|
|
ความเคลื่อนไหวในหน้าที่ขององค์การกลางการบริหารงานบุคคลภาครัฐกิจไทย (Central Personnel Agency) 3 มิถุนายน 2555 21:02 น.
|
ความเคลื่อนไหวในหน้าที่ขององค์การกลางการบริหารงานบุคคลภาครัฐกิจไทย
(Central Personnel Agency)[1]
ภายใต้สภาวะทางสังคมที่หลากหลายด้วยสถาบันอันซับซ้อน ระบบอันซับซ้อน รวมกับวิวัฒนาการของระบบการบริหารงานบุคคลซึ่งส่วนใหญ่มาจากระบบอุปถัมภ์ ส่งผลให้เกิดปัญหาต่างๆอันขาดประสิทธิภาพในการบริหารงานภาครัฐ[2] อาทิ การไม่สามารถปรับตัวเข้ากับองค์กร การแทรกแทรงของฝ่ายการเมือง การไม่มีความมั่นคงในงาน การดำเนินงานโดยไม่ได้ดูตามความเชี่ยวชาญหรือความถนัด ดังนั้นเพื่อแก้ปัญหาระบบอุปถัมภ์ จึงมีการนำแนวคิดระบบคุณธรรมเข้ามาเป็นหลักในการดำเนินการ ซึ่งระบบคุณธรรมนี้มีจุดมุ่งหมายให้บรรดาข้าราชการสามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากที่สุด โดยยึดหลักเกณฑ์ที่สำคัญ 4 ประการ ได้แก่ หลักความเสมอภาค หลักความสามารถ หลักความมั่นคง และหลักความเป็นกลางทางการเมือง[3]
แต่ในทางปฏิบัตินั้น เพียงหลักการของระบบคุณธรรมคงยังไม่เพียงพอต่อการดำเนินของบุคคลากรภาครัฐให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล มีมาตรฐานเดียวกัน จึงมีความจำเป็นในการก่อตั้งองค์กรพิเศษเพื่อเป็นหน่วยงานกลางที่ทำให้การบริหารงานบุคคลในส่วนภาครัฐต่างๆดำเนินตามระบบคุณธรรมได้อย่างเคร่งครัด โดยองค์กรนี้จะเป็นกลไกสำคัญในการกำหนดกฎระเบียบ หลักเกณฑ์ วิธีการและมาตรฐานในการบริหารงานบุคคล ตลอดจนควบคุม ตรวจสอบ แนะนำให้คำปรึกษา[4] รวมถึงเพื่อให้มีฐานะเป็นกลางอย่างแท้จริง จึงควรเป็นหน่วยงานอิสระ มีกฎหมายรับรองอย่างชัดเจน ชื่อว่าองค์การกลางการบริหารงานบุคคลภาครัฐ[5] ทั้งนี้หน่วยงานดังกล่าวในประเทศไทยปัจจุบัน จะพบว่ามีหลากหลายตามลักษณะงานต่างๆ แต่ที่เปรียบเสมือนต้นแบบให้คณะกรรมการอื่นๆคือ คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน หรือเรียกย่อๆว่า ก.พ.[6] ซึ่งนายกรัฐมนตรีเป็นประธานคณะกรรม
ก.พ.นั้น เดิมทำหน้าที่ครอบคลุมทุกด้านที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานบุคคลภาครัฐ ตั้งแต่ การสรรหาคนเข้ามารับราชการจนกระทั่งบุคคลพ้นจากราชการ การกำหนดแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลซึ่งเกี่ยวกับการกำหนดตำแหน่ง ระบบค่าตอบแทน เงินเดือน สวัสดิการ ฯลฯ แต่ปัจจุบันตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551 ได้จำแนกหน้าที่ของก.พ.ในส่วนของอำนาจกึ่งตุลาการออก กลายเป็นอีกหน่วยงานหนึ่งภายใต้พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว มีชื่อว่า คณะกรรมพิทักษ์ระบบคุณธรรม หรือ ก.พ.ค. อีกทั้งยังมีองค์กรกลางการบริหารงานบุคคลในแต่ละอาชีพซึ่งมีพ.ร.บ.รับรองของแต่ละหน่วยงาน ไม่ได้ขึ้นกับก.พ. เช่น คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ(ก.ตร.) คณะกรรมการข้าราชการอัยการ(ก.อ.) เป็นต้น
ซึ่งอำนาจหน้าที่และตัวอย่างการดำเนินงานในหน้าที่ของทั้ง 3 กลุ่มจะกล่าวตังต่อไปนี้
1.คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.)
ตามมาตราที่ 8 ในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551 ได้ระบุให้ ก.พ.มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้[7]
(1)เสนอแนะและให้คำปรึกษาแก่คณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับนโยบายและยุทธศาสตร์การบริหารทรัพยากรบุคคลภาครัฐในด้านมาตรฐานค่าตอบแทน การบริหารและการพัฒนาทรัพยากรบุคคล รวมตลอดทั้งการวางแผนกำลังคนและด้านอื่น ๆ เพื่อให้ส่วนราชการใช้เป็นแนวทางในการดำเนินการ
(2)รายงานคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาปรับปรุงเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง เงินเพิ่มค่าครองชีพ สวัสดิการ หรือประโยชน์เกื้อกูลอื่นสำหรับข้าราชการฝ่ายพลเรือน ให้เหมาะสม
(3)กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และมาตรฐานการบริหารและพัฒนาทรัพยากรบุคคลของข้าราชการพลเรือน เพื่อส่วนราชการใช้เป็นแนวทางในการดำเนินการ
(4)ให้ความเห็นชอบกรอบอัตรากำลังของส่วนราชการ
(5)ออกกฎ ก.พ.และระเบียบเกี่ยวกับการบริหารทรัพยากรบุคคลเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ รวมตลอดทั้งการให้คำแนะนำหรือวางแนวทางในการปฏิบัติการ ตามพระราชบัญญัตินี้ กฎ ก.พ. เมื่อได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีและประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้
(6)ตีความและวินิจฉัยปัญหาที่เกิดขึ้นเนื่องจากการใช้บังคับพระราชบัญญัตินี้ รวมตลอดทั้งกำหนดแนวทางปฏิบัติในกรณีที่เป็นปัญหา มติของ ก.พ. ตามข้อนี้ เมื่อได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้ว ให้ใช้บังคับได้ตามกฎหมาย
(7)กำกับ ดูแล ติดตาม ตรวจสอบและประเมินผลการบริหารทรัพยากรบุคคลของข้าราชการพลเรือนในกระทรวงและกรม เพื่อรักษาความเป็นธรรมและมาตรฐานด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล รวมทั้งตรวจสอบและติดตามการปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ ในการนี้ให้มีอำนาจเรียกเอกสารและหลักฐานจากส่วนราชการ หรือให้ผู้แทนส่วนราชการ ข้าราชการ หรือบุคคลใด ๆ มาชี้แจงข้อเท็จจริง และให้มีอำนาจออกระเบียบให้กระทรวง และกรมรายงานเกี่ยวกับการบริหารทรัพยากรบุคคลของข้าราชการพลเรือนที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ไปยัง ก.พ.
(8)กำหนดนโยบายและออกระเบียบเกี่ยวกับทุนเล่าเรียนหลวงและทุนของรัฐบาลให้สอดคล้องกับนโยบายการบริหารทรัพยากรบุคคลของข้าราชการฝ่ายพลเรือน ตลอดจนจัดสรรผู้รับทุนที่สำเร็จการศึกษาแล้วเข้ารับราชการในกระทรวงและกรมหรือหน่วยงานของรัฐ
(9)ออกข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการจัดการการศึกษาและควบคุมดูแล และการให้ความช่วยเหลือบุคลากรภาครัฐ นักเรียนทุนเล่าเรียนหลวง นักเรียนทุนของรัฐบาล และนักเรียนทุนส่วนตัวที่อยู่ในความดูแลของ ก.พ. ตลอดจนการเก็บเงินชดเชยค่าใช้จ่าย ในการดูแลจัดการการศึกษา ทั้งนี้ ให้ถือว่าเงินชดเชยค่าใช้จ่ายในการดูแลจัดการการศึกษา เป็นเงินรายรับของส่วนราชการที่เป็นสถานอำนวยบริการอันเป็นสาธารณประโยชน์ ตามความหมายในกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ
(10)กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเพื่อรับรองคุณวุฒิของผู้ได้รับปริญญา ประกาศนียบัตรวิชาชีพหรือคุณวุฒิอย่างอื่น เพื่อประโยชน์ในการบรรจุและแต่งตั้งเป็นข้าราชการพลเรือน และการกำหนดอัตราเงินเดือนหรือค่าตอบแทน รวมทั้งระดับตำแหน่งและประเภทตำแหน่งสำหรับคุณวุฒิดังกล่าว
(11)กำหนดอัตราค่าธรรมเนียมในการปฏิบัติการเกี่ยวกับการบริหารทรัพยากรบุคคลตามพระราชบัญญัตินี้
(12)พิจารณาจัดระบบทะเบียนประวัติและแก้ไขทะเบียนประวัติเกี่ยวกับ
วัน เดือน ปีเกิด และการควบคุมเกษียณอายุของข้าราชการพลเรือน
(13)ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้และกฎหมายอื่น การออกกฎ ก.พ. ตาม (5) ในกรณีที่เห็นสมควรให้สำนักงาน ก.พ. หารือกระทรวงที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการพิจารณาของ ก.พ. ด้วย
อีกทั้งก.พ.ยังมีข้าราชการเป็นเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานในหน้าที่ของก.พ.และก.พ.ค. หรือดำเนินงานตามที่ ก.พ.และก.พ.ค.มอบหมาย เรียกว่า สำนักงานข้าราชการพลเรือน หรือ สำนักงาน ก.พ.
