|
|
ครั้งที่ 294 2 กรกฎาคม 2555 07:18 น.
|
สำหรับวันจันทร์ที่ 2 กรกฎาคม ถึงวันอาทิตย์ที่ 15 กรกฎาคม 2555
สิทธิในการรับราชการของผู้พิการ
เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2555 ที่ผ่านมา สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้นำประกาศสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญฉบับหนึ่งลงเผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษา โดยเนื้อหาของประกาศดังกล่าวเป็นเรื่องที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยที่ 15/2555 ลงวันที่ 13 มิถุนายน 2555 ว่า พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543 มาตรา 26 (10) เฉพาะส่วนที่บัญญัติว่า
กายหรือจิตใจไม่เหมาะสม
เป็นถ้อยคำที่กำหนดลักษณะทางร่างกายหรือจิต ที่กำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครสอบคัดเลือก ผู้สมัครทดสอบความรู้ หรือผู้สมัครเข้ารับการคัดเลือกพิเศษเพื่อบรรจุเป็นข้าราชการตุลาการและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้พิพากษาที่เกินจำเป็น จึงเป็นการจำกัดสิทธิในการบรรจุเข้ารับข้าราชการตุลาการของผู้พิการโดยคำนึงถึงสภาพร่างกายหรือจิตของผู้พิการเพียงอย่างเดียวและเป็นการเปิดโอกาสให้คณะกรรมการที่มีหน้าที่เกี่ยวกับการตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัครเข้าสอบใช้ดุลพินิจอย่างกว้างขวาง โดยมิได้กำหนดว่ากายหรือจิตใจลักษณะใดเป็นความไม่เหมาะสมจนไม่สามารถจะปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการตุลาการได้ อีกทั้ง มิได้คำนึงถึงความรู้ความสามารถอันเป็นภารกิจหลักของตุลาการหรือผู้พิพากษาในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดี บทบัญญัติดังกล่าวจึงเป็นบทบัญญัติที่ขัดต่อหลักการไม่เลือกปฏิบัติต่อบุคคลเพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องความพิการตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 และขัดต่อสิทธิของคนพิการในการเข้าทำงานบนพื้นฐานที่เท่าเทียมกับบุคคลอื่นตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิของคนพิการขององค์การสหประชาชาติ จึงเป็นบทบัญญัติที่มีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 30
จริง ๆ แล้ว เรื่องดังกล่าวเป็นข่าวเล็ก ๆ ปรากฏตามหน้าหนังสือพิมพ์ไปเมื่อวันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยที่ 15/2555 แต่ก็ไม่ค่อยมีคนพูดถึงกันมากนัก ผมได้พยายามสอบถามเรื่องดังกล่าวจากหลาย ๆ ฝ่ายก็ทราบว่า เป็นเรื่องที่ผู้ตรวจการแผ่นดินขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543 มาตรา 26 (10) มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 30 หรือไม่ โดยมีผู้ร้องคือ คุณศิริมิตร บุญมูล ผู้สมัครสอบเพื่อเป็นข้าราชการตุลาการตำแหน่งผู้ช่วยผู้พิพากษาประจำปี พ.ศ. 2552
ผมได้ยินเรื่องการต่อสู้ของคุณศิริมิตร บุญมูล เกี่ยวกับสิทธิในการเข้ารับราชการมานานพอสมควรแล้ว แต่เรื่องเหล่านั้นก็เงียบหายไปนานแทบจะเรียกได้ว่าลืมไปแล้ว ปัจจุบันเมื่อได้เห็นประกาศสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวข้างต้นก็เลยไปรื้อเรื่องของคุณศิริมิตรฯ มาศึกษาดูใหม่ครับ
การต่อสู้อันยาวนานของคุณศิริมิตร บุญมูล เริ่มต้นขึ้นในปี พ.ศ. 2542 เมื่อคุณศิริมิตรฯ และนางสาวบุญจุติ กลับประสิทธิ์ อาชีพทนายความทั้ง 2 คนได้ไปสมัครสอบคัดเลือกเป็นข้าราชการตุลาการศาลยุติธรรมตำแหน่งผู้ช่วยผู้พิพากษา แต่ถูกคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) ตัดสิทธิสอบโดยให้เหตุผลว่ามีร่างกายไม่เหมาะสมกับการเป็นข้าราชการตุลาการ ผู้สมัครสอบทั้งสองเห็นว่า บทบัญญัติที่ ก.ต. นำมาใช้เพื่อตัดสิทธิสอบคือบทบัญญัติของพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. 