คดีปกครองเกี่ยวกับงานโยธาสาธารณะ

9 กันยายน 2555 21:17 น.

       ศาลปกครองมีอำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดีปกครองเกี่ยวกับงานโยธาสาธารณะ ตามความในรัฐบัญญัติ ๒๘ Pluviôse an VIII ลงวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ๑๘๐๐ ซึ่งเป็นรัฐบัญญัติที่มีเนื้อหาสาระเกี่ยวกับการจัดโครงสร้างของรัฐและฝ่ายปกครอง มีการตั้งสภาจังหวัด (les Conseils de la préfecture) ขึ้น ซึ่งมาตรา ๔ วรรค ๓ แห่งกฎหมายดังกล่าวบัญญัติให้สภาจังหวัดมีอำนาจเกี่ยวกับการชี้ขาด “ความยุ่งยากที่อาจเกิดขึ้นระหว่างผู้รับทำงานโยธาสาธารณะและฝ่ายปกครอง ในเรื่องที่เกี่ยวกับความหมายหรือการทำตามข้อกำหนดของการทำงาน”[๑] รัฐบัญญัติฉบับนี้เป็นรัฐบัญญัติให้คำนิยามของคดีปกครองเกี่ยวกับงานโยธาสาธารณะไว้ว่ามี ๓ ประการด้วยกัน คือ ๑. สัญญาที่เกี่ยวกับงานโยธาสาธารณะ ๒. งานบริการสาธารณะที่มีการครอบครองสาธารณะสมบัติของแผ่นดินเป็นการชั่วคราว[๒] ๓.ความรับผิดชอบอันเนื่องมาจากความเสียหายที่มีผลมาจากงานโยธาสาธารณะ
                          อำนาจในการพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองฝรั่งเศสในคดีประเภทนี้เป็นประเด็นที่น่าสนใจ เนื่องจากเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าของกฎหมายปกครองฝรั่งเศสในเรื่องการตีความบริบททางกฎหมายในหลายประเด็นด้วยกัน กล่าวคือ การกำหนดนิยาม “ความเสียหายอันเนื่องมาจากงานโยธาสาธารณะ” (ดังที่จะกล่าวใน ส่วนที่ ๑) ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มแรกในการพิจารณาอำนาจในการพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองฝรั่งเศสในคดีพิพาทดังกล่าว  ตามทฤษฎีกฎหมายฝรั่งเศสนั้นจะต้องทำการแบ่งแยกให้ชัดเจนเสียก่อนว่างานโยธาสาธารณะนั้นเป็นงานโยธาสาธารณะประเภทใดระหว่างงานโยธาสาธารณะที่อยู่ในระหว่างการก่อสร้างหรือการสร้างงาน (les travaux publics) หรือเป็นงานโยธาสาธารณะที่ดำเนินการสร้างเสร็จสมบูรณ์แล้วหรือที่เรียกว่าสิ่งสาธารณูปโภค (l’ouvrage public) จึงเห็นได้ว่างานโยธาสาธารณะที่อยู่ในระหว่างดำเนินการก่อสร้างและงานโยธาสาธารณะที่ก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์แล้วย่อมมีความเกี่ยวเนื่องกับกิจกรรมต่างๆของฝ่ายปกครองไม่มากก็น้อย การศึกษานิยามของ “งานโยธาสาธารณะ” จึงมีความสำคัญดังกล่าวไปแล้วข้างต้น
                          ความก้าวหน้าของกฎหมายปกครองฝรั่งเศสในคดีพิพาทเกี่ยวกับงานโยธาสาธารณะประการถัดมาคือ การจำแนกสถานะของผู้เสียหาย (ดังที่จะกล่าวใน ส่วนที่ ๒) ซึ่งหมายความถึงการจำแนกประเภทของผู้เสียหายออกเป็น ๓ ประเภท คือ ผู้เสียหายที่อยู่ในสถานะบุคคลลภายนอก ผู้เสียหายที่อยู่ในสถานะผู้รับทำงานโยธาสาธารณะ และผู้เสียหายที่อยู่ในสถานะบุคคลผู้ใช้บริการงานโยธาสาธารณะนั้น สถานะของผู้เสียหายมีความสำคัญกับการนำแนวความคิดว่าด้วยความรับผิดในกรณีใดกรณีหนึ่งมาปรับใช้ กล่าวคือ หากผู้เสียหายนั้นเป็นผู้เสียหายในสถานะบุคคลภายนอก กฎหมายปกครองฝรั่งเศสถือว่าจะต้องนำแนวความคิดว่าด้วยความรับผิดโดยปราศจากความผิดมาปรับใช้ในการพิจารณาพิพากษาคดี ในขณะที่หากความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นเกิดกับผู้เสียหายในสถานะผู้รับทำงานโยธาสาธารณะหรือในสถานะบุคคลผู้ใช้บริการงานโยธาสาธารณะ ศาลจะนำแนวความคิดว่าด้วยความรับผิดบนพื้นฐานการกระทำผิดมาปรับใช้ในการพิจารณาคดี ซึ่งแนวความคิดทั้งสองประการนี้มีผลในการคุ้มครองและเยียวยาผู้เสียหายในลักษณะที่แตกต่างกัน
