|
|
ถอดบทเรียนจากเหตุปัจจัยของการปฏิวัติและรัฐประหาร 2 ธันวาคม 2555 18:25 น.
|
ปรากฏการณ์ลุกขึ้นมารวมพลขององค์กรพิทักษ์สยามและภาคีเครือข่ายเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2555 ที่ผ่านแล้วจบลงอย่างรวดเร็วภายในเวลาไม่ถึง 9 ชั่วโมง ได้เกิดคำถามและคำตอบขึ้นอย่างมากมายว่าเกิดอะไรขึ้นและทำไมถึงจบลง ตามประสา หวยออกแล้ว เช่น เกิดการแตกแยกภายในบ้าง จำนวนคนมาน้อยเกินไปบ้าง ฯลฯ แต่ล้วนแล้วเป็นเหตุผลในด้านข้อมูลประเภทการให้ความเห็นเสียมากกว่า ซึ่งคนที่จะตอบได้ดีที่สุดคือแกนนำที่ประกาศยุติการชุมนุมนั่นเองว่าเกิดอะไรขึ้น
เหตุการณ์การรวมตัวขององค์กรดังกล่าวในระยะเริ่มแรกเป็นลักษณะของการรวมตัวในลักษณะของการที่ต้อง ปฏิวัติด้วยการประกาศแช่แข็งประเทศ แต่เมื่อถูกต่อต้านมากจึงผ่อนคลายลงเป็นเพียงรัฐประหารด้วยการที่จะขับไล่รัฐบาลด้วยการแช่แข็งนักการเมืองซึ่งไม่มีในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ จึงถือได้ว่าเป็นการรัฐประหารอีกในรูปแบบหนึ่ง เช่นเดียวกับพระยามโนปกรณ์นิติธาดาได้เคยทำรัฐประหารเงียบมาแล้วในอดีตด้วยการประการงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราและปิดสภาผู้แทนราษฎร
การปฏิวัติ (revolution) หมายถึง การใช้ความรุนแรงทางการเมืองเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างเบ็ดเสร็จ โดยมีวัตถุประสงค์อยู่ที่การเปลี่ยนแปลงการเมืองการปกครอง อุดมการณ์ทางการเมือง วัฒนธรรม วิถีชีวิต ระบบเศรษฐกิจ ความเชื่อทางศาสนา และระบบสังคมโดยรวม
การปฏิวัติเป็นความรุนแรงทางการเมืองที่เกิดขึ้นได้ไม่บ่อยครั้งนัก เพราะจะต้องโค่นล้มลงทั้งระบบ ซึ่งหากสภาพสังคมไม่สุกงอมเต็มที่ หรือสภาพสังคมยังไม่พร้อมแล้วการปฏิวัติจะเป็นไปได้ยากมาก ตัวอย่างของการปฏิวัติที่ผ่านมาก็คือการปฏิวัติฝรั่งเศส การปฏิวัติรัสเซีย การปฏิวัติจีน และการปฏิวัติเมื่อ 24 มิถุนายน 2475 ของไทยเราที่เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่พระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจเต็มในการปกครองประเทศมาเป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ เป็นต้น
สาเหตุของการปฏิวัติ
1.สังคมอยู่ในสภาวะที่ขาดสมดุล การปฏิวัติจะไม่เกิดในสภาพที่สังคมที่มั่นคง เรียบง่าย เป็นปกติ แต่มักเกิดในสังคมที่ได้รับความกดดันรอบด้านหรือสังคมที่กำลังเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลง โดยการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้กระทบต่อสังคมอย่างใหญ่หลวง จนเกินกว่าที่อำนาจรัฐสามารถบังคับได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น ในภาวะหลังสงครามของฝรั่งเศสและอำนาจรัฐที่อ่อนแอลงของพระมหากษัตริย์ในขณะนั้น
2.ผู้นำต้องเสียอำนาจและความชอบธรรม ผู้นำมีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดการปฏิวัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมที่ผู้นำไม่สามารถบริหารประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ผู้นำไม่สามารถระดมความจงรักภักดีจากผู้ใต้บังคับบัญชาและประชาชนได้อีกต่อไป
3.การแพร่หลายของอุดมการณ์ปฏิวัติ ซึ่งเป็นสาเหตุที่สำคัญที่สุดของการปฏิวัติ เพราะถือว่าเป็นตัวเร่ง(catalyze) ของกระบวนการปฏิวัติ โดยกลุ่มคนที่ไม่พอใจรวมตัวกัน มีอุดมการณ์เป็นตัวชี้นำ และทำให้ประชาชนเห็นว่าหากโค่นล้มระบอบเก่าไป จะสามารถสถาปนาระบอบใหม่ซึ่งให้ความยุติธรรมในสังคม หากได้ผู้นำในลักษณะนี้แล้ว จะทำให้อุดมการณ์ปฏิวัติได้รับการยอมรับจากคนส่วนใหญ่และทำให้การปฏิวัติประสบความสำเร็จ
