ครั้งที่ 293

17 มิถุนายน 2555 20:24 น.

       สำหรับวันจันทร์ที่ 18 มิถุนายนถึงวันอาทิตย์ที่ 1 กรกฎาคม 2555
       
       “80 ปีประชาธิปไตยแบบไทยๆ”
        
               วันที่ 24 มิถุนายน 2555 เป็นวันครบรอบ 80 ปีของการเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไปสู่ “ระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา”
               80 ปีนับว่าเป็นเวลาที่ยาวนานมากสำหรับอายุของสิ่งมีชีวิตหรือวัตถุบางอย่าง แต่สำหรับระบอบการปกครองประเทศนั้น 80 ปียังถือว่า “เด็กๆ” และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง 80 ปีของคนไทยที่ไม่ยอมรับรู้และไม่ยอมเข้าใจในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาจึงทำให้ 80 ปีที่ผ่านมาของเรายังไม่ไปถึงไหน และอาจล่าช้ากว่าประเทศอื่น ๆ ที่ “เปลี่ยนแปลงการปกครองหลังเรา” แต่ “เป็นประชาธิปไตยมากกว่าเรา”เสียด้วยซ้ำไป !!
               80 ปีที่ผ่านมา การปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาของไทยมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา การเปลี่ยนแปลงที่ว่านี้มีน้อยครั้งที่เป็นการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีดังเช่นการมีรัฐธรรมนูญฉบับปี.. 2489 หรือการมีรัฐธรรมนูญฉบับปี.. 2540 การเปลี่ยนแปลงส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นในบ้านเราเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ไม่ก่อให้เกิดผลดีต่อประเทศชาติประชาชนและระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาเลย  ช่วงเวลา 80 ปีที่ผ่านมาเกิดการ “รัฐประหาร” ขึ้นหลายครั้ง แต่ละครั้งผู้ “ลงมือ”ก็จะพยายามยึดครองอำนาจเอาไว้ให้ได้นานที่สุดจนไม่ทราบว่า 80 ปีของระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภานั้น เรามีความเป็น “ประชาธิปไตย”อยู่กี่ปี และอยู่ภายใต้ “อำนาจทหาร” ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อมอยู่กี่ปีกันแน่
               เพราะฉะนั้น 80 ปีของการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไปสู่ระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา จึงไม่ใช่ 80 ปีที่ประเทศไทยมีความเป็น“ประชาธิปไตย”
               การรัฐประหารเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า นักการเมืองที่มาจากกฎกติกาของระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาต้องคอยระวังตัวอยู่ตลอดเวลาว่า จะไม่มีอำนาจนอกระบบเข้ามาแทรกแซง  แต่ก็มีบางส่วนของสังคมที่ให้ความสำคัญกับการใช้อำนาจนอกระบบเช่นว่านี้มาก เมื่อใดที่การเมืองอ่อนแอหรือมีข้อขัดแย้ง เสียงเล่าลือว่าจะมีการรัฐประหารก็ดังขั้น นักข่าวพากันไปรุมถามผู้มีอำนาจสูงสุดในการรักษาความมั่นคงของประเทศว่าจะเข้ามาใช้อำนาจสูงสุดในการรักษาความมั่นคงของประเทศแก้ปัญหาการเมืองหรือไม่ เป็นเช่นนี้ตลอดระยะเวลา 80 ปีที่ผ่านมาจนทำให้คนเหล่านั้นผูกขาดการเป็น “เจ้าของประเทศ” เอาไว้แต่เพียงผู้เดียว
