|
|
คำพิพากษาศาลสูงสุดแห่งสหรัฐอเมริกาเกี่ยวกับการหยุดทำงานในวันศักดิ์สิทธิ์ (Sabbath day) 21 ตุลาคม 2555 18:15 น.
|
1. ความทั่วไป
เมื่อประมาณเดือนกันยาน พ.ศ. 2555 เกิดกระแสข่มขู่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ห้ามประชาชนทำงานหรือเปิดร้านขายของในวันศุกร์ ทำให้ประชาชนในพื้นที่ไม่กล้าประกอบอาชีพค้าขายเกรงว่าจะไม่ปลอดภัย จุฬาราชมนตรีได้มีหนังสือชี้แจงในเรื่องดังกล่าวว่า การทำงานในวันศุกร์มิได้ขัดแย้งกับหลักศาสนาอิสลาม สิ่งที่อิสลามบัญญัติคือ บุคคลต้องไม่ให้ความสำคัญแก่การทำงานหารายได้มากกว่าการประกอบพิธีละมาดญุมอะฮ์ (ละมาดวันศุกร์) ถวายเป็นอิบาดะห์ต่ออัลลอฮ์พระผู้เป็นเจ้า และได้ยกพระดำรัสแห่งอัลลอฮ์ ซูรอฮ์ (โองการ) อัลญมุอะฮ์ ที่ 9-10 ความว่า ดูกรผู้มีศรัทธาทั้งหลาย เมื่อเสียงเรียกร้องสู่การละมาด ดังขึ้นในวันศุกร์ พวกเจ้าก็จงรีบเร่งไปสู่การรำลึกถึงอัลลอฮ์เถิดและจงยุติการซื้อขายเสีย นั่นเป็นสิ่งที่ดีสำหรับพวกเจ้า หากพวกเจ้ารู้ ครั้นเมื่อการประกอบพิธีละมาดเสร็จสิ้นลง พวกเจ้าก็จงกระจายไปในแผ่นดินเถิด จงแสวงหาคุณูปการแห่งอัลลอฮ์ (ทำงานหารายได้) และจงรำลึกถึงพระองค์ให้มาก เพื่อพวกเจ้าจะได้พบกับความสำเร็จ[1] (การละมาดถือเป็นการประกอบศาสนกิจที่สำคัญที่สุดสำหรับผู้นับถือศาสนาอิสลาม การละมาดอาจทำคนเดียวหรือเป็นกลุ่มก็ได้ แต่การละมาดร่วมกันหลายคนได้บุญมากกว่าละมาดคนเดียวถึง 27 เท่า ในประเทศมุสลิมที่มีการบังคับใช้กฎหมายอิสลาม ผู้ทิ้งละมาดมีโทษถึงประหารชีวิต[2])
การไปละมาดพร้อมกันที่มัสยิดของมุสลิมในวันศุกร์จึงมีวัตถุประสงค์ที่แตกต่างจากข้อบัญญัติกรณีวันหยุดศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนา (Sabbath day) ของศาสนาคริสต์และศาสนายูดาย ที่มีข้อบัญญัติทางศาสนากำหนดให้วันศักดิ์สิทธิ์เป็นวันพักผ่อนมิให้ประกอบการงานใด เว้นแต่ การงานที่จำเป็นหรืองานกุศลที่สามารถทำได้ ซึ่งในปัจจุบันพบว่า ประเทศที่มีกฎหมายบังคับให้ปิดกิจการในวันอาทิตย์ (Sunday Closing Law) นั้น เริ่มเพิ่มข้อยกเว้นให้ทำกิจกรรมและค้าขายสินค้าบางประเภทในวันอาทิตย์ได้มากขึ้น ๆ เพื่อให้สอดคล้องกับสมัยนิยมและข้อเรียกร้องของผู้ที่ไม่ได้นับถือศาสนาคริสต์ ผู้ที่มีวันศักดิ์สิทธิ์วันอื่นนอกเหนือจากวันอาทิตย์ หรือผู้ที่ไม่ต้องการปิดกิจการในวันอาทิตย์เนื่องการกฎหมายปิดกิจการในวันอาทิตย์นั้น มีโทษทางอาญาด้วย สำหรับผู้ที่เห็นประโยชน์ในการกำหนดวันหยุดพักผ่อนที่พร้อมเพรียงกันในหนึ่งวันต่อสัปดาห์ (common period of rest/uniform closing day) มีประเด็นโต้แย้งว่า วันใดเป็นวันที่เหมาะสมที่ควรกำหนดให้เป็นวันหยุดพักผ่อนร่วมกัน จำเป็นต้องเป็นวันอาทิตย์หรือไม่ บางประเทศอาจใช้หลักหยุดงานทุก ๆ 10 วัน หรือหยุดตามรอบของพระจันทร์ เช่น ข้างขึ้นหรือข้างแรม เป็นต้น
ในส่วนของวันหยุดประจำสัปดาห์ในสี่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัตตานี, สตูล, ยะลา, และนราธิวาส พบว่า มีการเปลี่ยนแปลงหลายครั้ง อาทิ ในปี พ.ศ. 2491 ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีกำหนดให้หยุดราชการ ประจำทุก ๆ สัปดาห์ เป็นวันพฤหัสบดีครึ่งวัน ตั้งแต่เวลา 12.00 นาฬิกา และวันศุกร์หยุดเต็มวัน[3] และพ.ศ. 2499 เปลี่ยนวันหยุดราชการทั่วประเทศเป็นวันพระและวันอาทิตย์ สำหรับสี่จังหวัดภาคใต้เปลี่ยนเป็นวันพระและวันศุกร์ และต่อมาเห็นว่า สำหรับสี่จังหวัดภาคใต้ยังไม่เหมาะสมจึงเปลี่ยนกลับมาใช้วันพฤหัสและศุกร์เหมือนเดิม โดยปี พ.ศ. 2502 เปลี่ยนจากหยุดราชการในวันพฤหัสบดีครึ่งวันเป็นวันพฤหัสบดีเต็มวัน ต่อมาปี พ.ศ. 2506 คณะรัฐมนตรีจึงกำหนดให้วันหยุดราชการในสี่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็น เสาร์และอาทิตย์ เต็มวันเหมือนกันทั่วประเทศ[4] ในประเทศไทยไม่มีแนวปฏิบัติเรื่องการกำหนดวันหยุดพร้อมกันทั่วไป มีเพียงวันหยุดราชการที่มีที่มาจากวันหยุดทางศาสนา วันหยุดตามประเพณี วันสำคัญต่าง ๆ ที่กำหนดให้ลูกจ้างหยุดงานได้ แต่สำหรับผู้ค้าขายอิสระไม่มีลูกจ้างย่อมเปิดร้านค้าขายได้ตามความต้องการ
สำหรับกลุ่มศาสนายูดายและศาสนาคริสต์ที่มีข้อบัญญัติที่ 4 จากบทบัญญัติ 10 ประการ (Ten Commandments) (โรมันคาทอลิคและลูเธอร์ลันเป็นข้อบัญญัติที่ 3) กำหนดเรื่องวันศักดิ์สิทธิ์ไว้ว่า[5]
จงระลึกถึงวันสะปาโต ถือเป็นวันบริสุทธิ์ จงทำงานทั้งสิ้นของเจ้าภายใน 6 วัน แต่วันที่ 7 เป็นวันสะปาโตของพระเจ้าของเจ้า ในวันนั้นอย่ากระทำการงานใด ๆ ไม่ว่าเจ้าเองหรือบุตรชาย บุตรหญิง ของเจ้า ทาสหญิงและชายของเจ้า สัตว์เลี้ยงหรือผู้มาจากต่างถิ่น ที่เข้ามาอาศัยอยู่ในเมืองของเจ้า
ข้อบัญญัติดังกล่าวห้ามการทำงานอย่างเด็ดขาดในวันศักดิ์สิทธิ์ โดยต้องการคุ้มครองผู้ที่เป็นทาสหรือผู้อยู่ใต้การปกครองของคนอื่น ที่ไม่อาจมีปากเสียงได้ด้วยตนเอง ที่ต้องทำงานหนุกทุกวันให้ได้มีโอกาสพักผ่อน แต่ตามประวัติศาสตร์สมัยพระเยซูคริสต์นั้น พระเยซูออกเผยแพร่ศาสนาและรักษาคนเจ็บป่วยทุกวัน ไม่เว้นแม้วันสะปาโตหรือวันพระซึ่งเป็นวันหยุด และพระเยซูอนุญาตให้สาวกทำงานในวันพระได้ เพราะเห็นว่ามนุษย์เป็นผู้ตั้งวันพระ ไม่ใช่วันพระเป็นผู้ตั้งมนุษย์ เมื่อมนุษย์เป็นเจ้าของวันพระ ก็มีสิทธิ์ใช้ได้ตามใจชอบ[6]
ทั้งนี้ ข้อความเกี่ยวกับวันศักดิ์สิทธิ์ ระบุไว้ในคัมภีร์ไบเบิล 2 ส่วน[7] ดังนี้
Exodus 20:2-17
Deuteronomy 5:6-21
Remember the sabbath day, and keep it holy.
For six days you shall labour and do all your work.
But the seventh day is a sabbath to the Lord your God; you shall not do any work-you, your son or your daughter, your male or female slave, your livestock, or the alien resident in your towns.
For in six days the Lord made heaven and earth, the sea, and all that is in them, but rested the seventh day; therefore the Lord blessed the sabbath day and consecrated it.
Observe the sabbath day and keep it holy, as the Lord your God commanded you.
For six days you shall labour and do all your work.
But the seventh day is a sabbath to the Lord your God; you shall not do any work-you, or your son or your daughter, or your male or female slave, or your ox or your donkey, or any of your livestock, or the resident alien in your towns, so that your male and female slave may rest as well as you.
Remember that you were a slave in the land of Egypt, and the Lord your God brought you out from there with a mighty hand and an outstretched arm; therefore the Lord your God commanded you to keep the sabbath day.
