|
|
Jurislateur ในกฎหมายปกครองฝรั่งเศส 2 ธันวาคม 2555 18:25 น.
|
การตัดสินคดีของตุลาการเป็นไปในทำนองที่ว่า ตุลาการเป็นผู้นำกฎหมายลายลักษณ์อักษรมาปรับใช้กับข้อเท็จจริงทางคดีที่เกิดขึ้น ปัญหาที่เกิดขึ้นในการปรับใช้กฎหมายลายลักษณ์อักษรของตุลาการจะปรากฏต่อเมื่อกฎหมายลายลักษณ์อักษรดังกล่าวนั้นมีบทบัญญัติที่ไม่กระจ่างชัด หรือในบางครั้ง (ที่ไม่พบบ่อยนัก) คือ ไม่มีตัวบทกฎหมายที่สามารถนำมาปรับใช้กับข้อเท็จจริงในคดีได้ ดังนั้น จึงเป็นที่มาของภาระหน้าที่ของตุลาการศาลปกครองในการสร้าง (produire) กฎเกณฑ์ทางกฎหมาย (norme) ใหม่ขึ้นมาเพื่อปรับใช้ในการพิจารณาพิพากษาดังกล่าว ทั้งนี้ แม้ว่าการตีความกฎหมายจะต้องยึดถือตามบทบัญญัติลายลักษณ์อักษรที่ปรากฏอยู่ก็ตาม แต่ก็ไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจที่จะกล่าวว่า ตุลาการย่อมไม่อาจปฏิเสธบทบาทของตนในการตีความกฎหมายและกำหนดคุณค่าของสิ่งที่ตนตีความ การพิจารณาพิพากษาข้อเท็จจริงที่ไม่สามารถปรับเข้ากับหลักกฎหมายใดอันเนื่องมาจากสาเหตุที่ว่าไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้ย่อมเป็นสิ่งที่บังคับให้ตุลาการต้องสร้างกฎหมายใหม่เพื่อมาปรับใช้กับข้อเท็จจริงดังกล่าว ยิ่งไปกว่านั้น ข้อเท็จจริงที่ว่ากฎหมายปกครองเป็นกฎหมายที่มาจากแนวคำพิพากษาของศาลยังคงเป็นเหตุผลสำคัญที่เน้นย้ำบทบาทของตุลาการในการตีความหลักกฎหมาย วางหลักกฎหมาย และสร้างหลักกฎหมายใหม่เพื่อนำมาปรับใช้ในคดี จึงอาจกล่าวได้ว่าตุลาการย่อมมีความชอบธรรมในการดำเนินการดังกล่าว และมีเสรีภาพในการพิจารณาว่ากฎเกณฑ์ที่ตนหยิบยกมานั้นเป็นกฎเกณฑ์ (les règles) ทางกฎหมายปกครองรวมทั้งกำหนดลำดับศักดิ์ของกฎเกณฑ์ที่ตนหยิบยกมานั้นอีกประการหนึ่งด้วย หน้าที่ประการนี้ถือเป็นหน้าที่สำคัญของตุลาการศาลปกครองที่เรียกว่า jurislateur คือ การให้นักกฎหมายเป็นผู้สร้างหลักกฎหมายเสียเอง ซึ่งยังคงมีข้อถกเถียงถึงความชอบธรรมในการดำเนินการตามหน้าที่ดังกล่าวอยู่เสมอ ทั้งนี้ เนื่องมาจากเหตุผลที่ว่าหน้าที่ในการสร้างหลักกฎหมายเป็นหน้าที่ของฝ่าย legis หรือ legislateur ซึ่งหมายถึง ฝ่ายนิติบัญญัตินั่นเอง
การศึกษาเกี่ยวกับอำนาจของตุลาการในการตีความกฎหมายและสร้างแนวคำพิพากษาตามทฤษฎีกฎหมายปกครองฝรั่งเศสจึงอาจแบ่งเค้าโครงการศึกษาได้ออกเป็น ๒ ส่วน คือ ส่วนที่ ๑ บทบาทของตุลาการในการสร้างหลักกฎหมาย และ ส่วนที่ ๒ ผลของการสร้างหลักกฎหมายของตุลาการ ซึ่งก็คือการศึกษาเกี่ยวกับ หลักกฎหมายปกครองทั่วไป นั่นเอง
ส่วนที่ ๑ บทบาทของตุลาการในการสร้างหลักกฎหมาย
อาจกล่าวได้ว่าตุลาการศาลปกครองอยู่ในสถานะผู้สร้างหลักกฎหมายที่แตกต่างไปจากการสร้างหลักกฎหมายของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ กล่าวคือ คำตัดสินของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญในเรื่องที่เกี่ยวกับการควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ (le contrôle de constitutionnalité) ย่อมมีผลบังคับใช้กับการดำเนินงานของฝ่ายปกครองและการดำเนินการทางการศาลด้วย[๑] อย่างไรก็ดี การมีผลบังคับใช้ของคำตัดสินของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญในองค์กรต่างๆ นั้น เป็นไปทำนอง การเทียบเคียง (l’analogie) ผลบังคับของสิ่งที่ทำการตัดสินไปแล้ว (l’autorité de la chose jugée) ในทางกลับกัน คำตัดสินของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญในเรื่องอื่น[๒] ย่อมไม่ได้รับการยอมรับในลักษณะเดียวกันกับคำตัดสินของตุลาการรัฐธรรมนูญในเรื่องที่เกี่ยวกับการควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ เนื่องมาจากสาเหตุที่ว่าคำตัดสินดังกล่าวย่อมมีผลบังคับจากสิ่งที่ตัดสินไปแล้วเพียงเฉพาะสำหรับคู่กรณีซึ่งจะต้องได้รับการบังคับตามคำตัดสินโดยตรงระหว่างคู่กรณีเท่านั้น คำตัดสินในกรณีดังกล่าวจึงไม่มีลักษณะเป็นกฎเกณฑ์แห่งกฎหมายที่สามารถนำมาปรับใช้ได้ในกรณีอื่นๆ (หรือในกรณีทั่วไป) ได้อีก ลักษณะดังกล่าวนี้สอดคล้องกับลักษณะของคำพิพากษาที่มีผลผูกพันเพียงคู่กรณีตามความในมาตรา ๕ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งฝรั่งเศส
บทบาทของตุลาการศาลปกครองจะแตกต่างไปจากบทบาทของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ เนื่องมาจากเหตุผลที่ว่าการพิจารณาพิพากษาคดีของตุลาการศาลปกครองนั้นเป็นการพิจารณาการฟ้องคดีเพื่อให้มีการเพิกถอนการกระทำทางปกครองที่เกินขอบอำนาจ (le recours d’excès de pouvoir)[๓] ดังนั้น การพิจารณาพิพากษาคดีของตุลาการศาลปกครองจึงเป็นไปในทำนองที่เป็นการยกเลิกการกระทำทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายตามหลักทั่วไป (erga omnes) รวมทั้งระบุว่าการกระทำใดที่อาศัยคำสั่งทางปกครอง (ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย) นั้นเป็นฐานก็จะส่งผลให้การกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายไปด้วย[๔] ยิ่งไปกว่านั้น การที่ฝ่ายปกครองไม่เคารพหลักทั่วไปดังกล่าวจะส่งผลให้ฝ่ายปกครองต้องรับผิดในกรณีดังกล่าวอีกประการหนึ่งด้วย ทั้งนี้ ตามคำพิพากษาสภาแห่งรัฐ คดี Caucheteux et Desmonts ลงวันที่ ๒ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๖๒
อย่างไรก็ดี แม้จะไม่มีกฎหมายลายลักษณ์อักษรวางหลักไว้แต่ตุลาการศาลปกครองก็ยืนยันว่าหากการดำเนินกิจกรรมของฝ่ายปกครองนั้นหากเกิดผลกระทบต่อบุคคลใด ฝ่ายปกครองย่อมจะต้องรับผิดด้วย โดยนำหลักการดังกล่าวมาบังคับใช้กับกรณีกิจกรรมทั่วไปของฝ่ายปกครอง[๕] กรณีความรับผิดของฝ่ายปกครอง[๖] กรณีการดำเนินการให้เป็นไปตามสัญญาทางปกครองซึ่งต่อมาศาลปกครองไม่เพียงแต่นำแนวคิดดังกล่าวมาปรับใช้ตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นเท่านั้น แต่ได้ตีความการนำแนวคิดดังกล่าวไกลออกไปจนถึงการให้คำนิยามกฎเกณฑ์ทางกฎหมายที่เรียกว่า หลักกฎหมายปกครองทั่วไป เพื่อที่จะให้กฎเกณฑ์ทางกฎหมายดังกล่าวปรากฏอยู่ท่ามกลางลำดับศักดิ์ของกฎหมายและสามารถหยิบยกมาอ้างอิงได้เสมอ
อย่างไรก็ดี ถือได้ว่าไม่มีบทบัญญัติใดให้อำนาจตุลาการศาลปกครองในการสร้างหลักกฎหมาย ดังนั้น แม้หลักกฎหมายอันเป็นผลมาจากคำตัดสินของศาลจะมีคุณค่าในเชิงกฎเกณฑ์แห่งกฎหมายก็ตาม แต่ก็ถือกันว่าหลักกฎหมายอันเป็นผลมาจากคำตัดสินของศาลมีคุณค่าในลำดับชั้นเดียวกับคำตัดสินของศาล (อันเป็นที่มาของการตีความนั้น) นั่นเอง ดังนั้น จากตรรกะเดียวกันจึงพิจารณาต่อเนื่องไปได้อีกว่าการตีความของศาลในการตัดสินคดีหนึ่งย่อมจะสามารถแบ่งแยกได้ว่าเป็นการตีความในเชิงกฎ (des normes impératives) หรือเป็นเพียงการตีความในเชิงสนับสนุน (des normes supplétives) ยิ่งไปกว่านั้น การตีความของศาลในกรณีดังกล่าวก็อาจมีผลย้อนหลัง (un effet rétroactif) ที่สามารถใช้กับคำตัดสินในอดีตได้ ซึ่งการมีผลย้อนหลังนี้ย่อมมีผลกระทบต่อหลักความมั่นคงทางนิติสถานะ (la sécurité juridique) ของประชาชนไม่มากก็น้อย