ครั้งที่ 304

19 พฤศจิกายน 2555 09:28 น.

       สำหรับวันจันทร์ที่ 19 พฤศจิกายน ถึงวันอาทิตย์ที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2555
        
       
       “จบเสียที : ปัญหาของการปฏิบัติหน้าที่ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน”
        
       
       ผมจำได้ว่าเคยเขียนเรื่องของคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา อดีตผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินไปแล้วหลายครั้งเพราะเป็นเรื่องที่ “มีปัญหา” มาตลอดในหลายๆ ขั้นตอนต่างกรรมต่างวาระกันไป ปัญหาเรื่องการแต่งตั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินนี้เริ่มต้นเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2544 แล้วก็มีปัญหาเกิดขึ้นอีกหลายครั้ง แต่ปัญหาเหล่านั้นก็มีความแตกต่างกันในหลายๆ ด้าน ล่าสุดปัญหาเรื่องคุณหญิงจารุวรรณ    เมณฑกา กับการเป็นผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินคงจะจบเสียทีเพราะศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาไปเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2555 ว่า คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินไปแล้วเมื่ออายุครบ 65 ปีบริบูรณ์ในวันที่ 5 กรกฎาคม 2553 ครับ
       ในบทบรรณาธิการครั้งที่ 304 ที่ได้เผยแพร่ไปเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ผมได้นำเรื่องของผู้ตรวจการแผ่นดินที่ฟ้องคุณหญิงจารุวรรณ  เมณฑกา ต่อศาลปกครองกลางในปี พ.ศ. 2553 ว่า คุณหญิงจารุวรรณฯ ออกคำสั่งสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเพื่อยกเลิกคำสั่งแต่งตั้งรองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินให้รักษาราชการแทนผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินหลังจากที่คุณหญิงจารุวรรณฯ มีอายุครบ 65 ปีบริบูรณ์ซึ่งถือว่าต้องพ้นจากตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินไปแล้วตามมาตรา 34 (2) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2542 คุณหญิงจารุวรรณฯ จึงไม่มีอำนาจออกคำสั่งดังกล่าว ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงฟ้องขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนคำสั่งสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินของคุณหญิงจารุวรรณฯ และต่อมา นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรวาส ผู้ซึ่งคุณหญิงจารุวรรณฯ ได้ออกคำสั่งให้รักษาราชการแทนผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินและต่อมาได้ออกคำสั่งเพิกถอนดังกล่าวได้ยื่นคำร้องสอดเข้ามาในฐานะเป็นผู้มีส่วนได้เสียขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนคำสั่งสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินของคุณจารุวรรณฯ พร้อมทั้งขอให้ศาลมีคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษา ศาลปกครองชั้นต้นจึงมีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับตามคำสั่งของคุณหญิงจารุวรรณฯ ไว้เป็นการชั่วคราว ต่อมา ศาลปกครองชั้นต้นก็ได้มีคำพิพากษาในเรื่องดังกล่าวว่า คุณหญิงจารุวรรณฯ พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินเมื่ออายุครบ 65 ปีบริบูรณ์ตามมาตรา 34 (2) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2542 คำสั่งของคุณหญิงจารุวรรณฯ ที่ออกมาภายหลังจากที่พ้นจากตำแหน่งแล้วจึงเป็นการออกคำสั่งโดยไม่มีอำนาจ ศาลจึงมีคำพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของคุณหญิงจารุวรรณฯ และให้คำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งของคุณหญิงจารุวรรณฯ มีผลใช้บังคับต่อไปจนกว่าศาลปกครองสูงสุดจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น