ศาสนาอิสลามนั้นแม้เป็นศาสนาที่นับถือพระเจ้าองค์เดียวเช่นกัน แต่ไม่มีการกล่าวถึงบทบัญญัติ 10 ประการ โดยตรงเช่นในศาสนาคริสต์และศาสนายูดาย แต่มีข้อความที่คล้ายคลึงกันเกี่ยวกับวันศักดิ์สิทธิ์เพียงกล่าวว่า ให้ผู้มีความเชื่อมาสวดมนต์ร่วมกันในวันศุกร์เท่านั้น เพื่อทำการรำลึกถึงพระเจ้า[8] (โฆราน 62:9) ซึ่งตามคำสอนของอิสลามนั้น การหยุดทำงานในวันศักดิ์สิทธิ์ (Sabbath day) ถูกเพิกถอนไป ตามการเปิดเผยของพระเจ้าต่อศาสดา โดยให้ถือว่าการหยุดงานในวันดังกล่าวเป็นข้อบัญญัติของศาสนายูดายเท่านั้น (โฆราน 16:124)[9]
ทั้งนี้ ที่มาในเรื่องของวันศักดิ์สิทธิ์นั้น ในส่วนศาสนายูดายและศาสนาคริสต์มาจากความเชื่อเรื่อง
พระเจ้าสร้างโลก โดยตามคัมภีร์ศาสนายูดาย บัญญัติว่าวันที่ 1 พระเจ้าทรงสร้างกลางวันและกลางคืน วันที่ 2 ทรงสร้างฟ้า วันที่ 3 ทรงสร้างแผ่นดิน วันที่ 4 ทรงสร้างดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์และดวงดาวต่าง ๆ วันที่ 5 ทรงสร้างสัตว์ นก และปลานานาพันธุ์ วันที่ 6 ทรงสร้างมนุษย์ทั้งชายและหญิง วันที่ 7 ทรงหยุดสร้างและตั้งให้เป็นวันศักดิ์สิทธิ์และบริสุทธิ์ ในศาสนาคริสต์ก็เชื่อเช่นเดียวกับศาสนายูดาย เพราะศาสนาคริสต์ยอมรับคัมภีร์ในศาสนายูดายมาเป็นของตนด้วย จะต่างกันตรงการนับวันเริ่มต้นของสัปดาห์ ซึ่งวันศักดิ์สิทธิ์ในศาสนายูดายถือวันเสาร์ โดยถือวันอาทิตย์เป็นวันแรกของสัปดาห์ แต่ในศาสนาคริสต์ถือวันอาทิตย์ ส่วนในศาสนาอิสลามมีกล่าวไว้ในคัมภีร์มิสกาต ของนิกายสุนนีว่า พระอัลเลาะห์ทรงสร้างแผ่นดินในวันเสาร์ ทรงสร้างภูเขาในวันอาทิตย์ ทรงสร้างต้นไม้ในวันจันทร์ ทรงสร้างสิ่งที่ไม่ดีในวันอังคาร ทรงสร้างสิ่งที่ดีในวันพุธ ทรงสร้างสัตว์ต่าง ๆ ในวันพฤหัส และทรงสร้างมนุษย์ในวันศุกร์[10] วันศุกร์จึงนิยมไปละมาดพร้อมกันในมัสยิดโดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อการรำลึกถึงพระเจ้า โดยไม่มีถ้อยคำให้หยุดการทำงานในวันดังกล่าวในคัมภีร์แต่อย่างใด ซึ่งแตกต่างจากกรณีของศาสนายูดายและศาสนาคริสต์
แต่อย่างไรก็ตาม หลายประเทศที่นับถือศาสนาอิสลามได้กำหนดให้วันศุกร์เป็นวันหยุดราชการ เช่น อิหร่าน[11] อัฟกานิสถาน[12] รัฐธรรมนูญกำหนดให้วันศุกร์เป็นวันหยุดราชการ ทั้งสองประเทศกำหนดให้ประชากรทำงานหกวันต่อสัปดาห์ (แต่สถานที่ทำงานบางแห่งอาจหยุดวันพฤหัสบดีครึ่งวันหรือเต็มวัน เช่น ส่วนราชการหรือโรงเรียน) ประเทศมุสลิมบางประเทศนิยมกำหนดให้วันพฤหัสหรือวันศุกร์เป็นวันหยุดราชการประจำสัปดาห์ เช่น ซาอุดิอาราเบีย โอมาน อัฟกานิสถาน เยเมน (วันพฤหัสและวันจันทร์ ถือเป็นวันถือศีลอดประจำสัปดาห์ของผู้ที่นับถือศาสนาอิสลาม) แต่ประเทศมุสลิมส่วนใหญ่มักกำหนดให้วันศุกร์และวันเสาร์เป็นวันหยุดราชการ เช่น แอลจีเรีย บาเรน บังกลาเทศ อียิปต์ อิรัก คูเวต ลิเบีย จอร์แดน กาตาร์ มาเลเซีย (เฉพาะรัฐกลันตลัน ตรังกานู เคดาร์) มอริเตเนีย ซูดาน ซีเรีย สหรัฐอาหรับอิมิเรตส์ เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับวันทำงานของตลาดการเงินระหว่างประเทศมากที่สุด และประเทศมุสลิมบางประเทศกำหนดให้วันเสาร์และวันอาทิตย์เป็นวันหยุดงานตามแบบอย่างของนานาประเทศ เช่น อินโดนีเซีย เลบานอน มาเลเซีย (บางรัฐ) โมร็อกโก ปากีสถาน ตูนีเซีย ตุรกี เป็นต้น[13]
ปัจจุบัน วันทำงานและวันหยุดงานมิใช่เป็นปัญหาเพื่อการปฏิบัติศาสนาเท่านั้น แต่ทางการแพทย์ค้นพบว่า การทำงานโดยไม่มีวันพักผ่อนทำให้ประสิทธิภาพการทำงานและสุขภาพของผู้ทำงานตกต่ำลง และยังมีปัญหาอื่นประกอบด้วย เช่น ปัญหาการมีงานทำสำหรับประชากรทุกคน ปัญหาทางเศรษฐกิจของบุคคลและครัวเรือน หรือปัญหาสิ่งแวดล้อม ผู้ใช้แรงงานพยายามที่จะขอลดชั่วโมงการทำงานลงเรื่อย ๆ ให้เหลือตั้งแต่ 48 ชั่วโมงถึง 37 ชั่วโมง โดยทำงานวันหนึ่งมิให้เกินแปดชั่วโมง (โดยไม่นับรวมเวลาพักระหว่างวัน) บางประเทศพยายามขอลดลงให้เหลือ 21 ชั่วโมง เพื่อลดปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการใช้พลังงานในการเดินทางไปทำงานหรือติดต่องาน โดยอาจเพิ่มจำนวนชั่วโมงทำงานในแต่ละวันเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ เชื่อว่าวันหยุดจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้มีการจับจ่ายใช้สอย หรือเพื่อให้ผู้คนได้พักผ่อนอยู่รวมกันเป็นครอบครัวได้มากขึ้น และการมีเวลาว่างจากการงาน ลดปัญหาการสั่งสมความเครียดของร่างกายและจิตใจจากภาระงาน แต่ปัญหาความกังวลที่ตามมา คือ การทำงานที่น้อยลงของประชากรอาจทำให้การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศช้าลงและประชาชนอาจหารายได้จากการทำงานไม่พอกับรายจ่าย ในประเทศสหรัฐอเมริกา แต่เดิมวันหยุดประจำสัปดาห์ของประเทศที่นับถือศาสนาคริสเตียนมักกำหนดวันอาทิตย์วันเดียว แต่ต่อมาได้กำหนดให้วันเสาร์เป็นวันหยุดเดียวอีกหนึ่งวัน โดยไม่มีการตัดเงินเดือนเกิดขึ้นในช่วงภาวะเศรษฐกิจไม่ดีเพื่อลดปัญหาการต้องเลิกจ้างพนักงานลง ในปี ค.ศ. 1938 ประธานาธิบดี Franklin Roosevelt ได้ผ่านกฎหมาย Fair Labor Standards Act กำหนดให้ทำงาน 5 วัน และ 40 ชั่วโมง ต่อสัปดาห์ สำหรับผู้ใช้แรงงานในหลายประเภท[14] และจำนวนวันทำงานในบางยุคสมัยได้กลับมาเป็นหกวันสัปดาห์บ้างก็มีสลับกันไปตามสภาพปัญหาสังคมและเศรษฐกิจของประเทศ
สำหรับประเทศไทย พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 กำหนดหลักเกณฑ์คุ้มครองการใช้แรงงานไว้ เช่น มาตรา 23[15] ให้ลูกจ้างทำงานไม่เกิน 8 ชั่วโมงต่อวัน และไม่เกิน 48 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เว้นแต่ งานอันตรายบางประเภทจะให้ทำงานน้อยกว่านั้นก็ได้ (นายจ้างไม่ปฏิบัติตามมีโทษปรับ
ไม่เกิน 5,000 บาท ตามมาตรา 145) มาตรา 25[16] ห้ามลูกจ้างทำงานในวันหยุด เว้นแต่ ลักษณะงาน สภาพของงาน งานฉุกเฉิน หรืองานกิจการโรงแรม สถานมหรสพ งานขนส่ง ฯลฯ (บทลงโทษการกระทำความผิดมาตรานี้ มีโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา 144) มาตรา 28[17] กำหนดให้นายจ้างและลูกจ้างสามารถตกลงกันเพื่อกำหนดวันหยุดประจำสัปดาห์อย่างน้อย 1 วัน และมาตรา 29[18] กำหนดให้นายจ้างกำหนดวันหยุดตามประเพณีประจำปี โดยคำนึงถึงวันหยุดทางศาสนาด้วย ซึ่งวันหยุดทางศาสนาหลายวันเกี่ยวข้องกับศาสนาพุทธ เช่น วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา เป็นต้น สำหรับวันหยุดราชการตามประเพณีในจังหวัดนราธิวาส ปัตตานี ยะลา และสตูล คณะรัฐมนตรีประกาศกำหนดให้วันตรุษอิดิ้ลฟิตริ (วันรายอปอซอ)
วันอีดิ้ลอัฎฮา (วันรายอฮัจยี) วันคริสตมาส และวันตรุษจีน เป็นวันหยุดราชการประจำปี เพิ่มเติม โดยมีจุดประสงค์เพื่อรักษาขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรมท้องถิ่นและราชการได้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาตามสมควร
ดังนั้น เรื่องวันทำงาน วันหยุดงาน และจำนวนชั่วโมงในการทำงานนั้น ดูเหมือนจะเป็นปัญหาที่ถูกปรับเปลี่ยนตกลงกันได้ในแต่ละประเทศหรือชุมชน ตามเหตุผลความจำเป็นระหว่างรัฐ นายจ้างและลูกจ้าง โดยคำนึงบริบทหลายด้านประกอบ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความสุขความพอใจของประชากร สุขภาพ ความสงบของบ้านเมืองที่ปลอดจากการทำงาน โดยการจัดให้บ้านเมืองมีบรรยากาศที่มีความสงบไร้เสียงรบกวนจากผู้คนและรถราทำให้ปลอดโปร่งอย่างสิ้นเชิง การได้อยู่รวมกันของครอบครัว หรือความสามารถในการไปประกอบภารกิจทางศาสนา โดยปราศจากภาระการทำงานหรือกิจกรรมที่มีผลกระทบต่อการปฏิบัติศาสนา เช่น หากต้องทำการค้าอาจทำให้มีโอกาสที่ต้องพูดเท็จหรือพะวงวุ่นวายในการค้าขาย การจำหน่ายสุราหรือการดื่มสุราเป็นสิ่งต้องห้ามทางศาสนา การเมาสุราอาจก่อความวุ่นวายและอาชญกรรมได้ในวันศักดิ์สิทธิ์[19] หรือกรณีการห้ามค้าขายที่ต้องเกี่ยวข้องกับการฆ่าสัตว์ที่เป็นส่วนหนึ่งของการประกอบอาชีพในวันดังกล่าวเนื่องจากเป็นข้อห้ามทางศาสนา เป็นต้น การสันทนาการ ความจำเป็นต้องทำกิจกรรมการค้าหรืออื่นใด
