|
|
ข้อพิจารณาบางประการ กรณี คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ชี้มูลการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจสลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตร เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 21 ตุลาคม 2555 18:15 น.
|
จากกรณีการชุมนุมทางการเมืองไม่ว่าจะเป็นเสื้อสีใดก็ตาม เจ้าหน้าที่ตำรวจในฐานะเจ้าพนักงานของรัฐที่มีหน้าที่ในการรักษาความสงบเรียบร้อยให้กับสังคมต้องเข้ามีบทบาทในการดูแลความสงบเรียบร้อยในการชุมนุม แต่จากบทเรียนที่ผ่านมาทำให้เห็นว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความยากลำบากเพราะต้องปฏิบัติหน้าที่อยู่ท่ามกลางความขัดแย้งของประชาชนในสังคม ดังจะเห็นได้จากกรณีการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 เพื่อคัดค้านการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาของรัฐบาลในขณะนั้น และเกิดความเสียหายแก่ชีวิตและร่างกายของประชาชน เจ้าหน้าที่ตำรวจในฐานะเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีหน้าที่ดูแลความสงบเรียบร้อยในการชุมนุมดังกล่าวตกเป็นจำเลยของสังคมเพราะมีประชาชนได้รับอันตรายต่อชีวิตและร่างกายจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ และ มีการนำการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการดูแลความสงบเรียบร้อยในการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 ร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ให้พิจารณาว่าการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจเกี่ยวกับการชุมนุมในครั้งนี้เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ประการใด
ในบทความนี้จะกล่าวถึงเฉพาะการพิจารณาของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กรณีการปฏิบัติหน้าที่ของ พล.ต.อ. พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลเท่านั้น โดยจะกล่าวถึง ข้อเท็จจริงที่ได้จากการพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เหตุผลข้อกฎหมายที่ใช้ในการวินิจฉัย และบทวิเคราะห์สำหรับเป็นกรณีศึกษาในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการชุมนุมทางการเมืองครั้งต่อ ๆ ไป ดังนี้
ข้อเท็จจริงจากการพิจารณาของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ
ตามที่ สมาชิกสภาผู้แทนราษฏรพรรคประชาธิปัตย์ รวม 20 คน ได้มีหนังสือลงวันที่ 10 ตุลาคม 2551 ขอให้ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริง กรณี นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พลตำรวจโท สุชาติ เหมือนแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล กับพวก รู้เห็นเป็นใจสั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้อาวุธปราบปรามประชาชนที่กำลังชุมนุมโดยสงบในบริเวณหน้ารัฐสภา บริเวณถนนพิชัย บริเวณถนนสุโขทัย และบริเวณหน้ากองบัญชาการตำรวจนครบาลทำให้ประชาชนได้รับอันตรายแก่กาย และจิตใจ ประมาณ 400 คน ได้รับบาดเจ็บสาหัส 6 คน และถึงแก่ความตาย 2 คน
คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ได้รวมดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงเป็นเรื่องเดียวกัน โดยกำหนดให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติทั้งคณะ เป็นองค์คณะในการดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริง และมอบหมายให้นายวิชา มหาคุณ และนายวิชัย วิวิตเสวี กรรมการ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติเป็นผู้รับผิดชอบสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริง ซึ่งจากการไต่สวนข้อเท็จจริง ได้ความว่า
นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ได้ประกาศ ที่จะแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ในวันที่ 7 ตุลาคม 2551 นายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎรในฐานะประธานรัฐสภา ได้เรียกประชุมร่วมกันของรัฐสภาเพื่อรับฟังการแถลงนโยบายของรัฐบาลในวันที่ 7 ตุลาคม 2551 เวลา 09.30 น.ในขณะเดียวกัน กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งได้ชุมนุมอยู่ที่ทำเนียบรัฐบาล ได้ประกาศที่จะขัดขวางการเข้าประชุมของสมาชิกรัฐสภาเพื่อมิให้รัฐบาลได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาโดยการเคลื่อนมวลชนมาปิดล้อมรัฐสภาตั้งแต่ค่ำวันที่ 6 ตุลาคม 2551
เช้าวันที่ 7 ตุลาคม 2551 เวลาประมาณ 06.00 น. ปรากฏว่า มีการใช้แก๊สน้ำตา ชนิดยิง และขว้าง เพื่อผลักดันประชาชนกลุ่มพันธมิตร ที่ชุมนุมปิดทางเข้ารัฐสภา บริเวณประตูปราสาทเทวริทธิ์ ด้านถนนราชวิถี ต่อเนื่องมาบริเวณแยกอู่ทองใน เลยไปทางประตูด้านหน้ารัฐสภา บริเวณถนนอู่ทองใน ทำให้มีผู้บาดเจ็บจำนวนมาก โดยมีผู้บาดเจ็บขาขาดนิ้วเท้าขาดและน่องเป็นบาดแผลฉกรรจ์ หลังจากนั้น สื่อมวลชนได้เสนอข่าวการสลายการชุมนุมด้วยแก๊สน้ำตาของเจ้าหน้าที่ตำรวจทำให้มีผู้บาดเจ็บสาหัสจำนวนมาก
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
พระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547
มาตรา มาตรา 79 การกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ได้แก่การกระทำดังต่อไปนี้
(3) เหยียดหยาม กดขี่ ข่มเหง หรือทำร้ายประชาชนผู้ติดต่อราชการหรือในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ราชการ
(5) กระทำการอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง
(6) กระทำหรือละเว้นการกระทำใดๆ รวมทั้งการกระทำผิดตามมาตรา 78 (การกระทำผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรง) อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง
ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157
ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด
เหตุผลข้อกฎหมายที่ใช้ในการวินิจฉัย
คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ได้พิจารณาข้อเท็จจริง ตลอดจนได้แจ้งข้อกล่าวหาให้ผู้ถูกกล่าวหารับทราบ และเปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหาแต่ละราย ชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาแล้ว เห็นว่า
1. กรณี พล.ต.อ.พัชวาท วงษ์สุวรรณ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
เหตุผลข้อกฎหมายที่ใช้ในการวินิจฉัย ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติเมื่อเกิดเหตุการณ์สลายการชุมนุมในช่วงเช้ามีผู้บาดเจ็บถึงขั้นขาขาด และมีบาดแผลในร่างกายหลายราย สื่อมวลชนได้เสนอข่าวอยู่ตลอดเวลา พล.ต.อ.พัชรวาท ฯ ผบ.ตร ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงที่ได้รับนโยบายจากฝ่ายการเมือง ให้ไปดำเนินการเปิดทางให้สมาชิกรัฐสภาเข้าประชุม กลับเพิกเฉยไม่สั่งการให้หยุดยั้งการกระทำ หรือยอมกระทำการอันเป็นการเสี่ยงต่อการได้รับอันตรายต่อประชาชน เป็นการไม่รับผิดชอบต่อตำแหน่งหน้าที่ของตนเองที่ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยในชีวิตของประชาชนเป็นหลัก และการที่ พล.ต.อ. พัชรวาท ฯ ได้สั่งการให้กระทำ โดยมิได้ยับยั้งการกระทำที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อประชาชนตามวิสัยของข้าราชการตำรวจที่มีหน้าที่พิทักษ์สันติราษฎร์ จนเกิดความเสียหายดังกล่าว จึงมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ฐานทำร้ายประชาชนในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ราชการ กระทำการอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง และกระทำหรือละเว้นการกระทำใดๆ อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง ตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 มาตรา 79 (3) (5) (6) และมีมูลความผิดทางอาญา ฐานเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157
