1 มกราคม 0544 00:00 น.

       จากเสวนาห้องเรียนประชาธิปไตยในหัวข้อ “ขบวนการเคลื่อนไหวของประชาชนไทย: ข้อถกเถียง” ผู้เขียนในฐานะผู้ที่สนใจองค์ความรู้เกี่ยวกับการเมืองภาคประชาชนและขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมคนหนึ่ง จึงขออนุญาตตั้งข้อสังเกตและแสดงทรรศนะส่วนหนึ่งเพื่อเสริมต่อการเสวนาดังกล่าว ผ่านกรอบการศึกษาวิเคราะห์การเมืองแบบ “ขบวนการทางสังคม” และ “ประชาสังคม” อันหวังว่าจะเป็นส่วนหนึ่งในการชี้ให้เห็นถึงภาพของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมและประชาสังคมในฐานะการเมืองภาคประชาชนไทยที่ชัดเจนยิ่งขึ้น
       ก่อนอื่น ผู้เขียนเห็นว่างานวิชาการที่ให้ความสำคัญกับบทบาทของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม (โดยเฉพาะของชนชั้นล่าง) หรือสิ่งที่เรียกว่า “การเมืองภาคประชาชน” มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมากนับแต่ปี 2535 เป็นต้นมา พร้อมกับการเสื่อมถอยของการวิเคราะห์ทางชนชั้น (Class Analysis) ที่มุ่งเน้นการอธิบายตัวแสดงทางการเมืองซึ่งอยู่ใจกลางของความสัมพันธ์ทางการผลิตแบบทฤษฎีมาร์กซิสต์ แล้วหันไปสู่การใช้กรอบวิธีการศึกษาที่เรียกว่าเป็นการศึกษาวิเคราะห์การเมืองแบบ “ขบวนการทางสังคม” ได้แก่ ทฤษฎีการระดมทรัพยากร(Resource Mobilization Theory หรือ RM) และ ทฤษฎีขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมรูปแบบใหม่ (New Social Movement หรือ NSM) โดยงานของ ประภาส ปิ่นตบแต่ง[1] นับว่าเป็นงานสำคัญชิ้นหนึ่งซึ่งมีอิทธิพลทางความคิดอย่างมากต่อการศึกษาการเมืองภาคประชาชนในช่วงเวลาต่อมา คุณูปการสำคัญของงานสายนี้ก็คือ การทำลายมายาคติของรัฐศาสตร์กระแสหลักที่ได้รับอิทธิพลจากทฤษฎีการทำให้ทันสมัย (Modernization) อันพุ่งเป้าไปที่การอธิบายการเมืองไทยผ่านมโนทัศน์ระบบอุปถัมภ์ (Patron-Client System) ที่สร้างบทสรุปแบบสูตรสำเร็จในทำนองว่าชนชั้นล่างทั้งในชนบทและในเมืองมีลักษณะอ่อนแอและไม่มีจิตสำนึกทางการเมืองแบบประชาธิปไตย ดังนั้น การสร้างประชาธิปไตยจึงต้องมาจากชนชั้นสูงและชนชั้นกลางแบบ “บนลงล่าง” (Top-Down) เท่านั้น[2]
       ที่กล่าวมาข้างต้น เรียกได้ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงในระดับทฤษฎี อย่างไรก็ตาม ในมิติของการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่เป็นรูปธรรมก็เป็นเช่นเดียวกัน ขบวนการประชาชนของไทยภายหลังจากการล่มสลายของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยก็เปลี่ยนแปลงยุทธศาสตร์ของตนเองอย่างมหาศาล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การบอกลาการจัดตั้งองค์กรปฏิวัติทางชนชั้นแบบพรรคการเมืองในอดีตเพื่อยึดอำนาจรัฐ มาสู่ “การเมืองภาคประชาชน” ซึ่งมีการจัดตั้งองค์กรแบบเครือข่าย (Network) ที่เชื่อมโยงกันอย่างหลวมๆ ผ่านประเด็นของความล้มเหลวจากการพัฒนาของรัฐเป็นส่วนใหญ่ ไม่มุ่งยึดอำนาจรัฐ แต่เน้นการเมืองนอกรัฐสภา โดยใช้สิ่งที่เรียกว่า “การเมืองบนท้องถนน” หรือปฏิบัติการท้าทายซึ่งหน้า (Direct Action) เป็นยุทธวิธีหลัก และมักมีขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมรูปแบบใหม่หรือ NSM[3] เป็นตัวแบบหรือแนวคิดเชิงยุทธศาสตร์ที่สำคัญ[4]
       เมื่อวิเคราะห์ลงไป เราจะเห็นว่างานศึกษาที่เกี่ยวกับ “การเมืองภาคประชาชน” ภายใต้แนววิเคราะห์การเมืองแบบขบวนการทางสังคมและ NSM ส่วนใหญ่มักจะสร้างบทสรุปว่า ขบวนการภาคประชาชนไทย (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ขบวนการที่มีลักษณะสอดคล้องกับสมมติฐานของ NSM) ในช่วงกว่า 20 ปีที่ผ่านมามีความเกี่ยวโยงสอดคล้องอย่างอัตโนมัติกับการพัฒนาประชาธิปไตย (Democratization) ในสังคมไทย แต่อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่ช่วงปี 2548 จนถึงปัจจุบัน