|
|
ครั้งที่ 298 26 สิงหาคม 2555 20:56 น.
|
สำหรับวันจันทร์ที่ 27 สิงหาคม ถึงวันอาทิตย์ที่ 9 กันยายน 2555
อยากต่อต้านการทุจริตกันจริงๆ หรือ?
เมื่อวันเสาร์ที่ 18 สิงหาคมที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีได้ประกาศแนวทางการดำเนินงานต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นของรัฐบาลระหว่างเป็นประธานในงาน รวมพลเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชั่น โดยนายกรัฐมนตรีได้กล่าวในตอนหนึ่งว่า หากเรามาร่วมกันในการหยุดคอร์รัปชั่น สิ่งที่จะได้รับก็คือความเชื่อมั่นของประเทศไทย ภาพลักษณ์ของประเทศไทยจะเป็นไปในทางที่ดีขึ้น นายกรัฐมนตรีได้เล่าให้ฟังถึงความคืบหน้าในการทำงานของรัฐบาลเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการคอร์รัปชั่นว่ารัฐบาลได้ดำเนินการไปหลายอย่าง เช่น โครงการ 1 กรม 1 ป้องกันโกง สายด่วน 1206 เพื่อต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น การตั้งศูนย์ปฏิบัติการทุจริตคอร์รัปชั่นในทุกกระทรวง การดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินให้สอดคล้องกับกฎเกณฑ์ระหว่างประเทศ ซึ่งทั้งหมดนี้นายกรัฐมนตรีเรียกว่าเป็นการ ทำจากข้างใน โดยเมื่อทำจากข้างในไปแล้วก็จะขยายต่อไปในภาคประชาชนและเอกชน โดยรัฐบาลพร้อมทำงานร่วมกับภาคเอกชน ประชาชนและภาคีเครือข่ายต่างๆ รวมทั้งสื่อมวลชนในการร่วมกันตรวจสอบภาคราชการซึ่งรัฐบาลทำอยู่ฝ่ายเดียวคงไม่สำเร็จถ้าไม่ได้รับความร่วมมือ ท้ายที่สุดนายกรัฐมนตรีได้กล่าวว่าขอให้ถือว่าเป็นการทำเพื่อประเทศ เพื่อสร้างความเชื่อมั่น สร้างภาพลักษณ์ให้กับประเทศไทยในระยะยาว
นี่ไม่ใช่ ครั้งแรก ที่นายกรัฐมนตรีคนนี้แสดงท่าทีต่อสาธารณะว่าจะต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นเพราะเมื่อ 3 เดือนที่ผ่านมาคือ วันศุกร์ที่ 18 พฤษภาคม 2555 นายกรัฐมนตรีได้เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ ยุทธศาสตร์ต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น ภายใต้แนวคิด ประเทศไทยก้าวไกลไร้ทุจริต ณ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ แจ้งวัฒนะ โดยนายกรัฐมนตรีได้กล่าวในที่ประชุมว่า เรื่องการต่อต้านการทุจริตถือเป็นนโยบายเร่งด่วนและสำคัญของรัฐบาลซึ่งได้กำหนดเป็นนโยบายของรัฐบาลโดยจะเน้นใน 4 แผนงานเชิงรุก คือ 1.การปลูกจิตสำนึกและสร้างการตระหนักเรียนรู้โดยสร้างข้าราชการไทยไร้ทุจริต พร้อมมอบรางวัลให้กับข้าราชการที่มีความซื่อสัตย์สุจริตและมีผลงานต่อต้านการทุจริต 2.การพัฒนาองค์กร ส่งเสริมให้ส่วนราชการจัดทำข้อเสนอการเปลี่ยนแปลงเพื่อความโปร่งใสในการปฏิบัติราชการของตนเอง ปรับปรุงกระบวนการหลักที่มีความเสี่ยงต่อการทุจริตคอรัปชั่นผ่านการเรียนรู้จากการปฏิบัติการจริงเพื่อมุ่งเน้นให้เกิดการพัฒนาจากความเต็มใจและยอมรับร่วมกันจากเจ้าหน้าที่ภายในหน่วยงานจนเป็นกลไกในการบูรณาการและขับเคลื่อนแผนป้องกัน 3.การตรวจสอบและเฝ้าระวังเชิงรุก โดยการจัดตั้งศูนย์ต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่นในการรับแจ้งเบาะแสรับเรื่องร้องเรียน ป้องกันและปราบปราม และเชื่อมโยงการรายงานทั้งหมดไปที่ศูนย์บัญชาการนายกรัฐมนตรีซึ่งสามารถร้องเรียนผ่านสายด่วน 1206 โดยเฉพาะเรื่องการซื้อขายตำแหน่งเพราะถือเป็นบ่อเกิดการทุจริตคอรัปชั่น และยืนยันว่าจะปกป้องผู้ร้องเรียนการทุจริตเข้ามาอย่างเต็มที่และ 4.การปราบปรามอย่างจริงจังและการลงโทษที่เข้มงวด โดยจะดำเนินการอย่างต่อเนื่องควบคู่ไปกับการมอบรางวัลเชิดชูเกียรติแก่องค์กรดีเด่นในการปราบปรามเรื่องดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงานราชการและจังหวัดตรวจสอบการทำงานภายในองค์กรของตัวเองว่ามีความเสี่ยงต่อการทุจริตคอรัปชั่นหรือไม่