               หรือนี่คือสิ่งที่ผู้คนในประเทศนี้เรียกว่า ประชาธิปไตยแบบไทย!!!
              เป็นเวลานานมากแล้วที่ศาลยุติธรรมได้มีคำพิพากษาออกมา "ยอมรับ" ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นจากการรัฐประหาร ไม่ว่าจะเป็นคำพิพากษาฎีกาที่ 1153-1154/2495 คำพิพากษาฎีกาที่ 45/2496 คำพิพากษาฎีกาที่ 1512-1515/2497 หรือคำพิพากษาฎีกาที่ 1662/2505 ล้วนแล้วแต่ทำให้การรัฐประหารกลายเป็น “สิ่งถูกต้อง”และ “ได้รับการยอมรับ” จากข้อความที่ปรากฏอยู่ในตอนหนึ่งของคำพิพากษาฎีกาที่ 1662/2505 ที่ว่า “..... ศาลฎีกาเห็นว่าเมื่อในปี .. 2501 คณะปฏิวัติให้ทำการยึดอำนาจปกครองประเทศไทยได้เป็นผลสำเร็จหัวหน้าคณะปฏิวัติย่อมเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบ้านเมืองข้อความใดที่หัวหน้าคณะปฏิวัติสั่งบังคับประชาชนก็ต้องถือว่าเป็นกฎหมายแม้พระมหากษัตริย์จะมิได้ทรงตราออกมาด้วยคำแนะนำและยินยอมของสภาผู้แทนราษฎรหรือสภานิติบัญญัติของประเทศก็ตาม……” ถูกนำมาใช้ซ้ำแล้วซ้ำเล่าเพื่อยืนยันว่าในประเทศนี้ การรัฐประหารเป็นสิ่งที่ทำได้ การรัฐประหารเป็นสิ่งที่ถูกต้อง การรัฐประหารเป็นสิ่งที่ประชาชนต้องให้ความเคารพ บรรดากฎเกณฑ์ต่าง ๆ ที่คณะรัฐประหารได้กำหนดเอาไว้มีผลใช้บังคับได้ทั่วไปและตลอดไปแม้การรัฐประหารจะสิ้นสุดลงไปแล้วก็ตาม
               ในเมื่อการรัฐประหารเป็นสิ่งที่ “ทำได้และถูกต้อง” ทุกครั้งที่มีปัญหาทางการเมือง การรัฐประหารก็มักเกิดขึ้น แม้จะมีเสียงคัดค้านจากนานาอารยะประเทศที่มองการรัฐประหารเป็น “สิ่งชั่วร้าย” แต่ในเมื่อประเทศไทยยังคงอยู่ต่อไป ผู้ทำรัฐประหารและบริวารจึงต้องพยายามทำให้นานาประเทศเชื่อมั่นว่า คณะรัฐประหารเข้ามาเพื่อแก้ปัญหาของประเทศชาติจริง และมีความจำเป็นต้องเข้ามาเนื่องจากไม่มีทางอื่นใดที่จะแก้ปัญหาได้แล้ว เหตุหลายเหตุจึงถูกนำเอามาอ้างเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับการรัฐประหารไม่ว่าจะเป็นมีความพยายามในการล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์หรือการทุจริตและใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบของนักการเมือง เป็นต้น
         แม้เสียงส่วนน้อยในสังคมจะออกมาคัดค้านการรัฐประหารแต่ผู้คนส่วนใหญ่ก็ยังคงนิ่งเฉยอยู่ การรัฐประหารครั้งที่สุดท้ายในปี พ.ศ. 2549 มีประชาชนจำนวนหนึ่งนำดอกไม้ไปให้ทหารที่ทำการรัฐประหาร สื่อจำนวนมากพาดหัวชื่นชมยินดีกับการรัฐประหาร มีบางอย่างที่ทำให้คนเหล่านี้ “ลืม” ไปว่า เราอยู่ในประเทศที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาและการรัฐประหารเป็นสิ่งที่อยู่ตรงกันข้ามและเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา
               50 ปีที่ผ่านมานับแต่มีคำพิพากษาฎีกาออกมายอมรับการรัฐประหาร ผู้ที่เกิดในช่วงเวลาหรือก่อนหน้านั้นไม่กี่ปีได้กลายมาเป็นผู้ใหญ่ของสังคมในวันนี้ บางคนก็เป็นผู้พิพากษา บางคนก็เป็นอัยการ บางคนก็เป็นอาจารย์สอนกฎหมาย บางคนก็เป็นนักรัฐศาสตร์ที่มีชื่อเสียง  แต่คนเหล่านี้ก็ยังมองไม่เห็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากคำพิพากษาฎีกาที่ออกมายอมรับการรัฐประหารอยู่นั่นเอง แม้บางคนอาจมีโอกาส “กลับ”คำพิพากษาฎีกาดังกล่าวได้แต่ก็ไม่ทำ กลับไป “รับรอง” และ “ยืนยัน” สิ่งที่ผิดดังกล่าวซ้ำแล้วซ้ำเล่าไม่รู้จะโทษใครนอกจากจะโทษ สถาบันการศึกษาที่ไม่สามารถผลิตคนออกมาให้รู้จัก “ระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา” ได้  ที่ต้องโทษอีกพวกหนึ่งก็คือนักกฎหมายกับนักรัฐศาสตร์ในฐานะผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกับแนวคิดของระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาที่จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้นเพราะไม่สามารถทำให้ผู้คนส่วนใหญ่เข้าใจระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาที่ถูกต้องได้
               นักการเมืองเองก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ทำลายระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา เป็นเวลานานมากแล้วที่เราต้องพบกับนักการเมืองประเภทหนึ่งที่ “เข้ามาสู่วงการเมือง” ด้วยเหตุผลส่วนตัวและเพื่อประโยชน์ส่วนตัว มีนักการเมืองจำนวนไม่น้อยที่ยังไม่เข้าใจในบทบาทและหน้าที่ของตัวแทนประชาชนและไม่เข้าใจใน “เสียงข้างมาก” ของระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมานี้เองเราจึงได้เห็นภาพของการลากเก้าอี้ประธานสภาออกจากที่ตั้ง ภาพของการขว้างปาสิ่งของใส่ตัวประธานสภา ภาพของการไม่ยอมรับเสียงข้างมาก  แม้กระแสสังคมจะออกมาบอกว่าการกระทำดังกล่าวไม่ถูกต้อง แต่ผู้เกี่ยวข้องก็ไม่รู้สึกอะไรและยังออกมาชี้แจงให้สาธารณชนทราบว่า จำเป็นต้องทำเพื่อรักษาหลักการของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยเอาไว้ นี่คือตรรกะเดียวกันกับที่นำมาใช้รับรองการรัฐประหารซึ่งเป็นสิ่งที่ผิดว่าจำเป็นต้องทำเพื่อช่วยเหลือประเทศชาติให้รอดพ้นจากวิกฤติ
               ปัจจุบัน ความถูกต้องความชอบธรรมเสียงข้างมากเสียงข้างน้อย แทบไม่มีคนรู้จักเพราะไม่สามารถใช้ประโยชน์อะไรได้ พวกเขาพวกเรา เป็นสิ่งที่สำคัญและอยู่เหนือเหตุผล เหนือกฎหมาย และกฎระเบียบทั้งมวล พวกเราทำอะไรก็ได้ดีไปหมด ในขณะที่พวกเขาทำอะไรก็ผิดไปหมด
               มีเสียงโทษคณะราษฎรว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศไทยวันนี้มาจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 ก่อนเวลาอันควร  หากมองดูด้วยใจเป็นธรรมมีหลายสิ่งหลายอย่างในโลกที่เกิดก่อนเวลาอันควรแล้วก็สามารถเดินต่อไปได้เพราะมีคนสานต่อและพยายามที่จะ “ส่งไม้”ให้กับคนรุ่นต่อ ๆ ไป  ในวันนี้ การอภิวัฒน์เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2555 ผ่านมาแล้ว 80 ปี คงได้เวลาที่จะต้องกลับมาทบทวนใหม่ทบทวนเจตนารมณ์ของการอภิวัฒน์ว่า ได้รับการยึดถือและนำมาปฏิบัติอย่างครบถ้วนหรือไม่