ตุลาการศาลปกครองจึงจำต้องใช้แนวปฏิบัติในเชิงการไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา ดังที่ปรากฏอยู่ในคำพิพากษาคดี Nicolo[๗] ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงเรื่องการฟ้องขอให้ตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของสนธิสัญญาระหว่างประเทศ และสภาแห่งรัฐปฏิเสธไม่รับคำฟ้องดังกล่าวไว้พิจารณา โดยอ้างเหตุผลว่าสภาแห่งรัฐในฐานะศาลปกครองสูงสุดมีอำนาจในการตรวจสอบความไม่ชอบด้วยกฎหมายของการกระทำทางปกครองเท่านั้น จึงไม่อาจก้าวล่วงไปตรวจสอบความไม่ชอบด้วยกฎหมายของสนธิสัญญาระหว่างประเทศได้[๘] ซึ่งการที่สภาแห่งรัฐไม่รับคำฟ้องดังกล่าวไว้พิจารณานั้น ก็ไม่ได้ถูกวิจารณ์ว่าเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยหลักความยุติธรรมแต่ประการใด จึงอาจสรุปได้ว่า ตุลาการศาลปกครองมีอำนาจในการสร้างหลักกฎหมายในลักษณะที่หลากหลายตามแต่ที่จะมีการฟ้องคดีเข้ามา ทั้งนี้ เนื่องมาจากสาเหตุว่าในระบบการแบ่งแยกอำนาจองค์กรแบบเด็ดขาดของฝรั่งเศสนั้นเอื้อประโยชน์ต่อการใช้อำนาจในการสร้างหลักกฎหมายของตุลาการศาลปกครองเพราะเหตุว่าตุลาการศาลปกครองย่อมไม่อาจถูกฟ้องคดีอันเนื่องมาจากการตัดสินของตนได้นั่นเอง
ส่วนที่ ๒ ผลของการสร้างหลักกฎหมายของตุลาการ : หลักกฎหมายปกครองทั่วไป
ระบบกฎหมายฝรั่งเศสได้ยอมรับว่าในระบบกฎหมายของตนมีกฎเกณฑ์ทางกฎหมายที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษรที่อยู่ในลำดับศักดิ์เดียวกันกับกฎเกณฑ์แห่งกฎหมายที่ออกโดยฝ่ายบริหาร ตุลาการศาลปกครองถือเป็นผู้ ค้นพบ กฎเกณฑ์ทางกฎหมายดังกล่าว และกฎเกณฑ์ทางกฎหมายดังกล่าวก็เป็นกฎเกณฑ์ทางกฎหมายที่มีจุดประสงค์เพื่อการคุ้มครองเสรีภาพของประชาชนตามแนวความคิดเสรีนิยม (un esprit libéral) และเสรีภาพของประชาชนในชาติ จึงอาจกล่าวได้ว่า หลักกฎหมายอันเกิดมาจากคำพิพากษาของศาล จะต้องประกอบไปด้วยลักษณะสำคัญ ๓ ประการ คือ (ก) เป็นกฎเกณฑ์แห่งกฎหมายที่มีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองเสรีภาพ (ข) มีลักษณะที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร และ (ค) อยู่ภายใต้การควบคุมของฝ่ายนิติบัญญัติในท้ายที่สุด ซึ่งลักษณะ ๓ ประการนี้จะต้องครบถ้วนเสมอ
สำหรับ หลักกฎหมายปกครองทั่วไป หรือ les principes généraux du droit นั้น เป็นหลักกฎหมายที่ลึกซึ้งกว่า หลักกฎหมายอันเกิดมาจากคำพิพากษาของศาล ในกรณีทั่วไป และยังเป็นเครื่องมือของสภาแห่งรัฐในการแสดงให้เห็นว่ากฎหมายปกครองมีความเฉพาะแตกต่างจากกฎหมายอื่นๆ โดยตุลาการศาลปกครองไม่ได้มีหน้าที่ในการ สร้าง (invente) หลักกฎหมายปกครองทั่วไปขึ้นมาจากสิ่งที่ไม่มีอยู่เลย แต่เป็นเพียงการ ถ่ายทอด (diffuse) หลักกฎหมายปกครองทั่วไปโดยอาศัยบริบททางสังคมและเทียบเคียงมาจากหลักกฎหมายแพ่งในเรื่องเดียวกัน[๙] ดังที่ปรากฏในคำพิพากษาสภาแห่งรัฐ (ที่ประชุมใหญ่) คดี Dame Peynet ลงวันที่ ๘ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๗๓ ซึ่งมีข้อเท็จจริงคือการไล่ข้าราชการผู้หนึ่งออกจากตำแหน่งหน้าที่อันเนื่องมาจากเหตุผลว่าข้าราชการนั้นตั้งครรภ์ สภาแห่งรัฐได้นำหลักจากกฎหมายแรงงานในเรื่องการไล่ออกจากงานอันเนื่องมาจากการตั้งครรภ์ถือเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายมาปรับใช้กับกรณีดังกล่าว หรือในบางครั้งพบว่าสภาแห่งรัฐได้นำกฎหมายมหาชนมาเป็นฐานในการวางหลักในเรื่องหลักกฎหมายปกครองทั่วไปเช่นกัน ดังที่ปรากฏในคำพิพากษาสภาแห่งรัฐ คดี Alitalia ในปี ค.