|
|
ครั้งที่ 295 15 กรกฎาคม 2555 21:37 น.
|
สำหรับวันจันทร์ที่ 16 กรกฎาคม ถึงวันอาทิตย์ที่ 29 กรกฎาคม 2555
สิทธิในการรับราชการของผู้พิการ (2)
แม้ว่าในสัปดาห์นี้ ความสนใจของผู้คนส่วนใหญ่จะไปอยู่ที่ความไม่ชัดเจนของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 แต่ผมก็ยังไม่อยากนำเรื่องดังกล่าวมาเขียนในวันนี้เพราะต้องการอ่านคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญและคำวินิจฉัยส่วนตัวของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทุกคน อย่างเป็นทางการ ก่อนเพราะเคยมี ประสบการณ์ มาแล้วกับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญกรณียุบพรรคประชาธิปัตย์ที่คำวินิจฉัยที่ศาลอ่านกับคำวินิจฉัยที่ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษามีความแตกต่างกันเพราะมีการเพิ่มเติมขยายความออกไปจากที่อ่าน ดังนั้น เพื่อให้เกิดความชัดเจนและถูกต้อง จึงสมควรที่จะรอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยกลางและคำวินิจฉัยส่วนตัวที่เป็นทางการออกมาก่อนแล้วจึงค่อยมาวิเคราะห์วิจารณ์กันต่อไป ส่วนในสัปดาห์นี้ผมขอนำเรื่องสิทธิในการรับราชการของผู้พิการซึ่งได้เขียนเอาไว้แล้วในบทบรรณาธิการครั้งก่อนหน้านี้มาเขียนต่อเพราะปัจจุบันศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยกลางเรื่องดังกล่าวออกมาแล้วครับ
ย้อนกลับไปในบทบรรณาธิการครั้งที่แล้ว ผมได้เล่าให้ฟังถึงกรณีที่คุณศิริมิตร บุญมูล ได้ไปสมัครทดสอบความรู้เพื่อบรรจุเป็นข้าราชการตุลาการในปี พ.ศ. 2552 แต่ถูกคณะกรรมการตุลาการ (ก.ต.) ตัดสิทธิไม่ให้สอบเนื่องจากมีสภาพร่างกายและจิตใจไม่เหมาะสมต่อการปฏิบัติหน้าที่ข้าราชการตุลาการ ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543 มาตรา 26 วรรคหนึ่ง (10) คุณศิริมิตรฯ จึงได้ร้องเรื่องดังกล่าวไปยังผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งผู้ตรวจการแผ่นดินก็ได้มีความเห็นว่า พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543 มาตรา 26 วรรคหนึ่ง (10) ที่บัญญัติว่า .... หรือมีกายหรือจิตใจไม่เหมาะสมที่จะเป็นข้าราชการตุลาการ .... เป็นบทบัญญัติที่เปิดโอกาสให้มีการใช้ดุลพินิจอย่างกว้างขวางโดยการอ้างเหตุความเหมาะสม ซึ่งอาจเป็นบทบัญญัติที่เปิดโอกาสให้มีการใช้ดุลพินิจและเกิดความไม่เป็นธรรมต่อผู้พิการบางคน เพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องความพิการซึ่งต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 30 ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงได้ส่งเรื่องของคุณศิริมิตรฯ ไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543 มาตรา 26 วรรคหนึ่ง (10) มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 30 หรือไม่
ในการวินิจฉัยเรื่องนี้ ศาลรัฐธรรมนูญได้นำเอาอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ (Convention on the Rights of Persons with Disabilities : CRPD) ของสหประชาชาติที่ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันไปเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2551 และมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 28 สิงหาคม 2551 มาประกอบการพิจารณาด้วย ทั้งนี้ เนื่องจากอนุสัญญาดังกล่าวได้ให้คำนิยามของคำว่า คนพิการ ว่า หมายความรวมถึงบุคคลที่มีความบกพร่องทางร่างกาย จิตใจ สติปัญญา หรือทางประสาทสัมผัสในระยะยาว ซึ่งเมื่อมีปฏิสัมพันธ์กับอุปสรรคนานัปการ จะกีดขวางการมีส่วนร่วมในสังคมอย่างเต็มที่และมีประสิทธิผลบนพื้นฐานของความเท่าเทียมกับบุคคลอื่น ส่วนกฎหมายไทยที่ศาลรัฐธรรมนูญนำมาใช้ในการพิจารณาเรื่องนี้ด้วย