|
|
ค่าเช่าบ้านพักข้าราชการ 9 กันยายน 2555 21:17 น.
|
จุดประสงค์ของบทความเป็นการศึกษากฎหมายที่เกี่ยวกับค่าเช่าบ้านพักข้าราชการ และข้อเสนอแนวทางแก้ไขปัญหากรณีข้าราชการผู้ที่พักอาศัยในบ้านพักของทางราชการต้องมีหน้าที่จ่ายเงินประจำทุกเดือนให้แก่หน่วยงานรัฐเพื่อเป็นค่าธรรมเนียมในการพักอาศัยบ้านพักของทางราชการ จนดูประหนึ่งว่า ข้าราชการผู้มีสิทธิพักอาศัยเป็นผู้จ่ายค่าเช่าบ้านพักของหน่วยงานรัฐ ดังนั้นการศึกษาเนื้อหาตัวบทกฎหมายและพัฒนาการของบทบัญญัติตั้งแต่ปีพ.ศ.๒๔๘๓ จนถึงปัจจุบัน เป็นการศึกษาที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการวางแนวปฏิบัติสำหรับการสร้างความถูกต้องชอบธรรมในสังคมไทยภายใต้หลักนิติรัฐ
กฎหมายว่าด้วยค่าเช่าบ้านข้าราชการ
บทบัญญัติกฎหมายว่าด้วยค่าเช่าบ้านข้าราชการได้ถูกตราขึ้นครั้งแรกเป็นพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยระเบียบค่าเช่าบ้านข้าราชการ[1] พ.ศ.๒๔๘๓ โดยพระราชกฤษฎีกานี้ได้มีการปรับปรุงเพิ่มเติมเนื้อหาทางกฎหมายอย่างต่อเนื่องจำนวน ๘ ฉบับ และบัญญัติกฎหมายนี้ได้ถูกยกเลิกโดยพระราชกฤษฎีกาค่าเช่าบ้านข้าราชการ พ.ศ.๒๕๒๒
พระราชกฤษฎีกาค่าเช่าบ้านข้าราชการ[2] พ.ศ.๒๕๒๒ เป็นการออกกฎหมายระดับพระราชกฤษฎีกาภายใต้อำนาจของกฎหมายรัฐธรรมนูญและภายใต้อำนาจพระราชบัญญัติ โดยกำหนดการเริ่มต้นการบังคับใช้ในวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๒๒ แต่เมื่อเกิดปัญหาภาระงบประมาณแผ่นดิน จึงออกกฎหมายขยายเวลาการบังคับใช้จำนวน ๔ ฉบับ โดยเฉพาะพระราชกฤษฎีกาค่าเช่าบ้านข้าราชการ(ฉบับที่ ๕) พ.ศ.๒๕๒๕ กำหนดการบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๒๗ ซึ่งก่อนถึงวันบังคับใช้ดังกล่าว รัฐบาลได้ออกกฎหมายฉบับใหม่ขึ้นมาบังคับใช้แทนชื่อว่า พระราชกฤษฎีกาค่าเช่าบ้านข้าราชการ พ.ศ.๒๕๒๗ จนกล่าวได้ว่าพระราชกฤษฎีกาค่าเช่าบ้านข้าราชการ พ.ศ. ๒๕๒๒ เป็นกฎหมายที่ไม่ได้ใช้บังคับใช้จริง
พระราชกฤษฎีกาค่าเช่าบ้านข้าราชการ[3] พ.ศ.๒๕๒๗ เป็นบทบัญญัติกฎหมายที่ให้ประโยชน์ต่อข้าราชการอย่างกว้างขวาง โดยมีการปรับปรุงเนื้อหาให้เกิดความสอดคล้องกับเหตุการณ์ทางสังคมเศรษฐกิจอย่างเหมาะสม จำนวน ๘ ฉบับ โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาทางปกครองที่เกิดขึ้นภายใต้รัฐธรรมนูญพ.ศ.๒๕๔๐ เป็นเหตุให้เกิดการบัญญัติกฎหมายใหม่ออกมาใช้บังคับในปัจจุบัน คือ พระราชกฤษฎีกาค่าเช่าบ้านข้าราชการ[4] พ.ศ.๒๕๔๗
ลำดับพัฒนาการของกฎหมายตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๘๓ จนถึงปัจจุบัน สามารถกำหนดลำดับเหตุการณ์ของกฎหมายออกเป็น ๔ กลุ่ม (ดังตารางที่ ๑) คือ พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยระเบียบค่าเช่าบ้านข้าราชการ พ.ศ.๒๔๘๓ พระราชกฤษฎีกาค่าเช่าบ้านข้าราชการ พ.ศ.๒๕๒๒ พระราชกฤษฎีกาค่าเช่าบ้านข้าราชการ พ.ศ.๒๕๒๗ และพระราชกฤษฎีกาค่าเช่าบ้านข้าราชการ พ.ศ.๒๕๔๗ แสดงให้เห็นถึงการพัฒนารายละเอียดของเนื้อหาทางกฎหมาย เพื่อทำให้เกิดความสอดคล้องสนองตอบต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมเศรษฐกิจตามยุคสมัยของประเทศไทย รวมทั้งสะท้อนให้เห็นถึงหลักการจัดสวัสดิการให้แก่ข้าราชการเพื่อตอบแทนความเสียสละในการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการโดยการได้รับสิทธิการเบิกค่าเช่าบ้านพัก
ข้อความสำคัญเชิงเปรียบเทียบในกฎหมายว่าด้วยค่าเช่าบ้านข้าราชการ
กฎหมายว่าด้วยค่าเช่าบ้านพักข้าราชการ เป็นกฎหมายที่สร้างขึ้นภายใต้แนวคิดของสำนักความคิดกฎหมายฝ่ายบ้านเมือง (school of positive law) ลักษณะกฎหมายเทคนิค(technical law) เพื่อวางหลักกำหนดสิทธิของข้าราชการที่เกิดขึ้นหลังจากการปฏิบัติหน้าที่ของตนให้เป็นไปตามระเบียบที่ทางราชการได้กำหนดไว้ ได้แก่ หน้าที่ในงานราชการ หน้าที่ในการรักษาระเบียบวินัย หรือการปฏิบัติตนตามจริยธรรมข้าราชการ ผลของการทำหน้าที่ราชการจึงเกิดสิทธิค่าที่เช่าบ้านพัก โดยกฎหมายดังกล่าวมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องในประเด็นที่สำคัญ ๓ ประการดังนี้
ประเด็นที่ ๑ อำนาจบัญญัติกฎหมาย
อำนาจการออกกฎหมายเพื่อกำหนดสิทธิค่าเช่าบ้านพักข้าราชการเริ่มต้นเมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๓ เป็นการใช้อำนาจทางบริหารของนายกรัฐมนตรี เพื่อออกกฎเกณฑ์ลายลักษณ์อักษรเกี่ยวกับค่าเช่าบ้านของข้าราชการ โดยวางหลักการสำคัญเบื้องต้น คือ ข้าราชการประจำการมีสิทธิได้ค่าเช่าบ้าน ยกเว้นข้าราชการชาวต่างประเทศที่มีสัญญาจ้าง และกำหนดคุณลักษณะของข้าราชการที่ไม่มีสิทธิได้รับค่าเช่าบ้าน ซึ่งคุณสมบัติพื้นฐานดังกล่าวได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงค่าครองชีพของประชาชนในสังคม
ต่อมาเกิดการเปลี่ยนแปลงอำนาจการบัญญัติกฎหมายจากอำนาจบริหารของนายกรัฐมนตรีเป็นอำนาจที่ได้รับมอบหมายตามรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติ โดยเฉพาะพระราชบัญญัติการกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการจ่ายเงินบางประเภทตามงบประมาณรายจ่าย[5] พ.ศ.๒๕๑๘ จึงทำให้ลำดับศักดิ์ทางกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องค่าใช้จ่ายบ้านพักข้าราชการได้รับการปรับปรุงให้เกิดความถูกต้องตามหลักบ่อเกิดแห่งกฎหมาย และเนื้อหาของกฎหมายเป็นบทบัญญัติที่สามารถสนองตอบต่อวัตถุประสงค์เฉพาะเจาะจงเพื่อการแก้ไขปัญหาที่มีเงื่อนไขเปลี่ยนแปลงตามสภาพแวดล้อมทางสังคมเศรษฐกิจของประเทศไทย