ที่ติดต่อสัมพันธ์กับบุคคลและสังคมอื่น ซึ่งในแต่ละชุมชนอาจมีวันหยุดที่ไม่ตรงกันได้ เพราะสังคมมีความหลากหลายมีเหตุผลความจำเป็นที่แตกต่างกันออกไป
สำหรับปัญหาการกำหนดวันหยุดประจำสัปดาห์ที่เหมาะสม คือ หากกรณีเปลี่ยนแปลงวันหยุดประจำสัปดาห์แล้วไม่หยุดต่อเนื่องกัน หรือวันหยุดประจำสัปดาห์ลดลง ผู้คนอาจไม่ชอบใจเพราะทำให้เวลาพักผ่อนน้อยลงหรือมีปัญหาการเดินทางท่องเที่ยวไปไกลไม่ได้ หรือการที่วันหยุดไม่ตรงกันกับภาคส่วนอื่น ทำให้เกิดปัญหาการติดต่อประสานงาน อันเป็นอุปสรรคสำคัญในการทำงาน แต่ในสถานที่ที่มีเทคโนโลยีช่วยอาจบรรเทาปัญหาการติดต่อประสานงานไปได้บ้าง สำหรับผู้ค้าขายอิสระบางรายอาจมีความจำเป็นต้องหารายได้ทุกวันเพื่อเลี้ยงชีพตนเองและครอบครัว ทำให้โดยสภาพไม่ต้องการหยุดค้าขาย หรือกรณีการกำหนดวันหยุดที่ไม่ตรงกันในแต่ละครั้ง ก็อาจเป็นปัญหาในการทราบวันหยุดที่แน่ชัด เป็นอุปสรรคต่อการวางแผนทำกิจกรรม และในส่วนผู้ค้าขายอาจประสบปัญหาการแข่งขันแย่งลูกค้ากันมากขึ้นระหว่างคนที่ปิดกิจการกับคนที่ไม่ปิดกิจการเลย การให้คนหยุดทำการงานพร้อมกันหมดได้ย่อมมีประโยชน์ต่อบุคคลและสังคมเช่นกันเพื่อป้องกันมิให้ทำงานมากเกินไปจนเป็นปัญหาต่อสุขภาพได้ และเมื่อหยุดพร้อมกันทำให้มีโอกาสทำกิจกรรมร่วมกันระหว่างเพื่อนและครอบครัว แต่หากหยุดงานพร้อมกันหมดกิจกรรมที่ทำได้ก็จะมีไม่มากเพราะ
ทุกอย่างก็ปิดกิจการพร้อมกันหมดด้วยแล้ว แต่สภาพปัญหาที่น่ากังวล คือ การแข่งขันกันทางศาสนาเพื่อต้องการกำหนดวันสำคัญทางศาสนาของตนมาเป็นวันหยุดอาจเกิดปัญหาความวุ่นวายตามมา และปัญหาจากความกลัวซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญอย่างยิ่งสำหรับมนุษย์ในการแสวงหาเสรีภาพไม่ให้ถูกกดขี่จากบุคคลใด ๆ การถูกบังคับให้ต้องหยุดงานหรือไม่หยุดงาน หรือทำสิ่งที่ไม่เต็มใจโดยไม่อาจโต้แย้งได้นั้น เป็นปัญหาที่สำคัญอย่างยิ่งเพราะการถูกบังคับให้ทำสิ่งใดด้วยความกลัวในเรื่องหนึ่งแล้ว ก็คงต้องมีการบังคับในเรื่องอื่น ๆ ตามมาได้อีก
สำหรับการกำหนดให้วันศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนาคริสต์และศาสนายูดายหรือที่เรียกว่า Sabbath Day เป็นวันหยุดทำการงานทั้งปวงนั้น ในอดีตบางรัฐคริสเตียนได้เคยกำหนดให้ วันอาทิตย์ เป็นวันหยุด ที่เรียกชื่อว่า Sunday Closing Law หรือ Blue Law โดยห้ามการทำงานทั้งปวงในวันดังกล่าว เว้นแต่กรณีจำเป็นและการกุศลเท่านั้น โดยมีการกำหนดให้ทำการงานในวันดังกล่าวถึงขั้นเป็นโมฆะ เช่น การทำสัญญาทางการค้าต่าง ๆ และถึงขนาดกำหนดให้เป็นโทษทางอาญาหากบุคคลทำการงานในวันอาทิตย์ เมื่อวันเวลาผ่านไปก็ได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับวันหยุดทำงานในวันอาทิตย์แตกต่างไปจากในอดีต เช่น เริ่มมีการกำหนดอนุญาตเฉพาะกิจกรรมและการค้าบางประเภทเท่านั้น ที่สามารถกระทำได้ในบางช่วงเวลาของวันอาทิตย์หรือในบางพื้นที่เท่านั้น เช่น อนุญาตให้มีการส่งนม ขนมปังและหนังสือพิมพ์ก่อนเวลา 9.00 นาฬิกา หรือเล่นกีฬาต่าง ๆ หรือค้าขายเล็กน้อยได้ วัตถุประสงค์หลักของการหยุดงานในวันอาทิตย์ คือ ให้ประชาชนทุกคนได้หยุดการทำงานพร้อมกันเพื่อเป็นวันพักผ่อน (rest day) ที่แท้จริง โดยไม่มีข้ออ้างใด ๆ ไม่ใช่เพียงเรื่องการไปโบสถ์เพื่อนมัสการพระผู้เป็นเจ้าเท่านั้น ในอดีตประเทศอังกฤษ สมัยพระนางเจ้าอลิซาเบ็ทที่ 1 ผู้อยู่ใต้ปกครองถูกกำหนดให้ไปโบสถ์และถูกปรับถ้าไม่ปฏิบัติตาม โดยกฎหมายคงสภาพบังคับจนถึงปี ค.ศ. 1846
ในประเทศสหรัฐอเมริกา ภายหลังได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของประเทศสหรัฐอเมริกา ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ครั้งที่ 1 ได้บัญญัติห้ามการสถาปนาศาสนา (Establishment Clause) และคุ้มครองเสรีภาพในการปฏิบัติศาสนา (Free Exercise Clause)[20] ไว้ การบังคับให้บุคคลไปโบสถ์หรือจ่ายเงินภาษีเพื่ออุดหนุนโบสถ์ได้ถูกยกเลิกไปพร้อม ๆ กับการเริ่มทยอยยกเลิกศาสนาประจำมลรัฐไปในที่สุด มีการนำบทบัญญัติกฎหมายและการกระทำของมลรัฐต่าง ๆ มากมายมาสู่การพิจารณาคดีของศาลสูงสุดแห่งสหรัฐอเมริกาเพื่อพิจารณาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญแห่งสหรัฐ และเช่นเดียวกันกับที่มีการส่งประเด็นกฎหมายที่ห้ามโดยเด็ดขาดไม่ให้มีการทำการงานหรือเปิดกิจการในวันอาทิตย์ (Sunday Closing Laws) หรือการห้ามกิจกรรมบางประเภทสามารถดำเนินการได้นั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งสหรัฐอเมริกาหรือไม่ ประเทศสหรัฐอเมริกามีระบบการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญแห่งสหรัฐโดยผู้พิพากษาทุกระดับชั้นศาลทั้งระดับมลรัฐและระดับสหรัฐสามารถพิจารณาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญแห่งสหรัฐได้ และศาลสูงสุดแห่งสหรัฐอเมริกาเป็นศาลสุดท้ายที่จะพิจารณาประเด็นความชอบด้วยรัฐธรรมนูญแห่งสหรัฐ คำพิพากษาของ
ศาลสูงสุดแห่งสหรัฐมีความน่าสนใจเป็นอย่างยิ่งได้สะท้อนให้เห็นถึงพัฒนาการหลักเกณฑ์เกี่ยวกับวันหยุดทางศาสนาที่เป็นวันศักดิ์สิทธิ์ที่สำคัญ
2. คำพิพากษาศาลสูงสุดแห่งสหรัฐอเมริกาที่เกี่ยวกับวันศักดิ์สิทธิ์ (Sabbath Day)
ศาลสูงสุดแห่งสหรัฐอเมริกาได้มีโอกาสพิจารณาวินิจฉัยในคดีหลายคดีที่เกี่ยวกับ วันหยุดทำการงานในวันอาทิตย์ (Sabbath Day/Sunday Closing Laws) ว่า เป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกา ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ครั้งที่ 1 ในส่วนของหลักการสถาปนาศาสนา (Establishment Clause) และเสรีภาพในการปฏิบัติศาสนา (Free Exercise) หรือไม่ มีหลายคดีที่น่าสนใจ ดังนี้
1. ค.ศ. 1860 คดี Philadelphia, Wil. & Balt. RR v. Phila. Havre de Grace Steam Towboat Company[21]
ประเด็นที่ศาลพิจารณา คือ ผู้เกี่ยวข้องสามารถปฏิเสธความรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการทำงานในวันอาทิตย์ที่เป็นวันหยุดศักดิ์สิทธิ์ได้หรือไม่
ศาลวินิจฉัยว่า โดยที่กฎหมายมลรัฐแมริแลนด์[22] บัญญัติห้ามบุคคลทำการงานในวันพระเจ้า (The Lords day) เว้นแต่ เป็นการทำงานที่จำเป็นและการกุศล ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวไม่ขัดแย้งต่อกฎหมายของสหรัฐที่เกี่ยวกับการค้า ศาลสหรัฐจึงนำกฎหมายมลรัฐมาบังคับใช้ในคดีนี้ และเห็นว่าการเดินเรือที่เกี่ยวกับทางการค้าและขนส่งสินค้าในคดีนี้ อยู่ภายใต้กรอบความหมายของคำว่า งานที่จำเป็น ตามที่กฎหมายบัญญัติเป็นข้อยกเว้นไว้
2. ค.ศ. 1860 คดี Charles Richardson v. David Goodard[23]
ประเด็นที่ศาลพิจารณา คือ ผู้เกี่ยวข้องสามารถปฏิเสธความรับผิดชอบในสินค้าที่เสียหาย เนื่องจากไม่มีผู้ดูแลสินค้าเนื่องจากวันดังกล่าวถูกกำหนดให้เป็นวันอดหาร (fasting) และสวดมนต์ (prayer) นั้นทำได้หรือไม่
