ครั้งที่ 292

3 มิถุนายน 2555 21:01 น.

       สำหรับวันจันทร์ที่ 4 มิถุนายนถึงวันอาทิตย์ที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2555
       
       “รัฐประหารที่ล้มเหลวเรียกว่ากบฏ”
        
                       ประเด็นร้อนแรงที่เกิดขึ้นในช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาก็คือ การเสนอร่างกฎหมายว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรที่ทำให้เกิดความวุ่นวายอย่างมากทั้งในและนอกสภาโดยเฉพาะอย่างยิ่งความวุ่นวายในสภาเป็นสิ่งที่ “แย่ที่สุด” และ “รับไม่ได้ที่สุด” เท่าที่เคยเห็นมาในสภาผู้แทนราษฎรครับ !!!
                       ในช่วงเวลาที่ผ่านมา มีความพยายามที่จะสร้างความปรองดองด้วยรูปแบบและวิธีการต่าง ๆ หลายต่อหลายครั้งด้วยกันแต่ทุกครั้งที่มีการเสนอก็จะมีการคัดค้านและนำไปสู่การประท้วงและการชุมนุม
                       ในบทบรรณาธิการครั้งนี้ ผมคงไม่ขอเข้าไปวิพากษ์วิจารณ์เนื้อหาของร่างกฎหมายว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติที่กำลังเป็นปัญหาอยู่เพราะมีผู้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์กันมากพอสมควรแล้ว แต่อยากจะขอพูดถึง “สิ่งที่จะตามมา” ภายหลังการเสนอร่างกฎหมายดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรเพราะผมมีความเห็นว่าร่างกฎหมายว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติคงไม่สามารถแก้ไขปัญหาข้อขัดแย้งในประเทศไทยได้ในช่วงเวลานี้
                       ที่ผ่านมา ผมได้เคยเสนอความเห็นไว้แล้วหลายครั้งเกี่ยวกับเรื่องของการปรองดองและเรื่องของการนิรโทษกรรมโดยในบทบรรณาธิการครั้งที่ 268 ที่เผยแพร่ไปเมื่อวันจันทร์ที่ 3 กรกฎาคม 2554 ผมได้แสดงความเห็นต่อการปรองดองว่า การปรองดองคงไม่ได้หมายความถึงการนิรโทษกรรมแต่เพียงอย่างเดียว เพราะสำหรับผมแล้ว การปรองดองหมายความถึงการทำทุกอย่างให้กลับเข้าสู่ระบบที่ถูกต้องมากกว่า เพราะทุกวันนี้หลายสิ่งหลายอย่างที่เกิดขึ้นในบ้านเราผิดเพี้ยนไปหมด ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการยุติธรรม หน่วยงานของรัฐ การเลือกปฏิบัติ การล่าช้าในหลาย ๆ เรื่องที่ไม่ใช่เฉพาะเรื่องการเมืองแต่เพียงอย่างเดียว ส่วนบรรดาข้อกล่าวหาต่าง ๆ เช่น เรื่องล้มเจ้า เรื่อง 91 ศพ เรื่องชายชุดดำ เรื่องผู้ก่อการร้าย ก็ต้องพิสูจน์ออกมาให้ชัดเจนว่า สรุปแล้วเรื่องเหล่านั้นเป็นเรื่องจริงหรือไม่ เพราะเรื่องพวกนี้เป็นเรื่องที่มีการนำมากล่าวอ้างทุกครั้งที่มีปัญหาและไม่มีทางออก เป็นสิ่งที่นำมาใช้ในการทำลายล้างทางการเมือง เป็นสิ่งที่ไม่ก่อให้เกิดอะไรเลยนอกจากความแตกแยกในสังคม เมื่อไรก็ตามที่ทุกเรื่องมีคำตอบ ปัญหาที่ค้างคาใจอยู่เป็นเวลานานจำนวนหนึ่งก็จะจบลง จะได้ไม่ต้องนำเรื่องเหล่านี้มาเป็นข้ออ้างเพื่อสร้างความแตกแยกและเพื่อทำลายล้างกันต่อไปอีก ส่วนเรื่องการนิรโทษกรรมนั้น คงมีอยู่ด้วยกันหลายเหตุ การยุบพรรคการเมืองและตัดสิทธิผู้บริหารพรรคการเมืองที่เกิดขึ้น ใคร ๆ ก็ทราบว่าเป็นสิ่งที่ “ไม่ถูกต้อง” เพราะบรรดากฎหมายและกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ที่นำมาใช้ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นมาจากการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 หากจะนิรโทษกรรมในเรื่องนี้ก็คงเป็นไปได้เพราะที่มาของการลงโทษไม่เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย แต่สำหรับกรณีของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของโทษทางอาญาหรือการยึดทรัพย์สินนั้น เรื่องดังกล่าวผ่านการพิจารณาขององค์กรศาลไปแล้ว มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดไปแล้ว ก็คงจะต้องถือว่าเรื่องดังกล่าวจบลงไปแล้ว หากจะนิรโทษกรรมในเรื่องพวกนั้นจริง ๆ ก็อาจต้องทำกันถึงขนาดแก้รัฐธรรมนูญกันเลยทีเดียว แต่ถ้าจะทำเช่นนั้นจริง ๆ ก็อย่าลืมนำมาให้ประชาชนออกเสียงประชามติด้วยนะครับ เพราะการแก้รัฐธรรมนูญไม่ใช่เรื่องที่จะทำกันเล่น ๆ โดยเฉพาะเรื่องที่ไม่ได้ทำเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนโดยตรง !!! 