               80 ปีที่ผ่านมาของระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาจึงเป็นโศกนาฏกรรมสำหรับประเทศไทยที่ไม่สามารถสานต่ออุดมการณ์ของคณะราษฎรได้ และที่แย่ไปกว่านั้นก็คือเกิดการเข้าไปทำลายเจตนารมณ์ของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาที่คณะราษฎรได้วางเอาไว้อีกด้วย
                    แล้วเราจะออกจากสถานการณ์นี้ได้อย่างไร ?
         มีหลายอย่างที่จะทำให้เราสามารถเลี้ยวกลับไปเดินในช่องทางที่ถูกต้องของระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาได้ เริ่มตั้งแต่พลเมืองและนักการเมืองต้องทำความเข้าใจในระบอบประชาธิปไตยที่ถูกต้องเสียก่อนว่าเป็นอย่างไร เมื่อเข้าใจแล้วก็ต้องเดินตามอย่างเคร่งครัด เคารพในการเลือกตั้งเชื่อมั่นในระบบรัฐสภา ยอมรับในสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายไม่ว่าสิ่งนั้นจะเกิดขึ้นจากพวกหรือสีใด เรื่องเหล่านี้คงไม่มีใครสอนกันได้แต่ก็ขึ้นอยู่กับการปรับจิตสำนึกของแต่ละคน  เรื่องต่อมาที่ต้องทำก็คือ ทำลายบรรดาคำพิพากษาฎีกาที่ออกมายอมรับการรัฐประหาร ด้วยการกลับหลักคำพิพากษาดังกล่าวพร้อมยืนยันว่าระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาเป็นสิ่งที่ถูกต้องการล้มล้างระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาด้วยการรัฐประหารเป็นสิ่งที่ผิด เป็นความผิดตามมาตรา 113 แห่งประมวลกฎหมายอาญา เป็นกบฏในราชอาณาจักรและต้องถูกลงโทษอย่างรุนแรง
               การแตกแยกทางความคิด ความศรัทธาในพรรคการเมือง การชื่นชมตัวบุคคลเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา แต่ไม่ควรใช้สิ่งเหล่านั้นมาทำลายการปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา
               ก็ต้องขอแสดงความเสียใจต่อคณะราษฎรด้วยที่อุตส่าห์ “กล้าหาญ”จนทำให้เรามีรัฐธรรมนูญ มีรัฐสภา มีคณะรัฐมนตรี และมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา แต่เราก็ไม่สามารถสืบสานเจตนารมณ์ของคณะราษฎรได้ดีเท่าที่ควร
               นี่คือ 80 ปีประชาธิปไตยแบบไทย ครับ
        
               สัปดาห์นี้เรามีบทความมานำเสนอ 3 บทความ บทความแรกเขียนโดยอาจารย์ ดร. ชวนิดา สุวานิช ร่วมกับอาจารย์ ปีดิเทพ อยู่ยืนยง เรื่อง"ความเสมอภาคในสถาบันอุดมศึกษา: มองนโยบายและกฎหมายสหภาพยุโรปเพื่อก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน" บทความที่สอง เป็นบทความเรื่อง "กฎหมายปรองดองในแอฟริกาใต้" ที่เขียนโดยคุณคนันท์ ชัยชนะ บทความสุดท้ายเป็นบทความของคุณชำนาญ จันทร์เรือง ที่เขียนเรื่อง "๒๔ มิถุนายน ๒๕๕๕ วันประกาศเจตนารมณ์ขับเคลื่อนร่าง พรบ.เชียงใหม่มหานคร" ผมขอขอบคุณเจ้าของบทความทุกบทความไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ
        
               พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 2 กรกฎาคม 2555
       
               ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์  บรมานันท์


พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=1737
เวลา 28 มีนาคม 2567 19:41 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)