โดยสรุปอำนาจการออกพระราชกฤษฎีกาเรื่องค่าเช่าบ้านข้าราชการ พ.ศ.๒๕๔๗ เป็นอำนาจของมาตรา ๓ (๑) (๒) และ(๖) แห่งพระราชบัญญัติการกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการจ่ายเงินบางประเภทตามงบประมาณรายจ่าย พ.ศ.๒๕๑๘ เพื่อเป็นการจ่ายเงินตามงบประมาณรายจ่ายในเรื่องค่าเช่าซื้อบ้านข้าราชการ เรื่องค่าเช่าบ้านข้าราชการหรือค่าที่อยู่อาศัยของข้าราชการ และเรื่องเงินสวัสดิการจากทางราชการ จึงทำให้สิทธิของข้าราชการเปลี่ยนแปลงจากการเบิกจ่ายค่าเช่าบ้านพักเป็นการได้รับสิทธิที่ครอบคลุมกว้างขวางเป็นค่าเช่าซื้อ
ประเด็นที่ ๒ คุณลักษณะผู้มีสิทธิได้รับค่าเช่าบ้าน
กฎเกณฑ์การเบิกจ่ายค่าเช่าบ้านพักเมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๓ เป็นการกำหนดให้ข้าราชการประจำการเป็นผู้มีสิทธิเบิกค่าเช่าบ้าน และกำหนดหลักการข้าราชการผู้ไม่ได้รับสิทธิ ดังนี้
๑ ข้าราชการซึ่งรับราชการประจำในเขตอำเภอหรือกิ่งอำเภอชั้นใน
๒ ข้าราชการซึ่งทางราชการได้จัดที่พักให้อยู่แล้ว ๓ ข้าราชการซึ่งเริ่มเข้ารับราชการในท้องที่อำเภอ หรือกิ่งอำเภอใด และยังคงรับราชการอยู่ในท้องที่นั้น
๔ ข้าราชการซึ่งทางราชการสั่งให้ไปรับราชการประจำในเขต หรือกิ่งอำเภอ ที่ข้าราชการนั้นเริ่มเข้ารับราชการ หรือเข้ารับราชการใหม่ ต่อมาพระราชกฤษฎีกาค่าเช่าบ้าน พ.ศ.๒๕๒๒ ได้แก้ไขบทบัญญัตินี้ให้สิทธิแก่ผู้ได้รับคำสั่งไปปฏิบัติราชการในที่อื่นเป็นเวลาที่ติดต่อกันมากกว่าห้าปี และเมื่อย้ายกลับมาในสถานที่เริ่มต้นในการรับราชการครั้งแรก ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวอาจเกิดความไม่เป็นธรรมแก่ข้าราชการที่ยังคงรับราชการอยู่ในท้องที่ที่เริ่มเข้ารับราชการ ส่งผลทำให้มีการแก้ไขใช้บทบัญญัตินี้โดยพระราชกฤษฎีกา พ.ศ.๒๕๒๗ และพระราชกฤษฎีกาฉบับปัจจุบันยังคงกำหนดให้ผู้ปฏิบัติหน้าที่ราชการในท้องที่ที่เริ่มรับราชการครั้งแรกหรือย้ายกลับมารับราชการในท้องที่ที่เริ่มรับราชการครั้งแรกเป็นผู้ไม่มีสิทธิได้รับการเบิกจ่ายค่าที่พัก
๕ ข้าราชการซึ่งมีเคหสถานของตนเอง หรือของบิดามารดา หรือบุตรหรือสามีภรรยา ที่พออาศัยอยู่ร่วมกันได้
๖ ข้าราชการวิสามัญซึ่งทางราชการแต่งตั้งเข้ารับราชการเป็นการชั่วคราว เว้นแต่ในกรณี การแต่งตั้งนั้นต้องการบุคคลผู้มีวุฒิเป็นพิเศษ และกระทรวงการคลัง เห็นสมควรให้ได้รับค่าเช่าบ้าน
โดยสรุปตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๘๓ กำหนดให้ข้าราชการประจำการมีสิทธิ และกำหนดคุณลักษณะของข้าราชการที่ไม่มีสิทธิ โดยมีพัฒนาของบทบัญญัติภายใต้เจตนารมณ์ของพระราชกฤษฎีกา พ.ศ. ๒๕๔๗ คือ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนด้านที่อยู่อาศัยของข้าราชการอันเนื่องจากมาจากทางราชการเป็นเหตุ แต่ปัจจุบันยังคงกำหนดข้าราชการผู้ไม่มีสิทธิ ดังเงื่อนไขต่อไปนี้
๑ ทางราชการได้จัดที่พักอาศัยให้อยู่แล้ว
๒ มีเคหสถานอันเป็นกรรมสิทธิ์ของตนเองหรือคู่สมรส ในท้องที่ที่ไปประจำสำนักงานใหม่ โดยไม่มีหนี้ค้างชำระกับสถาบันการเงิน