ข้อต่อสู้ของ พล.ต.อ.พัชวาท ฯ ผบ.ตร. ที่ว่าไม่สามารถขัดขืนได้ แม้จะพยายามที่จะให้มีการเปลี่ยนสถานที่ประชุมหรือเลื่อนวันประชุม ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความพยายามที่จะไม่มีเหตุการณ์เผชิญหน้ากันระหว่างประชาชนกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ไม่สามารถหักล้างผลของการกระทำที่เจ้าหน้าที่ตำรวจภายใต้การบังคับบัญชาของ พล.ต.อ. พัชรวาท ฯ ได้กระทำไป
บทวิเคราะห์สำหรับเป็นกรณีศึกษา
การอ้างว่าได้รับนโยบายจากฝ่ายการเมืองแล้วปฏิบัติไปตามนั้น ไม่สามารถหักล้างผลของการกระทำอันเป็นการเสี่ยงต่อการได้รับอันตรายต่อประชาชน และเป็นการไม่รับผิดชอบต่อตำแหน่งหน้าที่ของตนเองที่ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยในชีวิตของประชาชนเป็นหลัก กรณีนี้ผู้เขียนเห็นว่า เมื่อพิจารณาจากการที่ พล.ต.อ.พัชรวาท ฯ ดำรงตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติซึ่งถือเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรี ดังนั้นหากได้รับคำสั่งจากนายกรัฐมนตรีให้ดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งเมื่อเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย พล.ต.อ.พัชรวาท ฯ ในฐานะผู้ใต้บังคับบัญชาจึงมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตาม ซึ่งจากข้อเท็จจริงพบว่า พล.ต.อ.พัชรวาท ฯ ได้รับคำสั่งให้ดำเนินการเปิดทางให้สามาชิกรัฐสภาสามารถเดินทางเข้าประชุมได้ คำสั่งดังกล่าวจึงเป็นคำสั่งโดยชอบด้วยกฎหมายที่ต้องปฏิบัติตาม
เมื่อมีข้อเท็จจริงปรากฎว่ากลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้เคลื่อนขบวนปิดล้อมประตูเข้าออกรัฐสภาทุกด้าน จนสมาชิกรัฐสภาที่ประชุมอยู่ไม่สามารถเดินทางออกจากที่ประชุมได้ เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงดังกล่าวทำให้น่าคิดว่าหากไม่ดำเนินการเปิดทางให้สามาชิกรัฐสภาสามารถเดินทางเข้าประชุมได้ ก็จะเกิดบทสรุปว่าสมาชิกรัฐสภาที่เดินทางมาทำหน้าที่ประชุมอันเป็นหน้าที่ที่สำคัญตามกฎหมายกลับไม่สามารถเดินทางออกจากที่ประชุมได้เป็นสิ่งที่สมควรเกิดขึ้นหรือไม่ และผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องเช่นเจ้าหน้าที่ตำรวจสมควรจะดำเนินการเช่นไร และสถานการณ์ขณะนั้นพบว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจได้พยายามเจรจากับกลุ่มผู้ชุมนุมให้เปิดทางให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปรับสมาชิกรัฐสภาออกมา แต่กลุ่มผู้ชุมนุมไม่ยอมเปิดทางให้ ซึ่งการพยายามเจรจานี้เองแสดงให้เห็นว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจได้กระทำการอันจำเป็นตามสมควรแก่เหตุแล้วเพื่อที่จะนำสมาชิกรัฐสภาออกมาจากที่ประชุม ดังนั้นจากเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้น ผู้เขียนเห็นว่าการกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจขณะนั้นถือเป็นการกระทำที่พอสมควรแก่เหตุแก่กรณีเพื่อที่จะดำเนินการปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย แม้ต่อมาจากการดำเนินการของตำรวจจะทำให้ประชาชนได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต ก็มิได้เกิดจากการกระทำที่มีเจตนาของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ต้องการให้ประชาชนที่เข้าร่วมการชุมนุมได้รับอันตรายหรือบาดเจ็บ ดังนั้น การกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงไม่เข้าองค์ประกอบความผิดฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 จะต้องประกอบด้วยเจตนาพิเศษ คือต้องเป็นการกระทำเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด[1] ซึ่งกรณีนี้คือประชาชนที่เข้าร่วมการชุมนุม นั่นเอง
2. พลตำรวจโท สุชาติ เหมือนแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล
เหตุผลข้อกฎหมายที่ใช้ในการวินิจฉัยของ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติข้อเท็จจริงปรากฏว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งอยู่ในความควบคุมบังคับบัญชาของ พลตำรวจโท สุชาติ เหมือนแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลในฐานะผู้บัญชาการเหตุการณ์ตามแผนรักษาความสงบ (กรกฎ/48) ได้ใช้แก๊สน้ำตายิงและขว้างใส่กลุ่มประชาชนที่ชุมนุมปิดล้อมรัฐสภา ทำให้ประชาชนได้รับบาดเจ็บสาหัสเป็นจำนวนมากแล้ว ในเวลาประมาณ 16.00 น. พลตำรวจโทสุชาติ เหมือนแก้ว ยังคงสั่งให้มีการใช้กำลังเข้าผลักดันกลุ่มประชาชน โดยใช้แก๊สน้ำตาดังกล่าวอีก จนทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บจากแก๊สน้ำตาอีกจำนวนหนึ่ง และเมื่อเวลาประมาณ 19.00 น.เจ้าหน้าที่ตำรวจที่อยู่บริเวณด้านหน้ากองบัญชาการตำรวจนครบาลและภายในกองบัญชาการตำรวจนครบาล ยังคงยิงแก๊สน้ำตาใส่กลุ่มประชาชนที่ร่วมชุมนุมกับพันธมิตร ทำให้มีผู้เสียชีวิต และบาดเจ็บสาหัส ขาขาด มือขาด และบาดเจ็บที่ต่างๆ จำนวนมากอีก พลตำรวจโท สุชาติ เหมือนแก้ว ในฐานะผู้บัญชาการเหตุการณ์ ทราบว่าการใช้แก๊สน้ำตาเข้าผลักดันประชาชน ทำให้เกิดความเสียหายต่อประชาชน กลับไม่ดำเนินการทบทวนวิธีการหรือหยุดยั้งการกระทำดังกล่าว กลับสั่งให้ดำเนินการเช่นเดิมอีกในตอนบ่ายและกระทำซ้ำอีกในตอนค่ำอีก จึงมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ฐานทำร้ายประชาชนในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ราชการ กระทำการอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง และกระทำหรือละเว้นการกระทำใดๆ อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง ตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 มาตรา 79 (3) (5) (6) และมีมูลความผิดทางอาญา ฐานเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157
บทวิเคราะห์สำหรับเป็นกรณีศึกษา
กรณีที่ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เห็นว่า พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว ในฐานะผู้บัญชาการเหตุการณ์ ทราบว่าการใช้แก๊สน้ำตาเข้าผลักดันประชาชน ทำให้เกิดความเสียหายต่อประชาชน กลับไม่ดำเนินการทบทวนวิธีการหรือหยุดยั้งการกระทำดังกล่าว กลับสั่งให้ดำเนินการเช่นเดิมอีกในตอนบ่ายและกระทำซ้ำอีกในตอนค่ำ เมื่อพิจารณาประกอบกับข้อเท็จจริง ที่กลุ่มพันธมิตรที่ชุมนุมที่ทำเนียบรัฐบาลไม่พอใจการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงประกาศให้ผู้ร่วมชุมนุมเดินทางไปที่หน้ากองบัญชาการตำรวจนครบาล เพื่อไปผลักดันเจ้าหน้าที่ตำรวจให้เปิดเส้นทางถนนศรีอยุธยา เห็นได้ว่าในฐานะที่ พล.ต.ท.สุชาติ ฯ ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจนครบาล หากปล่อยให้กลุ่มผู้ชุมนุมที่ชุมนุมอยู่บริเวณหน้ากองบัญชาการตำรวจนครบาลด้วยอารมณ์ที่ไม่พอใจการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจกลุ่มผู้ชุมนุมอาจบุกเข้ามาในอาคารที่ทำการกองบัญชาการตำรวจนครบาลที่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจประจำการอยู่เป็นจำนวนมากอาจจะทำให้เกิดการเผชิญหน้ากันระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจกับประชาชนโดยตรงจนเกิดการจลาจลสร้างความเสียหายจนยากจะควบคุมได้ ดังนั้น การที่ พล.ต.ท.สุชาติ ฯ ในฐานะผู้บัญชาการตำรวจนครบาลย่อมใช้ดุลพินิจในการที่จะกระทำการหรือดำเนินการเพื่อรักษาที่ทำการกองบัญชาการซึ่งเป็นศูนย์กลางและเป็นสัญลักษณ์ของเจ้าหน้าที่ตำรวจไว้ให้ได้เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้สถานการณ์การชุมนุมลุกลามบานปลายต่อไปมากกว่าที่เป็นอยู่ในขณะนั้น ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น ผู้เขียนเห็นว่า การที่ พล.ต.ท.สุชาติ ฯ ใช้แก๊สน้ำตาเข้าผลักดันประชาชนบริเวณหน้ากองบัญชาการตำรวจนครบาลเป็นการกระทำที่พอสมควรแก่เหตุไม่เกินกว่ากรณีแห่งความจำเป็นที่จำต้องกระทำเพื่อป้องกันผล แม้ต่อมาจากการดำเนินการของตำรวจจะทำให้ประชาชนได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต ก็ไม่อาจถือว่าเป็นการกระทำที่มีเจตนาพิเศษของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ต้องการให้เกิดความเสียหายแก่ประชชาชนที่เข้าร่วมการชุมนุม ดังนั้นการกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงไม่เข้าองค์ประกอบความผิดฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 จะต้องประกอบด้วยเจตนาพิเศษ คือต้องเป็นการกระทำเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด[2] ซึ่งกรณีนี้คือประชาชนที่เข้าร่วมการชุมนุม