ผมไม่ทราบว่ามาตรการต่างๆ ที่นายกรัฐมนตรีได้แถลงไปแล้วทั้ง 2 ครั้งเกิดหรือจะเกิดผลในทางปฏิบัติได้หรือไม่ หรือได้ดีมากน้อยเพียงใด แต่ที่ชัดเจนอย่างมากก็คือ นายกรัฐมนตรี ลืม ไปอย่างหนึ่งว่า รัฐธรรมนูญกำหนดให้มีคณะกรรมการ ป.ป.ช. ทำหน้าที่ในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต การไม่กล่าวถึงคณะกรรมการ ป.ป.ช. เลยจึงดูเสมือนหนึ่งว่า รัฐบาลไม่ได้ให้ความสำคัญกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตโดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งในทางปฏิบัติที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน รัฐบาลก็ ไม่ยอม ทำตามข้อเสนอของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เกี่ยวกับการป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่เป็นบ่อเกิดของการทุจริตที่สำคัญที่สุดในประเทศไทยอยู่แล้วครับ โดยในเรื่องของการป้องกันการทุจริตนั้น ผมได้เคยเขียนเอาไว้หลายครั้งแล้วใน www.pub-law.net บทบรรณาธิการนี้ผมคงต้องย้อนกลับไปเอาบางส่วนของเรื่องเก่าที่เคยเขียนไว้แล้วมานำเสนอใหม่อีกครั้งซึ่งนั่นก็คือ บทบรรณาธิการครั้งที่ 291 เรื่อง ถามหาความจริงใจในการป้องกันการทุจริต ที่ได้เผยแพร่ไปเมื่อวันจันทร์ที่ 21 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยในบทบรรณาธิการครั้งที่ 291 ผมได้นำเอาบทบรรณาธิการเก่าอีก 2 ครั้งคือ บทบรรณาธิการครั้งที่ 280 และครั้งที่ 283 ที่ผมได้พูดถึงเรื่อง การให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการจัดทำข้อมูลรายละเอียดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างโดยเฉพาะราคากลางไว้ในระบบข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าตรวจดูได้และการกำหนดมาตรการที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นผู้จัดทำและคณะรัฐมนตรียังไม่ตอบสนองจนทำให้เกิดความล่าช้าในการดำเนินการตามกฎหมายมานำเสนอครับ
ในบทบรรณาธิการครั้งที่ 280 ผมได้เล่าให้ฟังถึงเรื่องบทบัญญัติที่เพิ่มขึ้นมาในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฉบับใหม่ที่มีผลใช้บังคับไปเมื่อกลางปี พ.ศ. 2554 ที่ผ่านมา โดยในมาตรา 103/7 วรรคแรก แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 ได้บัญญัติไว้ว่า ให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการจัดทำข้อมูลรายละเอียดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างโดยเฉพาะราคากลางและการคำนวณราคากลางไว้ในระบบข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าตรวจดูได้ จากบทบัญญัติดังกล่าว คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาจัดทำรายละเอียดเกี่ยวกับ การให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการจัดทำข้อมูลรายละเอียดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างโดยเฉพาะราคากลางไว้ในระบบข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าตรวจดูได้และการกำหนดมาตรการที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม เมื่อดำเนินการเสร็จเรียบร้อยและผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. แล้ว คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงได้เสนอเรื่องดังกล่าวไปยังคณะรัฐมนตรีเพื่อดำเนินการตามมาตรา 103/8 ที่บัญญัติเอาไว้ว่า ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีหน้าที่รายงานต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อสั่งการให้หน่วยงานของรัฐจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างตามมาตรา 103/7 วรรคหนึ่ง โดยหน่วยงานของรัฐจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ดำเนินการดังกล่าวและให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีหน้าที่ติดตามผลการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีในกรณีดังกล่าวด้วย........
