|
 |
ท่านปรีดีกับศาลปกครอง ตอนแรก 20 ธันวาคม 2547 16:23 น.
|
บทที่ 2
การกลับสู่แนวคิดว่าควรจะมีศาลปกครอง (พ.ศ. 2517 2532)
 
หลังจากเกิดเหตุการณ์วันที่ 14 ตุลาคม 2516 อันเป็นผลให้มีสภานิติบัญญัติแห่งชาติเพื่อทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย การร่างรัฐธรรมนูญในครั้งนั้นได้รับความร่วมมือจากผู้ทรงคุณวุฒิของประเทศจำนวนมาก บรรยากาศในการประชุมเป็นไปโดยอิสระ มีการแสดง
ความคิดเห็นกันอย่างเต็มที่จนทำให้รัฐธรรมนูญฯ ฉบับ พ.ศ. 2517 ได้ชื่อว่ามีความสมบูรณ์และ
เป็นประชาธิปไตยมากที่สุดฉบับหนึ่งจนศาสตราจารย์ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ บรรยายการร่าง
รัฐธรรมนูญฉบับนี้ว่าเป็นไปโดยอิสระเต็มที่ปราศจากการแทรกแซงชี้นำจากผู้มีอำนาจและการพิจารณาอยู่บนเหตุผลที่มีหลักวิชาการสนับสนุนเต็มที่และได้มีความตื่นตัวในกฎหมายมหาชน โดยเฉพาะกฎหมายปกครองและนักกฎหมายมหาชนรวมทั้งนักนิติศาสตร์ในมหาวิทยาลัยด้วย44/A> ผลจากเหตุการณ์ดังกล่าว ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในความคิดทางการเมืองและทางกฎหมายมหาชนโดยเฉพาะกฎหมายปกครองที่เป็นรูปธรรมขึ้น นั่นคือการบัญญัติรับรองให้มีศาลปกครองในรัฐธรรมนูญเป็น
ครั้งแรก แม้จะไม่มีความชัดเจนว่าเป็นการจัดตั้งศาลปกครองในระบบศาลเดี่ยว หรือ ศาลคู่ ก็ตาม
1. การยอมรับโดยกฎหมาย
 
แนวคิดเกี่ยวกับการควบคุมการใช้อำนาจโดยมิชอบของฝ่ายปกครอง ซึ่งถือเป็นรากฐานของนิติรัฐนั้น เป็นเรื่องที่มีความสำคัญมากและจำต้องมีการยอมรับตลอดจนรับรองแนวคิดดังกล่าวให้ชัดเจน ซึ่งปรากฏเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันในที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติครั้งที่ 18 19 เมื่อวันที่ 28 29 มีนาคม 2517 ว่าจะใช้ระบบใดในการควบคุมดังกล่าว ซึ่งก็ได้รับการยอมรับว่าในคดีปกครอง ต้องใช้
กฎหมายมหาชน คือ กฎหมายปกครองตัดสินและต้องมีระบบวินิจฉัยชี้ขาดโดยเฉพาะ ตลอดจน
มีผู้พิพากษาผู้เชี่ยวชาญเฉพาะที่มีความเป็นอิสระ ด้วยเหตุนี้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
พุทธศักราช 2517 มาตรา 212 จึงบัญญัติรับรองว่า
 
ศาลปกครองและศาลในสาขาแรงงาน สาขาภาษีหรือสาขาสังคม จะตั้งขึ้นได้ก็แต่โดยพระราชบัญญัติ
การแต่งตั้งและการให้ผู้พิพากษาพ้นจากตำแหน่ง อำนาจหน้าที่ของศาลตลอดจนวิธีพิจารณาของศาลตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลนั้น45/A>
1.2 การรับรองแนวคิดในการจัดตั้งศาลปกครองโดยพระราชบัญญัติ
 
 
การบัญญัติรับรองให้มีศาลปกครองไว้ในรัฐธรรมนูญย่อมเป็นหลักประกันในทางกฎหมาย ซึ่งผูกพันฝ่ายบริหาร และฝ่ายนิติบัญญัติว่าได้ยอมรับแนวคิดให้มีการจัดตั้งศาลปกครองขึ้นในประเทศไทย ดังนั้น พระราชบัญญัติหลายฉบับที่ตราออกมา จึงได้บัญญัติรับรองการจัดตั้งศาลปกครองตามรัฐธรรมนูญ กล่าวคือ
 
1.2 การรับรองแนวคิดในการจัดตั้งศาลปกครองโดยพระราชบัญญัติ
 
พระราชบัญญัติผังเมือง พ.ศ. 2518
 
มาตรา 70 บัญญัติว่า ผู้มีสิทธิอุทธรณ์อาจอุทธรณ์ภายในสามสิบวันนับแต่วัน
ได้รับคำสั่งหรือหนังสือแจ้งความ ในกรณีต่อไปนี้
 
(1)...................................................................................................................
ฯลฯ
(8).............................................................................................................................
 
อุทธรณ์กรณี (4) และ (6) ให้ยื่นต่อคณะกรรมการบริหารการผังเมืองส่วนท้องถิ่น ในกรณี (1) (2) (3) (5) (7) และ (8) ให้ยื่นต่อคณะกรรมการอุทธรณ์
 
เมื่อคณะกรรมการบริหารการผังเมืองส่วนท้องถิ่น หรือคณะกรรมการอุทธรณ์ แล้วแต่กรณี ได้มีคำวินิจฉัยแล้ว หากผู้อุทธรณ์ไม่พอใจในคำวินิจฉัยอุทธรณ์ ผู้อุทธรณ์ย่อมมีสิทธิยื่นฟ้องต่อศาลปกครองได้ภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ได้ทราบคำวินิจฉัยนั้น ในกรณีที่ยังมิได้มีการตั้งศาลปกครองตามรัฐธรรมนูญ มิให้นำความในวรรคนี้มาใช้บังคับ
 
2 พระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518
 
มาตรา 42 บัญญัติว่า ให้คณะกรรมการอุทธรณ์มีอำนาจหน้าที่พิจารณาวินิจฉัย
คำอุทธรณ์ที่ยื่นต่อคณะกรรมการอุทธ์ให้กรรมการอุทธรณ์วินิจฉัยอุทธรณ์ให้เสร็จสิ้นภายในกำหนด
เก้าสิบวัน นับแต่วันที่ได้รับคำอุทธรณ์
หากผู้อุทธรณ์ไม่พอใจในคำวินิจฉัยอุทธรณ์ ให้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองได้ภายในกำหนดหนึ่งเดือน ในกรณีที่ยังมิได้มีการตั้งศาลปกครองตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ มิให้นำความดังกล่าวนี้มาใช้บังคับ
 
3. พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ. 2521
 
มาตรา 29 บัญญัติว่า ในกรณีที่มีข้อกล่าวหาว่าสมาชิกภาพของสมาชิกคนใด
สิ้นสุดลงเพราะเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งตามมาตรา 28 (4) (5) หรือ (6) ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้ง
คณะกรรมการเพื่อดำเนินการสอบสวน ถ้าคณะกรรมการรายงานว่าสมาชิกภาพของสมาชิกคนนั้นสิ้นสุดลงตามข้อกล่าวหานั้นและผู้ว่าราชการจังหวัดเห็นชอบด้วย ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมีคำสั่งให้พ้นจากตำแหน่ง
 
สมาชิกซึ่งถูกสั่งให้พ้นจากตำแหน่งตามวรรคหนึ่ง มีสิทธิยื่นฟ้องต่อศาล
ปกครองเพื่อขอให้เพิกถอนคำสั่งได้ภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับคำสั่ง คำพิพากษาของศาล
ปกครองให้เป็นที่สุด...
 
มาตรา 101 บัญญัติว่า ในกรณีที่ปลัดเมืองพัทยาเห็นว่าผู้ว่าราชการจังหวัดหรือ
รัฐมนตรีได้สั่งการตามมาตรา 100 โดยมิชอบ ปลัดเมืองพัทยาจะนำเรื่องขึ้นฟ้องเป็นคดีต่อ
ศาลปกครองเพื่อวินิจฉัยได้นับแต่วันที่ได้รับคำสั่ง
 
มาตรา 114 บัญญัติว่า การฟ้องคดีตามวรรคหนึ่ง ต้องกระทำภายในเดือนหนึ่ง
ในระหว่างที่ยังไม่มีศาลปกครองให้ผู้มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครองยื่นฟ้องคดีต่อศาลจังหวัด และถ้าเป็นการฟ้องคดีตาม มาตรา 29 ให้คำพิพากษาของศาลจังหวัดเป็นที่สุด
 
นอกจากนี้พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2518 มาตรา 107 และ
พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2518 มาตรา 31 และมาตรา 90
ก็ได้บัญญัติเรื่องศาลปกครองไว้ด้วย แต่ต่อมาได้มีการยกเลิกพระราชบัญญัติดังกล่าว และประกาศ
ใช้พระราชบัญญัติฉบับใหม่ โดยมิได้บัญญัติเรื่องศาลปกครองไว้
2. การดำเนินการหลังจากที่รัฐธรรมนูญบัญญัติรับรองเรื่องศาลปกครอง
 
นับตั้งแต่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็มิได้มีการเสนอร่างกฎหมายจัดตั้งศาลปกครองไม่ว่าจะโดยฝ่ายบริหารคือคณะรัฐมนตรีหรือฝ่ายนิติบัญญัติโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
แต่เนื่องจากรัฐธรรมนูญ ฯ พ.ศ. 2517 ใช้บังคับอยู่เพียง 2 ปี ก็เกิดการรัฐประหารเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 46/A>และมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2519 เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2519 อีก 1 ปีต่อมาก็มีการรัฐประหารขึ้นเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2520 และมีการประกาศใช้ธรรมนูญปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2520 เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 252047/A> ซึ่งบัญญัติให้มีการเลือกตั้งภายใน พ.ศ. 2521 หลังจากนั้นจึงได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2521 เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 252148 แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้กลับมิได้บัญญัติเรื่องศาลปกครองไว้เหมือนรัฐธรรมนูญฯ
พ.ศ. 2517 อย่างไรก็ดี ด้วยวิสัยทัศน์ที่ยาวไกลของศาตราจารย์ ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา และการสนับสนุนของศาสตราจารย์ ดร.สมภพ โหตระกิตย์ รองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น จึงได้มีการริเริ่มผลักดันให้มีการปรับปรุงคณะกรรมการกฤษฎีกา จนกระทั่งมีการตราพระราชบัญญัติคณะกรรมการกฤษฎีกา พ.ศ. 2522 ยกเลิกพระราชบัญญัติเรื่องราวร้องทุกข์ พ.ศ. 2492 โดยให้ยุบรวมคณะกรรมการเรื่องราวร้องทุกข์เข้าเป็นกรรมการประเภทหนึ่งของคณะกรรมการกฤษฎีกา เรียกชื่อใหม่ว่า คณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ เพื่อปูพึ้นฐานไปสู่การพัฒนาคณะกรรมการกฤษฎีกาให้เป็นศาลปกครองต่อไป ตามแนวทางและเจตนารมณ์ที่มีมาตั้งแต่ พ.ศ. 2476
2.1 แนวคิดในการตราพระราชบัญญัติคณะกรรมการกฤษฎีกา พ.ศ. 2522
 
แนวคิดที่จะพัฒนากระบวนการยุติธรรมทางปกครองในรูปของระบบเรื่องราวร้องทุกข์ภายใต้คณะกรรมการกฤษฎีกา นับเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญเพื่อนำไปสู่การมีศาลปกครองเต็มรูปแบบต่อไป และเพื่อให้เห็นแนวคิด หลักการและเหตุผลที่ต้องตราพระราชบัญญัติคณะกรรมการกฤษฎีกา พ.ศ. 2522 จึงขอนำแนวคิดและหลักการบางตอนมาลงไว้ ดังนี้ 49
 
ในปี พ.ศ. 2522 สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ดำเนินการให้มีการแก้ไข
พระราชบัญญัติคณะกรรมการกฤษฎีกาฉบับเดิม (พ.ศ. 2476) โดยมีความมุ่งหมายที่จะพัฒนา การจัดองค์กร
ในระบบคณะกรรมการกฤษฎีกาให้เป็น สถาบันต้นแบบ (prototype)ของการจัดองค์กรในระบบกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง และหวังว่า เมื่อสถาบันต้นแบบได้ดำเนินการไประยะหนึ่งแล้วและ
เมื่อสำนักงานได้ตรวจสอบและประเมินผลของกลไกการทำงาน (mechanism) ของ คณะกรรมการกฤษฎีกา
ตามโครงสร้างใหม่แล้วผลของการประเมินผลจะทำให้นักบริหารและนักนิติศาสตร์มองเห็นได้ว่า
การจัดองค์กรในระบบกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง และมี วิธีพิจารณาคดีปกครอง แล้ว จะมีประโยชน์ได้อย่างใด และสามารถนำมาใช้แก้ไขปัญหาในทางบริหารได้อย่างไร
 