                       การปรองดองจึงไม่ใช่การลืมแล้วปล่อยทุกอย่างให้ผ่านไป แต่เป็นการทำความจริงให้ปรากฏและจบเรื่องนั้นอย่างถูกต้องที่ควรเป็น คนผิดก็ต้องรับผิด รับโทษ ไม่ว่าคน ๆ นั้นจะเป็นใครก็ตาม
                       บทบรรณาธิการครั้งต่อมาคือบทบรรณาธิการครั้งที่ 271 ที่เผยแพร่ไปเมื่อวันจันทร์ที่ 15 สิงหาคม 2554 ในช่วงนั้นมีกระแสข่าวออกมาว่าจะมีการนิรโทษกรรมทางการเมืองให้กับหลาย ๆ กลุ่ม ผมก็ได้นำเสนอความเห็นในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการนิรโทษกรรมเอาไว้ว่า ผมลองประมวลดูว่า จะต้องนิรโทษกรรมอะไรบ้างจากเสียงเรียกร้องของคนหลาย ๆ กลุ่มแล้ว พบว่า มีเรื่องใหญ่ ๆ ที่อยู่ในความต้องการที่จะให้มีการนิรโทษกรรม 3 เรื่องด้วยกันคือ การยุบพรรคการเมืองและการคืนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคการเมืองที่ถูกยุบ เรื่องการคืนทรัพย์ของอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาให้ยึดทรัพย์ จำนวนสี่หมื่นหกพันล้านบาทเศษไปเมื่อต้นไปเมื่อต้นปี พ.ศ. 2550 และเรื่องสุดท้ายคือ เรื่องความไม่สงบทางการเมืองที่เกิดขึ้นหลาย ๆ ครั้งในช่วงเวลา 5 - 6 ปีที่ผ่านมา
                       ในเรื่องแรกคือ เรื่องการยุบพรรคการเมืองและการคืนสิทธิเลือกตั้งให้แก่กรรมการบริหารพรรคการเมืองที่ถูกยุบนั้น สามารถแยกพิจารณาได้เป็น 2 เรื่องย่อยคือ การยุบพรรคการเมืองและการคืนสิทธิเลือกตั้งให้แก่กรรมการบริหารพรรคการเมืองที่ถูกยุบ โดยในเรื่องของการยุบพรรคการเมืองนั้น การนิรโทษกรรมคงไม่มีผลใด ๆ เกิดขึ้นเพราะพรรคการเมืองทั้งหลายก็ถูกยุบไปแล้วและบรรดาสมาชิกพรรคการเมืองเหล่านั้นก็ได้ไปตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาใหม่กันไปหมดแล้ว การนิรโทษกรรมให้กับเรื่องการยุบพรรคการเมืองจึงไม่เกิดประโยชน์ใด ๆ ทั้งสิ้น เว้นไว้แต่ว่ายังมีคนอยากใช้ชื่อพรรคการเมืองที่ถูกยุบไปครับ ! ส่วนการนิรโทษกรรมเพื่อคืนสิทธิเลือกตั้งให้แก่บรรดากรรมการบริหารพรรคการเมืองที่ถูกยุบนั้น เนื่องจากเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจากบทบัญญัติของประกาศของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 27 ที่ “เพิ่มโทษ” ให้กับพรรคการเมืองที่ถูกยุบว่า ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองที่ถูกยุบมีกำหนด 5 ปีนับแต่วันที่มีคำสั่งให้ยุบพรรคการเมือง และต่อมารัฐธรรมนูญปัจจุบันก็ได้นำเอาการ “เพิ่มโทษ” ดังกล่าวไปบัญญัติไว้ในมาตรา 237 วรรคสองด้วย ดังนั้น หากจะนิรโทษกรรมเรื่องดังกล่าวก็สามารถทำได้ด้วยการออกเป็นกฎหมายนิรโทษกรรมแต่ก็ต้องไม่ลืมด้วยว่า โทษของการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคการเมืองก็ยังคงอยู่ในรัฐธรรมนูญปัจจุบัน ซึ่งในเรื่องดังกล่าวก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันมากตลอดเวลาว่า