       คุณหญิงจารุวรรณฯ ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดพร้อมกับยื่นคำโต้แย้งเพื่อส่งเรื่องดังกล่าวให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่า ประกาศของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ฉบับที่ 29 ลงวันที่ 30 กันยายน 2549 ข้อ 2 ที่ว่า ให้ผู้ ว่าการตรวจเงินแผ่นดินซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2549 คงอยู่ในตำแหน่งต่อไปจนถึงวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2550 และข้อ 3 ที่ว่า ให้ดำเนินการสรรหาและแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินใหม่ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2542 ภายในเก้าสิบวันนับตั้งแต่ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินตามข้อ 2 ของประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 12 ลงวันที่ 20 กันยายน พุทธศักราช 2549 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศฉบับนี้พ้นจากตำแหน่ง โดยในระหว่างที่ยังไม่มีคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินที่พ้นจากตำแหน่งตามวรรคหนึ่งยังคงปฏิบัติหน้าที่คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินไปพลางก่อน นั้น  ได้กำหนดวันสิ้นสุดการปฏิบัติหน้าที่ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินไว้เพียง  2 กรณีคือ ให้ปฏิบัติหน้าที่ตามกำหนดระยะเวลาจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2550 และให้ปฏิบัติหน้าที่ไปพลางก่อนจนกว่าจะมีคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน บทบัญญัติทั้ง 2 ข้อจึงเป็นกรณีให้คุณหญิงจารุวรรณฯ ปฏิบัติหน้าที่คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินไปพลางก่อนในระหว่างที่ยังไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งโดยมิได้นำเรื่องอายุหรือคุณสมบัติของผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2542 มาใช้บังคับ บทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ศาลปกครองชั้นต้นนำมาปรับใช้ในการวินิจฉัยว่าคุณหญิงจารุวรรณฯ พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินเมื่ออายุครบ 65 ปีบริบูรณ์ตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน ทำให้คำสั่งของคุณหญิงจารุวรรณฯ ที่ออกมาในภายหลังจากที่คุณหญิงจารุวรรณฯ พ้นจากตำแหน่งเป็นการออกคำสั่งโดยไม่มีอำนาจและเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงขัดหรือแย้งต่อมาตรา 309 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ประกอบกับมาตรา 36 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 และประกาศของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 12 ลงวันที่ 20 กันยายน พุทธศักราช 2549 และฉบับที่ 29 ลงวันที่ 30 กันยายน พุทธศักราช2549
       ศาลปกครองสูงสุดได้ส่งคำโต้แย้งดังกล่าวไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัย ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญก็ได้มีคำวินิจฉัยที่ 51/2554 ว่า มาตรา 34 (2) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2542 ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 309 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 มาตรา 36 โดยศาลได้ให้เหตุผลประกอบว่า “พิจารณาแล้วเห็นว่า ประกาศของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 12 ลงวันที่ 20 กันยายน พุทธศักราช 2549 และประกาศของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 29 ลงวันที่ 30 กันยายน พุทธศักราช 2549 กำหนดให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2542 ยังคงบังคับใช้ต่อไป เว้นแต่บทบัญญัติในส่วนที่ 1 หมวด 1 จนกว่าจะมีกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมหรือยกเลิกและให้ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2549 คงอยู่ในตำแหน่งต่อไปจนถึงวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2550 ให้ดำเนินการสรรหาและแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินใหม่ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2542 ภายในเก้าสิบวัน โดยในระหว่างที่ยังไม่มีคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ให้ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินที่พ้นจากตำแหน่งยังคงปฏิบัติหน้าที่คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินไปพลางก่อน