ศ. ๑๙๘๙ หรือในบางครั้งก็สภาแห่งรัฐก็นำกฎหมายระหว่างประเทศมาเป็นฐานในการวางหลักในเรื่องหลักกฎหมายปกครองทั่วไป ดังที่ปรากฏในคำพิพากษาสภาแห่งรัฐ คดี Bereciatura-Echarri ในปี ค.ศ. ๑๙๘๘ ซึ่งสภาแห่งรัฐได้นำแนวคิดอันมีที่มาจากกฎหมายต่างๆมาปรับใช้ในคดีปกครองในลักษณะที่เป็นการยืนยันการมีอยู่ของหลักในเรื่องดังกล่าวแต่มีแนวปฏิบัติในการนำมาปรับใช้กับกฎหมายปกครองในลักษณะที่เฉพาะ ซึ่งภารกิจของสภาแห่งรัฐในกรณีนี้ถือเป็นภารกิจที่เน้นย้ำความเป็นอิสระและลักษณะเฉพาะของกฎหมายปกครองฝรั่งเศสอีกประการหนึ่ง
จึงอาจกล่าวได้ว่า ในการศึกษาเกี่ยวกับ หลักกฎหมายทั่วไป นั้น อาจแบ่งการศึกษาได้ออกเป็น ๒ หัวข้อย่อย คือ ๒.๑ ที่มาทางประวัติศาสตร์ของบทบาทของตุลาการศาลปกครองในการวาง หลักกฎหมายทั่วไป และ ๒.๒ ตัวอย่างของ หลักกฎหมายทั่วไป ตามที่ปรากฏอยู่ในคำพิพากษาของสภาแห่งรัฐ
๒.๑ ที่มาทางประวัติศาสตร์ของบทบาทของตุลาการศาลปกครองในการวางหลักเรื่อง หลักกฎหมายทั่วไป
บทบาทของตุลาการศาลปกครองในการวาง หลักกฎหมายปกครองทั่วไป เริ่มต้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองที่สภาแห่งรัฐต้องทำการตัดสินคดีโดยเคารพหลัก สิทธิในการต่อสู้คดี (le principe des droits de la défense) ดังที่ปรากฏในคำพิพากษาสภาแห่งรัฐ (ที่ประชุมใหญ่) คดี Veuve Trompier-Gravier ลงวันที่ ๕ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๔๔[๑๐] โดยสภาแห่งรัฐวางหลักไว้ในคำพิพากษาดังกล่าวว่า สิทธิในการต่อสู้คดีถือเป็นหลักกฎหมายปกครองทั่วไป ซึ่งสภาแห่งรัฐก็ได้มีคำพิพากษาในทำนองเดียวกันนี้ออกมาอีกเป็นจำนวนมากในวันเดียวกัน สภาวการณ์ดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าสภาแห่งรัฐยอมรับอย่างชัดเจนว่า สิทธิในการต่อสู้คดีถือเป็นหลักกฎหมายทั่วไปแม้ว่าจะไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายเป็นลายลักษณ์อักษรกำหนดไว้ก็ตาม[๑๑]
อาจกล่าวได้ว่าแนวคิดของสภาแห่งรัฐในการยอมรับ หลักกฎหมายปกครองทั่วไป นั้น มีที่มาจากมาตรา ๓๘ แห่งธรรมนูญศาลยุติธรรมระหว่างประเทศซึ่งก่อตั้งขึ้นในระหว่างช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่งและครั้งที่สอง มาตรา ๓๘ แห่งธรรมนูญศาลยุติธรรมระหว่างประเทศได้บัญญัติถึง ที่มาของหลักทั่วไปอันเป็นผลมาจากบรรดากฎหมายที่ได้รับการยอมรับจากชาติที่เจริญแล้วในโลก (les sources du droit les principes généraux du droit reconnus par les lois des nations civilisées) ดังนั้น ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันว่า หลักทั่วไป ดังกล่าวนี้ย่อมเป็นที่ยอมรับในระบบกฎหมายของทุกประเทศ หลักทั่วไป ดังที่กล่าวมานี้จึงอาจมีลักษณะในทำนองเดียวกับกฎหมายธรรมชาติ (le droit naturel) ซึ่งมีคุณค่าเทียบเท่ากฎหมายระดับนิติบัญญัติ หรืออาจมีคุณค่าเทียบเท่ากฎหมายระหว่างประเทศที่ทุกประเทศ (ที่เข้าเป็นสมาชิกข้อตกลงระหว่างประเทศ) จะต้องยอมรับ ซึ่งสภาแห่งรัฐเองก็ยังคงยืนยันถึงบทบาทของกฎหมายระหว่างประเทศในฐานะที่มาของการวางหลักในคำพิพากษาของตนไว้ในคำพิพากษาคดี Bereciartua Echarri ในปี ค.ศ. ๑๙๘๘ และ คดี Agyepong ในปี ค.ศ. ๑๙๙๔
