ครั้งที่ 296

29 กรกฎาคม 2555 21:01 น.

       สำหรับวันจันทร์ที่ 30 กรกฎาคม ถึงวันอาทิตย์ที่ 12 สิงหาคม 2555
        
       
       “รัฐสภาก็มีหน้าที่ปกป้องรัฐธรรมนูญด้วยเช่นกัน”
        
       สองสัปดาห์ที่ผ่าน มาความสนใจของผู้คนส่วนใหญ่มุ่งไปที่คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 18-22/2555 ลงวันที่ 13 กรกฎาคม 2555 กรณีแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 เป็นการล้มล้างการปกครองตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 หรือไม่ ที่ศาลรัฐธรรมนูญได้ “อ่าน” คำวินิจฉัยไปเมื่อตอนบ่ายวันศุกร์ที่ 13 กรกฎาคม 2555 และต่อมา ได้มีการเผยแพร่ผลของคำวินิจฉัยดังกล่าวในรูปแบบของ “ข่าวสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ” ข่าวที่ 22/2555 วันศุกร์ที่ 13 กรกฎาคม 2555 ในตอนเย็นวันเดียวกันกับที่ได้มีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ โดยข่าวดังกล่าวมีใจความดังนี้
                 “วันนี้ ศาลรัฐธรรมนูญได้ออกนั่งอ่านคำวินิจฉัยกรณี พลเอกสมเจตต์ บุญถนอม ผู้ร้อง และผู้ร้องอื่น รวม 5 คำร้อง ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68  ผลของคำวินิจฉัยมีดังนี้
                   ประเด็นที่ 1 ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 หรือไม่ ปรากฏผลการลงมติเสียงข้างมาก 7 ต่อ 1 ว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68
                   ประเด็นที่ 2 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 สามารถแก้ไขเพิ่มเติมโดยยกเลิกรัฐธรรมนูญทั้งฉบับได้ หรือไม่
                   ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า แม้จะเป็นอำนาจของรัฐสภาก็ตาม แต่การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญโดยการยกร่างใหม่ทั้งฉบับยังไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 เนื่องจากรัฐธรรมนูญปัจจุบันนี้ได้มาโดยการลงประชามติของประชาชน ก็ควรจะได้ให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้ลงประชามติเสียก่อนว่าสมควรจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หรือไม่ หรือรัฐสภาจะใช้อำนาจในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราก็เป็นความเหมาะสมและเป็นอำนาจของรัฐสภาที่จะดำเนินการดังกล่าวนี้ได้ ซึ่งจะเป็นการสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 291
                   ประเด็นที่ 3 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 291 ตามญัตติเสนอร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช .... ถือเป็นการล้มล้างระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 วรรคหนึ่ง หรือไม่
                   ปรากฏผลการลงมติเป็นเอกฉันท์ว่า การกระทำดังกล่าวไม่ถือว่าเป็นการล้มล้างระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 วรรคหนึ่ง
                   ประเด็นที่ 4 หากกรณีเป็นการกระทำที่เข้าข่ายตามมาตรา 68 วรรคหนึ่ง จะถือเป็นเหตุให้ศาลรัฐธรรมนูญต้องสั่งยุบพรรคการเมือง และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคการเมือง หรือไม่
                   ปรากฏผลการลงมติเป็นเอกฉันท์ว่า กรณีไม่เป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 วรรคหนึ่ง แล้ว จึงไม่จำต้องวินิจฉัยในประเด็นนี้”
                 ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะอ่านคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2555 มี “ผู้รู้” จำนวนมากออกมา “คาดเดา” ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยไปในทางใดและเมื่อศาลรัฐธรรมนูญได้อ่านคำวินิจฉัยไปแล้ว “ผู้รู้” บางคนซึ่งเป็นคนเดียวกับที่เคยออกมาให้สัมภาษณ์คาดเดาแนวทางที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยเรื่องนี้ในช่วงก่อนวันที่ 13 กรกฎาคมที่ผ่านมา ก็ยังคงแสดงความเป็น “ผู้รู้” ต่อไปอย่างต่อเนื่อง คาดว่า หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญได้เปิดเผยคำวินิจฉัยกลางที่เป็นทางการออกมาแล้วเมื่อบ่ายวันที่ 26 กรกฎาคม 2555 “ผู้รู้” เหล่านั้นก็คงออกมาแสดงความเห็นต่อไปอีก ก็ต้องติดตามกันต่อไปครับ