2521 มาตรา 27 (11) (12) และพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543 มาตรา 26 (10) (11) นั้นขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติมาตรา 30 วรรคสาม ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2540) จึงได้ร้องขอความเป็นธรรมต่อผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาเพื่อให้ใช้อำนาจตามมาตรา 198 ของรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 เสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยในประเด็นความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ซึ่งต่อมาผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาก็ได้เสนอเรื่องพร้อมความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยที่ 16/2545 สรุปความได้ว่า แม้รัฐธรรมนูญมาตรา 30 จะบัญญัติไว้เป็นหลักการว่า บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย และได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน ไม่ว่าชายหรือหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน จะเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลเพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ สภาพทางกายหรือสุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรม หรือความคิดเห็นทางการเมืองอันไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญจะกระทำมิได้ แต่ต้องยอมรับว่าในการที่หน่วยงานใดจะรับบุคคลเข้าทำหน้าที่ในตำแหน่งใด ย่อมต้องพิจารณาถึงความรู้ ความสามารถ ความเหมาะสมที่จะปฏิบัติหน้าที่นั้นด้วย สำหรับกรณีตาม คำร้องของผู้ร้องนั้น เป็นเรื่องที่นายศิริมิตร บุญมูล และนางสาวบุญจุติ กลับประสิทธิ์ ซึ่งมีอาชีพทนายความสมัครสอบคัดเลือกบรรจุเป็นข้าราชการตุลาการ และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้พิพากษา หากสอบคัดเลือกได้ก็จะมีการขอให้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นผู้พิพากษาต่อไป ซึ่งการรับสมัครคัดเลือกนอกจากจะพิจารณาถึงความรู้ ความสามารถแล้ว ยังต้องพิจารณาสุขภาพร่างกายและจิตใจว่ามีความสมบูรณ์ สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ และมีบุคลิกลักษณะที่ดีพอที่จะเป็นผู้พิพากษาซึ่งเป็นตำแหน่งที่มีเกียรติ โดยปฏิบัติหน้าที่ในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ การปฏิบัติหน้าที่ของผู้พิพากษามิใช่เพียงแต่พิจารณาพิพากษาอรรถคดีในห้องพิจารณาเท่านั้น บางครั้งต้องเดินทางไปนอกศาลเพื่อปฏิบัติหน้าที่ เช่น เพื่อเดินเผชิญสืบ เพื่อสืบพยานที่มาศาลไม่ได้ การพิจารณาเพื่อรับสมัครสอบคัดเลือกเพื่อบรรจุเป็นข้าราชการตุลาการและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้พิพากษาจึงมีมาตรการที่แตกต่างและเข้มงวดกว่าการคัดเลือกบุคคลไปดำรงตำแหน่งอื่นอยู่บ้าง ซึ่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 29 วรรคหนึ่ง บัญญัติเป็นข้อยกเว้นไว้ว่า การจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะเพื่อการที่รัฐธรรมนูญนี้กำหนดไว้และเท่าที่จำเป็นเท่านั้น และจะกระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพนั้นมิได้ และวรรคสอง บัญญัติรับรองไว้ว่า กฎหมายตามวรรคหนึ่งต้องมีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไปและไม่มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีหนึ่งหรือแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเจาะจง ทั้งต้องระบุบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจในการตรากฎหมายนั้นด้วย ซึ่งบทบัญญัติวรรคหนึ่งและวรรคสองให้นำมาใช้บังคับกับกฎหรือข้อบังคับที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายด้วย โดยอนุโลม
เมื่อพิจารณาถึงพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543 มาตรา 26 (10) คำว่า มีกายไม่เหมาะสมที่จะเป็นข้าราชการตุลาการ จะใช้ควบคู่กับมาตรา 26 (11) ที่บัญญัติว่า เป็นผู้ที่ผ่านการตรวจร่างกายและจิตใจโดยคณะกรรมการแพทย์จำนวนไม่น้อยกว่าสามคน ซึ่ง ก.ต. กำหนด และ ก.ต. ได้พิจารณารายงานของคณะกรรมการแพทย์แล้วเห็นว่า สมควรรับสมัครได้ บทบัญญัติของพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543 มาตรา 26 (10) เป็นไปตามความจำเป็นและความเหมาะสมของฝ่ายตุลาการ จึงเห็นว่าบทบัญญัติของพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543 มาตรา 26 (10) ดังกล่าว เป็นลักษณะตามข้อยกเว้นของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 29 ซึ่งไม่กระทบกระเทือนถึงสาระสำคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพ มีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไปและไม่มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใดกรณีหนึ่งหรือบุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเจาะจง และไม่เป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 30 แต่อย่างใด
