คอป. เห็น ‘ตุลาการ’ ชัดกว่า ‘ชายชุดดำ’

23 กันยายน 2555 20:12 น.

       รายงานฉบับสมบูรณ์ โดย ‘คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ’ (คอป.) ได้ กล่าวถึง ประเด็น ‘สถาบันตุลาการ’ ไว้พอสมควร ซึ่งผู้เขียนจะขอนำเนื้อหาบางส่วนมาชวนสังคมร่วมกันคิดต่อว่า ‘ตุลาการ’ เป็นส่วนหนึ่งของ ‘รากเหง้า’ ความขัดแย้งหรือไม่ ? และ ‘ตุลาการ’ ควรจะปรับตัวเพื่อร่วมสร้างความปรองดองในสังคมไทยอย่างไร ? ดังนี้
        
       1. นักการเมืองซุกหุ้น แต่ตุลาการ หักดิบ’ กฎหมาย
       คอป. เล่าถึงบริบทความขัดแย้งตาม ‘แบบฉบับมาตรฐาน’ โดยนำยุคสมัย ‘รัฐบาลไทยรักไทย’ มาเป็นจุดเริ่มต้นของลำดับเหตุการณ์  รายงาน คอป. ระบุว่า
       “[รัฐบาลไทยรักไทย] ถูกกล่าวหาว่าละเมิดหลักการประชาธิปไตย หลักนิติธรรม คุณธรรมและสิทธิมนุษยชน ใช้อำนาจแสวงหาผลประโยชน์ทางการเมืองและธุรกิจ แต่ระบบตรวจสอบกลับอ่อนแอและขาดประสิทธิภาพและถูกกล่าวหาว่าถูกแทรกแซงโดยฝ่ายบริหาร จนทำให้ผู้นำกองทัพทำรัฐประหารในปี 2549 ซึ่งเป็นการใช้อำนาจนอกระบบในการแก้ปัญหาและเป็นการละเมิดหลักประชาธิปไตยอย่างร้ายแรง แทนที่จะเป็นการแก้ปัญหาทางการเมือง การรัฐประหารกลับกลายเป็นเงื่อนไขที่ทำให้ความขัดแย้งทางการเมืองขยายตัว มีความซับซ้อนและเป็นบาดแผลทางการเมืองที่ร้าวลึกมาจนถึงปัจจุบัน” (หน้า 53-54)
        
       จากนั้น คอป.  จึงวิเคราะห์เชื่อมโยงความเกี่ยวข้องระหว่าง ‘ตุลาการ’ และความรุนแรงทางการเมือง โดยให้ความสำคัญอย่างมากกับ ‘คดีซุกหุ้น’ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยเมื่อปี 2544 ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มิได้กระทำผิดกฎหมาย โดยรายงาน คอป. ระบุว่า
       “อำนาจตุลาการซึ่งควรต้องมีบทบาทและหน้าที่ในการผดุงไว้ซึ่งหลักนิติธรรม กลับไม่สามารถทำหน้าที่ในการยุติความขัดแย้งทางการเมืองได้ และยังถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นผู้ละเมิดหลักนิติธรรมเสียเอง” (หน้า 54, เน้นคำหนาโดย คอป.) และระบุต่อว่า “กรณีจึงกลายเป็นปัญหารากเหง้าและปมปัญหาของความขัดแย้งในระยะต่อมา…”  (หน้า 54, เน้นคำโดยผู้เขียน)
        
       ยิ่งไปกว่านั้น คอป. ได้วิเคราะห์ถึงปัญหาทางกฎหมายของคำวินิจฉัยดังกล่าวอย่างเจาะจง และอ้างถึงความคิดเห็นของตุลาการรายบุคคลสองท่าน ก่อนจะติติงอย่างเข้มข้นถึงคำวินิจฉัย ‘คดีซุกหุ้น’ดังกล่าวว่า
       เป็น “การปฏิบัติที่ผิดหลักกฎหมายโดยแท้” และเป็น “ความผิดพลาดของศาลรัฐธรรมนูญ” ซึ่ง “เป็นการบิดเบือนหรือหักดิบกฎหมาย อันเป็นจุดเริ่มต้นที่ทให้สังคมเกิดความเคลือบแคลงในหลักนิติธรรมของประเทศไทย”  (รายงานหน้า 55, เน้นคำโดยผู้เขียน)
        