เพื่อให้ง่ายต่อการอธิบายการดำเนินงานของก.พ. ผู้ศึกษาขอสรุปหน้าที่และจำแนกหน้าที่ของก.พ.ออกเป็น 5 ประเภท คือ 1)เป็นที่ปรึกษา ให้คำแนะนำต่างๆด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลภาครัฐรวมถึงการจัดทำรายงานเพื่อให้ความเห็นชอบในด้านต่างๆเกี่ยวกับการบริหารทรัพยากรบุคคลภาครัฐต่อหน่วยงานต่างๆและสาธารณะ 2)เป็นฝ่ายนิติบัญญัติของการบริหารทรัพยากรบุคคลภาครัฐ ทำหน้าที่กำหนดหลักเกณฑ์ กฎระเบียบ มาตรฐานการดำเนินงานเกี่ยวกับการบริหารทรัพยากรบุคคลภาครัฐ รวมทั้งการให้คำแนะนำหรือวางแผนในการปฏิบัติต่อคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับนโยบายและยุทธศาสตร์การบริหารทรัพยากรบุคคลภาครัฐและองค์กรที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนการตีความและวินิจฉัยปัญหาอันเกิดจากการบังคับใช้พ.ร.บ.นี้ 3)เป็นฝ่ายประเมินผล ทำหน้าที่กำกับ ติดตาม ตรวจสอบและประเมินผลการบริหารทรัพยากรบุคคลของข้าราชการพลเรือนรวมทั้งตรวจสอบและติดตามการปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ ตลอดจนให้รางวัลข้าราชการดีเด่นด้านต่างๆ 4)เป็นฝ่ายบุคคล ทำหน้าที่จัดระบบทะเบียนประวัติข้าราชการพลเรือน การควบคุมอัตรากำลังคนรวมถึงการกำหนดอัตราเงินเดือนหรือค่าตอบแทน ระดับตำแหน่งและประเภทตำแหน่ง ตลอดจนการดูแลเรื่องการออกจากราชการ อีกทั้งการจัดพัฒนาบุคคลในรูปแบบต่างๆ และ5)เป็นกองทุนสนับสนุนการศึกษาและจัดหาทุนให้กับนักเรียนทุนต่างๆ และจัดสรรผู้รับทุนที่สำเร็จการศึกษาเข้ารับราชการ รวมถึงสนับสนุนกิจกรรมสร้างสรรค์ต่างๆ
ดังนั้น ตัวอย่างการดำเนินงานในหน้าที่หลักของ ก.พ. ปรากฎดังต่อไปนี้
ประเภท
รายการดำเนินงาน
ที่มา(หนังสือพิมพ์)
1)ที่ปรึกษา
การจัดเสวนาเพื่อรับฟังความคิดเห็นเรื่อง การรวมกลุ่มข้าราชการพลเรือนสามัญ เพื่อจะได้นำไปปรับปรุงร่างพ.ร.ฎ.กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการรวมกลุ่มข้าราชการพลเรือนสามัญ พ.ศ. …. ให้มีความเหมาะสมและเป็นที่ยอมรับ ซึ่งในพ.ร.บ.2551 มาตรา 43 ได้กำหนดไว้ว่าข้าราชการพลเรือนสามัญมีเสรีภาพในการรวมกลุ่มตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่ต้องไม่กระทบประสิทธิภาพในการบริหารราชการแผ่นดินและความต่อเนื่องในการจัดทำบริการสาธารณะและต้องไม่มีวัตถุประสงค์ทางการเมือง
ข้าราชการ ข้าของแผ่นดิน,มติชน, 27 ต.ค. 2552, น.10.
การสำรวจสภาวะการครองชีพของข้าราชการพลเรือนสามัญจากทุกจังหวัดทั่วประเทศ ประจำปี 2551 เพื่อนำข้อมูลไปใช้เป็นแนวทางประกอบการพิจารณากำหนดนโยบายของรัฐเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลภาครัฐต่างๆให้เหมาะสมกับปัจจุบัน โดยกลุ่มตัวอย่างรวม 12,945 คน ยกตัวอย่างผลสำรวจ เช่น พบว่าครอบครัวข้าราชการพลเรือนสามัญร้อยละ 84 มีหนี้สินรวมทั้งสิ้น 219,737 ล้านบาทโดบสัดส่วนของการมีหนี้สูงสุดอยู่ที่ข้าราชการระดับ 3-5 คิดเป็นร้อยละ 83.8 รองลงมาเป็นข้าราชระดับ 6-8 หนี้ส่วนใหญ่เป็นหนี้สินที่อยู่อาศัยร้อยละ 56.3 เป็นต้น ที่สำคัญข้าราชการร้อยละ 91.5 ต้องการให้รัฐเพิ่มเงินเดือน
มุมข้าราชการ,ไทยรัฐ, 4 พ.ย. 2552,น.12.
การจัดสัมมนาเรื่องมาตรฐานการกำหนดค่าใช้จ่ายและสิทธิประโยชน์ในการรักษาพยาบาลของข้าราชการ เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและกำหนดแนวทางที่เป็นข้อเสนอร่วมกัน ในการที่จะเสนอแนะเชิงนโยบายต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
มุมข้าราชการ,ไทยรัฐ,28 พ.ย. 2552,น.15.
มีการศึกษาข้อมูลในปีงบประมาณ 2552 พบว่าข้าราชการพลเรือนสามัญมีแนวโน้มอายุเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็น 42.5 ปี โยมีหลายส่วนราชการที่ข้าราชการมีอายุเฉลี่ยเกิน 46 ปี เช่น กระทรวงศึกษาธิการ เป็นต้น ขณะเดียวกันมีส่วนราชการจำนวนมากที่มีข้าราชการอายุเกิน 50 ปีในสัดส่วนที่สูงเกินกว่าร้อยละ 40 ของข้าราชการในหน่วยงาน อาทิ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นต้น อีกทั้งในอีก 10 ปีข้างหน้า เกือบครึ่งหนึ่งของราชการจะมีอัตราการเกษียณอายุเกินกว่าร้อยละ 30 โดยบางสายงานมีอัตราการเกษียณเกินกว่าร้อยละ 35 ขึ้นไป เช่น นักวิชาการกงศุล ทั้งนี้ทำการศึกษาเพื่อรองรับโครงสร้างอายุราชการโดยเน้นการใช้กำลังคนสูงอายุให้เกิดประโยชน์สูงสุดและสร้างสมดุลของกำลังคนในแต่ละช่วงอายุในส่วนราชการ
ข้าราษฎร,มติชน, 21 ม.ค. 2553, น.22.
ข้อมูลจากการศึกษาเกี่ยวกับการวิเคราะห์เชิงลึกถึงแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอายุข้าราชการพลเรือนสามัญว่าอยู่ในภาวะวิกฤต ซึ่งเป็นการพิจารณาทั้งอายุเฉลี่ย สัดส่วนข้าราชการในแต่ละช่วงอายุ แนวโน้มการเกษียณในอีก 10 ปีข้างหน้า พบว่ามีส่วนราชการที่มีแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอายุอยู่ในภาวะวิกฤตถึง 14 แห่ง อาทิ กรมการค้าภายใน กรมกรกงศุล สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ เป็นต้น
มุมข้าราชการ,ไทยรัฐ, 9 มิ.ย. 2553,น.12.
การจัดประชุมสัมมนาเรื่อง ทิศทางและรูปแบบการจัดการสังคมผู้สูงอายุของท้องถิ่นไทยในอนาคต เพื่อสร้างรูปแบบที่พึงประสงค์ในการจัดบริการสาธารณะและสวัสดิการแก่ผู้สูงอายุ โดยเป็นการสร้างรูปแบบการบริหารจัดการที่ดีของสถานสงเคราะห์คนชราที่ถ่ายโอนให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งนี้ทำการถ่ายโอนทั้งสิ้น 15 แห่ง
ข้าราษฎร,มติชน, 25 มิ.ย. 2553, น.22.
2)นิติบัญญัติ
การกำหนดให้ส่วนราชการเริ่มใช้หลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผลการปฏิบัติราชการของข้าราชการพลเรือน ซึ่งเป็นหลักใหม่ ออกตามความในมาตราที่ 76 แห่งพ.ร.บ.2551 ในปีงบประมาณ 2553 เป็นต้นไป โดยคำนึงผลสัมฤทธิ์ของงานและสมมถนะเป็นหลัก เพื่อให้ผู้บังคับบัญชาสามารถกำกับติดตามการปฏิบัติงานของผู้ใต้บังคับบัญชาให้บรรลุเป้าหมายตามวิสัยทัศน์ พันธกิจและวัตถุประสงค์อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งนำผลดังกล่าวไปใช้ประกอบการพิจารณาแต่งตั้ง เลื่อนเงินเดือนและการบริหารทรัพยากรบุคคลในเรื่องต่างๆ
ข้าราษฎร,มติชน, 25 ก.ย. 2552, น.22.
การประกาศใช้กฎ ก.พ.ว่าด้วยการเลื่อนเงินเดือน พ.ศ.2552 ซึ่งสาระสำคัญคือการเลื่อนขึ้นเงินเดือนข้าราชการพลเรือนสามัญให้ทำปีละ 2 ครั้ง แต่ละครั้งห้ามเกินร้อยละ 6 ของฐานในการคำนวณเพื่อเลื่อนเงินเดือน และห้ามใช้วิธีการหารเฉลี่ยเพื่อให้ข้าราชการทุกคนได้รับเงินเดือนในอัตราที่เท่ากัน ทั้งนี้มีหลักเกณฑ์ 9 ข้อ อาทิ ในครึ่งปีต้องมีผลการประเมินไม่ต่ำกว่าระดับพอใช้หรือร้อยละ 60 ในครึ่งปีที่แล้วต้องไม่ถูกสั่งพักราชการเกิน 2 เดือน เป็นต้น
ข้าราษฎร,มติชน, 21 ต.ค. 2552, น.22.
การประกาศใช้ประมวลจริยธรรมข้าราชการพลเรือน ตามมาตรา 279 แห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มีทั้งหมด 24 ข้อ ซึ่งมีทั้งข้อกำหนดด้านจริยธรรม องค์กรคุ้มครองด้านจริยธรรมและการบังคับใช้ โดยมีสาระสำคัญ เช่น ข้าราชการพลเรือนต้องปฏิบัติตามประมวลนี้อย่างตรงไปตรงมาและไม่กระทำการเลี่ยงประมวลนี้ หากมีกรณีที่มีข้อสงสัยหรือมีผู้ทักท้วงว่าการกระทำใดอาจขัดประมวลนี้ ต้องไม่กระทำการดังกล่าวหรือหากกำลังจะกระทำ ต้องหยุดกระทำและส่งเรื่องให้คณะกรรมการจริยธรรมวินิจฉัย เมื่อรู้หรือพบเห็นการฝ่าฝืนประมวลนี้ ต้องรายงานการฝ่าฝืนต่อหัวหน้าส่วนราชการหรือคณะกรรมการจริยธรรมพร้อมหลักฐาน(ถ้ามี)โดยทันที เป็นต้น
ข้าราษฎร,มติชน, 11 พ.ย. 2552, น.22.
การเห็นชอบและให้ส่วนราชการถือปฏิบัติในหลักเกณฑ์และวิธีการในการบรรจุผู้เคยเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ 4 ประเภท ได้แก่ ประเภทบริหาร ประเภทอำนวยการ ประเภทวิชาการ และประเภททั่วไป เพื่อให้เป็นไปตามมาตราที่ 63 วรรคสี่ แห่งพ.ร.บ.2551 ใน 3 กรณี คือ กรณีการบรรจุผู้ไปรับราชการทหาร กรณีการบรรจุผู้ไปปฏิบัติงานตามมติคณะรัฐมนตรี และกรณีการบรรจุผู้ออกจากราชการไปที่มิใช่การออกจากราชการระหว่างทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการ ทั้งนี้ให้บรรจุเข้าในตำแหน่งเดิม
ข้าราษฎร,มติชน,
22 ธ.ค. 2552, น.22.
มีการกำหนดมาตการการบริหารกำลังคนเพื่อรองรับโครงสร้างอายุข้าราชการพลเรือนสามัญ เพื่อแก้ไขปัญหาข้าราชการพลเรือนเข้าสู่วันสูงอายุ ตามมติการประชุมก.พ.ครั้งที่ 1 ประจำปี 2553 โดยจำแนกเป็น 3 มาตรการ ดังนี้ มาตรการบริหารกำลังคนเพื่อรองรับข้าราชการสูงอายุที่เพิ่มมากขึ้น มาตรการเตรียมการรองรับ และมาตรการสร้างความสมดุลของกำลังคน ทั้งนี้ให้มีการนำมาตรการดังกล่าวไปปฏิบัติอย่างจริงจัง
ข้าราษฎร,มติชน,
22 ม.ค. 2553, น.22.