ในการจัดองค์กรใหม่ของคณะกรรมการกฤษฎีกา จะเป็นการเปิดโอกาสให้
นักวิชาการและนักนิติศาสตร์ติดตามผลงานและวิเคราะห์กลไกการทำงานของ คณะกรรมการกฤษฎีกา และของ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้อย่างต่อเนื่อง
 
...กล่าวโดยย่อก็คือ การจัดองค์กรของ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ใช้หลักการ
ของการแยก ความรับผิดชอบในงานบริหาร ออกจาก ความเป็นอิสระในงานชี้ขาดของกรรมการ
โดยมี ระเบียบแบบแผนทางราชการ ที่กำหนดไว้เพื่อการประสานงานระหว่างกรรมการและสำนักงาน
ที่แน่ชัด งานที่สำคัญที่สุดงานหนึ่งของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาสำหรับระยะเริ่มต้นของการพัฒนาระบบสถาบันฝ่ายกฎหมายปกครอง (คณะกรรมการกฤษฎีกา) ในปัจจุบันก็คืองานประเมินผล
คำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกา (กรรมการร่างกฎหมายและกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์) เพื่อสร้างความสมดุลใน การใช้อำนาจชี้ขาดโดยอิสระ ของกรรมการฯ........เป็นที่น่าประหลาดใจ ทั้ง ๆ ที่กฎหมายว่าด้วยคณะกรรมการกฤษฎีกา(พ.ศ. 2476) ได้มีบทบัญญัติที่แสดงให้เห็นถึงความมุ่งหมาย
ที่จะให้คณะกรรมการกฤษฎีกาทำหน้าที่เป็น ศาลปกครอง-contentieux แต่ประเทศไทยก็มิได้มีการศึกษาถึง วิธีการ ที่จะให้เกิดศาลปกครองขึ้นในประเทศไทย และสิ่งที่เห็นได้ชัดที่สุด ก็คือ
นักกฎหมายของประเทศไทยมิได้ทราบเลยว่า ระบบร้องทุกข์ นั้น เป็นพื้นฐานขั้นต้นที่จะต้องพัฒนาขึ้นก่อนการจัดระบบศาลปกครอง ซึ่งในเรื่องนี้ ถ้าหากจะศึกษาวิวัฒนาการของสถาบันทางกฎหมายไม่ว่าในระบบของประเทศในกลุ่มคอมมอนลอว์หรือในกลุ่มซิวิลลอว์แล้ว ก็จะเห็นข้อเท็จจริงนี้ได้อย่างชัดเจนว่าคดีปกครองเกิดจากการร้องทุกข์
 
ในปี พ.ศ. 2492 เมื่อมีการตราพระราชบัญญัติว่าด้วยการร้องทุกข์ขึ้น ทางราชการได้
จัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการเรื่องราวร้องทุกข์ขึ้นที่ สำนักนายกรัฐมนตรี แทนที่จะจัดตั้งขึ้นใน หน่วยงานของสถาบันฝ่ายกฎหมายปกครอง คือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และอาศัย
ประสบการณ์ของเจ้าหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาทำการพัฒนา ระบบร้องทุกข์ ขึ้น [หมายเหตุ : -การร้องทุกข์จากประชาชนมีหลายประเภท ดังนั้น การพัฒนาระบบร้องทุกข์จึงจะต้องเริ่มต้นด้วยการวิเคราะห์แยก ประเภท การร้องทุกข์ออกเป็นประเภทต่าง ๆ และจัดแยกการร้องทุกข์ทางคดีปกครองออกจากการร้องทุกข์ทางนโยบาย ฯลฯ]
 
ในปี พ.ศ. 2523 กระทรวงยุติธรรมได้เสนอร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งศาล
ปกครองขึ้น เพื่อให้ข้าราชการตุลาการเป็น ผู้พิพากษา มีอำนาจชี้ขาดความไม่ถูกต้องของ
การสั่งการของเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหาร (รัฐมนตรี ฯลฯ) ได้อย่างกว้างขวาง ทั้ง ๆ ที่ประเทศไทยยังมิได้พัฒนาแนวความคิดในทางปรัชญากฎหมายมหาชนมาก่อนและยังมิได้ทดสอบหลักการของ case law ในการปฏิบัติราชการ แต่อย่างใด
 
ข้อเท็จจริงนี้ เป็นสิ่งที่ค่อนข้างแปลกประหลาดมากสำหรับประเทศไทยที่มี
พลเมือง 50 ล้านคนเศษ และมีการสอนวิชานิติศาสตร์มาแล้วกว่า 50 ปี
อันที่จริง เมื่อได้มีการตรากฎหมายว่าด้วยคณะกรรมการกฤษฎีกาโดยได้นำระบบร้องทุกข์มารวมเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการกฤษฎีกา (กรรมการร่างกฎหมายและกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์)แล้ว แผนการฝึกอบรมนิติกร ของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ก็อาจพิจารณากำหนดขึ้นได้
โดยไม่จำเป็นต้องอธิบายอย่างยุ่งยากเหมือนกับก่อนตรากฎหมาย ทั้งนี้ เพราะสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้กลายเป็นหน่วยงานบริหารที่เกี่ยวกับกฎหมายทางบริหาร (กฎหมายปกครอง) ที่สมบูรณ์โดยตัวเอง และแผนงานพัฒนาระบบคณะกรรมการกฤษฎีกา ก็สามารถกำหนดขึ้นได้โดยเห็นได้ชัดเจน แต่ความยากลำบากของความสำเร็จในการพัฒนาระบบคณะกรรมการกฤษฎีกา จะอยู่ที่ ระยะเวลา ของแผนงานเพราะขั้นตอนของการดำเนินการตามแผนงานฯ เพื่อสร้างประสบการณ์ให้แก่นิติกรในแต่ละขั้นตอนนั้น ย่อมต้องใช้เวลา และสำนักงานฯ ประมาณว่านิติกรเหล่านี้จะมีประสบการณ์พอและสามารถให้ความเห็น (ที่ดี) เพื่อการชี้ขาดคดีปกครองได้ คงจะต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 20 ปี....
 
ศาสตราจารย์ ดร. อักขราทร จุฬารัตน เห็นว่า ข้าราชการในสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
สามารถเป็นฐานในการพัฒนาความรู้ในหลักกฎหมายปกครองให้เกิดขึ้นได้ เพราะไม่เช่นนั้นแนวทาง
การพิจารณาคดีปกครองให้ถูกต้องจะมิอาจเกิดขึ้นได้เลย ในระหว่างที่ยังไม่มีนักกฎหมายปกครองเพียงพอให้จัดตั้งศาลปกครองได้คณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์อาจทำหน้าที่ไปพลางก่อน ศาลปกครองนั้นโดยหลักเมื่อพิจารณาคดีแล้วก็ต้องถือเป็นเด็ดขาด และฝ่ายปกครองก็ต้องยอมตามนั้น แต่สำหรับคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์จะมีผลบังคับทางกฎหมายก็ต่อเมื่อนายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้ารัฐบาลให้ความเห็นชอบ
เสียก่อน วิธีดำเนินงานจึงเป็นระบบควบคุมงานภายในของฝ่ายบริหาร (internal control) โดยหัวหน้าของฝ่ายบริหารมีโอกาสพิจารณากลั่นกรองอีกชั้น วิธีการนั้นจะเป็นประโยชน์ได้มากในขณะที่การจัดตั้งศาลปกครองในประเทศไทยยังไม่พร้อม50 โครงสร้างของระบบเช่นนี้ ได้รูปแบบมาจากสภาแห่งรัฐของฝรั่งเศสในระยะต้นซึ่งเป็นระบบร้องทุกข์ก่อนที่สภาแห่งรัฐจะได้รับอำนาจจากรัฐให้มีอำนาจสั่งการชี้ขาด
ได้เองในปี ค.ศ. 1872 (พ.ศ. 2415) 51
 
เห็นได้ว่า แนวความคิดในการปรับปรุงองค์กรและอำนาจหน้าที่ของระบบคณะกรรมการกฤษฎีกาตามพระราชบัญญัติคณะกรรมการกฤษฎีกา พ.ศ. 2522 โดยสรุป ก็คือ การสร้าง ระเบียบแบบแผนในการปฏิบัติราชการ ให้เหมาะสมกับสภาพของงานราชการในแต่ละประเภท
และในทุกระดับเจ้าหน้าที่ และพัฒนาเป็นหลักทั่วไปของกฎหมายปกครอง และเนื่องจากคดีปกครองเกิดจากการร้องทุกข์ ดังนั้นจึงต้องเริ่มต้นและพัฒนาจาก ระบบร้องทุกข์ ซึ่งเป็นพื้นฐานขั้นต่ำที่จะต้องพัฒนาขึ้นก่อนการจัดระบบศาลปกครอง และรูปแบบหรือโครงสร้างองค์กรในการสร้างระเบียบแบบแผนในการปฏิบัติราชการ ก็คือ การพัฒนาคณะกรรมการกฤษฎีกาให้มีความเชี่ยวชาญทางด้านกฎหมายปกครองและพัฒนาให้เป็นสถาบันที่มีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดคดีปกครองต่อไป
 
จากแนวความคิดและเป้าหมายดังกล่าวข้างต้น สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
จึงได้เสนอให้มีการตราพระราชบัญญัติคณะกรรมการกฤษฎีกา พ.ศ. 2522 เพื่อปรับปรุงการจัดองค์กร อำนาจหน้าที่และกลไกในการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการกฤษฎีกาตามพระราชบัญญัติว่าด้วย
คณะกรรมการกฤษฎีกา พุทธศักราช 2476 เสียใหม่ โดยกำหนดแผนงานและขั้นตอนของการพัฒนาและการจัดองค์กรของระบบคณะกรรมการกฤษฎีกาให้สอดคล้องกับแผนงานและขั้นตอนของการสร้างและการพัฒนาระบบวิธีพิจารณาคดีปกครองขึ้นในประเทศไทย52
2.2 การจัดองค์กรของคณะกรรมการกฤษฎีกา
 
พระราชบัญญัติคณะกรรมการกฤษฎีกา พ.ศ. 2522 ได้ปรับปรุงการจัดองค์กรของ
คณะกรรมการกฤษฎีกาตามพระราชบัญญัติว่าด้วยคณะกรรมการกฤษฎีกา พุทธศักราช 2476 เสียใหม่โดยนำเอา คณะกรรมการเรื่องราวร้องทุกข์ เข้ามาเป็นกรรมการประเภทหนึ่งของคณะกรรมการกฤษฎีกา
 
คณะกรรมการกฤษฎีกาตามพระราชบัญญัติคณะกรรมการกฤษฎีกา พ.ศ. 2522 ประกอบด้วย
 
1) นายกรัฐมนตรี เป็นประธานคณะกรรมการกฤษฎีกาโดยตำแหน่ง
 
2) กรรมการกฤษฎีกา ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
 
(ก) กรรมการร่างกฎหมาย
 
(ข) กรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์
 
3) สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
 
การแต่งตั้งคณะกรรมการกฤษฎีกา
 
(1) กรรมการร่างกฎหมาย
 
สำหรับกรรมการร่างกฎหมายนั้น จะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งขึ้น
ตามคำแนะนำของคณะรัฐมนตรีจากผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเชี่ยวชาญในทางนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ ฯลฯ และมีคุณสมบัติตามที่กฎหมายกำหนดไว้ โดยมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 3 ปี และจะทรง
พระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งผู้ที่พ้นจากตำแหน่งแล้วอีกก็ได้
 
(2) กรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์
 
ส่วนกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์นั้น จะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งขึ้นตามคำแนะนำของคณะรัฐมนตรีและได้รับความเห็นชอบของรัฐสภาจากผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความ
เชี่ยวชาญทางนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ ฯลฯ และมีคุณสมบัติตามที่กฎหมายกำหนดไว้ (ซึ่งสูงกว่า
คุณสมบัติที่กำหนดไว้สำหรับกรรมการร่างกฎหมาย) โดยมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 3ปี และ
จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งผู้ที่พ้นจากตำแหน่งแล้วอีกก็ได้
 
การปรับปรุงอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการกฤษฎีกา
 
(1) กรรมการร่างกฎหมาย
 
กรรมการร่างกฎหมายนั้นมีอำนาจหน้าที่ในการจัดทำร่างกฎหมายรับปรึกษาให้ความเห็นทางกฎหมายแก่หน่วยงานของรัฐหรือตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรีหรือมติของ
คณะรัฐมนตรี ตลอดจนเสนอความเห็นและข้อสังเกตต่อคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับการให้มีกฎหมาย
หรือแก้ไขปรับปรุงหรือยกเลิกกฎหมายซึ่งคล้ายคลึงกับอำนาจหน้าที่ของกรรมการร่างกฎหมายตาม
พระราชบัญญัติว่าด้วยคณะกรรมการกฤษฎีกา พุทธศักราช 2476
 
(2) กรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์
 
กรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์มีอำนาจหน้าที่ในการวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ซึ่ง
หลายส่วนจะคล้ายกับอำนาจหน้าที่ของ คณะกรรมการเรื่องราวร้องทุกข์ ตามพระราชบัญญัติเรื่องราวร้องทุกข์ พ.ศ. 2492 แต่จะแตกต่างจากอำนาจหน้าที่ของ กรรมการกฤษฎีกา ตามพระราชบัญญัติ
ว่าด้วยคณะกรรมการกฤษฎีกา พุทธศักราช 2476 ในแง่ที่ว่า กรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ไม่มีอำนาจหน้าที่พิจารณาพิพากษาคดีปกครองได้ด้วยตนเองเหมือนกับกรรมการกฤษฎีกา คงมีอำนาจหน้าที่แต่เพียงพิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ตามวิธีพิจารณาคดีในลักษณะเดียวกันกับการพิจารณาของศาลปกครอง
แล้วเสนอคำวินิจฉัยให้นายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้ารัฐบาลพิจารณาสั่งการตามแต่จะเห็นสมควร53
2.3 ประโยชน์ที่ได้รับจากการปรับปรุงการจัดองค์กร
และอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการกฤษฎีกา
 
การจัดองค์กรที่แยก สถาบัน (คณะกรรมการกฤษฎีกา) ออกจาก หน่วยธุรการ (สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา) ซึ่งอยู่ภายใต้ระบบความรับผิดชอบของเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหาร
ภายใต้การกำกับดูแลของฝ่ายบริหาร (นายกรัฐมนตรี) นั้น ทำให้สำนักงานฯ สามารถวิเคราะห์และประเมินผลงานที่สืบเนื่องมาจากคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกาได้โดยอิสระจากคณะกรรมการฯ และเป็นการถ่วงดุลการใช้อำนาจวินิจฉัยของคณะกรรมการฯ โดยสำนักงานฯ จะทำหน้าที่เป็น
ตัวเชื่อม ระหว่างคณะกรรมการกฤษฎีกากับฝ่ายบริหาร (นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี) การปรับปรุงการจัดองค์กรและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการกฤษฎีกาตามพระราชบัญญัติดังกล่าวนี้ก่อให้เกิดประโยชน์ที่สำคัญ 3 ประการ คือ
 
1) สามารถแก้ไขเยียวยาทุกข์ที่เกิดขึ้นแล้วให้แก่ผู้ร้องทุกข์เป็นการเฉพาะรายได้
 
2) สามารถอาศัยข้อมูลที่ได้รับมาจากการร้องทุกข์ของประชาชนและการขอคำปรึกษาทางกฎหมายจากหน่วยงานของรัฐมาศึกษาวิเคราะห์เพื่อดำเนินการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายหรือกำหนดระเบียบแบบแผนในการปฏิบัติราชการ เพื่อปรับปรุงการปฏิบัติราชการให้มีประสิทธิภาพ
และเป็นธรรมแก่ประชาชนมากยิ่งขึ้น อันจะมีผลเป็นการป้องกันไม่ให้ประชาชนได้รับทุกข์
จากกฎหมายหรือระเบียบของทางราชการที่ล้าสมัย ไม่เป็นธรรม หรือมีช่องโหว่ หรือจากการปฏิบัติ
ราชการที่ไม่ชอบ ของเจ้าหน้าที่ของทางราชการอีกต่อไปในอนาคต
 
3) สามารถฝึกอบรมสร้างประสบการณ์และความเชี่ยวชาญให้แก่บุคลากรของหน่วยงานเพื่อให้เป็นนักกฎหมายที่มีความรู้ทางกฎหมายปกครอง ตลอดจนเผยแพร่หลักกฎหมายปกครองและ
คำวินิจฉัยที่สำคัญให้แก่เจ้าหน้าที่ของทางราชการเพื่อใช้เป็นหลักในการปฏิบัติราชการต่อไปได้ 54
3. ความเห็นเกี่ยวกับการจัดตั้งศาลปกครอง
 
นับตั้งแต่ได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2517 เป็นต้นมา ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายมหาชนเป็นอย่างมาก ศาสตราจารย์ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ
ได้วิเคราะห์ว่า ความตื่นตัวในกฎหมายมหาชนในฐานะกฎหมายที่มีลักษณะเฉพาะทั้งที่เป็นหลักกฎหมายสารบัญญัติของตนเอง ระบบวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทที่แยกจากระบบวินิจฉัยชี้ขาดของกฎหมายเอกชน ยังเลยไปถึงนักนิติศาสตร์ในมหาวิทยาลัยอีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บทความเรื่อง นักนิติศาสตร์หลงทางหรือ55 ของศาสตราจารย์ ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ ซึ่งปลุกสำนึกในความสำคัญของกฎหมายมหาชนให้แก่นักกฎหมายไทย นับเป็นบทความประวัติศาสตร์ที่เปิดยุคใหม่ของการฟื้นตัวของกฎหมายมหาชนในประเทศไทย
 
บทความนี้ได้กระตุ้นให้วงการนิติศาสตร์หันมาให้ความสนใจกับกฎหมายมหาชน
อีกครั้ง และก่อให้เกิดผลในวงการนิติศาสตร์ไทยอย่างน้อย 3 ทาง คือ
 
1. การปรับปรุงระบบการศึกษานิติศาสตร์ในมหาวิทยาลัย โดยการส่งคนไปศึกษากฎหมายมหาชนในประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะในประเทศภาคพื้นยุโรป อันได้แก่ ฝรั่งเศส เยอรมัน
อิตาลี ออสเตรีย เบลเยี่ยม ฯลฯ ซึ่งภายหลังเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วนักกฎหมายเหล่านี้ได้แยกย้ายกันไปเป็นอาจารย์สอนกฎหมายในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
มหาวิทยาลัยรามคำแหง และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาการศึกษากฎหมายมหาชนในประเทศไทยต่อมาจนถึงปัจจุบัน
 
นอกจากการส่งคนไปศึกษาต่อต่างประเทศแล้ว ยังมีการปรับปรุงหลักสูตรนิติศาสตร์ในมหาวิทยาลัย 56 จากแต่เดิมศึกษาแต่เพียงกฎหมายเอกชนเป็นหลัก มาเพิ่มเติมวิชากฎหมายมหาชนขึ้นบ้างในระดับชั้นปริญญาตรี เช่น วิชาหลักกฎหมายมหาชน แต่ที่มีการปรับปรุงมากได้แก่หลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษา (ปริญญาโท)57 ซึ่งแต่เดิมเป็นหลักสูตรกฎหมายเอกชน หรือกฎหมายเปรียบเทียบเป็นหลัก มาเป็นหลักสูตรแยกสาขาโดยเพิ่มสาขากฎหมายมหาชนเข้าไปเป็นสาขาหนึ่ง
ที่ศึกษากฎหมายมหาชนวิชาต่าง ๆ เป็นหลัก อาทิ กฎหมายรัฐธรรมนูญและสถาบันการเมืองชั้นสูง กฎหมายปกครองซึ่งมีการแยกสอนเป็นรายวิชาอีกมากมาย อาทิ กฎหมายปกครองชั้นสูง กฎหมายปกครอง
ฝรั่งเศส กฎหมายปกครองเยอรมัน กฎหมายบริการสาธารณ ฯลฯ และยังมีการศึกษากฎหมายมหาชนอื่น ๆ อีกมากอาทิ ทฤษฎีกฎหมายมหาชน กฎหมายมหาชนทางเศรษฐกิจ ฯลฯ เป็นผลให้วิทยานิพนธ์ที่เป็นงานวิจัยในหลักสูตรดังกล่าวทำการศึกษาเรื่องในกฎหมายมหาชนมากขึ้น
 
2. การปรับปรุงกฎหมายคณะกรรมการกฤษฎีกา ในปี พ.ศ. 2522 ให้มีลักษณะคล้ายคลึงกับศาลปกครองฝรั่งเศสโดยเฉพาะสภาแห่งรัฐ ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ค.ศ. 1800 1872 (พ.ศ. 2343-2415)
 
3. นักกฎหมายโดยทั่วไปก็มีความตื่นตัวในกฎหมายมหาชนขึ้นมาก จนมีการจัดตั้งสมาคมกฎหมายมหาชนแห่งประเทศไทย58 ขึ้น เพื่อเป็นที่รวมของนักกฎหมายมหาชน และได้มีการดำเนินการหลายประการที่เป็นการเสริมสร้างและเผยแพร่ผลงานทางกฎหมายมหาชนแก่นักกฎหมายและประชาชนโดยทั่วไปมาตลอดจนถึงปัจจุบัน 59
3.1 ความเห็นของนักวิชาการ
 
ในช่วงนี้ถือได้ว่ามีความตื่นตัวในทางวิชาการเป็นอย่างมาก ตำราและบทความในทางกฎหมายมหาชนที่ขาดหายไปหลายสิบปีก็เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีการออก วารสารกฎหมายปกครอง ตั้งแต่ พ.ศ. 2525 โดยสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งเป็นที่รวบรวมและเผยแพร่กฎหมายปกครองในทำนองเดียวกับที่ต่างประเทศโดยเฉพาะภาคพื้นยุโรป ยิ่งกว่านั้นการอบรมสัมมนา ซึ่งเดิมมีกฎหมายเอกชนยืนพื้นมาตลอดก็เริ่มได้รับความสนใจและหันมาจัดการอบรมสัมมนาในกฎหมายมหาชนมากขึ้น 60 ตัวอย่างการอภิปรายที่ได้รับความสนใจมากเรื่องหนึ่ง คือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับการพัฒนากฎหมายมหาชนในประเทศไทย จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีการ่วมกับสมาคมกฎหมายมหาชนแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2537
ซึ่งผู้ร่วมอภิปรายประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิในทางกฎหมายมหาชน คือ ศาสตราจารย์ ดร. อมร
จันทรสมบูรณ์ ศาสตราจารย์ ดร. วิษณุ เครืองาม นายกสมาคมกฎหมายมหาชนแห่งประเทศไทย (รศ.ดร.โภคิน พลกุล) ผู้ช่วยศาสตราจารย์สมยศ เชื้อไทย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. วิษณุ วรัญญู และ
ดร.ชาญชัย แสวงศักดิ์ นับว่าเป็นการเปิดประเด็นความคิดให้บรรดานักกฎหมาย ตลอดจน
นักประวัติศาสตร์ของบ้านเราได้ค้นคว้ากันต่อไป การอภิปรายครั้งนี้นับว่าเป็นการก่อประโยชน์
อันสำคัญยิ่ง แก่วงวิชาการของประเทศไม่เฉพาะแต่ทางนิติศาสตร์เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงวงการศึกษาทางประวัติศาสตร์ 61 โดยเฉพาะในเรื่องการปรับปรุงด้านกฎหมายและรวมถึงประวัติศาสตร์การจัดตั้งศาลปกครอง ซึ่งได้มีการริเริ่มมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 อีกด้วย
 
