ครั้งที่ 303

4 พฤศจิกายน 2555 21:56 น.

       สำหรับวันจันทร์ที่ 5 พฤศจิกายน ถึงวันอาทิตย์ที่ 18 พฤศจิกายน 2555
        
       
       “เมื่อศาลปกครองสูงสุดเพิกถอนการแต่งตั้งเอกอัครราชทูต”
       
       ผมเป็นกรรมการบริหารสมาคมวัฒนธรรมฝรั่งเศสแห่งกรุงเทพและกรรมการมูลนิธิฝรั่งเศสเพื่อการศึกษา คณะกรรมการทั้ง 2 คณะประชุมกันเกือบทุกเดือนทำให้ผมมีโอกาสได้พบปะพูดคุยกับเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทยซึ่งเป็นกรรมการอยู่ด้วยโดยตลอด แต่อย่างไรก็ดี ช่วง 5-6 เดือนที่ผ่านมา เอกอัครราชทูตไม่ได้เข้าร่วมประชุมด้วยเนื่องจากเกษียณอายุและกำลังอยู่ในระหว่างรอให้ประเทศฝรั่งเศสส่งเอกอัครราชทูตคนใหม่มา แต่ด้วยความที่ระยะเวลาผ่านไปหลายเดือนก็ยังไม่มีการส่งเอกอัครราชทูตคนใหม่มาทำให้งานวันชาติฝรั่งเศสที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในปีนี้คือวันที่ 14 กรกฎาคมไม่มีเอกอัครราชทูตคนใหม่มาเป็นประธาน ผมสอบถามกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงในสถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทยได้ความว่า เดิมประธานาธิบดี Nicolas Sarkozy แต่งตั้งนักการเมืองหนุ่มอายุ 40 เศษคนหนึ่งมาเป็นเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทยแต่เมื่อประธานาธิบดีพ้นจากตำแหน่ง ก็มีผู้คัดค้านการแต่งตั้งดังกล่าวด้วยการฟ้องไปยังศาลปกครองสูงสุดของฝรั่งเศสเพื่อขอให้เพิกถอนการแต่งตั้งนักการเมืองคนนั้นให้มาเป็นเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทยโดยผู้ฟ้องคดีก็คือสหภาพแรงงานของกระทรวงการต่างประเทศ
       ช่วงปิดเทอมที่ผ่านมา ผมไปอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศส 2 สัปดาห์จึงทำให้ทราบว่าศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาในเรื่องดังกล่าวแล้วจึงได้พยายามติดตามหามาอ่าน ในบทบรรณาธิการครั้งนี้จึงขอนำเรื่องดังกล่าวมาเล่าให้ฟังเท่าที่พอมีข้อมูลครับ
       เรื่องเดิมก็คือ ประธานาธิบดี Nicolas Sarkozy ได้ลงนามในรัฐกฤษฎีกาลงวันที่ 4 พฤษภาคม 2012 แต่งตั้งนาย Damien Loras ให้ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย แต่ต่อมาเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2012สหภาพแรงงานของกระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศสได้ไปยื่นฟ้องต่อศาลปกครองสูงสุด (Conseil d'Etat) ของฝรั่งเศสเพื่อขอให้เพิกถอนรัฐกฤษฎีกาลงวันที่ 4 พฤษภาคม 2012 ดังกล่าวข้างต้นด้วยเหตุที่เกิดจากการกระทำที่เกินอำนาจ (recours pour excès de pouvoir) และในวันที่ 23 กรกฎาคม 2012 ศาลปกครองสูงสุดของฝรั่งเศสก็ได้มีคำพิพากษาเพิกถอนรัฐกฤษฎีกาฉบับดังกล่าว
