การใช้สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ กับการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550

15 กรกฎาคม 2555 21:33 น.

       สืบเนื่องมาจากกรณีที่มีผู้ร้อง ๕ รายยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญขอให้มีคำสั่งให้สมาชิกรัฐสภาเลิกการกระทำการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๙๑ ซึ่งอาจนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ โดยอ้างว่าเป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้         หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ
       โดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งต่อมาศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำสั่งให้รับคำร้องดังกล่าวไว้พิจารณาทั้งยังมีหนังสือไปถึงประธานรัฐสภาให้ระงับการดำเนินการลงมติในวาระที่ ๓ ไว้ก่อน ตามปรากฏในหนังสือข่าวสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ที่ ๑๖/๒๕๕๕ ลงวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๕๕ นั้น
       ผู้เขียนในฐานะนักกฎหมายผู้หนึ่งที่ได้ติดตามการแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐสภาดังกล่าวตลอดมา จึงได้ศึกษาบทบัญญัติดังกล่าวเพื่อพิจารณาประกอบกับข้อเท็จจริงและมีความเห็นในเชิงหลักการและในปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับมาตรา ๖๘ ดังต่อไปนี้
       ๑. หลักการทั่วไปของการแบ่งแยกอำนาจในระบอบประชาธิปไตยนั้น ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการ จะมีอำนาจถ่วงดุลซึ่งกันและกัน แต่ในรายละเอียดของวิธีการในการถ่วงดุลนั้น จะต้องพิจารณาจากกฎหมายที่ให้อำนาจในการถ่วงดุลแก่แต่ละฝ่ายเอาไว้เท่านั้น กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ อำนาจในการถ่วงดุลนั้นจะต้องมีกฎหมายให้อำนาจไว้ จะดำเนินการถ่วงดุลนอกเหนือจากที่กฎหมายกำหนดเอาไว้ไม่ได้ ดังนั้น ฝ่ายตุลาการจะดำเนินการตรวจสอบฝ่ายบริหารหรือฝ่ายนิติบัญญัติได้ ต้องดำเนินการตามกรอบที่กฎหมายให้อำนาจเอาไว้เท่านั้น
        
       ๒. ในระบอบประชาธิปไตย อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ โดยหลักการต้องถือว่าเป็นอำนาจของประชาชน ดังนั้น เมื่อประชาชนได้เลือกสมาชิกรัฐสภาเข้ามาทำหน้าที่แทนตนตามกฎหมาย รัฐสภา ในฐานะเป็นสภาของประชาชนหรือสภาแห่งรัฐ และเป็นผู้มีหน้าที่บัญญัติกฎหมายย่อมมีอำนาจที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ตามกรอบของอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายได้บัญญัติเอาไว้
        
       ๓. เมื่อพิจารณาตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๕๐ แล้ว จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งสถาปนาโดยรัฐธรรมนูญ ในหมวด ๑๐ ส่วนที่ ๒ นั้น มาตรา ๒๑๑ ให้หลักการที่สำคัญเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญไว้โดยให้มีหน้าที่ในการพิจารณาว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายใด ต้องด้วยบทบัญญัติ มาตรา ๖ ซึ่งก็หมายความว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจหน้าที่หลักนอกเหนือจากการพิจารณาวินิจฉัยความขัดแย้งระหว่างรัฐสภา คณะรัฐมนตรี หรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่มิใช่ศาลแล้ว คือการพิจารณาว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญอันจะทำให้มีผลใช้บังคับไม่ได้หรือไม่ เท่านั้น ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญแปลความมาตลอดว่า คำว่า "บทบัญญัติแห่งกฎหมาย" ตามมาตรา ๒๑๑ ดังกล่าวหมายความถึงพระราชบัญญัติหรือกฎหมายที่มีศักดิ์เทียบเท่าพระราชบัญญัติ เท่านั้น ดังนี้ การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของรัฐสภา จึงมิใช่เรื่องของความขัดแย้งระหว่างองค์กร และมิใช่เรื่องการพิจารณาว่าบทบัญญัติของกฎหมายใดขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ เนื่องจากกรณีไม่ใช่เรื่องที่รัฐสภาพิจารณาออกกฎหมายหรือแก้ไขกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติ หากแต่เป็นการแก้ไขกฎหมายในระดับรัฐธรรมนูญที่มีศักดิ์ของกฎหมายสูงกว่าพระราชบัญญัติทั่วไปซึ่งกฎหมายมิได้ให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญในการตรวจสอบเอาไว้
        
       ๔. อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญในการวินิจฉัยถึงสิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญถือเป็นอีกอำนาจหนึ่งที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ ซึ่งก็คือ อำนาจที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๖๘ ซึ่งผู้เขียนจะได้แยกพิจารณาดังต่อไปนี้
       ๔.๑ จากตัวบทรัฐธรรมนูญ มาตรา ๖๘ วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติว่า "บุคคลจะใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ มิได้" จะเห็นได้ว่า กรณีที่จะเข้าเงื่อนไขของมาตรา ๖๘ วรรคหนึ่งได้ต้องเป็นเรื่อง "การใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ" เท่านั้น ซึ่งการใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญย่อมเป็นไปตามที่บัญญัติเอาไว้ในหมวด ๓ แห่งรัฐธรรมนูญ คือ ตั้งแต่มาตรา ๒๖ ถึงมาตรา ๖๙ เท่านั้น ตัวอย่างก็เช่น นาย ก.ใช้สิทธิในการแสดงความคิดเห็นตามมาตรา ๔๕ ด้วยการพูดปราศรัยในที่ชุมนุมแห่งหนึ่งเรียกร้องให้ทหารหรือคณะบุคคลออกมาทำการรัฐประหารหรือใช้กำลังยึดอำนาจจากรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตย หรือ นาย ข. ใช้การพิมพ์โฆษณาหรือการส่งจดหมายอิเล็กทรอนิกส์(E-mail)เพื่อปลุกระดมมวลชนหรือกลุ่มบุคคลให้ยึดอำนาจจากรัฐหรือให้ทหารทำการรัฐประหาร เป็นต้น
       หากเป็นกรณีที่รัฐสภาใช้อำนาจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามมาตรา ๒๙๑ ย่อมเป็นเพียงการใช้ "อำนาจหน้าที่" ของรัฐสภา หาใช่การใช้สิทธิและเสรีภาพตามที่บัญญัติเอาไว้ในรัฐธรรมนูญไม่ กรณีจึงไม่อาจร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ตามบทบัญญัติมาตรา ๖๘
       ๔.๒ หากเป็นเรื่องการใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญที่กระทำเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ก็มีวิธีการดังบัญญัติไว้ในวรรคสองของมาตรา ๖๘ ว่า "ในกรณีที่บุคคลหรือพรรคการเมืองใดกระทำการตามวรรค
       หนึ่ง ผู้ทราบการกระทำดังกล่าวย่อมมีสิทธิเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงและยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าว แต่ทั้งนี้ไม่กระทบกระเทือนการดำเนินคดีอาญาต่อผู้กระทำการดังกล่าว" ซึ่งในฐานะนักกฎหมาย ผู้เขียนเห็นว่าน่าจะมีวิธีการตีความดังลำดับต่อไปนี้
       ก. หากตีความตามหลักภาษาไทย ประธานของประโยค น่าจะหมายถึง "ผู้ทราบการกระทำด้งกล่าว"
       กริยาของประโยค คือ "มีสิทธิเสนอเรื่องให้"