โทษของการเพิกถอนสิทธิกรรมการบริหารพรรคการเมืองทุกคนซึ่งอาจมีบางคนได้รับรู้หรือรู้เห็นหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้งเป็นการลงโทษที่รุนแรงและไม่ยุติธรรม ในเรื่องนี้เองที่ผมมีความเห็นว่า การนิรโทษกรรมคงเป็นประโยชน์เฉพาะผู้ที่ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งจำนวน 200 กว่าคนเท่านั้น แต่โทษและความผิดในเรื่องดังกล่าวก็ยังมีอยู่และยังอาจเกิดกับพรรคการเมืองอื่นและกับกรรมการบริหารพรรคการเมืองอื่นได้ (รวมทั้งพรรคเพื่อไทยด้วย) ด้วยเหตุนี้เองที่หากจะแก้ปัญหาเรื่องดังกล่าวอย่างตรงจุด นอกเหนือไปจากการนิรโทษกรรมผู้ที่ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งจำนวน 200 กว่าคนแล้ว ยังอาจต้องทบทวนบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าวด้วยว่าสมควรมีอยู่ต่อไปหรือไม่ เพื่อไม่ให้เกิดเรื่องเช่นนี้อีกในอนาคต
                       เรื่องต่อมาคือ เรื่องการนิรโทษกรรมเพื่อให้มีการคืนทรัพย์ของอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นั้น ในความเห็นส่วนตัว แม้ผมจะไม่เห็นด้วยกับการดำเนินการทั้งหมดโดย คตส. ก่อนที่เรื่องดังกล่าวจะถูกส่งต่อมายังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจนนำไปสู่คำพิพากษายึดทรัพย์ แต่เมื่อการยึดทรัพย์ทำโดยคำพิพากษาของศาล ซึ่งมีทั้งโครงสร้างและอำนาจหน้าที่ตามที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายรองรับไว้ หากจะมีการนิรโทษกรรม ก็ต้องทำให้คำพิพากษาดังกล่าวสิ้นผลลง ซึ่งผมเห็นว่าการกระทำเช่นนั้นจะส่งผลกระทบตามมามากมาย รวมทั้งยังอาจเป็นประเด็นต่อเนื่องไปในอนาคตด้วยหากเราออกกฎหมายมายกเลิกเพิกถอนคำพิพากษาของศาล ดังนั้น ในขณะนี้คงต้องเคารพผลของคำพิพากษาที่ออกมาครับ
                       ส่วนเรื่องสุดท้ายคือ เรื่องการนิรโทษกรรมให้แก่ผู้ชุมนุมและก่อความไม่สงบในช่วงเวลา 5 - 6 ปีที่ผ่านมานั้น ที่ดีที่สุดและถูกต้องเหมาะสมที่สุดก็คือ รอให้มีความชัดเจนก่อน ควรรอบทสรุปของการทำงานของ “คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.)” ก่อนว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นและความรุนแรงที่เกิดขึ้นในแต่ละครั้งนั้น ความจริงคืออะไร ใครผิด ใครถูก พูดกันง่าย ๆ ก็คือ ต้องมีข้อยุติ ต้องมีผู้รับผิดชอบ ต้องทราบว่าใครเป็นผู้ทำผิดและต้องทำความจริงให้ปรากฏก่อน มิฉะนั้นเรื่องของ “ชายชุดดำ” “ผู้ก่อการร้าย” หรือ “91 ศพ” ก็จะยังคงเป็นประเด็นที่เราสงสัยกันอยู่ต่อไปไม่รู้จบ เมื่อมีข้อยุติที่ชัดเจนแล้ว หาก คอป. เห็นว่าควรนิรโทษกรรม ก็ค่อยมาออกกฎหมายนิรโทษกรรมกันต่อไป ซึ่งก็ทำได้แม้เวลาจะผ่านไปหลายปีแล้วก็ตาม เคยมีตัวอย่างของการนิรโทษกรรมลักษณะนี้มาแล้วคือ พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ระหว่างวันที่ 4 ถึงวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 พ.ศ. 2521 เป็นกฎหมายที่ออกมาในปี พ.