|
 |
ศาลรัฐธรรมนูญในปรเทศฝรั่งเศส ตอนที่ 4 (ตอนจบ) 20 ธันวาคม 2547 16:24 น.
|
5 การวินิจฉัยชี้ขาดและผลของคำวินิจฉัย
 
มาตรา 14 แห่งรัฐกำหนดประกอบรัฐธรรมนูญ ที่ 58-1067 ลงวันที่ 7 พฤศจิกายน ค.ศ. 1958 บัญญัติไว้ถึงเรื่องการออกเสียงลงมติของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญไว้ว่า คำวินิจฉัยหรือคำสั่งของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญจะต้องทำโดยตุลาการรัฐธรรมนูญจำนวนไม่น้อยกว่า 7 คน (องค์ประกอบปกติของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ คือ 9 คน) เว้นแต่จะมีเหตุสุดวิสัย (force majeure) เกิดขึ้น ซึ่งคำว่าเหตุสุดวิสัยนั้นหมายความรวมถึงการเจ็บไข้ได้ป่วยของตุลาการรัฐธรรมนูญจนไม่สามารถเข้าร่วมประชุมได้ด้วย
 
การออกเสียงลงมติโดยทั่วไปจะต้องเป็นไปตามเสียงข้างมาก (เว้นแต่ในบางกรณีที่
รัฐธรรมนูญกำหนดให้ต้องได้รับคะแนนเสียงเอกฉันท์ เช่น การลงมติว่าประธานาธิบดีไม่สามารถ
ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ ตามมาตรา 7) ในกรณีที่มีคะแนนเสียงเท่ากัน คือ มีคะแนนเสียงเป็นเลขคู่ ซึ่งอาจเกิดจากตุลาการรัฐธรรมนูญขาดประชุม 1 คน รัฐธรรมนูญมาตรา 56 วรรคท้าย ได้วางกลไกในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วยการกำหนดให้ประธานตุลาการรัฐธรรมนูญมีสิทธิออกเสียงชี้ขาดในกรณีที่มีคะแนนเสียงเท่ากัน ซึ่งก็หมายความถึงประธานตุลาการรัฐธรรมนูญจะสามารถออกเสียงได้ 2 ครั้ง ครั้งแรกในฐานะตุลาการรัฐธรรมนูญ และครั้งที่ 2 ในฐานะประธาน ซึ่งรัฐธรรมนูญกำหนดให้สามารถออกเสียงชี้ขาดได้เฉพาะในกรณีคะแนนเสียงเท่ากันเท่านั้น
 
การวินิจฉัยชี้ขาดและผลของคำวินิจฉัยสามารถแยกพิจารณาได้เป็น 2 กรณี คือ การวินิจฉัยชี้ขาดและผลของคำวินิจฉัยกรณีการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายและการวินิจฉัยชี้ขาดและผลของคำวินิจฉัยกรณีการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของพันธกรณีระหว่างประเทศ
 5.1 การวินิจฉัยชี้ขาดและผลของคำวินิจฉัยกรณีการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมาย สามารถแบ่งได้เป็น 3 กรณี เพื่อให้สอดคล้องกับอำนาจหน้าที่ของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญดังกล่าวมาแล้วข้างต้น
 
5.1.1 การวินิจฉัยชี้ขาดและผลของคำวินิจฉัยกรณีการควบคุมขอบเขตการใช้อำนาจนิติบัญญัติระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติกับฝ่ายบริหาร เมื่อเกิดกรณีเป็นปัญหาว่ากฎหมายที่จะประกาศใช้บังคับมีบทบัญญัติใดที่อยู่ในขอบเขตอำนาจของฝ่ายบริหาร คณะตุลาการรัฐธรรมนูญจะต้องทำการวินิจฉัยชี้ขาดว่าเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่อยู่ในอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติหรือฝ่ายบริหารดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 26 แห่งรัฐกำหนดประกอบรัฐธรรมนูญ ที่ 58-1067 ลงวันที่ 7 พฤศจิกายน ค.ศ. 1958
 
คำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญมีผลผูกพันทั้งฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 62 แห่งรัฐธรรมนูญ
 