ในบทบรรณาธิการครั้งที่ 283 ผมได้เล่าให้ฟังว่า คณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2554 มีความเห็นในเรื่องข้างต้นที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เสนอไป 3 ประเด็นคือ
1. ในการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐที่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาหรือกำกับดูแลของฝ่ายบริหารได้ถือปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2549 โดยหลายหน่วยงานได้ดำเนินการจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างโดยเฉพาะราคากลางและการคำนวณราคากลางไว้ในระบบฐานข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อให้ ประชาชนสามารถเข้าตรวจดูได้อยู่แล้ว สมควรให้ทุกหน่วยงานเร่งรัดดำเนินการจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างฯ ให้เป็นไปตามกฎ ระเบียบที่ใช้บังคับในปัจจุบัน ส่วนหน่วยงานของรัฐที่ไม่ได้อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาหรือการกำกับดูแลของฝ่ายบริหารนั้น สมควรรับทราบกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะพิจารณาดำเนินการไปตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายกำหนด
2. อย่างไรก็ตาม รายงานของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เกี่ยวกับการจัดทำข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างฯ บางเรื่องอาจเป็นอุปสรรคต่อการบริหารราชการแผ่นดินและอาจไม่สอดคล้องกับระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และระเบียบที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ประกอบกับขณะนี้กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างดำเนินโครงการนำร่องตามแนวร่วมปฏิบัติต่อต้านทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ (Collective Action) โดยร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคเอกชนโดยเน้นความโปร่งใสในการเปิดเผยข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างซึ่งสอดคล้องกับรายงานของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในเรื่องนี้ สมควรมอบหมายให้กระทรวงการคลังรับรายงานของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไปประกอบการพิจารณาดำเนินโครงการฯ แล้วนำเสนอคณะรัฐมนตรีโดยด่วนต่อไป
3. สำหรับรายงานของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งเสนอให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจแก้ไขปรับปรุงหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการ ปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐและหน่วยงานของรัฐได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบในส่วนที่แก้ไขเพิ่มเติมอีกอาจไม่สอดคล้องกันมาตรา 103/7 และมาตรา 103/8 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 ที่ประสงค์ให้คณะรัฐมนตรีเป็นผู้พิจารณาตามความเห็นสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาและจะมีผลกระทบกับเจ้าหน้าที่และหน่วยงานของรัฐตามความเห็นกระทรวงการคลังและสำนักงบประมาณ สมควรให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการให้สอดคล้องกับบทบัญญัติมาตรา 103/8 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าวซึ่งกำหนดให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีหน้าที่รายงานต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อสั่งการให้หน่วยงานของรัฐจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างตามมาตรา 103/7 วรรคหนึ่ง
จากความเห็นดังกล่าวข้างต้น คณะรัฐมนตรีก็ได้มีมติในรายประเด็น คือ
1. ให้หน่วยงานของรัฐที่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาหรือการกำกับดูแลของฝ่ายบริหารเร่งรัดจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างฯ ให้สอดคล้องกับกฎระเบียบที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันโดยเคร่งครัด และมอบหมายให้กระทรวงการคลังรับรายงานของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เรื่องนี้และความเห็นของสำนักงบประมาณไปประกอบการพิจารณาดำเนินการตามโครงการฯ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้วนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาโดยด่วนต่อไป ทั้งนี้ ให้คำนึงถึงการดำเนินการตามรายงานของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ดังกล่าวจะต้องไม่เป็นปัญหาอุปสรรคในการบริหารราชการแผ่นดินประกอบด้วย
2. รับทราบรายงานของคณะกรรมการ ป.ป.ช. กรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะได้มีหนังสือแจ้งให้หน่วยงานของรัฐที่ไม่ได้อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาหรือการกำกับดูแลของฝ่ายบริหารปฏิบัติตามกฎหมายและมาตรการที่กำหนดต่อไปตามรายละเอียดแนวทางการดำเนินการประกาศราคากลางและรายละเอียดการคำนวณราคากลางไว้ในระบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าตรวจดูได้ ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่กฎหมายกำหนด