การประกาศใช้ระเบียบว่าด้วยการรายงานเกี่ยวกับการบริหารทรัพยากรบุคคลของข้าราชการพลเรือนเพื่อประโยชน์ในการปรับปรุงประสิทธิภาพและประสิทธิผลการบริหารงานบุคคล พ.ศ.2553 ซึ่งได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการรายงานเกี่ยวกับการบริหารทรัพยากรบุคคลของข้าราชการพลเรือนในหน่วยงานต่างๆต่อสำนักงานก.พ. ซึ่งจะต้องทำการวิเคราะห์เพื่อประโยชน์ในการปรับปรุงและพัฒนาการบริหารทรัพยากรบุคคลให้มีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลอย่างยั่งยืน
ข้าราษฎร,มติชน,
9 ก.พ. 2553, น.22.
การเห็นชอบและดำเนินการแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารและประเภทอำนวยการ โดยมีสาระสำคัญ อาทิ ส่งเสริมให้ส่วนราชการมีการวางแผนทรัพยากรบุคคลโดยเฉพาะแผนทดแทนกำลังคนในตำแหน่งที่มีความสำคัญ การติดตามและประเมินผลการแต่งต้นข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารและประเภทอำนวยการอย่างเป็นระบบตลอดจนให้คำปรึกษาแก่ส่วนราชการในการดำเนินการได้อย่างทันทีโดยสำนักงานก.พ.
ข้าราษฎร,มติชน,
18 ก.พ. 2553, น.22.
มีมติที่เห็นชอบตามอ.ก.พ.วิสามัญเกี่ยวกับการพัฒนาระบบบริหารทรัพยากรบุคคล โดยกำหนดให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจในการพิจารณาให้หัวหน้าสำนักงานจังหวัดและหัวหน้าส่วนราชการประจำจังหวัดซึ่งมีผลการปฏิบัติงานในระดับดีเด่นในแต่ละจังหวัด ได้รับการเลื่อนเงินเดือนในโควตาพิเศษตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ก.พ.กำหนด
มุมข้าราชการ,ไทยรัฐ, 4 มี.ค. 2553,น.15.
การเห็นชอบและให้ส่วนราชการดำเนินการยุทธศาสตร์การพัฒนาคุณภาพชีวิตของข้าราชการพลเรือนสามัญ พ.ศ.2553-2555 โดยประกอบด้วยยุทธศาสตร์การพัฒนาคุณภาพ 4 ด้านด้วยกัน ได้แก่ ด้านการทำงาน ด้านส่วนตัว ด้านสังคม และด้านเศรษฐกิจ
ข้าราษฎร,มติชน,
17 มี.ค. 2553, น.22
การประกาศใช้กฎว่าด้วยการสั่งให้ข้าราชการพลเรือนสามัญออกจากราชการกรณีทางราชการเลิกหรือยุบหน่วยงานหรือตำแหน่ง พ.ศ.2553 มีสาระสำคัญ อาทิ เมื่อมีการยุบหน่วยงานหรือตำแหน่ง ให้ผู้บังคับบัญชาแจ้งให้ข้าราชการผู้นั้นทราบและให้แสดงความประสงค์ว่าจพรับราชการต่อหรือไม่ กรณีที่ไม่รับข้าราชการผู้นั้นจะได้รับบำเหน็จบำนาญตามกฎหมายและให้ค่าชดเชยตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขของกระทรวงการคลังตามาตรา 110(4) กรณีที่ประสงค์จะรับราชการต่อ ให้แสดงความจำนงด้วยว่าจะขอย้ายหรือโอนไปรับราชการในตำแหน่งใดหรือที่หน่วยใด เป็นต้น
ข้าราษฎร,มติชน,
6 เม.ย. 2553, น.22.
มีมติเห็นชอบข้อเสนอการปรับปรุงระบบการบริหารทรัพยากรบุคคลในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จากการประชุมก.พ.ครั้งที่ 4 ประจำปี 2553 ภายใต้กรอบแนวคิดหลัก 2 สร้าง 2 พัฒนา คือ สร้างความคล่องตัวในการบริหารงานบุคคล สร้างแรงจูงใจในการปฏิบัติราชการ พัฒนาประสิทธิภาพในการปฏิบัติราชการ และพัฒนาคุณภาพชีวิตข้าราชการ
มุมข้าราชการ,ไทยรัฐ,7 พ.ค. 2553,น.15.
มีมติเห็นควรผลักดันและส่งเสริมให้ส่วนราชการนำเครื่องมือวัดความโปร่งใสและตรวจสอบได้ของส่วนราชการไปใช้อย่างจริงจัง จากการประชุมก.พ.ครั้งที่ 5 ประจำปี 2553 ซึ่งเครื่องมือนี้ประกอบด้วยมาตรฐานความโปร่งใส 4 มิติ คือมิติด้านนโยบาย/ผู้บริหารและความพยายาม/ริเริ่มของหน่วยงานในการสร้างความโปร่งใส มิติด้านความเปิดเผย การมีระบบตรวจสอบภายในองค์กรและการมีส่วนร่วม มิติด้านการใช้ดุลยพินิจ และสุดท้ายมิติด้านการมีระบบ/กลไกจัดการรับเรื่องร้องเรียน
มุมข้าราชการ,ไทยรัฐ,25 พ.ค. 2553,น.15.
การจัดระบบการบริหารกำลังคนคุณภาพที่เรียกว่า ระบบข้าราชการผู้มีผลสัมฤทธิ์สูง (HiPPS) ซึ่งปัจจุบันมีส่วนราชการกว่า 80 แห่งนำระบบนี้ไปใช้เป็นส่วนหนึ่งของการเตรียมกำลังคนภาครัฐอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบัน มีข้าราชการในระบบนี้รวม 5 รุ่น จำนวนกว่า 300 คน ทั้งนี้HiPPS 1.0 จะกลายเป็น HiPPS 2.0 ซึ่งเป็นการสื่อสารหลายทิศทางจากที่ระบบเก่าเป็นการสื่อสารทางเดียว โดยกระตุ้นให้ข้าราชการในระบบได้สัมผัสความสุขกับการสร้างคุณค่าและการสร้างความเปลี่ยนแปลงด้านบวกให้กับส่วนราชการและสังคม อันเป็นส่วนหนึ่งของข้าราชการอันพึงประสงค์ในสังคมไทย
หมายเหตุก.พ.,มติชน, 17 มิ.ย. 2553, น.11.
มีการเห็นชอบและให้ส่วนราชการดำเนินการเรื่องการรับโอนและบรรจุกลับพนักงานส่นท้องถิ่นและข้าราชการที่ไม่ใช่ข้าราชการพลเรือนสามัญ ตามพ.ร.บ.2551 ซึ่งสาระสำคัญ อาทิ ให้ส่วนราชการพิจารณาความจำเป็นและประโยชน์ที่ราชการจะได้รับเปรียบเทียบกับการแต่งตั้งข้าราชการภายในหน่วยงานเอง ตำแหน่งที่รับโอนและบรรจุกลับต้องเป็นตำแหน่งที่ว่างและมิใช่เป็นตำแหน่งที่สงวนไว้ เป็นต้น
ข้าราษฎร,มติชน, 22 มิ.ย. 2553, น.22.
3)ประเมินผล
การตีความการดำเนินการแต่งตั้งข้าราชการประเภทอำนวยการระดับสูง กรมการปกครองว่าเป็นคำสั่งที่มิชอบด้วยกฎหมายและถือว่าการแต่งตั้งดังกล่าวไม่เป็นไปตามรูปแบบขั้นตอนอันเป็นสาระสำคัญตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ก.พ.กำหนด ส่งผลให้คำสั่งแต่งตั้งไม่เป็นผล
ข้าราษฎร,มติชน, 1 เม.ย. 2553, น.22.
การมอบเกียรติบัตรและเข็มเชิดชูเกียรติแก่ข้าราชการดีเด่นจากทั่วประเทศ เพื่อเป็นการยกย่องข้าราชการพลเรือนที่มีความสามารถครองตน ครองคน ครองงานได้อย่างดีเยี่ยม รวมถึงมีผลงานโดดเด่นและประพฤติปฏิบัติตนตามแนวพระราชดำริอย่างดีเยี่ยม จำนวน 605 คน ประจำปี 2552 อาทิ นายอรรณพ อยู่ประยงค์ กรมประชาสัมพันธ์ นายวิรัช ฐานะเศรษฐ์ กรมศุลกากร เป็นต้น รวมถึงมีการเสวนาในหัวข้อ บทบาทข้าราชการ เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และประชาชน ทีมีสามมุมมองจากสามฝ่ายคือ ข้าราชการ ประชาชน และสื่อมวลชน
หมายเหตุก.พ.,มติชน, 8 เม.ย. 2553, น.11.
4)บุคคล
การเกษียณอายุราชการพลเรือนในปีงบประมาณ 2552 จำนวน 521 คน ยกตัวอย่าง นายปรีชา วัชราภัย เลขาธิการก.พ. นายวิชัย ศรีขวัญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ อธิบดีกรมศุลกากร เป็นต้น
มุมข้าราชการ,ไทยรัฐ,25 ก.ย. 2552,น.15.
การแต่งตั้งโยกย้ายผู้ว่าราชการจังหวัด อาทิ นายวีระ ศรีวัฒนตระกูล รองผวจ.เพชรบุรีเป็นผวจ.ประจวบคีรีขันธ์ นายธีระ มินทราศักดิ์ ผวจ.ยะลาเป็นผวจ.นครศรีธรรมราช เป็นต้น
มุมข้าราชการ,ไทยรัฐ,26 ก.ย. 2552,น.12.
การโยกย้ายจากตำแหน่งอื่นๆมาเป็นรองผู้ว่าราชการจังหวัด อาทิ นายวีระวัฒน์ จันทร์เพ็ญ ปลัดจังหวัดกระบี่ขึ้นเป็นรองผวจ.กระบี่ นายสมศักดิ์ จังตระกูล ผู้ตรวจราชการกรมการปกครองเป็นรองผวจ.สุราษฎ์ธานี เป็นต้น
มุมข้าราชการ,ไทยรัฐ,21 ต.ค. 2552,น.15.
การโยกย้ายปลัดจังหวัด ผู้อำนวยการสำนัก และผู้ตรวจราชการกรมการปกครอง อาทิ นายเฉลิมพล พลวัน ปลัดจังหวัดสุราษฎ์ธานีเป็นปลัดจังหวัดอุทัยธานี นายสุจินต์ ไชยชุมศักดิ์ ผู้ตรวจราชการกรมการปกครองเป็นปลัดจังหวัดอำนาจเจริญ นายอวยชัย อินทร์นาค ผู้ตรวจราชการกรมการปกครองเป็นผู้อำนวยการสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง เป็นต้น โดยทั้งหมดต้องไปรับตำแหน่งใหม่ตั้งแต่ 9 พ.ย.2552 เป็นต้นไป
มุมข้าราชการ,ไทยรัฐ,2 พ.ย. 2552,น.15.