5.1.2 การวินิจฉัยชี้ขาดและผลของคำวินิจฉัยกรณีการควบคุมที่รัฐธรรมนูญบังคับไว้ให้ต้องทำ มี 2 กรณี คือ
 
ก. ข้อบังคับสภา ในกรณีที่คณะตุลาการรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ข้อบังคับสภาที่ตรวจสอบ "สอดคล้อง" กับรัฐธรรมนูญ สภาซึ่งเป็นเจ้าของข้อบังคับนั้นก็สามารถนำมาใช้บังคับได้ทันที แต่ถ้าหากคณะตุลาการรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าข้อบังคับนั้น "ไม่สอดคล้อง" กับรัฐธรรมนูญ คณะตุลาการรัฐธรรมนูญก็จะส่งข้อบังคับนั้นกลับไปให้สภาเจ้าของข้อบังคับพิจารณาใหม่ เนื่องจากไม่มีกฎเกณฑ์เกี่ยวกับระยะเวลาในการพิจารณา จึงขึ้นอยู่กับสภาว่าจะพิจารณาทบทวนข้อบังคับนานเท่าใด ในทางปฏิบัติแล้ว สภามักจะแก้ตามที่คณะตุลาการรัฐธรรมนูญต้องการ เพราะไม่มีทางอื่นที่จะทำได้หากไม่ทำก็ไม่สามารถประกาศใช้ได้
 
คำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญในกรณีนี้มีผลผูกพันสภาเจ้าของข้อบังคับที่จะต้องปฏิบัติตาม
 
ข. กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ
 
เมื่อคณะตุลาการรัฐธรรมนูญได้ทำการตรวจสอบว่ากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่รัฐสภาได้พิจารณาเสร็จแล้วสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญหรือไม่อย่างไรนั้น คณะตุลาการรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยได้ 3 กรณีด้วยกัน คือ
 
(1) วินิจฉัยว่าร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ เมื่อคณะตุลาการรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญใดสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแล้ว สิ่งที่จะต้องทำต่อไป คือ จัดให้มีการประกาศใช้บังคับกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญนั้น
 
ดังที่ได้กล่าวมาแล้วในตอนต้นว่า เมื่อร่างกฎหมายผ่านการพิจารณาของรัฐสภา ประธานาธิบดีจะต้องประกาศใช้ร่างกฎหมายนั้นภายใน 15 วันนับจากวันที่รัฐบาลได้รับร่างกฎหมายที่ผ่านการพิจารณาของรัฐสภาแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม ก่อนหมดระยะเวลาหาก ประธานาธิบดีไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายดังกล่าว ประธานาธิบดีสามารถขอให้รัฐสภาพิจารณาร่างกฎหมายนั้นใหม่ทั้งหมดหรือบางมาตราซึ่งรัฐสภาจะปฏิเสธไม่พิจารณาตามคำขอของประธานาธิบดีไม่ได้36
 
ร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญก็เช่นกัน เมื่อคณะตุลาการรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแล้ว ประธานาธิบดีจะต้องประกาศใช้ร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญนั้นภายในกำหนดระยะเวลาตามมาตรา 10 แห่งรัฐธรรมนูญ ซึ่งในเรื่องดังกล่าวรัฐกำหนดประกอบรัฐธรรมนูญที่ 58-1067 ลงวันที่ 7 พฤศจิกายน ค.ศ. 1958 เกี่ยวกับคณะตุลาการรัฐธรรมนูญได้บัญญัติไว้ในมาตรา 21 ว่า การประกาศว่าร่างกฎหมายไม่ขัดรัฐธรรมนูญทำให้ระยะเวลาประกาศใช้กฎหมายตามมาตรา 10 แห่งรัฐธรรมนูญซึ่งหยุดลงเมื่อส่งร่างกฎหมาย (ประกอบรัฐธรรมนูญ) นั้นให้แก่คณะตุลาการรัฐธรรมนูญเริ่มนับต่อ ดังนั้น ประธานาธิบดีจึงต้องรีบประกาศใช้ร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญนั้นก่อนที่ระยะเวลาตามมาตรา 10 แห่งรัฐธรรมนูญจะสิ้นสุดลง
 
แต่อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดีอาจใช้สิทธิตามมาตรา 10 วรรค 2 คือ ขอให้รัฐสภาพิจารณาร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญนั้นใหม่ก็ได้ ซึ่งการขอให้พิจารณาใหม่นั้นเมื่อรัฐสภาพิจารณาครั้งใหม่เสร็จแล้วก็จะต้องส่งให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญพิจารณาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญนั้นใหม่อีกครั้งหนึ่ง
 
(2) วินิจฉัยว่าร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ การวินิจฉัยว่าร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญมีได้ 2 กรณี คือ
 
(2.1) วินิจฉัยว่าร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ
ทั้งหมดหรือบางส่วนซึ่งเป็นส่วนที่ไม่สามารถแยกออกจากร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญนั้นได้ เมื่อคณะตุลาการรัฐธรรมนูญได้ตรวจสอบร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญแล้วพบว่าร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญนั้นมีเนื้อหาสาระไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญทั้งฉบับหรือมีบทบัญญัติบางมาตราที่มีเนื้อหาไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญและบทบัญญัติดังกล่าวเป็นส่วนสำคัญซึ่งไม่สามารถแยกออกจากร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญนั้นได้ ร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญก็จะไม่สามารถประกาศใช้บังคับได้37 ซึ่งประธานาธิบดีก็จะไม่ประกาศใช้ร่างกฎหมายดังกล่าว และสามารถใช้กระบวนการตามมาตรา 10 วรรค 2 แห่งรัฐธรรมนูญ คือ ขอให้รัฐสภาพิจารณาร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญนั้นใหม่ได้
 
(2.2) วินิจฉัยว่าร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ แต่มีบางมาตราที่ไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญซึ่งสามารถแยกออกจากร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญได้ มาตรา 23 แห่งรัฐกำหนดประกอบรัฐธรรมนูญที่ 58-1067 ดังกล่าว ได้มอบให้ประธานาธิบดีสามารถ "เลือก" ดำเนินการด้วยวิธีใดวิธีหนึ่งดังต่อไปนี้ หากคณะตุลาการรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่าร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญนั้นสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ แต่มีบางมาตราที่ไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญซึ่งสามารถแยกออกจากร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญได้ ประธานาธิบดีสามารถดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ
 
ก. ประกาศใช้ร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญนั้น โดยยกเว้นบทบัญญัติส่วนที่คณะตุลาการรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่าไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ และจัดให้มีการดำเนินการร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เฉพาะบทบัญญัติที่ไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ
 
ข. ใช้สิทธิตามมาตรา 10 ขอให้รัฐสภาพิจารณาใหม่
 
ผลของคำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญนั้น มาตรา 62 ของรัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐ บัญญัติไว้ว่า "บทบัญญัติใดที่คณะตุลาการรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ ย่อมไม่อาจใช้เป็นกฎหมายและไม่อาจมีผลบังคับได้
 
คำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญย่อมเป็นที่สุดและมีผลผูกพันสถาบันการเมืองแห่งรัฐ ตลอดทั้งองค์กรเจ้าหน้าที่ทั้งในทางบริหารและตุลาการ"
 
บทบัญญัติดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงสถานะของคำวินิจฉัยของคณะตุลาการ
รัฐธรรมนูญดังต่อไปนี้ คือ
 
ก. คำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญถือเป็นที่สุดและเด็ดขาดไม่สามารถนำไปร้องเรียนหรือขอให้องค์กรอื่นทบทวนได้
 
ข. คำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญมีผลผูกพันองค์กรของรัฐทั้งฝ่ายบริหารและตุลาการ
 
5.1.3 การวินิจฉัยชี้ขาดและผลของคำวินิจฉัยกรณีการควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายธรรมดา ก็เป็นเช่นเดียวกับการวินิจฉัยชี้ขาดและผลของคำวินิจฉัยกรณีการควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญดังที่ได้กล่าวมาแล้วในหัวข้อ 1.5.1.2 ข.
 
