|
|
แก้รัฐธรรมนูญ : ทางสองแพร่งที่รัฐบาลต้องเลือก 29 กรกฎาคม 2555 20:57 น.
|
ไม่ว่าคำวินิจฉัยกลางของศาลรัฐธรรมนูญในกรณีการยกคำร้องตามมาตรา ๖๘ ที่ออกมาในวันที่ ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๕๕ จะออกมาเป็นเช่นไร แต่ผมคิดว่าคงเปลี่ยนแปลงจากคำแถลงข่าวในวันที่ ๑๓ กรกฎาคมที่ผ่านมาไม่มากนัก เพราะตามรัฐธรรมนูญได้บัญญัติไว้แล้วว่าคำวินิจฉัยกลางต้องและคำวินิจฉัยส่วนตนต้องทำให้เสร็จก่อนการอ่านคำวินิฉัยในวันที่ลงมติ การแก้ไขจะทำได้ก็เพียงรายละเอียดปลีกย่อยเท่านั้น เช่น กับ แก่ แต่ ต่อ ตัวสะกด การันต์ ฯลฯ แต่ก็ไม่แน่เสมอไป เพราะกรณีคำวินิจฉัยกลางของคดี(ไม่)ยุบพรรคประชาธิปัตย์ก็เคยเกิดเหตุการณ์คำวินิจฉัยกลางที่เป็นทางการไม่ตรงกับการแถลงข่าวมาแล้ว ที่สำคัญก็คือข้อคลางแคลงในคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดนี้ที่ว่า ตัดสินความผิดย้อนหลังก็ได้ ตัดสินคดีล่วงหน้าก็ได้ ไม่อำนาจก็ตัดสินได้
ซึ่งไหนๆก็ไหนๆแล้ว ป่วยการที่จะไปแหกปากร้องแรกแหกกระเฌอว่าศาลรัฐธรรมนูญตีความขยายอำนาจตัวเอง เพราะดันไปรับอำนาจเขาเองตั้งแต่ต้น แทนที่จะเดินหน้าลงมติวาระ ๓ ไปให้เสร็จสิ้นกระบวนความ แต่ไปเชื่่อที่ปรึกษาห่วยๆว่าจะถูกองคมนตรีระงับยับยั้งหรือส่งกลับซึ่งไม่มีบทบัญญัติใดในรัฐธรรมนูญรองรับ หรือเกรงว่าตัวเองจะถูกต้อนเข้าไปสู่ Killing Zone เพราะหากเสนอทูลเกล้าฯไปแล้วมีอันเป็นไป เพราะผมเชื่อว่าจะไม่เป็นเช่นนั้น เพราะขนาดศาลรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวประธานเองและตุลาการบางนายออกมาขู่ฟอดๆอยู่รายวันต่อสื่อมวลชนก่อนวันตัดสินยังต้องเบรกจนตัวโก่งเมื่อเจอฤทธิ์เดชของมวลชนที่ออกมาขู่กลับเช่นกัน ทำให้คำวินิจฉัยออกมาไม่เป็นที่สะใจของฝ่ายที่ไม่ต้องการให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี ๕๐ แต่ก็ยังไม่วายวางยาหรือระเบิดเวลาไว้ให้ปวดหัวเล่น
การวางยาหรือระเบิดเวลาที่ว่านี้ก็คือ แม้ว่าจะยกคำร้องแต่ยังไปวินิจฉัยว่ามาตรา ๒๙๑ นั้นให้แก้เป็นรายมาตราเท่านั้นไม่ให้แก้ทั้งฉบับให้แก้ได้เป็นรายมาตราเท่านั้น หากจะแก้ทั้งฉบับควรจะไปทำประชามติเสียก่อนซึ่งเป็นการแต่งตำราขึ้นมาใหม่โดยศาลรัฐธรรมนูญเอง เพราะไม่มีในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญใดที่ให้อำนาจเช่นว่านี้ไว้ ซึ่งผมคงจะงดให้ความเห็นในประเด็นต่างๆเหล่านี้เพราะได้มีผู้ให้ความเห็นไว้มากแล้ว แต่ผมจะมาวิเคราะห์ทางเลือกที่เหลืออยู่ของรัฐบาลว่าจะทำอะไรได้บ้างหรือจะทำอะไรไม่ได้บ้าง