ศ. 2521 เพื่อนิรโทษกรรมให้กับการกระทำที่เกิดขึ้นในระหว่างวันที่ 4 - 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 โดยในคำปรารภของกฎหมายดังกล่าวก็ได้เขียนคำอธิบายเจตจำนงของการนิรโทษกรรมเอาไว้ดีมากคือ ......... โดยที่ได้พิจารณาเห็นว่าการพิจารณาคดีเนื่องในการชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ระหว่างวันที่ 4 ถึงวันที่ 6 ตุลาคม 2519 นั้นได้ล่วงเลยมานานพอสมควรแล้วและมีท่าทีว่ายืดเยื้อต่อไปอีกนาน ถ้าจะดำเนินคดีต่อไปจนเสร็จสิ้นก็จะทำให้จำเลยต้องเสียอนาคตในทางการศึกษาและการประกอบอาชีพยิ่งขึ้น และเมื่อคำนึงถึงว่าการชุมนุมดังกล่าวก็ดี การกระทำอันเป็นความผิดทั้งหลายทั้งปวงก็ดี เกิดขึ้นเนื่องจากความไม่เข้าในสถานการณ์ที่แท้จริงเพราะเหตุแห่งความเยาว์วัยและขาดประสบการณ์ของผู้กระทำความผิด ประกอบกับรัฐบาลนี้มีความประสงค์อย่างแน่วแน่ที่จะให้เกิดความสามัคคีในระหว่างคนในชาติ จึงเป็นการสมควรให้อภัยการกระทำดังกล่าวนั้นเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้กระทำความผิด ทั้งผู้ที่กำลังถูกดำเนินคดีอยู่และผู้ที่หลบหนีไปได้ประพฤติปฏิบัติตนในทางที่ถูกที่ควรและกลับมาร่วมกันทำคุณประโยชน์และช่วยกันจรรโลงประเทศชาติให้เจริญรุ่งเรืองต่อไป ....
                       ล่าสุด บทบรรณาธิการครั้งที่ 288 ที่เผยแพร่ไปเมื่อวันจันทร์ที่ 8 เมษายน 2555 ที่ผ่านมา ผมได้เสนอเรื่องของการปรองดองเอาไว้ว่า การปรองดองควรต้องเริ่มต้นจากการหันหน้าเข้าหากันก่อน ไม่ว่าจะสมัครใจหรือไม่ก็ตาม เมื่อจะใช้การปรองดองเป็นทางออกในการแก้ปัญหา ฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งหมดต้องหันหน้าเข้าหากันเพื่อให้การเจรจาเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะใช้ในการแก้ไขปัญหา การปรองดองทำได้ง่ายถ้าปัญหาที่เป็นข้อขัดแย้งไม่ยุ่งยาก ซับซ้อน ฝังรากลึก เพียง แค่ยกเอาปัญหาขึ้นมาวางไว้ข้างบน เอาคนที่เป็นผู้เกี่ยวข้องมานั่งเจรจาตกลงกันได้ทุกอย่างก็จบ เช่น ปัญหาระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างที่ไม่มีอะไรซับซ้อนมากนักการเจรจามักไม่มีปัญหา สามารถตกลงกันได้ง่าย เช่น การเพิ่มเงินค่าจ้างหรือการลดเวลาทำงาน เมื่อประเด็นพวกนี้เป็นประเด็นที่มีปัญหาน้อย ตัวละครน้อย การเจรจาก็สามารถจบลงได้อย่างง่ายและรวดเร็ว แต่ถ้าหากเป็นปัญหาข้อขัดแย้งที่เกี่ยวข้องกับผู้คนจำนวนมาก กลุ่มคนหลายกลุ่ม หลายความคิด ปัญหาการเมือง ศาสนา เสรีภาพ อนาคตของประเทศ การเดินไปสู่จุดมุ่งหมายที่สนองความต้องการของทุกฝ่ายหรือสอดคล้องกับความต้องการของทุกฝ่ายจึงเป็นไปได้ยากมาก มีอะไรพอที่จะเป็นหลักประกันได้ว่าทุกคน ทุกกลุ่ม ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับข้อขัดแย้งจะใช้เหตุผลเดียวกันในการเจรจาหรือจะยอมรับข้อตกลงต่าง ๆ ในทำนองเดียวกัน การปรองดองจึงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่เป้าหมายสุดท้ายของทุกฝ่ายไม่สอดคล้องกัน