๓ ผู้นั้นได้รับคำสั่งให้เดินทางไปประจำสำนักงานใหม่ในท้องที่ที่เริ่มรับราชการครั้งแรก หรือท้องที่ที่กลับเข้ารับราชการใหม่
๔ ผู้นั้นได้รับคำสั่งให้เดินทางไปประจำสำนักงานใหม่ในต่างท้องที่ ตามคำร้องขอของตนเอง
เจตนารมณ์ของกฎหมายเริ่มต้นจากความประสงค์ให้สิทธิต่อการปฏิบัติหน้าที่ราชการของบุคคล และเกิดการพัฒนาเจตนารมณ์ของกฎหมายเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนต่อบุคคลด้านที่พักอันเนื่องจากราชการเป็นเหตุ รวมทั้งเจตนาเพื่อจูงใจให้ข้าราชการเกิดความพยายามจัดหาบ้านไว้เป็นกรรมสิทธิ์ของตนเอง จึงทำให้มีการเปลี่ยนแปลงของตัวบทกฎหมายเพื่อช่วยเหลือจูงใจให้ข้าราชการสามารถจัดหาที่อยู่อาศัยของตนเอง
ประเด็นที่ ๓ หลักฐานการเบิกค่าเช่าที่พัก
บทบัญญัติของกฎหมายในปี พ.ศ.๒๔๘๓ ได้มีการพัฒนาเนื้อหาของตัวบทกฎหมายจำนวน ๘ ฉบับ ประกอบด้วย เรื่องอัตราเบิกค่าเช่าบ้านในอัตราร้อยละ ๑๐ หรือร้อยละ ๑๕ ของเงินเดือน (ตามกฎหมาย พ.ศ.๒๔๘๓) เป็นอัตราร้อยละ ๒๐ หรือไม่เกินร้อยละ ๓๐ ของเงินเดือน (ตาม พ.ศ.๒๔๙๐) เป็นอัตราร้อยละ ๓๐ หรือไม่เกินร้อยละ ๔๕ ของเงินเดือน (ตาม พ.ศ.๒๔๙๑) เป็นอัตราไม่เกินร้อยละ ๑๕๐ ของเงินเดือน (ตาม พรฎ.พ.ศ.๒๔๙๖) หลังจากนั้นได้เริ่มต้นกำหนดบัญชีอัตราค่าเช่าบ้านตามเงินเดือนที่ได้รับจากทางราชการ (ตาม พรฏ พ.ศ.๒๕๐๒) และเป็นการปรับปรุงอัตราค่าเช่าบ้านในทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงบัญชีเงินเดือนของข้าราชการ จนถึงปัจจุบัน
พระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ[6] พ.ศ.๒๕๐๒ เป็นการเริ่มต้นแผนพัฒนาเศรษฐกิจสังคมของประเทศไทย ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมากมายของประเทศไทย โดยเฉพาะการเพิ่มขึ้นของค่าครองชีพในชีวิตประจำวัน เป็นผลกระทบต่อสิทธิค่าเช่าบ้านพักข้าราชการ ซึ่งเกิดการเปลี่ยนแปลงสำคัญในหลักการบัญญัติกฎหมายพระราชกฤษฎีกาค่าเช่าบ้าน พ.ศ.๒๕๒๒ เพราะเหตุเส้นทางคมนาคมที่สะดวกสบายเพิ่มขึ้น จึงทำให้มีการกำหนดท้องที่เป็นการยกเลิกข้าราชการซึ่งย้ายไปรับราชการประจำต่างเขตกันในกรุงเทพมหานครไม่ได้รับสิทธิเบิกค่าเช่าบ้าน และกำหนดหลักการเพื่อเป็นเหตุจูงใจให้ข้าราชการเกิดความพยายามเช่าซื้อบ้านเป็นของตนเอง จึงเกิดกฎหมายยกเลิกการใช้หลักฐานเบิกค่าเช่าบ้านได้เฉพาะเมื่อมีการเช่าบ้านจริง เปลี่ยนเป็นการใช้หลักฐานการผ่อนชำระเงินกู้ที่ใช้สำหรับการซื้อบ้านจากสถาบันทางการเงิน แทนที่หลักฐานการเช่าบ้าน