3. การแก้ไขปรับปรุงหลักเกณฑ์การจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างฯ ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนดตามมาตรา 103/7 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติมแต่ละครั้ง ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. รายงานต่อคณะรัฐมนตรีก่อนเพื่อให้สอดคล้องกับบทบัญญัติมาตรา 103/8 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าวตามความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
ภายหลังจากที่ได้รับทราบมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว ผมได้เสนอความเห็นไว้ในบทบรรณาธิการ ครั้งที่ 283 ว่า บทบัญญัติในมาตรา 103/8 แห่งกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตนั้นยังมีความเห็นแตกต่างกันเป็นสองแนวทาง แนวทางแรกคือ เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. จัดทำรายละเอียดตามมาตรา 103/7 เสร็จก็จะต้องรายงานต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อ สั่งการให้ หน่วยงานของรัฐจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างตามมาตรา 103/7 วรรคหนึ่ง โดยหน่วยงานของรัฐจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ดำเนินการดังกล่าว ซึ่งในแนวทางแรกนี้ แม้มาตรการดังกล่าวจะเป็นมาตรการในการป้องกัน ไม่ใช่มาตรการในการปราบปรามที่คณะรัฐมนตรีจะต้องอยู่ภายใต้การตรวจสอบของคณะกรรมการ ป.ป.ช. โดยตรง แต่เนื่องจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่มีอำนาจทั้งในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและคณะรัฐมนตรีซึ่งเป็นองค์กรสูงสุดของฝ่ายบริหารก็ต้องอยู่ภายใต้การ ตรวจสอบ ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ด้วย ดังนั้น คณะรัฐมนตรีจึงต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนดตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายก็คือ สั่งการไปยังหน่วยงานที่อยู่ภายใต้บังคับบัญชาของตนให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เสนอ ดังนั้น การที่คณะรัฐมนตรี ปฏิเสธ ที่จะสั่งการให้มีดำเนินการตามหลักเกณฑ์ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. แต่กลับไปสั่งการให้หน่วยงานของรัฐที่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาหรือการกำกับดูแลของฝ่ายบริหารเร่งรัดจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างฯ ให้สอดคล้องกับกฎ ระเบียบที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันโดยเคร่งครัดจึงเป็นการกระทำที่ ท้าทาย อำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นอย่างยิ่ง ส่วนอีกแนวทางหนึ่งก็คือ คณะรัฐมนตรีต้องให้ความ เห็นชอบ ในเรื่องดังกล่าวก่อนจึงค่อย สั่งการ ต่อไปยังหน่วยงานของรัฐให้ปฏิบัติตาม ซึ่งในแนวทางหลังนี้เองที่เป็นความเห็นอันมีผลเป็นการ เพิ่ม อำนาจให้กับคณะรัฐมนตรีที่มีต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ปัญหาที่เกิดขึ้นจึงน่าจะมาจากการใช้ถ้อยคำในมาตรา 103/8 ที่มีทั้ง สั่งการ และ เห็นชอบ ซึ่งก็คงต้องตีความอย่างเคร่งครัดโดยคำนึงถึงเจตนารมณ์ของการตั้งคณะกรรมการ ป.ป.ช. ขึ้นมาเป็นหลัก กล่าวคือ ต้องพิจารณาว่าเรื่องที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เสนอต่อคณะรัฐมนตรีนั้นเป็นการเสนอเพื่อให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาสั่งการให้หน่วยงานของรัฐที่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของคณะรัฐมนตรีปฏิบัติตาม หรือเป็นการเสนอเพื่อให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อน กล่าวง่าย ๆ ก็คือ เป็นอำนาจผูกพันหรืออำนาจในการใช้ดุลพินิจกันแน่ ซึ่งในเรื่องนี้ หากพิจารณาถ้อยคำที่ปรากฏอยู่ในตัวบทของ มาตรา 103/8 แห่งกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตอย่างเคร่งครัด คงต้องแปลความเป็นอย่างหลังว่าเป็นอำนาจในการใช้ดุลยพินิจของคณะรัฐมนตรี คือ ต้องขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีก่อน เมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นชอบ คณะรัฐมนตรีจึงค่อยสั่งการหน่วยงานของรัฐที่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของคณะรัฐมนตรีให้ไปดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว ด้วยเหตุนี้เองที่มติคณะรัฐมนตรีในวันที่ 13 ธันวาคม 2554 ที่ผ่านมาจึงมีผลเป็นการ ปฏิเสธ หลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าหากมองดูเจตนารมณ์ของการตั้งคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นหลัก คงต้องแปลความบทบัญญัติดังกล่าวไปในทางตรงกันข้ามกับความเห็นแนวทางหลังว่า เป็นอำนาจผูกพันที่คณะรัฐมนตรีต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เสนอ เพราะคณะรัฐมนตรีซึ่งต้องอยู่ภายใต้การตรวจสอบของคณะ กรรมการ ป.ป.ช. ไม่สามารถให้ความเห็นชอบกับมาตรการที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนดได้เนื่องจากตนเป็นผู้มีส่วนได้เสีย ปัญหาของเรื่องดังกล่าวจึงอยู่ที่ความไม่ชัดเจนของตัวบทมาตรา 103/8 และอยู่ที่การเลือกใช้คำในตัวบทด้วยว่าจะเลือกใช้ในวัตถุประสงค์ใด เพราะหากจะเลือกใช้เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของคณะกรรมการ ป.ป.ช. โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ ป้องกัน การทุจริตที่เกิดจากการจัดซื้อจัดจ้างแล้ว คณะรัฐมนตรีก็ควรสั่งการให้หน่วยงานของรัฐทั้งหมดปฏิบัติตามแนวทางที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด !!!
