ครั้งที่ 299

9 กันยายน 2555 21:01 น.

       สำหรับวันจันทร์ที่ 10 กันยายนถึงวันที่ 23 กันยายน 2555
        
       “ความคืบหน้าเรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ”
        
        ภายหลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยที่ 18-22/2555 กรณีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 291 เป็นการล้มล้างการปกครองตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 หรือไม่ไปเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2555 เสียงเรียกร้องให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญทั้งฉบับก็เริ่มแผ่วลง จนถึงวันนี้แทบจะไม่มีนักการเมืองหรือนักวิชาการคนไหนออกมาพูดเรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญทั้งฉบับกันอีกแล้วครับ
        ผมเฝ้ามองดูเรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญทั้งฉบับด้วยความเศร้าใจ ระบบถูกทำลายโดยทุกๆ คนที่มีส่วนเกี่ยวข้องต่างก็ยอมรับโดยปริยายกับการทำลายระบบนั้น ไม่มีใครกล้าลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อให้สิ่งที่ถูกต้องดำเนินต่อไปอย่างถูกต้อง จริงอยู่ที่มีผู้คนจำนวนหนึ่งยอมให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจในการตีความรัฐธรรมนูญเพื่อขยายอำนาจของตนเองได้ แต่การยอมในลักษณะเช่นนั้นจะทำให้สิ่งที่ไม่ถูกต้องกลายเป็นสิ่งที่ถูกต้องได้เลยหรือและที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้นก็คือจะนำมาใช้ได้หรือไม่ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณากันให้ละเอียดลึกซึ้งเพราะศาลรัฐธรรมนูญเป็นศาลที่มีเขตอำนาจเฉพาะและรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้บัญญัติไว้อย่างชัดแจ้งให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญในการตรวจสอบการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเอาไว้เลยไม่ว่าจะเป็นกรณีใด เมื่อมี "กองเชียร์" ที่เข้มแข็งประกอบกับมีอำนาจ “ยุบพรรคการเมือง” อยู่ในมือ ศาลรัฐธรรมนูญจึงสามารถใช้อำนาจได้เกินกว่าที่รัฐธรรมนูญบัญญัติเอาไว้ได้โดย “นักการเมือง” ฝ่ายที่ต้องได้รับผลกระทบโดยตรงจากการใช้อำนาจนั้นก็ "ไม่กล้า" ที่จะออกมา "ต่อกร" กับการใช้อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญนอกเหนือไปจากที่รัฐธรรมนูญกำหนดเอาไว้ด้วยเกรงว่าหาก “ไม่เชื่อฟัง” ศาลรัฐธรรมนูญแล้วก็อาจเป็น “เหตุ” ที่นำไปสู่การยุบพรรคการเมืองในที่สุด ดังนั้น ศาลรัฐธรรมนูญจึงกลายเป็นองค์กรที่มีอำนาจมากมายเหลือล้น มากจนถึงขนาดดำเนินการต่างๆ ที่ตนเองไม่มีอำนาจได้ การกระทำของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในลักษณะเช่นนี้ย่อมเป็นภัยต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยเป็นอย่างยิ่ง    
        แม้ว่าจะไม่มีการดำเนินการใดๆจากรัฐสภาตามมาหลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย ความพยายามที่จะแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญทั้งฉบับก็ไม่ได้เงียบหายไปเสียทีเดียว “คณะทำงานพรรคร่วมรัฐบาลเพื่อศึกษาแนวทางในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ” ที่พรรคร่วมรัฐบาลได้ตั้งขึ้นเพื่อหาทางออกให้กับการแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งประชุมกันไปหลายครั้งแล้วก็ได้ให้ข่าวออกมาเมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาว่า ควรจะต้องมีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนด้วยวิธีการออกเสียงประชามติตามที่ศาลรัฐธรรมนูญได้ “แนะนำ” เอาไว้ในคำวินิจฉัยที่ 18-22/2555 แต่ก็ไม่มีอะไรคืบหน้ามากไปกว่านี้
        ที่คืบหน้าจริงๆก็คือแนวทางการทำงานของรัฐบาลที่ไม่ทราบว่าเป็นเรื่องเดียวกันหรืิอเกี่ยวข้องกับการดำเนินการของ “คณะทำงานพรรคร่วมรัฐบาลเพื่อศึกษาแนวทางในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ” หรือไม่ โดยในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันอังคารที่ 28 สิงหาคมที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีได้รับทราบ “แนวทางการมีส่วนร่วมของประชาชนในการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ” ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ โดยแนวทางดังกล่าวมีสาระสำคัญ 5 ประการด้วยกันดังนี้ คือ
       1. ตั้งคณะกรรมการกำหนดแนวทางในการมีส่วนร่วมของประชาชนในการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญในส่วนกลาง จังหวัด และอำเภอ ประกอบด้วยคณะกรรมการกำหนดแนวทางในการมีส่วนร่วมของประชาชนในการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญในส่วนกลางได้แก่รองนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธาน ส่วนราชการและผู้ที่เกี่ยวข้องเป็นกรรมการ โดยมีอธิบดีกรมการปกครอง เป็นกรรมการและเลขานุการ คณะกรรมการชุดแรกนี้มีอำนาจหน้าที่กำหนดนโยบาย แนวทางการมีส่วนร่วมของประชาชนในการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ และให้คำปรึกษาแนะนำคณะกรรมการฯ ระดับจังหวัด และอำเภอในการดำเนินงาน คณะกรรมการชุดที่สองคือคณะกรรมการกำหนดแนวทางในการมีส่วนร่วมของประชาชนในการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญระดับจังหวัด ประกอบด้วยผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธาน ส่วนราชการและผู้ที่เกี่ยวข้องเป็นกรรมการ มีปลัดจังหวัดเป็นกรรมการและเลขานุการ ​อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการชุดที่สองก็คือกำหนดแนวทางการมีส่วนร่วมของประชาชนในการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญในพื้นที่จังหวัดและให้คำแนะนำคณะกรรมการฯ ระดับอำเภอในการดำเนินงาน คณะกรรมการชุดสุดท้ายคือ คณะกรรมการกำหนดแนวทางในการมีส่วนร่วมของประชาชนในการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญระดับอำเภอ ประกอบด้วยนายอำเภอเป็นประธาน หัวหน้าส่วนราชการระดับอำเภอและผู้ที่เกี่ยวข้อง เป็นกรรมการ มีปลัดอำเภอหัวหน้ากลุ่ม/ฝ่ายบริหารงานปกครอง เป็นกรรมการและเลขานุการ ​อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการชุดนี้ก็คือการขับเคลื่อนการดำเนินงานโดยกำหนดรูปแบบ แนวทาง และวิธีการมีส่วนร่วมของประชาชนในการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญในพื้นที่ระดับหมู่บ้าน
       2. จัดประชุมสัมมนาและรับฟังความคิดเห็นเพื่อกำหนดแนวทางในการมีส่วนร่วมของประชาชนในการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญโดยผู้เข้าร่วมสัมมนาประกอบด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัด ปลัดจังหวัด นายอำเภอ ทั่วประเทศ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ปลัดกรุงเทพมหานคร และผู้อำนวยการเขตในกรุงเทพมหานคร รวม 1,082 คน
        3. จัดเวทีสัมมนาเพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญระดับจังหวัดทุกจังหวัดและกรุงเทพมหานคร
         4. จัดเวทีประชาคมหมู่บ้าน/ชุมชนเพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญทุกหมู่บ้าน/ชุมชนทั่วประเทศ รวม 79,888 หมู่บ้าน/ชุมชน (74,956 หมู่บ้าน 4,932 ชุมชน)
        5. จัดเวทีประชาคมชุมชนในกรุงเทพมหานครเพื่อรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญรวม 2,016 ชุมชน
         6. สรุปผลการมีส่วนร่วมของประชาชนในการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ
        