การเกิดขึ้นและการเคลื่อนไหวทางการเมืองของขบวนการ “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” จนกระทั่งนำมาสู่การทำรัฐประหารในวันที่ 19 กันยายน 2549 และการร่างรัฐธรรมนูญ “สีเหลือง” ในปี 2550[5] ซึ่งเราคงไม่อาจปฏิเสธได้ว่า พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยประกอบไปด้วยกลุ่มบุคคลและองค์กรจำนวนมากที่ (เคย) เรียกรวมๆ ว่า “ภาคประชาชน” ทั้งที่มาจากขบวนการเกษตรกร ขบวนการแรงงาน และองค์กรพัฒนาเอกชน ปรากฏการณ์เช่นนี้ทำให้เราต้องกลับมาตั้งคำถามกับสมมติฐานเดิมที่เคยเชื่อกันมาตลอดว่า เพราะเหตุใดองค์กรและบุคคลที่ถูกเรียกว่า “ภาคประชาชน” จำนวนมากไม่ได้เคลื่อนไหวต่อสู้ในลักษณะที่สอดคล้องกับการพัฒนาประชาธิปไตยอย่างที่เราเคยเข้าใจกัน หากแต่ “ภาคประชาชน” จำนวนมากเลือกที่จะทำแนวร่วมและเคลื่อนไหวผ่านอุดมการณ์แบบที่เป็นปฏิปักษ์ต่อประชาธิปไตย นั่นหมายความว่า ความเชื่อว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างการพัฒนาประชาธิปไตยกับ “การเมืองภาคประชาชน” จึงจำเป็นที่จะต้องถูกตรวจสอบและถูกตั้งคำถามอย่างยิ่งในช่วงเวลานี้
       ในการนี้ ผู้เขียนในฐานะนักรัฐศาสตร์จึงพยายามตอบคำถามที่สำคัญว่า สิ่งที่เรียกกันแบบรวมๆ ว่า “การเมืองภาคประชาชน” หรือ “ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม” ซึ่งแพร่หลายในปัจจุบัน ปรากฏอยู่โดยมีใครบ้างหรือองค์กรใดบ้างที่สามารถถูกเรียกได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของการเมืองภาคประชาชนกล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ“หน้าตา” และ “ตำแหน่งแห่งที่” ของประชาสังคมเป็นอย่างไร? โดยปมปัญหาข้างต้นเช่นนี้เอง ถือเป็นปมปัญหาสำคัญอันหนึ่งที่การเสวนาดังกล่าว ได้ขบคิดและพยายามหาคำอธิบายเช่นกัน
       จากการเสวนาข้างต้น ประภาส ปิ่นตบแต่ง ได้กล่าวไว้ว่า ประชาสังคม (Civil Society) มีความหมายในลักษณะที่เป็นแนวคิดเชิงกลยุทธ์ (Strategic Concept) อันส่งผลให้นิยามแตกต่างกันไปตามทัศนะ จุดยืน การมองเห็นปัญหาของสังคมการเมืองรอบๆ ตัว รวมถึงการเสนอแนวทาง วิธีการแก้ปัญหาที่ล้วนแตกต่างกัน และที่สำคัญ ประชาสังคม ไม่ใช่องค์กรพัฒนาเอกชน (NGO)[6] ดังนั้น ผู้เขียนจึงขอนำเสนอทรรศนะของ “ประชาสังคม” ที่น่าสนใจอันนับเป็นตัวแสดงในขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมซึ่งอาจหมายความรวมถึงคำว่า “ประชาชน” ในการเมืองภาคประชาชนด้วย ผ่านงานเขียนของ ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร[7] และ อเนก เหล่าธรรมทัศน์[8] ใน 3 ประเด็นเป็นอย่างน้อย กล่าวคือ
       ประเด็นแรกเป็นเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับขบวนการประชาสังคม ซึ่งในแนวคิดประชาสังคม ความสัมพันธ์กับรัฐเป็นมิติที่สำคัญมาก โดยปกติผู้ต่อต้านรัฐมักถูกเรียกว่ากบฏเสมอเนื่องจากโดยพื้นฐานของมัน คือ การไม่ยอมรับระบบวิธีคิดที่สถาปนาลงตัวเป็นกระแสหลักที่ครอบงำสังคม ใครไม่เดินตามย่อมถูกตรวจสอบและสงสัย ผ่านการกระทำในลักษณะการปฏิเสธ/โต้แย้งสถาบันหลัก เพื่อหวังแก้ไขปัญหาของตนหรือของกลุ่ม  ในอีกทางหนึ่งก็มีนัยแสดงแนวทางของความมุ่งมั่นเอาชนะ อันเป็นคุณค่าที่สามารถนำมาแปรเป็นพลังเปลี่ยนแปลงสังคมได้
       ในงานของ ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร ที่วิเคราะห์ขบวนการประชาสังคมกับการพัฒนาประชาธิปไตยได้อธิบายอย่างชัดเจนไว้ว่า ขบวนการประชาสังคมแนวใหม่อันเป็นผลพวงของ NSM มีเป้าประสงค์ชัดเจนที่ไม่สนใจจะช่วงชิงอำนาจรัฐ แต่ปฏิเสธอำนาจรัฐ เพราะรู้ดีว่าอำนาจรัฐนั้นไร้น้ำยาลงไปทุกวัน และเคลื่อนไหวบนพื้นฐานของสิทธิที่จะไม่เชื่อฟังรัฐ หรือ “อารยะขัดขืน” (Civil Disobedience) โดยการตั้งคำถามกับกฎเกณฑ์เก่าที่ไม่เป็นธรรม และต่อต้านกับระบบที่ดำรงอยู่[9] สิ่งที่น่าสนใจ คือ การเคลื่อนไหวของขบวนการลักษณะนี้ถูกวิเคราะห์ว่า เป็นความพยายามสร้างกฎเกณฑ์กติกาชุดใหม่ของการดำรงชีวิต โดยใช้วิธีช่วงชิงการสร้างระบบความหมายใหม่และวาทกรรมชุดใหม่ขึ้น อันเป็นการเปิดพื้นที่การต่อสู้ขององค์กรประชาชนที่เดิมถูกมองว่า ต้องมาจากความขัดแย้งทางชนชั้นหรือความขัดแย้งทางการเมืองเท่านั้น ไปสู่ความขัดแย้งที่ดำรงอยู่บนมิติอื่นๆ เช่น เพศสภาพ      เชื้อชาติ สีผิว ศาสนา วัฒนธรรม เป็นต้น[10]