                       การปรองดองจึงควรเริ่มขึ้นได้หากทุกฝ่ายพร้อมที่จะเจรจาและยินยอมพร้อมใจที่จะรับ “ผล” ที่เกิดขึ้นจากการปรองดองที่แต่ละฝ่ายอาจสมประโยชน์บ้างแต่ไม่ครบเต็มร้อยเหมือนกับการชนะสงคราม ส่วนใหญ่เท่าที่ผมเข้าใจนั้น ฝ่ายที่อยากปรองดองมักจะเป็นฝ่ายที่อยู่ในสภาวะ “เสียเปรียบ” มานานและ “ต้องการจบเรื่อง” โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่ฝ่ายขัดแย้งอีกฝ่ายหนึ่งอยู่ในอำนาจมานานจนอีกฝ่ายหนึ่งมองไม่เห็นชัยชนะ จึงต้องหาทางออกอีกทางหนึ่งที่เป็นไปได้เพื่อที่จะไปถึงจุดหมายก็คือ การอยู่ในสังคมได้อย่าง “ผู้ไม่แพ้”  ตราบใดก็ตามที่ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง (ซึ่งมีอยู่หลายฝ่ายเหลือเกิน) ยังไม่พร้อมจะเจรจาเพราะยัง “อาจมั่นใจ” ว่า จะได้ชัยชนะในระยะใกล้ การปรองดองก็คงไม่มีทางเกิดขึ้นได้ครับ
                       ในความคิดเห็นส่วนตัวของผมนั้น การแก้ปัญหาข้อขัดแย้งที่เกิดขึ้นในบ้านเรา ไม่จำเป็นต้องเริ่มต้นจากการปรองดองที่กำลังทำอยู่แต่ก็อาจมีวิธีอื่นที่ทำให้สถานการณ์ดีขึ้นมาได้บ้าง ผมพอมองเห็นว่า กลไกของความขัดแย้งในบ้านเรานั้นอยู่ที่ความพยายามที่จะเอาชนะกันด้วยวิธีการนอกระบบ ในเมื่อเอาชนะเรื่องนโยบายไม่ได้ เอาชนะเลือกตั้งไม่ได้ แม้จะเกิดการรัฐประหาร เกิดการยุบพรรคการเมืองโดยพลังตุลาการภิวัตน์ เกิดการแก้รัฐธรรมนูญเปลี่ยนระบบเลือกตั้งใหม่ก็ยังเอาชนะกันไม่ได้อีก พยายามทำทุกอย่าง หาเรื่องทุกอย่างเพื่อเอาชนะให้ได้ การจ้องทำลายล้าง จับผิดจึงเกิดขึ้นตลอดเวลา ผมมองว่า สิ่งเหล่านี้เป็นปัญหาใหญ่ที่ทำให้ข้อขัดแย้งของคนในสังคมทวีความรุนแรงมาก ขึ้น หากต้องการที่จะแก้ปัญหาจริง ๆ ก็ควรเริ่มจากการ “หยุด” ของฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งก่อน หยุดหาเรื่องเป็นสิ่งแรกที่ต้องทำ ทุกวันนี้ ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดทำอะไรก็จะถูกโยงเข้าไปในเรื่องเดียวกันหมด แก้รัฐธรรมนูญก็คิดว่าจะเป็นเรื่องนิรโทษกรรม แก้มาตรา 112 ก็คิดว่าจะล้มเจ้า แค่เสนอรายงานการวิจัยก็กลายเป็นข่าวว่าจะมีการดำเนินการตามนั้นโดยไม่อ่านรายงานการวิจัยทั้งฉบับอย่างตั้งใจ ไม่ว่าใครจะอธิบายอย่างไรก็ไม่เชื่อไม่ฟังกันเพราะทุกฝ่ายต่าง “มีมุมมอง” ของตนไว้ชัดเจนอยู่แล้วว่า “ไม่เอา” สิ่งที่อีกฝ่ายหนึ่งเสนอมา หากต้องการแก้ปัญหาข้อขัดแย้งสิ่งแรกที่ต้องทำก็คือ หยุดคิดในแง่ลบกับอีกฝ่ายหนึ่งแล้วปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปตามที่ควรเป็น มีปัญหาเกิดขึ้นก็ค่อย ๆ แก้ด้วยเหตุด้วยผลไม่ใช่ด้วยอารมณ์เกลียดหรืออารมณ์ริษยา หากเริ่มต้นทำเช่นนี้ได้ในไม่ช้าประเทศไทยคงมีทางออกที่เหมาะสมได้ครับ ส่วนรัฐบาลก็ควรจะต้องเร่งรัดดำเนินการตามข้อเสนอของ คอป. อย่างรีบด่วน ดำเนินการให้มีการเคารพต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน เคารพต่อสิทธิมนุษยชน หาทางออกให้กับบรรดานักโทษการเมืองและรีบเร่งเยียวยาความเสียหายให้กับผู้ได้รับผลกระทบอย่างถ้วนหน้า