อย่างไรก็ดี จะต้องทำความเข้าใจอีกประการหนึ่งที่สำคัญว่าหลักกฎหมายทั่วไปย่อมมีความหลากหลายตามองค์กรที่สร้างและตามชื่อที่เรียกขาน เช่น หลักที่เรียกว่า หลักกฎหมายพื้นฐานที่ได้รับการรับรองจากบรรดากฎหมายแห่งสาธารณรัฐ (les principes fondamentaux reconnus par les lois de la République) ซึ่งมีคุณค่าเทียบเท่าบรรดากฎเกณฑ์ทางรัฐธรรมนูญ หลักนี้เป็นหลักที่สร้างขึ้นโดยคณะตุลาการรัฐธรรมนูญซึ่งต่อมาสภาแห่งรัฐได้นำหลักเดียวกันนี้มารับรองในคำพิพากษาของตนเช่นกัน[๑๒] หรือหลักที่เรียกว่า หลักกฎหมายพื้นฐาน (les principes fondamentaux) ที่ได้รับการกล่าวถึงไว้ในมาตรา ๓๔ แห่งรัฐธรรมนูญฝรั่งเศสฉบับปัจจุบัน เป็นต้น อนึ่ง ภายหลังจากข้อถกเถียงในเรื่องความชอบด้วยรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาไม่นานมานี้ สภาแห่งรัฐได้ยืนยันปฏิเสธภาระหน้าที่ของตนที่จะวาง หลักกฎหมายทั่วไป ซึ่งมีเนื้อหาสาระเป็นหลักกฎหมายเดียวกันกับที่ปรากฏไว้เป็นลายลักษณ์อักษรในรัฐธรรมนูญไว้แล้ว ดังเช่นที่ตนเคยกระทำมาในอดีต[๑๓] ซึ่งภายหลังจากการปฏิเสธภาระหน้าที่ของสภาแห่งรัฐดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น พบว่าสภาแห่งรัฐได้ทำการอ้างถึงคำตัดสินของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญมาปรากฏอยู่ในคำพิพากษาของตนโดยตรง ดังที่ปรากฏในคำพิพากษาสภาแห่งรัฐ คดี Assoc. amicale des prof. du Museum d’histoire naturelle ลงวันที่ ๒๙ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๙๒ และ คดี Assoc. « La télé est à nous » ลงวันที่ ๑๙ มกราคม ค.ศ. ๑๙๙๐ อย่างไรก็ดี จะต้องทำการแยกแยะ หลักกฎหมายทั่วไป ที่สภาแห่งรัฐสร้างขึ้นอันเป็นหลักกฎหมายที่มีที่มาจากหลักพื้นฐานว่าด้วยจริยธรรมหรือความเป็นธรรม (les principes déontologiques ou éthiques) ที่นำมาปรับใช้ในอาชีพบางอาชีพโดยเฉพาะ ดังที่ปรากฏในคำพิพากษาสภาแห่งรัฐ (ที่ประชุมใหญ่) คดี Milhaud ลงวันที่ ๒ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๙๓ ซึ่งมีข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการดำเนินการทางจริยธรรมของแพทย์ภายหลังผู้ป่วยเสียชีวิต
๒.๒ ตัวอย่างของ หลักกฎหมายทั่วไป ตามที่ปรากฏอยู่ในคำพิพากษาของสภาแห่งรัฐ
หลักกฎหมายทั่วไป ตามที่ปรากฏในคำพิพากษาของสภาแห่งรัฐมีความหลากหลายเป็นอย่างยิ่ง แต่อาจแบ่งประเภท หลักกฎหมายทั่วไป ตามที่ปรากฏอยู่ในคำพิพากษาของสภาแห่งรัฐออกเป็น ๓ ประเภทโดยถือตามจุดประสงค์ในการคุ้มครองของหลักกฎหมายดังกล่าว กล่าวคือ หลักกฎหมายทั่วไปว่าด้วยการคุ้มครองเสรีภาพ (la liberté) หลักกฎหมายทั่วไปว่าด้วยความเสมอภาค (l’égalité) และหลักกฎหมายทั่วไปว่าด้วยความปลอดภัยและความมั่นคง (la sécurité)
๒.๒.๑ หลักกฎหมายทั่วไปว่าด้วยการคุ้มครองเสรีภาพ ตัวอย่างของหลักกฎหมายทั่วไปประเภทนี้ได้แก่ เสรีภาพในการเดินทาง (la liberté d’aller et venir)[๑๔] เสรีภาพในการค้าและการอุตสาหกรรม (la liberté du commerce et de l’industrie)[๑๕]
๒.๒.๒ หลักกฎหมายทั่วไปว่าด้วยความเสมอภาค ตัวอย่างของหลักกฎหมายทั่วไปประเภทนี้ได้แก่ ความเสมอภาคในการอยู่ภายใต้การบังคับใช้กฎหมาย (l’égalité tous devant la loi)[๑๖] ความเสมอภาคในการรับภาระสาธารณะ[๑๗] ความเสมอภาคของประชาชนภายใต้กระบวนการยุติธรรม (l’égalité des citoyens devant la justice)[๑๘] และหลักอื่นๆที่นำมาปรับใช้ในคดีเกี่ยวกับการบริการสาธารณะ (le service public)