                 ผมลองประมวลเหตุการณ์อย่างคร่าว ๆ ภายหลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญได้อ่านคำวินิจฉัยไปแล้วเมื่อวันศุกร์ที่ 13 กรกฎาคม 2555 ที่ผ่านมา ฝ่ายที่เห็นด้วยกับศาลรัฐธรรมนูญก็แสดงความเห็นว่า รัฐสภาต้องปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก็คือ หากจะแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับก็ต้องทำประชามติก่อน หรือไม่ก็ต้องแก้รัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา ส่วนฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญก็มีอยู่หลายความคิดเห็น บ้างก็เห็นว่าไม่ต้องสนใจว่าศาลรัฐธรรมนูญจะว่าอย่างไรเพราะศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจในการรับพิจารณาเรื่องนี้มาตั้งแต่ต้น บ้างก็เห็นว่าเพื่อความปลอดภัย รัฐสภาควรหยุดการลงมติวาระ 3 ไว้ก่อนแล้วหาทางออกที่เหมาะสมต่อไป ความเห็นของทั้ง 2 ฝ่ายยังมีแตกแขนงปลีกย่อยออกไปมากกว่านี้ แต่ผมคงไม่ขอนำมากล่าวไว้ทั้งหมดเพราะจะทำให้บทบรรณาธิการของผมรกรุงรังโดยไม่จำเป็นครับ
                 ความสับสนทั้งหมดเกิดขึ้นมาจากการที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยที่เป็นทางการออกมาช้าเกินไป เรื่องนี้ผมทั้งพูดทั้งเขียนไปหลายครั้งแล้ว ภายหลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยต้องรีบเผยแพร่คำวินิจฉัยที่เป็นทางการโดยเร็วที่สุดและจะต้องไม่แตกต่างหรือมีสาระเพิ่มเติมไปจากคำวินิจฉัยที่ศาลอ่าน เพราะคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญนั้นมีผลเมื่ออ่าน แต่เมื่อศาลรัฐธรรมนูญปล่อยเวลาให้ผ่านไป 2 สัปดาห์หลังจากที่ได้อ่านคำวินิจฉัย ก็เป็นธรรมดาที่บรรดา “ผู้รู้” ทั้งหลายจะออกมาคาดเดาผลของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญจนทำให้เกิดความสับสนอลหม่านไปทั่วครับ ก็ไม่ทราบจะพูดอะไรเพราะศาลรัฐธรรมนูญไม่เคยยอม “ปรับ” วิธีการทำงานของตนให้สอดคล้องกับความสนใจของประชาชนเลยครับ !!!
                 เมื่อตอนบ่ายของวันพฤหัสบดีที่ 27 กรกฎาคมที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญได้เผยแพร่คำวินิจฉัยที่ 18-22/2555 ลงวันที่ 13 กรกฎาคม 2555 โดยคำวินิจฉัยดังกล่าวมีจำนวน 29 หน้า ประกอบด้วยส่วนที่เป็นข้อเท็จจริงและคำชี้แจงของผู้เกี่ยวข้องรวม 21 หน้า และส่วนที่เป็นความเห็น 8 หน้า โดยสรุป      คำวินิจฉัยที่เผยแพร่ออกมานี้ไม่มีความแตกต่างในสาระสำคัญไปจากคำวินิจฉัยที่ศาลรัฐธรรมนูญได้อ่านไปเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2555 ที่ผมได้เอามานำเสนอไว้แล้วข้างต้นครับ
                 ผมคงไม่เข้าไปวิพากษ์วิจารณ์คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 18-22/2555 ในรายประเด็นตามประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญได้กำหนดเอาไว้ 4 ประเด็น เพราะในประเด็นแรกเกี่ยวกับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญที่จะรับคำร้องไว้พิจารณาตามมาตรา 68 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันนั้น ผมได้ให้สัมภาษณ์ไปหลายครั้งแล้วว่า ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม ต้องยื่นผ่านอัยการสูงสุดก่อนเพราะหากรัฐธรรมนูญต้องการให้มีการ “ยื่นตรง” ต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ก็คงบัญญัติไว้โดยมีถ้อยคำไม่แตกต่างไปจากการ “ยื่นตรง” ตามมาตรา 212 แห่งรัฐธรรมนูญ คือ ....มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อมีคำวินิจฉัย.... เพราะฉะนั้น ประเด็นจึงเป็นความเห็นที่แตกต่างกันและผมก็ไม่มีทางเข้าใจและยอมรับเหตุผลที่ศาลรัฐธรรมนูญได้กล่าวอ้างเอาไว้ในคำวินิจฉัยหน้า 22 - 23 ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในย่อหน้าสุดท้ายของหน้า 22 และในตอนต้นของหน้า 23 ที่ศาลรัฐธรรมนูญได้แปลความบทบัญญัติในมาตรา 68 วรรคสองแห่งรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกับการกระทำของตนเองโดยกล่าวว่าเป็นการแปลความที่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของมาตรา 68 วรรคสองครับ
                 ผมต้องการแสดงความคิดเห็นบันทึกไว้ในบทบรรณาธิการนี้ก็คือ ความเห็นส่วนตัวของผมที่มีต่อการดำเนินการของศาลรัฐธรรมนูญในการเข้าไปตรวจสอบการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของรัฐสภาครั้งนี้ที่ผมมีความชัดเจนมาตั้งแต่เริ่มต้นกระบวนการแล้วโดยผมได้ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อจำนวนมากไปว่า ผู้ร้องจะยื่นคำร้องดังกล่าวผ่านหรือไม่ผ่านอัยการสูงสุดตามบทบัญญัติมาตรา 68 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันก็ตาม ศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่มีอำนาจในการรับเรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญไว้พิจารณาด้วยเหตุผลหลายประการด้วยกัน ประการที่สำคัญที่สุดก็คือ ศาลรัฐธรรมนูญเป็นศาลที่มีเขตอำนาจเฉพาะ รัฐธรรมนูญบัญญัติให้อำนาจไว้แค่ไหนก็ทำได้แค่นั้น ในเมื่อรัฐธรรมนูญไม่ได้ให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญในการตรวจสอบการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญไว้เลยไม่ว่าจะเป็นกรณีใด ศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่มีอำนาจที่จะเข้าไปตรวจสอบการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญครับ เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะมีผู้ถกเถียงกันมากว่า บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 กำหนดว่าผู้ร้องต้องยื่นผ่านอัยการสูงสุดก่อนหรือมีผู้อ้าง (รวมทั้งศาลรัฐธรรมนูญเองด้วย) ว่า ผู้ร้องสามารถยื่นโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญได้เลย ไม่ว่าจะมีผู้ถกเถียงว่าบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ใช้เฉพาะกับบุคคลไม่ใช้กับรัฐสภา ไม่ว่าจะมีผู้ถกเถียงว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฯลฯ ข้อถกเถียงทั้งหมดก็ไม่ใช่ประเด็นเพราะประเด็นที่แท้จริงอยู่ตรงที่ว่า รัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญในการตรวจสอบการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเอาไว้ครับ !!! การดำเนินการนอกเหนือจากอำนาจหน้าที่ของตัวเองในครั้งนี้จึงทำให้ศาลรัฐธรรมนูญกลายเป็นผู้ทำผิดรัฐธรรมนูญเสียเองครับ
                 สำหรับ “ข้อแนะนำ” เรื่องการออกเสียงประชามติก็ยิ่งแล้วไปใหญ่ ศาลรัฐธรรมนูญกล่าวไว้ในคำวินิจฉัยหน้า 25 - 26 ว่า การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญโดยการยกร่างใหม่ทั้งฉบับยังไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของมาตรา 291 เนื่องรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันนี้ได้มาโดยการลงประชามติของประชาชน ก็ควรจะได้ให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้ลงประชามติเสียก่อนว่า สมควรจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ เรื่องนี้เองผมก็อยากจะขอให้พิจารณาดูรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2549 ซึ่งเป็น “ที่มาที่สำคัญ” ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันก่อน รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวนี้เกิดจากการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ในมาตรา 19 ถึงมาตรา 32 ได้บัญญัติถึงกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่คือรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 เอาไว้ โดยในมาตรา 29 วรรคสองได้บัญญัติไว้ว่า เมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จ ให้เผยแพร่ให้ประชาชนทราบและจัดให้มีการออกเสียงประชามติว่าจะให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ .... ซึ่งก็หมายความว่า สภาร่างรัฐธรรมนูญในขณะจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 “ทราบอยู่แล้ว” ว่า ร่างรัฐธรรมนูญต้องผ่านการออกเสียงประชามติก่อนมีผลใช้บังคับ การที่สภาร่างรัฐธรรมนูญซึ่“ทราบอยู่แล้ว” ว่ารัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 จะต้องเป็นรัฐธรรมนูญที่ได้รับการออกเสียงประชามติจากประชาชนว่าเห็นชอบให้มีผลใช้บังคับได้ แต่ก็ได้บัญญัติเรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 เอาไว้เพียงมาตราเดียวซึ่งก็เป็นวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยรัฐสภาและจบลงที่รัฐสภา ไม่มีการกำหนดเอาไว้ว่าหากมีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับที่มาจากการออกเสียงประชามติก็จะต้องนำไปให้ประชาชนออกเสียงประชามติก่อน การที่รัฐธรรมนูญไม่บัญญัติไว้ว่า การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญต้องให้ประชาชนออกเสียงประชามติ ทั้ง ๆ ที่ผู้ร่างรัฐธรรมนูญทราบอยู่แล้วว่ารัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 ต้องผ่านการออกเสียงประชามติของประชาชน จึงถือเป็นเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ที่ต้องการให้รัฐสภาเป็นผู้ดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญแค่เพียงองค์กรเดียวเสียมากกว่าครับ
                 ก็ไม่ทราบว่า ที่ศาลรัฐธรรมนูญกล่าวถึง “เจตนารมณ์” ของรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ไว้ในคำวินิจฉัยว่า ควรให้ประชาชนลงประชามติก่อนว่าสมควรที่จะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้น มีที่มาจากที่ไหนและอย่างไรครับ หรือว่าเป็นเจตนารมณ์ที่สร้างขึ้นมาเอง !!!
