes V. United States 412. U.S. 837 (1973)
       
       
       [11] United States V. Romano 382 U.S. 136,144 (1965)
       
       
       [12] ความเห็นของ Mr.Justice Black ในคดี United States V. Gainey 380 U.S.63 (1965)
       
       
       [13] เข็มชัย ชุติวงศ์, คำอธิบายกฎหมายลักษณะพยาน (กรุงเทพฯ,สำนักพิมพ์นิติบรรณาการ,2551), หน้า 118
       
       
       [14] Woolmington V. DPP (1935)
       
       
       [15] R. V. Johnstone (2003)
       
       
       [16] Sheldrake V. DPP (2004)
       
       
       [17] Harris, O’Boyle, et. al., Law of the European Convention on Human Rights (OUP. 2ndedition, 2009) หน้า 302. อ้างถึงใน ผศ.ณรงเดช สรุโฆษิต, หมายเหตุท้ายคดีรัฐธรรมนูญ คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 12/2555 เรื่อง พระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่[ออนไลน์], 23 เมษายน 2555. แหล่งที่มา www.pub-law.net
       
       
       [18] จรัญ ภักดีธนากุล, “หลักนิติธรรมในบริบทของศาลรัฐธรรมนูญ”, หนังสือรพี’55 โดยคณะกรรมการเนติบัณฑิตสมัยที่ 64 สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา (2555): หน้า 100
       


พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=1797
เวลา 22 พฤศจิกายน 2567 11:49 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)