5.2 การวินิจฉัยชี้ขาดและผลของคำวินิจฉัยกรณีการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของพันธกรณีระหว่างประเทศ ในกรณีที่คณะตุลาการรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าพันธกรณีระหว่างประเทศนั้นสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ รัฐสภาก็สามารถจัดทำรัฐบัญญัติให้สัตยาบันในพันธกรณีนั้นได้ แต่ถ้าหากคณะตุลาการรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่า พันธกรณีระหว่างประเทศนั้นขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญก็จะต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกับพันธกรณีนั้นหรือขอให้ประเทศคู่สัญญาทบทวนพันธกรณีนั้นให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญเสียก่อน รัฐสภาจึงสามารถจัดทำรัฐบัญญัติให้สัตยาบันในพันธกรณีนั้นได้
 
ผลของคำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญก็เป็นเช่นเดียวกับกรณีก่อน ๆ คือ เป็นไปตามบทบัญญัติในมาตรา 62 แห่งรัฐธรรมนูญ
6 หน่วยธุรการ
 
การบริหารงานภายในของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญไม่ค่อยยุ่งยากซับซ้อนเท่าไรนัก สถานที่ตั้งปัจจุบันของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญอยู่ในตึกเดียวกับสภาแห่งรัฐ (Conseil d' Etat) แต่เป็นคนละปีกของตึก เดิมเมื่อรัฐธรรมนูญประกาศใช้บังคับ มีการเสนอให้คณะตุลาการรัฐ ธรรมนูญใช้ตึกทำงานเดียวกับคณะกรรมการตุลาการ (Conseil superieur de la magistrature) แต่ผู้นำประเทศในขณะนั้น คือ นายพล Charles de GAULLE เห็นว่า คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ มีลักษณะเป็นองค์กรทางการเมืองมากกว่าเป็นศาล การให้เข้าไปอยู่ใกล้กับคณะกรรมการตุลาการจึงไม่เป็นการสมควร ดังนั้น จึงมีการเสนอให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญอยู่ที่สภาแห่งรัฐซึ่งทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษากฎหมายให้กับรัฐบาลแทน
 
หน่วยธุรการของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ คือ สำนักงานคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ (Secretairat General du Conseil Constitutionnel)
 
6.1 การดำเนินงาน การบริหารงานภายในของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของประธานตุลาการรัฐธรรมนูญ โดยมีเลขาธิการคณะตุลาการรัฐธรรมนูญเป็นผู้ช่วย
 
6.1.1 ประธานตุลาการรัฐธรรมนูญ นับได้ว่าเป็นผู้มีบทบาทที่สำคัญที่สุดในส่วนที่เกี่ยวกับการบริหารงานของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ
 
มาตรา 13 แห่งรัฐกำหนดประกอบรัฐธรรมนูญ ลงวันที่ 7 พฤศจิกายน ค.ศ. 1958 กำหนดให้ประธานตุลาการรัฐธรรมนูญมีหน้าที่เรียกประชุมและกำหนดวาระการประชุม
 
ในส่วนที่เกี่ยวกับการบริหารงานภายในสำนักงานคณะตุลาการรัฐธรรมนูญนั้น ประธานตุลาการรัฐธรรมนูญเองก็มีบทบาทสำคัญ คือ เป็นผู้เสนอขอให้ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐเป็นผู้แต่งตั้งเลขาธิการคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ และนอกจากนี้ประธานตุลาการรัฐธรรมนูญยังเป็นผู้แต่งตั้งบุคลากรทุกคนของสำนักงานคณะตุลาการรัฐธรรมนูญด้วย
 
6.1.2 เลขาธิการ ได้รับการแต่งตั้งโดยประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐตามคำเสนอแนะของประธานตุลาการรัฐธรรมนูญ ซึ่งโดยปกติจะแต่งตั้งจากผู้มีความรู้ทางกฎหมายระดับสูงของสภาแห่งรัฐ เลขาธิการเป็นบุคลากรเพียงคนเดียวของสำนักงานคณะตุลาการรัฐธรรมนูญที่ไม่ได้มาจากการแต่งตั้งของประธานตุลาการรัฐธรรมนูญ
 