       กรรมของประโยค คือ "อัยการสูงสุด"
       ส่วนประโยคที่ว่า "ตรวจสอบข้อเท็จจริงและยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าว" เป็นเพียง อนุประโยค หรือ ประโยคย่อยที่ใช้ขยายกรรมของประโยคหลักเท่านั้น
       การตีความเช่นนี้อาจมีผู้ไม่เห็นด้วยและเห็นว่าน่าจะตีความในอีกรูปแบบได้ว่า คำว่า "และยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการฯ"นั้น เป็นประโยคที่เชื่อมต่อและขยายคำว่า "ผู้ทราบการกระทำดังกล่าวย่อมมีสิทธิ" ได้ เนื่องจากมีคำว่า "และ" อยู่ กรณีนี้ผู้เขียนขอให้พิจารณาต่อในส่วนของการตีความในส่วนของเจตนารมณ์กฎหมาย
       ข. เมื่อใช้วิธีการตีความตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ปัญหาแรกที่ต้องพิจารณาก็คือ หากให้สิทธิแก่ผู้ทราบการกระทำดังกล่าวให้สามารถยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ กรณีย่อมไม่เป็นประโยชน์ที่จะยื่นกับอัยการสูงสุดเพราะเมื่อสามารถยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ เหตุใดผู้ทราบการกระทำจะต้องเสียเวลาไปยื่นต่ออัยการสูงสุดอีก ประกอบกับศาลรัฐธรรมนูญก็เป็นศาลที่ใช้ระบบไต่สวนในการค้นหาความจริงอยู่แล้ว การยื่นให้อัยการสูงสุดย่อมไม่มีความจำเป็นอีกทั้งคำร้องของผู้ร้องยังอาจถูกอัยการสูงสุดมีคำสั่งยกคำร้องในภายหลังได้อันเป็นการชักช้าแก่คดีโดยไม่จำเป็น ดังนั้น หากตีความในรูปแบบที่ให้สิทธิแก่ผู้ทราบการกระทำดังกล่าวยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญ การตรวจสอบข้อเท็จจริงในเบื้องต้นโดยอัยการสูงสุดย่อมไม่อาจเกิดขึ้นได้ในทางปฏิบัติเลย
       ในส่วนของเจตนารมณ์ของมาตรา ๖๘ วรรคสองนั้น ผู้เขียนเห็นว่าเนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญมีอยู่ศาลเดียวและมีเพียงชั้นศาลเดียว คู่ความไม่สามารถยื่นอุทธรณ์หรือฎีกาได้อีก รัฐธรรมนูญจึงบัญญัติให้คดีที่จะต้องเข้ามาสู่การวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนั้น โดยหลักจะต้องผ่านการกลั่นกรองจากองค์กรตามรัฐธรรมนูญมาอย่างน้อยหนึ่งชั้นแล้ว เช่น การตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของบทบัญญัติแห่งกฎหมายตามมาตรา ๒๔๕(๑) หรือโดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ตามมาตรา ๒๕๗ วรรคหนึ่ง(๒) เป็นต้น โดยแม้จะมีช่องทางตามมาตรา ๒๑๒ เป็นข้อยกเว้นที่ให้สิทธิแก่บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพเสนอคดีต่อศาลรัฐธรรมนูญได้โดยตรงไว้ แต่กฎหมายก็ได้
       กำหนดเงื่อนไขไว้ในวรรคสองว่า ต้องเป็นกรณีที่บุคคลนั้นๆไม่อาจใช้สิทธิโดยวิธีการอื่นได้แล้วเท่านั้น ดังนั้น การแปลความบทบัญญัตินี้จึงต้องตีความโดยคำนึงถึงบริบทดังกล่าวด้วย ทั้งไม่อาจถือได้ว่าเป็นการแปลกฎหมายเพื่อจำกัดสิทธิของบุคคล เนื่องจากเป็นกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้อย่างชัดเจนแล้ว ทั้งในบริบทของลายลักษณ์อักษรและในบริบทของเจตนารมณ์แห่งกฎหมาย
       ๔.๓ เคยมีคำสั่งเรื่องพิจารณาที่ ๑๒/๒๕๔๙ ของศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยในเรื่องนี้ไว้อย่างชัดเจนว่า " รัฐธรรมนูญ มาตรา ๖๓ มิได้บัญญัติให้ผู้ร้องมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อขอให้ยุบพรรคการเมืองได้โดยตรง แต่จะต้องดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๖๓ วรรคสอง โดยเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงและยื่นคำร้องต่อศาล" ซึ่งแม้เรื่องนี้จะเป็นการวินิจฉัยตามมาตรา ๖๓ แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๔๐ แต่บทบัญญัติดังกล่าวก็เป็นที่มาของบทบัญญัติมาตรา ๖๘ นี้ โดยมีเนื้อความในทำนองเดียวกันเพียงแต่เดิมบทบัญญัติมาตรา ๖๓ ใช้คำว่า "ผู้รู้เห็นการกระทำดังกล่าว" แต่บทบัญญัติมาตรา ๖๘ ใช้คำว่า "ผู้ทราบการกระทำดังกล่าว" แทนเท่านั้น
        