นอกจากนี้นักกฎหมายเอกชนที่สำคัญอีกท่านหนึ่งที่มีความเห็นว่าควรมีการจัดตั้ง
ศาลปกครองขึ้น คือ ศาสตราจารย์จิตติ ติงศภัทิย์ ปรมาจารย์ทางกฎหมายผู้ยิ่งใหญ่ของไทย 62
ได้บันทึกท้ายคำพิพากษาฎีกาที่ 766/2518 ไว้ว่า โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทำมิชอบคงหมายความว่า จงใจ
ทำให้โจทก์เสียหาย จึงต้องรับผิดฐานละเมิด แต่คำขอให้ศาลเพิกถอนการประมูล และประมูลใหม่นั้นเป็นคำขอบังคับทางละเมิดหรือไม่ ศาลวินิจฉัยว่า แม้จำเลยปฏิบัติโดยมิชอบ ศาลก็ไม่อาจก้าวล่วงเข้าไปเปลี่ยนแปลงคำวินิจฉัยของเทศบาลได้ ข้อนี้ควรสังเกตไว้ว่า นี่เป็นความจำเป็นที่ต้องมีศาลปกครองขึ้น
เพื่อให้เป็นองค์การที่ใช้อำนาจที่ศาลยุติธรรมไม่มีอยู่ ซึ่งศาลถือดังนี้มาแต่ไหนแต่ไรแล้ว โดยพิจารณาเห็นว่า ไม่อยู่ในสภาพที่จะทำได้โดยมีประสิทธิภาพ เพราะต้องการผู้วินิจฉัยที่ฝึกอบรมอีกประเภทหนึ่งไม่ใช่เรื่องที่จะสืบพยานให้ศาลวินิจฉัยได้เหมือนกรณีผู้ชำนาญการพิเศษทั่ว ๆ ไป..... 63
 
กล่าวได้ว่าในช่วงนี้มีความตื่นตัวในวงวิชาการทางด้านกฎหมายมหาชนเป็นอย่างมาก จนกระทั่ง ในปี พ.ศ. 2535 ได้เกิดกระแสเรียกร้องให้มีการปฏิรูปการเมือง และมีนักกฎหมายมหาชนหลายท่านได้มีบทบาทสำคัญในการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2534 ใน พ.ศ. 2538 โดยในส่วนของศาลปกครองก็ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญอีกครั้ง และนักกฎหมายมหาชนรุ่นใหม่ได้มีบทบาทสำคัญในการเผยแพร่แนวคิดและหลักการของกฎหมายมหาชนต่อสาธารณชนอย่างต่อเนื่อง รวมทั้ง
มีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้มีการจัดตั้งศาลปกครองในเวลาต่อมา
3.2 ความเห็นของวุฒิสภา
 
ในการประชุมครั้งที่ 6 (สมัยวิสามัญครั้งที่ 2) วันศุกร์ที่ 9 กรกฎาคม 2536 วุฒิสภา
ได้มอบหมายให้คณะกรรมาธิการบริหารและการยุติธรรมของวุฒิสภาศึกษาเรื่ององค์กรวินิจฉัยคดีปกครองซึ่งคณะกรรมาธิการฯ ได้เสนอผลการพิจารณาศึกษาดังกล่าวให้วุฒิสภาพิจารณา โดยแบ่งเป็น 4 หัวข้อ คือ
 
1. แนวความคิดในการจัดตั้งศาลปกครองของประเทศไทย
 
2. ข้อพิพาททางปกครอง
 
3. ศึกษาองค์กรวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาททางปกครองในระบบ ศาลเดี่ยว และระบบ ศาลคู่
 
4. ข้อพิจารณาแนวทางการจัดตั้งองค์กรวินิจฉัยชี้ขาดคดีปกครองของประเทศไทย (ข้อดีข้อเสียของการจัดตั้งองค์กรวินิจฉัยชี้ขาดคดีปกครองโดยกระทรวงยุติธรรมรับผิดชอบงานธุรการ (ระบบศาลเดี่ยว) และโดยสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีการับผิดชอบงานธุรการ (ระบบศาลคู่) )
 
จากผลของการศึกษา คณะกรรมาธิการฯ มีข้อสังเกตว่าการจัดตั้งองค์กรวินิจฉัย
คดีปกครองในรูปของ ศาลปกครอง ในระบบศาลคู่ โดยมี 2 ชั้นศาล คือ ศาลปกครองชั้นต้น
และศาลปกครองสูงสุด ขึ้นในประเทศไทยจะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนมากกว่าระบบศาลเดี่ยวซึ่งเป็นรูปแบบของศาลปกครองในปัจจุบัน 64
4. นโยบายการจัดตั้งศาลปกครองของรัฐบาล
 
ในช่วงที่พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี (พ.ศ. 2523 2532) การยอมรับแนวคิดว่าควรมีการจัดตั้งศาลปกครองในประเทศไทย ปรากฏให้เห็นจากการเสนอร่างกฎหมายจัดตั้งศาลปกครองรวมทั้งสิ้น 14 ฉบับ บางฉบับก็ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรไปจนถึงวุฒิสภาแล้วแต่ท้ายที่สุดก็ตกไปเพราะมีการยุบสภา แต่สิ่งที่น่าสังเกตคือ ร่างพระราชบัญญัติที่จัดทำขึ้นนั้น
เป็นการเสนอให้จัดตั้งศาลปกครองในระบบศาลเดี่ยวแทบทั้งสิ้น65 เช่น
ร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. .... ซึ่ง
ยกร่างโดยกระทรวงยุติธรรม เมื่อ พ.ศ. 2521 แต่ก็ตกไป เพราะมีการยุบสภาใน พ.ศ. 2526 ร่างพระราช-บัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. .... ซึ่งเสนอในพ.ศ. 2526 โดยนายสุทัศน์ เงินหมื่น และคณะ แต่ต้องตกไปเนื่องจากการยุบสภาใน พ.ศ. 2529 ต่อมาใน พ.ศ. 2530 นายถวิล ไพรสณฑ์ และคณะ ได้เสนอร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวอีก แต่ก็ต้องตกไปใน พ.ศ. 2531 เพราะการยุบสภาเช่นกัน
 
แนวความคิดของท่านปรีดี ที่ต้องการให้มีการจัดตั้งศาลปกครองขึ้นเป็นระบบ ศาลคู่ ในประเทศไทยตั้งแต่ พ.ศ. 2476 แม้มิอาจสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยเหตุปัจจัยต่าง ๆ ที่กล่าวมาในช่วงแรกก็ตามแต่ต่อมาก็ได้รับการยอมรับโดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2517 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่บัญญัติให้มีศาลปกครองขึ้น และได้มีการตราพระราชบัญญัติ 5 ฉบับ เพื่อรองรับการจัดตั้งศาลปกครอง
 
อย่างไรก็ตาม แม้ต่อมาจะมีความพยายามในการเสนอร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองในระบบ ศาลเดี่ยว ถึง 14 ฉบับ ในช่วง พ.ศ. 2523 2532 ขณะเดียวกันก็มีการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติคณะกรรมการกฤษฎีกา ใน พ.ศ. 2522 เพื่อเตรียมการให้คณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ซึ่งเป็นคณะกรรมการกฤษฎีกาประเภทหนึ่งพัฒนาเป็นศาลปกครองในระบบ ศาลคู่ ตามแนวทางของ
ท่านปรีดีต่อไป จึงเห็นได้ชัดเจนว่า จากเดิมที่แนวความคิดตั้งอยู่บนพื้นฐานของระบบ ศาลคู่ แล้วค่อย ๆ จางหายไปจนดูเสมือนว่าจะไม่มีการจัดตั้งศาลปกครองขึ้น จากนั้นรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2517
ก็ได้มาจุดประกายเรื่องศาลปกครองอีกครั้งควบคู่ไปกับความตื่นตัวทางวิชาการในด้านกฎหมายมหาชน
จนมีการปรับปรุงระบบร้องทุกข์ด้วยการแก้ไขกฎหมายคณะกรรมการกฤษฎีกาใน พ.ศ. 2522 ทำให้สังคมเริ่มตื่นตัวและปรารถนาจะให้มีการจัดตั้งศาลปกครองขึ้น แต่ยังไม่มีความเข้าใจอย่างชัดเจนว่า ศาลปกครองที่แท้จริงต้องเป็นศาลปกครองในระบบ ศาลคู่ ดังนั้น จึงมีการเสนอให้มีการจัดตั้ง
ศาลปกครองในระบบ ศาลเดี่ยว คู่ขนานไปกับการเตรียมการพัฒนาคณะกรรมการกฤษฎีกา
ดังได้กล่าวมาแล้ว จนทำให้เกิดความสับสนว่า ศาลปกครองที่จะมีขึ้นนั้นควรอยู่ในระบบใด
เชิงอรรถ
44. บวรศักดิ์ อุวรรณโณ, กฎหมายมหาชน : การแบ่งแยกกฎหมายมหาชน - เอกชน และพัฒนาการกฎหมายมหาชนในประเทศไทย (กรุงเทพ : สำนักพิมพ์นิติธรรม, พิมพ์ครั้งที่ 2, พ.ศ. 2538) , หน้า 103 - 108.
[กลับไปที่บทความ]
45. บวรศักดิ์ อุวรรณโณ, อ้างแล้ว 44, หน้า 47.
[กลับไปที่บทความ]
46. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 93 ตอนที่135 (ฉบับพิเศษ) วันที่ 22 ตุลาคม 2519.
[กลับไปที่บทความ]
47. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 94 ตอนที่ 111 (ฉบับพิเศษ) วันที่ 9 ตุลาคม 2520.
[กลับไปที่บทความ]
48. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 95 ตอนที่ 146 วันที่ 9 ธันวาคม 2521.
[กลับไปที่บทความ]
49. ศ.ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ รศ.ดร.โภคิน พลกุล ผศ.ดร.พูนศักดิ์ ไวสำรวจ รศ.สพโชค ลชิตากุล และ
อ.ดร.โสภา สงวนเกียรติ จากหนังสือกฎหมายปกครอง ภาควิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์
รามคำแหง พ.ศ. 2529 หน้า 19-51.
[กลับไปที่บทความ]
50. อักขราทร จุฬารัตน, อ้างแล้ว 40, หน้า 22.
[กลับไปที่บทความ]
51. ศ.ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ , บันทึกข้อสังเกตของเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่อง พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครอง พ.ศ. ....ในวารสารกฎหมายปกครอง เล่ม 1 ธันวาคม 2525 ตอน 3 , หน้า 715.
[กลับไปที่บทความ]
52. สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา, อ้างแล้ว 3, หน้า 27 - 29.
[กลับไปที่บทความ]
53. สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ,อ้างแล้ว 3, หน้า 30- 31.
[กลับไปที่บทความ]
54. เพิ่งอ้าง, หน้า 30 -33.
[กลับไปที่บทความ]
55. ลงพิมพ์ครั้งแรกในวารสาร ตราชู คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ตุลาคม 2517 และวารสารกฎหมายปกครอง ซึ่งได้เริ่มเผยแพร่หลักกฎหมายปกครองตั้งแต่ พ.ศ. 2525 ได้นำบทความดังกล่าวและบทความบางเรื่องของท่านรวมทั้งบทความพิเศษของผู้ทรงคุณวุฒิบางท่าน ลงพิมพ์ในวารสารกฎหมายปกครอง เล่ม 9 เมษายน 2533 ตอน 1.
[กลับไปที่บทความ]
56. คณะกรรมการพิจารณากำหนดโครงการและแผนงานสำหรับการปรับปรุงคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งตั้งขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรีในรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัน ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาปรับปรุงหลักสูตรคณะนิติศาสตร์และคณะรัฐศาสตร์ในมหาวิทยาลัยเกี่ยวกับวิชากฎหมายปกครองและกฎหมายมหาชน โดยมี ดร.โภคิน พลกุล เป็นประธานอนุกรรมการฯ คณะอนุกรรมการชุดนี้ได้มีบทบาทสำคัญในการปรับปรุงหลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิตให้มีการเรียนการสอนกลุ่มวิชากฎหมายปกครองและกฎหมายมหาชนในอัตราส่วนที่เพิ่มมากขึ้นในเวลาต่อมา ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงหลักสูตรในคณะนิติศาสตร์ครั้งสำคัญ (อ้างใน ชาญชัย แสวงศักดิ์ คำอธิบายพระราชบัญญัติจัดตั้งศาล
ปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 สำนักพิมพ์วิญญูชน, พ.ศ. 2542 หน้า 92-93).
[กลับไปที่บทความ]
57. ปัจจุบันมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนระดับบัณฑิตศึกษา (ปริญญาโท) สาขากฎหมายมหาชน มี 4 แห่ง ซึ่งได้เปิดสอนตามลำดับก่อนหลัง คือ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มหาวิทยาลัยเอกชน) และมหาวิทยาลัยรามคำแหง.
[กลับไปที่บทความ]
58. จัดตั้งเมื่อ วันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2526 โดยมีผู้เริ่มก่อตั้งคือ ศ.ไพโรจน์ ชัยนาม ดร.เฉลิมชัย วสีนนท์ ดร.อิสระ นิติทัณฑ์ประภาส และ ดร.โภคิน พลกุล โดยมี ศ.ไพโรจน์ ชัยนาม เป็นนายกสมาคมฯ คนแรก และ ดร.โภคิน พลกุล เป็นเลขาธิการสมาคมฯ คนแรก.
[กลับไปที่บทความ]
59. บวรศักดิ์ อุวรรณโณ, อ้างแล้ว 44, หน้า 128-130.
[กลับไปที่บทความ]
60. เพิ่งอ้าง, หน้า 122 - 130.
[กลับไปที่บทความ]
61. บทบรรณาธิการ วารสารกฎหมายปกครอง เล่ม 14 สิงหาคม 2538 ตอน 2.
[กลับไปที่บทความ]
62. ศาสตราจารย์จิตติ ติงศภัทิย์ เป็นลูกศิษย์ของศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ในสมัยที่เรียนในโรงเรียนกฎหมายกระทรวงยุติธรรม และได้รับแต่งตั้งให้เป็นองคมนตรีตั้งแต่ พ.ศ. 2527 จนถึงแก่อสัญกรรม เมื่อ พ.ศ. 2538.
[กลับไปที่บทความ]
63. สมคิด เลิศไพฑูรย์, เลิกเข้าใจผิดศาลปกครองเสียที จากวารสารกฎหมายปกครอง เล่ม 13 สิงหาคม 2537 ตอน 2 หน้า 76 - 84 (ลงพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือสยามโพสต์ ฉบับวันที่ 1 กันยายน 2537).
[กลับไปที่บทความ]
64. คณะกรรมาธิการบริหารและการยุติธรรมวุฒิสภา รายงานการพิจารณาศึกษาเรื่อง องค์กรวินิจฉัยคดีปกครอง จากบทบัณฑิตย์ เล่มที่ 51 ตอน 1 มีนาคม 2538 หน้า 75-105.
[กลับไปที่บทความ]
65. วรพจน์ วิศรุตพิชญ์ การประชุมทางวิชาการเรื่อง แนวทางและความเหมาะสมของการจัดตั้งศาลปกครองไทย จากวารสารกฎหมายปกครอง เล่ม 14 เมษายน 2538 ตอน 1 หน้า 93 - 94.
[กลับไปที่บทความ]
ลงเผยแพร่ครั้งแรกใน Public Law Net วันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2544
|
บทที่ 3
การจัดตั้งศาลปกครอง (พ.ศ. 2532 2542)
1. ความสับสนที่ว่าควรมีศาลปกครองเป็นระบบ ศาลเดี่ยว หรือ ศาลคู่
 
