กฎหมายปรองดองในแอฟริกาใต้

17 มิถุนายน 2555 20:07 น.

       เมื่อกล่าวถึงวิธีการสร้างความสงบให้เกิดขึ้นหลังเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองในประเทศ วิธีการที่ได้รับความนิยมในหลาย ๆ ประเทศ คือ การออกกฎหมายนิรโทษกรรมผู้กระทำความผิดอันมีเหตุจูงใจทางการเมือง เพื่อสร้างบรรยากาศความปรองดองให้เกิดขึ้นในสังคมอีกครั้ง
                          ประเทศแอฟริกาใต้ก็เป็นประเทศหนึ่งที่ได้ใช้วิธีการดังกล่าว โดยได้มีการออกกฎหมายนิรโทษกรรมครั้งสำคัญในยุคที่ได้ล้มล้างลัทธิแบ่งแยกสีผิว (Apartheid) ในปี ค.ศ. ๑๙๙๕ ลัทธิแบ่งแยกสีผิวได้ถือกำเนิดอย่างเป็นทางการในประเทศแอฟริกาใต้ในปี ค.ศ. ๑๙๔๘ ซึ่งเป็นปีที่เริ่มมีการใช้คำว่า Apartheid เป็นครั้งแรก ในยุคนั้นเป็นยุคที่รัฐบาล(คนผิวขาว)ได้ดำเนินนโยบายกีดกันทางเชื้อชาติและสีผิวอย่างเป็นระบบ โดยได้ออกกฎหมายมารองรับและสร้างความชอบธรรมให้แก่การดำเนินงานของเจ้าหน้าที่เพื่อทำให้นโยบายกีดกันสีผิวสำเร็จลุล่วงไปได้
                          ตัวอย่างของนโยบายแบ่งแยกสีผิว เช่น การกำหนดสถานะของบุคคลโดยเชื้อชาติ การแบ่งแยกกฎหมายสำหรับบุคคลต่างสีผิว การให้สิทธิเลือกตั้งเฉพาะคนขาวเท่านั้น การแบ่งแยกเขตที่อยู่อาศัยอย่างชัดเจนและบังคับให้คนผิวสีต้องย้ายถิ่นที่อยู่ไปในเขตที่รัฐกำหนดเพื่อสร้างสังคมที่มีแต่คนผิวขาว ฯลฯ การแบ่งแยกสีผิวนั้นมิได้จำกัดอยู่เฉพาะในทางราชการเท่านั้นแต่ครอบคลุมไปถึงเรื่องส่วนตัวด้วย เช่น กฎหมายกำหนดโทษของการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างคนสีผิวต่างกันที่มิใช่คู่สมรสกัน เป็นต้น
                          ด้วยเหตุดังกล่าวจึงมีการเคลื่อนไหวทางการเมืองของชาวผิวสีซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศเพื่อประท้วงต่อต้านรัฐบาลใช้วิธีการทุกรูปแบบ รวมไปถึงการใช้กำลังและก่อการร้าย อันนำไปสู่เหตุการณ์ความไม่สงบระหว่างกลุ่มต่อต้านรัฐบาลกับเจ้าหน้าที่ของรัฐอยู่เป็นประจำ
                          หลังจากที่ได้ล้มล้างระบบการแบ่งแยกสีผิวแล้ว จึงมีประเด็นคำถามว่ารัฐจะสร้างความสงบให้กลับคืนสู่สังคมได้อย่างไร และจะจัดการเยียวยาและสร้างความเป็นธรรมให้แก่ผู้เสียหายและครอบครัวได้อย่างไร
                          รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ค.ศ. ๑๙๙๔ ซึ่งเป็นผลผลิตของการเจรจาต่อรองระหว่างรัฐบาลเก่ากับกลุ่มผู้ต่อต้าน ได้กำหนดไว้ในบทสุดท้ายของรัฐธรรมนูญให้ฝ่ายนิติบัญญัติไปออกกฎหมายนิรโทษกรรมสำหรับผู้กระทำความผิดที่มีเหตุจูงใจทางการเมือง และได้กำหนดหลักการสำคัญคือ จะต้องสร้างความปรองดองแทนล้างแค้น และจะไม่มีการดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายรัฐ ทั้งนี้ เป็นไปตามหลักความต่อเนื่องของฝ่ายปกครองทำให้เจ้าหน้าที่ทุกคนยังอยู่ในตำแหน่งและปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้