                          อย่างไรก็ดี แม้ว่าข้อเท็จจริงในคดีพิพาทสอดคล้องกับข้อความคิดเกี่ยวกับข้อพิพาทจากงานโยธาสาธารณะทั้งสองประการดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้นก็ตาม แต่ข้อพิพาทนั้นก็อาจไม่อยู่ภายใต้อำนาจในการพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ทั้งนี้ เนื่องมาจากสาเหตุที่ว่ามีกฎหมายระดับรัฐบัญญัติกำหนดไว้อย่างชัดเจนเป็นกรณียกเว้น หรือเป็นเพราะว่าข้อพิพาทดังกล่าวมีข้อเท็จจริงเกี่ยวเนื่องกับการดำเนินงานภายใต้สัญญาสัมปทานอันอาจส่งผลให้รัฐสามารถหยิบยกเหตุดังกล่าวมาปฏิเสธความรับผิดของตนได้ (ดังที่จะกล่าวใน ส่วนที่ ๓)  บทความฉบับนี้จึงได้ทำการศึกษาคดีปกครองเกี่ยวกับงานโยธาสาธารณะโดยแบ่งการศึกษาออกเป็น ๓ ส่วนด้วยกัน ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น
       ส่วนที่ ๑ ความหมายของ “ความเสียหายอันเนื่องมาจากงานโยธาสาธารณะ”
                               อาจแบ่งความหมายของ “ความเสียหายอันเนื่องมาจากงานโยธาสาธารณะ” ได้ออกเป็น ๒ ประเภท คือ ความหมายโดยทั่วไป และความหมายที่ปรากฏในคำพิพากษาของศาลปกครอง
                          “ความเสียหายอันเนื่องมาจากงานโยธาสาธารณะ” ตามความหมายโดยทั่วไป มีความหมายถึง ความเสียหายอันเป็นผลมาจากงานโยธาสาธารณะที่เกิดกับบุคคล ทรัพย์สิน หรือสิทธิ อันเนื่องมาจากการดำเนินการหรือการไม่ดำเนินการของงานโยธาสาธารณะนั้น และ/หรือ จากการก่อสร้าง การมีอยู่ การขาดหายไป หรือรูปแบบการดูแลรักษา หรือการดำเนินการก่อสร้างงานโยธาสาธารณะที่ยังไม่แล้วเสร็จ[๓] โดยหลักแล้วถือว่าความเสียหายอันเนื่องมาจากงานโยธาสาธารณะเป็นความเสียหายอันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ยกเว้นบางกรณีจึงถือว่าเป็นอำนาจในการพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
                          คำพิพากษาที่เป็นหลักในคดีนี้ คือ คำพิพากษาคดี Seguinot ลงวันที่ ๒๖ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๖๓ สภาแห่งรัฐตัดสินว่าความเสียหายอันเนื่องมาจากการตกบันไดของเด็กที่เล่นกันในบริเวณงานโยธาสาธารณะถือเป็นความเสียหายที่อยู่ภายใต้อำนาจในการพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
                          ความหมายของ “ความเสียหายอันเนื่องมาจากงานโยธาสาธารณะ” อีกความหมายหนึ่ง คือ ความหมายที่ได้มาจากการวางหลักของศาลในคำพิพากษา กรณีนี้จะเป็นการตีความว่าความเสียหายใดไม่ถือเป็นความเสียหายอันเนื่องมาจากงานโยธาสาธารณะอันอยู่นอกเหนืออำนาจในการพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
                          สภาแห่งรัฐได้วางหลักถึงข้อยกเว้นของงานโยธาสาธารณะบางประเภทที่ไม่อยู่ในอำนาจในการพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ว่ามีด้วยกัน ๕ ประการ คือ
                          - กรณีที่ทรัพย์สินของเอกชนอยู่ภายใต้การครอบครองอันเนื่องมาจากประโยชน์สาธารณะ (l’emprise) ทั้งนี้ ตามคำพิพากษาศาลชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คดี Mme Antichon ลงวันที่ ๔ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๙๑ โดยมีข้อเท็จจริงในคดีคือ การที่รัฐทำการวางท่อใต้ดินลอดผ่านที่ดินเอกชนโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้ว่าการดำเนินการดังกล่าวจะเป็นการดำเนินการเพื่อการจัดทำงานโยธาสาธารณะก็ตาม
                          - กรณีการกระทำของฝ่ายปกครองที่ไปกระทบต่อสิทธิแห่งทรัพย์สินหรือเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน (le voie de fait)[๔] ทั้งนี้ ตามคำพิพากษาศาลชี้ขาดหน้าที่ระหว่างศาล คดี Beladjimi ลงวันที่ ๔ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๙๑
                          - กรณีความเสียหายอันเป็นส่วนควบจากการเวนคืนเพื่อประโยชน์สาธารณะ (les dommages accessoires à une expropriation)