๒.๒.๓ หลักกฎหมายทั่วไปว่าด้วยความปลอดภัยและความมั่นคง (la sécurité) หลักว่าด้วยความมั่นคงแห่งนิติสถานะ (un principe de sécurité juridique) เป็นหลักที่ปรากฏในระบบกฎหมายฝรั่งเศสในช่วงต้นปีคริสต์ศตวรรษที่ ๒๑ สภาแห่งรัฐได้รับรองหลักดังกล่าวไว้ในคำพิพากษา คดี KPMG ในปี ค.ศ. ๒๐๐๖ แต่การนำหลักดังกล่าวมาปรับใช้ถือตามข้อเท็จจริงตามแต่กรณีไป มิได้เป็นการนำมาปรับใช้เป็นหลักทั่วไปดังที่ปรากฏในกฎหมายประชาคมยุโรป ซึ่งได้รับการยืนยันตามคำพิพากษาศาลยุโรป (CJCE) ลงวันที่ ๙ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๖๙ ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีหลักว่าด้วยความเชื่อมั่นในความชอบด้วยกฎหมาย (le principe de confiance légitime) ซึ่งมีความหมายถึงการที่ประชาชนสามารถเชื่อมั่นในระบบกฎหมายและการตีความกฎหมายจากผู้ตัดสินคดี ตลอดจนสามารถคาดเดาการตีความกฎหมายและคาดเดาการนำหลักดังกล่าวมาปรับใช้โดยฝ่ายปกครองผู้มีอำนาจได้ ซึ่งตุลาการศาลปกครองไม่ได้ยอมรับว่าหลักว่าด้วยความเชื่อมั่นในความชอบด้วยกฎหมายตามนิยามของศาลยุโรปถือเป็นหลักกฎหมายที่ตนจะต้องยอมรับ[๑๙] ต่อมา สภาแห่งรัฐกลับมีคำพิพากษาในคดี Syndicat national de l’industrie pharmaceutique et autres ลงวันที่ ๓ ธันวาคม ค.ศ. ๒๐๐๓ วางหลักว่าหลักกฎหมายทั่วไปของสหภาพยุโรปมีสถานะทางกฎหมายในลำดับที่สูงกว่ากฎหมายของฝ่ายนิติบัญญัติ (supra-législative) ผลจึงเป็นว่าหลักว่าด้วยความเชื่อมั่นในความชอบด้วยกฎหมายจึงเป็นหลักกฎหมายทั่วไปที่สภาแห่งรัฐได้รับการยอมรับเช่นเดียวกับหลักว่าด้วยความมั่นคงแห่งนิติสถานะ
นอกจากหลักทั้งสองประการดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้นนั้น พบว่ายังมีหลักประการอื่นๆอีกที่ได้กล่าวถึง ความมั่นคง มาเป็นเวลาช้านานแล้ว ซึ่งก็คือ หลักที่ว่าการกระทำทางปกครองต้องไม่มีผลย้อนหลัง (le principe de non-rétroactivité des actes administratifs)[๒๐] หลักที่ว่าฝ่ายปกครองผู้มีอำนาจจะต้องดำเนินการเพิกถอนคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย[๒๑] หลักที่ว่าการตัดสินใจของฝ่ายปกครองย่อมสามารถโต้แย้งต่อผู้บังคับบัญชาของผู้ออกคำสั่งได้[๒๒] หรือสามารถฟ้องเพิกถอนการกระทำเกินขอบอำนาจ (le recours d’excès de pouvoir) ได้[๒๓] ในทางกลับกัน สภาแห่งรัฐก็ได้วางหลักว่า การที่ฝ่ายปกครองไม่ดำเนินการใดๆ (la silence de l’Administration) เพื่อที่จะไม่รับคำร้องดังกล่าวไว้พิจารณา ไม่ถือเป็นหลักกฎหมายทั่วไป[๒๔] ซึ่งต่อมาคำพิพากษานี้ได้รับการกลับหลักโดยคำตัดสินของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญในปีถัดมา ดังที่ปรากฏในคำตัดสินคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ คดี Protections des sites ลงวันที่ ๒๖ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๖๙ และต่อมาสาธารณรัฐฝรั่งเศสได้มีการตรารัฐบัญญัติลงวันที่ ๑๒ เมษายน ค.ศ. ๒๐๐๐ วางหลักว่าการไม่ดำเนินการใดๆของฝ่ายปกครองถือเป็นหลักที่มีคุณค่าเทียบเท่ากฎหมายในระดับรัฐบัญญัติ หรือกรณีของหลักว่าด้วยการเคารพสิทธิในการต่อสู้คดี (le principe de respect des droits de la défense)[๒๕] หลักว่าด้วยการโต้แย้งคัดค้านต่อสู้คดีในกระบวนวิธีพิจารณา (le principe du caractère contradictoire de la procédure)[๒๖] หลักที่ว่าบุคคลจะไม่รับโทษเดียวกันเป็นเวลาสองครั้ง (le principe de non bis in idem)[๒๗] หลักที่ว่าการประชุมปรึกษาคดีจะต้องเป็นความลับ (le principe général de secret du délibéré dans les organes juridictionnels)[๒๘] หลักที่ว่าการพิจารณาคดีต้องกระทำโดยเปิดเผย (le principe de la publicité des audiences)[๒๙]