       ๕. กรณีตามมาตรา ๒๑๒ ที่บัญญัติว่า "บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อมีคำวินิจฉัยว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญได้" และวรรคสองบัญญัติว่า" การใช้สิทธิตามวรรคหนึ่งต้องเป็นกรณีที่ไม่อาจใช้สิทธิโดยวิธีการอื่นได้แล้ว..."นั้น ไม่อาจตีความได้ว่าการใช้สิทธิยื่นคำร้องตามมาตรา ๖๘ เป็นการใช้สิทธิโดยอาศัยบทบัญญัติมาตรา ๒๑๒ นี้ได้ เนื่องจาก
       ๕.๑ แม้บทบัญญัติมาตรา ๒๑๒ จะให้สิทธิ "บุคคล" เสนอเรื่องไว้ ซึ่งอาจเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลก็ได้ แต่ก็ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ว่า บุคคลนั้น "ถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้" เท่านั้น ลำพังเพียง "อาจจะ" ถูกล่วงละเมิดสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน หรือ "อาจจะ" เดือดร้อนหรือเสียหายจากการถูกล่วงละเมิดสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานเท่านั้น ผู้นั้นยังไม่มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรานี้ ดังนั้น เมื่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญยังมิได้เกิดขึ้นและสำเร็จลง บุคคลใดๆจึงไม่อาจอ้างได้ว่าตน "อาจจะ" ถูกล่วงละเมิดสิทธิเสรีภาพหรือเดือดร้อนเสียหายได้
       ๕.๒ วัตถุแห่งการตรวจสอบตามบทบัญญัตินี้ ต้องเป็น "บทบัญญัติแห่งกฎหมาย" ซึ่งมีความหมายอย่างเดียวกับบทบัญญัติแห่งกฎหมายตามมาตรา ๒๑๑ ได้แก่ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติ พระราชกำหนดและประกาศคณะปฏิวัติที่มีค่าบังคับเทียบเท่ากับพระราชบัญญัติ โดยบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพสามารถนำมาฟ้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้จะต้องเป็นบทบัญญัติแห่งกฎหมายอันเป็นที่มาของการละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลนั้นด้วย ซึ่งกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐสภานั้น ไม่เข้าหลักเกณฑ์ดังกล่าว เนื่องจากเป็นการแก้ไข "รัฐธรรมนูญ" ซึ่งไม่ใช่ "บทบัญญัติของกฎหมาย" ตามความหมายของมาตรานี้
        
       ๖. สำหรับกรณีที่มีผู้เห็นว่า ตามคำสั่งเรื่องพิจารณาที่ ๑๒/๒๕๔๙ นั้น ไม่อาจใช้เป็นบรรทัดฐานในส่วนที่วินิจฉัยเกี่ยวกับวิธีการยื่นคำร้องตามมาตรา ๖๘ ได้เนื่องจากข้อเท็จจริงแตกต่างกัน[1] ผู้เขียนจะได้ทำความเข้าใจเป็นรายประเด็นดังต่อไปนี้
       ก.คดีตามคำสั่งเรื่องพิจารณาที่ ๑๒/๒๕๔๙ ผู้ร้องยื่นคำร้องข้ามขั้นตอนตามกฎหมายหรือไม่กรณีตามคำสั่งดังกล่าว ผู้ร้องคือ นายสุรพงษ์ โตวิจักษ์ชัยกุล ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคประชาธิปัตย์ โดยอ้างว่านายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ในขณะนั้น ได้เสนอแนะให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น นำคณะรัฐมนตรีลาออกทั้งคณะ และให้พ.ต.ท.