       เมื่อได้อ่านคำพิพากษาก็ทำให้ทราบว่า โดยปกติแล้วการแต่งตั้งบุคคลให้เข้าไปดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศต่างๆ จะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในรัฐกฤษฎีกาฉบับลงวันที่ 6 มีนาคม 1969 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมาตรา 62 ของรัฐกฤษฎีกาดังกล่าวที่ระบุถึงคุณสมบัติเบื้องต้นของผู้ที่จะได้รับแต่งตั้งให้เป็นเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสว่าจะต้องมาจากผู้ที่เคยทำงานระดับสูงในด้านการทูตมาก่อน ส่วนรัฐกฤษฎีกาอีกฉบับหนึ่งคือรัฐกฤษฎีกาฉบับลงวันที่ 25 พฤษภาคม 2009 ที่มีบทบัญญัติมาตรา 1ไปแก้ไขวรรค 2 ของมาตรา 62 ของรัฐกฤษฎีกาฉบับแรกก็ได้กล่าวไว้ว่า  เอกอัครราชทูตและผู้ดำรงตำแหน่งการทูตแต่งตั้งจากผู้ที่ดำรงตำแหน่งระดับสูงในฝ่ายปกครองมาแล้วไม่น้อยกว่า 10 ปี โดยในระยะเวลาดังกล่าวจะต้องปฏิบัติหน้าที่อย่างน้อย 3 ปีในต่างประเทศและแสดงให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ว่ามีความสามารถที่จะดำรงตำแหน่งนั้น ซึ่งในกรณีของนาย Damien Loras ผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทยนั้น แม้จะปรากฏข้อเท็จจริงว่าเคยได้รับแต่งตั้งให้ไปปฏิบัติหน้าที่ในต่างประเทศมาแล้วและเคยดำรงตำแหน่งในฝ่ายปกครองมาแล้วกว่า 10 ปี แต่ตำแหน่งของเขาก็ไม่ได้เป็นตำแหน่งระดับสูงตามความหมายของกฎหมายเกี่ยวกับการกำหนดระดับตำแหน่งของฝรั่งเศส กล่าวคือ นาย Damien Loras ปฏิบัติหน้าที่เลขานุการเอกในคณะผู้แทนถาวรของฝรั่งเศสประจำสหประชาชาติที่กรุง New York ระหว่างวันที่ 15กันยายน 2002 ถึงวันที่ 1 กันยายน 2006 ซึ่งก็ถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่กว่า 3 ปีในต่างประเทศ แต่การทำงานของเขาต่อจากนั้นคือในระหว่างวันที่ 1 กันยายน 2006 ถึงวันที่ 4 พฤษภาคม 2012 อันเป็นวันที่มีรัฐกฤษฎีกาแต่งตั้งให้เขาดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย เขาได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาในสำนักงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและที่ปรึกษาในสำนักงานประธานาธิบดีซึ่งศาลปกครองสูงสุดเห็นว่าไม่เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในรัฐกฤษฎีกาฉบับลงวันที่ 6 มีนาคม 1969 ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยรัฐกฤษฎีกาฉบับลงวันที่ 25 พฤษภาคม 2009 ที่กำหนดให้ผู้ที่ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งทางการทูตจะต้องเคยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงในฝ่ายปกครองมาก่อน  ดังนั้น การแต่งตั้งนาย Damien Loras ของประธานาธิบดีฝรั่งเศสคนก่อนจึงเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด ศาลปกครองสูงสุดของฝรั่งเศสจึงเพิกถอนรัฐกฤษฎีกาแต่งตั้งนาย Damien Loras เสีย