อย่างไรก็ตาม หลังจากที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติไปเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2554 ก็เกิดการดำเนินการตามมาหลายอย่างด้วยกัน โดยเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2555 คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีหนังสือไปถึงนายกรัฐมนตรีเพื่อขอให้ทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2554 โดยมีเหตุผล 3 ประการคือ
1. ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติว่า ให้หน่วยงานของรัฐที่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาหรือการกำกับดูแลของฝ่ายบริหารเร่งรัดจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างฯ ให้สอดคล้องกับกฎระเบียบที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันโดยเคร่งครัดและมอบหมายให้กระทรวงการคลังรับรายงานของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เรื่องนี้และความเห็นของสำนักงบประมาณไปประกอบการพิจารณาดำเนินการตามโครงการฯ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้วนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาโดยด่วนต่อไป ทั้งนี้ ให้คำนึงถึงการดำเนินการตามรายงานของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ดังกล่าวจะต้องไม่เป็นอุปสรรคในการบริหารราชการแผ่นดินประกอบด้วยนั้น ไม่สอดคล้องกับบทบัญญัติในมาตรา 103/7 วรรคหนึ่ง ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 ที่บัญญัติให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการจัดทำข้อมูลรายละเอียดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างโดยเฉพาะราคากลางและการคำนวณราคากลางไว้ในระบบข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าตรวจดูได้ ซึ่งเป็นกรณีที่กฎหมายกำหนดให้หน่วยงานของรัฐต้องปฏิบัติในการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างโดยเคร่งครัดอันเป็นการดำเนินการเพื่อป้องกันและปราบปรามการทุจริตตามอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. มาตรการดังกล่าวจึงไม่ใช่มาตรการเดียวกันกับฝ่ายบริหาร ดังนั้นแม้ว่าในทางปฏิบัติหน่วยงานของรัฐได้ดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวอยู่แล้วก็ตาม ก็เป็นกรณีที่ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐที่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาหรือกำกับดูแลของฝ่ายบริหารถือปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุอันเป็นกฎเกณฑ์ของฝ่ายบริหารเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างซึ่งยังไม่ครอบคลุมตามเจตนารมณ์ของกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตที่ประสงค์ให้หน่วยงานของรัฐถือปฏิบัติตามกฎหมายโดยเคร่งครัด มิใช่เพียงการใช้ระเบียบในการปฏิบัติเท่านั้น ดังนั้นเมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้เสนอรายงานต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อสั่งการให้หน่วยงานของรัฐจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างตามมาตรา 103/7 คณะรัฐมนตรีจึงต้องพิจารณาและมีมติตามนัยมาตรา 103/8 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าวต่อไป ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและให้มีผลในทางปฏิบัติของหน่วยงานของรัฐที่จะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ดำเนินการดังกล่าว
2. ตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้เสนอให้คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. สามารถแก้ไขปรับปรุงหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างฯ ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนดตามมาตรา 103/7 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐและหน่วยงานของรัฐโดยมิต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบในส่วนที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมอีกนั้น การที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เสนอเรื่องดังกล่าวก็เพราะในทางปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้างฯ หากเกิดปัญหาในทางปฏิบัติขึ้นและอาจส่งผลกระทบต่อการบริหารราชการแผ่นดิน การเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบในการปรับปรุงแก้ไขหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวกับการจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างฯ อาจใช้เวลานานและอาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของหน่วยงานของรัฐได้ เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินลุล่วงไปได้อย่างรวดเร็ว จึงควรให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะผู้กำหนดหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างฯ เป็นผู้ปรับปรุงแก้ไข โดยการปรับปรุงแก้ไขดังกล่าวจะต้องไม่กระทบต่อสาระสำคัญของหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างฯ ที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบไปแล้ว และการปรับปรุงแก้ไขต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ในการบริหารราชการแผ่นดิน
3. ตามที่กระทรวงการคลังมีความเห็นประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีในเรื่องนี้ว่าสมควรให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนดวงเงินขั้นต่ำในการประกาศราคากลาง ราคาอ้างอิง ให้การจัดซื้อจัดจ้างที่มีวงเงินตั้งแต่ 5,000 บาทขึ้นไปต้องประกาศราคากลางหรือราคาอ้างอิงนั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นด้วยในการกำหนดราคาขั้นต่ำตามความเห็นของกระทรวงการคลังดังกล่าว