สำหรับประเด็นที่ว่า การปฏิบัติหน้าที่ของ ก.ต. และคณะอนุกรรมการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้สมัครสอบคัดเลือกเพื่อบรรจุเป็นข้าราชการตุลาการในตำแหน่งผู้ช่วยผู้พิพากษา รุ่นที่ 43 ประจำปี 2542 มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 30 หรือไม่นั้น พิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นการขอให้วินิจฉัยการปฏิบัติหน้าที่ของ ก.ต. และคณะอนุกรรมการดังกล่าว ซึ่งมีลักษณะเป็นการใช้ดุลพินิจ จึงไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ
ต่อมาคุณศิริมิตรฯ ก็ได้นำประเด็นเรื่องการปฏิบัติหน้าที่ของ ก.ต. ในการตัดสิทธิสอบฟ้องยังศาลแพ่ง ศาลแพ่งก็ได้มีคำพิพากษายกฟ้องโดยให้เหตุผลว่า กรณีดังกล่าวยังไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาคดีแพ่ง มาตรา 55 คุณศิริมิตรฯ จึงยื่นอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา ซึ่งต่อมาศาลฎีกาก็ได้มีคำพิพากษาที่ 7696/2548 ยืนตามคำพิพากษาศาลแพ่ง โดยถือว่าข้อเท็จจริงตามฟ้องโจทก์ยังไม่มีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์ตามประมวลวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 ท้ายที่สุด คุณศิริมิตรฯ ได้นำเรื่องดังกล่าวขอทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขอรับพระราชทานขอความเป็นธรรม กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ในปี พ.ศ. 2544 คุณศิริมิตรฯ ได้ไปสมัครสอบคัดเลือกเพื่อบรรจุเป็นข้าราชการอัยการในตำแหน่งอัยการผู้ช่วย แต่เมื่อประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิสอบไม่ปรากฏว่ามีชื่อคุณศิริมิตรฯ คุณศิริมิตรฯ จึงได้ยื่นหนังสือถึงคณะกรรมการอัยการ (ก.อ.) เพื่อขอทราบเหตุผลที่ไม่ได้รับการพิจารณาให้เป็น ผู้มีคุณสมบัติในการสอบคัดเลือก ก.อ. ได้ชี้แจงว่า คุณศิริมิตรฯ มีร่างกายพิการจึงไม่รับสมัครเนื่องจากเป็นผู้มีบุคลิกภาพและร่างกายไม่เหมาะสมกับที่จะเป็นข้าราชการอัยการตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ. 2521 มาตรา 33 (11) คุณศิริมิตรฯ จึงได้ยื่นฟ้อง ก.อ. ต่อศาลปกครองกลางเพื่อขอให้ศาลพิพากษาว่า บทบัญญัติมาตรา 33 (11) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ. 2521 และคำสั่งของ ก.อ. ที่ตัดสิทธิสอบคุณศิริมิตรฯ ไม่ชอบด้วยมาตรา 30 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2540) ซึ่งต่อมาในปี พ.ศ. 2545 ศาลปกครองกลางก็ได้มีคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในประเด็นว่า มาตรา 33 (11) ขัดหรือแย้งต่อ มาตรา 30 ของรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 หรือไม่
ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยที่ 44/2545 โดยเห็นว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 30 ได้บัญญัติเป็นหลักการว่า บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมายและได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน ไม่ว่าชายหรือหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน จะเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลเพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ สภาพทางกายหรือสุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรม หรือความคิดเห็นทางการเมืองอันไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญจะกระทำมิได้ แต่ต้องยอมรับว่า ในการที่หน่วยงานใดจะรับบุคคลเข้าทำหน้าที่ในตำแหน่งใด ย่อมต้องพิจารณาถึงความรู้ ความสามารถ ความเหมาะสมที่จะปฏิบัติหน้าที่นั้นด้วย สำหรับกรณีตามคำร้องของผู้ร้องนั้น เป็นเรื่องที่นายศิริมิตร บุญมูล ซึ่งมีอาชีพทนายความสมัครสอบคัดเลือกบรรจุเป็นข้าราชการอัยการ และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอัยการผู้ช่วย หากสอบคัดเลือกได้ก็จะมีการขอให้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นข้าราชการอัยการต่อไป