        ทันทีที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบเรื่องดังกล่าว พรรคการเมืองฝ่ายค้านก็ออกมาแสดงความเป็นห่วงโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของ “ความเป็นกลาง” ของกระทรวงมหาดไทยที่เป็นผู้รับผิดชอบ โดยพรรคการเมืองฝ่ายค้านเกรงว่า กระทรวงมหาดไทยอาจ “ชี้นำ” ให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นไปในแนวทางเดียวกับ “ความต้องการ” ของรัฐบาล ดังนั้น จึงควรให้องค์กรที่มีความเป็นกลาง เช่น สถาบันพระปกเกล้า หรือสถาบันการศึกษาเป็นผู้ดำเนินการเรื่องนี้แทนกระทรวงมหาดไทย
        ไม่ทราบว่าทำไมการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญซึ่งขณะนี้ "ติดอยู่" ที่รัฐสภาที่ต้องตัดสินใจว่าจะดำเนินการอย่างไรแต่ก็ไม่ยอมทำอะไรทั้งนั้น จึงกลายมาเป็นเรื่องของกระทรวงมหาดไทยไปได้ แปลกดีไหมครับ!!!!!
         ผมมีข้อสังเกตเกี่ยวกับมติคณะรัฐมนตรีข้างต้นที่ให้กระทรวงมหาดไทยเป็น "เจ้าภาพ" ในการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญอยู่สองประการด้วยกัน ประการแรกก็คือ "ความเป็นกลาง" ของกระทรวงมหาดไทยที่ไม่ว่าใครจะพูดอย่างไรก็ตาม กระทรวงมหาดไทยซึ่งเป็นองค์กรของฝ่ายบริหารก็ไม่สามารถสลัดความเป็นองค์กรของฝ่ายบริหารไปได้ และนอกจากนี้ หัวหน้าพรรคเพื่อไทยก็ยังดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยอีกด้วย ผลของการรับฟังความคิดเห็นที่จะออกมาจึงต้องถูกสงสัยในความเป็นกลางและถูกคัดค้านแน่ๆอย่างไม่ต้องสงสัยครับ ข้อสังเกตประการต่อมาก็คือการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญที่กระทรวงมหาดไทยกำลังจะทำเป็นเพียงการดำเนินการภายในของฝ่ายบริหาร หาใช่เป็นการออกเสียงประชามติตามที่ศาลรัฐธรรมนูญได้ "แนะนำ" เอาไว้ในคำวินิจฉัยที่ 18-22/2555 ผลของการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนจึงไม่อาจนำมาใช้แทนการออกเสียงประชามติได้ บรรดา "กองเชียร์" ที่เฝ้ามองอยู่คงไม่ยอมอยู่แล้ว อย่างไรเสียคงต้องมีคนยื่นฟ้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรคเพื่อไทยแน่ๆถ้าเกิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับโดยไม่ผ่านกระบวนการออกเสียงประชามติก่อน
         รัฐบาลจะทำการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญไปทำไมก็ไม่ทราบ เสียเวลาและเสียเงินโดยใช่เหตุ นอกจากจะไม่ได้อะไรแล้วยังจะเป็นเรื่องที่ทำให้ทะเลาะกันเพิ่มขึ้นอีกด้วย
        รัฐสภาต่างหากที่ควรจะต้องลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่าง วิธีการที่จะจบเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาทั้งหมดนั้นไม่ใช่การนิ่งหรือปล่อยให้ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ค้างพิจารณาอยู่ในรัฐสภา ถ้าจะสู้ รัฐสภาก็จะต้องลงมติในวาระที่สามรับร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เพื่อให้ร่างรัฐธรรมนูญนั้นมีผลใช้บังคับและเริ่มกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยเร็ว แต่ถ้าจะถอย รัฐสภาก็ควรจะต้องลงมติในวาระที่สามไม่รับร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เพื่อให้ร่างรัฐธรรมนูญนั้นตกไปแล้วก็ค่อยไปเริ่มกระบวนการกันใหม่ครับ
       