จากที่กล่าวในเบื้องต้นแล้วว่าความคิดเห็นที่ตรงกันก็คือการยอมรับว่ามีความ
จำเป็นที่จะต้องจัดตั้งศาลปกครองขึ้นในประเทศไทย แต่ยังมีความสับสนว่าควรจะเป็นใช้ระบบ ศาลเดี่ยว หรือ ศาลคู่
1.1 รูปแบบของศาลปกครอง
 
การควบคุมความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำทางปกครอง โดยองค์กรตุลาการหรือการจัดรูปแบบองค์กรวินิจฉัยคดีปกครองที่ใช้กันอยู่ในประเทศต่าง ๆ มี 2 ระบบใหญ่ ๆ คือ 66
 
1) ระบบศาลเดี่ยว คือ ระบบที่ให้ศาลยุติธรรมมีอำนาจหน้าที่พิจารณาวินิจฉัยคดี
ทุกประเภทไม่ว่าจะเป็นคดีแพ่ง คดีอาญา หรือคดีปกครอง โดยให้ผู้พิพากษาซึ่งมีคุณสมบัติและความรู้ทางกฎหมายเป็นการทั่วไป (Generalist) เป็นผู้พิจารณาวินิจฉัยคดีปกครอง ระบบนี้ใช้อยู่ในประเทศที่ใช้ระบบกฎหมายแบบคอมมอนลอว์ (Common Law) เช่น อังกฤษ สหรัฐอเมริกา และประเทศที่ใช้ระบบกฎหมายคอมมอนลอว์แบบเดียวกับอังกฤษ
 
2) ระบบศาลคู่ คือระบบที่ให้ศาลยุติธรรมมีอำนาจหน้าที่พิจารณาวินิจฉัยคดีแพ่งและคดีอาญาเป็นหลักเท่านั้น ส่วนการพิจารณาวินิจฉัยคดีปกครองให้อยู่ในอำนาจหน้าที่ของศาลปกครอง ซึ่งมีระบบศาลชั้นต้นและศาลสูงสุดของตนเอง มีระบบผู้พิพากษาและองค์กรบริหารงานบุคคลเป็นเอกเทศต่างหากจากระบบศาลยุติธรรมโดยผู้พิพากษาศาลปกครองจะมีคุณสมบัติเฉพาะและมีความเชี่ยวชาญทางกฎหมายปกครองเป็นพิเศษ ระบบนี้ใช้อยู่ในประเทศที่ใช้ระบบประมวลกฎหมาย (Civil Law) เช่น
ฝรั่งเศส เบลเยี่ยม อิตาลี เยอรมัน ออสเตรีย สวีเดน และฟินแลนด์
 
ประเทศที่ใช้ระบบ ศาลคู่ แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ 67
 
1) ประเทศที่จัดตั้งศาลปกครองเป็นเอกเทศจากศาลยุติธรรม โดยศาลปกครองมีหน้าที่พิจารณาคดีปกครองเพียงอย่างเดียว แต่ไม่มีอำนาจหน้าที่ให้คำปรึกษาแก่รัฐบาลได้แก่ ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมันและออสเตรีย
 
2) ประเทศที่จัดตั้งศาลปกครองเป็นเอกเทศจากศาลยุติธรรมโดยมอบอำนาจในการวินิจฉัยชี้ขาดคดีปกครองแก่สถาบันซึ่งเรียกว่า สภาแห่งรัฐ หรือ สภาที่ปรึกษาแห่งรัฐ (Council of State หรือ Conseil dEtat) ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ 2 อย่าง คือเป็นที่ปรึกษากฎหมายของรัฐบาล และทำหน้าที่เป็นศาลปกครองด้วย ได้แก่ ประเทศ ฝรั่งเศส เบลเยี่ยม เนเธอร์แลนด์ ลักเซ็มเบอร์ก อิตาลี กรีซ อียิปต์ ฯลฯ
 
3) ประเทศที่จัดตั้งศาลปกครองเป็นเอกเทศจากศาลยุติธรรม โดยศาลปกครองมีอำนาจหน้าที่ 3 อย่าง คือให้คำปรึกษารัฐบาลเกี่ยวกับการร่างกฎหมาย ปัญหาข้อกฎหมาย และทำหน้าที่เป็นศาลปกครองด้วย ได้แก่ประเทศสวีเดน และฟินแลนด์
1.2 จุดเริ่มต้นของการเลือกระบบ ศาลเดี่ยว หรือ ศาลคู่
 
กระทรวงยุติธรรมได้ดำเนินการยกร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. .... โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเป็นประธานคณะกรรมการยกร่าง และเสนอคณะรัฐมนตรีเมื่อ พ.ศ. 2523 ซึ่งเป็นระบบ ศาลเดี่ยว โดยแบ่งเป็น 2 ชั้นศาล คือ ศาลปกครองชั้นต้นและศาลฎีกา (แผนกคดีปกครอง) ผู้พิพากษาศาลปกครองชั้นต้นแบ่งเป็น 2 ประเภท แต่ละประเภทมีจำนวนเท่ากัน คือ ประเภทที่ 1 ผู้พิพากษาซึ่งรับราชการประจำ ได้แก่ ผู้พิพากษาศาลยุติธรรม กับผู้พิพากษาอื่นที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งจากพนักงานคดีปกครอง ด้วยความเห็นชอบของ ก.ต. ประเภทที่ 2 ผู้พิพากษาผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งด้วยความเห็นชอบ
ของ ก.ต. (ตามข้อเสนอของคณะกรรมการคัดเลือก) สำหรับในศาลฎีกาจะจัดตั้งเป็น แผนกคดีปกครอง
ขึ้นในศาลยุติธรรม (คำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้นเป็นที่สุดในปัญหาข้อเท็จจริง และศาลฎีกา
รับพิจารณาอุทธรณ์ในปัญหาข้อกฎหมาย) สำหรับหน่วยธุรการของศาลปกครองนั้น สังกัดระทรวงยุติธรรม ซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมของอธิบดีผู้พิพากษาศาลปกครองและรองอธิบดีผู้พิพากษาศาลปกครองซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งจากผู้พิพากษาศาลยุติธรรม 68
คณะรัฐมนตรีพิจารณาแล้วมีมติให้ส่งคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าว ซึ่งได้มีการตั้งคณะกรรมการร่างกฎหมาย (คณะพิเศษ) ขึ้นจำนวน 15 นาย มีการตรวจแก้ไข ต่อมาคณะรัฐมนตรีมีมติรับหลักการและให้เสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร โดยเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาทำบันทึกข้อสังเกตไม่เห็นด้วยกับร่างดังกล่าว และได้มีการเสนอสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2525 สภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2526 และเสนอวุฒิสภา วุฒิสภาพิจารณาเสร็จเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2526
โดยมีการแก้ไขเพิ่มเติมร่างที่ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรหลายมาตรา จึงมีการจัดคณะกรรมาธิการร่วมกันพิจารณาต่อไป แต่ในระหว่างนั้นมีการยุบสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2526
ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้จึงตกไป
 
วันที่ 26 มิถุนายน 2526 นายสุทัศน์ เงินหมื่น และคณะ เสนอร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครอง พ.ศ. ....ซึ่งมีข้อความตรงกับร่างพระราชบัญญัติที่เคยผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ต่อมาวันที่ 14 กรกฎาคม 2526 นายพินิจ จันทรสุรินทร์ เสนอร่างพระราชบัญญัติจัดตั้ง
ศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ....ซึ่งมีข้อความตรงกับร่างพระราชบัญญัติที่เคยผ่าน
การพิจารณาของวุฒิสภา และคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการศึกษาพิจารณากฎหมายเกี่ยวกับการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง (โดยนายมีชัย
ฤชุพันธ์ เป็นประธาน) พิจารณาว่าร่างพระราชบัญญัติทั้งสองฉบับสมควรมีการแก้ไขอย่างไรจึงจะ
ไม่ให้ศาลปกครอง(ที่จะจัดตั้งขึ้น)ปฏิบัติงานในทางบั่นทอนประสิทธิภาพ หรือก่อให้เกิดความเสียหายแก่การบริหารราชการแผ่นดินโดยไม่สมควร แล้วรายงานผลให้คณะอนุกรรมการศึกษาพิจารณากฎหมายเกี่ยวกับการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองทราบ โดยสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาและผู้แทนกระทรวงยุติธรรมได้ร่วมกันพิจารณา เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2527 ซึ่งมีความเห็นแตกต่างเป็น 2 ฝ่าย คือ กระทรวงยุติธรรมเห็นว่า ร่างกฎหมายของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรดังกล่าว
ได้ผ่านการกลั่นกรองมาแล้วเป็นอย่างดี และไม่น่าจะเกิดปัญหาในทางบั่นทอนประสิทธิภาพของการบริหารราชการแผ่นดินได้ แต่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นว่าโครงสร้างของ ศาลปกครอง ตามร่างกฎหมายดังกล่าวเป็นการให้อำนาจแก่ผู้พิพากษามาชี้ขาดในงานบริหาร โดยไม่มีระบบควบคุมการใช้อำนาจของผู้พิพากษาเอง อย่างไรก็ตาม ร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับก็ไม่ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร 69
2. การเลือกระบบ ศาลคู่ และการเตรียมการจัดตั้งศาลปกครอง
 
ช่วง พ.ศ. 2532-2539 เป็นช่วงที่มีความสำคัญสูงสุดที่ส่งผลต่อความสำเร็จในการจัดตั้งศาลปกครอง
2.1. มติคณะรัฐมนตรีในสมัยรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหวัณ
(พ.ศ. 2532 2534) เลือกระบบ ศาลคู่
 
ในพ.ศ. 2532 กระทรวงยุติธรรมได้เสนอร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครอง
พ.ศ. .... ตามระบบ ศาลเดี่ยว ต่อคณะรัฐมนตรี ซึ่งมี พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี ได้มีมติเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2532 ไม่รับหลักการร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวและมอบให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีการับไปพิจารณาปรับปรุงคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ให้เป็นศาลปกครองที่สมบูรณ์ต่อไปในอนาคต สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาจึงได้เสนอแต่งตั้ง
คณะกรรมการพิจารณากำหนดโครงการและแผนงานโดยให้นายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรี
ที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายเป็นประธานกรรมการ และนายกรัฐมนตรี (พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ) พิจารณาแล้วอนุมัติให้แต่งตั้งคณะกรรมการกำหนดโครงการและแผนงานฯตามที่สำนักงานฯเสนอและให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีทราบต่อไป70
และคณะกรรมการพิจารณากำหนดโครงการและแผนงานฯ
ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการขึ้น 3 คณะคือ
 