                       การปรองดองไม่มีทางเกิดขึ้นได้หากทุกฝ่ายยังคงตั้งหน้าตั้งตาที่จะห้ำหั่นกันเช่นทุกวันนี้ครับ
                       ท้ายที่สุด ด้วยวิธีปรองดองที่เสนอกันอยู่ในวันนี้ คงต้องคิดเผื่อไว้ด้วยว่า หากมีกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดที่ไม่ยอมปรองดองด้วยหรือปรองดองแค่พอได้สิ่งที่ตนต้องการแล้วก็ “หักหลัง” ฝ่ายอื่น ๆ หากเป็นเช่นนี้เราจะทำอย่างไรกันดี  ตัวอย่างมีมาแล้วที่น้ำผึ้งหยดเดียวก็ทำให้กลายเป็นเรื่องใหญ่ได้ คงยังจำกรณีพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้นะครับ น้ำผึ้งหยดนั้นได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญจุดหนึ่งของเหตุการณ์สำคัญ ๆ หลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยวันนี้ครับ
                       ทั้งหมดก็คือความเห็นของผมที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของการปรองดองและการนิรโทษกรรมในช่วงเวลาเกือบปีที่ผ่านมาครับ
                       มาถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันนี้  เมื่อหัวหน้าคณะรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เสนอร่างกฎหมายว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ผมก็ยังคงต้องยืนยันความเห็นเดิมอีกครั้งหนึ่งเหมือนกับที่เคยเสนอความเห็นไปแล้วเมื่อครั้งที่หัวหน้าคณะรัฐประหารผู้นี้ได้เสนอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติและต่อมา คณะกรรมาธิการวิสามัญชุดดังกล่าวก็ได้นำเอารายงานวิจัยการสร้างความปรองดองแห่งชาติของสถาบันพระปกเกล้าเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรจนกลายเป็นความขัดแย้งในสังคมขึ้นมาในระดับหนึ่งว่า ที่ถูกต้องและควรเป็นก็คือ สมควรรอผลการดำเนินการของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ที่ตั้งขึ้นในสมัยรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ และรับรองให้ดำเนินการต่อไปโดยรัฐบาลชุดปัจจุบันเพราะ คอป. นั้นได้ทำงานมาช่วงระยะเวลาหนึ่งแล้วและมีผลงานออกมามากพอสมควร การรอให้ คอป. เสนอแนวทางในการสร้างความปรองดองน่าจะเป็นการดำเนินการที่ดีที่สุด เหมาะสมที่สุดและเป็นกลางมากที่สุดเพราะอย่างน้อย คอป. ก็ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ กับเหตุการณ์ความวุ่นวายที่เกิดขึ้นในประเทศไทยในช่วงเวลาที่ผ่านมาครับ