       2. ความขัดแย้งลุกลามบานปลาย เพราะ ‘ตุลาการ’ ยอมรับ ‘รัฐประหาร’
       แม้รายงาน คอป. (ส่วนที่ 2) จะสรุปปัญหาความขัดแย้งโดยวิพากษ์ถึง ‘ตุลาการ’ ในบริบท ‘คดีซุกหุ้น’ ก่อนการรัฐประหาร พ.ศ. 2549 อย่างเข้มข้น แต่ คอป. กลับมิได้ต่อยอดหรือเจาะลึกถึงกรณีที่ ‘ตุลาการ’ ได้สร้างหรือทวีความขัดแย้ง ‘ภายหลังการรัฐประหาร’ เลย (ซึ่งผู้เขียนก็เห็นใจ หาก คอป. จะวิเคราะห์ ก็อาจจำต้องออกรายงานแยกอีกเล่ม และใช้เวลาอีกปีก็เป็นได้)
       ประเด็น ‘ตุลาการหลังการรัฐประหาร’ ไม่ได้ถูกนำมาวิเคราะห์ในฐานะส่วนหนึ่งของลำดับเหตุการณ์ความรุนแรงในรายงานส่วนที่ 2 แต่ประเด็น ‘ตุลาการ’ กลับมาปรากฏอีกครั้งในรายงานส่วนที่ 3  ซึ่ง คอป. ได้วิเคราะห์ถึงปัจจัยที่เกี่ยวกับรากเหง้าปัญหาความขัดแย้งในระยะบ่มเพาะ โดย รายงาน คอป. ระบุว่า 
       “รากเหง้าของปัญหาด้านกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมาย โดยกระบวนการยุติธรรมเป็นปัญหาที่เกิดจากความคับข้องใจ เมื่อระบบการเมืองมีปัญหาและมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลหลายชุด รวมทั้งมีการรัฐประหารหลายครั้ง ทำให้เกิดความเคลือบแคลงใจในกระบวนการบังคับใช้กฎหมายที่ยอมรับคำสั่งของคณะปฏิวัติในฐานะผู้ทรงอำนาจรัฐว่าถูกต้อง และบางฝ่ายไม่ยอมรับกติกาสังคมที่มีอยู่ในการจัดการความขัดแย้ง ความขัดแย้งจึงลุกลามบานปลายและเกิดความรุนแรงขึ้น ท้ายที่สุดจึงนำไปสู่กระบวนการตุลาการภิวัฒน์ซึ่งทำให้เป็นที่ถกเถียงวิพากษ์วิจารณ์ในเวลาต่อมา” (หน้า 201)
       หากกล่าวโดยจับใจความอย่างอ้อม อาจสรุปได้ว่า คอป. มองว่า ‘ตุลาการ’ ในฐานะผู้บังคับใช้กฎหมายและเป็นกลไกหัวใจของกระบวนการยุติธรรม ก็เป็นส่วนหนึ่งของรากเหง้าปัญหาความขัดแย้งในสังคมไทย โดยปัญหามิได้มีเฉพาะจากกรณี ‘คดีซุกห้น’ เท่านั้น แต่ยังเป็นผลโดยรวมจากการ “ยอมรับคำสั่งของคณะปฏิวัติ” ตลอดมาด้วย
       น่าสังเกตว่า ในรายงานส่วนนี้ คอป. กลับไม่เจาะจงวิเคราะห์คดีต่างๆ ที่เกิดขึ้นหลังการรัฐประหาร เช่น การรับรองอำนาจของผู้ก่อการรัฐประหาร หรือ องค์กรที่ถูกแต่งตั้งโดยผู้ก่อการรัฐประหารแต่อย่างใด
        