ศาลสูงสุดแห่งสหรัฐอเมริกาวินิจฉัยว่า ไม่มีกฎหมายของมลรัฐแมสซาชูเซตส์ที่ห้ามประชาชนในการทำงานหรือกระทำกิจกรรมทางโลกในวันใด ๆ ของสัปดาห์ เว้นแต่ วันของพระเจ้า (The Lords day) ซึ่งปกติคือวันอาทิตย์ โดยไม่เคยมีการกำหนดวันหยุดอื่นอีก จึงไม่สามารถยกมากล่าวอ้างปฏิเสธความรับผิดชอบได้ และศาลได้ทบทวนความเป็นมาในเรื่องการกำหนดวันหยุดทางศาสนาไว้ว่า ในช่วงศตวรรษที่ 13 โบสถ์ที่เกี่ยวข้องได้มีการกำหนดวันหยุดทางศาสนาอื่น ๆ อีก นอกเหนือจากวันพระเจ้า เช่น วันรำลึกและฉลองนักบุญต่าง ๆ ซึ่งมีความมุ่งหมายเพื่อบรรเทาความยากลำบากของทาสและแรงงานที่ยากจนที่ถูกบังคับให้ทำงานบนที่ดินของเจ้าของที่ดินต่าง ๆ โดยไม่มีวันหยุด แต่ต่อมาเมื่อวันหยุดดังกล่าวเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ เจ้าของที่ดินเริ่มมีการโต้แย้งคัดค้านวันหยุดทางศาสนาเหล่านั้น จนกระทั่งใน ปี ค.ศ. 1695 กษัตริย์ของฝรั่งเศสได้ห้ามการสถาปนาวันหยุดศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนา (Holidays) เพิ่มมากขึ้นอีก เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากราชสำนัก และได้มีการยกเลิกวันหยุดทางศาสนาหลายวันไปพร้อมกันด้วย และในกรณีวันหยุดทางศาสนาในวันอาทิตย์เอง แม้จะกำหนดห้ามบุคคลทำงานในวันดังกล่าว แต่ก็มีข้อยกเว้นสำหรับบุคคลและการค้าหลายประการ เช่น การขายสินค้าบางประเภท การไปรษณีย์ การขนส่งสาธารณะ ผู้เดินทาง ผู้รับขนสินค้าทางพื้นดินและทางน้ำ การขึ้นลงสินค้าทางเรือ เป็นต้น และในกรณีของประเทศอังกฤษและประเทศโปเตสแตนท์หลายประเทศ แม้จะมีกฎหมายกำหนดวันศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้าไว้ แต่วันอดอาหารและพิธีกรรมอื่น ๆ ที่โบสถ์กำหนดขึ้น ก็ไม่เคยได้รับการปฏิบัติเสมอเป็นวันหยุดศักดิ์สิทธิ์ที่บังคับ (compulsory holidays) ซึ่งแต่เดิมศาลก็เคยเปิดทำการในวันอาทิตย์ และการทำสัญญาต่าง ๆ ในวันดังกล่าวไม่ถือว่าเป็นโมฆะ จนกระทั่งมีการตรากฎหมาย[24] กำหนดห้ามการทำงานในวันพระเจ้าโดยพระเจ้าชาร์ลที่ 2 ทั้งนี้ ข้อห้ามดังกล่าวไม่ได้ถูกบังคับใช้กับวันหยุดทางศาสนาอื่นแต่ประการใด โดยศาลได้เทียบเคียงคดี Figgins v. Willie ที่ศาลคัดค้านการอ้างสิทธิวันหยุดศักดิ์สิทธิ์นอกเหนือจากวันพระเจ้า
ดังนั้น ในคดีนี้ที่อ้างว่า วันพฤหัสบดีเป็นวันศักดิ์สิทธิ์ที่กำหนดให้อดอาหารและสวดมนต์นั้นเป็นเพียงคำประกาศของผู้ว่าการมลรัฐเท่านั้น ถือเป็นเพียงข้อแนะนำให้ปฏิบัติ แต่ไม่มีกฎหมายกำหนดให้วันดังกล่าวเป็นวันหยุดแต่ประการใด หน้าที่ในการอดอาหารและสวดมนต์จึงเป็นไปโดยความสมัครใจ (voluntary) ไม่ใช่การบังคับ (compulsory) วันหยุดทางศาสนาเป็นสิทธิพิเศษไม่ใช่หน้าที่ และไม่เคยมีจารีตประเพณี
ในบอสตันที่จะหยุดการทำงานดังกล่าวในท่าเรือของเมือง จึงไม่สามารถยกเรื่องวันหยุดทางศาสนาดังกล่าวมาเป็นเหตุปฏิเสธไม่รับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้นเนื่องจากการไม่ทำการงานในวันดังกล่าวได้
3. ค.ศ. 1885 คดี Soon Hing v. Crowley[25]
ประเด็นหนึ่งที่ศาลพิจารณาคือ กฎหมายท้องถิ่นที่กำหนดให้วันอาทิตย์เป็นวันห้ามทำการงานนั้นเป็นการส่งเสริมศาสนาหรือไม่
สืบเนื่องจากกฎหมายท้องถิ่นของซานฟรานซิสโก[26] ได้กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการประกอบธุรกิจซักรีดเสื้อผ้าในเขตพื้นที่ดังกล่าว โดยกำหนดห้ามการทำธุรกิจซักรีดในบางพื้นที่ของเมือง เนื่องจากปัญหาสุขอนามัยสาธารณะ ความปลอดภัย และการลดทอนมูลค่าของอสังหาริมทรัพย์ที่ตั้งอยู่โดยรอบธุรกิจดังกล่าว โดยจำกัดเวลาในการประกอบการแต่ละวัน โดยห้ามการเปิดร้านหลังเวลา 10.00 นาฬิกา และก่อนเวลา 6.00 นาฬิกาในวันถัดไป เนื่องจากเพื่อป้องกันปัญหาไฟไหม้เพราะเป็นช่วงเวลาที่มีลมแรงและเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยไม่ได้ทำงานในช่วงเวลาดังกล่าว ทำให้ไม่มีบุคคลากรจะมาตรวจสอบดูแลอย่างทั่วถึงได้ในช่วงเวลาดังกล่าว และบัญญัติให้สามารถดำเนินกิจการเฉพาะบางช่วงเวลาในวันอาทิตย์ ซึ่งการฝ่าฝืนข้อห้ามดังกล่าวมีโทษปรับไม่น้อยกว่า 5 ดอลลาร์หรือไม่เกิน 50 ดอลลาร์ หรือโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือทั้งจำและปรับ ซึ่งผู้ถูกจับในข้อหาดังกล่าวโต้แย้งว่า ข้อบังคับของท้องถิ่นดังกล่าวเป็นการเลือกปฏิบัติต่อคนจีน ซึ่งเป็นที่รังเกียจของชุมชนดังกล่าว และเห็นว่า ข้อห้ามมิให้ประกอบกิจการในวันอาทิตย์นั้นเป็นการละเมิดสิทธิในการทำงานของบุคคล
ซึ่งศาลเห็นว่า ท้องถิ่นมีอำนาจตามรัฐธรรมนูญของมลรัฐแคลิฟอร์เนีย[27] ที่จะออกข้อบังคับ
ที่เกี่ยวข้องดังกล่าวได้ และไม่พบหลักเกณฑ์ที่เป็นการเลือกปฏิบัติแต่ประการใด การที่กฎหมายกำหนดให้
วันอาทิตย์เป็นวันหยุดพักการงานนั้น ไม่ได้มาจากวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการปฏิบัติศาสนา แต่มาจากสิทธิในการคุ้มครองบุคคลจากปัญหาการเสื่อมทรามทางสุขภาพและศีลธรรมที่มาจากการทำงานโดยไม่มีวันหยุดพักผ่อน ซึ่งกฎหมายดังกล่าวเป็นประโยชน์โดยเฉพาะสำหรับผู้ยากจน ลูกจ้าง ผู้ใช้แรงงานตามโรงงานและร้านค้า ซึ่งศาลไม่พบจากข้อบังคับท้องถิ่นและจากขั้นตอนการจัดทำข้อบังคับดังกล่าวว่ามีวัตถุประสงค์เพื่อกีดกันชาวจีนตามที่กล่าวอ้างไว้
4. ค.ศ. 1888 คดี Bucher v. Cheshire[28]
ประเด็นที่ศาลพิจารณา คือ การเดินทางในวันศักดิ์สิทธิ์ตามที่กฎหมายมลรัฐแมสซาชูเซตส์[29] บัญญัติห้ามไว้ หากผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการผู้เดินทางในวันดังกล่าว ไม่สามารถมาฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายได้ เพราะเป็นการเดินทางที่ฝ่าฝืนกฎหมายอาญาของมลรัฐนั้นทำได้หรือไม่
ศาลสูงสุดแห่งสหรัฐอเมริกาวินิจฉัยว่า แม้ภายหลังมีการออกกฎหมายใหม่[30] เพื่อบัญญัติให้ไม่สามารถยกข้อต่อสู้เรื่องวันศักดิ์สิทธิ์ขึ้นเพื่อปฏิเสธการจ่ายค่าเสียหายได้ก็ตาม เพราะเป็นกฎหมายที่บัญญัติขึ้นภายหลังจากการเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้ศาลไม่สามารถใช้กฎหมายย้อนหลังได้ โดยศาลเห็นว่า ศาลสหรัฐ (federal courts) ต้องถูกผูกพันตามกฎหมายมลรัฐในการปฏิเสธสิทธิในการเรียกร้องค่าเสียหายของผู้โดยสารรถไฟ เมื่อมีการเดินทางในวันอาทิตย์ที่เป็นวันศักดิ์สิทธิ์ โดยปราศจากความจำเป็นและเพื่อการกุศล
5. ค.ศ. 1891 คดี Ball v. United States[31]
ประเด็นที่ศาลพิจารณาคือ การที่ลูกขุนมีคำตัดสิน (verdict) ในเช้าวันอาทิตย์ ทำให้คำพิพากษาไม่เป็นผลหรือไม่
ศาลสูงสุดแห่งสหรัฐอเมริกาวินิจฉัยว่า คำตัดสินของลูกขุนไม่ใช่เป็นการพิพากษาคดีและกำหนดโทษของผู้พิพากษา (Judgment) เนื่องจากยังไม่มีผลใดในทางคดี นอกจากตัดสินว่ามีความผิดแต่ต้องรอการกำหนดโทษของผู้พิพากษา จึงเป็นคนละกรณีกับแนวคำพิพากษาของศาลที่ว่า ถ้าหากเป็นคำพิพากษาของศาลจะต้องเป็นโมฆะเพราะกระทำในวันอาทิตย์
อนึ่ง ในปี ค.ศ. 1793 คดี Stansbury v. Marks[32] ศาลมลรัฐเพนซิเวเนียเคยวินิจฉัยว่า การผู้ที่นับถือศาสนายิวออโธด็อกซ์ ปฏิเสธการไปเป็นพยานศาลในวันเสาร์ เนื่องจากเป็นวันศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนาของตนที่มีข้อบัญญัติ[33]ห้ามทำการงานในวันดังกล่าวนั้น มีความผิดและสั่งปรับด้วย ซึ่งในขณะนั้นศาลเปิดทำการในวันเสาร์
6. ค.ศ. 1896 คดี Hennington v. Georgia[34]
ประเด็นที่ศาลพิจารณาคือ มลรัฐจอร์เจียสามารถบัญญัติกฎหมาย[35] ห้ามการเดินรถไฟภายในมลรัฐในวันอาทิตย์ที่เรียกว่า วันศักดิ์สิทธิ์ (Sabbath day) ได้ หรือไม่
ศาลสูงสุดแห่งสหรัฐอเมริกาวินิจฉัยว่า มลรัฐจอร์เจียสามารถกำหนดข้อห้ามในการเดินรถไฟในเขตการปกครองของตนได้ ไม่ว่าจะมีเหตุผลเกี่ยวข้องกับศาสนาหรือไม่ก็ตาม เพราะวัตถุประสงค์ของกฎหมายดังกล่าวเพื่อกำหนดหน้าที่ของบุคคล (civil duty) ภายในมลรัฐเท่านั้น คือ การกำหนดวันหยุดหนึ่งวันในสัปดาห์ (one day in seven rule) เพื่อให้ผู้ใช้แรงงานได้มีโอกาสพักผ่อน มลรัฐมีอำนาจในการบัญญัติกฎหมายดังกล่าวเพื่อส่งเสริมความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัย ความสะดวกสบาย ความสุข และสุขภาพของประชาชนในมลรัฐได้ และเป็นอำนาจของมลรัฐที่จะกำหนดวันทำงานภายในมลรัฐ ทั้งนี้ ไม่ใช่หน้าที่ของฝ่ายตุลาการที่จะกล่าวว่าวันที่กำหนดให้เป็นวันหยุดนั้นถูกต้องเหมาะสมหรือไม่ และเมื่อพิจารณาเจตนารมณ์ในการบัญญัติกฎหมายแล้วไม่พบว่ามีวัตถุประสงค์ทางการค้าแต่ประการใด จึงไม่ถือเป็นการละเมิดบทบัญญัติเรื่องการค้า (interstate commerce clause) ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งสหรัฐอเมริกาแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม ผู้พิพากษาสองท่านมีความเห็นแย้งว่า ควรเป็นอำนาจของรัฐสภาสหรัฐในการกำหนดกฎเกณฑ์ดังกล่าว เมื่อมีปัญหาความขัดแย้งระหว่างอำนาจมลรัฐและอำนาจของรัฐบาลสหรัฐ เช่นในกรณีเสรีภาพทางการค้าระหว่างมลรัฐในคดีนี้