       ต่อมารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 มาตรา 36 ซึ่งเป็นบทเฉพาะกาลได้บัญญัติรับรองให้ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมีผลบังคับใช้ได้โดยชอบด้วยกฎหมายและชอบด้วยรัฐธรรมนูญไว้ชั้นหนึ่ง และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ก็มีบทเฉพาะกาลตามมาตรา 309 บัญญัติติให้ถือว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 อีกชั้นหนึ่งด้วย นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 302 วรรคหนึ่ง (3) ยังได้บัญญัติให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2542 มีผลใช้บังคับต่อไปเช่นกัน
       จึงเห็นได้ว่า ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขทั้งสองฉบับ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2542 ต่างมีผลบังคับใช้อยู่ในส่วนที่ไม่ขัดหรือแย้งกัน กล่าวคือ การใดที่ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขกำหนดไว้ให้เป็นไปตามนั้น เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินและให้การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐเป็นไปอย่างต่อเนื่องในลักษณะของบทเฉพาะกาล ส่วนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2542 มาตรา 34 (2) ที่บัญญัติว่า นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระตามมาตรา 33 แล้ว ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินยังพ้นจากตำแหน่งเมื่อมีอายุครบหกสิบห้าปีบริบูรณ์อีกกรณีหนึ่ง
       เมื่อพิจารณารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 309 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 มาตรา 36 ซึ่งเป็นบทบัญญัติรับรองการใด ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับประกาศหรือคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขว่าเป็นการอันชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2542 มาตรา 34 (2) ที่กำหนดการพ้นจากตำแหน่งของผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินเมื่ออายุครบหกสิบห้าปีบริบูรณ์แล้วเห็นว่า บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและกฎหมายดังกล่าวมีเจตนารมณ์ของการบังคับใช้ต่างกรณีกัน ดังนั้น พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2542 มาตรา 34 (2) จึงมิได้ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 309 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 มาตรา 36 แต่อย่างใด”
       หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยข้างต้นไปแล้ว ศาลปกครองสูงสุดก็ได้พิจารณาเรื่องดังกล่าวต่อไปโดยนอกจากประเด็นเกี่ยวกับเขตอำนาจศาลและเงื่อนไขแห่งการพิจารณาคดีที่ศาลปกครองสูงสุดเห็นว่าอยู่ในอำนาจของศาลปกครองสูงสุดที่จะพิจารณาเรื่องดังกล่าวได้แล้ว  ศาลปกครองครองสูงสุดก็ยังได้กำหนดประเด็นสำคัญที่เป็น “หัวใจ” ของเรื่องนี้ไว้ด้วยก็คือ คำสั่งคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ที่ให้ยกเลิกคำสั่งแต่งตั้งรองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินให้รักษาราชการแทนผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะจากข้อเท็จจริงที่ปรากฏ คุณหญิงจารุวรรณฯ ได้ออกคำสั่งเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2553 ยกเลิกคำสั่งแต่งตั้งรองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินให้รักษาราชการแทนผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินจึงเป็นการออกคำสั่งภายหลังจากที่ตนเองมีอายุครบ 65 ปีบริบูรณ์ในวันที่ 5 กรกฎาคม 2553 อันเป็นวันที่คุณหญิงจารุวรรณฯ “พ้นจากตำแหน่ง” ไปแล้ว