          ในทำนองคล้ายคลึงกัน อเนก เหล่าธรรมทัศน์ ได้ตีความ “ขบวนการประชาสังคม” ว่าหมายถึงเครือข่ายของ “กลุ่ม องค์กร” ที่เชื่อมระหว่าง “รัฐ” กับ “ปัจเจกชน” ความต่างของความสัมพันธ์ของเครือข่ายประชาสังคมกับรัฐและรัฐกับตัวปัจเจกคือ ประชาสังคมต้องไม่ยอมให้รัฐครอบงำบงการ ถึงแม้จะยอมรับความช่วยเหลือจากรัฐและทำงานร่วมกับรัฐได้ แต่การทำงานก็ไม่ได้อยู่บนความขัดแย้ง หากแต่เป็นการประสานร่วมมือ ในขณะเดียวกันก็ต้องไม่เป็นลัทธิปัจเจกนิยมสุดขั้ว ดังนั้นการเคลื่อนไหวของประชาสังคมต้องไม่เน้นการทำงานผ่านรัฐเพียงแค่เพื่อจำกัดขอบเขตของอำนาจรัฐ หรือลดภาระหน้าที่ของรัฐทำให้รัฐเล็กลงอันจะนำมาซึ่งความกระฉับกระเฉงในการทำหน้าที่หลักสำคัญๆ ของรัฐเท่านั้น แต่ขบวนการประชาสังคมต้องยื้อแย่งการทำนโยบายจากรัฐและช่วงชิงผลประโยชน์มาสู่ส่วนรวมที่มิใช่รัฐให้มากขึ้น การรวมกลุ่มที่ว่านี้ต้องเป็นการรวมกลุ่มของคนแปลกหน้า มิใช่กลุ่มเฉพาะคนใกล้ชิด เป็นการรวมตัวอย่างสมัครใจไม่บังคับ สามารถเข้าออกจากการเป็นสมาชิกได้อย่างเสรี และต้องมีลักษณะการทำงานร่วมกันอย่างเท่าเทียม ความหมายโดยนัยของอเนกนี้เอง จึงรวมถึงองค์กรลักษณะอาสาสมัครทั้งที่ถูกกฎหมายหรือผิดกฎหมายแต่ชอบธรรมเข้าเป็นขบวนการประชาสังคมทั้งหมด[11]
       ในประเด็นต่อมา จากตัวอย่างที่ไชยรัตน์นำเสนอได้ให้ภาพของกลุ่มการต่อสู้ของกลุ่มคนเล็กๆ ในสังคมที่อ่อนแอเพราะสิทธิต่างๆ ถูกปิดกั้น ซึ่งเป็นภาพของการต่อสู้ในมิติที่ไม่เคยได้รับความสนใจมาก่อนในอดีต เราจะเห็นว่าวิธีการรวมตัวของกลุ่มคนเล็กๆ นี้ มักเป็นไปอย่างกว้างใหญ่แต่จัดองค์กรแบบหลวมๆ ไม่รวมศูนย์อำนาจ ไม่เน้นผลประโยชน์ของกลุ่ม แต่เน้นผลประโยชน์ส่วนรวมที่เหนือกลุ่ม ไม่เรียกร้องผ่านกลไกทางการเมือง ทั้งหมดนี้เป็นแนวทางที่ถูกวิเคราะห์ว่าเป็นการเมืองใน “รูปแบบใหม่” ที่ต่างไปจากประชาธิปไตยใน “ระบบตัวแทน” เพราะว่าการเมืองในลักษณะเดิมมีลักษณะที่เน้นการแย่งชิงผลประโยชน์หรือประสานแบ่งปันผลประโยชน์ของกลุ่มต่างๆ ในสังคม และใช้กลวิธีการทำให้เหมือน ซึ่งเป็นเทคนิควิทยาในการปกครองของรัฐที่เน้นการสร้างความเป็นพลเมืองแบบรัฐ เช่น การบังคับใช้ภาษาเดียวกันหมด การมีหลักสูตรการศึกษาตายตัวเหมือนกันหมด โดยรัฐย้ำว่าการทำให้เหมือนนี้เป็นหลักการของความเสมอภาคและเท่าเทียม แต่แท้จริงคือการปิดกั้นเสรีภาพในการปรากฏตัวของ “สิ่งที่ต่างออกไปจากความเชื่อหรือผลประโยชน์กระแสหลัก”
                   การเมืองใหม่นี้ไชยรัตน์สรุปว่าคือ “ประชาธิปไตยแบบเข้มข้นและมีที่ว่างสำหรับความแตกต่างหลากหลาย”[12] (the Radical and Plural Democracy) ซึ่งเน้นความสัมพันธ์และความขัดแย้งระหว่างเอกลักษณ์กับความแตกต่างหลากหลายมากกว่าที่ระบุไว้ในระบบกฎหมาย เป็นหน่อเนื้อของการเปิดพื้นที่สาธารณะที่เป็นอิสระจากรัฐ ระบบเศรษฐกิจและกลไกตลาด แต่ก็ไม่ใช่เป็นเวทีส่วนตัว หากเป็นเวทีในการโต้แย้งถึงสิทธิต่างๆ ที่เคยถูกเก็บกดปิดกั้นไว้ เพื่อมุ่งปลุกประชามติและนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงโดยการเคลื่อนไหวผ่านอาณาบริเวณสาธารณะ มากกว่าสร้างแรงกดดันรัฐบาลหรือเรียกร้องให้รัฐมาทำให้ เวทีในการนำเสนอความคิดเห็นของการเมืองแบบใหม่จึงมีลักษณะที่หลากหลาย นอกจากการชุมนุมต่อต้านหรือเรียกร้องที่นิยมทำกันอยู่แล้ว ยังอาจใช้รูปแบบอื่นทำควบคู่ไปด้วยหรือทำต่างหากออกไป ได้แก่ การปลุกเร้าสร้างความรับรู้หรือการตระหนักรู้ผ่านสื่อมวลชน การลงมือศึกษาวิจัยเพื่อพิสูจน์ข้อเสนอของตน บางครั้งเน้นการปลุกความเปลี่ยนแปลงจากรอบนอก เช่น จากเวทีนานาชาติ แล้วจึงค่อยวกกลับมาเรียกร้องเปลี่ยนแปลงในบ้านเมืองตน ฐานสำคัญคือเป็นการร่วมเคลื่อนไหวโดยตรงหรือลงมือเองของประชาชนอย่างกระตือรือร้น จึงเป็นขบวนการประชาสังคมที่มีความตื่นตัวทางการเมืองสูง เป็นทางเลือกสายใหม่ของกลุ่ม องค์กรและปัจเจกชนที่มิได้สังกัดภาครัฐ