ซึ่งการรับสมัครคัดเลือกนอกจากจะพิจารณาถึงความรู้ ความสามารถแล้ว ยังต้องพิจารณาสุขภาพร่างกายและจิตใจว่ามีความสมบูรณ์ สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ และมีบุคลิกลักษณะที่ดีพอที่จะเป็นข้าราชการอัยการ การปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการอัยการมิใช่เพียงปฏิบัติหน้าที่ในห้องพิจารณาคดีหรือในสำนักงานเท่านั้น บางครั้งต้องเดินทางไปปฏิบัติหน้าที่นอกสำนักงาน เช่น เพื่อเดินเผชิญสืบ เพื่อสืบพยานที่ไม่อาจมาศาลได้ การร่วมชันสูตรพลิกศพกับพนักงานสอบสวน การออกไปเผยแพร่ความรู้ทางกฎหมายแก่ประชาชนในชนบท เป็นต้น การพิจารณาเพื่อรับสมัครสอบคัดเลือกเพื่อบรรจุเป็นข้าราชการอัยการและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอัยการผู้ช่วยจึงมีมาตรการที่แตกต่างและเข้มงวดกว่าการคัดเลือกบุคคลไปดำรงตำแหน่งอื่นอยู่บ้าง ซึ่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 29 วรรคหนึ่ง บัญญัติเป็นข้อยกเว้นไว้ว่า การจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะเพื่อการที่รัฐธรรมนูญนี้กำหนดไว้และเท่าที่จำเป็นเท่านั้น และจะกระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพนั้นมิได้ และวรรคสอง บัญญัติรับรองไว้ว่า กฎหมายตามวรรคหนึ่งต้องมีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไปและไม่มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีหนึ่งหรือแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเจาะจง ทั้งต้องระบุบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจในการตรากฎหมายนั้นด้วย ซึ่งบทบัญญัติวรรคหนึ่งและวรรคสองให้นำมาใช้บังคับกับกฎหรือข้อบังคับที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายด้วย โดยอนุโลม
เมื่อพิจารณาถึงพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ. 2521 มาตรา 33 (11) คำว่า มีกายไม่เหมาะสมที่จะเป็นข้าราชการอัยการ จะใช้ควบคู่กับมาตรา 33 (12) ที่บัญญัติว่า เป็นผู้ที่คณะกรรมการแพทย์จำนวนไม่น้อยกว่าสามคน ซึ่ง ก.อ. กำหนด ได้ตรวจร่างกายและจิตใจแล้ว และ ก.อ. ได้พิจารณารายงานของแพทย์เห็นว่าสมควรรับสมัครได้ บทบัญญัติของพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ. 2521 มาตรา 33 (11) เป็นไปตามความจำเป็นและความเหมาะสมของฝ่ายอัยการ จึงเห็นว่าบทบัญญัติของพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ. 2521 มาตรา 33 (11) ดังกล่าว เป็นลักษณะตามข้อยกเว้นของรัฐธรรมนูญ มาตรา 29 ซึ่งไม่กระทบกระเทือนถึงสาระสำคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพ มีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไปและไม่มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใดกรณีหนึ่งหรือแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเจาะจง และไม่เป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 30 แต่อย่างใด
หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยดังกล่าว ศาลรัฐธรรมนูญก็ได้แจ้งกลับไปยังศาลปกครองว่า บทบัญญัติมาตรา 33 (11) แห่งกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ศาลปกครองกลางจึงได้ทำการพิจารณาเรื่องดังกล่าวต่อไปและได้มีคำพิพากษาที่ 816/2546 ยกฟ้องโดยมีเหตุผลว่า การที่ผู้ฟ้องคดีมีรูปกายพิการตามรายงานผลการตรวจร่างกายของคณะอนุกรรมการแพทย์ดังกล่าว จึงเป็นความแตกต่างที่ถึงขั้นเป็นอุปสรรคอย่างมากต่อการที่จะปฏิบัติหน้าที่ในลักษณะงานของพนักงานอัยการได้เมื่อเทียบกับบุคคลปกติทั่วไป การที่ผู้ถูกฟ้องคดี (ก.อ.) เห็นชอบตามความเห็นของคณะอนุกรรมการพิจารณาคุณสมบัติของผู้สมัครสอบคัดเลือกว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้มีสภาพร่างกายไม่เหมาะสมที่จะเป็นข้าราชการฝ่ายอัยการตามมาตรา 33 (11) และ (12) แห่งพระราชบัญญัติข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ. 2521 และมีมติไม่รับสมัครผู้ฟ้องคดีนั้น เป็นการพิจารณาตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายกำหนด และเป็นการใช้ดุลพินิจอย่างเป็นธรรมและชอบด้วยเหตุผล ดังนั้นการที่ผู้ถูกฟ้องคดีตัดสิทธิผู้ฟ้องคดีในการสอบอัยการผู้ช่วยประจำปี พ.ศ. 2544 จึงชอบด้วยกฎหมาย จึงไม่มีเหตุที่ศาลจะมีคำพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีมีมติเปิดให้ผู้ฟ้องคดีสอบทดแทนการถูกตัดสิทธิในครั้งที่ผ่านมาเป็นกรณีพิเศษ พิพากษายกฟ้อง