                           อย่างไรก็ดี บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญในส่วนนี้ยังมีความคลุมเครืออยู่มาก ส่งผลให้ฝ่ายนิติบัญญัติมีดุลพินิจอย่างกว้างขวาง และในการพิจารณาในรัฐสภาก็ได้มีการถกเถียงและอภิปรายกันยาวนานเพราะเป็นหัวข้อที่ละเอียดอ่อน จนในที่สุดในปี ค.ศ. ๑๙๙๕ รัฐสภาก็ได้ประกาศใช้ “กฎหมายส่งเสริมความเป็นเอกภาพและความสมานฉันท์ ค.ศ. ๑๙๙๕” (Promotion of National Unity and Reconciliation Act 34 of 1995) ในกฎหมายฉบับนี้มีหลักการใหม่ที่เป็นมากกว่าการนิรโทษกรรม เนื่องจากมีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหาความจริงกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในยุคแบ่งแยกสีผิวด้วย โดยกฎหมายได้ก่อตั้ง “คณะกรรมการแสวงหาข้อเท็จจริงและสร้างความสมานฉันท์” ซึ่งประกอบด้วยคณะอนุกรรมการ ๓ คณะ ได้แก่ คณะอนุกรรมการแสวงหาข้อเท็จจริงกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชน คณะอนุกรรมการนิรโทษกรรม และคณะอนุกรรมการเยียวยาและฟื้นฟู (Reparation and Rehabilitation) มีวาระการทำงานทั้งสิ้นเป็นเวลาไม่เกิน ๒ ปี
                          การนิรโทษกรรมตามกฎหมายฉบับนี้ถือเป็นนวัตกรรมใหม่ของการตรากฎหมายนิรโทษกรรม เพราะไม่ได้เป็นการยกเว้นโทษโดยตัวกฎหมาย แต่กฎหมายกำหนดให้ผู้กระทำความผิดที่ประสงค์จะได้รับการนิรโทษกรรมต้องยื่นคำร้องต่อคณะอนุกรรมการนิรโทษกรรม ซึ่งมีอำนาจตัดสินใจว่าจะให้มีการนิรโทษกรรมแก่บุคคลนั้นหรือไม่ โดยบุคคลนั้นจะต้องเปิดเผยข้อเท็จจริงทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดของตน เทียบได้กับการรับสารภาพ
                          ผู้ยื่นคำร้องจะได้รับการนิรโทษกรรมเฉพาะกรณีที่เป็นความผิดที่มีแรงจูงใจทางการเมือง และจะได้รับการนิรโทษกรรมเมื่อคณะอนุกรรมการฯ วินิจฉัยว่าได้กระทำความผิดจริงและได้ประกาศต่อสาธารณะแล้วเท่านั้น คำวินิจฉัยของคณะอนุกรรมการฯ จะมีผลเป็นการปลดเปลื้องผู้กระทำความผิดจากความรับผิดทางอาญาและทางแพ่งด้วย
                          สิ่งที่ถือเป็นนวัตกรรมใหม่ของกฎหมายฉบับนี้คือการกำหนดให้การแสวงหาความจริงเป็นเงื่อนไขของการนิรโทษกรรม ถือเป็นโมเดลใหม่สำหรับการจัดการกับอดีต เป็นทางเลือกตรงกลางระหว่างการดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดทุกกรณี กับการยกเว้นความผิดโดยไม่สนใจเหตุการณ์ในอดีต (นิรโทษกรรมในความหมายดั้งเดิม) “นิรโทษกรรม” ตามกฎหมายส่งเสริมความเป็นเอกภาพและความสมานฉันท์ ค.ศ. ๑๙๙๕ ในแอฟริกาใต้จึงมิได้หมายถึงการลืมอดีต แต่เป็นการรื้อฟื้นเรื่องราวในอดีตและมุ่งแสวงหาข้อเท็จจริงให้เป็นที่ประจักษ์ แล้วจึงให้อภัยแก่กัน กฎหมายฉบับนี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานความคิดที่ว่า ความปรองดองจะเกิดขึ้นเมื่อสังคมเผชิญหน้ากับความจริงในอดีต ไม่ใช่ปิดหูปิดตาลืมอดีต และผู้ที่จะให้อภัยได้ย่อมต้องรู้เสียก่อนว่าตนกำลังจะให้อภัยในเรื่องอะไร
                          อย่างไรก็ดี มาตรการทางกฎหมายเพียงอย่างเดียวคงไม่อาจบังคับให้เกิดความสมานฉันท์ได้ ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับความพร้อมของสังคมและผู้เกี่ยวข้องทุก ๆ ฝ่ายที่จะสร้างความปรองดองและให้อภัยแก่กันและกันด้วย มิเช่นนั้นแล้ว กฎหมายปรองดองก็คงจะเป็นเพียงกระดาษแผ่นเดียวที่ไม่มีใครให้ความสำคัญและรอวันถูกฉีกทิ้งในที่สุด


พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=1735
เวลา 22 พฤศจิกายน 2567 18:46 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)