ทักษิณ กราบบังคมทูลขอนายกรัฐมนตรีพระราชทาน โดยอาศัยความตามมาตรา ๗ แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๔๐ อันเป็นถือได้ว่าเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิถีทางซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ โดยนายอภิสิทธิ์ได้กล่าวข้อเสนอแนะ ปราศรัยหาเสียงรวมทั้งออกแถลงการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์เมื่อประมาณปลายเดือนมีนาคม พ.ศ.๒๕๔๙ และต่อมาภายหลัง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชดำรัสเกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ ๒๕ เมษายน ๒๕๔๙ มีใจความตอนหนึ่งว่า "...เขาอยากจะได้นายกฯ พระราชทาน เป็นต้น จะขอนายกฯพระราชทาน ไม่ใช่เป็นเรื่องการปกครองแบบประชาธิปไตย..." และในวันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๔๙ ก็เป็นวันที่ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยฉบับนี้ ซึ่งในส่วนของข้อเท็จจริงที่ว่า นายสุรพงษ์ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญในวันที่เท่าใดนั้น ผู้เขียนค้นหาข้อมูลไม่พบ แต่โดยตรรกะแล้ว คาดว่าน่าจะมีการยื่นคำร้องในช่วงระหว่างภายหลังวันที่ ๒๕ เมษายน ๒๕๔๙ จนถึงก่อนวันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๔๙ เนื่องจากก่อนหน้าวันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๔๙ นั้น มีนักวิชาการ นักการเมืองรวมถึงนักเคลื่อนไหวทางการเมืองหลายคน ได้แสดงความคิดเห็นและข้อเรียกร้องว่าสามารถยื่นคำขอกราบบังคมทูลขอนายกรัฐมนตรีพระราชทานได้ ทั้งไม่มีผู้ใดคัดค้านโดยให้เหตุผลว่าเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิถีทางซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญดังกล่าวเลย แต่หลังจากมีกระแสพระราชดำรัสดังกล่าวแล้ว ข้อเรียกร้องเหล่านี้รวมทั้งข้อเรียกร้องของนายอภิสิทธิ์ก็เงียบหายไปจากสังคมไทย ไม่มีบุคคลใดกล่าวเรียกร้องขอนายกรัฐมนตรีพระราชทานอีกเลยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๔๐ มาตรา ๖๓ วรรคสาม บัญญัติว่า “ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้พรรคการเมืองใดเลิกกระทำการตามวรรคสองศาลรัฐธรรมนูญอาจสั่งยุบพรรคการเมือง ดังกล่าวได้” เมื่อพิจารณาจากบทบัญญัติดังกล่าว หากพิจารณาเพียงในบริบทของลายลักษณ์อักษรเท่านั้น ก็คงต้องตีความไปตามขั้นตอนการยุบพรรคดังต่อไปนี้
       ๑.เมื่อศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าพรรคการเมืองใดกระทำการตามที่บัญญัติห้ามไว้ในมาตรา ๖๓ วรรคหนึ่งแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญต้องมีคำสั่งให้พรรคการเมืองเลิกการกระทำนั้นก่อน
       ๒. เมื่อสั่งให้พรรคการเมืองเลิกการกระทำดังกล่าวแล้ว จึงมีอำนาจสั่งยุบพรรคการเมืองได้ การพิเคราะห์เพียงในบริบทของลายลักษณ์อักษรเช่นนี้ อาจเกิดปัญหาขึ้นภายหลังได้ เช่น พรรคการเมือง ก. ใช้สิทธิในการเขียนและโฆษณาอันเป็นการใช้สิทธิตามมาตรา ๓๙ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๔๐ โดยเขียนบทความโฆษณาเพื่อปลุกใจทหารในกองทัพให้ออกมาทำการปฏิวัติเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบประชาธิปไตยให้เป็นระบอบคอมมิวนิสต์ ต่อมาหลังจากนั้น พรรคการเมือง ก. ได้ทราบว่ามีบุคคลรวมตัวกันเพื่อจะไปยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา ๖๘ เพื่อให้พรรคการเมือง ก.