การย้ายหัวหน้าสำนักงานจังหวัด อาทิ นายสมชาย ปัญญเจริญ ผู้อำนวยการสถาบันดำรงราชานุภาพเป็นหัวหน้าสำนักงานจังหวัดพัทลุง นายสมฤกษ์ บัวใหญ่ หัวหน้ากลุ่มงานยุทธศาสตร์ฯ สำนักงานจังหวัดสมุทรปราการเป็นหัวหน้าสำนักงานจังหวัดหนองคาย เป็นต้น และให้ไปรายงานตัวในวันที่ 16 พ.ย.2552
มุมข้าราชการ,ไทยรัฐ,13 พ.ย. 2552,น.15.
การเปลี่ยนตำแหน่งของรองผวจ.บางคนใหม่จากการโยกย้ายเดิมในช่วงตุลาคม เช่น นายพิเชษฐ ไพบูลย์ศิริ เดิมเป็นรองผวจ.ปทุมธานี คำสั่งแรกให้ไปเป็นรองผวจ.ตาก ตอนนี้มีคำสั่งใหม่ให้ย้อนกลับมาเป็นรองผวจ.นครนายก แล้วให้นายสุรชัย อังเกิดโชค รองผวจ.นครนายก ที่ไม่มีคำสั่งย้ายในรอบแรกไปเป็นรองผวจ.ลำพูน เป็นต้น
มุมข้าราชการ,ไทยรัฐ,16 พ.ย. 2552,น.15.
การจัดประชุมประจำปี 2552 ภายใต้แนวคิดข้าราชการ ข้าของแผ่นดิน ต้องเป็นคนดี คนเก่ง โดยน้อมนำกระแสพระราชดำรัสมาเป็นแนวทางการดำเนินงาน
หมายเหตุก.พ.,มติชน, 19 พ.ย. 2552, น.11.
การประชุมอาเซียนว่าด้วยกิจการพลเรือน หรือACCSM ครั้งที่ 15 ณ นครเวียงจันทร์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ในหัวข้อ Public Sector Capacity Development : Toward Improved Service Delivery ซึ่งมีการจัดขึ้นทุกๆ 2 ปี ภายในงานมีการนำเสนอผลงานด้านต่างๆ เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างประเทศในการนำมาพัฒนาระบบราชการและการบริหารทรัพยากรบุคคลในภาครัฐให้ดียิ่งขึ้น รวมถึงกระชับความสัมพันธ์ระหว่าข้าราชการพลเรือยในอาเซียน
หมายเหตุก.พ.,มติชน, 26 พ.ย. 2552, น.11.
การฝึกอบรมข้าราชการบรรจุใหม่ เพื่อเตรียมพร้อมให้ข้าราชการแรกบรรจุมีความรู้ ความสามารถ มีวรรถนะในภารกิจของรัฐ มีจรรยาที่เหมาะสมในการปฏิบัติหน้าที่และปลูกฝังค่านิยม ปรัชญาในการทำงานราชการเพื่อพร้อมสำหรับเป็นข้าราชการที่ดี และมีการปรับปรุงชุดการเรียนรู้ด้วยตนเองให้สอดคล้องกับพ.ร.บ.2551 โดยแบ่งเนื้อหาเป็น 4 หมวด 13 ชุดวิชา คือ หมวดปรัชญาการเป็นข้าราชการทีดี หมวดระบบราชการและการบริหารภาครัฐแนวใหม่ หมวดความรู้พื้นฐานสำหรับข้าราชการ และหมวดเสริมสร้างสมรรถนะหลักและทักษะที่จำเป็น
ข้าราษฎร,มติชน, 8 ม.ค. 2553, น.22.
การจัดหลัดสูตรอบรมออนไลน์ (HRD e-learning) ปีงบประมาณ 2553 เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาข้าราชการเพื่อเพิ่มศักยภาพการปฏิบัติงานภายใต้ระบบการจัดการภาครัฐแนวใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยอบรม 7 ด้าน 67 วิชา ครอบคลุมด้านการบริหาร การเขียนหนังสือราชการ กรพัฒนากระบวนทัศน์และคุณลักษณะข้าราชการ ฯลฯ ทั่งนี้วิชาที่คนส่วนมากชอบศึกษา คือ วิชาภาวะผู้นำ
หมายเหตุก.พ.,มติชน, 21 ม.ค. 2553, น.11.
การจัดหลักสูตรนักบริหารระดับสูง : ผู้นำที่มีวิสัยทัศน์และคุณธรรม ซึ่งเป็นหลักสูตรสำหรับข้าราชการที่จะขึ้นสู่ตำแหน่งในแท่งบริหาร ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ที่เข้าหลักสูตรจะอยู่ในแท่งอำนายการและแท่งบริหาร โดยผู้เข้าร่วมหลักสูตรในรุ่น 67 (นบส.67) อาทิ นางปราถนา สุทิน ผอ.สำนักพิธีการและเลขานุการ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ รองผวจ.นครนายก เป็นต้น ส่วนรุ่นที่ 68 (นบส.68) อาทิ นางสาวปราณี ศรีประเสริฐ ผอ.สำนักบริหารกลาง สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี นายมเหศวร ภักดีคง โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดยะลา เป็นต้น
มุมข้าราชการ,ไทยรัฐ,22 ม.ค.และ 3 ก.พ. 2553,น.15.
การจัดโครงการพัฒนานักบริหารระดับสูง : ผู้บริหารส่วนราชการ หรือ นบส.2 มีผู้เข้าร่วมทีจำนวนทั้งสิ้น 45 คน โดยทุกคนเป็นรองอธิบดีหรือรองหัวหน้าส่วนราชการ อาทิ นางสาวทัศนีย์ ดุสิตสุทธิรัตน์ นองเลขาธิการก.พ.ร. นายมณเฑียร ตั้งนภากร รองอธิบดีกรมที่ดิน เป็นต้น ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อเตรียมพร้อมการเป็นนักบริหารระดับสูงในอนาคต
มุมข้าราชการ,ไทยรัฐ,15 ก.พ. 2553,น.15.
จัดการประชุมเตรียมความพร้อมของส่วนราชการในการขึ้นเงินเดือนข้าราชการพลเรือนสามัญโดยจัดเป็น 3 รุ่น รวม 3,000 คน ซึ่งชี้แจงเรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการเลื่อนเงินเดือนข้าราชการ ทั้งนี้การเลื่อนเงินเดือนในระบบใหม่ จะเริ่มใช้ครั้งแรกในวันที่ 1 เมษายน 2553
ข้าราษฎร,มติชน, 17 ก.พ. 2553, น.22.
การแต่งตั้งนายอำเภอใหม่จากนักเรียนนายอำเภอที่ผ่านการอบรมหลักสูตรนายอำเภอรุ่นที่ 52-53 เช่น นายบรรพต ยาฟอง เป็นนายอำเภอสังคม จังหวัดหนองคาย นายวชิระ เกตุพันธุ์ เป็นนายอำเภอพนมดงรัก จังหวัดสุรินทร์ นายวรรณพล ต่อพล เป็นนายอำเภอกู่แก้ว จังหวัดอุดรธานี เป็นต้น
มุมข้าราชการ,ไทยรัฐ,25 ก.พ. 2553,น.15.
การจัดโครงการสร้างความเข้มแข็งผู้ปฏิบัติงานตรวจราชการระดับกระทรวง : หลักสูตรสร้างความเข้มแข็งผู้ตรวจราชการกระทรวงประจำปี 2553 โดยมีผู้เข้ารับการอบรมทั้งสิ้น 38 คน อาทิ นายโอฬาร พิทักษ์ ผู้ตรวจราชการ กระทรวงการคลัง นางปรียานุช จริยวิทยานนท์ ผู้ตรวจราชการ กระทรวงศึกษาธิการ เป็นต้น
มุมข้าราชการ,ไทยรัฐ,11 มี.ค. 2553,น.15.
การผลักดันการพัฒนาคุณธรรมและจริยธรรมในวงราชการ โดยจัดประชุมแลกเปลี่ยนมุมมองและประสบการณ์กับผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศ ได้เชิญ Dr.James Andeson ผู้เชี่ยวชาญอาวุโสด้านคุณธรรม จริยธรรมขององค์กรภาครัฐในหลายประเทศและเป็นเจ้าหน้าที่ของธนาคารโลกประจำกรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม มาถ่ายทอดประสบการณ์ด้านการส่งเสริมอุตสาหกรรมจริยธรรมและการต่อต้านการทุจริตคอรับชัน
มุมข้าราชการ,ไทยรัฐ,20 เม.ย. 2553,น.15.
เปิดรับสมัครการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุบุคคลเข้ารับราชการ ภาคความรู้ความสามารถทั่วไป (ภาค ก.)ประจำปี 2553 โดยมีศูนย์สอบทั้งหมด 17 แห่ง ผู้สมัครสามารถสอบได้เพียงครั้งเดียวและเลือดสอบได้เพียง 1 หน่วย รวมถึงเลือกศูฯย์สอบได้เพียง 1 แห่งเท่านั้น ทั้งนี้เพื่อเป็นการสรรหาบุคลากรภาครัฐที่จะเข้ารับราชการใหม่
หมายเหตุก.พ.,มติชน, 6 พ.ค. 2553, น.11.
การแต่งตั้งคณะกรรมการจริยธรรมประจำส่วนราชการระดับกรมและจังหวัด ตามประมวลจริยธรรมของข้าราชการพลเรือนเพื่อควบคุม กำกับให้มีการฏิบัติตาม อาทิ กรมประชาสัมพันธ์มีนายสมพงษ์ วิสุทธิแพทย์ อดีตอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์เป็นประธานฯ สำนักงานเศรษฐกิจการคลังมีนายปิยพันธุ์ นิมมานเหมินท์ อดีตอธิบดีกรมบัญชีกลางเป็นประธานฯ เป็นต้น
มุมข้าราชการ,ไทยรัฐ,10 พ.ค. 2553,น.15.
การจัดสัมมนาคณะกรรมจริยธรรมของส่วนราชการระดับกรมและจังหวัดเพื่อขับเคลื่อนประมวลจริยธรรมข้าราชการพลเรือน รวมถึงซักซ้อมความเข้าใจในบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมประมาณ 500 คน
มุมข้าราชการ,ไทยรัฐ,7 มิ.ย. 2553,น.15.
ความเคลื่อนไหวของข้าราชการพลเรือนในสายสาธารณสุข ได้แก่ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร ฯลฯ ที่จัดทำข้อเสนอเพื่อการปฏิรูปประเทศไทยด้านสาธารณสุข ซึ่งจะแยกตัวออกจากก.พ.ไปมีกรรมการเป็นของตัวเอง คือ คณะกรรมการข้าราชการสาธารณสุข หรือ ก.สธ. ทั่งนี้ความจำเป็นที่ต้องปฏิรูปด้านสาธารณสุขนั้น เนื่องมาจาก ก.พ.บริหารงานด้านสาธารณสุขได้ไม่ดีพอในขณะที่ข้าราชการด้านสาธารณสุขนั้นเป็นการทำงานที่ต้องใช้ความชำนาญสูง
มุมข้าราชการ,ไทยรัฐ,24-25 มิ.ย.2553, น.15.