บทสรุป
การปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการตำรวจนั้น คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ อ้างว่าข้าราชการตำรวจที่มีหน้าที่พิทักษ์สันติราษฎร์ แต่มิได้ยับยั้งการกระทำที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อประชาชนจนเกิดความเสียหาย มีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ฐานทำร้ายประชาชนในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ราชการ และมีมูลความผิดทางอาญา ฐานเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ดังนั้น การปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการตำรวจเกี่ยวกับการชุมนุมนั้นหากปรากฎว่าเกิดความเสียหายแก่ประชาชน ข้าราชการตำรวจมีหน้าที่ต้องกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อให้เห็นว่าได้ยับยั้งความเสียหายดังกล่าว เช่น สั่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจหยุดปฏิบัติการชั่วคราวก่อน หรือสั่งปรับเปลี่ยนวิธีการดำเนินการเพื่อให้เห็นว่าได้พยายามยับยั้งความเสียหายแล้ว หากสามารถทำได้เช่นนี้แล้วจะทำให้ข้าราชการตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความอุตสาหะเกี่ยวกับการชุมนุมที่ยืดเยื้อสามารถรอดพ้นจากการกล่าวหาว่า ตำรวจทำร้ายประชาชน หรือกล่าวหาว่าปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบได้ในระดับหนึ่ง
สำหรับผู้เขียนเห็นว่า แม้ปัจจุบันมีความพยายามจากทุกฝ่ายที่จะผลักดันให้มีกฎหมายเกี่ยวกับการชุมนุมสาธารณะเป็นการเฉพาะเพื่อเป็นการวางหลักเกณฑ์สำหรับผู้ที่มีประสงค์จะชุมนุมเพื่อเรียกร้องหรือแสดงอุดมการณ์ของตนเองและเป็นแนวทางให้เจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อดูแลความสงบเรียบร้อยในการชุมนุมให้เป็นไปตามกฎหมายไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่นเกินสมควร แต่ผู้เขียนเชื่อแม้จะมีกฎหมายดังกล่าวจริงก็อาจจะไม่สามารถแก้ปัญหาที่เกิดจากการชุมนุมสาธารณะได้ทั้งหมด เพราะการชุมนุมสาธารณะนั้นมีจุดประสงค์ร่วมกันคือการเรียกร้องให้สังคมหรือผู้มีอำนาจในการบริหารประเทศสนใจหรือให้ความสำคัญกับสิ่งที่ตนต้องการเรียกร้อง ดังนั้น หากมีการชุมนุมสาธารณะเกิดขึ้นย่อมเชื่อได้อย่างแน่นอนว่าต้องมีการละเมิดต่อกฎหมายไม่ว่าจะเป็นกฎหมายโดยทั่วไป เช่น กฎหมายจราจร บทบัญญัติต่าง ๆ กฎหมายอาญา หรือแม้กระทั่งกฎหมายเกี่ยวกับการก่อการร้าย ผู้ชุมนุมก็พร้อมที่จะละเมิดกฎหมายหากทำให้สังคมหรือผู้มีอำนาจบริหารประเทศยอมรับในข้อเรียกร้องของตน
ดังนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องมีมาตรการรองรับการชุมนุมสาธารณะที่เป็นระบบเพื่อบริหารจัดการการชุมนุมให้เป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อยเกิดความเสียหายหรือละเมิดสิทธิของผู้อื่นน้อยที่สุด โดยยึดหลักการดำเนินการหรือปฏิบัติหน้าที่ต้องเป็นไปตามหลักความพอสมควรแก่เหตุ หลักความได้สัดส่วนของการกระทำ เพื่อเป็นเกราะคุ้มครองตนเองมิให้ตกเป็นจำเลยของสังคมหรือแม้กระทั่งถูกดำเนินคดีฟ้องร้องต่าง ๆ ได้
[1] คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 257/2526
[2] เพิ่งอ้าง
|
|
|
พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=1787
เวลา 22 พฤศจิกายน 2567 18:57 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)
|