       3. ‘ตุลาการภิวัฒน์’ ยุบพรรค-ห้ามทำกับข้าว
       ประเด็น ‘ตุลาการหลังการรัฐประหาร’ ถูกนำมากล่าวถึงต่อในส่วนที่รายงานถึงบริบทของ “ความขัดแย้งในระดับการช่วงชิงอำนาจ (Power Struggle)”โดย คอป. ได้ใช้ภาษาอย่างกว้างๆ เพื่อกล่าวถึงกรณีที่มีผู้วิจารณ์ประเด็น ‘ตุลาการภิวัฒน์’  ซึ่ง คอป. ก็มิได้ให้นิยามไว้ชัด (และผู้เขียนก็ไม่ปรารถนาที่จะใช้คำนี้ เพราะฟังแล้วดูขัดกับความหมาย) โดย รายงาน คอป. ระบุว่า 
       “เมื่อโครงสร้างการถ่วงดุลอำนาจระหว่างฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญัญัติเสียดุลไป กล่าวคือ ฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติเป็นฝ่ายเดียวกัน เนื่องจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เป็นผู้เลือกนายกรัฐมนตรีและมาจากพรรคเดียวกัน ฝ่ายตุลาการจึงเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในการถ่วงดุลอำนาจ ทำให้เกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์ในลักษณะที่ไม่ยอมรับกลไกของกระบวนการยุติธรรม และนำไปสู่การโจมตีบทบาทดังกล่าว ทำให้สังคมมีสภาพที่เสมือนหนึ่งขาดผู้รักษากติกาที่เป็นกลางในสถานการณ์ความขัดแย้งเช่นนี้” (หน้า 212)
       สังเกตได้ว่า คอป. เลือกใช้ภาษาที่ไม่ผูกมัดตนเอง และไม่ได้เป็นฝ่ายวิจารณ์ ‘ตุลาการ’ เหมือนกรณีที่ คอป. วิจารณ์ ‘คดีซุกหุ้น’ ในรายงานหน้า 54-55 ซ้ำยังใช้รูปประโยคที่ฟังประหนึ่ง ‘ตุลาการ’ เป็นฝ่ายถูกโจมตีบทบาทฝ่ายเดียว
       อีกทั้งการใช้ถ้อยคำที่ว่า “เสมือนหนึ่งขาดผู้รักษากติกาที่เป็นกลาง” ฟังขัดแย้งกับข้อวิจารณ์ที่ คอป. มีต่อ ‘ตุลาการ’ ในหน้า 54-55 และ หน้า 201 เพราะหาก คอป. ยอมรับว่าการยอมรับรัฐประหารคือปัญหาพื้นฐานในทางกระบวนการยุติธรรม คอป. ก็ย่อมชอบที่จะยอมรับสภาวะที่ “ขาดผู้รักษากติกาที่เป็นกลาง” อย่างแท้จริง
       ยิ่งไปกว่านั้น คอป. ได้โยงประเด็น “การถ่วงดุลอำนาจระหว่างฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญัญัติเสียดุล” เสมือนเป็นเหตุผลที่ทำให้ ‘ตุลาการ’ เข้ามามีบทบาทที่ถูกวิจารณ์ ซึ่งผู้เขียนก็ไม่แน่ใจว่า คอป. มีวิธีการวัดการเสียดุลที่ว่าอย่างไร มากไปกว่าการมองว่า ส.ส. เป็นผู้เลือกนายกรัฐมนตรีและมาจากพรรคเดียวกัน
       จากนั้น คอป. ก็กล่าวถึง ‘ตุลาการหลังการรัฐประหาร’ เพียงผ่านๆ โดยในเชิงอรรถที่ 421 คอป. ได้ยกตัวอย่างกรณี  ‘ตุลาการภิวัฒน์’ ได้แก่
       - กรณีศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคการเมือง 4 พรรค คือ พรรคไทยรักไทย พรรคแผ่นดินไทย พรรคพัฒนาชาติไทย และพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า โดยเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคเป็นเวลา 5 ปีตามคำสั่งผู้ทำรัฐประหาร
       - กรณีศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี เป็นพิธีกรรายการ ชิมไปบ่นไป และ ยกโขยงหกโมงเช้า เข้าข่ายเป็นลูกจ้างบริษัทเอกชนซึ่งเป็นคุณสมบัติต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ ทำให้นายสมัคร สุนทรเวช พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
       - กรณีศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคการเมือง ๓ พรรค ที่ถูกกล่าวหาว่าทุจริตการเลือกตั้ง คือ พรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาธิปไตย จึงทำให้นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ รักษาการหัวหน้าพรรคพลังประชาชนพ้นจากตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี
       กระนั้นก็ดี สังเกตได้ว่า ในส่วนนี้ คอป. ก็มิได้วิเคราะห์เจาะลงไปในคดีต่างๆ เหล่านี้แต่อย่างใด
        