การปรับโครงสร้างเงินเดือนร้อยละ 5 เนื่องจากครั้งที่ทำบัญชีเงินเดือนข้าราชการพลเรือนสามัญแนบท้ายพ.ร.บ.2551นั้น การกำหนดเงินเดือนขั้นต่ำขั้นสูงของตำแหน่ง 4 ประเภท อาจจะยังไม่เหมาะสม
ข้าราชการ ข้าของแผ่นดิน, มติชน, 29 มิถุนายน 2553, น.10.
5)กองทุนสนับสนุนการศึกษา
จัดงานมหกรรมการศึกษาต่อต่างประเทศ ครั้งที่ 6 ณ สยามพารากอนซึ่งเป็นงานบริหารเพื่อสาธารณะ โดยมีสถาบันที่มีชื่อเสียงทั่วโลกมาร่วมจัดงานประมาณ 200 แห่ง จาก 30 ประเทศ กล่าวคืองานนี้เป็นศูนย์กลางการให้ข้อมูลด้านการศึกษาต่อที่ถูกต้อง ครบถ้วน และเชื่อถือได้
หมายเหตุก.พ.,มติชน, 22 ต.ค. 2552, น.11.
การจัดโครงการใสสะอาด พอเพียงเพื่อพ่อ สู่สถานศึกษาและชุมชน กิจกรรมเพื่อสร้างสรรค์เยาวชนให้เป็นพลเมืองเข้มแข็งใจอาสา กับโรงเรียนอาสาสมัครในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลจำนวน 26 โรงเรียน เช่น โรงเรียนกรุงเทพตริสเตียนวิทยาลัย โรงเรียนเทพศิรินทร์ เป็นต้น โดยมุ่งหมายให้สถานศึกษาตระหนักเห็นความสำคัญและร่วมรณรงค์ปลุกจิตสำนึกเรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อให้สามารถนำมาปรับใช้ในการดำเนินชีวิตรวมทั้งเสริมสร้างจิตสาธารณะเพื่อส่วนรวม
ข้าราษฎร,มติชน, 5 ม.ค. 2553, น.22.
การจัดสรรทุนรัฐบาลแนวใหม่หรือโครงการทุนรัฐบาลเพื่อดึงดูดผู้มีศักยภาพสูง จำนวน 55 ทุน ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ระยะ คือ ระยะให้ทุนเพื่อศึกษาระดับปริญญาตรีชั้นปีสุดท้ายจนสำเร็จปริญญาตรีตามโครงสร้างหลักสูตร โดยใช้ระยะเวลาศึกษาไม่เกิน 1 ปี และระยะให้ทุนเพื่อศึกษาต่อระดับปริญญาโท ในหรือต่างประเทศ ซึ่งวิธีการสรรหาจะเป็นการประเมินความเหมาะสมของบุคคลโดยใช้แนวทางของวิธีศูนย์รวมการประเมินและให้ส่วนราชการมีส่วนร่วมในการดำเนินการสรรหาผู้รับทุนด้วย
มุมข้าราชการ,ไทยรัฐ,12 ม.ค. 2553,น.12.และข้าราษฎร,มติชน, 7 ม.ค. 2553, น.22.
การจัดหาทุนสนับสนุนการวิจัยด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล ผ่านทางมูลนิธิพันเอกจินดา ณ สงขลา โดยปี 2553 นี้ จัดสรรทุนจำนวน 5 ทุน คือทุนสนับสนุนการทำสารนิพนธ์ระดับปริญญาโท จำนวน 2 ทุน ทุนสนับสนุนการทำวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโท จำนวน 2 ทุน และทุนสนับสนุนการทำวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอก จำนวน 1 ทุน โดยหัวข้อต้องเกี่ยวกับการบริหารทรัพยากรบุคคลซึ่งสร้างองค์ความรู้ใหม่ให้สอดคล้องกับสถานการณ์และกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาแนวคิดและระบบบริหารบุคคลภาครัฐในอนาคต
หมายเหตุก.พ.,มติชน, 14 ม.ค. 2553, น.11.
มีการรับสมัครสอบแข่งขันเพื่อรับทุนรัฐบาลฯประจำปีงบประมาณ 2553 จำนวนทั้งสิ้น 130 ทุน อาทิ ทุนตามความต้องการของกระทรวง 20 ทุน ทุนสนับสนุนยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ 22 ทุน เป็นต้น โดยมุ่งหมายให้เป็นการเตรียมและพัฒนาคนภาคราชการในสาขาวิชาที่สอดคล้องับภารกิจของรัฐทดแทนการสูญเสียกำลังคนที่มีความรู้สูง ที่สำคัญคือดึงดูดคนเก่งเข้ารับราชการ
ข้าราษฎร,มติชน, 2 ก.พ. 2553, น.22.
การจัดหาทุนการศึกษาขององค์การสหสากลวิทยาลัย (UWC) ซึ่งตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมสันติภาพและความเข้าใจอันดีระหว่างชาติ เปิกรับสมัครนักเรียนอายุ 16-18 ปี ที่กำลังศึกษาม.4-6 ไปเรียนในระดับชั้นมัธยมตอนปลายตามหลักสูตร International Baccalaureate เป็นเวลา 2 ปี
หมายเหตุก.พ.,มติชน, 25 ก.พ. 2553, น.11.
2.คณะกรรมพิทักษ์ระบบคุณธรรม (ก.พ.ค.)
ตามมาตราที่ 31 ในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551 ได้ระบุให้ ก.พ.ค.มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้[8]
(1)เสนอแนะต่อ ก.พ. หรือองค์กรกลางบริหารงานบุคคลอื่น เพื่อให้ ก.พ.หรือองค์กรกลางบริหารงานบุคคลอื่น ดำเนินการจัดให้มีหรือปรับปรุงนโยบายการบริหารทรัพยากรบุคคลในส่วนที่เกี่ยวกับการพิทักษ์คุณธรรม
(2)พิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ตามมาตรา 114 ของพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551
(3)พิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ ตามมาตรา 123 ของพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551
(4)พิจารณาเรื่องการคุ้มครองระบบคุณธรรม ตามมาตรา 126 ของพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551
(5)ออกกฎ ก.พ.ค. ระเบียบ หลักเกณฑ์ และวิธีการเพื่อปฎิบัติตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนพ.ศ.2551
(6)แต่งตั้งบุคคลซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่ ก.พ.ค.กำหนด เพื่อเป็นกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ หรือเป็นกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์
ทั้งนี้ อย่างที่กล่าวมาข้างต้นว่าตามพ.ร.บ.ฉบับปี 2551 นี้ ได้แยกอำนาจหน้าที่ด้านกึ่งตุลาการออกมาจากก.พ. กล่าวคือก.พ.ค.เป็นองค์กรกึ่งตุลาการเพื่อวินิจฉัยอุทธรณ์และร้องทุกข์เกี่ยวกับข้าราชการโดยเฉพาะ ซึ่งสามารถจำแนกหน้าที่ของก.พ.ค.ได้ 4 ประเภทคือ 1)เป็นที่ปรึกษารวมถึงจัดทำข้อเสนอเฉพาะด้านที่เกี่ยวกับการพิทักษ์คุณธรรมในการบริหารทรัพยากรบุคคลภาครัฐ 2)เป็นฝ่ายนิติบัญญัติ ทำหน้าที่ออกกฎต่างๆและมาตรฐานการปฏิบัติงานเฉพาะด้านพิทักษ์ระบบคุณธรรมในการบริหารทรัพยากรบุคคลภาครัฐ 3)เป็นฝ่ายบุคคล ทำหน้าที่สรรหากรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์หรือกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ หรือตามที่กฎหมายกำหนด และ4)เป็นกึ่งตุลาการ ที่กล่าวว่าเป็นกึ่งตุลาการนั้น เนื่องมาจากก.พ.ค.ไม่สามารถที่จะตัดสินโทษจนมีผลให้ออกจากงาน ซึ่งการให้ออกจากราชการจากการตัดสินนั้นเป็นหน้าที่ของก.พ. ดังนั้นในด้านนี้ก.พ.ค.จึงมีหน้าที่พิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ พิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์รวมถึงพิจารณาเรื่องการคุ้มครองระบบคุณธรรม
ดังนั้น ตัวอย่างการดำเนินงานในหน้าที่หลักของก.พ.ค. ปรากฎดังต่อไปนี้
ประเภท
รายการดำเนินงาน
ที่มา(หนังสือพิมพ์)
1)ที่ปรึกษา
มีสรุปข้อเสนอแนะแนวทางการป้องกันการทำผิดวินัย 7 ประการ เพื่อเป็นแนวทางในการสร้างเสริมและพัฒนาวินัยข้าราชการและป้องกันมิให้เกิดการกระทำผิดจนถูกลงโทษและเข้าสู่กระบวนการอุทธรณ์ โดยสาระสำคัญอาทิ การพัฒนาวินัยข้าราชการควรทำทั้งการเสริมสร้างและการป้องกันมากกว่าปล่อยให้เกิดขึ้นแล้วตามไปแก้ไข ส่วนราชการควรมียุทธศาสตร์ โครงการและกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาวินัยอย่างชัดเจนและใช้กับทุกคน ควรให้มีการกำหนดการสร้งเสริมวินัยให้เป็นนโยบายขององค์กร โดยมีข้อปฏิบัติไม่มาก จดจำง่าย ไม่เปลี่ยนบ่อย โปร่งใส เป็นต้น
มุมข้าราชการ,ไทยรัฐ,5 มี.ค. 2553,น.15.
2)นิติบัญญัติ
จากการสรุปผลงานครบรอบ 1 ปี ได้ออกกฎหมายลูกบทและระบบการจัดการจำนวน 18 ฉบับ ได้แก่ พ.ร.ฎ. 3 ฉบับ กฎก.พ.ค. 2 ฉบับ ระเบียบก.พ.ค. 5 ฉบับ ประกาศก.พ.ค. 2 ฉบับ และคำสั่งก.พ.ค. 6 ฉบับ ซึ่งสิ่งที่เป็นหัวใจหลักในการทำงานได้แก่ กฎก.พ.ค.ว่าด้วยการอุทธรณ์และการพิจารณา วินิจฉัยอุทธรณ์ พ.ศ.2551 และกฎก.พ.ค.ว่าด้วยการร้องทุกข์และการวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ พ.ศ.2551
มุมข้าราชการ,ไทยรัฐ,29 ต.ค. 2552,น.15.
การวางยุทธศาสตร์การดำเนินงาน 6 ปี จำนวน 6 ประการ มียุทธศาสตร์สำคัญ อาทิ พัฒนากฎ ระเบียบให้เอื้อต่อการอุทธรณ์ ร้องทุกข์ และเยียวยา พัฒนาขีดความสามารถในการวินิจฉัยให้เทียบเคียงมาตรฐานสากล เป็นต้น
มุมข้าราชการ,ไทยรัฐ,30 ต.ค. 2552,น.15.