                          - กรณีความเสียหายอันเนื่องมาจากความผิดส่วนตัวของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ทั้งนี้ ตามคำพิพากษาสภาแห่งรัฐ คดี Gouverneur Générale de l’Indochine c/Ohitis โดยมีข้อเท็จจริงในคดีคือ การที่เจ้าหน้าที่ของรัฐอยู่ในสถานะผู้ใช้งานโยธาสาธารณะดังกล่าว หากเกิดความเสียหาย ย่อมถือเป็นอำนาจในการพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
                          - กรณีความเสียหายที่เกิดจากการใช้บริการสาธารณะทางด้านอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม (SPIC) เช่น ความเสียหายอันเนื่องมาจากการการใช้งานโยธาสาธารณะนั้น (คำพิพากษาสภาแห่งรัฐ คดี Soc. des forces motrices de la Tarde ลงวันที่ ๑๔ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๓๗ และคำพิพากษาศาลชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คดี Dme Galland ลงวันที่ ๒๔ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๕๔)
                          อย่างไรก็ดี หากความเสียหายดังกล่าวมีสาเหตุมาจากการกระทำละเมิดของผู้รับทำบริการสาธารณะ (l’entrepreneur)  (เช่น การตัดไฟโดยไม่แจ้งล่วงหน้า การปล่อยให้สายไฟระโยงระยางโดยไม่ทำการดูแล) ผู้เสียหายมีสิทธิที่จะเลือกว่าจะยื่นฟ้องคดีต่อศาลใดก็ได้ กล่าวคือ อ้างถึงความเสียหายดังกล่าวประกอบกับพิสูจน์ถึงส่วนได้เสียของตนในการยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง หรือจะอ้างเรื่องการกระทำของฝ่ายปกครองต่อศาลที่มีอำนาจกำหนดโทษก็ได้ ทั้งนี้ ตามคำพิพากษาศาลชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คดี Douied c/Stokos ลงวันที่ ๑๓ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๖๐
       ส่วนที่ ๒ การจำแนกสถานะของผู้เสียหายอันส่งผลถึงเงื่อนไขในการรับผิดชอบของรัฐ
                               การอ้างความรับผิดชอบของรัฐอันมีผลให้เกิดค่าชดเชยความเสียหายนั้นจะต้องพิจารณาก่อนว่า ผู้เสียหายในกรณีดังกล่าวนั้นอยู่ในสถานะบุคคลภายนอก (les tiers) ในสถานะผู้รับทำงานโยธาสาธารณะ (l’entrepreneur) หรือในสถานะผู้ใช้บริการโยธาสาธารณะ (l’usager) ทั้งนี้เนื่องมาจากสถานะทั้งสามประการนี้ส่งผลให้นำแนวความคิดว่าด้วยความรับผิดของรัฐมาใช้แตกต่างกัน กล่าวคือ หากเป็นความเสียหายที่เกิดกับบุคคลภายนอกแล้ว จะนำแนวความคิดว่าด้วยความรับผิดโดยปราศจากความผิดมาปรับใช้ (๒.๑) แต่หากเป็นความเสียหายที่เกิดกับผู้รับทำงานโยธาสาธารณะจัดทำบริการสาธารณะหรือผู้ใช้บริการสาธารณะ ศาลจะนำแนวความคิดว่าด้วยความรับผิดแบบทั่วไปมาปรับใช้ (๒.๒)  ดังมีรายละเอียด ดังนี้
                          ๒.๑ ความเสียหายที่เกิดกับบุคคลภายนอก เป็นกรณีที่บุคคลที่สามได้รับความเสียหายโดยไม่ทราบว่าเหตุที่ก่อให้เกิดความเสียหายนั้นมาจากการดำเนินการก่อสร้างงานโยธาสาธารณะหรือเกิดมาจากการใช้งานงานโยธาสาธารณะนั้นหรือไม่  กรณีนี้บุคคลภายนอกจะต้องแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างความเสียหายที่เกิดขึ้นกับงานโยธาสาธารณะที่แล้วเสร็จแล้ว/หรืองานโยธาสาธารณะที่อยู่ระหว่างการจัดทำ โดยไม่ต้องทำการพิสูจน์ว่ากรณีดังกล่าวมีความผิด (une faute) เกิดขึ้นหรือไม่ ความเสียหายที่เกิดขึ้นในกรณีนี้จึงจะต้องมีลักษณะเป็นความเสียหายที่ไม่ปกติ (anomal) ไม่ใช่มีลักษณะเป็นความเสียหายอันเนื่องมาจากความไม่สะดวกในการใช้งานบริการสาธารณะนั้นแบบทั่วไป
                          อย่างไรก็ดี ความรับผิดอันเนื่องมาจากความเสียหายที่เกิดกับบุคคลภายนอกนี้ มีข้อยกเว้น ๒ ประการด้วยกัน คือ ความเสียหายดังกล่าวต้องไม่เกิดมาจากความผิดของผู้เสียหายเอง และ ความเสียหายดังกล่าวต้องไม่ได้เกิดจากเหตุสุดวิสัย (la force majeure)[๕]