       4. เมื่อ ‘ตุลาการ’ สรรหา ‘องค์กรอิสระ’  
       นอกจากกรณีที่ ‘ตุลาการ’ เข้าไปตัดสินคดีแล้ว คอป. ได้กล่าวถึงกรณีที่ ‘ตุลาการ’ มีบทบาทในการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ จน “ถูกมอง” ว่าเป็นการใช้อำนาจตุลาการเพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง โดยรายงาน คอป. ระบุว่า
       “การแก้ไขกระบวนการสรรหาโดยให้องค์กรตุลาการมีบทบาทมากขึ้น ประกอบกับการตัดสินคดีหลายคดีของศาลรัฐธรรมนูญและศาลปกครอง ทำให้องค์กรตุลาการถูกมองว่ามีบทบาทมากขึ้นในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง และใช้อำนาจตุลาการเพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง อันทำให้เกิดข้อถกเถียงเรื่องตุลาการภิวัฒน์มากยิ่งขึ้น” (หน้า 212 - 213 เชิงอรรถที่ 422)
       เป็นที่น่าเสียดายว่า คอป. ไม่ได้นำเรื่องโครงสร้างการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมถึงสมาชิกวุฒิสภา มาวิเคราะห์ถึงปัญหาในการตรวจสอบถ่วงดุล ‘ตุลาการ’ (ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อม) อย่างเป็นรูปธรรมแต่อย่างใด
       ตรงกันข้าม คอป. กลับเลือกกล่าวถึงเฉพาะปัญหาการแทรกแซงองค์กรอิสระ เช่น กรณีคณะกรรมการการเลือกตั้งถูกศาลตัดสินจำคุก (เชิงอรรถที่ 423) โดยไม่ได้วิเคราะห์ในมุมกลับว่าการที่ ‘ตุลาการ’ ตัดสินจำคุกคณะกรรมการการเลือกตั้งนั้น ถูกต้องชอบธรรมและมีนัยเกี่ยวพันกับความขัดแย้งอย่างไร
        
       5. ข้อเสนอ คอป. ต่อ ‘ตุลาการ’
       หลังจากที่ คอป. ได้วิเคราะห์ถึงประเด็น ‘ตุลาการ’ ในบริบทของสถานการณ์และรากเหง้าของความขัดแย้งแล้ว  คอป. ก็ได้สรุปถึงปัญหาหลักนิติธรรมและกระบวนการยุติธรรมในภาพรวม โดย รายงาน คอป. ระบุว่า
       “ความเคลือบแคลงในหลักนิติธรรมและกระบวนการยุติธรรมของประเทศเป็นปัจจัยสคัญที่กระตุ้นให้เกิดความไม่ไว้วางใจและความรู้สึกที่เป็นปรปักษ์ต่อกัน การขาดความเชื่อมั่นในหลักนิติธรรมที่เกิดขึ้นมิใช่เป็นเฉพาะความไม่ไว้วางใจต่อองค์กรใดองค์กรหนึ่งในกระบวนการยุติธรรม หรือประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายเท่านั้น แต่เป็นความไม่ไว้วางใจต่อระบบกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมโดยรวมทั้งระบบอันสืบเนื่องมาจากความขัดแย้ง” (หน้า 246)
        
       จากนั้น คอป. ก็มีข้อเสนอแนะอย่างกว้าง แต่ก็เน้นถึง ‘ตุลาการ’ อย่างชัดเจน โดยระบุว่า
       “คอป. ขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายให้ความสคัญกับการกหนดบทบาทที่เหมาะสมตามแนวทางการปกครองในระบอบประชาธิปไตยภายใต้หลักนิติธรรม โดยเฉพาะอำนาจตุลาการ ซึ่งเป็นอำนาจสูงสุดในการวินิจฉัยข้อพิพาทและข้อขัดแย้งต้องพึงระมัดระวังเป็นพิเศษในการใช้อนาจที่เหมาะสมภายในกรอบกฎหมายและหลักนิติธรรม เพื่อให้การใช้อนาจอธิปไตยของฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการเป็นไปอย่างมีดุลยภาพ” (หน้า 247 , เน้นคำโดยผู้เขียน)
        
       ความเห็นเพิ่มเติมต่อ รายงาน คอป. ในส่วนที่เกี่ยวกับ ‘ตุลาการ’
        