จากการที่ได้ส่งทีมไปศึกษาวิเคราะห์กระบวนการบริหารงานการพิทักษ์คุณธรรมในสหรัฐอเมริกและออสเตรเลียเพื่อเปรียบเทียบกับก.พ.ค.ของไทยรวมถึงนำมาปรับปรุงการทำงาน พบว่าสิ่งที่อาจนำมาปรับปรุงนั้น มีอาทิ การวินิจฉัยต้องทำให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน สามารถรับเรื่องอุทธรณ์ หลักฐานเพิ่มเติมทางอีเมล การไต่สวนด้วยระบบ video conference เป็นต้น
ข้าราษฎร,มติชน,4 พ.ย. 2552,น.22.
การประกาศใช้กฎก.พ.ค.ว่าด้วยการร้องทุกข์และการพิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2552 ซึ่งได้ให้ความหมายของการปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติต่อตนของผู้บังคับบัญชาซึ่งทำให้เกิดความคับข้องใจ อันเป็นเหตุแห่งการร้องทุกข์ ต้องมีลักษณะสำคัญ อาทิ ไม่ชอบด้สนกฎหมายในคำสั่งหรือปฏิบัติ ไม่มอบหมายงานให้ปฏิบัติ การประวิงเวลาทำให้ไม่ได้รับสิทธิอันที่ควรจะได้ ไม่เป็นไปตามมาตรา 42 แห่งพ.ร.บ.2551 เป็นต้น ทั้งนี้ข้าราชการที่มีเหตุขับข้องใจตามลักษณะข้างต้นและไม่สามารุอุทธรณ์ได้ ก็มีสิทธิร้องทุกข์ได้ตามกฎนี้
ข้าราษฎร,มติชน,13 พ.ย. 2552,น.22.
การมีสิทธิอุทธรณ์ต่อก.พ.ค.ใน 30 วัน หลังจากทราบหรือถือว่าปราบ กรณีถูกสั่งลงโทษตามพ.ร.บ.2551 หรือถูกสั่งให้ไล่อกจากราชการ ซึ่งสามารถทำได้โดยยื่นอุทธรณ์ด้วยตนเองต่อพนักงานที่สำนักงานก.พ. หรือส่งหนังสืออุทธรณ์ทางไปรษณีย์
ก.พ.ค.ขอบอก,มติชน,16 เม.ย. 2553,น.4.
การมีสิทธิมอบหมายให้ผู้อื่นดำเนินการแทนได้ ในกรณีอุทธรณ์ โดยให้ทนายหรือบุคลอื่นซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้วทำการแทนในกรณีที่เจ็บป่วยจนไม่สามารถอุทธรณ์ได้ด้วยตนเองหรืออยู่ในต่างประเทศและคาดหมายว่าไม่อาจอุทธรณ์ได้ทันเวลาที่กำหนดหรือเหตุจำเป็นอย่างอื่น และต้องแจ้งล่วงหน้าหากจะให้ดำเนินการแทนในกระบวนการ ส่วนกรณีร้องทุกข์ อาจมอบหมายให้บุคคลอื่นร้องทุกข์แทนได้กรณีมีเหตุจำเป็นซึ่งต้องทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้ร้องพร้อมทั้งหลักฐานแสดงเหตุจำเป็นหรือพิมพ์ลายนิ้วมือกรณีไม่สามารถลงชื่อได้โดยมีพยานอย่างน้อย 3 คน และสามารถแต่งตั้งทนายดำเนินการแทนในกระบวนการได้โดยแนบหนังสือแต่งตั้ง
ก.พ.ค.ขอบอก,มติชน,21 พ.ค. 2553,น.4.
3)บุคคล
การรับสมัครบุคคลเข้ารับการคัดเลือกเพื่อแต่งตั้งเป็นกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์หรือกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ พ.ศ.2552 จำนวน 14 ตำแหน่ง ซึ่งจากการสอบข้อเขียนรอบแรกมีผู้ผ่านการทดสอบ 30 คน ทั้งนี้ขั้นต่อไปคือการประเมินประสบการณ์การทำงานและ/หรือผลงานทางวิชาการ รวมไม่น้อยกว่า 3 เรื่องแต่ไม่เกิน 5 เรื่อง โดยผู้ผ่านต้องได้คะแนนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 60
ข้าราษฎร,มติชน,28 ต.ค. 2552,น.22.
การประกาศรายชื่อผู้ผ่านการประเมินเป็นกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์หรือกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ พ.ศ.2552 หรือ ก.ว.ฉ. จำนวน 14 ตำแหน่ง พบว่ามีผู้ผ่านการทดสอบ 12 คน อาทิ นายสุธา วิจักขณ์สุรกานย์ นายอนุชา วงษ์บัณฑิต เป็นต้น ซึ่งจะเริ่มปฏิบัติงาน 15 ก.พ. 2553 ทั้งนี้ต้องทำงานเต็มเวลา มีวาระการทำงาน 6 ปี มีเงินประจำเดือนละ 63,340 บาท เงินเพิ่มเดือนละ 30,000 บาท และสามารถทำงานต่อได้อีกโดยใช้วิธีประเมินหรือการคัดเลือกตามที่ก.พ.ค.กำหนด
ข้าราษฎร,มติชน,18 ธ.ค. 2552,น.22. และ มุมข้าราชการ,ไทยรัฐ,6 ก.พ. 2553,น.12.
4)กึ่งตุลาการ
จากการสรุปผลงานครบรอบ 1 ปี ปรากฏสถิติการอุทธรณ์และการร้องทุกข์ ตั้งแต่ 11 ธ.ค.2551 ถึง 30 ก.ย.2552 รวม 260 เรื่อง แยกเป็นอุทธรณ์ 64 เรื่อง ร้องทุกข์ 51 เรื่อง และร้องเรียน 145 เรื่อง ซึ่งส่วนราชการที่ถูกร้องเรียนมากที่สุดคือ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จำนวน 78 เรื่อง รองมาคือกระทรวงสาธารณสุข 17 เรื่อง และส่วนราชการที่ถูกอุทธรณ์มากที่สุดคือ กระทรวงมหาดไทย 7 เรื่อง รองมาคือกระทรวงยุติธรรม 5 เรื่อง อีกทั้งส่วนราชการที่ถูกร้องทุกข์มากที่สุด คือ กระทรวงสาธารณสุข 11 เรื่อง รองมากระทรวงมหาดไทย 7 เรื่อง
มุมข้าราชการ,ไทยรัฐ,29-30 ต.ค. 2552,น.15.
การรายงานตัวอย่างที่วินิจฉัยแล้วสามารถช่วยลดความคับข้องใขของข้าราชการได้ เช่น การแต่งตั้งอธิบดีไม่เป็นไปตามระบบคุณธรรม การให้ยกเลิกและให้คัดเลือกนายแพทย์ 9 วช.ใหม่ การให้เยียวยาหัวหน้าสำนักงานรัฐมนตรีที่รัฐมนตรีสั่งให้ไปช่วยราชการที่อื่น หารให้ยกเลิกคำสั่งผู้อื่นมารักษาการแทนผู้อำนวยการสำนัก เป็นต้น
ข้าราษฎร,มติชน,2 ธ.ค. 2552,น.22.
มีรายงานการดำเนินงานว่า ตั้งแต่เปิดรับเรื่องอุทธรณ์และร้องทุกข์ตั้งแต่ 11 ธันวาคม 2551 ได้มีเรื่องร้องเรียนหรือร้องทุกข์ที่ส่งผิดที่ ไม่เข้าหลักเกณฑ์หรือไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาของก.พ.ค.จำนวน 170 เรื่อง แบ่งเป็น 2 กรณี คือ ผู้ร้องทุกข์ไม่ใช่ข้าราชการพลเรือน จึงไม่อยู่ในขอบเขตอำนาจของก.พ.ค. และเรื่องต้นเหตุแห่งทุกข์นั้นมาจากอธิบดี ซึ่งต้องร้องทุกข์ไปยังปลัดกระทรวง เนื่องจากเหตุแห่งทุกข์ที่ก.พ.ค.จะรับไว้พิจารณา ต้องเกิดจากเหตุคับข้องใจจากนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีและปลัดกระทรวง ซึ่งถ้าปลัดกระทรวงชี้ขาดแล้วไม่พอใจ ให้ยื่นฟ้องศาลปกครอง
ข้าราษฎร,มติชน,13 ม.ค. 2553,น.22.
การรายงานเรื่องการร้องทุกข์โดยเหตุจากการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอย่างไม่ร้ายแรง ในขณะที่กระบวนการดำเนินการยังไม่แล้วเสร็จ แม้จะร้องทุกข์ในเวลาที่กำหนด จึงไม่รับคำร้องทุกข์ไว้พิจารณา ซึ่งผู้ถูกสอบสวนได้ร้องทุกข์เนื่องจากเห็นว่าการสอบสวนมีข้อบกพร่อง ไม่เป็นไปตามขั้นตอนของข้อกฎหมาย กล่าวหาขัดข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย มีกรเลือกปฏิบัติอย่างชัดเจน มีเจตนาปกปิดข้อเท็จจริงในรายงานและมีการแทรกแวงกระบวนการสอบสวนข้อเท็จจริง ตัวอย่างคือผู้อำนวยการสำนักหนึ่งในกระทรวงสาธารณสุข ถูกอธิบดีแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอย่างไม่ร้ายแรง กรณีได้สั่งจ้างลูกจ้างชั่วคราวเงินนอกงบประมาณเพื่อให้ปฏิบัติหน้าที่ด้านการเงินและบัญชีโดยมิได้ให้หลักประกัน
มุมข้าราชการ,ไทยรัฐ, 15 ม.ค. 2553,น.15.
การรายงานการดำเนินงานว่า ในช่วง 11 ธ.ค. 2551 ถึง 29 ธ.ค. 2552 พบข้าราชการพลเรือนในพระองค์ 3 รายได้อุทธรณ์และร้องทุกข์ไปยังก.พ.ค. ทั้งนี้วินิจฉัยเสร็จสิ้นแล้ว 2 ราย และอีก 1 อยู่ระหว่างพิจารณา ซึ่งหลังจากมีการประกาศใช้พรฎ.ว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนในพระองค์ 2552 ทำให้เรื่องอุทธรณ์หรือเรื่องร้องทุกข์ก่อนวันที่พรฎ.ใช้บังคับ ถูกโอนให้อ.ก.พ.กระทรวงของทั้งสองหน่วยงานแล้วแต่กรณี ซึ่งแบ่งเป็น 2 กระทรวงคืออ.ก.พ.กระทรวงของสำนักพระราชวังและอ.ก.พ.กระทรวงของสำนักราชเลขาธิการ
ข้าราษฎร,มติชน,20 ม.ค. 2553,น.22.