                       อย่างไรก็ตาม เข้าใจว่าหัวหน้าคณะรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 คง “รอไม่ได้” จึงได้รีบเสนอร่างกฎหมายว่าด้วยการปรองดองแห่งชาติต่อสภาผู้แทนราษฎร ร่างกฎหมายว่าด้วยความปรองดองแห่งชาตินี้มีที่มาอย่างไรก็ไม่ทราบและก็ไม่ทราบอีกเช่นกันว่าผู้ร่างกฎหมายได้ศึกษาวิเคราะห์ถึงผลดี ผลเสีย ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในประเทศไทยภายหลังจากที่ร่างกฎหมายนี้ใช้บังคับแล้วหรือไม่ แต่ที่แน่ ๆ ก็คือชื่อของร่างกฎหมายที่อ่านดูแล้วเหมือนกับว่าต้องการเขียนกฎหมายเพื่อให้คน “คืนดีกัน” คงไม่ใช่ทางออกที่ถูกต้องแน่เพราะแม้กฎหมายจะบอกให้คนสองฝ่ายคืนดีกัน แต่ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยก็ไม่ได้มีแค่คนสองฝ่ายที่อยู่ในความขัดแย้ง “คนดู” ที่อยู่ภายนอกจำนวนมากได้เลือกข้างไปแล้วและได้ปรับวิธีคิด วิธีมองของตนไปหลายปีแล้ว กฎหมายสั้น ๆ ที่รวบรัดออกมาคงไม่สามารถทำให้ผู้คนทั้งหมดเปลี่ยนวิธีคิดไปได้ในเวลาอันสั้น ไม่เชื่อก็ลองถามบรรดาผู้ที่มาชุมนุมประท้วงคัดค้านนอกสภาดูก็ได้ หรือไม่ก็ลองดูใน internet ว่ามีคนไม่เห็นด้วยกับการออกกฎหมายมาเพื่อเกิดความปรองดองจำนวนมากแค่ไหน
                       นอกจากนี้แล้ว เมื่อพิจารณาถึงสาระของร่างกฎหมายว่าด้วยความปรองดองทั้ง 4 ฉบับที่มีผู้เสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ก็จะพบว่า ร่างกฎหมายเหล่านั้นมีแต่เรื่องของการนิรโทษกรรมเท่านั้น การปรองดองมีอยู่แต่ชื่อของร่างกฎหมายและในบันทึกหลักการและเหตุผลประกอบร่างกฎหมายเท่านั้นครับ
                       คำถามที่ผมเข้าใจว่าคงอยู่ในใจของผู้คนจำนวนมากเหมือน ๆ กันก็คือ ทำไมหัวหน้าคณะรัฐประหารถึงได้มาเสนอร่างกฎหมายนิรโทษกรรมให้กับบุคคลและคณะบุคคลอันเป็นเหตุให้ตนเองต้องทำรัฐประหารเพื่อ “จัดการ” กับคนเหล่านั้นครับ
                       ไม่มีคำตอบและไม่อยากคาดเดา ผมยังจำสิ่งที่เกิดขึ้นมาได้ดีไม่ว่าจะเป็นการชี้แจงสาเหตุของการทำรัฐประหารที่ “พวกคุณ” ออกมานั่งกันเป็นแผงหน้าจอโทรทัศน์ในตอนดึกของวันที่ 19 กันยายน 2549 การยกเลิกรัฐธรรมนูญ “ฉบับประชาชน” การกำหนดให้มีคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวเป็นหนแรกในประวัติศาสตร์ของรัฐธรรมนูญเฉพาะกิจโดยมีวัตถุประสงค์สำคัญคือการยุบพรรคการเมือง การเขียนประกาศ คปค. ให้มีโทษย้อนหลังเพื่อตัดสิทธิทางการเมืองของนักการเมืองจำนวนมาก การลงโทษนักการเมืองโดยศาล ตุลาการภิวัตน์ที่วันนี้ก็ยังไม่ยอมเลิกกันเสียที  รวมไปถึงการดำเนินการต่าง ๆ อีกมากมาย โดยเฉพาะการเขียนมาตรา 309 ไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 เพื่อจัดการกับนักการเมืองต่อไปอย่างไม่รู้จบ หัวหน้าคณะรัฐประหารผู้นี้ได้ทำให้ผู้คนจำนวนมาก “มอง” นักการเมืองบางกลุ่มว่าเป็นคนเลว โกงชาติ ทุจริต ใช้อำนาจในทางมิชอบ ต้องกำจัดคนพวกนี้ออกไปประเทศไทยจึงเจริญ แต่ในวันนี้ คน ๆ เดียวกันนี้เองกลับตั้งพรรคการเมือง มีที่นั่งอยู่ในสภาผู้แทนราษฎรและพยายามทำตัวเป็น “แกนนำ” ของการปรองดอง ล่าสุดก็ออกมาบอกว่าต้องนิรโทษกรรมให้กับคนที่ตัวเองเคยพยายาม “กำจัด”ไปเมื่อ 5 ปีที่แล้ว !!!
                       เป็นไปได้อย่างไรครับ !!!