                          อาจแบ่งประเภทความเสียหายที่เกิดกับบุคคลภายนอกได้เป็น ๒ ประเภท คือ (๑) ความเสียหายอันเกิดจากการดำเนินการก่อสร้างงานโยธาสาธารณะ และ (๒) ความเสียหายอันเกิดจากตัวงานโยธาสาธารณะ ซึ่งสามารถอธิบายได้ ดังนี้
                          (๑) ความเสียหายอันเกิดจากการดำเนินการก่อสร้างงานโยธาสาธารณะ ยังสามารถแยกออกเป็น ๒ ลักษณะ คือ ความเสียหายอันเกี่ยวเนื่องกับการดำเนินการก่อสร้างงานโยธาสาธารณะหรือความเสียหายที่เกิดจากอุบัติเหตุในการก่อสร้างงานโยธาสาธารณะ
                          ตัวอย่างของความเสียหายอันเกี่ยวเนื่องกับการดำเนินการก่อสร้างงานโยธาสาธารณะ ก็เช่น ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับร้านค้าอันเนื่องมาจากการก่อสร้างรถไฟฟ้าที่เมือง Lyon[๖] ความเสียหายอันเกิดขึ้นกับการสูญพันธ์ของปลาอันเนื่องมาจากการสูบน้ำ[๗] ความเสียหายอันเนื่องมาจากเสียง ฝุ่น ควัน อันเนื่องมาจากการก่อสร้างท่าเรือ[๘] การสูญเสียการมองเห็นทิวทัศน์และแสงแดดส่องถึงอันเนื่องมาจากการก่อสร้างคลองส่งน้ำในเขต Provence[๙] เป็นต้น
                          ตัวอย่างของความเสียหายที่เกิดจากอุบัติเหตุในการก่อสร้างงานโยธาสาธารณะ ก็เช่น การเกิดเพลิงไหม้ในบริเวณที่เก็บของเสียสาธารณะอันมีผลให้เกิดหมอกควันหนาทึบและส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนหลวง[๑๐] หรือกรณีอุบัติเหตุอื่นๆ เช่น การถล่มหรือระเบิดของเหมือง เป็นต้น
                          (๒) ความเสียหายอันเกิดจากตัวงานโยธาสาธารณะ หมายถึงความเสียหายที่เกิดกับอาคาร เกิดกับบุคคล หรือเกิดกับสังหาริมทรัพย์ก็ได้
                          ตัวอย่างในกรณีนี้ก็เช่น ความเสียหายอันเกิดจากพื้นลื่น[๑๑] ความเสียหายอันเกิดมาจากน้ำท่วมขังเนื่องมาจากท่อส่งน้ำชำรุด[๑๒] ความเดือดร้อนรำคาญและความเสียหายอันเกิดจากการขาดน้ำใช้สอยในที่ดินของเอกชนอันเนื่องมาจากการมีจำนวนประชาชนเข้าชมสวนข้างเคียงจำนวนมาก[๑๓] ความเสียหายอันเกิดจากกระแสไฟฟ้าลัดวงจรอันเนื่องมาจากการติดตั้งเสาไฟฟ้าแรงสูง[๑๔] ความเสียหายอันเกิดจากการติดตั้งเสาไฟฟ้าแรงสูง[๑๕] การจมน้ำอันเนื่องมาจากการเปิดใช้เขื่อน[๑๖] การบาดเจ็บอันเนื่องมาจากเพลิงไหม้สะพานในขณะทำการซ่อมแซม[๑๗]
                          ๒.๒ ความเสียหายที่เกิดกับผู้รับทำงานโยธาสาธารณะหรือผู้ใช้งานโยธาสาธารณะ
                          ๒.๒.๑ นิยามและหลักทั่วไป
       ผู้รับทำงานโยธาสาธารณะ หมายถึง บุคคลผู้จัดทำงานโยธาสาธารณะ
                          ผู้ใช้บริการงานโยธาสาธารณะ หมายถึง ผู้ใช้งานงานโยธาสาธารณะในลักษณะปกติและในขณะที่ความเสียหายอันเกิดจากงานโยธาสาธารณะปรากฏขึ้น
                          ผู้รับทำงานโยธาสาธารณะต้องแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างความเสียหายที่เกิดขึ้นกับความเกี่ยวข้องของตนต่องานโยธาสาธารณะที่กำลังก่อสร้างดังกล่าว ตัวอย่างในกรณีนี้ก็เช่น คนงานก่อสร้างผู้ได้รับความเสียหายอันเนื่องมาจากการชำรุดของท่อก๊าซต้องทำการพิสูจน์ถึงความสัมพันธ์ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้นว่าตนมิได้มีส่วนในการกระทำผิดใดๆอันก่อให้เกิดความชำรุดของท่อก๊าซดังกล่าว
                          ผู้ใช้บริการงานโยธาสาธารณะก็ตกอยู่ภายใต้เงื่อนไขเดียวกับผู้รับทำงานโยธาสาธารณะ กล่าวคือ จะต้องแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ความเสียหายและงานโยธาสาธารณะนั้น
                          ข้อยกเว้นความรับผิดในกรณี ๒.๒ นี้ คือ ความผิดของผู้เสียหายและเหตุสุดวิสัย