๒.๒.๔ หลักกฎหมายทั่วไปในประเภทอื่นๆ หมายถึง หลักกฎหมายทั่วไปที่ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับสิทธิพลเมืองโดยตรง เช่น หลักที่ว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ต้องรับผิดอันเนื่องมาจากความผิดของฝ่ายปกครอง (la faute de service) สามารถไล่เบี้ยกับฝ่ายปกครองในจำนวนเงินที่ตนออกไปแล้วได้[๓๐] หลักที่ว่าฝ่ายปกครองต้องให้เงินเดือนไม่น้อยกว่าอัตราเงินเดือนขั้นต่ำ (le SMIC)[๓๑] หลักที่ว่าทรัพย์สินของฝ่ายปกครองจะไม่อยู่ภายใต้การบังคับคดี[๓๒] เป็นต้น
บทสรุป
บทบาทของตุลาการศาลปกครองในฐานะ jurislateur ถือเป็นบทบาทที่แสดงให้เห็นถึงความยืดหยุ่นของกฎหมายปกครองฝรั่งเศสซึ่งมีผลเป็นอย่างยิ่งต่อพัฒนาการของแนวคำพิพากษาของศาลในเรื่องต่างๆ ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองสิทธิของประชาชนมากที่สุด แม้ว่าคำพิพากษาของศาลปกครองจะไม่ได้มีผลบังคับโดยทันทีดังเช่นคำตัดสินของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญในคดีประเภทการควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญก็ตาม แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าบทบาทในการเป็น jurislateur หรือ บทบาทของตุลาการศาลปกครองฝรั่งเศสในส่วนที่เกี่ยวกับ หลักกฎหมายทั่วไป ถือเป็นบทบาทที่สำคัญเป็นอย่างยิ่งและเป็นบทบาทที่ส่งผลให้กฎหมายปกครองฝรั่งเศสมีพัฒนาการอย่างรวดเร็วและเท่าทันกับการคุ้มครองสิทธิในเรื่องต่างๆ ในสังคมปัจจุบัน
_______________________________
[๑] ตามความในมาตรา ๖๒ วรรค ๒ แห่งรัฐธรรมนูญฝรั่งเศสฉบับปัจจุบัน
[๒] ตามความในมาตรา ๓๗ วรรค ๒ และมาตรา ๕๔ แห่งรัฐธรรมนูญฝรั่งเศสฉบับปัจจุบัน
[๓] หรือการฟ้องให้มีการเพิกถอนคำสั่งนั่นเอง
[๔] ทั้งนี้ ตามคำพิพากษาสภาแห่งรัฐ (ที่ประชุมใหญ่) คดี Bréat de Boisanger ลงวันที่ ๑๓ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๖๒
[๕] ซึ่งมีความหมายถึง คำสั่งทางปกครองและการควบคุมคำสั่งทางปกครอง
[๖] ซึ่งศาลปกครองได้เทียบเคียงกับกรณีความรับผิดทางแพ่งในกรณีต่างๆ
[๗] คำพิพากษาสภาแห่งรัฐ (ที่ประชุมใหญ่) ลงวันที่ ๒๐ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๘๙
[๘] ซึ่งสภาแห่งรัฐก็มิได้ระบุว่าอำนาจในการพิจารณาพิพากษาความชอบด้วยสนธิสัญญาระหว่างประเทศเป็นอำนาจขององค์กรใด
[๙] ตามแนวคำพิพากษาสภาแห่งรัฐ (ที่ประชุมใหญ่) คดี Dame Peynet ลงวันที่ ๘ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๗๓, ผู้เขียนเคยแสดงทัศนะไว้ว่าตุลาการศาลปกครองมีหน้าที่ในการยืนยัน ความมีอยู่ ของหลักกฎหมายดังกล่าวด้วย (โปรดดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ ปาลีรัฐ ศรีวรรณพฤกษ์, ตุลาการศาลปกครองกับบทบาทในการสร้างและพิจารณาหลักกฎหมายทั่วไป, วารสารวิชาการศาลปกครอง ปีที่ ๑๑ ฉบับที่ ๒ (เมษายน-มิถุนายน) ๒๕๕๔, หน้า ๓๘-๕๒)
[๑๐] ในบางตำราถือว่าคำพิพากษาที่กล่าวถึง หลักกฎหมายปกครองทั่วไป คือ คำพิพากษาศาลชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คดี Dugave et Bransiet ลงวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๘๗๓
[๑๑] ดังที่ปรากฏในทำนองเดียวกับคำพิพากษาสภาแห่งรัฐ (ที่ประชุมใหญ่) คดี Aramu ลงวันที่ ๒๖ ตุลาคม ค.ศ. ๑๑๙๔๕
[๑๒] ดังเช่นที่ปรากฏในคำพิพากษาสภาแห่งรัฐ (ที่ประชุมใหญ่) คดี Koné ลงวันที่ ๓ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๙๖