                   ในทรรศนะของไชยรัตน์ ขบวนการประชาสังคมแบบใหม่จึงไม่ใช่ขบวนการปลดปล่อย แบ่งดินแดน หรือปฏิวัติถอนรากถอนโคน ขณะเดียวกันก็ไม่ใช่พรรคการเมือง กลุ่มผลประโยชน์ ภาคธุรกิจเอกชน และมิได้หมายรวมถึงกลุ่ม องค์กรอาสาสมัครที่เน้นผลประโยชน์ของมวลสมาชิกและยอมต่ออำนาจรัฐ แต่เป็นขบวนการปฏิรูปสังคมการเมืองที่เข้มข้นหลากหลายจากประชาชนธรรมดา เน้นความเป็นพลเมืองที่รู้ว่าเราเป็นใคร รู้จักที่จะเข้าใจตนเองและผู้อื่น มุ่งสร้างคุณธรรมของพลเมืองที่อดทนอดกลั้นต่อความแตกต่างหลากหลาย เคารพและยอมรับที่จะอยู่กับความแตกต่างหลากหลาย หาวิธีการอยู่ร่วมกันกับความขัดแย้ง โดยไม่มองว่าความขัดแย้งเป็นศัตรู แต่แท้จริงคือหุ้นส่วนหรือคู่ปรับ ซึ่งแนวทางเหล่านี้ยังเป็นคำถามค้างคาในเชิงทฤษฎีแนวคิดว่าจะสร้างให้เกิดจริงได้อย่างไร ที่จะไม่เป็นเพียงความฝันเฟื่องของนักทฤษฎีประชาสังคมเท่านั้น
                   ถ้ากลับมาพิจารณาพัฒนาการของระบบการเมืองไทย อเนกวิเคราะห์ว่า การเมืองในระบบอุปถัมภ์ที่ปรับเปลี่ยนมาจากแบบดั้งเดิมนับแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี 2475 เป็นต้นมา ยังคงฝังตัวอยู่ในรูปประชาธิปไตยแบบไทยๆ ที่ให้รัฐเป็นใหญ่ แม้จนในยุคการมีสภาร่างรัฐธรรมนูญในปี 2540 และ 2550 ที่ผ่านมา เพราะ “การสร้างรัฐที่ดี” ยังถูกมองว่าสำคัญที่สุดในการพัฒนาประชาธิปไตยของสังคมไทย  ส่งผลให้การปกครองตนเองในรูปองค์การบริหารส่วนตำบล ปัจจุบันก็ยังอยู่ในร่างทรงการกระจายอำนาจแบบรัฐเป็นใหญ่อยู่นั่นเอง อเนกเสนอว่า อุดมการณ์ประชาสังคมจึงเป็นต้นทุนสำคัญทางสังคม ที่จำเป็นต้องลงทุนอย่างไม่อาจละเลยได้ เป็นวาระสำคัญแห่งชาติวาระหนึ่งที่เร่งด่วน และเป็นคุณธรรมที่ต้องลงทุนปลูกฝังขึ้นมาอย่างกว้างขวางในการศึกษาทั้งในระบบและนอกระบบ โดยมีชนชั้นกลางเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญที่ต้องปลูกฝังสั่งสมอุดมการณ์ประชาสังคม เพราะจะเป็นหัวหอกในการเปลี่ยนแปลงประชาธิปไตย ไปสู่ยุคที่มีการเมืองภาคประชาชนเป็นแกนกลางที่เน้นส่วนรวมที่มิใช่รัฐ ดังนั้นพื้นที่ของการเคลื่อนไหวประชาสังคมมีความสำคัญทั้งในเมืองและชนบทเท่าเทียมกัน
                   ผู้เขียนมีข้อสังเกตว่า ขบวนการเคลื่อนไหวประชาสังคมเป็นก้าวย่างที่กลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกันกับขบวนการเรียกร้องสิทธิมนุษยชนในมิติต่างๆ ที่นอกเหนือไปจากสิทธิในการมีชีวิตอยู่และมีการตีความใหม่ของสิทธิทางการเมืองซึ่งมิได้เน้นเฉพาะสิทธิในการออกเสียงเลือกตั้งเท่านั้น สิทธิที่ว่านี้ได้แก่ สิทธิของคนผิวสีในสังคมคนผิวขาว สิทธิสตรี สิทธิของคนรักเพศเดียวกัน สิทธิของคนพื้นเมืองดั้งเดิม สิทธิของชนกลุ่มน้อย สิทธิของผู้ลี้ภัย สิทธิเด็ก สิทธิของชุมชน สิทธิคนจน สิทธิของผู้ติดเชื้อเอดส์ สิทธิของคนกินมังสวิรัติ สิทธิการดำรงอยู่ของธรรมชาติที่ต้องมาก่อนการดำรงอยู่ของมนุษย์ สิทธิผู้บริโภค และสิทธิของแรงงานข้ามชาติ เป็นต้น นับเป็นจุดหักเหของการพัฒนาประชาธิปไตยไปในอีกเส้นทางหนึ่งที่เคารพรับฟังเสียงของคนเล็กๆ ให้ความสำคัญต่อเรื่องที่ดูเล็ก ซึ่งแต่เดิมไร้พลังอำนาจหรือไร้ผู้สนใจ ให้มีความเข้มแข็งขึ้น คนตระหนักรู้มากขึ้น จึงถูกเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าเป็น “การเมืองภาคประชาชน”[13]