                          อย่างไรก็ดี ฝ่ายปกครองสามารถอ้างได้ว่าตนได้ดำเนินการก่อสร้างงานโยธาสาธารณะอย่างครบถ้วนถูกต้อง หรืออ้างว่าตนได้ทำการดูแลรักษางานโยธาสาธารณะอย่างเหมาะสม หรือตนได้ทำการแจ้งเตือนอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากงานโยธาสาธารณะนั้นอย่างเพียงพอแล้ว หรืออาจกล่าวได้ว่า ฝ่ายปกครองอยู่ในข้อสันนิษฐานว่าเป็นผู้ก่อให้เกิดความผิด ดังนั้น ฝ่ายปกครองจึงต้องเป็นผู้พิสูจน์ว่าตนไม่ได้ก่อให้เกิดความผิดดังกล่าว
                          ในทางปฏิบัติ ความรับผิดดังกล่าวเป็นความรับผิดที่ผู้เสียหายมีส่วนผิดด้วย[๑๘] ดังนั้น ฝ่ายปกครองจึงสามารถหยิบยกข้อเท็จจริงเรื่องที่ว่าผู้เสียหายมีส่วนผิดด้วยมาปฏิเสธหรือลดหย่อนความรับผิดของตนได้เสมอ   อย่างไรก็ดี ฝ่ายปกครองไม่อาจปฏิเสธความรับผิดได้หากมีข้อเท็จจริงปรากฏว่างานโยธาสาธารณะดังกล่าวมีลักษณะเป็นงานโยธาสาธารณะที่มีความเป็นอันตรายอย่างเห็นได้ชัด (exceptionnellement dangereux)[๑๙]
                          ๒.๒.๒ ความเสียหายที่เกิดกับผู้ใช้บริการงานโยธาสาธารณะ มี ๓ ประเภท คือ
                          - ความเสียหายที่เป็นผลโดยตรงจากการก่อสร้างหรือการดูแลรักษางานโยธาสาธารณะนั้น เช่น อุบัติเหตุอันเกิดจากการขัดข้องของระบบเลื่อนยก[๒๐]
                          - ความเสียหายที่ไม่ได้เป็นผลโดยตรงจากการดำเนินการก่อสร้างงานโยธาสาธารณะที่ยังไม่แล้วเสร็จหรือเกิดจากสิ่งสาธารณูปโภค เช่น การไม่ได้กำหนดมาตรการป้องกันที่เหมาะสมหรือการไม่ให้สัญญาในการก่อสร้างงานโยธาสาธารณะนั้น
                          - ความเสียหายที่เกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเนื่องมาจากการใช้งานสิ่งสาธารณูปโภคนั้น[๒๑]
                               ส่วนที่ ๓ ข้อยกเว้นของอำนาจในการพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองในคดีพิพาทเกี่ยวกับงานโยธาสาธารณะ
                               ๓.๑ ความทั่วไป
                          โดยหลักแล้วถือว่าอำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดีพิพาทเกี่ยวกับงานโยธาสาธารณะเป็นอำนาจในการพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามความในรัฐบัญญัติ ๒๘ Pluviôse an VIII ลงวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ๑๘๐๐  หลักดังกล่าวยังได้รับการยืนยันในคำพิพากษาต่างๆ กล่าวคือ คำพิพากษาศาลชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คดี Société SACMAT ลงวันที่ ๔ มีนาคม ค.ศ. ๒๐๐๒ ได้วางหลักในเรื่องนี้ไว้ว่า ศาลปกครองถือเป็นศาลที่มีอำนาจในการพิจารณาพิพากษาข้อพิพาทที่เกิดจากสัญญาจัดซื้อจัดจ้าง (un marché de travaux publics) หรือกรณีความเสียหายอันเนื่องมาจากการดำเนินการก่อสร้างงานโยธาสาธารณะหรืออันเนื่องมาจากการมีอยู่หรือการดำเนินการของสิ่งสาธารณูปโภคนั้น จากคำพิพากษาดังกล่าวตีความได้ว่า ข้อพิพาทดังกล่าวจะต้องอยู่ภายใต้บังคับเรื่องอายุความสิบปีตามข้อพิพาทในเรื่องสัญญาจัดซื้อจัดจ้าง หลังจากนั้นจึงค่อยพิจารณาเรื่องความเสียหายที่เกิดขึ้นว่าเป็นความเสียหายที่เกิดกับผู้จัดทำบริการสาธารณะ ผู้ใช้บริการ หรือบุคคลภายนอก และความเสียหายดังกล่าวเป็นความเสียหายที่ผู้รับผิดชอบโครงการ (maître d’ouvrage) หรือผู้รับทำงานโยธาสาธารณะจะต้องรับผิดชอบหรือไม่
                          ความเสียหายดังกล่าวเป็นคนละกรณีกับความเสียหายที่เกิดขึ้นกับผู้เสียหายอันเนื่องมาจากสัญญาโยธาสาธารณะที่เป็นสัญญาตามกฎหมายเอกชน ซึ่งจะต้องนำเรื่องความรับผิดกึ่งละเมิด (la responsabilité quasi-délictuelle) มาปรับใช้ในกรณีดังกล่าวแทน
                          ๓.๒ ข้อยกเว้นเรื่องอำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับงานโยธาสาธารณะ มีด้วยกัน ๒ ประการ คือ ๓.๒.๑ ข้อยกเว้นตามรัฐบัญญัติต่างๆ ๓.๒.๒ ข้อยกเว้นตามกรณีสัมปทาน