       อีกประเด็นหนึ่งที่ดูๆแล้วไม่น่าจะเป็นไปได้ก็คือ การถามประชาชนว่าสมควรที่จะมีรัฐธรรมนูญใหม่นั้นจะไปถามกันอย่างไร เพราะใครจะไปทราบได้ว่า สมควรที่จะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือยัง ?? ประเด็นนี้ถือเป็นความผิดพลาดที่สำคัญของผู้ที่เสนอขอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ที่ไม่เชื่อกันเลย ผมเคยกล่าวเอาไว้หลายครั้งแล้วโดยในครั้งล่าสุดคือ บทบรรณาธิการครั้งที่ 286 ที่เผยแพร่ไปเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2555 ที่ผ่านมา ผมก็ได้ตอกย้ำข้อเสนอของผมไว้ในตอนหนึ่งว่า ก่อนที่คิดจะแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ควรมีความชัดเจนก่อนว่า จะแก้ไขเรื่องใดบ้างครับ วันนี้ในเมื่อกรอบของการแก้ไขรัฐธรรมนูญยังไม่มีหรือมีแต่ยังไม่ชัดเจน การสอบถามประชาชนด้วยวิธีการออกเสียงประชามติ ว่าจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่จึงเป็นเพียงการต่อสู้เพื่อเอาชนะกันโดยปราศจากเหตุผลสนับสนุน ก็แค่นั้นเองครับ !!!
                 บทเรียนที่สังคมไทยได้จากเรื่องของการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญครั้งนี้มีอยู่มากมายและเป็นบทเรียนที่ “น่าละอาย” อีกบทเรียนหนึ่งสำหรับประเทศไทย นักการเมืองจำนวนหนึ่งเล่นการเมืองอย่างเอาเป็นเอาตายจนลืมนึกถึงระบบและความถูกต้องตามกฎหมาย ผู้ชมส่วนหนึ่งเอาความไม่ชอบส่วนตัว เอาความอยากเอาชนะมาปิดหูปิดตาตนเองจนทำให้มองไม่เห็นระบบและความถูกต้องตามกฎหมาย แม้รัฐสภาซึ่งเป็นฝ่ายที่เสนอขอแก้ไขรัฐธรรมนูญเองก็ทิ้งหลักว่าด้วยความเป็นอิสระของฝ่ายนิติบัญญัติโดยไปยอมรับการใช้อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ยอมทั้งๆ ที่มาตรา 291 แห่งรัฐธรรมนูญกำหนดให้เป็นหน้าที่ของรัฐสภาในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญและเมื่อเริ่มกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามมาตรา 291 แล้ว รัฐสภาก็จะต้องดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ใน (1) ถึง (7) ของมาตรา 291 อย่างเคร่งครัด ในเมื่อมาตรา 291 แห่งรัฐธรรมนูญและมาตราอื่นๆในรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดไว้ในที่ใดเลยว่าศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจเหนือรัฐสภาที่จะเข้าไป “ขัดขวาง” ไม่ว่าจะโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อมเพื่อให้รัฐสภาหยุดดำเนินการตามมาตรา 291 (1) - (7) แห่งรัฐธรรมนูญได้ หน้าที่ของรัฐสภาจึงมีเพียงประการเดียวคือ ดำเนินการตามมาตรา 291 แห่งรัฐธรรมนูญจนครบถ้วนกระบวนความ หรือว่ารัฐสภากลัวศาลรัฐธรรมนูญเพราะว่าศาลรัฐธรรมนูญเป็น “ศาลเดียว” ที่เมื่อสั่งแล้วหรือมีคำวินิจฉัยแล้ว ไม่สามารถอุทธรณ์ฎีกาได้ เลยทำให้ต้องเคารพและปฏิบัติตามก็ไม่ทราบได้ !!!