       พร้อมๆ กันกับการเพิกถอนรัฐกฤษฎีกาแต่งตั้งนาย Damien Loras ให้ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย ศาลปกครองสูงสุดก็ได้มีคำพิพากษาอีกคำพิพากษาหนึ่งเพิกถอนรัฐกฤษฎีกาลงวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2010 ที่ประธานาธิบดี Nicolas Sarkozy แต่งตั้งนาย Bertrand Lortholary เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศอินโดนีเซียด้วยเหตุผลใกล้เคียงกันคือขาดคุณสมบัติของการเป็นผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงในฝ่ายปกครองมาก่อน ส่วนผู้ฟ้องคดีรายหลังนี้ก็เป็นคณะเดียวกับผู้ฟ้องคดีรายแรกคือ สหภาพแรงงานของกระทรวงการต่างประเทศ
       ข้อแตกต่างของกรณีทั้ง 2 อยู่ตรงที่ว่า เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศอินโดนีเซียเข้ารับตำแหน่งแล้วและไปปฏิบัติหน้าที่แล้วจึงถูกฟ้อง ในขณะที่เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทยถูกฟ้องก่อนเดินทางมาประเทศไทย จึงยังไม่ได้เข้ารับตำแหน่งและปฏิบัติหน้าที่เอกอัครราชทูต
       มีข้อมูลปลีกย่อยที่อ่านพบในหน้าหนังสือพิมพ์ฝรั่งเศสเกี่ยวกับบุคคลทั้ง 2 ที่ถูกศาลปกครองสูงสุดเพิกถอนรัฐกฤษฎีกาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตที่จะนำมาเล่าให้ฟังก็คือ บุคคลทั้ง 2 เป็นเพื่อนเรียนร่วมรุ่นที่สถาบันนักปกครองแห่งชาติ (Ecole Nationale d'Administration หรือ ENA) ทั้งคู่เรียนจบ ENA ในปี 1997 ทั้งสองคนมีอายุน้อยมาก คนที่ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย อายุ 43 ปี ส่วนคนที่ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศอินโดนีเซีย อายุ 42 ปี และที่สำคัญที่สุดก็คือทั้ง 2 คนทำงานเป็นที่ปรึกษาของนาย Nicolas Sarkozy เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีฝรั่งเศสด้วยกัน
                 มีข้อสังเกตที่ควรให้ความสำคัญอย่างยิ่งอยู่เรื่องหนึ่งก็คือรัฐกฤษฎีกาแต่งตั้งเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทยฉบับลงวันที่ 4 พฤษภาคม 2012 นั้นลงนามก่อนวันเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศสรอบที่ 2 คือวันที่ 6 พฤษภาคม 2012 เพียง 2 วัน เรียกได้ว่า การออกรัฐกฤษฎีกาดังกล่าวเพื่อแต่งตั้ง “คนของตัวเอง” ไปเป็นเอกอัครราชทูตซึ่งเป็นตำแหน่งที่ “ใหญ่โตมาก” เป็นการแต่งตั้งแบบ “ทิ้งทวน” จริงๆ เพราะในวันที่ 4 พฤษภาคม 2012 นั้น ผู้ลงนามในรัฐกฤษฎีกาแต่งตั้งทราบอยู่แล้วว่าตนเองแพ้การเลือกตั้งแน่ๆ อย่างไม่ต้องสงสัยและก็จะต้องพ้นจากตำแหน่งในอีกไม่กี่วันข้างหน้าแต่ก็ได้มีการลงนามในรัฐกฤษฎีกาแต่งตั้งที่ปรึกษาของตนเข้าไปเป็นเอกอัครราชทูต
       
