เลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา : การเมืองเรื่องของโพล

4 พฤศจิกายน 2555 21:54 น.

       ในบรรดาคอการเมืองอเมริกันที่ติดตามข่าวการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาจะขาดเสียไม่ได้และจะต้องติดตามข่าวความคืบหน้าเป็นอันดับแรกในทุกคราวก็คือผลการสำรวจความเห็นหรือที่เราเรียกกันติดปากทับศัพท์กันว่า “โพล (poll)” นั่นเอง ก่อนเลือกตั้งก็จะตามข่าวกันว่าใครนำ นำกี่จุด(pointsหรือ เปอร์เซ็นต์) ในรัฐต่างๆเป็นอย่างไรบ้าง และเมื่อเริ่มหย่อนบัตรก็มีการสำรวจความเห็นนอกคูหาเลือกตั้ง หรือ “เอ็กซิทโพล (Exit Poll)” ว่าใครจะได้เป็นประธานาธิบดี ซึ่งเป็นการเพิ่มรสชาติในการติดตามข่าวเป็นยิ่งนัก และจะยิ่งมีรสชาติมากยิ่งขึ้นหากผลอย่างเป็นทางการออกมาไม่ตรงกับผล “โพล”ทั้งหลาย ซึ่งก็เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีต แม้ว่าโอกาสผิดพลาดจะน้อยก็ตาม
       การทำโพลครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อ 1824 โดยหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นในเมืองแฮริสเบิร์ก รัฐเพนซิลเวเนีย แต่ไม่ได้เป็นประเด็นในการเสนอข่าวอย่างเป็นจริงเป็นจัง และมีการพัฒนาแตกขยายออกไปอย่างต่อเนื่อง ที่มีชื่อเสียงมากมาจนถึงปัจจุบันก็คือ แกลลัพ โพล(Gallup Poll) ซึ่งเริ่มต้นเมื่อ จอร์จ ฮอเรซ แกลลัพ (George Horace Gallup 1901-1984) ก่อตั้งสถาบันสำรวจความคิดเห็นแห่งอเมริกา (The American Institute of Public Opinion) ขึ้นในปี1935 ซึ่งต่อมาสถาบันได้พัฒนามาเป็นองค์การแกลลัพ หรือ The Gallup organization
        
       จุดเปลี่ยนที่สำคัญเมื่อถึงคริสต์ทศวรรษที่ 1970 เครือข่ายสถานีโทรทัศน์ที่สำคัญสามแห่งในยุคนั้น คือ ABC,CBS และ NBC ต่างก็ทำโพลการเลือกตั้งประธานาธิบดี และหลังจากนั้นก็ทำโพลเกี่ยวกับการเลือกตั้งที่สำคัญๆ เช่น การเลือกตั้งผู้ว่าการรัฐและสมาชิกสภาคองเกรส เป็นต้น
        