       อีกประเด็นหนึ่งซึ่งทั้งไชยรัตน์และอเนกเห็นสอดคล้องกัน คือ “คุณธรรมแบบพลเมือง” ในขบวนการประชาสังคมว่าเป็นหัวใจสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนขบวนการประชาสังคม โดยเน้นการมีจริยธรรมเพื่อส่วนรวม (Civic Virtue) ตรงนี้ การศึกษาเพื่อความเป็นพลเมือง (Civic Education) จะมีความสำคัญมาก อเนกเสนอแนะว่าควรพัฒนาคุณธรรมนี้ให้เป็นอุดมการณ์ใหม่ที่มีน้ำหนักความสำคัญเท่าเทียมกันกับอุดมการณ์ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และรัฐธรรมนูญ “ความเป็นพลเมือง” ต่างจาก “ความเป็นราษฎร” แบบไทยที่มีรากลึกมาจากระบบอุปถัมภ์ระหว่างเจ้าขุนมูลนายที่เป็นผู้ให้และไพร่ที่เป็นผู้รับ ราษฎรมักมองตนเองเป็นผู้น้อยรอคอยความช่วยเหลือหรือการให้จากผู้ใหญ่ ซึ่งความสัมพันธ์ดังกล่าวนี้ได้มีการผลิตซ้ำจนออกมาในรูปวัฒนธรรมที่สยบยอมต่ออำนาจของผู้ที่มีอำนาจมากกว่า เปิดช่องให้มีการใช้อำนาจบาตรใหญ่อย่างไร้เหตุผลไร้คุณธรรมเพื่อประโยชน์ส่วนตนมากขึ้น และใช้ฐานอำนาจที่มีอยู่เพื่อทำการฉ้อราษฎร์บังหลวงให้อำนาจที่มีอยู่ได้สถาปนาอย่างแน่นแฟ้นยั่งยืนยากจะถอน ในขณะที่พลเมืองต้องเป็นผู้รุกเรียกร้องการมีส่วนร่วม รู้สึกมีพันธกิจต่อสังคม มีจิตสำนึกสาธารณะ กล้าคิดกล้ารับผิดชอบ และเสียสละต่อส่วนรวมเพื่อความอยู่ยั่งยืนของพลเมืองเองในระยะยาว
                   ต่อประเด็นนี้ ไชยรัตน์กังวลว่า ระบอบประชาธิปไตยทุกระบอบมีความคาดหวังกับประชาชนสูง แต่การพัฒนาประชาธิปไตย ไปสู่การเมืองแบบเข้มข้นที่เปิดที่ว่างให้กับความแตกต่างหลากหลาย จะมีความหวังและวาดหวังต่อประชาชนสูงยิ่งขึ้นไปอีก การเมืองภาคประชาชนที่เน้นประชาชนเป็นตัวแสดงหลักนี้ ต้องการการเสียสละของพลเมือง เน้นการร่วมมือทำเอง และการมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางการเมืองสูง การเมืองลักษณะนี้จะมีที่ว่างสำหรับประชาชนที่ไม่ต้องการเข้าร่วมหรือไม่ และการไม่เข้าร่วมจะได้รับการเคารพหรือไม่ ในอีกด้านหนึ่ง การเมืองภาคประชาชนคือ การเปิดปริมณฑลสาธารณะให้คำถามทุกอย่างถูกนำมาถกเถียงโดยประชาชนพลเมืองที่กระตือรือร้นเอง คำถามคือ  ระบอบประชาธิปไตยแบบใหม่นี้จะแบกรับการตั้งคำถาม การสงสัย และการช่วงชิงการสร้างระบบความหมายที่หลากหลายได้อย่างไร? ทางออกที่ไชยรัตน์เสนอมาจากงานของ Mouffe ว่า “ต้องสร้างความเป็นพลเมืองในฐานะที่เป็นเอกลักษณ์ทางการเมืองสมัยใหม่... ทำให้ความรู้สึกเป็นพลเมืองชัดเจนขึ้น มีความอดกลั้นมากขึ้น และเห็นแก่ส่วนรวมมากขึ้น... ถึงแม้ว่าการมีส่วนร่วมจะไม่ทำให้ได้อย่างที่ต้องการเสมอไป แต่ประชาธิปไตยแบบเข้มข้นก็สร้างหรือทำให้คนรู้ตัวว่าต้องการอะไร”[14]
                   ผู้เขียนเห็นว่าคำถามสำคัญสำหรับนักคิดประชาสังคมคือ เราจะปลูกฝังอุดมการณ์คุณธรรมแบบพลเมืองได้อย่างไร และมีกลวิธีอย่างไรบ้างที่จะนำกลไกในสังคมที่ช่วยก่อตัวและผลิตซ้ำระบบคุณค่า ระบบการให้ความหมาย ซึ่งในที่นี้คือ ครอบครัว โรงเรียน วัด ศาสนา สื่อมวลชน และสถาบันอื่นๆ[15] มาสถาปนาอุดมการณ์นี้ให้ยั่งยืนในขบวนการประชาสังคม ที่เป็นการเมืองของประชาชนโดยประชาชนและเพื่อประชาชนทั้งมวลอันมิใช่รัฐ
                   จากงานเขียน 2 ชิ้นดังกล่าวที่พยายามชี้การเมืองที่ปรับเปลี่ยนบนความเคลื่อนไหวของขบวนการทางสังคม ประกอบกับการศึกษาการเมืองภาคประชาชนในช่วงกว่าทศวรรษหลังนี้ซึ่งใช้แนววิเคราะห์การเมืองแบบขบวนการทางสังคมและ NSM อันจะสร้างคุณูปการอย่างใหญ่หลวงให้แก่การศึกษาบทบาททางการเมืองของชนชั้นล่างในสังคมไทย กระนั้นก็ตาม จากปรากฏการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้น เราจะพบว่าแนวการวิเคราะห์ดังกล่าวมีจุดอ่อนและข้อจำกัดพื้นฐานสำคัญที่ไม่สามารถอธิบายความย้อนแย้งและความไม่สอดคล้องกันของตัวแปรสองตัว ได้แก่ “การเมืองภาคประชาชน” กับ “การพัฒนาประชาธิปไตย” อาทิเช่น งานในสาย NSM มีลักษณะ         ขาดแคลนในระดับแนวคิด อันเนื่องมาจากการทำเสมือนว่ารูปแบบหรือวิถีของการต่อสู้ทางการเมือง (Mode of Politics)[16] ของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมของชนชั้นล่างมีเพียงแบบเดียวเท่านั้น นั่นคือ ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมรูปแบบใหม่ส่งผลให้นักวิชาการในสายนี้ประสบปัญหาและความไม่พอเพียงในเชิงทฤษฎีเมื่อต้องอธิบายขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมของชนชั้นล่างที่มีอุดมการณ์แบบอนุรักษนิยมหรือสนับสนุนเผด็จการทหาร เช่น กรณีที่ประภาสปฏิเสธว่าพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยไม่ใช่ขบวนการทางสังคมของชนชั้นล่างหรือภาคประชาชน และจำต้องใช้แนวคิด “ฝูงชนบ้าคลั่ง” (Madding Crowd) ของนักวิชาการฝ่ายอนุรักษนิยมที่ดูแคลนการลุกขึ้นสู้ของมวลชนในการปฏิวัติฝรั่งเศส[17]มาใช้ในการอธิบายขบวนการทางสังคมที่เป็นปฏิปักษ์ต่อประชาธิปไตย[18] รวมไปถึงความพยายามปกป้อง NSM ของนักวิชาการมานุษยวิทยา เช่น ยุกติ ที่ชี้ว่า ขบวนการพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยซึ่งเป็นขบวนการทางสังคมที่เป็นปฏิปักษ์ต่อประชาธิปไตย ไม่ใช่ NSM แต่เป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมรูปแบบ เก่า (Old Social Movement) ที่มุ่งยึดอำนาจรัฐและไม่มีความเป็นประชาธิปไตย[19]  การหยิบยืมเอามโนทัศน์อย่างฝูงชนบ้าคลั่งและขบวนการทางสังคมรูปแบบเก่ามาอธิบายขบวนการ “ฝ่ายขวา” ของนักคิด NSM ข้างต้นนี้ สะท้อนอย่างชัดเจนว่า นักคิดในสาย NSM และแนววิเคราะห์ NSM ประสบกับความไม่เพียงพอและกำลังเผชิญกับข้อจำกัดในการอธิบายขบวนการทางสังคมที่มีคุณสมบัติหรือลักษณะที่ไม่ตรงหรือไม่สอดคล้องกับสมมติฐานเบื้องต้นทางทฤษฎีของ NSM เอง
       จากปัญหาดังกล่าว ภายใต้สมมติฐานเบื้องต้นทางทฤษฎีว่า ขบวนการทางสังคมใดที่ถูกเรียกว่า NSM จะต้องมีอุดมการณ์หรือเป้าหมายของการต่อสู้ที่เป็นประชาธิปไตยหรือสอดคล้องกับการพัฒนาประชาธิปไตยเสมอ ส่งผลให้งานในสาย NSM ละเลยการทำความเข้าใจมิติทางอุดมการณ์ และมิติของความเข้มแข็งและอ่อนแอของการต่อสู้ช่วงชิงทางอุดมการณ์ (Ideological/Hegemonic Struggle) ของขบวนการทางสังคมหนึ่งๆ ซึ่งอยู่ท่ามกลางการไหลเวียนของอุดมการณ์จำนวนมากทั้งที่เป็นอุดมการณ์แบบประชาธิปไตยและปฏิปักษ์ประชาธิปไตย การละเลยมิติทางอุดมการณ์ของ “การเมืองภาคประชาชน” เช่นนี้ ส่งผลให้งานวิชาการในสาย NSM ไม่สามารถอธิบายได้ว่า ทำไมขบวนการทางสังคมหนึ่งๆ ในช่วงเวลาหนึ่งๆ จึงต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย และในอีกช่วงเวลากลับสนับสนุนเผด็จการทหาร หรือในบางช่วงเวลาถึงหยุดต่อสู้ เช่นเดียวกัน เราจะพบว่า ขบวนการทางสังคมที่ได้รับอิทธิพลทางความคิดจาก NSM มักจะไม่ให้ความสำคัญกับการต่อสู้หรือทำสงครามเพื่อครองอำนาจนำในระดับอุดมการณ์ (Hegemonic War) ที่มีเป้าหมายเพื่อช่วงชิงและผลักดันโครงการทางการเมือง (Political Project) แบบองค์รวมของชนชั้นตนเอง แต่จะมุ่งเน้นการต่อสู้รายวันและประเด็นเฉพาะหน้ามากกว่า รวมไปถึงปฏิเสธมุมมองทางชนชั้นที่เน้นการสร้างขั้วทางชนชั้น ส่งผลให้ขบวนการที่ได้รับอิทธิพลจาก NSM มักจะจบลงด้วยการทำแนวร่วมข้ามชนชั้นในหลายระดับ ไม่เว้นแม้การทำแนวร่วมกับฝ่ายนิยมกษัตริย์ซึ่งเป็นกลุ่มพลังทางสังคมที่มีลักษณะอนุรักษนิยมที่สุดของสังคมไทย