การกำหนดสิทธิได้รับค่าเช่าบ้านข้าราชการในลักษณะเหมาจ่ายตามบัญชีอัตราค่าเช่าบ้านท้ายพระราชกฤษฎีกาโดยเจตนารมณ์ของทางราชการซึ่งประสงค์จะจูงใจให้ข้าราชการพยายามจัดหาบ้านไว้เป็นกรรมสิทธิ์ของตนเองนั้นเริ่มต้นเมื่อพ.ศ. ๒๕๒๒ แต่พระราชกฤษฎีกานี้ไม่ได้ถูกนำมาใช้บังคับเพราะเกิดภาระทางงบประมาณของประเทศไทย จึงต้องมีการออกพระราชกฤษฎีกาเลื่อนการบังคับใช้ ๔ ฉบับ โดยพระราชกฤษฎีกาค่าเช่าบ้านข้าราชการ(ฉบับที่ ๕)[7] พ.ศ.๒๕๒๕ กำหนดการบังคับใช้ในวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๒๗ แต่มีการออกพระราชกฤษฎีกาฉบับใหม่ จึงเหตุทำให้ไม่มีการใช้กฎหมายพระราชกฤษฎีกาฯ พ.ศ.๒๕๒๒
เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับพ.ศ.๒๕๒๗ เพื่อทบทวนหลักการกำหนดให้เบิกค่าเช่าบ้านในลักษณะเหมาจ่าย และทบทวนหลักกำหนดให้ผู้ได้รับคำสั่งให้ไปประจำสำนักงานใหม่ต่างท้องที่เกินห้าปี เกิดสิทธิค่าเช่าบ้านเมื่อกลับมาประจำสำนักงานในท้องที่ที่เริ่มเข้ารับราชการครั้งแรก ซึ่งเป็นความไม่เป็นธรรมแก่ผู้ที่ยังคงรับราชการในท้องที่ที่เริ่มเข้ารับราชการครั้งแรก รวมทั้งกฎหมายฉบับนี้ได้กำหนดการใช้หลักฐานที่ข้าราชการเช่าซื้อบ้านหรือผ่อนชำระเงินกู้เพื่อชำระราคาบ้าน เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ข้าราชการพยายามมีที่อยู่อาศัยเป็นกรรมสิทธิ์ของตนเอง
พระราชกฤษฎีกาฉบับพ.ศ.๒๕๒๗ มีการปรับปรุงหลักกฎหมายเรื่องค่าเช่าบ้านพักราชการ จำนวน ๘ ฉบับ เพื่อทำให้บัญชีอัตราค่าเช่าบ้านให้สอดคล้องกับบัญชีอัตราเงินเดือนข้าราชการ และการปรับปรุงสิทธิการเบิกค่าเช่าบ้านภายใต้หลักความเดือดร้อนเรื่องที่อยู่อาศัยเกิดจากทางราชการเป็นเหตุ รวมทั้งได้ปรับปรุงให้ข้าราชการสามารถนำหลักฐานการชำระค่าผ่อนชำระเงินกู้กับกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ มาเป็นหลักฐานเบิกค่าเช่าบ้านข้าราชการได้ ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้เกิดกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัยของข้าราชการ
โดยสรุปการเปลี่ยนแปลงหลักฐานการเบิกจ่ายค่าบ้านพักข้าราชการจากการเบิกจ่ายจริงตามพระราชกฤษฎีกาฯ(พ.ศ.๒๔๘๓) ได้มีการปรับปรุงสิทธิจากอัตราร้อยละของเงินเดือนเป็นอัตราการเหมาจ่ายตามบัญชี และให้ข้าราชการสามารถใช้หลักฐานการผ่อนชำระที่อยู่อาศัยกับสถาบันการเงินฯหรือกองทุนบำเหน็จบำนาญ แสดงให้เห็นพัฒนาการสิทธิข้าราชการภายใต้เจตนารมณ์แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนด้านที่อยู่อาศัยของข้าราชการอันเนื่องจากราชการเป็นเหตุ รวมทั้งเป็นการสนับสนุนให้ข้าราชการมีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัย
สิทธิค่าเช่าบ้านและข้อเสนอภายใต้พระราชกฤษฎีกาฯ (พ.ศ.๒๕๔๗)