       1. ขอบคุณที่ไม่ลืม ‘ตุลาการ’ แต่อย่าจำแค่ ‘คดีซุกหุ้น’
       การพิจารณาคุณค่าของรายงาน คอป. ฉบับนี้ คงมิอาจพิจารณาแยกส่วนเฉพาะในประเด็น ‘ตุลาการ’ ได้ แต่ผู้เขียนก็ยินดีและขอบคุณที่ คอป. ไม่ละเลยที่จะกล่าวถึง ‘ตุลาการ’ ไม่ว่าจะในฐานะ ‘สาเหตุ’ หรือ ‘ปัจจัย’ ของความขัดแย้ง โดยเฉพาะในยุคสมัยที่ครูบาอาจารย์นิติศาสตร์ไทยดูจะไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าวเท่าที่ควร
       อย่างไรก็ดี น่าเสียดายที่ คอป. กลับไม่วิเคราะห์เจาะจงถึงการใช้อำนาจ ‘ตุลาการ’ กรณีอื่น โดยเฉพาะกรณีที่ตามมาหลังจากการรัฐประหาร ซึ่งหากพิจารณาทุกกรณีรวมกัน อาจเห็นได้ว่าได้ ‘อำนาจตุลาการ’ ได้ถูกนำมาใช้ทำลายกฎหมาย ทำลายหลักนิติรัฐนิติธรรม และเกี่ยวพันกับความขัดแย้งในระดับที่ร้ายแรงไม่น้อยไปกว่า ‘คดีซุกหุ้น’ แต่อย่างใด
        
       2. ปมความขัดแย้ง และปม ‘ตุลาการ’ มีมานานก่อน ‘รัฐบาลไทยรักไทย’  
       แม้ คอป. จะได้กล่าวถึงปัญหาเรื่องชนชั้นทางเศรษฐกิจและสังคมในช่วงท้ายของรายงาน แต่การทำความเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นในสมัย ‘รัฐบาลไทยรักไทย’ ซึ่ง คอป. นำมาลำดับในช่วงต้นของรายงานนั้น คงยากจะสมบูรณ์หากไม่ลำดับกลับไปถึงปัญหา ‘ลัทธิรัฐประหาร’ และ ‘ระบอบอำนาจนิยม’ ที่ชนชั้นนำ (รวมถึง ‘ตุลาการ’) ได้สมยอมให้สืบแพร่กันมาก่อนที่ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ หรือ ‘พรรคไทยรักไทย’ จะกำเนิดขึ้นมาเสียอีก และระบอบลัทธิเหล่านี้เอง ที่ทำให้สิ่งที่ถูกเรียกว่า ‘ระบอบทักษิณ’ (หากระบอบที่ว่าจะมีจริง) กำเนิดขึ้นตามมาในที่สุด
        
       กล่าวอีกทางก็คือ ‘ลัทธิรัฐประหาร’ มิได้โค่นล้ม ‘ระบอบทักษิณ’  อย่างที่หลายฝ่ายเข้าใจ ตรงกันข้าม ‘ระบอบทักษิณ’ ต่างหากที่เป็นผลพวงจาก ‘ลัทธิรัฐประหาร’ และตราบใดที่ ‘ลัทธิรัฐประหาร’ ซึ่งสืบแพร่กันโดยอาศัย ‘ตุลาการ’ ไม่สิ้นไป ‘ระบอบทักษิณ’ (ภายใต้หน้าใหม่ชื่อใหม่) ก็จะเกิดดับสลับกับการรัฐประหารเป็นวงจรอุบาทว์ไม่หมดสิ้น (ผู้เขียนเคยวิเคราะห์เรื่องนี้ไว้ที่ http://bit.ly/VPProcess ) 
        
       3. ‘ตุลาการ’ ต้องถูกวิจารณ์ ในฐานะสถาบันอันเป็นความหวังในทางประชาธิปไตย
        ‘ตุลาการ’ เป็นสถาบันสำคัญในการแก้ไขความขัดแย้ง และความเป็น ‘สถาบัน’ ย่อมหมายถึงการสั่งสมประสบการณ์ที่จะนำมาขัดเกลา เรียนรู้ พัฒนา และคัดเลือกสรรหาตุลาการด้วยกันเอง ดังนั้น การที่ตุลาการ ‘ชุดหนึ่งชุดใด’ ใน ‘ศาลหนึ่งศาลใด’ ตัดสินคดีอย่างไร้คุณภาพ ก็ย่อมสะท้อนถึงความไร้คุณภาพของ ‘สถาบันตุลาการ’ ในภาพรวม 
       กล่าวให้เข้าใจโดยง่าย หากสังคมเห็นว่ามี ‘ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ’ ที่ได้รับการคัดเลือกมาจาก ‘ที่ประชุมใหญ่ของศาลฎีกา’ รายใด ใช้อำนาจอย่างผิดพลาดขัดหลักกฎหมาย คำวิจารณ์จะหยุดแต่เพียงที่ตัว ‘ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ’ รายดังกล่าว หรือเพียงแค่ ‘ศาลรัฐธรรมนูญ’ ศาลเดียวไม่ได้
        