คุณศิริมิตรฯ ได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลปกครองกลางดังกล่าวต่อศาลปกครองสูงสุด ซึ่งศาลปกครองสูงสุดได้พิจารณาแล้วมีความเห็นว่า คณะอนุกรรมการพิจารณาคุณสมบัติของผู้สมัครสอบคัดเลือกฯ พิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้ฟ้องคดีขาดคุณสมบัติตามมาตรา 33 (11) และ (12) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการอัยการ พ.ศ. 2521 นั้น โดยที่ความเห็นของคณะกรรมการแพทย์ฯ และคณะอนุกรรมการพิจารณาคุณสมบัติของผู้สมัครสอบคัดเลือกฯ เป็นเพียงความเห็นเบื้องต้นที่เสนอต่อผู้ถูกฟ้องคดีเพื่อประกอบการพิจารณาเท่านั้น การที่ผู้ถูกฟ้องคดีมีมติไม่รับสมัครผู้ถูกฟ้องคดีโดยมิได้พิจารณาถึงความสามารถที่แท้จริงในการปฏิบัติงานของผู้ฟ้องคดีจึงไม่มีเหตุผลหนักแน่นควรค่าแก่การรับฟังว่า การที่ผู้ฟ้องคดีมีกายพิการดังกล่าวจะทำให้ไม่สามารถปฏิบัติงานในหน้าที่ของข้าราชการอัยการได้อย่างไร มติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ไม่รับสมัครผู้ฟ้องคดีในการสอบคัดเลือกเพื่อบรรจุเป็นข้าราชการอัยการผู้ช่วยประจำปี พ.ศ. 2544 จึงเป็นการใช้ดุลพินิจวินิจฉัยโดยไม่ชอบด้วย มาตรา 33 (11) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ. 2521 และเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้ฟ้องคดีตามมาตรา 30 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พิพากษากลับคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้นเป็นให้เพิกถอนมติของผู้ถูกฟ้องคดีในการประชุมครั้งที่ 6/2544 เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2544 ในส่วนที่มีมติไม่รับสมัครผู้ฟ้องคดีในการสอบคัดเลือกเพื่อบรรจุเป็นข้าราชการอัยการในตำแหน่งอัยการผู้ช่วย พ.ศ. 2544 ส่วนคำขอของผู้ฟ้องคดีที่ขอให้ศาลปกครองมีคำบังคับให้ผู้ถูกฟ้องคดีเปิดให้ผู้ฟ้องคดีสอบทดแทนการไม่ประกาศรายชื่อให้ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้มีสิทธิสอบในครั้งนี้ ศาลปกครองสูงสุดไม่อาจกำหนดคำบังคับให้ได้
หลังจากที่ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาดังกล่าวข้างต้นออกมาก็ไม่ได้ยินข่าวของคุณศิริมิตรฯ อีกเลย ไม่ทราบคุณศิริมิตรฯ ได้ไปสมัครสอบเป็นอัยการผู้ช่วยใหม่อีกหลังจากนั้นหรือไม่ รวมทั้งฎีกาที่คุณศิริมิตรฯ ทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อขอรับพระราชทานขอความเป็นธรรมก็ไม่ทราบว่าผลออกมาเป็นอย่างไร จนกระทั่งเมื่อไม่กี่วันมานี้เองที่ได้ข่าวคุณศิริมิตรฯ ทำให้ทราบว่า คุณศิริมิตรฯ ได้ไปสมัครสอบคัดเลือกเป็นข้าราชการตุลาการศาลยุติธรรมตำแหน่งผู้ช่วยผู้พิพากษาในปี พ.ศ. 2552 แต่ก็ถูกคณะกรรมการตุลาการ (ก.ต.) ตัดสิทธิสอบโดยให้เหตุผลว่า มีร่างกายและจิตใจไม่เหมาะสมต่อการปฏิบัติหน้าที่คุณศิริมิตรฯ จึงขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา 245 (1) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ว่า มาตรา 26 (1) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543 ขัดหรือแย้งต่อบทบัญญัติ มาตรา 30 วรรคสาม ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550
ในขณะที่เขียนบทบรรณาธิการครั้งนี้ (ศุกร์ที่ 29 มิถุนายน 2555) ยังไม่ปรากฏว่ามีการนำเอาคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 15/2555 ไปลงเผยแพร่ทั้งในราชกิจจานุเบกษาและในเว็บไซต์ของศาลรัฐธรรมนูญ มีเพียงการนำเอาประกาศผลของคำวินิจฉัยไปลงในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 129 ตอนที่ 55 ก หน้า 16 วันที่ 22 มิถุนายน 2555 เท่านั้น ก็เลยไม่ทราบเหตุผลของศาลรัฐธรรมนูญที่วินิจฉัยเรื่องคุณ ศิริมิตรฯ ในครั้งนี้ แต่อย่างไรก็ตาม ข่าวที่ละเอียดที่สุดที่หาได้ก็คือข่าวที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินออกมาแถลงข่าวเรื่องคุณศิริมิตรฯในฐานะเป็นผู้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยรองเลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินในฐานะโฆษกสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินได้แถลงข่าวไปเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2555 