                 ไม่ทราบว่ารัฐสภาทราบหรือไม่ว่า กรณีองค์กรซึ่งไม่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายไปใช้อำนาจหน้าที่ที่ตนไม่มีหรือที่ไม่ใช่ของตน ผลที่เกิดขึ้นก็ย่อมสูญเปล่าและไม่ผูกพันใครเลย เทียบเคียงได้กับกรณีนี้คือ ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจตามรัฐธรรมนูญและไปสั่งการหรือวินิจฉัยในสิ่งที่ตนเองไม่มีอำนาจ การสั่งการหรือการวินิจฉัยก็จะถือเป็นการสั่งการหรือการวินิจฉัยที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เพราะฉะนั้นก็จะไม่มีผลผูกพันตามมาตรา 216 วรรค 5 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่ว่า “คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรอื่นของรัฐ”
                 การที่รัฐสภา “กลัว” ศาลรัฐธรรมนูญแล้วไม่ดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรา 291 ให้ถูกต้องครบถ้วนต่างหากที่เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญครับ
                 มองวิกฤติต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยที่มีที่มาจาก “สองขั้ว” แล้ว อดนึกถึงฉากสุดท้ายของ Romeo and Juliette ไม่ได้ ประโยคที่ Prince Escalus พูดต่อหน้าตระกูล 2 ตระกูลที่มีความขัดแย้งกันอย่างหนักหลังการตายของ Romeo และ Juliette ทายาทของทั้งสองตระกูลก็คือ “All are punished” หมายความว่า ทั้ง 2 ตระกูลคือตระกูล Capulets และตระกูล Montagues ต่างก็ถูกลงโทษจากการตายของ Romeo และ Juliette เพราะ “สงคราม” ของสองตระกูลที่รบกันอย่างเอาเป็นเอาตายจนลืมคิดถึงทุกสิ่งทุกอย่างเป็นต้นเหตุของความตายของทายาทของทั้งสองตระกูล ความตายของทั้งคู่จึงเป็นเปรียบเสมือนการลงโทษครอบครัวของทั้งสองคนที่ต้องพบกับความสูญเสียอันใหญ่หลวง
                 ประเทศไทยเราจะจบ “สงคราม” ครั้งนี้กันอย่างไรครับ !!! หรือจะรบกันจนทำให้ทั้ง “คน” ทั้ง “ระบบ” ต้องพินาศไปจนหมด !!!
                 เพื่อให้ทุกอย่างกลับเข้าสู่ระบบที่ควรเป็น รัฐสภาต้องเดินหน้าลงมติร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช .... ในวาระ 3 ต่อไป ส่วนข้อแนะนำที่ศาลรัฐธรรมนูญกล่าวเอาไว้ในคำวินิจฉัยว่า "....ควรจะให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้ลงประชามติเสียก่อนว่า สมควรจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ หรือรัฐสภาจะใช้อำนาจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา...." นั้น รัฐสภาทำได้ก็เพียงแค่ “รับทราบ” ข้อแนะนำของศาลรัฐธรรมนูญเท่านั้นเองครับ!
                 กล้า ๆ หน่อยครับ สมาชิกรัฐสภาผู้ทรงเกียรติ !!!
                 
                 สัปดาห์นี้เรามีบทความมานำเสนอ 4 บทความ บทความแรกเขียนโดยคุณคนันท์ ชัยชนะ แห่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่อง "ผลผูกพันของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญเยอรมัน" บทความที่สอง เป็นบทความเรื่อง "แก้รัฐธรรมนูญ : ทางสองแพร่งที่รัฐบาลต้องเลือก" ที่เขียนโดยคุณชำนาญ จันทร์เรือง บทความที่สามเป็นบทความเรื่อง "การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญอันนำไปสู่คดีขอให้ยุบพรรคการเมืองในตุรกี" ที่เขียนโดยคุณปฐมพงษ์  พิพัฒนธนากิจ และบทความสุดทายเป็นบทความของอาจารย์ปีดิเทพ  อยู่ยืนยง ที่เขียนเรื่อง "มองการจัดการแข่งขันการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก 2012 ผ่านกฎหมาย London Olympic Games and Paralympic Games Act 2006"   ผมขอขอบคุณเจ้าของบทความทุกบทความไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ
        
                 พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 13 สิงหาคม 2555 ครับ
                
                 ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์  บรมานัท์


พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=1752
เวลา 22 พฤศจิกายน 2567 12:23 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)