7. ค.ศ. 1897 คดี Stone v. United States
ศาลได้วินิจฉัยในประเด็นเดียวกับคดี Ball v. U.S. (1891)
โดยวินิจฉัยว่า ในกรณีที่หลายคดีศาลเคยวางหลักไว้ว่า คำพิพากษาของศาล (Judgment) ที่กระทำในวันอาทิตย์นั้นเป็นโมฆะ แต่การได้รับหรือการกระทำความเห็นของลูกขุนเกี่ยวกับการวินิจฉัยความผิดแห่งคดี (verdict) ไม่ใช่คำพิพากษาของศาล การที่ลูกขุนมีคำตัดสินในวันศุกร์เพื่อส่งให้ผู้พิพากษาวินิจฉัยคดีต่อไปจึงไม่ทำให้คำพิพากษาในคดีนี้เป็นโมฆะ
8. ค.ศ. 1961 คดี McGowan v. Maryland[36]
ประเด็นที่ศาลพิจารณา คือ กฎหมายการหยุดงานในวันอาทิตย์ละเมิดหลักการสถาปนาศาสนา (Establishment Clause) และเสรีภาพในการปฏิบัติตามความเชื่อทางศาสนา (Free Exercise Clause) หรือไม่
ศาลสูงสุดแห่งสหรัฐอเมริกาวินิจฉัยว่า กฎหมายห้ามหรือจำกัดการค้าขายในวันอาทิตย์นั้นไม่ละเมิดรัฐธรรมนูญ เพราะกฎหมายมีวัตถุประสงค์ทางฆราวาสและเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของรัฐ
ข้อเท็จจริงในคดีนี้ คือ ลูกจ้างของห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ ที่ตั้งอยู่บนถนนไฮเวย์ในเขตการปกครองท้องถิ่น Anne Arundel County มลรัฐแมริแลนด์ มีความผิดละเมิดกฎหมายจำหน่ายสินค้าต้องห้าม ได้แก่ วัสดุเข้าเล่ม วัสดุเคลือบผิวพื้น เครื่องเย็บกระดาษ ลวดเย็บกระดาษและของเล่นในวันอาทิตย์และได้รับโทษปรับเป็นจำนวน 5 ดอลลาร์ และโต้แย้งว่า กฎหมายที่ให้ปิดกิจการในวันอาทิตย์และอนุญาตให้เฉพาะสินค้าบางประเภทจำหน่ายได้และให้กิจกรรมบางอย่างทำได้เฉพาะในบางพื้นที่นั้น เป็นการขัดต่อหลักความเสมอภาคและกระบวนการที่ชอบด้วยกฎหมาย (Equal Protection and Due Process Clause) เป็นกฎหมายที่กระทบต่อรัฐธรรมนูญ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ครั้งที่ 14 และหลักการสถาปนาศาสนา ตามรัฐธรรมนูญ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ครั้งที่ 1
ศาลเห็นว่า รัฐธรรมนูญให้มลรัฐมีอำนาจใช้ดุลพินิจอย่างกว้างขวางในการตรากฎหมายที่มีผลกระทบต่อบุคคลบางกลุ่มแตกต่างกัน ซึ่งการจัดกลุ่มของสินค้าที่สามารถจำหน่ายได้ในวันอาทิตย์ตามกฎหมายดังกล่าว ไม่อาจกล่าวได้ว่าปราศจากเหตุผลและความสำคัญที่เป็นส่วนสำคัญในการบรรลุวัตถุประสงค์ของฝ่ายนิติบัญญัติ หรือเป็นการใช้อำนาจดุลพินิจที่กว้างขวาง โดยเฉพาะในกรณีที่อนุญาตเฉพาะร้านค้าปลีกในเขตการปกครองท้องถิ่น Anne Arundel County จำหน่ายสินค้าที่จำเป็นต่อการอาบแดด สวนสนุก นั้น ไม่ถือเป็นการเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมต่อร้านค้าปลีกในเขตการปกครองท้องถิ่นอื่นในมลรัฐแมริแลนด์ โดยฝ่ายนิติบัญญัติได้มีเจตนารมณ์ในการคุ้มครองสุขภาพของประชาชน และเพิ่มบรรยากาศของการสันทนาการในวันอาทิตย์ที่บุคคลต้องการเครื่องดื่มต่าง ๆ และครอบครัวที่เดินทางไปนอกเมืองย่อมต้องการน้ำมันรถเช่นกัน สำหรับกรณีที่กฎหมายกำหนดห้ามกิจกรรมแตกต่างกันในบางพื้นที่นั้น การใช้ดุลพินิจของฝ่าย
นิติบัญญัติดังกล่าวไม่พบว่าเป็นการใช้ดุลพินิจที่ไม่เป็นธรรม
ส่วนประเด็นละเมิดหลักการสถาปนาศาสนา และหลักเสรีภาพในการปฏิบัติศาสนาตามรัฐธรรมนูญ หรือไม่ ศาลเห็นว่า เนื่องจากผู้ร้องอ้างเฉพาะความเสียหายทางเศรษฐกิจ โดยไม่ได้อ้างถึงการละเมิดเสรีภาพทางศาสนา จึงไม่มีประเด็นว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวละเมิดหลักเสรีภาพในการปฏิบัติศาสนาหรือไม่ประการใด
ศาลอธิบายว่า จุดกำเนิดของกฎหมายการหยุดงานวันอาทิตย์เกิดจากความพยายามในการส่งเสริม
ให้ประชาชนเข้าร่วมกิจกรรมทางศาสนาในวันอาทิตย์และเป็นการคุ้มครองวันสักการะของคริสตศาสนิกชน แต่ผลประโยชน์ที่ได้รับจากการกำหนดให้วันอาทิตย์เป็นวันพักผ่อนกลับเป็นเพื่อวัตถุประสงค์ฆราวาส (secular purpose) มากกว่าผลประโยชน์ทางศาสนา และกลายเป็นหนึ่งในกฎหมายสวัสดิการสังคมที่มีวัตถุประสงค์ชัดเจนในการกำหนดวันหยุดของประชาชนอย่างพร้อมเพรียงกัน เพื่อการสร้างบรรยากาศของการสันทนาการ ความสดใส การปล่อยวาง ความสนุกสนานและการพัฒนาสุขภาพของประชาชน ซึ่งผลประโยชน์ของรัฐเหล่านี้ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ถ้ารัฐอนุญาตให้ประชาชนเลือกวันหยุดหนึ่งวันในแต่ละอาทิตย์เพื่อพักผ่อนจากงาน
ศาลได้ทบทวนความเป็นมาของกฎหมายปิดกิจการวันอาทิตย์ว่า เริ่มมาจากกฎหมายของประเทศอังกฤษ ในปี ค.ศ. 1237 พระเจ้าเฮนรี่ที่ 3 ห้ามมีตลาดค้าขายในวันอาทิตย์ ค.ศ. 1354 เอ็ดเวิร์ดที่ 3 ห้ามจำหน่ายไหมทอผ้าจากขนสัตว์ในวันอาทิตย์ ค.ศ. 1409 เฮนรี่ที่ 4 ห้ามเล่นเกมส์ที่ไม่ถูกกฎหมายในวันอาทิตย์ ค.ศ. 1444 เฮนรี่ที่ 6 ห้ามมีตลาดในลานของโบสถ์ในวันอาทิตย์ และสี่ปีต่อมา กำหนดห้ามการค้าและการทำตลาดทุกชนิดหรือจัดแสดงสินค้า พระเจ้าเอ็ดเวิรด์ที่ 6 ห้ามการทำงานเกี่ยวกับการใช้แรงงานทุกประเภท ใน ค.ศ. 1625 สมัยพระเจ้าชาร์ลที่ 1 มีการห้ามการเล่นกีฬาและงานรื่นเริง ฯลฯ ในยุคอาณานิคมอเมริกันนั้นเริ่มแต่ปี ค.ศ. 1650 ในอาณานิคมพลีมัธห้ามการทำงานใช้แรงงาน หรือการเดินทางที่ไม่จำเป็น กีฬา การขายเครื่องดื่มที่มีแอลกฮอล์ในวันพระเจ้าและกำหนดให้บุคคลต้องไปโบสถ์ ซึ่งในอาณานิคมแมสซาชูเซตส์ คอนเนตทิคัต นิวเฮเวน มีบทกฎหมายใกล้เคียงกัน กฎหมายในลักษณะดังกล่าวได้ใช้ต่อเนื่องมาจนภายหลังการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งสหรัฐอเมริกา ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม
ครั้งที่ 1
ต่อมาภายหลังศตวรรษที่ 18 เริ่มมีความเห็นว่า การกำหนดให้หยุดงานหนึ่งวันในวันอาทิตย์นั้นไม่ได้เกิดประโยชน์เฉพาะเรื่องศาสนาเท่านั้น ยังเป็นเรื่องของการพักผ่อนและการฟื้นฟูร่างกายด้วย เป็นเรื่องของความเป็นมนุษย์ เพื่อช่วยคนชั้นล่าง เพื่อมิให้ถูกความทารุณโหดร้ายหรือความเห็นแก่ตัวอย่างรุนแรงของจิตวิญญาณแห่งความเห็นแก่ตัวของมนุษย์ที่ใช้แรงงานโดยไม่มีวันหยุด โดยให้ยังคงสามารถประกอบอาชีพของตนได้ โดยมีสุขภาพที่ดีและมีความสุข และในปี ค.ศ. 1679 กฎหมายอาณานิคมโรดไอแลนด์ให้เหตุผลในการบัญญัติกฎหมายดังกล่าวว่า เห็นว่าบุคคลที่มีจิตใจชั่วร้าย มักจะถือโอกาสที่จะใช้งานลูกจ้างของตน เกินกว่าความจำเป็นเสมอ และในเวลาต่อมาเริ่มมีการตัดคำว่า Lords day ออกไปและใช้คำว่า Sunday แทน ใน ค.ศ. 1785 เจมส์ แมดิสัน ได้เสนอกฎหมายลงโทษผู้ที่ไม่หยุดงานในวันศักดิ์สิทธิ์โดยมีโทษปรับ[37] ภายหลังมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ครั้งที่ 1 (1791) แล้ว บทบัญญัติกฎหมายที่บังคับบุคคลให้ไปโบสถ์ก็ถูกยกเลิกไป
สำหรับความเห็นแย้งในคดีนี้ ผู้พิพากษา Douglas แสดงความเห็นว่า ปัญหาคดีนี้ คือ รัฐบังคับกฎหมายนี้ โดยกำหนดโทษทางอาญาต่อคนส่วนน้อยที่ไม่ใช่คริสเตียน ที่มีพิธีการสักการบูชาทางศาสนา
ในวันที่แตกต่างกันหรือมีความเชื่อทางศาสนาที่แตกต่างกันออกไปจากความเชื่อทางศาสนาของเสียงส่วนใหญ่ รัฐไม่สามารถใช้กฎหมายบังคับให้พลเมืองละเว้นจากการกระทำที่ไม่ผิดในการค้าขายในวันอาทิตย์
เพียงเพราะการกระทำนั้นละเมิดความรู้สึกของคนส่วนใหญ่ที่นับถือศาสนาคริสต์ กฎหมายที่เกิดมาจากประเพณีทางศาสนาไม่สามารถจะอ้างว่าเป็นกฎหมายฆราวาสได้
9. ค.ศ. 1961 คดี Two Guys v. McGinley[38]
คดีนี้มีประเด็นที่ศาลพิจารณาคล้ายคลึงกับคดี McGowan v. Maryland