1) คณะอนุกรรมการพิจารณากำหนดโครงการ แผนงานสำหรับการปรับปรุง
คณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ โดยมีนายอดุล วิเชียรเจริญ เป็นประธานอนุกรรมการ
 
2) คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาปรับปรุงหลักสูตรคณะนิติศาสตร์และคณะรัฐศาสตร์ในมหาวิทยาลัยเกี่ยวกับวิชากฎหมายปกครองและกฎหมายมหาชน โดยมีนายโภคิน พลกุลเป็นประธานอนุกรรมการ
 
3) คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจพิจารณากำหนดแนวทางในการปรับปรุงการบรรจุผู้สำเร็จการศึกษาวิชานิติศาสตร์ ในสาขากฎหมายต่าง ๆ ให้รับราชการในส่วนราชการ โดยมีนายเสริมสุข โกวิทวานิช เป็นประธานอนุกรรมการ
 
คณะกรรมการพิจารณากำหนดโครงการและแผนงานฯ และคณะอนุกรรมการ
ทั้ง 3 คณะ ได้สรุปผลการดำเนินงานตามภารกิจที่ได้รับมอบหมายเพื่อดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป
แต่ยังไม่ทันได้ดำเนินการก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลในพ.ศ. 2534 การดำเนินการของคณะกรรมการพิจารณากำหนดโครงการและแผนงานฯ และคณะอนุกรรมการฯจึงได้ระงับไป71
 
แม้รัฐบาลในสมัยพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี จะได้ตัดสินใจเลือก
แนวทางการจัดตั้งศาลปกครองในระบบ ศาลคู่ แต่หากนโยบายของรัฐบาลไม่มีความต่อเนื่องและ
ไม่มีความตื่นตัวในทางวิชาการที่จะทำให้สาธารณชนได้ทราบข้อมูลที่ถูกต้องแล้วเราอาจต้องรอ
ศาลปกครองต่อไปอย่างไม่มีกำหนด
ใน พ.ศ. 2535 ได้เกิดกระแสเรียกร้องให้มีการปฏิรูปทางการเมืองขึ้น และในส่วนของศาลปกครองก็ได้มีความตื่นตัว ทั้งจากนักกฎหมาย นักวิชาการ ประชาชนทั่วไป ฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งมีผลต่อการตัดสินใจครั้งสำคัญของรัฐบาลที่จะกำหนดทิศทางของศาลปกครองว่าจะเป็น
รูปแบบใด นับเป็นช่วงสำคัญที่สุดที่นำไปสู่ความสำเร็จในการจัดตั้งศาลปกครอง
2.2. การจัดทำร่างกฎหมายจัดตั้งศาลปกครองและร่างกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
ในสมัยรัฐบาลนายชวน หลีกภัย (พ.ศ. 2535-2538)
รัฐบาลนายชวน หลีกภัย ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2535
ในข้อ 1.9 ว่า รัฐบาลมีนโยบายที่จะ พัฒนาบุคลากร และกระบวนการวินิจฉัยเรื่องราวร้องทุกข์
ตลอดจนเตรียมปัจจัยที่เกี่ยวข้องให้พร้อม เพื่อนำไปสู่การจัดตั้งศาลปกครองให้ทันภายใน 4 ปี ได้มี
การแต่งตั้ง คณะกรรมการพัฒนาระบบบริหารราชการแผ่นดิน (ค.ร.พ.) โดยมีรองนายกรัฐมนตรี
(นายบัญญัติ บรรทัดฐาน) เป็นประธาน ซึ่งได้แต่งตั้งอนุกรรมการพัฒนาระบบงานบุคคลภาครัฐและจัดตั้งศาลปกครอง โดยมีรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายเทอดพงษ์ ไชยนันทน์) เป็นประธาน
ข้อเสนอของคณะทำงานดังกล่าวซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการพัฒนาระบบงานบริหาร
ราชการแผ่นดินแล้วนั้น สรุปได้ดังนี้72
(1) ตรากฎหมายว่าด้วยวิธีการปฏิบัติราชการทางปกครอง เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการสำหรับการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ในทางการปกครองเพื่อให้เจ้าหน้าที่ของรัฐสามารถดำเนินการได้
โดยถูกต้องตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายได้ให้ไว้โดยสอดคล้องกับหลักกฎหมายปกครอง เช่น
การออกคำสั่ง การอนุญาตหรือการวินิจฉัย อันจะเป็นการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนจากการใช้อำนาจอย่างไม่มีขอบเขตเจ้าหน้าที่ของรัฐและปกป้องประโยชน์สาธารณะ ซึ่งจะเป็นการลดข้อพิพาท
ที่เกิดจากการใช้อำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐต่อประชาชนได้ระดับหนึ่ง
(2) จัดตั้งคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ในส่วนภูมิภาค เพื่อให้ประชาชนในต่างจังหวัดได้มีโอกาสใช้สิทธิในการร้องทุกข์ต่อคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ภูมิภาคในฐานะที่ทำหน้าที่เป็นศาลปกครองชั้นต้นได้โดยสะดวกยิ่งขึ้น
(3) เร่งรัดการดำเนินการทำความเข้าใจกับประชาชนให้คุ้นเคยเกี่ยวกับระบบร้องทุกข์ คดีปกครองและศาลปกครอง และสามารถใช้สิทธิได้โดยถูกต้อง ในขณะเดียวกันก็สร้างความเข้าใจให้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐในการปฏิบัติหน้าที่ และในเรื่องเกี่ยวกับคดีปกครอง
(4) เมื่อได้พัฒนาเจ้าหน้าที่ของรัฐและบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการพิจารณาคดีปกครองรวมทั้งเตรียมปัจจัยที่เกี่ยวข้องเรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนสุดท้ายในปี 2538 คือ การใช้บังคับพระราชบัญญัติคณะกรรมการกฤษฎีกา พ.ศ. 2522 ที่จะได้แก้ไขเพิ่มเติมใหม่ให้คณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ทำหน้าที่เป็นศาลปกครองอย่างเต็มรูปแบบโดยให้มีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดคดีได้โดยตรงต่อไป
ก่อนที่ ค.ร.พ. จะนำมาตรการและแผนงานดังกล่าวเสนอต่อคณะรัฐมนตรี ค.ร.พ.ได้จัดให้มีการสัมมนา เรื่องการจัดตั้งศาลปกครองตามนโยบายของรัฐบาลเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2536 และในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อ วันที่ 29 มีนาคม 2537 นายกรัฐมนตรีมีบัญชาให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีการ่างกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติกรรมการกฤษฎีกา พ.ศ. 2522 ต่อมาเมื่อร่างกฎหมาย
ดังกล่าวกับมาตรการ ระบบและแผนงานในการจัดตั้งศาลปกครองของ ค.ร.พ.ได้รับการบรรจุในวาระการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2537 รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ขอถอนร่างกฎหมายดังกล่าวกลับไปให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาปรับปรุงรายละเอียดให้เหมาะสมยิ่งขึ้นโดยให้แยกเรื่องการจัดตั้งศาลปกครองไปบัญญัติเป็นร่างกฎหมายอีกฉบับหนึ่งโดยเฉพาะ สำนักงาน ฯ
จึงได้จัดทำร่างพระราชบัญญัติออกเป็น 2 ฉบับ คือ ร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ....ซึ่งกำหนดให้มีการจัดตั้งศาลปกครองในระบบ ศาลคู่ และร่างพระราชบัญญัติ
คณะกรรมการกฤษฎีกา (ฉบับ...) พ.ศ. ....ซึ่งกำหนดให้ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา รับผิดชอบ
งานธุรการของศาลปกครองด้วย การจัดองค์กรตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว เป็นความพยายาม
ในการผสมผสานกันระหว่างระบบศาลปกครองของเยอรมันและระบบศาลปกครองของฝรั่งเศส และ
มีส่วนคล้ายคลึงกับการจัดองค์กรของสภาแห่งรัฐของประเทศอียิปต์ ที่ให้ศาลปกครองเป็นส่วนหนึ่งของสภาแห่งรัฐ
แต่ก่อนที่ ค.ร.พ. จะนำร่างกฎหมายมาตรการและแผนงานดังกล่าวเสนอต่อคณะรัฐมนตรี ก็ได้มีการยุบสภาเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2538 73
2.3 การจัดทำร่างกฎหมายจัดตั้งศาลปกครองและการผลักดันให้มีการตรากฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ในสมัยรัฐบาลนายบรรหาร ศิลปอาชา (พ.ศ. 2538-2539)
 
ในช่วงนี้เองที่รัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2534 ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมใน พ.ศ. 2538 และได้บัญญัติให้จัดตั้งศาลปกครองในระบบศาลคู่ ดังปรากฏในมาตรา 195-195 เบญจ 74
สำหรับเจตนารมณ์
ของการเพิ่มเติมบทบัญญัติเกี่ยวกับการจัดตั้งศาลปกครองไว้ในรัฐธรรมนูญนั้น ปรากฏจากบันทึก
การประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่..) พุทธศักราช .... (นายประจวบ ไชยสาส์น เป็นประธานฯ) ครั้งที่ 28 เ มื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2537
และครั้งที่ 29 เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2537 ว่าคณะกรรมาธิการฯ ได้พิจารณาเรื่องดังกล่าวแล้ว
มีความเห็น ดังนี้
 
1) เห็นควรให้มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการจัดตั้งศาลปกครองให้เป็น ระบบศาลคู่ แยกออกจากศาลยุติธรรมโดยมีข้อสังเกตว่าหน่วยงานที่จะรับผิดชอบในด้านการบริหารงานธุรการของศาลปกครองควรจะเป็นสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ส่วนศาลปกครองนั้นควรจะพัฒนาจากคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์
 