       จุดอ่อนที่สำคัญอีกประการหนึ่งของ NSM คือ การแบ่งแยก “รัฐ” ออกจาก “สังคม” อย่างเด็ดขาด ซึ่งเป็นอิทธิพลของทฤษฎีสังคมศาสตร์ยุค“หลังคอมมิวนิสต์” ส่วนใหญ่ โดยมีสมมติฐานว่า “รัฐ” มีลักษณะเป็นเผด็จการและรวมศูนย์ในตัวของมันเอง และในทางกลับกัน “สังคม” (มักจะเรียกว่า “ชุมชน” หรือ “ประชาสังคม”) โดยธรรมชาติแล้วมีลักษณะเป็นพื้นที่อิสระ ปราศจากการครอบงำ และเป็นประชาธิปไตย การวัดว่าสังคมการเมืองใดเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ จึงต้องวางอยู่บนการพิจารณาว่า รัฐเข้มแข็งหรืออ่อนแอแค่ไหน ประชาสังคมหรือชุมชนมีความเข้มแข็งหรือไม่ เป้าหมายทางการเมืองของขบวนการที่ได้รับอิทธิพลจาก NSM จึงมักจะเป็นไปในทิศทางที่ต้องการ “ลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจสังคม” ปัญหาที่ตามมาก็คือ การแบ่งรัฐ/สังคมเช่นนี้มีลักษณะเป็นนามธรรมสูง โดยไม่สามารถอธิบายความสลับซับซ้อนของแต่ละพื้นที่คือรัฐและพื้นที่ประชาสังคมเองอย่างที่งานสายมาร์กซิสต์ ผลอีกประการหนึ่งก็คือ นักคิดที่ได้รับอิทธิพลจากทฤษฎี NSM ก็ไม่ต่างจากทฤษฎีกลุ่มผลประโยชน์และกลุ่มกดดันที่มักจะละเลยและไม่สนใจสร้างคำอธิบายหรือทฤษฎีว่าด้วยรัฐเฉกเช่นที่สำนักมาร์กซิสต์ส่วนใหญ่สนใจอีกต่อไป ทำให้งานสาย NSM ละเลยที่จะเข้าใจความเปลี่ยนแปลงในระดับรัฐและกลไกรัฐ อันเป็นผลมาจากการต่อสู้ทางชนชั้นจาก “ล่างสู่บน” (Bottom-Up)[20]
       เมื่อเราพิจารณาถึงปรากฏการณ์ของการเมืองภาคประชาชนในยุครัฐบาลพรรคไทยรักไทย อาจกล่าวได้ว่า แม้ว่าจะมีการเคลื่อนไหวต่อสู้ของขบวนการทางสังคมมากเพียงใด แต่ก็มิได้หมายความว่า การต่อสู้เหล่านั้นจะมีเป้าหมายที่นำไปสู่การพัฒนาประชาธิปไตยเสมอไป และเมื่อเรามองบทบาทและการเคลื่อนไหวต่อสู้ของ “ภาคประชาชน” ในช่วงหลังปี 2540 เป็นต้นมา เราอาจสรุปได้ว่าขบวนการทางสังคมในประเทศไทยได้รับอิทธิพลจากแนวคิด NSM ซึ่งปฏิเสธการรวมตัวทางการเมืองผ่านอัตลักษณ์ “ชนชั้น” โดยหันไปยอมรับอัตลักษณ์แบบ “ชุมชน” และ “ชาติ” ส่งผลให้ขบวนการเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะสร้างแนวร่วมข้ามชนชั้นกับชนชั้นนายทุนและกลุ่มพลังทางสังคมอื่นๆ ที่เป็นปฏิปักษ์ต่อประชาธิปไตย มากกว่าที่จะเคลื่อนไหวอย่างเป็นอิสระ ดังเช่น การเข้าร่วมสนับสนุนพรรคไทยรักไทยก่อนการเลือกตั้งปี 2544 การสนับสนุนพรรคมหาชนและพรรคประชาธิปัตย์ก่อนการเลือกตั้งปี 2548 และการเข้าร่วมกับกลุ่มพลังอนุรักษ์นิยมในเครือข่ายของสถาบันพระมหากษัตริย์เพื่อโค่นล้มรัฐบาลพรรคไทยรักไทยในปี 2548 และ 2549 และหลังจากนั้น
       อันเนื่องมาจากขบวนการทางสังคมที่ได้รับอิทธิพลจาก NSM มุ่งเน้นการต่อสู้ จัดตั้ง และรวมตัวผ่านยุทธศาสตร์แบบเครือข่ายที่มุ่งเน้นประเด็นย่อยๆ เฉพาะหน้า ส่งผลให้ขบวนการมีแนวโน้มที่จะหดเล็กลงเมื่อรัฐมียุทธศาสตร์ทางนโยบายที่มีประสิทธิภาพในการลดทอนความขัดแย้งทางสังคมลงไปได้ ดังที่ได้ชี้ให้เห็นไปแล้วทั้งในกรณีที่เป็นขบวนการเกษตรกรในชนบทและขบวนการแรงงานในเมืองภายใต้รัฐบาลพรรคไทยรักไทย นอกจากนี้ การที่ NSM ปฏิเสธการสร้างองค์กรทางชนชั้นในลักษณะที่ถาวรที่มีโครงการทางการเมืองของชนชั้นตนเอง ส่งผลให้ขบวนการเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะพึ่งพิงองค์กร ปัญญาชน ทรัพยากร โครงการทางการเมือง และอุดมการณ์ของชนชั้นนำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทบาทของอุดมการณ์ “ชุมชนชาตินิยมที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้นำ” ในฐานะที่เป็นเพดานทางความคิดและการทำความเข้าใจโลกทั้งหมดของ “การเมืองภาคประชาชน” ในประเทศไทย นับตั้งแต่หลังปี 2535 เป็นต้นมา ดังที่ปรากฏในช่วงหลังปี 2540 ที่ขบวนการภาคประชาชนส่วนใหญ่อ้างอิงและผลิตซ้ำพระราชอำนาจนำในการแก้ไขวิกฤตผ่านเศรษฐกิจพอเพียงของสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างกว้างขวาง และดังที่เราจะเห็นได้ในกรณีการเคลื่อนไหวเพื่อถวายคืนพระราชอำนาจและการเรียกร้อง “การเมืองใหม่” ซึ่งเป็นการเมืองแบบเผด็จการของขบวนการพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยนับตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา ซึ่งเป็นผลผลิตโดยตรงของพัฒนาการของการเมืองภาคประชาชนภายใต้ยุทธศาสตร์ NSM อย่างต่อเนื่องมาก่อนหน้านี้[21] กล่าวโดยสรุปแล้ว ขบวนการที่เคลื่อนไหวภายใต้ยุทธศาสตร์แบบ NSM มักจะจบลงด้วยการทำแนวร่วม/พึ่งพิง/ประนีประนอมทั้งในแง่ของมวลชนและอุดมการณ์กับกลุ่มพลังอนุรักษนิยมที่มีอิทธิพลเหนือรัฐ เช่น กองทัพ ศาล และสถาบันพระมหากษัตริย์ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในที่สุด