ต่อมา สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้ส่งความเห็นของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ข้างต้นไปยังกระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณและสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อขอความเห็นในส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี หน่วยงานทั้ง 3 จึงได้เสนอความเห็นกลับมายังเลขาธิการคณะรัฐมนตรีสรุปความได้ว่า กระทรวงการคลังเห็นว่า แนวทางการดำเนินการประกาศราคากลางและรายละเอียดการคำนวณราคากลางไว้ในระบบข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ตามมาตรา 103/7 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด ก็เพื่อให้หน่วยงานต่าง ๆ ที่มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายสามารถปฏิบัติได้อย่างถูกต้องตามเจตนารมณ์ของกฎหมายและเนื่องจากการดำเนินการตามแนวทางดังกล่าวมีผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่าย ทั้งหน่วยงานภาครัฐและผู้ประกอบการภาคเอกชน ดังนั้นคณะกรรมการ ป.ป.ช. ควรกำหนดหลักเกณฑ์แนวทางการดำเนินการให้ชัดเจนอย่างละเอียดเพื่อให้ผู้ปฏิบัติเข้าใจวิธีการปฏิบัติ ขอบเขตความรับผิดชอบของผู้เกี่ยวข้อง รวมทั้งผลของการปฏิบัติไม่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์แนวทางการดำเนินการที่กำหนด และเนื่องจากหน่วยงานจัดซื้อภาครัฐซึ่งต้องปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าวมีจำนวนประมาณ 45,000 หน่วยทั้งประเทศ ดังนั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงควรเตรียมความพร้อมทั้งในด้านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ การฝึกอบรมบุคลากร การติดตามการปฏิบัติตามกฎหมาย เป็นต้น
ส่วนสำนักงบประมาณก็มีความเห็นในเรื่องดังกล่าวว่า สมควรที่คณะรัฐมนตรีจะให้ความเห็นชอบการเปิดเผยข้อมูลรายละเอียดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างไว้ในระบบข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ตามที่สำนักงาน ป.ป.ช. เสนอ ตามนัยมาตรา 103/7 และที่แก้ไขเพิ่มเติม สำหรับการแก้ไขปรับปรุงหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐนั้น เพื่อมิให้เกิดผลกระทบต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐและหน่วยงานของรัฐที่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาหรือการกำกับดูแลของฝ่ายบริหาร เห็นสมควรให้สำนักงาน ป.ป.ช. นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนด้วย
ในขณะที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกามีความเห็นว่า มาตรา 103/7 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 103/8 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและ ปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 กำหนดให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีหน้าที่รายงานต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อสั่งการให้หน่วยงานของรัฐจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างโดยหน่วยงานของรัฐจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ดำเนินการ โดยมิได้ให้อำนาจคณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนดหลักเกณฑ์การจัดทำข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายการจัดซื้อจัดจ้างโดยเฉพาะราคากลางและการคำนวณราคากลางไว้ในระบบอิเล็กทรอนิกส์ แต่อาจเสนอเป็นแนวทางประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีได้ ดังนั้นคณะรัฐมนตรีจึงมีอำนาจที่จะพิจารณาให้ความเห็นชอบหรืออาจพิจารณาเป็นประการอื่นที่เหมาะสม ซึ่งโดยข้อเท็จจริงในเรื่องนี้คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้กระทรวงการคลังรับรายงานของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไปประกอบการพิจารณาโดยให้คำนึงถึงการดำเนินการตามรายงานของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ดังกล่าวต้องไม่เป็นอุปสรรคในการบริหารราชการแผ่นดินประกอบด้วย แล้วนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาโดยด่วนต่อไป สำหรับกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เสนอให้คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจแก้ไขปรับปรุงหลักเกณฑ์การจัดทำข้อมูลรายละเอียดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างโดยเฉพาะราคากลางและการคำนวณราคากลางไว้ในระบบข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐและหน่วยงานของรัฐโดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบในส่วนที่แก้ไขเพิ่มเติมอีกนั้น ยังคงเห็นว่า ข้อเสนอดังกล่าวไม่สอดคล้องกับมาตรา 103/7 และมาตรา 103/8 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 ที่ประสงค์ให้คณะรัฐมนตรีเป็นผู้พิจารณา
เมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีก็ได้มีหนังสือแจ้งความเห็นของหน่วยงานทั้ง 3 ข้างต้นไปยังคณะกรรมการ ป.ป.ช. พร้อมทั้งยังได้ตั้งประเด็นใหม่ขึ้นมาอีกว่า เรื่องนี้มีประเด็นปัญหาข้อกฎหมายในการปฏิบัติตามมาตรา 103/7 และมาตรา 103/8 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 ซึ่งประธานกรรมการ ป.ป.ช. เป็นผู้รักษาการ สมควรได้รับการพิจารณาวินิจฉัยโดยคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี ซึ่งนายกรัฐมนตรีพิจารณาแล้วมีคำสั่งให้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกา พิจารณาให้ความเห็นทางกฎหมายก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีจึงได้มีหนังสือด่วนที่สุด ที่ นร 0505/10857 ลงวันที่ 30 เมษายน 2555 หารือเรื่องดังกล่าวไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกาว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2554 เกี่ยวกับการให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการจัดทำข้อมูลรายละเอียดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างโดยเฉพาะราคากลางและการคำนวณราคากลางไว้ในระบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าตรวจดูได้และกำหนดมาตรการที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม แต่ต่อมาคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ขอให้คณะรัฐมนตรีทบทวนมติดังกล่าว โดยที่เรื่องนี้มีประเด็นปัญหาข้อกฎหมายในการปฏิบัติตามมาตรา 103/7 และมาตรา 103/8 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 ซึ่งประธานกรรมการ ป.ป.ช. เป็นผู้รักษาการตามกฎหมาย นายกรัฐมนตรีพิจารณาแล้วมีคำสั่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาให้ความเห็นทางกฎหมายก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป โดยมีประเด็นปัญหาสรุปได้ดังนี้
1. คณะรัฐมนตรีจะต้องมีมติเห็นชอบให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนดทั้งหมดตามมาตรา 103/7 และมาตรา 103/8 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าวโดยไม่อาจพิจารณามีความเห็นเป็นอย่างอื่นหรืออาจให้ความเห็นชอบเฉพาะในส่วนที่ไม่เป็นอุปสรรคต่อการบริหารราชการแผ่นดินได้
2. การแก้ไขปรับปรุงหลักเกณฑ์การจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างฯ ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนดตามมาตรา 103/7 คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะต้องรายงานต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบตามมาตรา 103/8 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าวหรือไม่
เดือนมิถุนายน 2555 คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1) ก็ได้มีความเห็นในเรื่องดังกล่าวตามเรื่องเสร็จที่ 663/2555 ว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่มีอำนาจกำหนดหลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติตามมาตรา 103/7 วรรคหนึ่งแห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 หน่วยงานของรัฐต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์ที่ทางราชการกำหนด สิ่งที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. นำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเป็นเพียงมาตรการที่เสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีตามมาตรา 19 (11) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตดังกล่าวเท่านั้น คณะรัฐมนตรีย่อมมีดุลยพินิจที่จะรับฟังข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไปดำเนินการทั้งหมดหรือบางส่วนได้ตามที่เห็นสมควร คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2555 ว่าเห็นชอบให้หน่วยงานของรัฐถือปฏิบัติตามความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1) และตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2554 (เรื่อง การให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการจัดทำข้อมูลรายละเอียดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้าง โดยเฉพาะราคากลางและการคำนวณราคากลางไว้ในระบบข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าตรวจดูได้และการกำหนดมาตรการที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม) โดยให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีแจ้งความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกาดังกล่าวให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ทราบต่อไป
แต่อย่างไรก็ตาม ในการประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งต่อมาเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2555 คณะรัฐมนตรีก็ได้มีมติอีกครั้งหนึ่งว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2555 (เรื่อง การทบทวนมติคณะรัฐมนตรี เรื่อง การให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการจัดทำข้อมูลรายละเอียดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้าง โดยเฉพาะราคากลางและการคำนวณราคากลางไว้ในระบบข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าตรวจดูได้และการกำหนดมาตรการที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม) โดยให้แจ้งความเห็นทางกฎหมายของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1) ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ทราบแล้วนั้น โดยที่รัฐบาลมีนโยบายและให้ความสำคัญในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบเป็นเรื่องเร่งด่วน โดยได้ประกาศยุทธศาสตร์และแผนงานเชิงรุกของรัฐบาลในการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นและมอบหมายนโยบายแก่ส่วนราชการในการพัฒนาองค์กรเพื่อสร้างความโปรงใสในการปฏิบัติราชการ ดังนั้น เพื่อประโยชน์ในการบริหารราชการแผ่นดิน จึงมีมติให้กระทรวงการคลังเป็นหน่วยงานหลักร่วมกับสำนักงบประมาณและสำนักงาน ก.พ.ร. ไปหารือร่วมกับคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและหาวิธีการและแนวทางในการปฏิบัติเพื่อตอบสนองมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐบาลและคณะกรรมการ ป.ป.ช. หากมีความจำเป็นจะต้องปรับปรุงแก้ไขกฎ ระเบียบ หรือมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องก็ให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป
ขณะที่เขียนบทบรรณาธิการนี้ เรื่องดังกล่าวก็ยังคงหยุดอยู่แค่ตรงนี้เองครับ !!!