                       ไม่ทราบว่าหัวหน้าคณะรัฐประหารเกิดความรู้สึกว่าที่ผ่านมาตนได้ “ทำในสิ่งที่ผิด” ไปแล้วใช่หรือไม่ วันนี้จึงขอ “ทำในสิ่งที่ถูก” บ้างซึ่งหากคิดเช่นนั้นก็คงไม่มีใครว่าได้ แต่อย่าลืมนะครับว่านั่นหมายความว่า การทำรัฐประหารเมื่อ 19 กันยายน 2549 ของคุณเป็นสิ่งที่ผิดนะครับ
                       หากการทำรัฐประหารเมื่อ 19 กันยายน 2554 เป็นสิ่งที่ผิด ความเสียหายยับเยินในทุก ๆ ด้านที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยนับแต่มีการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 มาจนถึงปัจจุบันใครจะเป็นผู้รับผิดชอบและชดใช้ครับ  เรื่องนี้ใคร ๆ ก็ตอบได้ ก็ต้องเป็นหัวหน้าคณะรัฐประหารและบรรดาผู้ร่วมทีมไม่ว่าจะเป็น "มือที่มองไม่เห็น" ผู้สนับสนุน ผู้ร่วมมือ ผู้สมรู้ร่วมคิดและทุกคนที่เกี่ยวข้องต้องรับผิดชอบต่อประชาชนและต่อประเทศไทยร่วมกัน
                       ข้อเสนอของหัวหน้าคณะรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ทำให้เราทราบอย่างชัดเจนถึงผลของการรัฐประหารในครั้งนั้นเพราะผู้ทำรัฐประหารเป็นผู้ยืนยันเสียเองว่า การรัฐประหารของตนล้มเหลว  ขอฝากคำถามเอาไว้ด้วยว่า เมื่ิอรัฐประหารแล้วล้มเหลวในลักษณะนี้จะเข้าข่ายเป็น “กบฏ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 หรือไม่ครับ ถ้าเข้าข่ายก็ต้องดูว่า มีช่องทางที่จะดำเนินการตามกฏหมายได้อย่างไรเพราะ "วางเกราะป้องกัน" เอาไว้หลายชั้นเหลือเกิน ถ้าจำเป็นจริงๆก็ควรจะต้องเขียนช่องทางนั้นเอาไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ด้วย คงปล่อยให้ผ่านไปเฉยๆไม่ได้แน่ครับ จะได้เป็นตัวอย่างให้เห็นว่า การทำรัฐประหารเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องและไม่ควรทำเพราะทำแล้วก็ไม่สามารถแก้ปัญหาอะไรได้ ท้ายที่สุด เมื่ิอแก้ปัญหาไม่ได้และตัวเองก็จะถูก "เอาคืน" เพื่อความอยู่รอด หัวหน้าคณะรัฐประหารจึงต้อง "กล้ำกลืน" ทำสิ่งที่ตรงกันข้ามกับที่ตนเองได้ทำไปแล้วอีกด้วย !!!!!
              ไม่ทราบว่าผู้ร่วมทีมของการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 รู้สึกอย่างไรกันบ้างกับการดำเนินการของหัวหน้าทีมครับ!!!!!
             ด้วยเหตุทั้งหลายที่กล่าวไปแล้ว ผมจึงเห็นว่าร่างกฎหมายว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติคงไม่สามารถแก้ไขปัญหาข้อขัดแย้งในประเทศไทยได้ในช่วงเวลานี้ รอข้อเสนอของ คอป. น่าจะเป็นสิ่งที่เหมาะสมที่สุดครับ
        
                       สัปดาห์นี้เรามีบทความมานำเสนอสามบทความ บทความแรกเป็นบทความภาษาฝรั่งเศส ที่เขียนร่วมกันโดย Pierrick Le Jeune และJacques Serba อาจารย์ประจำจากมหาวิทยาลัย Bretagne Occidentale (UBO) แห่งเมือง Brest ประเทศฝรั่งเศส เรื่อง "Servir au mieux la diplomatie française" บทความที่สอง เป็นบทความเรื่อง "“รัฐสภา” ปฏิเสธคำสั่ง “ศาลรัฐธรรมนูญ” ได้หรือไม่ ?" ที่เขียนโดย คุณวีรพัฒน์ ปริยวงศ์ นักกฎหมายอิสระ บทความที่สามเป็นบทความของคุณธีรพัฒน์ อังศุชวาล นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่เขียนเรื่อง "ความเคลื่อนไหวในหน้าที่ขององค์การกลางการบริหารงานบุคคลภาครัฐกิจไทย (Central Personnel Agency) ผมขอขอบคุณเจ้าของบทความทุกบทความไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ
       
                       พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 18 มิถุนายน 2555
       
                       ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์  บรมานันท์


พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=1732
เวลา 19 เมษายน 2567 23:59 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)