       ในเรื่องดังกล่าวมีประเด็นที่จะต้องพิจารณาจากความเห็นของคุณหญิงจารุวรรณฯ  ศาลรัฐธรรมนูญ และศาลปกครองโดยในส่วนของคุณหญิงจารุวรรณฯ นั้น คุณหญิงจารุวรรณฯ เห็นว่า ตนยังไม่พ้นจากตำแหน่ง เพราะจากการที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 บัญญัติให้ประกาศและคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (ประกาศ คปค.) มีผลใช้บังคับต่อไป และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 บัญญัติรับรองบรรดาการใดๆ ที่ได้รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 รวมทั้งการกระทำที่เกี่ยวเนื่องกับกรณีดังกล่าวให้ถือว่าการนั้นและการกระทำนั้นชอบด้วยรัฐธรรมนูญเช่นกัน ดังนั้น บทบัญญัติที่อยู่ในประกาศ คปค. ฉบับที่ 12 ที่กำหนดให้ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในวันที่ 18 กันยายน 2549 คงอยู่ในตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะมีประกาศเป็นอย่างอื่น ซึ่งต่อมาก็ได้ถูกแก้ไขโดยประกาศ คปค. ฉบับที่ 29 เป็นให้อยู่ในตำแหน่งต่อไปจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2550 ซึ่งกรณีนี้เอง คุณหญิงจารุวรรณฯ ถือว่าพ้นจากตำแหน่งไปแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม ประกาศ คปค. ฉบับที่ 29 ก็ยังได้กำหนดเอาไว้ว่า ในระหว่างที่ยังไม่มีคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินชุดใหม่และผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินคนใหม่ ให้ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินที่พ้นจากตำแหน่งแล้วยังคงปฏิบัติหน้าที่คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินไปพลางก่อน ดังนั้น คุณหญิงจารุวรรณฯ จึงยังคงอยู่ในฐานะผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินตามประกาศ คปค. ฉบับที่ 29 เพราะยังไม่มีคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินชุดใหม่และผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินคนใหม่
       ในส่วนของศาลรัฐธรรมนูญนั้น คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 51/2554 ไม่มีคำตอบที่ชัดเจนโดยศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า ประกาศ คปค. ทั้งสองฉบับและพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2542 ต่างมีผลบังคับใช้อยู่ในส่วนที่ไม่ขัดหรือแย้งกัน การใดที่ประกาศ คปค. กำหนดไว้ก็ให้เป็นไปตามนั้นเพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินและการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐเป็นไปอย่างต่อเนื่องในลักษณะบทเฉพาะกาล ส่วนกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดินที่บัญญัติว่า ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินพ้นจากตำแหน่งเมื่ออายุครบ 65 ปีบริบูรณ์นั้น ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า บทบัญญัติดังกล่าวไม่ขัดต่อมาตรา 309 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 36 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 และประกาศ คปค. 2 ฉบับ คือ ฉบับที่ 12 และ 29 เนื่องจากบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดินมีเจตนารมณ์การบังคับใช้ต่างกัน
       สำหรับศาลปกครองสูงสุดซึ่งเป็นองค์กรสุดท้ายที่ได้วินิจฉัยในเรื่องดังกล่าวมีความเห็นว่า ผู้ที่ยังคงปฏิบัติหน้าที่ไปพลางก่อนในตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินตามระยะเวลาที่กำหนดในประกาศ คปค. ฉบับที่ 29 จะต้องมีคุณสมบัติ ไม่มีลักษณะต้องห้าม และไม่มีเหตุแห่งการพ้นจากตำแหน่งเช่นเดียวกับผู้ที่จะได้รับการสรรหาให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินคนใหม่ตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน เพราะประกาศ คปค. ฉบับที่ 29 ไม่ได้บัญญัติยกเว้นเรื่องคุณสมบัติ ลักษณะต้องห้ามหรือเหตุแห่งการพ้นจากตำแหน่งของผู้จะดำรงตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน ดังนั้น เมื่อคุณหญิงจารุวรรณฯ มีอายุครบ 65 ปีบริบูรณ์ในวันที่ 5 กรกฎาคม 2553 คุณหญิงจารุวรรณฯ จึงพ้นจากตำแหน่งและไม่สามารถดำรงตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินได้ตามมาตรา 34 (2) แห่งกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน ทำให้ไม่มีอำนาจหน้าที่ในการสั่งการหรือปฏิบัติราชการในฐานะผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินอีกต่อไป