[๑๓] ตัวอย่างของหลักกฎหมายประเภทนี้ได้แก่ เสรีภาพในการเดินทาง (la liberté d’aller et venir) ตามคำพิพากษาสภาแห่งรัฐ(ที่ประชุมใหญ่) คดี Peltier ลงวันที่ ๘ เมษายน ค.ศ. ๑๙๘๗, การได้รับการศึกษาโดยไม่คิดมูลค่า (la gratuité de l’enseignement) ตามคำพิพากษาสภาแห่งรัฐ คดี Asso. Laïque d’élèves des éts de l’Office univ. et culturel fr. pour l’Algerie ลงวันที่ ๒๗ เมษายน ค.ศ. ๑๙๘๗
[๑๔] ตามคำพิพากษาสภาแห่งรัฐ (คณะพิเศษ) คดี Abisset ลงวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๕๘
[๑๕] ตามคำพิพากษาสภาแห่งรัฐ (คณะพิเศษ) คดี René Moline ลงวันที่ ๑๓ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๘๓
[๑๖] ตามคำพิพากษาสภาแห่งรัฐ (คณะพิเศษ) คดี Synd. des propr. De chênes-lièges d’Algérie ลงวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๕๘
[๑๗] ตามคำพิพากษาสภาแห่งรัฐ (คณะพิเศษ) คดี Féd. Algérienne des synd. de défense des irrigants ลงวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๖๐
[๑๘] ตามคำพิพากษาสภาแห่งรัฐ (คณะพิเศษ) คดี Rassemblement des nouveaux avocats de France ลงวันที่ ๑๒ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๗๙
[๑๙] ตามคำพิพากษาสภาแห่งรัฐ คดี Mlle Poujol ลงวันที่ ๑๖ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๙๘
[๒๐] คำพิพากษาสภาแห่งรัฐ คดี Soc. du journal L’Aurore ลงวันที่ ๒๕ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๔๘
[๒๑] คำพิพากษาสภาแห่งรัฐ (ที่ประชุมใหญ่) คดี Comp. Alitalia ลงวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๘๙
[๒๒] คำพิพากษาสภาแห่งรัฐ (องค์คณะพิเศษ) คดี Quéralt ลงวันที่ ๓๐ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๕๐
[๒๓] คำพิพากษาสภาแห่งรัฐ (องค์คณะพิเศษ) คดี Dame Lamotte ลงวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๕๐
[๒๔] คำพิพากษาสภาแห่งรัฐ (องค์คณะพิเศษ) คดี Commune de Bozas ลงวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๗๐
[๒๕] คำพิพากษาสภาแห่งรัฐ (องค์คณะพิเศษ) คดี Veuve Trompier-Gravier ลงวันที่ ๕ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๔๔
[๒๖] คำพิพากษาสภาแห่งรัฐ (องค์คณะพิเศษ) คดี Rassemblement des nouveaux avocats de France ลงวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๗๐
[๒๗] คำพิพากษาสภาแห่งรัฐ คดี Commune de Petit-Quevilly ลงวันที่ ๒๓ เมษายน ค.ศ. ๑๙๕๘
[๒๘] คำพิพากษาสภาแห่งรัฐ คดี Mazel ลงวันที่ ๑๕ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๖๕
[๒๙] คำพิพากษาสภาแห่งรัฐ (ที่ประชุมใหญ่) คดี Dame David ลงวันที่ ๑๐ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๗๔
[๓๐] คำพิพากษาสภาแห่งรัฐ (องค์คณะพิเศษ) คดี Centre hospitalier de Besançon ลงวันที่ ๒๖ เมษายน ค.ศ. ๑๙๖๓
[๓๑] คำพิพากษาสภาแห่งรัฐ (องค์คณะพิเศษ) คดี Ville de Toulouse ลงวันที่ ๒๓ เมษายน ค.ศ. ๑๙๘๒
[๓๒] คำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีแพ่ง องค์คณะที่ ๑ คดี BRMG ลงวันที่ ๒๑ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๘๗
|
|
|
พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=1795
เวลา 22 พฤศจิกายน 2567 19:21 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)
|
|