ก็คือ พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 ที่ได้กำหนดความหมายของ คนพิการ ไว้ว่าหมายถึง บุคคลซึ่งมีข้อจำกัดในการปฏิบัติกิจกรรมในชีวิตประจำวันหรือเข้าไปมีส่วนร่วมทางสังคม เนื่องจากมีความบกพร่องทางการเห็น การได้ยิน การเคลื่อนไหว การสื่อสาร จิตใจ อารมณ์ พฤติกรรม สติปัญญา การเรียนรู้ หรือความบกพร่องอื่นใด ประกอบกับมีอุปสรรคในด้านต่างๆ และมีความจำเป็นพิเศษที่จะต้องได้รับความช่วยเหลือด้านหนึ่งด้านใด เพื่อให้สามารถปฏิบัติกิจกรรมในชีวิตประจำวันหรือเข้าไปมีส่วนร่วมทางสังคมได้อย่างบุคคลทั่วไป
เมื่อได้นำนิยามทั้งสองมาเทียบเคียงกับถ้อยคำ .... หรือมีกายหรือจิตใจไม่เหมาะสมที่จะเป็นข้าราชการตุลาการ .... ที่บัญญัติไว้ในมาตรา 26 วรรคหนึ่ง (10) แห่งกฎหมายระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า คำว่า กายหรือจิตใจไม่เหมาะสม นั้นอยู่ในกรอบความหมายของคำว่า คนพิการ ตามอนุสัญญาและพระราชบัญญัติที่กล่าวไปแล้วข้างต้น โดยเป็นการกำหนดลักษณะทางกายและจิตใจที่ไม่เหมาะสมที่จะเป็นข้าราชการตุลาการอย่างกว้างขวางไม่มีขอบเขตที่ชัดเจน นำไปสู่การใช้ดุลพินิจที่ส่งผลให้เกิดการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อคนพิการไว้ในขั้นตอนการรับสมัครบุคคลเข้าสอบคัดเลือกเป็นข้าราชการตุลาการโดยให้เป็นดุลพินิจของ ก.ต. ในการพิจารณาความเหมาะสมของบุคคลที่จะให้มีสิทธิสมัครสอบคัดเลือกเป็นข้าราชการตุลาการคือ เป็นการตัดสิทธิคนพิการตั้งแต่ต้นโดยไม่เปิดโอกาสให้คนพิการสามารถสอบคัดเลือกได้อย่างเท่าเทียมกับบุคคลทั่วไปและไม่มีโอกาสแสดงความรู้ความสามารถอย่างแท้จริงที่เกี่ยวข้องกับตำแหน่งงานนั้นเสียก่อน ทั้งภารกิจหลักตามอำนาจหน้าที่ของผู้พิพากษาศาลยุติธรรม คือ การพิจารณาพิพากษาอรรถคดีให้เป็นไปโดยยุติธรรมตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย และต้องนั่งพิจารณาครบองค์คณะ ความพิการจึงมิได้เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ที่จะเป็นข้าราชการตุลาการที่จะมีผลต่อการให้ความเป็นธรรมแก่คู่ความหรือผู้ที่เกี่ยวข้อง ด้วยเหตุดังกล่าว ศาลรัฐธรรมนูญจึงวินิจฉัยว่า บทบัญญัติมาตรา 26 วรรคหนึ่ง (10) เฉพาะในส่วนที่บัญญัติว่า .... มีกายหรือจิตใจที่ไม่เหมาะสมที่จะเป็นข้าราชการตุลาการ .... ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 30 วรรคสาม
แม้ผมจะเห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ แต่ผมก็มีความเป็นห่วงในหลายๆ เรื่องที่จะตามมาในวันข้างหน้า กรณีของคุณศิริมิตรฯ อาจไม่น่าเป็นห่วงมากเท่าไรนักเพราะความพิการของคุณศิริมิตรฯ นั้นอยู่ที่ขาซึ่งคงไม่เป็นอุปสรรคต่อการเป็นตุลาการเท่าไร และผมก็เชื่อมั่นว่าคุณศิริมิตรฯ คงปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวได้ แต่ที่น่าเป็นห่วงก็คือ ผลของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญอาจส่งผลทำให้การรับคนเข้าทำงานในส่วนราชการมีปัญหามากขึ้นเพราะในเมื่อกฎหมายส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการนั้นได้กำหนดความหมายของคนพิการเอาไว้กว้างมาก รวมไปถึงผู้ที่มีบกพร่องทางการเห็น การได้ยิน การเคลื่อนไหว การสื่อสาร ฯลฯ และศาลรัฐธรรมนูญก็ได้นำเอาความหมายของคนพิการในกฎหมายดังกล่าวมาปรับใช้กับบทบัญญัติในเรื่องการรับคนเข้าทำงานตามกฎหมายระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมโดยกล่าวไว้ในตอนหนึ่งว่า หน้าที่ของผู้พิพากษาศาลยุติธรรมคือการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีให้เป็นไปโดยยุติธรรมตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย และต้องนั่งพิจารณาให้ครบองค์คณะ ความพิการจึงมิได้เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ที่จะเป็นข้าราชการตุลาการ ซึ่งประโยคท้ายสุดที่ว่า ความพิการจึงมิได้เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ที่จะเป็นข้าราชการตุลาการ นั้น ควรจะต้องหมายความรวมถึงคนพิการตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการด้วยหรือไม่เพราะศาลรัฐธรรมนูญได้นำเอาความหมายดังกล่าวมาใช้ในการวินิจฉัยและนำมาปรับเข้ากฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม ด้วยเหตุนี้เองที่ผมเป็นห่วงว่าหากมีการนำเอาผลที่เกิดจากคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญนี้ไปขยายความและนำไปใช้ประกอบการพิจารณารับคนเข้าทำงานโดยมิได้คำนึงถึงเรื่องอื่นๆ ในบางกรณีอาจเกิดผลกระทบต่อการปฏิบัติราชการในวันข้างหน้าได้ เนื่ิองจากความพิการของคนนั้นไม่ได้มีบรรทัดฐานที่แน่นอนและตายตัวชัดเจนเพราะเป็นเรื่องของแต่ละบุคคล เช่น คนที่มีความบกพร่องทางการเห็นแต่ละคนอาจมีระดับของการมองเห็นที่แตกต่างกันออกไปตามสภาพร่างกายและอาการของแต่ละคน ดังนั้น การที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัย รวมๆ โดยยึดแต่เพียงถ้อยคำในกฎหมายแต่ไม่เปิดโอกาสให้มีการนำเอาข้อเท็จจริงของแต่ละบุคคลอันเป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะบ่งบอกได้ว่าผู้นั้น ทำงานได้ ในตำแหน่งที่ไปสมัครมาเป็นเหตุผลในการตัดสินใจ รับ หรือ ไม่รับ บุคคลนั้นเข้าทำงาน จึงอาจก่อปัญหาให้เกิดขึ้นกับการรับสมัครบุคคลเข้าทำงานในหน่วยงานของรัฐในวันข้างหน้าได้
อะไรจะเกิดขึ้น หากเรามีหมอผ่าตัดที่ตาบอดสีครับ !!!
แน่นอนที่คำวินิจฉัยนี้จะต้องถูกนำไปอ้างอิงอย่างมากและจะต้องถูกนำไปปรับใช้กับบรรดากฎหมายต่างๆ ที่มีบทบัญญัติในลักษณะที่คล้ายคลึงกัน แม้การเปิดโอกาสให้คนพิการเข้าทำงานในบางตำแหน่งจะเป็นสิ่งดีที่ควรทำมานานแล้ว แต่การเปิดโอกาสดังกล่าวก็ต้องเป็นไปอย่าง ได้สัดส่วน ระหว่างความพิการกับงานที่ต้องทำด้วย การที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยโดยคำนึงถึงแต่เพียงสิทธิของคนพิการในการเข้าทำงานบนพื้นฐานที่เท่าเทียมกับบุคคลทั่วไป จึงเป็นการวินิจฉัยที่ไม่ได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริงของแต่ละบุคคลที่อาจก่อให้เกิดปัญหาตามมาอย่างมากมายก็เป็นได้ครับ
ในสัปดาห์นี้ เรามีบทความมานำเสนอ 4 บทความด้วยกัน บทความแรกเป็นบทความของ ดร.สุวันชัย แสงสุขเอี่ยม กรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ที่เขียนเรื่อง "การสรรหาสมาชิกวุฒิสภา: ปัญหาและสิ่งที่ต้องปรับปรุงแก้ไข" บทความที่สองเป็นบทความเรื่อง "การใช้สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ กับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550" โดย คุณพอเจตน์ วิชาวุฒิพงษ์ นักวิชาการอิสระ บทความที่สาม เป็นบทความของคุณ ชำนาญ จันทร์เรือง นักวิชาการอิสระ ที่เขียนเรื่อง "การกระจายอำนาจไทยก้าวหน้าหรือถอยหลัง : ศึกษากรณีเชียงใหม่มหานคร" และบทความสุดท้าย เป็นบทความของคุณธีรพัฒน์ อังศุชวาล นักศึกษาปริญญาตรี คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยลัยธรรมศาสตร์ ที่เขียนเรื่อง "นโยบายรัฐไทยกับสิ่งชั่วร้ายที่จำเป็น (Necessary Evil) : ความขัดแย้งในบทบาทรัฐกับอุตสาหกรรมยาสูบ (ตอนที่หนึ่ง)" ผมขอขอบคุณเจ้าของบทความทุกๆบทความครับ
พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 30 กรกฎาคม 2555 ครับ
ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์
|
|
|
พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=1743
เวลา 22 พฤศจิกายน 2567 11:11 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)
|