                          ๓.๒.๑ ข้อยกเว้นตามรัฐบัญญัติต่างๆ มีด้วยกัน ๖ ฉบับ คือ  
                          - รัฐบัญญัติ ลงวันที่ ๓ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๘๗๗ เกี่ยวกับการยิงกระสุนปืนใหญ่
                          - รัฐบัญญัติ ลงวันที่ ๑๕ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๐๖ เกี่ยวกับการให้ค่าชดเชยอันเนื่องมาจากการติดตั้งพลังงานไฟฟ้า การให้บริการและการพาดผ่านของสายไฟฟ้า
                          - รัฐบัญญัติ ลงวันที่ ๑๖ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๑๙ เกี่ยวกับการให้ค่าชดเชยอันเนื่องมาจากการจัดทำสัมปทานไฟฟ้าพลังน้ำ
                          - รัฐบัญญัติ ลงวันที่ ๓ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๑๒ เกี่ยวกับการการระเบิดหรือการก่อพิษหรือสารพิษที่เกิดจากวัตถุระเบิดต่างๆ
                          - รัฐบัญญัติ ลงวันที่ ๕ เมษายน ค.ศ. ๑๙๓๗ เกี่ยวกับการการกระทำของบุคลากรในทางการศึกษาที่อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของรัฐ
                          - รัฐบัญญัติ ลงวันที่ ๓๑ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๕๗ เกี่ยวกับอุบัติเหตุบนท้องถนน
                          ๓.๒.๒ ข้อยกเว้นอันเนื่องมาจากกรณีการดำเนินงานโยธาสาธารณะให้ลุล่วงโดยผู้รับทำงานโยธาสาธารณะ จากกรณีสัมปทาน และจากกรณีที่ผู้รับทำงานโยธาสาธารณะเป็นผู้เสียหายเสียเอง
       ๓.๒.๒.๑ โดยหลักแล้วถือว่าความเสียหายอันเกิดจากการดำเนินงานโยธาสาธารณะให้ลุล่วงโดยผู้รับทำงานโยธาสาธารณะเป็นความรับผิดของของผู้ควบคุมงานของรัฐ (maître d’ouvrage) ซึ่งต้องพิจารณาว่างานโยธาสาธารณะดังกล่าวเป็นงานโยธาสาธารณะที่อยู่ในระหว่างการก่อสร้างหรือก่อสร้างแล้วเสร็จแล้ว
                          (ก) กรณีงานโยธาสาธารณะที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ผู้รับผิดในกรณีดังกล่าวคือฝ่ายปกครองที่มีวัตถุประสงค์ในการจัดทำงานโยธาสาธารณะดังกล่าวและมีการให้เงินจัดทำงานโยธาสาธารณะดังกล่าว ซึ่งก็คือ ผู้ควบคุมงานของรัฐ[๒๒] กรณีดังกล่าวยังหมายความรวมถึงงานโยธาสาธารณะที่มีผู้รับผิดชอบโครงการและผู้ควบคุมงานของรัฐนั้นเป็นผู้ให้เงินสนับสนุนด้วย[๒๓]
                          หากองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้จัดทำบริการสาธารณะดังกล่าวแต่เป็นการกระทำในนามและอยู่ภายใต้การควบคุมดูแล (pour le compte et sous la direction) ของบุคคลอื่น กรณีนี้ถือว่าผู้รับผิดในความเสียหายนั้นคือตัวการ[๒๔] แม้ว่าจะมีข้อเท็จจริงว่าผู้ดำเนินการก่อสร้างงานโยธาสาธารณะเป็นผู้ให้เงินก็ตาม
                          (ข) กรณีงานโยธาสาธารณะที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ (สิ่งสาธารณูปโภค) กรณีดังกล่าวก็อยู่ในความรับผิดชอบของผู้รับผิดชอบโครงการซึ่งเป็นผู้ดูแลและเป็นผู้ดำเนินการต่างๆ แต่จะต้องแยกการพิจารณาว่าเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ หรือเป็นผู้ใช้บริการสาธารณะนั้น
                          กรณีเจ้าของกรรมสิทธิ์นั้น เช่น การสร้างทางหลวงซึ่งมีความยาวตัดผ่านเข้าไปในพื้นที่ของเทศบาล ให้ถือว่าผู้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ (คือรัฐหรือจังหวัด) เป็นผู้รับผิดชอบในความเสียหายดังกล่าว กรณีดังกล่าวนำมาปรับใช้กับความเสียหายที่เกิดทางเท้าด้วย แม้ว่าเทศบาลเมืองจะเป็นผู้ดูแลรักษาหนทางนั้น
                          แต่เทศบาลถือเป็นผู้รับผิดอันเนื่องมาจากความเสียหายที่เกิดจากการขาดประสิทธิภาพของหน่วยงานเทศบาลเองในเรื่องการกระทำของตำรวจ เช่น ถนนน้ำท่วม หรือกรณีไฟสัญญาจราจรขัดข้อง