ประเด็นที่ศาลพิจารณาในคดีนี้ คือ มลรัฐเพนซิลเวเนียตรากฎหมายให้มีวันหยุดในวันอาทิตย์ที่มีผลต่อการเปิดกิจการค้าในคดีนี้ กล่าวคือ ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ ที่ตั้งอยู่บนถนนไฮเวย์ในเขตนอกเมืองในเขตการปกครองท้องถิ่น Lehigh County ฟ้องขอให้ศาลมีคำสั่งยุติการบังคับใช้กฎหมายให้ปิดกิจการในวันอาทิตย์ (Sunday Closing Laws) โดยเห็นว่า เป็นกฎหมายที่ขัดรัฐธรรมนูญ ซึ่งกฎหมายได้มีผลบังคับใช้เมื่อปี ค.ศ. 1939 กำหนดห้ามการจ้างงานหรือกิจการที่เกี่ยวกับทางโลกทั้งหมดในวันอาทิตย์ โดยมีข้อยกเว้นให้เล็กน้อย คือ กรณีที่เป็นงานที่จำเป็นและเป็นการกุศล เช่น การส่งนมและสิ่งจำเป็นต่าง ๆ ก่อนเวลา 9.00 นาฬิกาและหลังจากเวลา 17.00 นาฬิกา ผู้กระทำความผิดได้รับโทษปรับเป็นจำนวนเงิน 4-6 วัน สำหรับโทษจำคุก ซึ่งต่อมามีการแก้ไขเพิ่มเติมโดยเพิ่มข้อยกเว้นเกี่ยวกับกิจกรรมสันทนาการ เช่น กอล์ฟ เทนนิส เล่นเรือ ว่ายน้ำ โบวริง บาสเกตบอล ปิกนิก ฯลฯ และในปี ค.ศ. 1959 กฎหมายบัญญัติห้ามการค้าปลีกในวันอาทิตย์ในสินค้า 20 รายการ โดยมีโทษทางอาญาเป็นโทษปรับไม่เกิน 100 ดอลลาร์ ในการกระทำผิดครั้งแรก และไม่เกิน 200 ดอลลาร์ สำหรับการกระทำความผิดครั้งต่อ ๆ ไปหรือโทษจำคุกเป็นเวลา 30 วัน และมีกฎหมายเพนซิลวาเนียอีกหลายฉบับที่กำหนดห้ามกิจกรรมบางประเภท และจำกัดจำนวนชั่วโมง สถานที่และเงื่อนไขในวันอาทิตย์
ศาลสูงสุดแห่งสหรัฐอเมริกาเห็นว่า กฎหมายดังกล่าวไม่ใช่กฎหมายที่สถาปนาศาสนา ตามรัฐธรรมนูญ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ครั้งที่ 1 แม้จะปรากฏว่า เจตนารมณ์ในการตรากฎหมายนี้ตั้งแต่ ปี ค.ศ. 1682 กล่าวไว้ชัดเจนว่า เพื่อป้องการการไม่ปฏิบัติ การไม่ถือศาสนา และการไม่เชื่อในพระเจ้า เป็นการดีกว่าที่จะอนุญาตให้มีการคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ที่บ้านหรือได้ไปประกอบพิธีทางศาสนามากครั้ง จนกระทั่งการแก้ไขในปี ค.ศ. 1939 ก็ยังระบุว่า วันอาทิตย์ คือ วันพระเจ้า แต่เริ่มมีการกล่าวถึงเพื่อป้องกันความผิดเกี่ยวกับนโยบายสาธารณะ เศรษฐกิจและสุขภาพด้วย
10. ค.ศ. 1961 คดี Braunfeld v. Brown[39]
ประเด็นที่ศาลพิจารณา คือ กฎหมายกำหนดให้ปิดกิจการวันอาทิตย์ ละเมิดหลักเสรีภาพในการปฏิบัติศาสนา ซึ่งสร้างความเสียหายทางธุรกิจให้กับกิจการที่ไม่ต้องการปิดกิจการในวันอาทิตย์หรือไม่
ศาลพิพากษามติ 6 ต่อ 3 ว่า กฎหมายเพนซิลเวเนียในการห้ามเปิดร้านขายของในวันอาทิตย์ ยังคงมีผลบังคับใช้ได้ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐบัญญัติกฎหมายภายในอำนาจของรัฐ โดยมีวัตถุประสงค์และผลกระทบเพื่อการจรรโลงเป้าหมายของรัฐที่ไม่เกี่ยวกับศาสนา ถึงแม้กฎหมายจะสร้างผลกระทบทางอ้อมต่อการปฏิบัติศาสนาก็ตาม เนื่องจาก (1) กฎหมายการปิดกิจการวันอาทิตย์เป็นการกำหนดกฎเกณฑ์กิจกรรมทางฆราวาส (2) กฎหมายไม่ได้ห้ามการปฏิบัติตามความเชื่อทางศาสนาและไม่ได้บังคับให้บุคคลต้องปฏิบัติตามความเชื่อทางศาสนาหรือให้กล่าวหรือเชื่อในสิ่งที่ขัดแย้งกับความเชื่อทางศาสนาของตน (3) กฎหมายไม่ได้ส่งผลกระทบที่เสียหายต่อผู้ปฏิบัติ Orthodox Jewish faith ทุกคน นอกจากบุคคลที่ต้องการจะทำงานในวันอาทิตย์ และ (4) โจทก์ยังมีทางเลือกต่าง ๆ ในการดำเนินธุรกิจ
ซึ่งคดีนี้เป็นกรณีที่ กลุ่มนักธุรกิจเชื้อสายยิว ออธอดอกซ์ ได้คัดค้านกฎหมายปิดกิจการวันอาทิตย์ที่สร้างผลเสียทางเศรษฐกิจต่อกลุ่มตนอย่างรุนแรง โดยขอให้ศาลมีคำสั่งห้ามการบังคับใช้กฎหมายอาญาของ
มลรัฐเพนซิลเวเนียที่บัญญัติขึ้นในปี ค.ศ. 1959 ที่ห้ามการขายของอุปโภคบริโภคที่ระบุในวันอาทิตย์ โดยเห็นว่า กฎหมายฉบับนี้ขัดต่อหลักการสถาปนาศาสนา (establishment of religion) และเสรีภาพในการปฏิบัติศาสนาของตน และหลักความเสมอภาค (equal protection) ซึ่งโจทก์ในคดีนี้ประกอบกิจการค้าปลีกจำพวกเสื้อผ้าและของตกแต่งบ้าน ซึ่งอยู่ในรายการที่กฎหมายระบุห้ามการค้าขายในวันอาทิตย์ และโจทก์เป็นผู้นับถือศาสนา Orthodox Jewish ที่มีข้อปฏิบัติทางศาสนาที่ต้องหยุดทำงานในวันศักดิ์สิทธิ์ ที่เรียกว่า Sabbath คือ การปิดกิจการและเว้นการทำงานอย่างสิ้นเชิง (total abstention) นับตั้งแต่กลางคืนวันศุกร์จนถึงคืนวันเสาร์ ซึ่งการต้องปิดกิจการในวันอาทิตย์อีกหนึ่งวันเป็นผลให้เกิดความเสียหายต่อการทำมาหากินทำให้โจทก์สูญเสียทางธุรกิจอย่างมาก กฎหมายได้บังคับให้โจทก์ต้องเลือกระหว่างการสูญเสียทางเศรษฐกิจถ้าโจทก์ต้องหยุดทำการงานในวันศักดิ์สิทธิ์กับการยกเลิกการปฏิบัติในวันศักดิ์สิทธิ์เพื่อความอยู่รอดของธุรกิจ
ศาลเชื่อว่า ผู้บัญญัติกฎหมายไม่สามารถคาดถึงว่าจะเกิดผลกระทบทางอ้อมในความเสียหายทางธุรกิจที่อาจจะเกิดต่อบางกลุ่มศาสนา เพราะประเทศชาติมีหลากหลายกลุ่มศาสนาและแนวปฏิบัติทางศาสนาที่แตกต่างกันซึ่งเป็นมรดกของชาติที่สำคัญ จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะบัญญัติกฎหมายที่ไม่ทำให้เกิดภาระในการปฏิบัติศาสนาของบางกลุ่มศาสนา ถ้าวัตถุประสงค์และผลกระทบของกฎหมายเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติศาสนาหรือเป็นการเหยียดหรือกีดกันศาสนา กฎหมายฉบับนั้นละเมิดหลักเสรีภาพทางศาสนา (free exercise clause) ภายใต้รัฐธรรมนูญถึงแม้อุปสรรคจะเพียงส่งผลทางอ้อม แต่หากรัฐบัญญัติกฎหมายภายในอำนาจของรัฐ วัตถุประสงค์และผลกระทบเพื่อการจรรโลงเป้าหมายของรัฐที่ไม่เกี่ยวกับศาสนา กฎหมายฉบับนั้นไม่เป็นการละเมิดรัฐธรรมนูญ แม้กฎหมายจะสร้างผลกระทบทางอ้อมต่อการปฏิบัติศาสนา เช่น ในคดี McGowan ที่รัฐมีอำนาจในการกำหนดวันพักผ่อนสำหรับผู้ใช้แรงงานทุกคนในช่วงเวลาเดียวกันเพื่อสมาชิกครอบครัวและชุมชนจะได้มีโอกาสใช้เวลาร่วมกันและเพื่อพัฒนาตนเอง
ผู้พิพากษา Harlan และผู้พิพากษา Brennan เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของศาลในส่วนที่ว่า กฎหมายมลรัฐเพนซิลเวเนียไม่ขัดต่อหลักการสถาปนาศาสนาและหลักความเสมอภาค แต่ขัดต่อหลักเสรีภาพในการปฏิบัติศาสนา โดยเห็นว่า คุณค่าของรัฐธรรมนูญ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ครั้งที่ 1 มุ่งประสงค์ที่จะคุ้มครองเสรีภาพของบุคคลมากกว่าความสำเร็จหรือจุดมุ่งหมายของส่วนรวม ซึ่งโจทก์เป็นเจ้าของร้านค้าปลีกเล็ก ๆ และยอมหยุดงานในวันศุกร์กลางคืนและวันเสาร์ที่เชื่อว่าเป็นวันที่ดีที่สุดในการทำการค้า เพื่อปฏิบัติตามความเชื่อทางศาสนาของตน และมาเปิดชดเชยในวันอาทิตย์ ซึ่งความสามรถในการเลี้ยงตัวดำรงชีพของโจทก์ถูกทำลายอย่างยิ่งในการที่ต้องหยุดงานวันอาทิตย์อีกหนึ่งวัน ซึ่งในคดีนี้ศาลไม่ได้พิจารณาให้เห็นระหว่างกฎหมายนี้กับวัตถุประสงค์ที่ชอบของฝ่ายนิติบัญญัติ หรือสาระและความสำคัญของประโยชน์ของรัฐและความชอบด้วยเหตุผล ซึ่งหากอนุญาตให้มีข้อยกเว้นสำหรับการทำงานในวันอาทิตย์ได้ ก็อาจจะมีเสียงดังเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในพื้นที่ และทำให้ตำรวจหรืออัยการทำงานยากขึ้นอีกสักหน่อย แต่ก็เป็นความจริงด้วยที่ว่า 21 จาก 34 มลรัฐ มีข้อยกเว้นเช่นที่กล่าวมานี้ แต่ก็ไม่ได้ถือว่ารัฐทั้งหลายนั้นมีเสียงดังเพิ่มขึ้นและตำรวจ
มีภาระที่เพิ่มมากขึ้นกว่ามลรัฐเพนซิลเวเนีย ส่วนผู้พิพากษา Douglas แสดงความเห็นแย้งว่า กฎหมายการปิดกิจการวันอาทิตย์ไม่สามารถแยกออกจากศาสนาได้ และการบังคับกฎหมายดังกล่าวขัดต่อหลักการสถาปนาศาสนาและเสรีภาพในการปฏิบัติศาสนา
11. ค.ศ. 1961 คดี Gallagher v. Crown Kosher Market[40]
เรื่องนี้มีประเด็นใกล้เคียงกับคดี Braunfeld v. Brown
ประเด็นที่ศาลพิจารณา คือ กฎหมายแมสซาชูเซตส์ที่ห้ามเปิดกิจการในวันอาทิตย์ โดยมีข้อยกเว้นในการขายเนื้อที่กระทำการแบบโคเชอร์ (Kosher)[41] ให้สามารถขายได้จนกระทั่งเวลา 10.00 นาฬิกา
นั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญ ในหลักความเสมอภาคตามรัฐธรรมนูญ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ครั้งที่ 14 และหลักการสถาปนาศาสนาหรือการห้ามการปฏิบัติศาสนาโดยเสรี ตามรัฐธรรมนูญ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ครั้งที่ 1 หรือไม่
แต่เดิมกิจการของผู้ร้องในคดีนี้สามารถเปิดดำเนินกิจการได้เต็มวันในวันอาทิตย์ และกิจการค้าใน