                 จากข่าวที่ปรากฏในหนังสือพิมพ์กล่าวว่า มีผู้ที่เป็น “คนใกล้ชิด” ของอดีตประธานาธิบดี Nicolas Sarkozy จำนวนร้อยกว่าคนได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งระดับสูงในประเทศในช่วงปลายสมัยของอดีตประธานาธิบดีผู้นี้
       
                 คงต้องแสดงความชื่นชมสหภาพแรงงานของกระทรวงการต่างประเทศที่ให้ความสนใจและปกป้องประโยชน์ของประเทศชาติและผู้ที่ทำงานในกระทรวงการต่างประเทศ
       
                 ย้อนกลับมามองดูที่ประเทศไทยบ้าง แม้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันจะบัญญัติไว้ในมาตรา 64 วรรคสอง ว่า ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐย่อมมีเสรีภาพในการรวมกลุ่มเช่นเดียวกับบุคคลทั่วไป แต่ 5 ปีที่ผ่านมาก็ยังไม่เกิดสหภาพข้าราชการหรือการรวมตัวในลักษณะใกล้เคียงขึ้นเสียที แต่ในช่วงเวลา 5 ปีที่ผ่านมา เรากลับพบเห็นนักการเมืองตามกระทรวงหรือหน่วยงานสำคัญๆ “ทิ้งทวน” อนุญาตอนุมัติหรือแต่งตั้งคนของตัวเองเข้าสู่ตำแหน่งกันอยู่บ่อยๆ รวมทั้งการ “ทิ้งทวน” โดยคณะรัฐมนตรี เช่น การประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งสุดท้ายของรัฐบาลที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรีที่ประชุมกันกว่า 10 ชั่วโมง ไม่ทราบว่าประชุมกันกี่ร้อยเรื่อง มีการแต่งตั้งโยกย้าย มีการใช้งบประมาณจำนวนมาก ไม่ทราบว่าทำไมเรื่องเหล่านี้ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้างคงเป็นสิ่งที่พูดกันในวงแคบๆ เท่านั้น เมื่อรัฐบาลชุดปัจจุบันเข้ามาบริหารประเทศก็ไม่ตรวจสอบสิ่งที่รัฐบาลก่อนได้ทำลงไป กลับปล่อยให้ทุกอย่างผ่านไปโดยไม่มีการท้วงติงใดๆ ส่วนกรณีของการแต่งตั้งโยกย้ายที่มีปัญหาก็มักจะไม่ค่อยมีผู้คนให้ความสนใจแต่กลับปล่อยให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแต่งตั้งโยกย้ายที่ไม่ถูกต้องเดือดร้อนกันไปเอง ส่วนคนอื่นๆ แม้ว่าในบางครั้งก็อยู่ในที่ทำงานก็กลับปล่อยทุกอย่างให้ผ่านไป ถึงแม้ในบางกรณีจะมีการนำเรื่องไปฟ้องศาล แต่ศาลของเราก็พิจารณาเรื่องล่าช้าเหลือเกิน ลองดูศาลปกครองสูงสุดของฝรั่งเศสรับเรื่องที่เล่าให้ฟังข้างต้นไว้พิจารณาในวันที่ 14 พฤษภาคม 2012 และตัดสินในวันที่ 23 กรกฎาคม 2012 แล้วนำมาเปรียบเทียบกับการพิจารณาเรื่องเร่งด่วนสำคัญที่เกิดขึ้นในประเทศไทยแล้วก็รู้สึกเหนื่อยหน่ายใจเพราะของเขาใช้เวลา 2 เดือน แต่ของเราใช้เวลานานเหลือเกิน ยังจำได้ว่าเมื่อครั้งที่มีการคัดเลือกกรรมการ กสทช. เมื่อปลายปีที่ผ่านมามีคนไปร้องคัดค้านเรื่อง “คุณสมบัติ” และ “วิธีการได้มา” ของกรรมการ กสทช. ในหลายๆ ที่รวมทั้งการฟ้องศาลด้วย แต่จนบัดนี้ก็ยังไม่มีข่าวใดๆ ออกมา กรรมการ กสทช. ที่เข้าไปปฏิบัติหน้าที่ก็ไม่ทราบว่ามี “คุณสมบัติ” ครบถ้วน หรือมี “วิธีการได้มา” ซึ่งถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ แต่เราก็ปล่อยให้กรรมการ กสทช. ทำงานไปเป็นระยะเวลานาน ปล่อยให้เกิดการประมูลคลื่น 3G อะไรจะเกิดขึ้นหากวันหนึ่งศาลที่รับเรื่องไว้พิจารณาเกิดบอกว่า การแต่งตั้งกรรมการ กสทช.ไม่ถูกต้อง แล้วจะทำอย่างไรกันครับ
       
                 คงต้องให้ความสำคัญกับเรื่อง “การตรวจสอบบุคคลเข้าสู่ตำแหน่ง” กันให้มากหน่อยแล้วครับ ส่วนศาลเองก็คงต้องรีบเร่งพิจารณาเรื่องโดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเข้าสู่ตำแหน่งสำคัญๆ ที่ผมนำมาเสนอข้างต้นก็เพื่อแสดงให้เห็นถึงตัวอย่างที่ดีที่สุดตัวอย่างหนึ่งของการตื่นตัวของข้าราชการที่ต่อสู้กับอำนาจการเมืองที่ไม่ถูกต้อง และศาลที่เข้าใจปัญหาของการบริหารราชการแผ่นดินจึงได้รีบพิจารณาคดีอย่างเร่งด่วนเพื่อไม่ให้เกิดสุญญากาศในการทำงานครับ  
       
                 ในสัปดาห์นี้ เรามีบทความมานำเสนอ 2 บทความด้วยกัน บทความแรกเป็นบทความภาษาฝรั่งเศสเรื่อง “Pourquoi les associations créent-elles des fondations ?” ที่เขียนโดย Jacques Serba ร่วมกับ Pierrick Le Jeune แห่งมหาวิทยาลัย Bretagne Occidentale ประเทศฝรั่งเศส บทความที่สอง เป็นบทความของคุณชำนาญ จันทร์เรือง ที่เขียนเรื่อง “เลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา : การเมืองเรื่องของโพล” ผมขอขอบคุณเจ้าของบทความทั้งสองบทความไว้ ณ ที่นี้ครับ
       
       พบกันใหมัวันจันทร์ที่ 19 พฤศจิกายน 2555
       
       ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์


พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=1791
เวลา 22 พฤศจิกายน 2567 13:29 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)