       ในปัจจุบันมีการทำโพลในนามของเครือข่ายสถานีโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์ที่เป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจกัน เช่น ABC กับ Washington Post,CBS กับ New York Times,NBC กับ Wall Street Journal หรือทางสถานีโทรทัศน์อย่างเดียว เช่น CNN เป็นต้น รวมถึงการทำโพลทางอินเตอร์เน็ตที่มีชื่อเสียงเป็นอย่างมาก คือ www.pollster.com ของศาสตราจารย์ชาร์ลส์ แฟรงกลิน จากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-เมดิสัน ซึ่งทำให้สามารถติดตามความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับผู้สมัครรับเลือกตั้ง ที่สำคัญก็คือมีการสอบถามเพิ่มเติมในประเด็นที่สำคัญๆว่ามีความคิดเห็นอย่างไรเข้าไปด้วย
       บางครั้งมีการทำโพลข้ามคืนหรือทันทีทันใดหลังจากมีเหตุการณ์สำคัญๆ เช่น การแถลงนโยบายประจำปีของประธานาธิบดี หรือการโต้วาที(Debate)ระหว่างผู้ชิงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งในการทำโพลในระยะแรกๆจะให้ข้อมูลมากมายนอกเหนือจากที่แสดงให้เห็นว่าผู้สมัครรับเลือกตั้งคนใดกำลังได้รับความนิยมนำอยู่ ผลการทำโพลอาจบอกได้ว่าประชาชนกำลังสนใจประเด็นใดอยู่ รวมทั้งการแสดงให้เห็นถึงอารมณ์ของประชาชนโดยทั่วไป จนมีคำกล่าวว่า “การทำโพลเป็นแค่การเติมวิทยาศาสตร์เข้าไปในสิ่งที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งเห็นและสาธารณชนรู้สึก พอใจ ไม่พอใจ ขุ่นเคือง คับข้องใจ มั่นใจ หรือสิ้นหวัง”
       ผลโพลจะช่วยให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งสามารถตัดสินใจได้ว่าจะเน้นข้อความที่จะสื่อสารอย่างใดจึงจะมีประสิทธิผลมากที่สุด และในขณะเดียวกันก็มุ่งเน้นในประเด็นที่ประชาชนกำลังสนใจ ซึ่งศาสตร์ต่างๆเหล่านี้มีการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยชั้นนำทั่วไปในวิชา “การตลาดการเมือง” หรือ Political Marketing นั่นเอง
       เอ็กซิทโพล(Exit Poll)
       เอ็กซิทโพลหรือเรียกเป็นภาษาวิชาการว่าการสำรวจความเห็นนอกคูหาเลือกตั้งส่วนใหญ่แล้วจะทำโดยเครือข่ายสถานีโทรทัศน์ขณะที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งกำลังเดินออกจากหน่วยเลือกตั้งซึ่งเป็นส่วนสำคัญของการเลือกตั้งในสหรัฐอเมริกามาตั้งแต่คริสต์ทศวรรษที่ 1970  และยังเป็นเรื่องถกเถียงกันเป็นอย่างมากว่าเหมาะหรือไม่เหมาะสมประการใด เพราะบางคราวก็มีความผิดพลาดเกิดขึ้นเช่นในคราวการทำนายผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2000 ซึ่งเป็นการแข่งขันระหว่างอัลกอร์กับบุช โดยทำนายผลการเลือกตั้งผิดถึงสองครั้งในรัฐฟลอริดา
       การเลือกตั้งที่มีขึ้นในปี 2000 นั้น เครือข่ายสถานีโทรทัศน์ได้รายงานว่าอัล กอร์นำ จากนั้นก็บอกว่าบุชนำ และท้ายสุด บอกว่าสูสีกันมากจนไม่อาจวัดได้ อัล กอร์ ผู้ซึ่งโทรศัพท์ไปหาบุชเพื่ออ้างว่าตนได้รับชัยชนะได้โทรไปขอถอนคำพูดภายในเวลาไม่ถึงหนึ่งชั่วโมงต่อมา และได้เกิดการฟ้องศาลตามมาหลายครั้งว่าด้วยความถูกต้องในการนับคะแนนซ้ำระดับเคานท์ตี และระดับรัฐในหลายเดือนต่อมา
       จนสุดท้ายคดีนี้จึงไปสิ้นสุดที่ศาลสูงสุด(Supreme Court) ที่เป็นผลทำให้บุชมีชัยอย่างหวุดหวิดในรัฐฟลอริดาด้วยคะแนนเสียงเพียง 537 คะแนน (บุช 2,912,790 คะแนน/กอร์ 2,912,253 คะแนน) ทำให้บุชได้เอเล็คตอรัลโวตจากรัฐนี้ไป 25 คะแนน และได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐในที่สุดด้วยคะแนนอีเล็กตอรัลโหวต 271 ต่อ 266 ทั้งๆที่คะแนนป็อบปูลาโหวตแพ้ต่อกอร์ด้วยคะแนน 50,456,002 เสียง (47.9%) ต่อ 50,999,897 เสียง (48.4 %) ซึ่งผมยังนึกไม่ออกเหมือนกันว่าหากคราวนั้นผู้ชนะเปลี่ยนจากบุชเป็นกอร์แล้วโลกเราจะเป็นอย่างไร อาจจะดีขึ้นกว่าเดิมไหม แต่ก็อย่างว่าแหละครับ “สำหรับประวัติศาสตร์แล้วไม่มีคำว่า “ถ้า” (No if in History)”
       ดูเขาแล้วหันมาดูเรา
       เมื่อดูการทำโพลในสหรัฐอเมริกาแล้วหันมาดูพี่ไทยเรากลับมีกฎหมายห้ามว่า ระหว่างเวลา 7 วันก่อนวันเลือกตั้งจนถึงเวลาปิดการลงคะแนนเลือกตั้ง หรือ เวลา 15.00 น.ของวันเลือกตั้ง ห้ามมีการเปิดเผยผลสำรวจเกี่ยวกับคะแนนนิยมของผู้สมัครรับเลือกตั้ง เพราะอาจเข้าข่ายกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้งตามมาตรา 150 ดูดูแล้วก็แปลกดีสำหรับกฎหมายเลือกตั้งไทย เพราะนอกเหนือจากการห้ามเผยแพร่โพลแล้วยังห้ามอะไรหยุมหยิมไปหมด(แล้วก็บังคับไม่ได้) ไม่ว่าจะเป็นการห้ามจำหน่ายจ่ายแจกสุรา การห้ามการมีมหรสพ การห้ามขนคนหรือจัดพาหนะเพื่ออำนวยความสะดวกในการลงคะแนน ฯลฯ ซึ่งที่สหรัฐอเมริกาไม่มีการห้ามในเรื่องเหล่านี้
       เมื่อไหร่พี่ไทยเราจะหันไปมองดูคนอื่นเขาบ้าง ไปดูงานกันมาก็ตั้งเยอะแยะ ไม่เห็นนำมาใช้สักที มัวแต่อ้างว่าคนไทยเรายังไม่พร้อมเป็นแผ่นเสียงตกร่องกันอยู่ได้
        
       -----------------
        
        


พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=1790
เวลา 22 พฤศจิกายน 2567 18:37 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)