วันอาทิตย์นั้นสามารถทำรายได้ให้ร้านค้าถึง 1 ใน 3 ของรายได้ตลอดสัปดาห์ ผู้ร้องทั้งหลายในคดีนี้เป็นสมาชิกศาสนานิกาย Orthodox Jewish Faith ซึ่งมีข้อบัญญัติห้ามซื้อขายของในวันพระเจ้า โดยเริ่มจากพระอาทิตย์ตกดินในวันศุกร์จนกระทั่งพระอาทิตย์ตกดินในวันเสาร์ และผู้นับถือศาสนานิกายดังกล่าวต้องกินอาหารโคเชอร์เท่านั้น การที่กฎหมายกำหนดให้ผู้ร้องสามารถเปิดร้านค้า (Crown Kosher Supermarket) ในวันอาทิตย์ได้จนกระทั่ง 10.00 นาฬิกา เท่านั้น ทำให้ไม่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจที่จะเปิดร้านในวันอาทิตย์ และกฎหมายยังมีโทษปรับสำหรับผู้ฝ่าฝืนกฎหมายไม่เกิน 50 ดอลลาร์ โดยมีข้อยกเว้นสามารถทำได้ในกรณีงานที่จำเป็นและเป็นการกุศล และมีข้อยกเว้นสินค้าบางประเภท เช่น ยา บุหรี่ (ขายปลีก) ขายและทำขนมปัง (ขายปลีก) ของหวานที่แช่แข็ง แยม และผลไม้ จำหน่ายโดยผู้ค้าบางประเภท และเหยื่อตกปลาสำหรับการตกปลาที่ไม่ใช่ทางการค้า อาหารที่นำออกมารับประทานนอกร้าน ให้เช่ารถจักรยานยนต์ เช่าเรือ เช่าม้า เช่าจักรยาน ฯลฯ ที่ไม่ก่อให้เกิดเสียงดังเกินสมควร การเดินรถไฟและเรือต่าง ๆ การพิมพ์ การขาย การส่งหนังสือพิมพ์ ฯลฯ การขนส่งระหว่างมลรัฐโดยรถบรรทุกระหว่างก่อนเวลา 8.00 นาฬิกา และภายหลังจาก 20.00 นาฬิกา ฯลฯ ซึ่งศาลเห็นว่า กฎหมายดังกล่าวไม่ขัดต่อหลักความเสมอภาคตามรัฐธรรมนูญ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ครั้งที่ 14 และไม่ใช่กฎหมายเกี่ยวกับการสถาปนาศาสนาหรือห้ามการปฏิบัติศาสนาโดยเสรี ซึ่งได้ให้เหตุผลความเป็นมาของกฎหมายปิดกิจการในวันอาทิตย์ไว้ในคดี McGowan แล้ว
12. ค.ศ. 1962 คดี Arlans Department Store v. Kentucky[42]
ประเด็นนี้ศาลสูงสุดแห่งสหรัฐไม่รับพิจารณาเนื่องจากไม่มีปัญหาเกี่ยวกับสหรัฐที่สำคัญ
ทั้งนี้ ผู้พิพากษา Douglas เขียนความเห็นแย้งไว้ว่า เจ้าของร้านค้าปลีก 3 ร้าน ในมลรัฐเคนทักกีได้ถูกปรับ เนื่องจากจ้างงานบุคคลให้ทำงานในวันอาทิตย์โดยฝ่าฝืนกฎหมายของมลรัฐเคนทักกี[43] โดยได้รับโทษอาญาเสียค่าปรับคนละ 20 ดอลลาร์ ซึ่งคดีนี้มีความแตกต่างจากคดี Braunfeld v. Brown, Gallagher v. Crown Kosher Market, โดยกำหนดให้ผู้ที่ถือวันพระเจ้าวันอื่น นอกเหนือจากวันอาทิตย์ ได้รับยกเว้นจากบทบัญญัติที่กำหนดโทษอาญา ซึ่งเท่ากับเป็นการช่วยบางนิกายศาสนาที่มีวันศักดิ์สิทธิ์อื่นนอกเหนือจากวันอาทิตย์ได้รับการยกเว้น กรณีจึงไม่เห็นด้วยกับการที่รัฐบังคับบุคคลไม่ให้ทำงานในวันอาทิตย์เพราะว่าคนส่วนใหญ่เห็นว่าวันอาทิตย์เป็นวันศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งหากมีกรณีที่ความเชื่อทางศาสนาของคนส่วนใหญ่ไม่รับประทานหมู จะมีกฎหมายลงโทษผู้ขายหมูหรือไม่ หรือบางศาสนาห้ามฆ่าวัว หากผู้ใดเปิดโรงฆ่าวัวจะผิดกฎหมายหรือไม่
13. ค.ศ. 1963 คดี Sherbert v. Verner[44]
ประเด็นที่ศาลพิจารณา คือ กฎหมายกำหนดคุณสมบัติบุคคลที่ควรได้รับสิทธิประโยชน์จากการว่างงาน และการกระทำของรัฐบาลในการปฏิเสธสิทธิประโยชน์ที่บุคคลควรได้รับจากการว่างงานที่มีพื้นฐานมาจากความเชื่อทางศาสนานั้น ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ครั้งที่ 1 ในเรื่องเสรีภาพในการปฏิบัติศาสนาหรือไม่ ศาลวินิจฉัยว่ากฎหมายเซาท์แคโรไลนา ละเมิดเสรีภาพในการปฏิบัติศาสนา ในการกำหนดคุณสมบัติบุคคลที่ไม่สามารถขอรับสิทธิประโยชน์จากการว่างงาน เนื่องจากบุคคลปฏิเสธที่จะรับงานที่กรมจัดหางานเสนอให้ เพราะบุคคลอ้างข้อบัญญัติศาสนาห้ามทำงานในวันเสาร์
โจทก์ Adell Sherbert เป็นผู้นับถือศาสนา เซเว่นเดย์ แอทแวนทีส ปฏิเสธรับงานที่นายจ้างเสนอให้ เนื่องจากเธอไม่สามารถทำงานในวันเสาร์ซึ่งเป็นวันศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนา (Sabbath Day) ตามข้อบัญญัติทางศาสนาที่เธอนับถือ จึงถูกนายจ้างให้ออกจากงาน โดยโจทก์เป็นสมาชิกของนิกายศาสนานี้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1957 และโรงงานทอผ้าที่ทำงานอยู่นั้นกำหนดให้ทำงานห้าวันต่อสัปดาห์ จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1959 การทำงานถูกกำหนดให้เป็นหกวันต่อสัปดาห์แทน ซึ่งรวมถึงวันเสาร์ด้วยสำหรับการทำงานทั้งสามกะ และโจทก์พยายามไปหางานที่โรงงานทอผ้าอื่นแล้วแต่ทั้งหมดก็มีเงื่อนไขเดียวกัน กฎหมายการชดเชยการว่างงานของมลรัฐเซาท์แคลโรไลนา (South Carolina Unemployment Compensation Act) กำหนดคุณสมบัติบุคคลที่สามารถขอรับการชดเชยการว่างงานว่า บุคคลผู้ขอรับสิทธิประโยชน์จากการว่างงาน ต้องเป็นบุคคลที่สามารถทำงานและพร้อมที่จะทำงาน และเพิ่มเติมว่า บุคคลจะไม่สามารถขอรับสิทธิประโยชน์นี้ได้ ถ้าบุคคลปฏิเสธที่รับงานที่เหมาะสม ที่ได้รับการเสนอจากสำนักจัดหางานหรือนายจ้างโดยปราศจากเหตุผลที่ดี
คณะกรรมการจัดหางาน (Employment Security Commission) พบว่า การไม่สามารถทำงานได้ของโจทก์ไม่เข้าหลักเกณฑ์การขอรับสิทธิประโยชน์ เพราะการไม่สามารถทำงานวันเสาร์เป็นการขาดเหตุผล
ที่ดีในการปฏิเสธที่จะรับ งานที่เหมาะสมที่เสนอโดยกรมจัดหางานหรือนายจ้าง
ศาลสูงสุดแห่งสหรัฐอเมริกา เห็นว่า กฎเกณฑ์ที่ว่าด้วยการขาดคุณสมบัติการขอรับสิทธิประโยชน์การว่างงานของกฎหมายเซาท์แคโรไลนานี้ เป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพในการปฏิบัติศาสนาภายใต้หลักเสรีภาพในการปฏิบัติศาสนา (free exercise clause) ของรัฐธรรมนูญแห่งสหรัฐอเมริกา โดยได้อธิบายหลักเสรีภาพในการปฏิบัติศาสนา (Free Exercise Clause) ตามรัฐธรรมนูญว่า เป็นเสมือนประตูที่ปิดอย่างแน่นหนาต่อการกำหนดกฎเกณฑ์ของรัฐที่ต่อต้านความเชื่อทางศาสนา ห้ามรัฐกำหนดบทลงโทษหรือกีดกันบุคคลหรือกลุ่มบุคคล เนื่องจากมุมมองทางศาสนาที่ต่อต้านอำนาจของรัฐ ห้ามรัฐใช้อำนาจทางภาษีแทรกแซงการเผยแพร่มุมมองทางศาสนา อย่างไรก็ตาม หลักเสรีภาพในการปฏิบัติศาสนาไม่หมายถึงการให้เสรีภาพอย่างเต็มที่ในการปฏิบัติตามข้อบัญญัติศาสนาที่ละเมิดกฎหมายของรัฐ ถ้าการกระทำที่กฎหมายกำหนดห้ามนั้นคุกคามต่อความปลอดภัย ความสงบและระเบียบอันดีของสาธารณะ
มลรัฐเซาท์แคโรไลนาได้ปกป้องผู้สักการะทางศาสนาในวันอาทิตย์ จากการต้องตกอยู่ในสภาวะการต้องเลือกระหว่างการปฏิบัติตามแนวทางศาสนาและการรักษาสิทธิผลประโยชน์ที่ลูกจ้างควรได้รับ โดยการที่คณะกรรมการแรงงานของรัฐกำหนดกฎเกณฑ์ห้ามบังคับลูกจ้างให้ทำงานในวันอาทิตย์ ถ้าลูกจ้างคัดค้านจากมโนธรรมส่วนบุคคล การปฏิเสธที่จะทำงานวันอาทิตย์ ไม่เป็นเหตุให้ขาดคุณสมบัติการขอรับสิทธิประโยชน์จากการว่างงาน ในคดีที่เกี่ยวกับหลักเสรีภาพในการปฏิบัติศาสนา กำหนดให้รัฐต้องแสดงผลประโยชน์ของรัฐที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ในการบังคับใช้กฎหมาย (compelling government interest) ก่อนที่จะปฏิเสธการชดเชยสิทธิประโยชน์จากการว่างงานแก่บุคคลที่ถูกไล่ออก หรือปฏิเสธรับงานที่ถูกเสนอเพราะงานนั้นขัดแย้งกับความเชื่อศาสนา ในคดีนี้ ศาลพบว่าผลประโยชน์ของรัฐไม่เพียงพอที่จะนำมากล่าวอ้างได้ ในกรณีการอ้างการคุกคามเงินกองทุนชดเชยการว่างงานของรัฐและเป็นอุปสรรคในการวางแผนงานของนายจ้างที่การทำงานในวันเสาร์เป็นสิ่งจำเป็น
[1] จุฬาราชมนตรียันอิสลามไม่ห้ามทำงานในวันศุกร์ - ข่าวไทยรัฐออนไลน์, http://www.thairath.co.th/content/region/296020.
ข้อมูลภาษาอังกฤษเพิ่มเติม จาก http://en.wkipedia.org/wiki/Ten_Commandments 27/7/2555
O you who believe, when the Congregational Prayer (Salat Al-Jumuah) is announced on Friday, you shall hasten to the commemoration of God, and drop all business. (Quran 62:9)
According to the teachings of Islam, the Sabbath was abrogated by the revelation for Muhammed. Furthermore, the Sabbath was only decreed for the Jews (Quran 16:124) God, however, ordered Muslims to make every effort to drop all business to attend the congregational (Friday) prayer. Believers are permitted to go about their affairs during the rest of the day.