สรุปความได้ว่าเรื่องดังกล่าวเป็นกรณีที่ผู้ร้องได้สมัครทดสอบความรู้เพื่อบรรจุเป็นข้าราชการตุลาการและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้พิพากษาประจำปี 2552 รุ่น 58 เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2552 และได้รับการตรวจร่างกายเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2552 ต่อมาคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) ได้ประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิสอบ ปรากฏว่าไม่มีรายชื่อผู้ร้อง ดังนั้น ผู้ร้องจึงมีหนังสือขอทราบเหตุผลในการตัดสิทธิสอบ ตามหนังสือลงวันที่ 27 สิงหาคม 2552 ซึ่ง ก.ต. ได้ชี้แจงว่า ผู้ร้องมีสภาพร่างกายและจิตใจไม่เหมาะสมต่อการปฏิบัติหน้าที่ข้าราชการตุลาการตามพรบ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ.2543 มาตรา 26 (10) ตามหนังสือ ก.ต. ลงวันที่ 17 กันยายน 2552
ผู้ร้องเห็นว่า การตัดสิทธิสอบโดยอ้างว่า ผู้ร้องมีร่างกายไม่เหมาะสมดังกล่าวเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม เพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องสภาพทางกายหรือความพิการอันก่อให้ เกิดความ เสียหายแก่ผู้ร้องที่ถูกตัดสิทธิสอบมาตรา 26 (10) แห่ง พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ.2543 ขัดหรือแย้งต่อบทบัญญัติมาตรา 30 วรรคสาม ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 แม้ในกรณีนี้ศาลรัฐธรรมนูญได้เคยวินิจฉัยว่า บทบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม มาตรา 26 (10) ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ตามคำวินิจฉัยที่ 16/2545 แต่เนื่องจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ได้เพิ่มข้อความในมาตรา 30 วรรคสาม ได้บัญญัติให้การเลือกปฏิบัติต่อผู้มีร่างกายพิการจะกระทำมิได้ ผู้ร้องประสงค์ให้ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 อีกสักครั้งหนึ่ง จึงขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา 245 (1) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550
ทั้งนี้ ผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณาข้อเท็จจริงตามคำร้องเรียนและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องแล้ว วินิจฉัยว่า กรณี พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543 มาตรา 26 (10) ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 30 ศาลรัฐธรรมนูญได้เคยมีคำวินิจฉัยที่ 16/2545 ว่า พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543 มาตรา 26 (10) ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 30 จึงไม่มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ จึงมีประเด็นที่ต้องพิจารณาว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวมีผลผูกพันผู้ตรวจการแผ่นดินตามมาตรา 216 วรรคห้า ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 หรือไม่
ในประเด็นนี้ ผู้ตรวจการแผ่นดินเห็นว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 16/2545 เป็นการวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 แต่เนื่องจากปัจจุบันได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 โดยบทบัญญัติมาตรา 30 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มีหลักการเช่นเดียวกับมาตรา 30 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 แต่มีการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 30 วรรคสาม โดยเพิ่มเติมคำว่า ความพิการ ซึ่งไม่มีการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 มาก่อน ประกอบกับมาตรา 216 วรรคสี่ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 บัญญัติให้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญอย่างน้อยต้องประกอบด้วยความเป็นมา หรือคำกล่าวหา สรุปข้อเท็จจริงที่ได้มาจากการพิจารณา เหตุผลในการวินิจฉัยในปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย และบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่ยกขึ้นอ้างอิง ดังนั้น เมื่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 16/2545 เป็นการวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 และต่อมาได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 โดยมีการแก้ไขเพิ่มบทบัญญัติมาตรา 30 วรรคสาม ดังกล่าวข้างต้น จึงเห็นว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวน่าจะไม่ผูกพันผู้ตรวจการแผ่นดินตาม มาตรา 216 วรรคห้า ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงสามารถรับเรื่องร้องเรียนดังกล่าวไว้พิจารณาต่อไปได้
มีปัญหาต้องวินิจฉัยประการต่อมาว่า พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543 มาตรา 26 (10) มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 30 หรือไม่ ผู้ตรวจการแผ่นดินเห็นว่า การที่ พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการ พ.ศ. 2543 มาตรา 26(10) บัญญัติว่า ...หรือมีกายหรือจิตใจไม่เหมาะสมที่จะเป็นข้าราชการตุลาการ... นั้น เป็นบทบัญญัติที่เปิดโอกาสให้มีการใช้ดุลยพินิจอย่างกว้างโดยการอ้างเหตุตาม ความเหมาะสม ซึ่งอาจเป็นบทบัญญัติที่เปิดโอกาสให้มีการใช้ดุลยพินิจและเกิดความไม่เป็นธรรมต่อผู้สมัครบางคนเพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องสภาพทางกายซึ่งต้องห้ามตามมาตรา 30 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ดังนั้น จึงอาจขัดหรือแย้งต่อมาตรา 30 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550
รองเลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินในฐานะโฆษกสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินได้กล่าวเพิ่มเติมว่า วันนี้เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่า พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ.2543 มาตรา 26 (10) เฉพาะข้อความที่ว่า "...กายหรือจิตใจไม่เหมาะสม..." เป็นถ้อยคำที่กำหนดลักษณะทางร่างกายหรือจิต ที่กำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครสอบคัดเลือก ผู้สมัครทดสอบความรู้ หรือผู้สมัครเข้ารับการคัดเลือกพิเศษ เพื่อบรรจุเป็นข้าราชการตุลาการและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้พิพากษา ที่เกินความจำเป็น จึงเป็นการจำกัดสิทธิในการบรรจุเข้ารับข้าราชการตุลาการของผู้พิการ โดยคำนึงถึงสภาพร่างกายหรือจิตของผู้พิการเพียงอย่างเดียวและเป็นการเปิดโอกาสให้คณะกรรมการที่มีหน้าที่เกี่ยวกับการตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัครเข้าสอบใช้ดุลพินิจอย่างกว้างขวางโดยมิได้กำหนดว่ากายหรือจิตใจลักษณะใดเป็นความไม่ เหมาะสม จนไม่สามารถจะปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการตุลาการได้ อีกทั้งมิได้คำนึงถึงความรู้ความสามารถอันเป็นภารกิจของตุลาการหรือผู้พิพากษาในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดี บทบัญญัติดังกล่าวจึงเป็นบทบัญญัติที่ขัดต่อหลักการไม่เลือกปฏิบัติต่อบุคคล เพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องความพิการตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 และขัดต่อสิทธิของคนพิการในการเข้าทำงานบนพื้นฐานที่เท่าเทียมกับบุคคลอื่น ตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิของคนพิการขององค์กรสหประชาชาติ จึงเป็นบทบัญญัติที่มีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 30
ด้วยเหตุผลดังกล่าว ศาลรัฐธรรมนูญโดยมติเสียงข้างมากจึงวินิจฉัยว่า พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการฝ่าย ตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ.2543 มาตรา 26 (10) เฉพาะข้อความที่ว่า "...กายหรือจิตใจไม่เหมาะสม..." มีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 30
"กรณีข้างต้นจึงเป็นอีกตัวอย่างหนึ่ง ที่ผู้ตรวจการแผ่นดินได้มีบทบาทในการแก้ไขปัญหาความไม่เป็นธรรมให้กับพี่ น้องประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนที่มีสภาพร่างกายพิการให้มีสิทธิเท่าเทียมกันกับ บุคคลอื่นโดยไม่ถูกเลือกปฏิบัติ"