เลิกการกระทำดังกล่าว ดังนั้น พรรคการเมือง ก. จึงยุติการเขียนและโฆษณาทันที เช่นนี้ หากพิจารณาในบริบทของลายลักษณ์อักษร บุคคลที่รวมตัวกันดังกล่าว ย่อมไม่มีสิทธิไปยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ เนื่องจากพรรคการเมือง ก.ได้เลิกการกระทำไปก่อนแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญไม่อาจมีคำสั่งให้เลิกการกระทำได้อีก ทั้งหากจะยื่นขอให้ยุบพรรคการเมือง ก.ตามมาตรา ๖๓ วรรคสาม ก็ไม่อาจทำได้ เนื่องจากเป็นการข้ามขั้นตอน เพราะไม่มีการยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้เลิกการกระทำก่อน ผู้เขียนเห็นว่า กฎหมายคงไม่มีเจตนารมณ์เช่นนั้น การตีความจึงต้องกระทำในบริบทของการตีความตามเจตนารมณ์ของกฎหมายด้วย ซึ่งหากแปลในแง่ของเจตนารมณ์กฎหมายแล้ว ย่อมตีความได้ว่า กรณีหากผู้ถูกร้องยกเลิกการกระทำไปก่อนที่จะมีการยื่นคำร้องแล้ว ผู้ร้องย่อมยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ยุบพรรคได้ทันที โดยประเด็นที่จะต้องนำสืบพยานกันในศาลก็จะมีเพียง ๓ ประเด็นใหญ่ คือ
       ก.ผู้ถูกร้องได้กระทำการดังที่ผู้ร้องกล่าวหาหรือไม่
       ข.การกระทำดังกล่าวเข้าข่ายต้องห้ามตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๖๓ หรือไม่ และ
       ค.ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำสั่งยุบพรรคการเมืองนั้นหรือไม่
       เมื่อพิเคราะห์ข้อกฎหมายในกรณีนี้ประกอบข้อเท็จจริงในคดีตามคำสั่งเรื่องพิจารณาที่ ๑๒/๒๕๔๙ แล้ว ผู้เขียนเห็นว่า กรณีเห็นได้ว่า นายอภิสิทธิ์และพรรคประชาธิปัตย์ได้ยุติการกระทำไปแล้วตั้งแต่ก่อนวันที่ ๒๖ เมษายน ๒๕๔๙ ผู้ร้องจึงไม่อาจยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้นายอภิสิทธิ์และพรรคประชาธิปัตย์เลิกการกระทำได้อีก การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคประชาธิปัตย์โดยมิได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งให้เลิกการกระทำก่อน จึงมิได้เป็นการผิดขั้นตอนตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๖๓ วรรคสามแต่อย่างใด
       ดังนั้น คำสั่งเรื่องพิจารณาที่ ๑๒/๒๕๔๙ ของศาลรัฐธรรมนูญ แม้จะมีข้อเท็จจริงที่แตกต่างกับคดีเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามมาตรา ๒๙๑ ที่ผู้เขียนนำมาใช้เป็นข้อมูลในการเขียนบทความนี้ แต่หลักกฎหมายในคดีดังกล่าวก็ยังเป็นสิ่งที่น่าจะใช้เป็นบรรทัดฐานได้อยู่ เนื่องจากมาตรา ๖๓ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๔๐ ถือเป็นแม่บทในการยกร่างมาตรา ๖๘ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๕๐ อีกทั้งเมื่อพิจารณาจากข้อกฎหมายแล้ว ก็ไม่ถือว่าผู้ร้องยื่นคำร้องผิดขั้นตอนตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๖๓ วรรคสาม ดังที่มีผู้กล่าวอ้างแต่อย่างใด
       ข. คำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญตามคำสั่งเรื่องพิจารณาที่ ๑๒/๒๕๔๙ เป็นแต่เพียงการลอกข้อความที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๖๓ วรรคสอง มาเท่านั้นหรือไม่
       ปัญหานี้ ผู้เขียนจะไม่วินิจฉัย แต่ได้นำเอาข้อความตามกฎหมายและข้อความที่ศาลได้วินิจฉัยไว้ในคำสั่งดังกล่าวมากล่าวอ้างไว้เท่านั้น ส่วนผู้ใดจะ
       พิจารณาเห็นว่าเป็นเพียงการลอกข้อความที่บัญญัติไว้ในกฎหมายหรือไม่นั้น ก็ขอให้ตรวจสอบเอาเองตามสติและปัญญาและสามัญสำนึกแห่งวิญญูชนที่จะพึงมี