                          หากมีข้อเท็จจริงเกิดขึ้นว่าอุบัติเหตุดังกล่าวอยู่ในความรับผิดของรัฐหรือจังหวัดอันเนื่องมาจากความบกพร่องในการบำรุงรักษา และอยู่ในความรับผิดชอบของเทศบาลอันเนื่องมาจากการกระทำการของตำรวจ ดังนี้ ถือว่าให้นิติบุคคลทางกฎหมายมหาชนทั้งสองประเภทสามารถรับผิดโดยร่วมกันแต่เป็นเอกเทศ (conjointement et solidairement) จากกันได้ สภาแห่งรัฐได้ยอมรับการฟ้องคดีของผู้เสียหายที่เป็นการฟ้องบุคคลใดบุคคลหนึ่งในข้อเท็จจริงเดียวกัน
                          แต่หากอยู่ในสถานะผู้ใช้บริการ เช่น ความเสียหายอันเกิดกับเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินริมแม่น้ำซึ่งมีน้ำล้นตลิ่งอันมีผลมาจากการเก็บกักน้ำ ผู้รับผิดในกรณีนี้คือบริษัทผู้ดำเนินการจัดการน้ำซึ่งเป็นบริษัทที่ได้รับมอบหมายอำนาจหน้าที่ในการจัดทำบริการสาธารณะจากเทศบาล มิใช่ความรับผิดของเทศบาลผู้เป็นเจ้าของการเก็บกักน้ำดังกล่าว[๒๕]
                          ๓.๒.๒.๒ กรณีสัมปทาน ถือว่าผู้รับสัมปทานต้องเป็นผู้รับผิด ยกเว้นกรณีที่ผู้รับสัมปทานไม่สามารถรับผิดได้อันเนื่องมาจากสาเหตุหนี้สิ้นล้นพ้นตัว (insolvabilité) จึงเป็นหน้าที่ขององค์การส่วนท้องถิ่นแทน[๒๖]
                          กรณีที่ให้ผู้รับสัมปทานต้องรับผิด ก็เช่น การที่ผู้เสียหายตกจากบันไดอันเนื่องมาจากความผิดพลาดในการก่อสร้างบันได แต่หากเป็นความเสียหายอันเกิดจากการดูแลรักษารั้วถือเป็นความผิดของเทศบาล[๒๗]
                          การเรียกร้องให้ผู้รับสัมปทานเป็นผู้รับผิด นี้ ฝ่ายปกครองอ้างถูกเรียกเข้ามาเป็นผู้รับผิดได้ ซึ่งฝ่ายปกครองจะรับผิดในกรณีนี้ก็ต่อเมื่อความผิดดังกล่าวเป็นความผิดอย่างร้ายแรง (une faute lourde) เท่านั้น
                          ๓.๒.๒.๓ กรณีผู้รับทำงานโยธาสาธารณะเป็นผู้ได้รับความเสียหาย หากงานโยธาสาธารณะดังกล่าวได้ดำเนินการก่อสร้างโดยผู้รับทำงานโยธาสาธารณะไม่ว่าจะเป็นการดำเนินการก่อสร้างตามสัมปทานหรือตามคำสั่งของฝ่ายปกครองเอง และเกิดความเสียหายอันเป็นผลโดยตรงต่อผู้เข้าร่วมปฏิบัติงาน ดังนี้ถือว่าผู้เสียหายมีสิทธิในการเลือกฟ้องคดีในฐานะผู้รับทำงานโยธาสาธารณะหรือในฐานะเจ้าของโครงการหรือในทั้งสองสถานะ
                          ความรับผิดทางสัญญาของผู้รับทำงานบริการสาธารณะจะคงอยู่ตราบเท่าที่มีการส่งมอบงานนั้น ผู้รับผิดชอบโครงการสามารถเรียกให้ผู้จัดทำบริการสาธารณะส่งมอบหลักประกันทั้งหมดหรือบางส่วนเพื่อเป็นการชำระค่าเสียหายได้ เช่น การให้หลักประกันอันเนื่องมาจากความผิดพลาดในการส่งสัญญาณเตือนเพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้บริการ หรือการวางหลักประกันเพิ่มเติมอันเนื่องมาจากการทุจริตของผู้จัดทำบริการสาธารณะเอง ความรับผิดในกรณีนี้ถือเป็นความรับผิดที่มีอายุความ ๑๐ ปี
                          บทสรุป
                          จะเห็นได้ว่าคดีพิพาทเกี่ยวกับงานโยธาสาธารณะตามกฎหมายว่าด้วยคดีปกครองของฝรั่งเศสเป็นข้อพิพาทที่เกี่ยวเนื่องกับเรื่องอื่นๆนอกเหนือไปจากเรื่องความรับผิดตามสัญญา ซึ่งความรับผิดของรัฐในประเภทนี้ถือเป็นความรับผิดที่ค่อนข้างชัดเจนในกฎหมายฝรั่งเศส เนื่องจากมีรัฐบัญญัติกำหนดอำนาจในการพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองในประเด็นนี้ไว้แล้ว  ลักษณะดังกล่าวนี้ไม่พบในการพิจารณาพิพากษาคดีปกครองว่าด้วยความรับผิดของไทย  ดังนั้น การศึกษาแนวคิดในเรื่องความรับผิดอันเกิดจากงานโยธาสาธารณะตามกฎหมายว่าด้วยคดีปกครองของฝรั่งเศสจึงน่าจะเป็นการนำเสนอแนวคิดและการตีความกฎหมายที่น่าสนใจในการเยียวยาผู้เสียหายในคดีพิพาทเกี่ยวกับความรับผิดของรัฐจากงานโยธาสาธารณะตามกฎหมายไทยในอนาคต
                         