เลขาธิการมีหน้าที่ดูแลการดำเนินงานของบุคลากรภายในสำนักงานให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย งานหลักของเลขาธิการ คือ ดูแลงานของฝ่ายกฎหมายซึ่งประกอบด้วยบุคลากรเพียง 3-4 คน ซึ่งเป็นบุคลากรที่มาจากศาลยุติธรรม ศาลปกครอง บุคลากรของรัฐสภาหรืออาจารย์มหาวิทยาลัย
 
เลขาธิการทำหน้าที่บริหารแต่เพียงอย่างเดียว ไม่สามารถออกเสียงในคณะตุลาการรัฐธรรมนูญได้ แต่อย่างไรก็ตาม ในการพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเลขาธิการจะเป็นผู้มีบทบาทมากเพราะประธานมักจะมอบหมายให้ทำหน้าที่รวบรวมข้อมูล เป็นตัวเชื่อมระหว่างตุลาการเจ้าของเรื่องกับหน่วยงานต่าง ๆ และเป็นผู้ร่วมงานอย่างใกล้ชิดกับประธานตุลาการรัฐธรรมนูญในการศึกษาปัญหาที่เข้าสู่การพิจารณาของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ
 
6.1.3 บุคลากรอื่น สำนักงานคณะตุลาการรัฐธรรมนูญยังประกอบด้วยบุคลากรอื่น ๆ อีก เช่น
 
- ที่ปรึกษาของประธานตุลาการรัฐธรรมนูญ ซึ่งในทางปฏิบัติมักจะเป็นนักวิชาการด้านกฎหมายมหาชน หรืออดีตตุลาการรัฐธรรมนูญ
 
- บุคลากรทั่วไป มีประมาณ 50 คน รับผิดชอบในการจัดเตรียมเอกสารการข่าว ห้องสมุด การเผยแพร่คำวินิจฉัย
 
- ผู้ช่วยของตุลาการเจ้าของเรื่อง (rapporteurs-adjoints) ทำหน้าที่รับผิดชอบในการพิจารณาปัญหาเกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสมาชิก อันเป็นอีกหน้าที่หนึ่งของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญนอกเหนือจากการวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมาย มาตรา 36 แห่งรัฐกำหนดประกอบรัฐธรรมนูญ ลงวันที่ 7 พฤศจิกายน ค.ศ. 1958 ได้บัญญัติให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญคัดเลือกผู้ช่วยของตุลาการเจ้าของเรื่องจากผู้พิพากษาศาลปกครอง ศาลตรวจเงินแผ่นดิน (Cour des Comptes) และให้ประธานตุลาการรัฐธรรมนูญเป็นผู้แต่งตั้ง
 
6.2 งบประมาณ คณะตุลาการรัฐธรรมนูญมีอิสระทางด้านงบประมาณสูง โดยประธานาธิบดีเป็นผู้รับผิดชอบงบประมาณในส่วนดังกล่าวและถือว่าเป็นงบประมาณกลางของรัฐที่ไม่อยู่ภายใต้กระทรวงใด มีการตั้งผู้เบิกจ่ายเป็นพิเศษประจำคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ
 
งบประมาณปีหนึ่งของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญตกประมาณ 25 ล้านฟรังก์ ต่อปี (150 ล้านบาทโดยประมาณ) งบประมาณนี้ได้รับการบริหารโดยประธานตุลาการรัฐธรรมนูญ ซึ่งค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่จะเป็นเบี้ยประชุมคณะตุลาการรัฐธรรมนูญและค่าใช้จ่ายบุคลากร
เชิงอรรถ
36. โปรดดูมาตรา 10 ของรัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐ, อ้างถึงแล้วในเชิงอรรถที่ (33).[กลับไปที่บทความ]
37. กฎเกณฑ์ดังกล่าวประกาศในรัฐกิจจานุเบกษา เมื่อ 31 พฤษภาคม ค.ศ. 1959และได้รับการแก้ไขอีกหลายครั้งโดยมีที่มาจากคำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ เช่นการแก้ไขในปี ค.ศ. 1986, 1987, 1991 และ ค.ศ. 1995[กลับไปที่บทความ]
ลงเผยแพร่ครั้งแรกใน Public Law Net วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2544
|
|
 |
พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=177
เวลา 21 เมษายน 2568 21:22 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)
|
|