       มาตรา ๖๓ วรรคสอง “ในกรณีที่บุคคลหรือพรรคการเมืองใดกระทำการตามวรรคหนึ่ง ผู้รู้เห็นการกระทำดังกล่าวย่อมมีสิทธิเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจ สอบข้อเท็จจริงและยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าว แต่ทั้งนี้ ไม่กระทบกระเทือนการดำเนินคดีอาญาต่อผู้กระทำการดังกล่าว”
       คำสั่งเรื่องพิจารณาที่ ๑๒/๒๕๔๙ ของศาลรัฐธรรมนูญ
       “ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา ๖๓ มิได้บัญญัติให้ผู้ร้องมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อขอให้ยุบพรรคการเมืองได้โดยตรง แต่จะต้องดำเนินการตามมาตรา ๖๓ วรรคสอง โดยเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงและยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ กรณีตามคำร้องศาลรัฐธรรมนูญไม่อาจที่จะรับไว้พิจารณาวินิจฉัยให้ได้”
        
       นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา
       ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๕๕
       
       
       
       
       [1]  ข่าวไทยรัฐออนไลน์ : ตอนท้ายนาย วสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรธน. ได้ถามนายโภคิน กลางห้องไต่สวนกรณีที่นายโภคินอ้างว่าศาลรัฐธรรมนูญ เคยมีคำสั่งที่ 12/2549 ไม่รับคำร้องขอให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ตามมาตรา 63 ของรัฐธรรมนูญ 2540 ในข้อหาล้มล้างการปกครอง เพราะต้องผ่านการพิจารณาของอัยการสูงสุดมาก่อน ซึ่งเป็นลักษณะเดียวกับกรณีมาตรา 68 ในรัฐธรรมนูญปัจจุบัน ในฐานะเป็นอดีตตุลาการมาก่อนรู้หรือไม่ แตกต่างกันอย่างไร นายโภคิน จึงตอบเสียงอ่อยๆ ว่า ขอตรวจสอบอ่านก่อน ทำให้เจ้าหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญนำเอกสารดังกล่าวไปให้นายโภคินอ่าน
       จากนั้น นายวสันต์ กล่าวว่า ข้อกฎหมายถ้าเราเห็นไม่ตรงกันไม่มีใครว่าอะไร แต่ข้อมูลต้องตรงกัน สำหรับกรณีดังกล่าว ขอชี้แจงว่าในครั้งนั้น นายสุรพงษ์ ได้ยื่นตรงขอให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์เลยทันที ถือเป็นการข้ามขั้นตอน เพราะรัฐธรรมนูญมาตรา 63 ของรัฐธรรมนูญ 2540 ที่นายสุรพงษ์ได้ใช้เพื่อยื่นคำร้องนั้นกำหนดไว้ต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำสั่งให้พรรคการเมืองใด ยกการกระทำการล้มล้างการปกครองก่อนถึงจะค่อยพิจารณายุบพรรคการเมือง อยู่ๆ มายื่นให้ยุบพรรคเลยโดยไม่มีการขอให้ห้ามกระทำก่อน เหมือนกับอยู่ๆ ไม่ได้ฟ้องใครเพื่อให้ลงโทษจำคุกเลยแต่ขอให้ริบของกลาง มันเป็นไปไม่ได้อยู่ในตัว ขอให้ทำความเข้าใจกันให้ถูกต้องส่วนเรื่องความเห็นต่างกันไม่มีใครทะเลาะกัน นายโภคิน กล่าวว่า ตรงนี้เป็นความเห็นส่วนตัวไม่ได้เห็นคำร้องที่นายสุรพงษ์ยื่น แต่ในคำสั่งนี้ศาลรัฐธรรมนูญก็ได้ระบุว่าต้องต้องผ่านการพิจารณาของอัยการสูงสุดก่อน นายวสันต์ กล่าวว่า ความเห็นนั้นเป็นการลอกข้อความของมาตรา 63 วรรค 2 ลงมาเท่านั้น แต่ศาลไม่ได้ชี้ว่าต้องไปผ่านอัยการสูงสุดก่อนเสมอไปแต่อย่างใด หลังจากที่นายโภคินได้ชี้แจงรายละเอียดและตอบข้อซักถามทั้งหมดเสร็จสิ้นแล้ว ซึ่งใช้เวลานานเกือบ 2 ชั่วโมง นายวสันต์ ได้สั่งพักการไต่สวนในเวลา 11.50 น. และสั่งให้เริ่มการไต่สวนอีกครั้งในรอบบ่าย เวลา 13.00 น. (ดู http://www.thairath.co.th/content/pol/273930)
        
       
       


พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=1745
เวลา 25 พฤศจิกายน 2567 15:41 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)