       4. ประเด็น ‘ตุลาการ’ ไม่ได้เป็นปัญหาในอดีตเท่านั้น แต่ยังคงเป็นปัญหาที่รุมเร้าและเร่งด่วนมาถึงปัจจุบัน  
       แม้ในขณะที่ คอป. กำลังจะสิ้นสุดการทำหน้าที่ แต่ คอป. ก็ได้บันทึกในรายงานหน้า 27 ว่า คอป. เกิดความกังวลใหม่จากกรณีที่ ‘ศาลรัฐธรรมนูญ’ ได้รับคำร้องเกี่ยวกับกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ว่าเป็นการดำเนินการที่ขัดกับมาตรา 68 แห่งรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่ง คอป. เอง ก็ได้ออกหนังสือเรียกร้องให้ “องค์กรตุลาการโดยเฉพาะอย่างยิ่งศาลรัฐธรรมนูญต้องรักษาไว้ซึ่งหลักความเป็นอิสระและความเป็นกลางในการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายตามหลักนิติธรรมอย่างเคร่งครัด เที่ยงธรรม”
        
       5. ประเด็น ‘ตุลาการ’ นี้ ได้ถูกหยิบยกขึ้นเน้นในระดับสากล  
       เห็นได้จากล่าสุดที่ ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติได้แสดงความ ‘ยินดี’ ต่อการเปิดเผยรายงาน โดย คอป.  พร้อมเน้นถึงความสำคัญของการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม และ ‘สถาบันตุลาการ’ ที่เป็นอิสระ (http://bit.ly/UNwelcomesKorOrPor) ซึ่งผู้เขียนย้ำว่า นอกจาก ‘สถาบันตุลาการ’ จะต้องเป็นอิสระจากฝ่ายการเมืองแล้ว ย่อมต้องอิสระจากการครอบงำโดยอำนาจของลัทธิรัฐประหารเช่นกัน แต่มิได้หมายความว่าจะเป็นอิสระจากการตรวจสอบใดๆ
        
       6. การปรองดองในชาติ จะเกิดขึ้นไม่ได้ หาก ‘ตุลาการ’ ไม่ปรองดองด้วย
       เมื่อพิจารณาจากรายงานของ คอป. โดยรวมแล้ว อาจกล่าวได้ว่า ‘การปรองดองในชาติ’ จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หาก ‘ตุลาการ’ ไม่ยอมปรับตัวให้เข้ากับสังคมประชาธิปไตยภายใต้กฎหมาย การเปลี่ยนแปลงที่ว่านี้ นอกจากจะต้องเกิดขึ้นในเชิงโครงสร้าง  เช่น โดยการแก้ไขรัฐธรรมนูญในส่วนอำนาจหน้าที่และที่มาของศาลต่างๆ แล้ว  ยังจะต้องเกิดขึ้นในระดับวัฒนธรรมองค์กร ซึ่งเป็นเรื่องภายในของสถาบันตุลาการด้วยเช่นกัน
        
       ผู้เขียนเองจึงขอฝากความหวังและเป็นกำลังใจให้บรรดาตุลาการของประชาชนที่มีใจเป็นธรรม โดยเฉพาะตุลาการรุ่นใหม่ ให้ช่วยพาสังคมไทยให้หลุดพ้นไปจากวงจรอุบาทว์แห่งลัทธิรัฐประหาร-อำนาจนิยม ดังที่เป็นอยู่ทุกวันนี้
       ---
       รายงาน คอป. ฉบับสมบูรณ์ อ่านได้ที่ http://bit.ly/BlackMen
        
        
        


พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=1771
เวลา 22 พฤศจิกายน 2567 18:13 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)