สิทธิการได้รับค่าเช่าบ้านข้าราชการมีพัฒนาการอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๘๓ จนถึง พ.ศ.๒๕๔๗ ซึ่งเจตนารมณ์ประการหนึ่งของการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาค่าเช่าบ้านข้าราชการ พ.ศ.๒๕๔๗ เพื่อแก้ไขบทบัญญัติเดิมที่ไม่ชัดเจนจนเกิดปัญหาในการตีความและวินิจฉัยสิทธิ ซึ่งความในมาตรา ๒๑ แห่งพระราชกฤษฎีกาค่าเช่าบ้านข้าราชการ พ.ศ.๒๕๔๗ กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชกฤษฎีกา ซึ่งความในมาตรา ๗ แห่งพระราชกฤษฎีกาค่าเช่าบ้าน (ฉบับที่ ๒)[8] พ.ศ.๒๕๕๐ กำหนดว่า ข้าราชการผู้ใดได้รับคำสั่งให้เดินทางไปประจำสำนักงานในต่างท้องที่มีสิทธิได้รับค่าเช่าบ้านข้าราชการเท่าที่ต้องจ่ายจริงตามที่สมควรแก่สภาพแห่งบ้าน แต่อย่างสูงไม่เกินจำนวนเงินที่กำหนดไว้ตามบัญชีอัตราค่าเช่าบ้านข้าราชการท้ายพระราชกฤษฎีกานี้ ทั้งนี้ เว้นแต่ผู้นั้น
(๑) ทางราชการได้จัดที่พักอาศัยให้อยู่แล้ว
(๒) มีเคหสถานอันเป็นกรรมสิทธิ์ของตนเอง หรือคู่สมรสในท้องที่ที่ไปประจำสำนักงานใหม่ โดยไม่มีหนี้ค้างชำระกับสถาบันการเงิน
(๓) ได้รับคำสั่งให้เดินทางไปประจำสำนักงานใหม่ในต่างท้องที่ตามคำร้องขอของตนเอง
ความในวรรคหนึ่ง ให้ใช้บังคับแก่ข้าราชการผู้ได้รับคำสั่งให้เดินทางไปประจำสำนักงานในต่างท้องที่ ที่เริ่มรับราชการครั้งแรกหรือท้องที่ที่กลับเข้ารับราชการใหม่ด้วย
ดังนั้นในกรณี ข้าราชการผู้พักอาศัยในบ้านพักของทางราชการต้องจ่ายเงินประจำทุกเดือนให้แก่หน่วยงานของรัฐ เพื่อเป็นค่าธรรมเนียมและค่าสวัสดิการที่พักอาศัยในบ้านพักของทางราชการ เห็นว่า การเก็บค่าธรรมเนียมหรือค่าสวัสดิการที่พักอาศัยฯ เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องตามหลักกฎหมายว่าด้วยสิทธิพักอาศัยในที่พักของทางราชการ และเห็นว่า ศาลปกครองเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่มีหน้าที่ในการวางหลักวิธีการปฏิบัติราชการที่ถกต้องเป็นธรรม และในฐานะผู้เดือดร้อนเสียหายย่อมมีสิทธิในการยื่นคำฟ้องต่อศาลปกครอง โดยมีขั้นตอนเบื้องต้นที่ต้องพิจารณา ดังนี้
๑ พิจารณาคุณสมบัติเรื่องสิทธิการได้รับค่าเช่าบ้านตามพระราชกฤษฎีกาค่าเช่าบ้านข้าราชการ พ.ศ.๒๕๔๗ และฉบับที่ ๒ พ.ศ.๒๕๕๐
๒ พิจารณาหลักฐานประวัติการเข้ารับราชการ และคำสั่งที่ได้รับให้ปฏิบัติราชการ
๓ พิจารณาเรื่องอำนาจของหัวหน้าหน่วยงานของหน่วยงานของรัฐ เกี่ยวกับการออกระเบียบภายในหน่วยงานในเรื่องการจัดสรรที่พัก เรื่องการพักอาศัย และเรื่องการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมและค่าสวัสดิการการพักอาศัย ซึ่งอำนาจการบัญญัติกฎหมายโดยฝ่ายบริหารนั้น อยู่ภายใต้หลักความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำทางปกครอง
๔ พิจารณาความเป็นผู้เดือดร้อนเสียตามความในมาตรา ๔๒ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง[9] พ.ศ.๒๕๔๒ และพิจารณาอำนาจในการกำหนดคำวินิจฉัยของศาลปกครองตามความในมาตรา ๗๒ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว รวมทั้งควรพิจารณาเรื่องอายุความของคดีปกครอง ซึ่งความในมาตรา ๕๒ แห่งพระราชบัญญัตินี้กำหนดให้ การยื่นฟ้องคดีปกครองที่เกี่ยวข้องการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ หรือสถานะของบุคคลจะยื่นฟ้องคดีเมื่อใดก็ได้