จากการแถลงข่าวของสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินข้างต้น เข้าใจว่าประเด็นหลักที่ทำให้คุณศิริมิตรฯ ชนะ ในครั้งนี้ก็คือ ความแตกต่างของบทบัญญัติมาตรา 30 วรรคสาม ของรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ โดยบทบัญญัติมาตรา 30 วรรคสาม ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2540) บัญญัติไว้ว่า การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลเพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ สภาพทางกายภาพหรือสุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรม หรือความคิดเห็นทางการเมืองอันไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญจะกระทำมิได้ ส่วนบทบัญญัติ มาตรา 30 วรรคสาม ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 บัญญัติไว้ว่า การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลเพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ ความพิการ สภาพทางกายภาพหรือสุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรม หรือความคิดเห็นทางการเมืองอันไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญจะกระทำมิได้ จะเห็นได้ว่า แม้บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับจะมีหลักการและเนื้อหาที่เหมือนกันแต่ก็มีความแตกต่างกันอยู่ที่มีการเพิ่มคำว่า ความพิการ เข้ามา
ผมคงไม่สามารถให้ความเห็นใดๆเกี่ยวกับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 15/2555 ได้เพราะคำวินิจฉัยอย่างเป็นทางการยังไม่ออกมาให้อ่าน คงจะเสียมารยาทมากเกินไปหากจะไปให้ความเห็นสุ่มสี่สุ่มห้าโดยอ่านข่าวจากสื่อต่างๆครับ
น่าเสียดายแทนศาลรัฐธรรมนูญที่พลาดโอกาสเป็นผู้แถลงข่าวให้ข้อมูลกับประชาชนในเรื่องดี ๆ ที่เป็นผลงานแท้ ๆ ของศาลรัฐธรรมนูญ ปล่อยให้ผู้ตรวจการแผ่นดินในฐานะผู้ยื่นคำร้องเป็นผู้ให้ข้อมูลเรื่องดังกล่าวกับประชาชนก็เลยทำให้ผู้ตรวจการแผ่นดินได้คะแนนไปเต็ม ๆ เลยครับ !!!
แย่ไปกว่านั้น นอกจากจะไม่ได้คะแนนจากเรื่องดังกล่าวแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญยังเสียคะแนนเพิ่มเข้าไปอีกเพราะหากพิจารณามาตรา 216 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญทั้งส่วนตัวและคำวินิจฉัยกลางต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษา แม้ในรัฐธรรมนูญจะมิได้กำหนดไว้ว่าจะต้องประกาศเมื่อไรแต่เนื่องจากข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัย พ.ศ. 2550 วรรคสอง กำหนดไว้ว่า คำวินิจฉัยของศาลให้มีผลในวันอ่าน เมื่อพิจารณาตัวบทกฎหมายที่เกี่ยวข้อง จึงเข้าใจได้ว่าหลังจากที่ศาลอ่านคำวินิจฉัยแล้วก็จะต้องรีบดำเนินการจัดทำคำวินิจฉัยกลางและประกาศในราชกิจจานุเบกษาโดยเร็ว แต่ในเรื่องของคุณศิริมิตรฯ กลับมีการประกาศสั้น ๆ เฉพาะผลคำวินิจฉัยลงราชกิจจานุเบกษาโดยไม่มีการประกาศคำวินิจฉัยกลางและส่วนตัว ซึ่งตามความเข้าใจของผมนั้น เอกสารทั้งหมดควรประกาศไปพร้อม ๆ กัน
ศาลรัฐธรรมนูญทำผิดรัฐธรรมนูญอีกแล้วหรือครับ !!!
ในสัปดาห์นี้เรามีบทความมานำเสนอ 4 บทความด้วยกัน บทความแรกเป็นบทความของคุณปกรณ์ นิลประพันธ์ กรรมการร่างกฎหมายประจำ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่เขียนเรื่อง "แนวคิดเกี่ยวกับความรับผิดทางอาญาของนิติบุคคล" บทความที่สองเป็นบทความของ ดร.ปาลีรัฐ ศรีวรรณพฤกษ์ พนักงานคดีปกครองชำนาญการ สำนักวิจัยและวิชาการ สำนักงานศาลปกครอง ที่เขียนเรื่อง "ลาภมิควรได้ในกฎหมายปกครองฝรั่งเศส" บทความที่สาม เป็นบทความเรื่อง "การตรวจสอบการใช้อำนาจตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ โดยประชาชนด้วยการถอดถอนจากตำแหน่ง" ที่เขียนโดยคุณ ธนกฤต ปัญจทองเสมอ นักศึกษาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (กฎหมายสำหรับนักบริหาร) คณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ บทความสุดท้ายเป็นบทความของ คุณชำนาญ จันทร์เรือง ที่เขียนเรื่อง "จริยธรรมประธานศาลรัฐธรรมนูญ" ผมขอขอบคุณเจ้าของบทความทุกๆ บทความครับ
พบกันใหม่ วันจันทร์ที่ 16 กรกฎาคม 2555 ครับ
ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์
|
|
|
พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=1742
เวลา 22 พฤศจิกายน 2567 13:09 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)
|