ผมมองดู ภาพ ของการลุกขึ้นมาต่อต้านการทุจริตของรัฐบาลอย่างหมดหวัง ใครๆ ก็ทราบว่า การทุจริตในภาครัฐส่วนใหญ่มีที่มาจากการจัดซื้อจัดจ้างที่อยู่ภายใต้ระเบียบเก่าๆ ที่มี ช่องโหว่ จนพรุนไปหมด หากเราไม่สามารถ ควบคุม การจัดซื้อจัดจ้างได้ เราก็ไม่สามารถ ควบคุม การทุจริตได้ และหากเราควบคุมการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐได้ ปีหนึ่งเราก็จะประหยัดงบประมาณแผ่นดินได้เป็นจำนวนมาก
ผมสงสัยว่าทำไมรัฐบาลถึงได้ ไม่ยอม ให้หลักเกณฑ์ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เกี่ยวกับเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างมีผลใช้บังคับ แต่กลับไป เล่นแง่ กับคณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งมีหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตก็ไม่ทราบได้ เพราะหากแม้ว่าคณะกรรมการกฤษฎีกาจะเห็นว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่มีอำนาจในการกำหนดหลักเกณฑ์การจัดทำข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างโดยเฉพาะราคากลางและการคำนวณราคากลางไว้ในระบบข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ก็ตาม แต่คณะกรรมการกฤษฎีกาก็ได้กล่าวเอาไว้ในตอนท้ายของความเห็นว่า คณะรัฐมนตรีย่อมมีดุลพินิจที่จะรับฟังข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไปดำเนินการทั้งหมดหรือบางส่วนได้ตามที่เห็นสมควร เรื่องคงจะจบลงอย่างสวยงามและดูดีหากคณะรัฐมนตรียอมรับข้อเสนอของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งก็เป็นข้อเสนอที่ทั้งกระทรวงการคลังและสำนักงบประมาณก็ได้เคยมีหนังสือแจ้งไปยังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีแล้วว่าเห็นด้วยกับมาตรการดังกล่าว การที่คณะรัฐมนตรีมีมติอีกครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2555 มอบให้กระทรวงการคลังเป็นหน่วยงานหลักร่วมกับสำนักงบประมาณและสำนักงาน ก.พ.ร. ไปหารือร่วมกับคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล และหาวิธีการและแนวทางในการปฏิบัติเพื่อตอบสนองมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐบาลและคณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงเป็นการสั่งการที่ ปฏิเสธ อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่บัญญัติไว้ในมาตรา 103/7 และ 103/8 แห่งกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ครับ !!!
ผมยังไม่ทราบท่าทีของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในเรื่องนี้ว่า จะเห็นเป็นอย่างไร แต่ถ้าเป็นผมคงนั่งไม่ติดแล้วครับ เป็นองค์กรที่มีหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญกำหนดแต่ก็ถูกทำลายความน่าเชื่อถือลงไปด้วยการ ปฏิเสธ อำนาจหน้าที่ แถมยังให้หน่วยงานที่อยู่ภายใต้การตรวจสอบของตนเอง มาเป็นหน่วยงานหลักในการหาวิธีการและแนวทางในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบอีกด้วย อย่างนี้ไม่เรียกว่า ทำลายความน่าเชื่อถือ แล้วจะเรียกว่าอะไรครับ
เป็นผม จะส่งเรื่องนี้ไปยังศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยตามมาตรา 214 เพราะเรื่องนี้ถือ เป็นเรื่องของความขัดแย้งเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างคณะรัฐมนตรีกับคณะกรรมการ ป.ป.ช. นะครับ เอาให้ชัดเจนกันไปเลยว่าเป็นอย่างไร
ส่วนภาคเอกชนที่รวมตัวกันเข้าเป็นภาคีเครือข่ายต่อต้านคอรัปชั่นนั้นคงไม่ต้องพูดถึงนะครับ มีหลายคนที่เป็นแกนนำของภาคีและรู้เรื่องที่คณะรัฐมนตรีไม่ยอมทำตามข้อเสนอของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นอย่างดี แต่ก็ไม่เห็นออกมาพูดหรือให้ข่าวใดๆในเรื่องนี้เลย ลำพังการให้ข่าวว่าจะทำอะไรหรือการยืนไขว้มือถ่ายรูปเล่นกันปีละ 2-3 หน คงไม่สามารถเปลี่ยนประเทศไทยไปได้หรอกครับ ถ้าไม่เข้ามาร่วมกันต่อสู้อย่างจริงจัง
หรือว่าในบ้านเราจะมีแต่นักสร้างภาพก็ไม่ทราบนะครับ !!!
ในสัปดาห์นี้ เรามีบทความมานำเสนอ 3 บทความด้วยกัน บทความแรกเป็นบทความของคุณชำนาญ จันทร์เรือง นักวิชาการอิสระ ที่เขียนเรื่อง กรณี 98 ศพ จะเอาผิดเฉพาะผู้สั่งการไม่ได้ บทความที่สอง เป็นบทความเรื่อง ศาลอาญา กับ ตราบาป ของ เจ๋ง ดอกจิก เขียนโดย คุณวีรพัฒน์ ปริยวงศ์ นักวิชาการอิสระ บทความสุดท้าย เป็นบทความของคุณธีรพัฒน์ อังศุชวาล นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่เขียนเรื่อง ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย ผมขอขอบคุณเจ้าของบทความทุกบทความด้วยครับ
พบกันใหม่ วันจันทร์ที่ 10 กันยายน 2555 ครับ
ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์
|
|
|
พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=1761
เวลา 22 พฤศจิกายน 2567 12:09 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)
|
|