ประเด็นแรกที่มีผู้เรียกร้องมากและปัจจุบันก็ยังมีผู้เรียกร้องอยู่ทั้งจากในกลุ่มฮาร์ดคอร์ของพรรคเพื่อไทยเองหรือในฝ่ายนักวิชาการส่วนใหญ่(ผมใช้คำว่าส่วนใหญ่เพราะนักวิชาการที่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญล้วนแล้วแต่มีที่มาที่ไปที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ที่ตนเองกำลังเสวยสุขอยู่แทบเสียจะทั้งสิ้น ไม่เชื่อลองยกชื่อมาวางเป็นรายๆไปเลยก็ได้ว่าใครเกี่ยวข้องอย่างไร)ที่ยังคงอยากให้รัฐสภาเดินหน้าลงมติในวาระ ๓ ต่อไป ซึ่งก็คงจะไปเข้าล็อกของการตีความใหม่ของศาลรัฐธรรมนูญอีกทีหนึ่ง ซึ่งผมเห็นว่าไม่น่าจะเป็นไร ถ้าเราไม่ยอมรับการขยายอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญเสียอย่าง แต่ในทางเลือกนี้คงเป็นไปไม่ได้อย่างแน่นอน เพราะรัฐบาลและรัฐสภาได้แสดงให้เห็นถึงอาการปอดแหกมาตั้งแต่ต้นแล้ว ไม่มีทางที่จะมากลับลำเอาเสียง่ายๆหรอก ก็เป็นอันว่าทางเลือกนี้เป็นอันพับไป
ฉะนั้น จึงเหลือแนวทางที่เป็นไปได้เพียง ๒ แนวทาง คือ การแก้ไขรายมาตรากับการทำประชามติ ซึ่งเราลองมาวิเคราะห์ความเป็นไปได้ดูว่าจะเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน
แนวทางแรกการแก้ไขรายมาตรา
จากเหตุการณ์ที่ผ่านมาในวาระที่ ๒ ของการเสนอแก้ไขมาตรา ๒๙๑ เพียงมาตราเดียว(แต่มีหลายอนุมาตรา)มีการยื้ออภิปรายโดยการสงวนความเห็นของกรรมาธิการเสียงข้างน้อยว่ากันเสียหลายสิบวัน หากจะแก้อีกหลายมาตราตามที่ต้องการก็กะกันว่าคงใช้เวลากันอีกหลายสิบปี มิหนำซ้ำฤทธิ์เดชของพรรคฝ่ายค้านที่ลากเก้าอี้ประธานรัฐสภาหรือเอาแฟ้มหนังสือขว้างใส่ประธานรัฐสภาจนฉาวโฉ่ไปทั่วโลก ก็เล่นเอาขนหัวลุกว่าเป็นไปได้ถึงเพียงนี้เชียวหรือ
แต่บางคนก็เสนอความเห็นเพื่อความสะใจว่าอย่ากระนั้นเลยหากจะแก้เป็นรายมาตรา มาตราแรกที่จะแก้ก็คือการยุบศาลรัฐธรรมนูญที่เป็นก้างขวางคอหรือการแก้ไขเฉพาะมาตรา ๓๐๙ ก่อนแล้วค่อยแก้มาตราอื่นๆตามมา ซึ่งผมเห็นว่าทางเลือกนี้ค่อนข้างยุ่งยากและใช้เวลา แต่ก็ยังคงพอมีความเป็นไปได้แต่อาจจะน้อยกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับทางเลือกในแนวทางที่สอง
แนวทางที่สองการลงประชามติเพื่อนำไปสู่การแก้ไขทั้งฉบับ
แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะใช้คำว่าควรจะทำประชามติก่อนหากจะมีการแก้ไขทั้งฉบับก็ตาม แต่ดูเหมือนคำว่าควรจะนั้นจะแปลความหมายเป็นคำว่า ต้องไปเสียเพราะเมื่อคำนึงถึงคำวินิจฉัยสำเร็จโทษที่จะตามมาภายหลังหากไม่เชื่อฟัง ประเด็นจึงเหลือแต่เพียงว่าแล้วจะทำอย่างไรกับร่างที่ยังค้างคาอยู่ในสภา หากทำประชามติก่อนยกร่างก็ต้องให้ร่างที่ค้างอยู่ในสภานั้นตกไป ซึ่งก็คงจะเป็นการถอยตกหน้าผาไปซึ่งก็คาดเดาได้ไม่ยากว่าคนที่ตกหน้าผาสูงถึงเพียงนั้นจะมีชีวิตรอดทางการเมืองได้อย่างไร ก็จึงเหลือทางเลือกอีกที่พอให้ก้าวเดินคือการยังคงคาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้ในสภาอยู่อย่างนี้แล้วไปทำประชามติว่าเห็นด้วยกับการยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับที่ค้างคาอยู่ในสภานี้หรือไม่ ซึ่งก็คงใช้เวลาประมาณ ๔-๖ เดือน หากเห็นด้วยก็ดำเนินการลงมติในวาระ ๓ ต่อไป หากไม่เห็นด้วยก็ถอนร่างนี้ออกจากสภาไป พร้อมกับก้มหน้ารับกรรมไปโทษฐานที่ไม่สามารถรักษาคะแนนนิยมไว้ได้ และก็ควรจะลาออกหรือยุบสภาไปเพื่อเพื่อให้ประชาชนตัดสินใจใหม่ว่ายังจะให้กลับมาเป็นรัฐบาลอีกหรือไม่
แต่บางคนก็บอกว่าก็ในร่างที่คาอยู่ในสภาก็บอกอยู่แล้วนี่ว่าก่อนที่ สสร.จะประกาศใช้ต้องมีลงประชามติอยู่แล้วนี่ ไปทำประชามติก่อนทำไม่ให้เสียเวลา คำตอบก็คือ คนละส่วนกัน ที่สำคัญก็คือ เขาไม่ฟังหรอก เขาในที่นี้ก็คือศาลรัฐธรรมนูญนั่นเอง
ฉะนั้น ในทางเลือกที่เป็นไปได้มากที่สุดในตอนนี้ก็คือทางเลือกที่ ๒ นั่นเอง
อย่างไรก็ตามในส่วนตัวของผมเห็นว่าไหนๆก็จะแก้รัฐธรรมนูญและให้มีการลงประชามติก่อนกันแล้วน่าจะทำประชามติเสียให้เสร็จเด็ดขาดไปในคราวเดียวกันไปเลยโดยเรามาถามประชามติว่า หากจะแก้รัฐธรรมนูญซึ่งไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือรูปแบบของรัฐได้ เพราะรัฐธรรมนูญปัจจุบันห้ามไว้ แล้วเรื่องอื่นๆ เราจะเอากันอย่างไร เช่น องค์กรอิสระควรมีต่อไปหรือไม่/ จะเอาศาลเดี่ยว(ไม่มีศาลรัฐธรรมนูญและศาลปกครอง)หรือศาลคู่ ปฏิรูประบบศาลให้ยึดโยงกับประชาชนหรือนำระบบลูกขุนมาใช้/ ยกเลิกราชการส่วนภูมิภาคแบบร่าง พรบ.เชียงใหม่มหานครให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯกันทั่วประเทศหรือไม่ ฯลฯ ให้มันสะเด็ดน้ำ เอาเป็นภาคต่อของ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ ไปเล้ยยยยย
-----------------------
|
|
|
พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=1749
เวลา 22 พฤศจิกายน 2567 17:49 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)
|