ซึ่งทั้ง 3 เหตุข้างต้นนี้องค์กรพิทักษ์สยามและภาคีเครือข่ายประสบความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงตั้งแต่แรก จนต้องลดเป้าหมายจากการปฏิวัติเพื่อแช่แข็งประเทศไปสู่เพียงการรัฐประหารเพื่อแช่แข็งนักการการเมืองด้วยการล้มรัฐบาลนั่นเอง
การรัฐประหาร (coup d’état) หมายถึง การใช้ความรุนแรงทางการเมืองที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลันทันด่วน โดยมีวัตถุประสงค์อยู่ที่การเปลี่ยนตัวหัวหน้ารัฐบาล หรือผู้ปกครองประเทศ แล้วจัดตั้งคณะรัฐบาลชุดใหม่ที่อยู่ภายใต้ผู้ก่อการรัฐประหารขึ้นมา โดยที่รูปแบบการปกครองไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปแต่อย่างใด มีแต่ตัวผู้นำและคณะผู้นำเท่านั้นที่เปลี่ยนแปลงไป
ปัจจัยที่ที่ทำให้การรัฐประหารประสบความสำเร็จ
1.ประชาชนไม่ชอบมีส่วนร่วมทางการเมือง ประเทศมีการรัฐประหารเกิดขึ้นได้บ่อยๆนั้น เป็นประเทศที่ประชาชนไม่ค่อยชอบเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง ถ้าประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างสม่ำเสมอ การหยุดชะงักทางการเมืองด้วยกระบวนการรัฐประหารจะเกิดขึ้นไม่ได้ ซึ่งไทยเรานับตั้งแต่หลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เป็นต้นมา ประชาชนมีความตื่นตัวทางการเมืองยิ่งกว่าเดิมเป็นอันมาก
2.ต้องเป็นองค์กรลับ ในการทำรัฐประหารนั้นจะต้องมีองค์กรที่ปิดลับ มีสมาชิกไว้ใจได้ไม่กี่คน มีจำนวนน้อยเพราะจะต้องรักษาความลับไว้เป็นสำคัญ หากความลับรั่วไหลก็อาจถูกปราบปรามได้อย่างง่ายดายก่อนที่จะทำการสำเร็จ ดังเช่นคราวนี้เป็นต้น
3.ปฏิบัติการสายฟ้าแลบ การทำรัฐประหารจะต้องทำการอย่างรวดเร็ว โดยปกติต้องทำสำเร็จภายใน 24 ชั่วโมง แต่ในคราวนี้มีการประกาศล่วงหน้าอย่างโจ๋งครึ่มเป็นเวลานานทำให้รัฐบาลเตรียมการได้ทัน
4.ต้องไม่ให้ประชาชนรังเกียจ การทำรัฐประหารที่ประสบความสำเร็จนั้นจะต้องไม่ทำให้ประชาชนเสียเลือดเนื้อ และการรัฐประหารนั้นจะต้องสร้างอุดมการณ์ที่ไม่ให้ประชาชนเห็นว่ารัฐบาลใหม่ที่จะได้มาเป็นรัฐบาลเผด็จการ ซึ่งในข้อนี้องค์กรพิทักษ์สยามและภาคีเครือข่ายประสบความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง
การกบฏหรือขบถ (rebellion) นั้น หมายถึงการที่กลุ่มคนพยายามทำการปฏิวัติหรือรัฐประหารแต่กระทำไปไม่สำเร็จ จึงได้ชื่อว่าเป็นกบฏนั่นเอง ตัวอย่างของไทยเราก็เช่น กบฏบวรเดช กบฏนายสิบ กบฏเสนาธิการหรือกบฏนายพล กบฏวังหลวง กบฏแมนฮัตตัน กบฏ ๒๖ มีนาคม(พล.อ.ฉลาด) กบฏเมษาฮาวายหรือกบฏยังเติร์ก กบฏสองพี่น้อง ฯลฯ
จะเห็นได้ว่าการที่ที่องค์กรพิทักษ์สยามและภาคีเครือข่ายประสบความล้มเหลวในคราวนี้ด้วยเหตุผลทางวิชาการที่ได้นำมาอธิบายข้างต้น ส่วนการที่ว่าจะเป็นกบฏหรือไม่นั้นก็สุดแล้วแต่ว่าจะมีการนำคดีไปสู่ศาลหรือไม่ และศาลจะพิจารณาพิพากษาว่าอย่างไร
แต่ที่แน่ๆบทเรียนที่แกนนำได้รับคงต้องจำจนวันตาย อยู่ที่ว่าผู้ที่อยู่เบื้องหลังและผู้เหลืออยู่จะเดินเกมต่อไปอย่างไร ช่วงนี้เป็นช่วงที่ต้องน่าจับตามากกว่าการระดมพลก่อนหน้านี้เสียมากกว่าด้วยซ้ำไป
หลายคนที่กลืนเลือดไปแล้วคงไม่ยอมง่ายๆหรอกครับ
---------------
หมายเหตุ ค้นคว้าเพิ่มเติมได้จาก ปฏิวัติ รัฐประหารหรือกบฏ ที่ http://www.pub-law.net/publaw/view.aspx?id=982
|
|
|
พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=1796
เวลา 22 พฤศจิกายน 2567 20:15 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)
|