การวินิจฉัยอุทธรณ์กรณีคดีอาญาของข้าราชการที่ถูกไล่ออกยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ซึ่งมิใช่กรณีคำพิพากษาถึงที่สุด จึงเป็นการพิจารณาลงโทษโดยหลงผิด ทั้งนี้จริงๆแล้วเมื่อข้าราชการผิด ต้นสังกัดสามารถสามารถจะมีคำสั่งลงโทษได้ เพราะข้าราชการได้กระทำการปลอมแปลงเอกสาร ทำให้มีข้อต้องหาว่ากระทำผิดอาญา เสมือนว่าข้าราชการยังอยู่ในราชการ กล่าวคือโดยอำนาจหน้าที่นั้น ต้นสังกัดสามารถทำได้แต่กระบวนการกลับมิชอบด้วยกฎหมาย จึงถือว่าเป็นการพิจารณาลงโทษโดยมิชอบ
มุมข้าราชการ,ไทยรัฐ,5 เม.ย. 2553,น.15.
การวินิจฉัยอุทธรณ์ว่าการดำเนินการทางวินัยให้รีบดำเนินการโดยเร็ว ไม่ต้องรอผลคดีอาญาว่าจะเป็นประการใด เพระการดำเนินการทางวินัยแก่ข้าราชการที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดในคดีอาญา ผู้บังคับบัญชามีอำนาจดำเนินการได้โดยไม่ต้องรอผลการดำเนินคดีอาญาเนื่องจากกฎหมายได้กำหนดอำนาจหน้าที่และวิธีการสอบสวนแยกเป็นส่วนหนึ่งต่างหากจากการเนินคดีอาญา ซึ่งมีกรณีที่ข้าราชการนายหนึ่งอุทธรณ์ว่าไม่ได้กระทำผิดตามที่ถูกกล่าวหาและอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลจังหวัด โดยระบุว่าการดำเนินคดีนั้นยังไม่สิ้นสุด จึงมีคำขอให้ยกเลิกคำสั่ง ซึ่งการพิเคราะห์กรณีนี้ ผลคือการสอบสวนพิจารณาลงโทษทางวินัยไม่จำเป็นต้องรองฟังผลคดีอาญา คำสั่งไล่ออกจึงชอบแล้ว
มุมข้าราชการ,ไทยรัฐ,12 เม.ย. 2553,น.12.
การวินิจฉัยร้องทุกข์ร้องทุกข์กรณีไม่ได้รับความเป็นธรรมจากอธิบดีที่สั่งให้ออกจากราชการเนื่องจากผลการทดลองงานต่ำกว่าเกณฑ์ โดยอธิบดีได้รับคะแนนประเมินจากผู้บังคับบัญชาชั้นต้นที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งผลคือไม่มีสิทธิร้องทุกข์กับก.พ.ค.เนื่องจากผู้ร้องทุกข์ไม่มีสถานภาพเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ เป็นเพียงผู้ทดลองงาน ผู้บังคับบัญชามีอำนาจไล่ออกได้หากผลการประเมินงานต่ำกว่ามาตรฐานที่กำหนด ตามมาตรา 57
ข้าราษฎร,มติชน,13 เม.ย. 2553,น.22. และก.พ.ค.ขอบอก,มติชน,4 มิ.ย. 2553,น.4.
การเห็นควรไม่รับเรื่องร้องทุกข์ไว้พิจารณาเนื่องจากเหตุความคับข้องใจอันเป็นเหตุให้เกิดการร้องทุกข์ เพราะผู้ร้องไม่มีคุณสมบัติที่ตรงตามมาตรฐานตำแหน่งตามพ.ร.บ.2551 ที่กำหนดคุณสมบัติเฉพาะตำแหน่งประเภทวิชาการระดับชำนาญการต้องมีระยะเวลาการดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับปฏิบัติการมาแล้วด้วย
ข้าราษฎร,มติชน,14 เม.ย. 2553,น.22.
การวินิจฉัยให้ปลัดกระทรวงยกเลิกคำสั่งและดำเนินการให้ถูกต้องเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ใน 2 คำสั่ง คือ การแต่งตั้งผู้รักษาราชการแทนผู้อำนวยการศูนย์หนึ่งทั้งที่ผู้ที่ร้องทุกข์มีคุณวุฒิและวัยวุฒิรวมถึงความสามารถตรงสายมากกว่าผู้ที่ตั้งขึ้นมา ซึ่งเป็นการใช้ดุลยพินิจที่ไม่คำนึงถึงลักษณะงาน เป็นการปฏิบัติที่ไม่สอดคล้องกับความจำเป็นและความต้องการใช้งาน ไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ของทางราชการและไม่เป็นไปตามระบบคุณธรรม และคำสั่งแต่งตั้งนักวิชาการชำนาญการกลุ่มเป็นหัวหน้าแทนขณะที่หัวหน้ากลุ่มยังปฏิบัติงานเป็นปกติ ซึ่งเป็นการใช้ดุลยพินิจที่มิชอบ
ข้าราษฎร,มติชน,15 เม.ย. 2553,น.22.
กรณีการพิจารณาการเลื่อนขั้นเงินเดือนไม่เป็นธรรมซึ่งให้ยกคำร้องทุกข์ เนื่องจากกรณีถึงแม้ว่าจะได้รับการประเมินระดับดีเด่นร้อยละ 92.5 แต่ได้มีการพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนในกลุ่มเดียวกันซึ่งพบผู้มีผลการประเมินที่สูงกว่าอีก 3 คน รวมถึงกรณียังไม่ปฏิบัติงานงานราชการตามคำสั่งปฏิบัติงานอีกพื้นที่หนึ่ง ส่งผลให้การเลื่อนขั้นเงินเดือนนั้น ชอบด้วยกฎหมาย
ข้าราษฎร,มติชน,16 เม.ย. 2553,น.22.
การยกอุทธรณ์กรณีข้าราชการพลเรือนถูกอธิบดีกรมต้นสังกัดมีคำสั่งให้ออกจากราชการด้วยเหตุอันมีลักษณะต้องห้ามที่จะเข้ารับราชการเป็นข้าราชการพลเรือนเนื่องจากศาลล้มละลายกลางมีคำพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย สาเหตุเพราะไปค้ำประกันเงินกู้ให้พี่เขย ซึ่งในคำอุทธรณ์ไม่ปรากฏว่าอ้างข้อเท็จจริงหรือกฎหมายใดขึ้นเป็นข้อค้านคำสั่งของอธิบดีว่าไม่ถูกต้องหรือไม่ชอบตามกฎหมาย แต่กลับรับว่าถูกศาลพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย ซึ่งเป็นการยอมรับว่ามีลักษณะต้องห้ามจริง แม้ว่าจะไม่ได้เป็นต้นเหตุแห่งการถูกพิพากษาแต่ก.พ.ค. ก็ไม่มีหน้าที่ไปตัดสินว่าสมควรเป็นบุคคลล้มละลายหรือไม่ กรณีจึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยข้ออ้างในอุทธรณ์เพราะไม่ว่ากรณีจะเป็นเช่นไร ก็ไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงแก้ไขคำสั่งได้
ข้าราษฎร,มติชน,20 เม.ย. 2553,น.22.
กรณีการร้องทุกข์การแต่งตั้งรองอธิบดีให้รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาซึ่งเป็นนักวิชาการทรงคุณวุฒิ เห็นว่าเป็นการใช้อำนาจโดยไม่โปร่งใสเพราะไม่มีการแจ้งเวียนให้ผู้มีส่วนได้เสียทราบและไม่มีผู้ใดสมัครเข้าสู่กระบวนการคัดเลือก ซึ่งผู้ร้องทุกข์ในกรณีนี้มีสิทธิจะร้องทุกข์ถึงก.พ.ค.ได้ตามมาตรา 122และมาตรา 123(2) แห่งพ.ร.บ.2551 แต่ก.พ.ค.ไม่รับไว้พิจารณาเนื่องจากข้อ 8 ของกฎก.พ.ค.ว่าด้วยการร้องทุกข์ ต้องกำหนดให้ต้องร้องทุกข์ภายใน 30 วันนับจากวันทราบหรือควรทราบเหตุแห่งการร้องทุกข์ ซึ่งกรณีนี้ได้ยื่นมาหลังจากรู้เหตุแห่งทุกข์แล้ว 101 วัน อีกทั้งการแต่งตั้งรักษาการนี้เป็นเรื่องภายในฝ่ายปกครองซึ่งชอบด้วยกฎหมาย มิใช่คำสั่งทางปกครองตามาตรา 5 แห่งพ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง 2539 ดังนั้นจึงเป็นคำร้องทุกข์ที่ห้ามรับไว้พิจารณา
มุมข้าราชการ,ไทยรัฐ,4 มิ.ย. 2553,น.15.
3.คณะกรรมการข้าราชการในอาชีพอื่นๆ
ในภาครัฐไทยด้วยความจำเป็นจะต้องให้มีองค์กรแห่งอำนาจลดหลั่นกันไปเพื่อการบริหารงานบุคคลจะได้เกิดประสิทธิภาพและทันต่อเหตุการณ์รวมกับแนวคิดการกระจายอำนาจ ส่งผลให้การจัดองค์กรในลักษณะเดิมนั้นไม่สามารถตอบสนองความต้องการได้[9] จึงเกิดองค์กรกลางการบริหารงานบุคคลที่แบ่งออกไปตามลักษณะงานที่แตกต่างกันโดยเฉพาะ ซึ่งในปัจจุบันภาครัฐไทยมีองค์กรกลางบริหารงานบุคคลหลัก[10] อาทิ คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) คณะกรรมการอัยการ (ก.อ.) คณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ก.ศ.) คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคคลกรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) คณะกรรมการมาตรฐานการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น (ก.ถ.) คณะกรรมการข้าราชการกรุงเทพมหานคร (ก.ก.) คณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง (ก.ศป.) เป็นต้น
จะเห็นได้ว่าปัจจุบันมีองค์กรกลางจำนวนมาก ดังนั้น ในที่นี้จึงขอยกตัวอย่างการดำเนินงานในหน้าที่หลักของคณะกรรมการข้าราชการในอาชีพอื่นๆ ปรากฎดังต่อไปนี้
ประเภทคณะกรรมการ
รายการดำเนินงาน
ที่มา(หนังสือพิมพ์)
คณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง (ก.ศป.)
การรับสมัครบุคคลเข้ารับการคัดเลือกเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลปกครองสูงสุด ซึ่งเป็นการรับสมัครครั้งที่ 6 โดยมีคุณสมบัติคือ สัญชาติไทย อายุระหว่าง 45-65 ปี สำเร็จการศึกษาปริญญาตรีขึ้นไปในสาขาสังคมศาสตร์ที่เน้นไปทางนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ ที่สำคัญต้อง เป็นหรือเคยกรรมการร่างกฎหมาย กรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ หรือรับหรือเคยรับราชการตำแหน่งไม่ต่ำกว่าตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองชั้นต้น หรือไม่ตำกว่าตำแหน่งอธิบดี ฯลฯ
มุมข้าราชการ,ไทยรัฐ, 27 ก.พ. 2553,น.12.
คณะกรรมการมาตรฐานการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น (ก.ถ.)