        ในสัปดาห์นี้ เรามีบทความมานำเสนอ 4 บทความด้วยกัน บทความแรกเป็นบทความของ ดร.ปาลีรัฐ ศรีวรรณพฤกษ์ แห่งสำนักงานศาลปกครอง ที่เขียนเรื่อง "คดีปกครองเกี่ยวกับงานโยธาสาธารณะ" บทความที่สอง เป็นบทความเรื่อง "ค่าเช่าบ้านพักข้าราชการ" ที่เขียนโดยรองศาสตราจารย์เจริญศักดิ์ ศาลากิจ คณะสัตวแพทยศาสตร์ แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน บทความที่สามเป็นบทความของคุณชำนาญ จันทร์เรือง ที่เขียนเรื่อง "รักเอย วรรณกรรมชีวิตที่สั่นสะเทือนวงการยุติธรรมไทย" และบทความสุดท้าย เป็นบทควมของคุณธีรพัฒน์ อังศุชวาล นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่เขียนเรื่อง "การกำกับสื่อใหม่: แนวทางและนโยบายของของรัฐไทยในยุคการหลอมรวมเทคโนโลยี"
       ผมขอขอบคุณเจ้าของบทความทุกๆ บทความครับ
       
       พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 24 กันยายน 2555 ครับ
       
       ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์
                  


พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=1765
เวลา 29 มีนาคม 2567 07:51 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)