2) เห็นควรยืนยันให้เรียกชื่อองค์กรชี้ขาดคดีปกครองว่า ศาลปกครอง
 
3) การแต่งตั้งประธานตุลาการศาลปกครองสูงสุดต้องให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบก่อนแต่เมื่อได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ....
ที่จัดทำโดยสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว เห็นว่าได้บัญญัติเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้อย่างละเอียดและชัดเจนแล้ว จึงเห็นว่าไม่ควรบัญญัติประเด็นดังกล่าวไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่ควรบัญญัติไว้ในกฎหมายลำดับรองคือร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวมากกว่า
รัฐบาลได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาเมื่อวันพุธที่ 26 กรกฎาคม 2538 ว่า รัฐบาลจะปรับปรุงกระบวนการอำนวยความยุติธรรมทั้งทางปกครอง ทางแพ่ง และทางอาญาให้มีประสิทธิภาพรวดเร็ว เป็นระบบและทั่วถึง รวมทั้งพัฒนาให้ทันสมัยเป็นระบบที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน.....
.... รัฐบาลจะปรับระบบการอนุมัติการอนุญาตให้มีหลักเกณฑ์ ระยะเวลาในการดำเนินการและขอบเขตการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ของรัฐ
ในส่วนที่เกี่ยวกับการปรับปรุงกระบวนการอำนวยความยุติธรรมทางปกครองให้มีประสิทธิภาพรวดเร็ว เป็นระบบและทั่วถึงนั้น รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายโภคิน พลกุล) ซึ่งได้รับมอบหมายให้เป็นผู้กำกับดูแลการปฏิบัติราชการของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นว่าในขณะนั้นมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องสำคัญหลายฉบับ ซึ่งค้างการพิจารณามาตั้งแต่รัฐบาลชุดก่อน ๆ คือ ร่างพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. .... ร่างพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการ
ทางปกครอง พ.ศ. .... ร่างพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. .... และร่างพระราชบัญญัติจัดตั้ง
ศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. .... จึงได้มีคำสั่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกานำร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป 75
โดยในส่วนของร่างพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. .... และร่างพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. .... ได้เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา ซึ่งคณะรัฐมนตรีพิจารณาแล้วมีมติเห็นชอบและได้เสนอร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวต่อสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา และต่อมาพระราชบัญญัติดังกล่าวได้ผ่านการพิจารณาของรัฐสภาและประกาศใช้เป็นกฎหมาย คือ พระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 253976
มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน 2539 และพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 77
มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 14 พฤศจิกายน 2540 78
สำหรับร่างพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสาร พ.ศ. .... ได้เสนอคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2538 และมีมติเห็นชอบโดยให้แก้ไขเพิ่มเติมตามที่รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี(นายโภคิน พลกุล) เสนอและเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา เมื่อสภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวแล้วได้เสนอให้เสนอวุฒิสภาเพื่อพิจารณาต่อไป แต่ในช่วงที่มีการตั้งคณะกรรมาธิการร่วมกันของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา อันเนื่องมาจากวุฒิสภาได้มีมติแก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว
ในสาระสำคัญหลายประการ ได้มีการยุบสภาเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2539 ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวจึงตกไป
2.3.1 การพิจารณาดำเนินการของคณะรัฐมนตรี
รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายโภคิน พลกุล) ได้มอบให้สำนักงาน
คณะกรรมการกฤษฎีกา เสนอร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ....
ให้สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญโดยให้มีการจัดตั้งศาลปกครองขึ้นเป็นระบบศาลคู่และ
ให้แยกศาลปกครองจากคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาทำหน้าที่เป็นหน่วยธุรการของศาลปกครองซึ่งนายกรัฐมนตรี (นายบรรหาร ศิลปอาชา) เห็นชอบให้ดำเนินการเสนอร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป อย่างไรก็ตามในระหว่างนั้นคณะกรรมการปฏิรูปการเมืองซึ่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายโภคิน พลกุล) เป็นรองประธานได้แต่งตั้ง คณะอนุกรรมการพิจารณาปรับปรุงบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ กฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ
คำสั่ง และวิธีปฏิบัติต่าง ๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการปฏิรูปการเมือง รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี(นายโภคิน พลกุล) จึงให้รอผลการพิจารณาของคณะอนุกรรมการดังกล่าวและของคณะกรรมการการปฏิรูปการเมืองเพื่อนำข้อคิดเห็นมาประกอบการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ จัดตั้งศาลปกครองฯ ให้รอบคอบยิ่งขึ้น
2.3.2 ความเห็นของคณะกรรมการปฏิรูปการเมือง
คณะอนุกรรมการพิจารณาปรับปรุงบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ กฎหมาย ระเบียบข้อบังคับ คำสั่ง และวิธีปฏิบัติต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการปฏิรูปการเมือง โดยมีรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายโภคิน พลกุล) เป็นประธาน คณะอนุกรรมการฯ 79
ได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ
จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ....ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้จัดทำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีในสมัยรัฐบาลนายชวน หลีกภัย แล้วเห็นว่าสอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฯ นโยบายของรัฐบาล และแนวทางการจัดตั้งศาลปกครองตามความเห็นของคณะอนุกรรมการฯอยู่แล้ว คณะอนุกรรมการฯจึงเห็นควรให้การสนับสนุนร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว และคณะกรรมการปฏิรูปการเมืองก็เห็นชอบตามที่คณะอนุกรรมการฯเสนอ แต่สำหรับหน่วยงานธุรการของศาลปกครองนั้นเห็นว่า อาจมีทางเลือกได้หลายหน่วยงาน คือ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา กระทรวงยุติธรรม หรือจัดตั้งหน่วยงานใหม่ขึ้นทำหน้าที่หน่วยงานธุรการ
ของศาลปกครองโดยเฉพาะรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายโภคิน พลกุล) ได้เสนอความเห็นของคณะกรรมการปฏิรูปการเมืองและร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ทั้ง 2 ฉบับ ที่ได้มีการปรับปรุงให้เป็นไปตามความเห็นของคณะกรรมการปฏิรูปการเมืองต่อนายกรัฐมนตรี (นายบรรหาร ศิลปอาชา) เพื่อพิจารณาเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป แต่ได้มีการยุบสภาเสียก่อน80
3. การเสนอร่างกฎหมายจัดตั้งศาลปกครอง และความสำเร็จในการจัดตั้งศาลปกครองในระบบ ศาลคู่
3.1 การเสนอร่างกฎหมายจัดตั้งศาลปกครอง และร่างกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
ในสมัยรัฐบาลพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ (พ.ศ. 2539-2540)
รัฐบาลได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาเมื่อวันพุธที่ 11 ธันวาคม 2539 เกี่ยวกับการจัดตั้ง
ศาลปกครองอย่างชัดเจนไว้ในข้อ 1.3 ว่าจะ เร่งรัดผลักดัน......ให้มีศาลปกครองขึ้นเป็น
เอกเทศจากระบบศาลยุติธรรมโดยสอดคล้องกับบทบัญญัติและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และ
ในข้อ 2.3.1 ว่า ให้ประชาชนมีสิทธิรับรู้ข่าวสารเกี่ยวกับกิจการของรัฐ และการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ของรัฐ
และนายกรัฐมนตรี (พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ) ได้เสนอร่างพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. ....
และร่างพระราชบัญญัติ อื่น 7 ฉบับ ให้สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาพิจารณาเป็นเรื่องด่วนในทันทีที่เข้าบริหารราชการแผ่นดิน81
รัฐสภาได้พิจารณาให้ความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. .... และประกาศใช้เป็นกฎหมายเมื่อวันที่10 กันยายน พ.ศ. 2540 82
กฎหมาย ที่สำคัญ 3 ฉบับ คือ พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 พระราชบัญญัติความผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 และพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 ถือเป็นส่วนเสริมสำคัญที่ทำให้รัฐสภาได้เห็นถึงความสำคัญ และความเร่งด่วนของกฎหมายจัดตั้งศาลปกครอง ทั้งยังมีส่วนสัมพันธ์และเชื่อมโยงกับกฎหมายจัดตั้งศาลปกครองฯ ในด้านการให้ความเป็นธรรมแก่ประชาชนและในด้านการพิจารณาคดีปกครองของศาลปกครอง
ต่อมารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายโภคิน พลกุล) ซึ่งได้รับมอบหมาย
ให้เป็นผู้กำกับดูแลการปฏิบัติราชการของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้มอบหมายให้สำนักงานฯ เสนอร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ....และร่างพระราช-บัญญัติคณะกรรมการกฤษฎีกา (ฉบับที่..) พ.ศ. ..... ที่เคยนำเสนอให้รัฐบาลที่แล้วต่อนายกรัฐมนตรี ซึ่งนายกรัฐมนตรี (พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ) ได้พิจารณาแล้วมีบัญชาเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2539 เห็นชอบให้เสนอร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป
ในขณะเดียวกัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม (นายสุวิทย์ คุณกิตติ) ได้เสนอร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.
. ของกระทรวงยุติธรรมต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาเช่นกัน ร่างพระราชบัญญัติที่กระทรวงยุติธรรมเสนอนี้ เป็นการจัดตั้ง
ศาลปกครองในระบบ ศาลเดี่ยว ซึ่งไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2534 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2538 และนโยบายของรัฐบาล
3.1.1การพิจารณาตัดสินใจของคณะรัฐมนตรี
คณะรัฐมนตรีในคราวประชุมเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2539 ได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ
จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. .... ทั้งสองฉบับที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาและกระทรวงยุติธรรมเสนอ แล้วมีมติมอบให้นายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี (นายสุขวิช รังสิตพล) รองนายกรัฐมนตรี (นายมนตรี พงษ์พานิช) รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายโภคิน พลกุล)และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมรับร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง
พ.ศ. .... และร่างพระราชบัญญัติคณะกรรมการกฤษฎีกา (ฉบับที่..)พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอไปพิจารณาร่วมกับร่างระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองพ.ศ. ....ที่กระทรวงยุติธรรมเสนอโดยให้พิจารณาให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและนโยบายรัฐบาล แล้วให้ดำเนินการต่อไปได้ 83
3.1.2 ความชัดเจนในรูปแบบของศาลปกครอง
ต่อมารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายโภคิน พลกุล) ได้สั่งการให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีจัดทำบันทึกผลการพิจารณาเรื่องการจัดตั้งศาลปกครอง และได้เสนอนายกรัฐมนตรีมีบัญชาให้บรรจุเรื่องการจัดตั้งศาลปกครองไว้ในวาระการประชุมของคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2540 บันทึกผลการพิจารณาเรื่องการจัดตั้งศาลปกครองดังกล่าวมีข้อสรุปรวม 5 ประการ คือ
1) ควรมีการจัดตั้งศาลปกครองโดยเร็ว เรียกชื่อว่า ศาลปกครอง
 
2) ควรมีการเสนอร่างกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง
เพื่อให้เข้าสู่กระบวนการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรตามลำดับขั้นตอน
3) ศาลปกครองที่จะจัดตั้งขึ้นใหม่ควรแยกออกมาจากระบบศาลยุติธรรม โดยจัดเป็นระบบคู่ขนานไปกับศาลยุติธรรมและศาลทหารที่มีอยู่แล้ว
4) ศาลปกครองต้องมีความเป็นอิสระอย่างแท้จริง ควบคุมการแต่งตั้ง โยกย้าย
ถอดถอน การจัดกลไกมิให้ฝ่ายบริหารเข้าแทรกแซง การจัดระบบงบประมาณของตนเอง การให้หลักประกันเรื่องค่าตอบแทนและสิทธิประโยชน์ที่ตุลาการจะไม่ต้องหวั่นไหวกับภาวะการครองชีพมากนัก ตลอดจนการมีหน่วยงานธุรการของตนเองไม่ใช่ให้ศาลปกครองไปสังกัดองค์กรอื่นใดทั้งสิ้น
 