                         
       
       
       
       
       [๑] ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นันทวัฒน์ บรมานันท์, สัญญาทางปกครอง, พิมพ์ครั้งที่ ๑ (กรุงเทพฯ :สำนักพิมพ์วิญญูชน : ๒๕๔๖) หน้า ๓๓๑
       
       
       [๒] « Les servitudes d’occupation temporaire »
       
       
       [๓] « le dommage de travaux publics résulte d’une atteinte faite à une personne, un bien, un droit, par l’exécution ou l’inexécution d’un travail public et/ou la construction, l’existence, l’absence, les modalités d’entretien ou le fonctionnement d’un ouvrage »
       
       
       [๔] หมายถึง การที่ฝ่ายปกครองใช้อำนาจนอกเหนือขอบเขตที่กฎหมายกำหนดไว้ และเป็นการกระทำที่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน ในกรณีนี้มีเหตุผลว่าฝ่ายปกครองกระทำการโดยใช้อำนาจนอกเหนือจากที่ตนมีอยู่มาก จึงไม่อยู่ในสถานะที่จะได้รับการคุ้มครองโดยศาลพิเศษ ดังนั้น การกระทำดังกล่าวนี้จึงไม่อยู่ในอำนาจการพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง แต่อยู่ภายใต้อำนาจการพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
       
       
       [๕] หมายถึง เหตุที่มิใช่การกระทำของคู่สัญญาและจะต้องเป็นเหตุที่มิอาจคาดหมายเป็นการล่วงหน้าได้ เช่น ภัยธรรมชาติต่างๆ ที่ทำให้เกิดปัญหาต่อการปฏิบัติตามสัญญา เป็นต้น
       
       
       [๖] คำพิพากษาสภาแห่งรัฐ คดี Sté Générale d’Entreprise ลงวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๘๑
       
       
       [๗] คำพิพากษาสภาแห่งรัฐ คดี Ville de Saint-Brieuc ลงวันที่ ๒๓ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๗๖
       
       
       [๘] คำพิพากษาสภาแห่งรัฐ คดี Vermaelen ลงวันที่ ๒๗ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๘๓
       
       
       [๙] คำพิพากษาศาลปกครองชั้นอุทธรณ์แห่งเมือง Lyon คดี M et Mme Tartar ลงวันที่ ๑๘ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๙๒
       
       
       [๑๐] คำพิพากษาสภาแห่งรัฐ คดี Cne d’Houdreville sur Eure ลงวันที่ ๑๒ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๘๓
       
       
       [๑๑] คำพิพากษาสภาแห่งรัฐ คดี Saroul ลงวันที่ ๗ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๘๔
       
       
       [๑๒] คำพิพากษาสภาแห่งรัฐ คดี Cne d’Auterive ลงวันที่ ๒๖ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๘๕
       
       
       [๑๓] คำพิพากษาสภาแห่งรัฐ คดี Wilmotte ลงวันที่ ๑ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๘๕
       
       
       [๑๔] คำพิพากษาสภาแห่งรัฐ คดี Lange ลงวันที่ ๓ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๘๕
       
       
       [๑๕] คำพิพากษาสภาแห่งรัฐ คณะพิเศษ คด Cne de Bethoncourt c/ consortsBarbier ลงวันที่ ๒๖ มกราคม ค.ศ. ๑๙๙๒
       
       
       [๑๖] คำพิพากษาสภาแห่งรัฐ คดี Cie Générales des Eaux ลงวันที่ ๑๕ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๕๗
       
       
       [๑๗] คำพิพากษาสภาแห่งรัฐ คดี Ville de thouars ลงวันที่ ๑๑พฤศภาคม ค.ศ. ๑๙๕๖
       
       
       [๑๘] คำพิพากษาสภาแห่งรัฐ คดี CPAM Mauberge ลงวันที่ ๙ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๙
       
       
       [๑๙] คำพิพากษาสภาแห่งรัฐ คดี Min. de l’Equipement c/ Dalleau ลงวันที่ ๖ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๗๓
       
       
       [๒๐] คำพิพากษาสภาแห่งรัฐ คดี Min. Transp. c/Chagot ลงวันที่ ๑ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๘๕
       
       
       [๒๑] คำพิพากษาสภาแห่งรัฐ คดี Ville de Perpignan ลงวันที่ ๑๔ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๖๙
       
       
       [๒๒] คำพิพากษาสภาแห่งรัฐ คดี  min. des T.P. et des Tarnsports c/ Cne de la Ricamarie ลงวันที่ ๒๘ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๖๐ และคดี Me Magnier ลงวันที่ ๘ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๘๗
       
       
       [๒๓] คำพิพากษาสภาแห่งรัฐ คดี  Naud ลงวันที่ ๔ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๕๘
       
       
       [๒๔] คำพิพากษาสภาแห่งรัฐ คดี Office public d’HLM de Castres ลงวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๖๖
       
       
       [๒๕] คำพิพากษาสภาแห่งรัฐ คดี Synd. Intercommunal d’assaonissement du Sud-Ouest de Lille ลงวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๑๙๘๒
       
       
       [๒๖] คำพิพากษาสภาแห่งรัฐ คดี Sté des Autoroutes du Nord de la France ลงวันที่ ๒ เมษายน ค.ศ. ๑๙๗๑
       
       
       [๒๗] คำพิพากษาสภาแห่งรัฐ คดี Decazeville ลงวันที่ ๑๘ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๕๘
       
       


พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=1763
เวลา 22 พฤศจิกายน 2567 19:16 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)