การศึกษาวิจัยเรื่องการปรับปรุงระบบจำแนกตำแหน่งและค่าตอบแทนของข้าราชการส่วนท้องถิ่น (ระยะที่ 2) เพื่อศึกษาและวางระบบจำแนกตำแหน่งและค่าตอบแทนที่พึงปรารถนารวมถึงเหมาะสมกับข้าราชการส่วนท้องถื่น ซึ่งจัดทำเป็นข้อเสนอเกี่ยวกับการจัดทำโครงสร้างระดับชั้นงานใหม่ 5 รูปแบบ อาทิ การคงโครงสร้างเดิมคือระบบซีแต่จะมีการกำหนดและปรับปรุงแบบบรรยายลักษณะงานและกลไกการบริหาร การปรับโครงสร้างชั้นงานเป็นแบบแท่งเหมือนข้าราชการพลเรือนซึ่งแบ่งเป็น 4 แท่ง การสร้างระดับมาตรฐานกลางแล้วให้อปท.แต่ละแห่งไปพิจารณากำหนดโครงสร้างงานเอง เป็นต้น
ข้าราษฎร, มติชน,13 ต.ต. 2552, น.22.
คณะกรรมการอัยการ (ก.อ.)
การประกาศใช้ข้อกำหนดว่าด้วยความผิดที่ปรากฏชัดแจ้งในราชกิจจานุเบกษา มีสาระสำคัญ อาทิ ความผิดที่ถือว่าผิดวินัยอย่างร้างแรงซึ่งเป็นความผิดชัดแจ้ง คือ การทำความผิดต้องรับโทษจำคุกหรือหนักกว่าจำคุก ต้องคำพิพากษาว่าเป็นบุคคลล้มละลาย กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ละทิ้งหน้าที่ราชการติดต่อกันเกินกว่า 15 วัน ซึ่งเมื่อผู้บังคับบัญชาได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงต้องส่งผลให้อัยการสูงสุดนำเสนอประธานก.อ. ทั้งนี้สามารถพิจารณาลงโทษโดยไม่ต้องสอบสวนก็ได้ โดยต้องได้รับความเห็นชอบจาก ก.อ.ก่อน
ข้าราษฎร, มติชน, 4 มี.ค. 2553, น.22.
คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.)
การแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ กรณีพ.ต.อ.สมเพียร เอกสมญา ซึ่งไม่ได้รับความเป็นธรรมในการแต่งตั้งโยกย้าย จึงต้องเพิ่มความเคร่งครัดในการปฏิบัติและรักษามาตรฐาน โดยต้องเอาจริงเอาจังกับการให้บุคคลหนึ่งอยู่ในตำแหน่งหนึ่งๆตามระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งเมื่อครบกำหนดแล้วก็ต้องให้มีโอกาสสับเปลี่ยนหมุนเวียนเพื่อการพัฒนา ทั้งการไม่ควรมีบ่อยนักของการพิจารณาเลื่อนตำแหน่งโดยอ้างว่ามีผลงานดีเด่นหรือมีคุณสมบัติพิเศษจึงต้องเร่งเติบโต และการไม่ควรแทรกแทซงของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่สำคัญต้องปลูกจิตสำนึกของผู้บังคับบัญชาทุกระดับให้ยึดมั่นในความเป็นกลางและยุติธรรม
ข้าราชการ ข้าของแผ่นดิน, มติชน, 23 มี.ค. 2553, น.10.
การมีมติเปิดตำแหน่งที่ปรึกษาสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สบ.10) ด้านการสืบสวนอีก 1 ตำแหน่ง เทียบเท่าตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ โดยอ้างว่าเป็นไปตามคำร้องขอของสำนักงานตำรวจแห่งชาติและเพื่อให้สอดคล้องกับแผนงานของคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ ซึ่งมีกระแสข่าวว่าอาจมาจากผู้มีอำนาจทางการเมืองต้องการผลักดันนายตำรวจที่มีความใกล้ชิดมาดำรงตำแหน่ง
ไทยโพสต์ อิสรภาพแห่งความคิด,ไทยโพสต์, 16 มิ.ย. 2553, น.2.
คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคคลกรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.)
การรับสมัครเลือกตั้งเป็นผู้แทนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา จำนวน 9 คน ประกอบด้วย ผู้แทนผอ.เขตพื้นที่การศึกษา 1 คน ผู้แทนผู้บริหารสถานศึกษา 1 คน ผู้แทนข้าราชการครู 6 คนและผู้แทนบุคลากรทางการศึกษาอื่น 1 คน
สถานีก.ค.ศ., มติชน, 23 พ.ย. 2552, น.22.
การปรับปรุงการกำหนดตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา 38 ค.(2)เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการใช้ตำแหน่งและให้ได้บุคคลมาปฏิบัติงานในพื้นที่ที่มีอัตรากำลังไม่เกินกรอบที่กำหนด โดยปรับตำแหน่งประเภททั่วไป ระดับชำนาญการที่เป็นตำแหน่งว่างและมีอัตราเงินเดือนให้เป็นระดับปฏิบัติงานหรือชำนาญงาน เพื่อใช้ในการบรรจุแต่งตั้งผู้สอบแข่งขันได้ที่ขึ้นบัญชีไว้
สถานีก.ค.ศ., มติชน, 8 ก.พ. 2553, น.22.
การออกระเบียบว่าด้วยการส่งเสริมสนับสนุนให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาไปศึกษา อบรม ดูงาน หรือปฏิบัติงานวิจัยและพัฒนา พ.ศ.2552 เพื่อพัฒนาคุณภาพทางการศึกษาหรือวิชาชีพและป็นการเพิ่มพูนประสิทธิภาพการปฏิบัติงานของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยมีสาระสำคัญ อาทิ แนวทางการพิจารณาอนุญาตให้คำนึงถึงองค์ประกอบหลายประการ ในระหว่างที่ไปศึกษาหากมีราชการที่มีความจำเป็นให้เรียกกลับมาปฏิบัติราชการทันที โดยข้าราชการจะต้องปฏิบัติตามข้อผูกพันในสัญญาและต้องปฏิบัติตามระเบียบ เป็นต้น
สถานีก.ค.ศ., มติชน, 12 เม.ย. 2553, น.22.
การประเมินวิทยฐานะของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตามหลักและวิธีการใหม่ โดยกำหนดผู้ขอรับการประเมินต้องผ่านการประเมินทั้ง 3 ด้าน คือ ด้านวินัย คุณธรรม จริยธรรม และจรรยายรรณวิชาชีพ ด้านความรู้ความสามารถ และด้านผลการปฏิบัติงาน ซึ่งมีการจัดทำคู่มือแจกจ่ายเพื่อให้เข้าใจตรงกัน
สถานีก.ค.ศ., มติชน, 7 มิ.ย. 2553, น.22.
4.สรุป
องค์การกลางการบริหารงานบุคคลภาครัฐกิจ (Central Personnel Agency) เปรียบเหมือนกลไกสำคัญในการกำกับดูแลและควบคุมให้การบริหารงานบุคคลภาครัฐเป็นไปอย่างมีมาตรฐาน มีประสิทธิภาพ ทั้งนี้เพื่อให้องค์การกลางการบริหารงานบุคคลภาครัฐมีความเป็นกลางได้จริง องค์กรจึงควร เป็นหน่วยงานอิสระที่ไม่ขึ้นกับฝ่ายบริหารหรืออยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของฝ่ายบริหาร ทั้งทางตรงและทางอ้อม
ประเทศไทยได้แบ่งแยกองค์การกลางบริหารงานบุคคลออกตามประเภทข้าราชการ ในรูปแบบของคณะกรรมการข้าราชการประเภทต่าง ๆ โดยแต่ละองค์การกลางต่างมีอิสระ ในการกำหนด นโยบาย กฎระเบียบและหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการบริหารงานบุคคล สำหรับประเภทข้าราชการ ที่อยู่ในความรับผิดชอบ
ทั้งนี้ หน้าที่และบทบาทขององค์การกลางบริหารงานบุคคลโดยทั่วไปแล้วจะมีหน้าที่ต่าง ๆ ดังนี้
1.กำหนดนโยบายด้านการบริหารงานบุคคลภาครัฐ
2.เป็นที่ปรึกษาของฝ่ายบริหารในการดำเนินการด้านการบริหารงานบุคคลภาครัฐ
3.พิทักษ์รักษาระบบคุณธรรมในการบริหารงานบุคคลภาครัฐ
4.ออกกฎระเบียบ และควบคุมให้มีการปฏิบัติตาม
5.ดำเนินการในบางเรื่องที่เป็นเรื่องสำคัญของกระบวนการบริหารงานบุคคล เช่น การดำเนิน
การสรรหาบุคคลมาทำงาน การกำหนดตำแหน่งและอัตราเงินเดือน เป็นต้น
องค์การกลางการบริหารงานบุคคลของข้าราชการฝ่ายพลเรือนของไทยเท่าที่มีอยู่ในปัจจุบันต่างก็มีบทบาทอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายหลักการบริหารงานบุคคลของตนเอง โดยพยายามจะให้มีอิสระ และให้สิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ข้าราชการฝ่ายตนมากที่สุด ร่วมกับยังคงมีการแทรกแซงจากฝ่ายการเมือง อยู่เป็นประจำ จึงส่งผลให้เกิดปัญหาอีกมากในการบริหารงานบุคคลภาครัฐของไทย
[1] ศึกษาจากการนำเสนอทางหนังสือพิมพ์ ตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ.2552 ถึง มิถุนายน พ.ศ.2553 อาทิ มุมข้าราชการ,ไทยรัฐ. ,ข้าราษฎร,มติชน.,หมายเหตุก.พ.,มติชน., ข้าราชการ ข้าของแผ่นดิน,มติชน.,ก.พ.ค.ขอบอก,มติชน. เป็นต้น
[2] ยุวดี ศรีธรรมรัฐ, 2541. การบริหารงานบุคคลในภาครัฐกิจ. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, น.58.
[3] สร้อยตระกูล อรรถมานะ, 2540. สาธารณบริหารศาสตร์.กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, น.206.
[4] ยุวดี ศรีธรรมรัฐ, 2541. อ้างแล้ว, น.58-59.
[5] ในที่นี้ อาจเรียกว่า องค์กรกลางการบริหารงานบุคคลภาครัฐ,องค์การกลางการบริหารงานบุคคลภาครัฐกิจ,องค์กรกลางการบริหารงานบุคคลภาครัฐกิจ เป็นต้น
[6] ศุภชัย ยาวะประภาษ, 2548. การบริหารงานบุคคลภาครัฐไทย : กระแสใหม่ และสิ่งท้าทาย. กรุงเทพฯ : บริษัท จุดทอง จำกัด, น.22.
[7] สุพล สุขศรีมั่งมี, 2551. พระราชบัญญัติข้าราชการพลเรือนระบบใหม่ พุทธศักราช 2551. กรุงเทพฯ : SCIENCE CENTER, น.3-5.
[8] เรื่องเดียวกัน, น.12.
[9] ยุวดี ศรีธรรมรัฐ, 2541. อ้างแล้ว, น.63-64.
[10] ศุภชัย ยาวะประภาษ, 2548. อ้างแล้ว, น.22.
|
|
|
พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=1730
เวลา 25 พฤศจิกายน 2567 16:43 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)
|
|