[2] หนังสือเรียนอิสลามศึกษา ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 พ.ศ. 2553 หน้า 30 และระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย, กฎหมายอิสลาม, พ.ศ. 2554 หน้า 20 หน้า 128 , ระบอบชีวิตในอิสลาม, พ.ศ. 2553 หน้า 128
[3] ราชกิจจานุเบกษา ตอนที่ 24 เล่ม 65, 4 พฤษภาคม 2491
[4] พุทธพล มงคลวรรณ, Patani Forum; สี่จังหวัดชายแดนภาคใต้เคยหยุดราชการในวันศุกร์, http://prachatai.com/journal/2012/10/42995 11/10/2555
[5] Remember (zachor) the Sabbath day and keep it holy (the version in Deuteronomy reads shamor, observe) The seventh day of the week is termed Shabbat and is holy, just as God ceased creative activity during Creation. The aspect of zachor is performed by declaring the greatness of the day (Kiddush), by having three festive meals, and by engaging in Torah study and pleasurable activities. The aspect of shamor is performed by abstaining from productive activity (39 melachot).
http://en.wkipedia.org/wiki/Ten_Commandments 27/7/2555
[6] ฟื้น ดอกบัว, ศาสนาเปรียบเทียบ, พิมพ์ครั้งที่ 3 , กรุงเทพฯ, ศิลปบรรณาคาร, พ.ศ. 2549, หน้า 56, หน้า 185
[7] http://en.wikipedia.org/wiki/Ten_Commandments 27/7/2554
[8] O you who believe, when the Congregational Prayer (Salat Al-Jumuah) is announced on Friday, you shall hasten to the commemoration of God, and drop all business.
http://en.wikipedia.org/wiki/Ten_Commandments 27/7/2554
[9] According to the teachings of Islam, the Sabbath was abrogated by the revelation for Muhammed. Furthermore, the Sabbath was only decreed for the Jews. God, however, ordered Muslims to make every effort to drop a;; business to attend the congregational (Friday) prayer. Believers are permitted to go about their affairs during the rest of the day.
http://en.wikipedia.org/wiki/Ten_Commandments 27/7/2554
[10] ฟื้น ดอกบัว, ศาสนาเปรียบเทียบ, พิมพ์ครั้งที่ 3, กรุงเทพฯ, ศิลปบรรณาคาร, พ.ศ. 2549, หน้า 72
[11] รัฐธรรมนูญ ฉบับ 1979 มาตรา 17
[12] รัฐธรรมนูญ ฉบับ 2004 มาตรา 18
[13] http://en.wikipedia.org/wiki/Workweek_and_weekend 8/10/2555
[14] http://en.wikipedia.org/wiki/Workweek_and_weekend 8/10/2555
[15] มาตรา 23 ให้นายจ้างประกาศเวลาทำงานปกติให้ลูกจ้างทราบ โดยกำหนดเวลาเริ่มต้นและเวลาสิ้นสุดของการทำงานแต่ละวันของลูกจ้างได้ไม่เกินเวลาทำงานของแต่ละประเภทงาน ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง แต่วันหนึ่งต้องไม่เกินแปดชั่วโมงและเมื่อรวมเวลาทำงานทั้งสิ้นแล้วสัปดาห์หนึ่งต้องไม่เกินสี่สิบแปดชั่วโมง เว้นแต่งานที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพและความปลอดภัยของลูกจ้างตามที่กำหนดในกฎกระทรวง จะมีเวลาทำงานปกติวันหนึ่งต้องไม่เกินเจ็ดชั่วโมง แต่เมื่อรวมเวลาทำงานทั้งสิ้นแล้วสัปดาห์หนึ่งไม่เกินสี่สิบสองชั่วโมงในกรณีที่นายจ้างไม่อาจประกาศกำหนดเวลาเริ่มต้นและเวลาสิ้นสุดของการทำงานแต่ละวันได้เนื่องจากลักษณะหรือสภาพของงาน ให้นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันกำหนดชั่วโมงทำงานแต่ละวันไม่เกินแปดชั่วโมง และเมื่อรวมเวลาทำงานทั้งสิ้นแล้วสัปดาห์หนึ่งต้องไม่เกินสี่สิบแปดชั่วโมง
[16] มาตรา 25 ห้ามมิให้นายจ้างให้ลูกจ้างทำงานในวันหยุด เว้นแต่ในกรณีที่ลักษณะหรือสภาพของงานต้องทำติดต่อกันไป ถ้าหยุดจะเสียหายแก่งาน หรือเป็นงานฉุกเฉิน นายจ้างอาจให้ลูกจ้างทำงานในวันหยุดได้เท่าที่จำเป็นนายจ้างอาจให้ลูกจ้างทำงานในวันหยุดได้สำหรับกิจการโรงแรม สถานมหรสพ งานขนส่ง ร้านขายอาหาร ร้านขายเครื่องดื่ม สโมสร สมาคม สถานพยาบาล หรือกิจการอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
เพื่อประโยชน์แก่การผลิต การจำหน่าย และการบริการ นายจ้างอาจให้ลูกจ้างทำงาน นอกจากที่กำหนดตามวรรคหนึ่งและวรรคสองในวันหยุดเท่าที่จำเป็นโดยได้รับความยินยอมจากลูกจ้างก่อนเป็นคราว ๆ ไป
[17] มาตรา 28 ให้นายจ้างจัดให้ลูกจ้างมีวันหยุดประจำสัปดาห์ สัปดาห์หนึ่งไม่น้อยกว่าหนึ่งวัน โดยวันหยุดประจำสัปดาห์ต้องมีระยะห่างกันไม่เกินหกวัน นายจ้างและลูกจ้างอาจตกลงกันล่วงหน้ากำหนดให้มีวันหยุดประจำสัปดาห์วันใดก็ได้
[18] มาตรา 29 ให้นายจ้างประกาศกำหนดวันหยุดตามประเพณีให้ลูกจ้างทราบเป็นการล่วงหน้าปีหนึ่งไม่น้อยกว่าสิบสามวันโดยรวมวันแรงงานแห่งชาติตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด ให้นายจ้างพิจารณากำหนดวันหยุดตามประเพณีจากวันหยุดราชการประจำปี วันหยุดทางศาสนาหรือขนบธรรมเนียมประเพณีแห่งท้องถิ่น
[19] ประเทศไทยมีพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกฮอล์ พ.ศ. 2551 กำหนดห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในบางสถานที่หรือบริเวณ เช่น วัดหรือสถานที่สำหรับปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนา ฯลฯ (มาตรา 27) ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวัน หรือเวลาที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยคำแนะนำของคณะกรรมการ ซึ่งประกาศดังกล่าวจะกำหนดเงื่อนไขหรือข้อยกเว้นใด ๆ เท่าที่จำเป็นไว้ด้วยก็ได้ (มาตรา 28) หรืออาจกำหนดมิให้บริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่หรือบริเวณวัดหรือสถานที่สำหรับปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนา เว้นแต่เป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมทางศาสนา ฯลฯ (มาตรา ๓๑)
[20] Congress shall make no law respecting an establishment of religion, Or prohibiting the free exercise thereof,
[21] 64 U.S. 209 (1860).
[22] No person whatever shall work or do any bodily labor, or willingly suffer any of his servants to do any manner of work or labor, on the Lords day, works of necessity and charity excepted; and a penalty is prescribed for the breach of the law.
[23] 64 U.S. 28 (1860).
[24] No person whatever is allowed to do or exercise any worldly labor or work of their callings on the Lords day.
[25] 113 U.S. 703 (1885).
[26] No person owning or employed in a public laundry or a public wash house within the prescribed limits shall wash or iron clothes between the hours of ten in the evening and six in the morning, or upon any portion of Sunday,
.
Carrying on the business outside of the hours prescribed or permitting persons with contagious diseases on the premises is punishable by a fine of not less than $ 5 or more than $50 or by imprisonment of not more than one month or by both such fine and imprisonment.
[27] Any county, city, town, or township may make and enforce within its limits all such local, police, sanitary, and other regulations as are not in conflict with general laws
[28] 125 U.S. 555 (1888).
[29] Whoever travels on the Lords day, except for necessity or charity, shall be punished by a fine not exceeding ten dollars; and insisted that the plantiff, being in the act of violating that law at the time the injury occurred, could not recover.
[30] This prohibition against traveling on the Lords day should not constitute a defense to an action against a common carrier of passengers for any tort or injury suffered by the person so travelling
[31] 140 U.S. 118 (1891).
[32] 2 Dall.213 (Pa 1793). อ้างใน McConnell, Michael W.,John H. Garvey, Thomas C. Berg, Religion and the Constitution, Aspen Law & Business, New York, U.S.A (2002), p. 4
[33] Scripture says
And thou shall honor (the Sabbath), not doing thy wonted ways, nor pursuing thy business, nor speaking thereof (Is. 58:13)
[34] 163 U.S. 299 (1896).
[35] Sec. 4578 If any freight train shall be run on any railroad in this state on the Sabbath day (Known as Sunday), the superintendent of transportation of such railroad company, or the officer having charge of the business of that department of the railroad, shall be liable for indictment for a misdemeanor in each county through which such train shall pass, and, on conviction, shall be for each offense punished as prescribed in section 4310 of this Code.
[36] 366 U.S. 420 (1961).
[37] "If any person on Sunday shall himself be found labouring at his own or any other trade or calling, or shall employ his apprentices, servants or slaves in labour, or other business, except it be in the ordinary household offices of daily necessity, or other work of necessity or charity, he shall forfeit the sum of ten shillings for every such offence, deeming every apprentice, servant, or slave so employed, and every day he shall be so employed as constituting a distinct offence."
[38] 366 U.S. 582 (1961).
[39] 366 U.S.599 (1961).
[40] 366 U.S. 617 (1961).
[41] โคเชอร์ (Kosher) หมายถึง อาหารคนยิวผู้เคร่งในศาสนายูดาย สิ่งที่เป็นเครื่องวัดว่าอาหารนั้นเป็นหรือไม่เป็นโคเชอร์ ได้แก่ แหล่งวัตถุดิบ และเครื่องครัว ซึ่งในปัจจุบันหมายถึง ภาชนะ เครื่องมือ เครื่องจักร และอุปกรณ์ที่ใช้ในการผลิตอาหารด้วย เช่น
กรณีวัตถุดิบ สัตว์ปีก ในคัมภีร์ไม่ได้ระบุไว้ว่าสัตว์ปีกชนิดใดอนุญาตให้รับประทานได้ แต่ได้ห้ามไว้ 24 ชนิด ตามหลักใหญ่ของศาสนา ที่เรียกว่า Shulchan Aruch อนุโลมให้ถือว่า สัตว์ปีกชนิดใดที่ได้รับประทานกันเป็นประเพณี มาช้านานแล้วเป็นโคเชอร์ ยิวในสหรัฐอเมริกาถือว่า ไก่ ไก่งวง เป็ด และห่าน เป็นโคเชอร์ หรือกรณีปลา ปลาที่อนุญาตให้รับประทานได้ มีหลักเกณฑ์แต่เพียงต้องเป็นปลามีครีบและเกล็ด สัตว์น้ำที่มีเปลือกหรือกระดอง เช่น หอย ปู กุ้ง ไม่ได้รับอนุญาต ยกเว้นอาหารทะเล เช่น กุ้ง ลอบสเตอร์ เหล่านี้เป็นโคเชอร์ได้ หรือเนื้อหมูไม่เป็นโคเชอร์
กรณีเครื่องครัว เครื่องครัวในที่นี้หมายรวมถึงภาชนะ เครื่องมือเครื่องใช้ในการประกอบอาหาร ตลอดจนเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิตอาหารเครื่องครัวที่เคยใช้ทำอาหารที่ได้รับการรับรองแล้วว่าเป็นโคเชอร์ หากนำมาใช้ทำอาหารที่มีส่วนประกอบไม่เป็นโคเชอร์ เครื่องมือนั้นก็หมดสถานภาพโคเชอร์ไป หากนำกลับมาใช้ทำอาหารที่เป็นโคเชอร์อีก อาหารที่ได้ก็จะไม่ใช่โคเชอร์อีกต่อไป แม้ว่าส่วนประกอบที่นำมาทำอาหารทั้งหมดจะเป็นโคเชอร์ก็ตาม แต่การทำให้เครื่องครัวที่เคยปรุงอาหารที่ไม่เป็นโคเชอร์ไปแล้ว กลับมามีสถานภาพปรุงอาหารโคเชอร์ได้อีกสามารถทำได้
ที่มา : วารสารสถาบันอาหาร สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ปีที่ 6 ฉบับที่ 35 เดือนพฤษภาคม - มิถุนายน 2547 หน้า 72 - 73
[42] 371 U.S. 218 (1962).
[43] Kentucky Rev. Stat. 436.160
(1) Any person who works on Sunday at his own or at any other occupation or employs any other person, in labor or other business, whether for profit or amusement, unless his work or the employment of others is in the course of ordinary household duties, work of necessity, or charity or work required in the maintenance or operation of a public service or public utility plant or system, shall be fined not less than two dollars nor more than fifty dollars. The employment of every person employed in violation of this subsection shall be deemed a separate offense.
(2) Persons who are members of a religious society which observes as a Sabbath any other day in the week than Sunday shall not be liable to the penalty prescribed in subsection (1) of this section if they observe as a Sabbath one day in each seven.
(3) Subsection (1) of this section shall not apply to amateur sports, athletic games, operation of moving picture show, chautauquas, filing stations, or opera.
[44] 374 U.S. 398 (1963).
อ่านต่อหน้าสอง
|
|
|
พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=1785
เวลา 22 พฤศจิกายน 2567 18:16 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)
|
|