5) ศาลปกครองจำเป็นต้องมีหน่วยงานทางธุรการของตนเอง และเพื่อความเป็นอิสระและขจัดข้อรังเกียจหรือข้อวิตกกังวลใด ๆ ที่มีอยู่ ศาลปกครองควรมีหน่วยงานทางธุรการที่เป็นอิสระไม่สังกัดกระทรวงยุติธรรม สำหรับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกานั้นควรให้ทำหน้าที่ยกร่าง
กฎหมายตรวจพิจารณาร่างกฎหมาย ให้ความเห็นทางกฎหมาย และพัฒนากฎหมายต่อไปเท่านั้น
โดยสมควรจัดตั้งหน่วยงานทางธุรการเป็นเอกเทศของตนเองเพื่อรองรับศาลปกครองโดยเฉพาะ
ในทำนองเดียวกับสำนักงานอัยการสูงสุดหรือสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน
ทั้งนี้ได้มีการปรับปรุงร่างกฎหมายตามโครงสร้างใหม่รวม 3 ฉบับ ดังนี้
(ก) ร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ....
(ข) ร่างพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
(ค) ร่างพระราชบัญญัติคณะกรรมการกฤษฎีกา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีในคราวประชุมเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2540 ได้พิจารณาการจัดตั้งศาล
ปกครองตามเรื่องเดิมที่คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2539 แล้วมีมติ ดังนี้
1) รับทราบผลการพิจารณารายงานของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีที่สรุปเสนอนายกรัฐมนตรี และรับทราบข้อสังเกตของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
2) เห็นชอบในหลักการของร่างพระราชบัญญัติ 3 ฉบับดังกล่าว โดยยึดหลักการ
ให้ศาลปกครองที่จะจัดตั้งขึ้นใหม่เป็นหน่วยงานอิสระและมีหน่วยงานธุรการเป็นอิสระ ไม่สังกัด
ส่วนราชการใด
3) โดยที่ร่างพระราชบัญญัติทั้ง 3 ฉบับยังมีข้อที่ควรปรับปรุงแก้ไขในรายละเอียดจึงส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาโดยจัดตั้งคณะกรรมการร่างกฎหมาย
คณะพิเศษ ตามรายชื่อและประเด็นที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมและรัฐมนตรีประจำสำนัก
นายกรัฐมนตรี (นายโภคิน พลกุล) ร่วมกันพิจารณา เมื่อเสร็จสิ้นแล้วให้นำกลับมาเสนอคณะรัฐมนตรี
โดยด่วน เพื่อส่งให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป
4) เห็นชอบในหลักการที่กระทรวงยุติธรรมเสนอให้ศาลยุติธรรมแยกตัวออกไปเป็นอิสระ โดยมีหน่วยงานทางธุรการเป็นอิสระในทำนองเดียวกับหลักการข้างต้นและให้กระทรวงยุติธรรมตั้งคณะกรรมการปรับปรุงกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาโดยด่วน
ต่อไป
มติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว เป็นการยืนยันให้มีการจัดตั้งศาลปกครองในระบบ ศาลคู่ อีกครั้งหนึ่ง ต่อมาเมื่อคณะกรรมการร่างกฎหมายคณะพิเศษประกอบด้วย นายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน นายคณิต ณ นคร นายเธียร เจริญวัฒนา นายวิฑูรย์ ตั้งตรงจิตต์ นายวิษณุ เครืองาม นายโสภณ รัตนากร นายอักขราทร จุฬารัตน และนายโอสถ โกสิน เป็นกรรมการ ได้ตรวจพิจารณาร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. .... ร่างพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่..) พ.ศ. .... และร่างพระราชบัญญัติคณะกรรมการกฤษฎีกา (ฉบับที่..) พ.ศ. .... โดยได้แก้ไขปรับปรุงให้เป็นไปตามหลักการของร่างที่คณะรัฐมนตรีรับหลักการ ซึ่งกำหนดให้
จัดตั้งศาลปกครองเป็นศาลเชี่ยวชาญพิเศษแยกต่างหากจากศาลยุติธรรมในระบบ ศาลคู่ เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2538 และให้มีการจัดตั้งหน่วยงานธุรการที่เป็นอิสระ ในการประชุมคณะกรรมการร่างกฎหมายคณะพิเศษนี้ได้เชิญรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายโภคิน พลกุล) ไปชี้แจงและให้ความเห็นประกอบและในการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2540 นายกรัฐมนตรีแจ้งที่ประชุมคณะรัฐมนตรีว่าได้รับทราบรายงานความคืบหน้าผลการตรวจพิจารณาของคณะกรรมการร่างกฎหมายคณะพิเศษแล้ว และมีความเห็นว่าสมควรเห็นชอบตามที่ได้มีการแก้ไขให้ศาลปกครองมีความเป็นอิสระในด้านการพิจารณาพิพากษาการเข้าสู่ตำแหน่งการบริหารงานธุรการของศาลปกครอง การบริหารงบประมาณ การบริหารงานบุคคลของศาลปกครองและการปรับปรุงให้สำนักงานศาลปกครองมีความเป็นอิสระยิ่งขึ้น และโดยที่การตรวจพิจารณาในวาระแรกเสร็จแล้วคงอยู่ระหว่างการขัดเกลาถ้อยคำ การตรวจสอบครั้งสุดท้าย การพิมพ์และการเรียบเรียงบันทึกข้อสังเกตเท่านั้น คณะรัฐมนตรีจึงลงมติเห็นควรให้คณะกรรมการร่างกฎหมายคณะพิเศษเร่งดำเนินการต่อไปให้แล้วเสร็จแล้วเสนอนายกรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบอีกครั้งหนึ่ง เพื่อเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป 84
ต่อมาคณะกรรมการร่างกฎหมายคณะพิเศษได้ส่งร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว และบันทึกข้อสังเกตให้เลขาธิการคณะรัฐมนตรีเพื่อเสนอนายกรัฐมนตรี 85
และสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้เสนอนายกรัฐมตรีลงนามหนังสือส่งร่างพระราชบัญญัติ
จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. .... ร่างพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่..) พ.ศ. .... และร่างพระราชบัญญัติคณะกรรมการกฤษฎีกา (ฉบับที่..) พ.ศ. .... รวม 3 ฉบับไปยังสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 254086
และได้รับการบรรจุในวาระการประชุมของสภาผู้แทนราษฎร
เชิงอรรถ
66. คณะทำงานประชาสัมพันธ์การจัดตั้งศาลปกครองตามนโยบายของรัฐบาล (นายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี) สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ข้อควรรู้เกี่ยวกับแนวทางการจัดตั้งศาลปกครองตามนโยบายของรัฐบาล, พ.ศ. 2537 หน้า 7.
[กลับไปที่บทความ]
67. ชาญชัย แสวงศักดิ์ ศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2540 หน้า 17-18.
[กลับไปที่บทความ]
68. อมร จันทรสมบูรณ์. อ้างแล้ว 51, หน้า 690 - 694.
[กลับไปที่บทความ]
69. อมร จันทรสมบูรณ์ และคณะ, อ้างแล้ว 49, หน้า 129 - 143.
[กลับไปที่บทความ]
70. คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 55/2533 ลงวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2533 โดยมีพลเอกเทียนชัย ศิริสัมพันธ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการฯ.
[กลับไปที่บทความ]
71. ชาญชัย แสวงศักดิ์, อ้างแล้ว 56, หน้า 88-93.
[กลับไปที่บทความ]
72. พนม เอี่ยมประยูร การจัดตั้งศาลปกครองไทยจะเดินหน้าหรืออยู่กับที่ จากวารสารกฎหมายปกครอง เริ่ม 13 สิงหาคม 2537 ตอน 2 หน้า 26-27 และโปรดดูรายละเอียดเพิ่มเติมจาก ชาญชัย แสวงศักดิ์ คำอธิบายกฎหมายจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง สำนักพิมพ์วิญญูชน พ.ศ. 2542 หน้า 93-110.
[กลับไปที่บทความ]
73. ชาญชัย แสวงศักดิ์ , อ้างแล้ว 56, วรรคหน้า 93-99.
[กลับไปที่บทความ]
74. มาตรา 195 ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีตามที่กฎหมายบัญญัติ
มาตรา 195 ทวิ พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งและให้ตุลาการในศาลปกครองพ้นจากตำแหน่งก่อนเข้ารับหน้าที่ครั้งแรก ตุลาการในศาลปกครอง ต้องถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ด้วยถ้อยคำตามที่กฎหมายบัญญัติ
มาตรา 195 ตรี การแต่งตั้งและการให้ตุลาการในศาลปกครองพ้นจากตำแหน่งต้องได้รับความเห็นชอบของคณะกรรมการตุลาการศาลปกครองตามที่กฎหมายบัญญัติแล้วจึงนำความกราบบังคมทูล การเลื่อนตำแหน่ง การเลื่อนเงินเดือน และการลงโทษตุลาการในศาลปกครองต้องได้รับความเห็นชอบของคณะกรรมการตุลาการศาลปกครองตามที่กฎหมายบัญญัติ
มาตรา 195 จัตวา การแต่งตั้งและการให้ผู้พิพากษาหรือตุลาการในศาลอื่นนอกจากศาลยุติธรรม ศาลปกครอง และศาลทหารพ้นจากตำแหน่ง ตลอดจนอำนาจพิพากษาคดีและวิธีพิจารณาของศาลดังกล่าวให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลนั้น
มาตรา 195 เบญจ ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลยุติธรรมกับศาลอื่น หรือระหว่างศาลอื่นด้วยกันให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญเป็นผู้วินิจฉัย
[กลับไปที่บทความ]
75. (1) กฎหมายดังกล่าวได้ยกร่างโดยคณะอนุกรรมการยกร่างกฎหมายเกี่ยวกับวิธีพิจารณาทางปกครอง ซึ่งแต่งตั้งโดยคณะกรรมการการพัฒนาระบบบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรี (นายบัญญัติ บรรทัดฐาน เป็นประธาน) คณะอนุกรรมการดังกล่าวได้ยกร่างกฎหมายที่กำหนดหลักเกณฑ์สำหรับการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ในทางปกครอง ตามคำสั่งคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดิน ที่ 7/2536 เพื่อช่วยให้เจ้าหน้าที่ของรัฐสามารถดำเนินการต่าง ๆ ได้โดยถูกต้องตามกฎหมาย และเกิดความเป็นธรรมแก่ประชาชนผู้เกี่ยวข้อง รวมทั้งกฎหมายที่กำหนดให้เอกชนได้รู้ข่าวสารต่าง ๆ ในหน่วยงานของรัฐด้วย รวม 3 ฉบับ คือ 1) ร่างพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. .... 2) ร่างพระราชบัญญัติความรับผิดชอบทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. .... 3) ร่างพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. ....
(2) คำสั่งคณะกรรมการพัฒนาระบบบริหารราชการแผ่นดิน ที่ 7/2536 เรื่อง แต่งตั้งคณะอนุกรรมการยกร่างกฎหมายเกี่ยวกับวิธีพิจารณาทางปกครอง ประกอบด้วย เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ประธานอนุกรรมการ โดยมีอนุกรรมการจำนวน 16 ท่าน คือ 1) นายกมลชัย รัตนสกาววงศ์ 2) นายชัยวัฒน์
วงศ์วัฒนศานต์ 3) นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ 4) นายบุญศรี มีวงศ์อุโฆษ 5) นายพนม เอี่ยมประยูร
6) นายพิทยา บวรวัฒนา 7) นายโภคิน พลกุล 8) นายรังสิกร อุปพงศ์ 9) นายฤทัย หงษ์ศิริ 10) นายวิษณุ เครืองาม 11) นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ 12) นายสมยศ เชื้อไทย 13) นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล 14) นายอภิรัตน์ เพ็ชรศิริ 15) นายอักขราทร จุฬารัตน และ 16) นายเอนก ศรีสนิท ซึ่งกำหนดให้เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาแต่งตั้งข้าราชการของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นอนุกรรมการและเลขานุการคนหนึ่ง กับอนุกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการอีกสองคนร่างกฎหมายเกี่ยวกับวิธีพิจารณาทางปกครอง ได้เปลี่ยนชื่อเป็นร่างพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการการปกครอง
อ้างใน ชาญชัย แสวงศักดิ์, พระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539, สำนักพิมพ์วิญญูชน พ.ศ. 2541 หน้า 32.
[กลับไปที่บทความ]
76. ราชกิจจานุเบกษาเล่ม 113 ตอนที่ 30 ก วันที่ 14 พฤศจิกายน 2539.
[กลับไปที่บทความ]
77. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 113 ตอนที่ 30 ก วันที่ 14 พฤศจิกายน 2539.
[กลับไปที่บทความ]
78. ชาญชัย แสวงศักดิ์, เพิ่งอ้าง หน้า 30-34.
[กลับไปที่บทความ]
79. คณะอนุกรรมการชุดนี้แต่งตั้งขึ้นโดยคณะกรรมการปฏิรูปการเมืองในสมัยรัฐบาลของนายบรรหาร ศิลปอาชา หน้าที่สำคัญเรื่องหนึ่งคือ เสนอแนวทางการจัดตั้งศาลปกครองให้สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ และนโยบายของรัฐบาลเพื่อเสนอความเห็นต่อคณะกรรมการปฏิรูปการเมือง.
[กลับไปที่บทความ]
80. ชาญชัย แสวงศักดิ์, อ้างแล้ว 56, หน้า 101-102.
[กลับไปที่บทความ]
81. ในระหว่างนั้นนายประยุทธ์ ศิริพาณิชย์ และนายสุรสิทธิ์ นิติวุฒิวรรักษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคชาติไทย และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาธิปัตย์ กับคณะก็ได้เสนอร่างพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. .... ต่อสภาผู้แทนราษฎรเช่นเดียวกัน สภาผู้แทนราษฎรประชุมเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2539 แล้วลงมติรับหลักการพระราชบัญญัติดังกล่าวข้างต้นทั้ง 3 ฉบับ และได้พิจารณาร่างเห็นชอบพระราชบัญญัติดังกล่าวในวาระที่ 2 และวาระที่ 3 ต่อมาวุฒิสภา ได้ประชุมเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2540 และมีมติให้แก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวที่ได้ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรแล้วในหลายมาตรา และให้ส่งคืนสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2540 และสภาผู้แทนราษฎรได้ประชุมเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2540 ได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวแล้วมีมติว่าเป็นการแก้ไขเล็กน้อย และให้ดำเนินการต่อไปได้ นายกรัฐมนตรีได้นำร่างพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. .... ที่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาแล้วขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย
อ้างใน โภคิน พลกุล พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 : หนทางสู่ราชการในระบบเปิด สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการปฏิรูประบบราชการ , 2540 หน้า 22-32.
[กลับไปที่บทความ]
82. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 114 ตอนที่ 46 ก วันที่ 10 กันยายน 2540.
[กลับไปที่บทความ]
83. หนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ที่ นร 0214/24 ลงวันที่ 3 มกราคม 2540.
[กลับไปที่บทความ]
84. หนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ด่วนที่สุด ที่ นร 0204/2069 ลงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2540.
[กลับไปที่บทความ]
85. หนังสือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ด่วนที่สุด ที่ นร 0601/100 ลงวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2540.
[กลับไปที่บทความ]
86. หนังสือสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ นร 0204/2065 ลงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2540.
[กลับไปที่บทความ]
ลงเผยแพร่ครั้งแรกใน Public Law Net วันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2544
|
|
 |
พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=178
เวลา 21 เมษายน 2568 20:44 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)
|
|