       เมื่อครั้งที่ผมได้อ่านคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 51/2554 และได้เขียนบทบรรณาธิการครั้งที่ 304 ไปเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2555 นั้น ผมมีความรู้สึกลำบากมากกับการ “แปลความ” คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในเรื่องดังกล่าวโดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้อยคำที่ว่า ประกาศ คปค. และกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดินต่างมีผลใช้บังคับอยู่ในส่วนที่ไม่ขัดหรือแย้งกัน ซึ่งก็ไม่ทราบว่าหมายความว่าอย่างไรกันแน่ แต่พอศาลปกครองสูงสุดพิพากษา จึงทำให้เกิดความชัดเจนขึ้นมาว่า ในกรณีที่ประกาศ คปค. บัญญัติไว้ว่าอย่างไรก็ต้องดำเนินการไปตามนั้น แต่ถ้าประกาศ คปค. ไม่ได้บัญญัติไว้อย่างชัดแจ้งก็ต้องนำบทบัญญัติในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดินมาใช้บังคับ
       ดูง่ายๆ ไม่มีอะไรซับซ้อนทั้งนั้นเลยครับ ด้วยเหตุนี้เองที่แม้ประกาศ คปค. ฉบับที่ 29 จะกำหนดไว้ว่าในระหว่างที่ยังไม่มีคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินให้ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินที่พ้นจากตำแหน่งยังคงปฏิบัติหน้าที่คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินไปพลางก่อน แต่เนื่องจากประกาศ คปค. ไม่ได้กำหนดถึงคุณสมบัติ ลักษณะต้องห้ามและการพ้นจากตำแหน่งของผู้ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวเอาไว้ จึงต้องนำเอาบทบัญญัติของกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดินมาใช้บังคับ “ในส่วนที่ไม่ขัดหรือแย้งกัน” คือ ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินอยู่ในตำแหน่งได้จนอายุครบ 65 ปีบริบูรณ์ ตามมาตรา 34(2) แห่งกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน ดังนั้น คุณหญิงจารุวรรณฯ จึง “หมดสิทธิ” ที่จะทำหน้าที่ “ไปพลางก่อน” อย่างไม่มีกำหนดเวลาดังที่ตนเอง “เข้าใจ” ครับ
       คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดดังกล่าวจึงเป็น “จุดจบ” ของปัญหาที่เกี่ยวข้องกับคุณหญิง   จารุวรรณ เมณฑกา กับตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินที่เกิดขึ้นมาหลายครั้งตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา แต่คำพิพากษาดังกล่าวมีผลทำให้เรื่องจบลงเฉพาะกรณีของคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา เท่านั้น กรณีอื่นนั้น “ยังไม่จบ” ลงง่ายๆ เพราะปัจจุบันเรายังไม่มีคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน เรายังไม่มีผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดินฉบับใหม่ที่มาตรา 302 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปัจจุบัน กำหนดไว้ว่าต้องปรับปรุงให้สอดคล้องกับเนื้อหาของรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี นับแต่วันที่รัฐธรรมนูญมีผลใช้บังคับก็ยังคงอยู่ในชั้นการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร  จึงทำให้การตรวจสอบโดยคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินยังคงทำงานได้ไม่สมบูรณ์ไม่ได้เต็มที่
       ไม่ทราบจะทำอย่างไรองค์กรนี้จึงจะ “เกิด” ได้เสียทีครับ ก็คงต้องบอกผ่านไปยังรัฐสภาว่าขอให้รีบเร่งพิจารณากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดินโดยด่วนเพื่อที่ประเทศไทยเราจะได้มีองค์กรตรวจสอบครบถ้วนทุกๆ ทางเสียทีครับ   
                 ในสัปดาห์นี้ เรามีบทความมานำเสนอ 2 บทความด้วยกัน บทความแรกเป็นบทความของอาจารย์ ประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช แห่งคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่เขียนเรื่อง “การทำคำประกาศยอมรับเขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศตามข้อ 12(3) ต้องผ่านสภาตามมาตรา 190 วรรคสองแห่งรัฐธรรมนูญหรือไม่” บทความที่สอง เป็นบทความของคุณชำนาญ จันทร์เรือง นักวิชาการอิสระ ที่เขียนเรื่อง “เก็บตกการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา 2012” ผมขอขอบคุณเจ้าของบทความทั้งสองบทความด้วยครับ 
        
       พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 3 ธันวาคม 2555
       
       ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์
        


พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=1794
เวลา 19 เมษายน 2567 09:49 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)