บทสรุป การศึกษาเรื่องค่าเช่าบ้านข้าราชการ ได้แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการของบทบัญญัติภายใต้เจตนารมณ์แก้ไขปัญหาเรื่องที่พักอาศัยของข้าราชการโดยมีเหตุเกิดจากทางราชการ และเจตนาการส่งเสริมเพื่อให้ข้าราชการมีกรรมสิทธิ์ในที่พักอาศัยเป็นของตนเอง จึงเป็นกฎหมายเพื่อให้สวัสดิการตอบแทนการปฏิบัติหน้าที่ราชการ
แต่การตีความหรือการใช้กฎหมายโดยขาดการพิจารณาถึงการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ย่อมทำให้วิธีการบริหารจัดการองค์กรของรัฐก่อให้เกิดข้อขัดแย้งต่างๆ บทความนี้ขอเสนอแนวการแก้ไขปัญหาข้อขัดแย้งระหว่างหน่วยงานของรัฐกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยใช้อำนาจของศาลปกครองเป็นผู้วินิจฉัยยุติข้อขัดแย้ง ซึ่งผลของคำวินิจฉัยเป็นประโยชน์ต่อการวางแนวทางปฏิบัติของหน่วยงานทางราชการ จึงเป็นความถูกต้องชอบธรรมของผู้เดือดร้อนเสียหายซึ่งต้องเป็นผู้เสียสละกระทำการเพื่อประโยชน์ของสังคม
......................................
[1] ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๕๗ ตอนที่ ๔๒ วันที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๔๘๓ หน้าที่ ๖๕๕-๖๖๑
[2] ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๙๖ ตอนที่ ๗๖ ฉบับพิเศษ วันที่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๒๒ หน้าที่ ๒๑-๒๙
[3] ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๑๐๑ ตอนที่ ๑๓๓ ฉบับพิเศษ วันที่ ๒๘ กันยายน ๒๕๒๗ หน้าที่ ๘-๑๘
[4] ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๑๒๑ ตอนพิเศษ ๘๑ ก วันที่ ๒๗ ธันวาคม ๒๕๔๗ หน้าที่ ๒๙-๓๕
[5] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๙๒ ตอนที่ ๓๒ ฉบับพิเศษ วันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๘ หน้า ๘-๑๑
[6] ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๗๖ ตอนที่ ๙๘ วันที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๐๒ หน้าที่ ๔๕๔-๔๗๑
[7] ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๙๙ ตอนที่ ๑๓๐ วันที่ ๑๔ กันยายน ๒๕๒๕ หน้าที่ ๑๒๘-๑๒๙
[8] ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๑๒๔ ตอนที่ ๘๙ ก วันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๕๕๐ หน้าที่ ๘๐-๘๓
[9] ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๑๑๖ ตอนที่ ๘๔ ก วันที่ ๑๐ ตุลาคม ๒๕๔๒ หน้าที่ ๑-๔๐
|
|
|
พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=1764
เวลา 22 พฤศจิกายน 2567 18:37 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)
|