       จากที่กล่าวมาทั้งหมด เราจะเห็นว่าความสับสนและข้อถกเถียงต่างๆในเรื่องประชาสังคมที่สำคัญและเป็นสิ่งที่ผู้เขียนพยายามเป็นส่วนหนึ่งในการฉายภาพเพื่อความเข้าใจ คือ “ตำแหน่งแห่งที่” ของประชาสังคมว่ายืนอยู่จุดไหนของสังคมกันแน่ เพื่อไม่ให้เป็นการเหมารวมว่าภาคประชาสังคม คือ องค์กรพัฒนาเอกชน (NGO)   ในการนี้ ผู้เขียนจึงทดลองประยุกต์แนวคิดของ Richard Holloway[22]  มาประกอบการพิจารณาภายใต้โครงสร้างอำนาจทางสังคมการเมืองซึ่งมักแบ่งออกเป็น 3 ภาคส่วน ได้แก่ ภาครัฐ (Public Sector) หรือรัฐบาล (Government) ภาคเอกชน (Private Sector) หรือตลาด (Market) และภาคพลเมือง (Citizen Sector) โดยมีความแตกต่างกันในบทบาท วิธีการ ตลอดจนแรงจูงใจหรือผลประโยชน์ที่ยึดถือ แต่มีโครงสร้างอำนาจที่สัมพันธ์เชื่อมโยงกันผ่านกระบวนการต่างๆ โดยส่วนของภาคประชาสังคมจะทำหน้าที่ถ่วงดุลกำกับหรือตรวจสอบการดำเนินงานของทั้งภาครัฐและภาคธุรกิจให้เกิดความชอบธรรม รวมทั้งส่งเสริมพลเมืองให้มีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคมเพื่อชีวิตและสังคมที่มีคุณภาพที่ดี อย่างไรก็ดีในความเป็นจริงเส้นแบ่งกั้นของภาคส่วนต่างๆไม่ได้ชัดเจนอย่างที่เรามักเข้าใจ แต่มันมีความเลื่อนไหลและพร่าเลือนรวมถึงอาจเหลื่อมซ้อนกัน (Fussy Boundary) เพื่อกล่าวให้ชัดเจนไปกว่านั้น CIVICUS พันธมิตรเพื่อการมีส่วนร่วมของพลเมืองระดับโลก (World Alliance for Citizen Participation) ได้ชี้ภาพของ “ประชาสังคม” ในฐานะที่เป็น “พื้นที่ทับซ้อน” (Overlapping Area) ระหว่าง 3 ภาคส่วนของสังคมที่กล่าวไป อันเป็น “พื้นที่ที่กิจกรรมของรัฐ เช่น นิติบัญญัติ การบริหาร ตุลาการ กิจกรรมของเอกชน และกิจกรรมของพลเมือง มาร่วมกันเพื่อสร้างกฎเกณฑ์/บรรทัดฐาน (Normative) ของประชาธิปไตย (Democracy) ความรับผิดรับชอบต่อสังคม (social responsibility) และ การปกป้อง/คุ้มครองสินค้าสาธารณะ (protection of the public good)”[23]
       ในลักษณะนี้ ภาคประชาสังคมจะประกอบด้วยองค์กรหรือสถาบันที่หลากหลาย อาทิ องค์กรประชาสังคม (Civil Society Organization: CSO) สถาบันตุลาการ (The Judiciary) สถาบันสื่อมวลชน (The Press ) องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น (Local Government) องค์กรอิสระ (Independent Accountability Organizations) เป็นต้น ดังนั้น เงื่อนไขที่พอจะทำให้เราทราบว่าใครเป็นใครในภาคประชาสังคมหรือกล่าวได้ว่าเป็นเงื่อนไขที่กำหนดตำแหน่งแห่งที่ของประชาสังคมจึงขึ้นอยู่กับสาระสำคัญ 2 ประการ ได้แก่ ระบบคุณค่า (Value System) และประโยชน์หรือแรงจูงใจ (Interest) ที่กลุ่มองค์กรเหล่านั้นยึดถือ โดยที่ระบบคุณค่าดังกล่าวย่อมเป็นตัวกำหนดรูปแบบการดำเนินงาน[24] การให้คุณค่าในเรื่องผลประโยชน์ของแต่ละกลุ่ม องค์กร ที่แสดงออกแตกต่างกันไป และผลประโยชน์นี้เป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ดึงดูดให้สมาชิกของแต่ละกลุ่มเข้ามาเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง ซึ่งผลประโยชน์หรือแรงจูงใจดังกล่าวมีขอบเขตกว้างขวางตั้งแต่ประโยคส่วนตนเป็นหลัก (Private Benefit Organizations) ประโยชน์ของมวลสมาชิกเป็นหลัก (Mutual Benefit Organizations) ตลอดถึงมุ่งประโยชน์สาธารณะเป็นหลัก (Public Benefit Organizations)[25]
                   การตีความและขยายความจากการให้ความหมายของ “ประชาสังคม” ในแง่มุมต่างๆ ที่มีการนำเสนอโดยนักวิชาการต่าง ผนวกกับความเคลื่อนไหวของประชาชนที่ถูกถ่ายทอดขึ้นมาจากพื้นที่ มักชี้ให้เห็นถึงลักษณะและองค์ประกอบของประชาสังคมบางประการ เช่น มีความหลากหลาย มีความเป็นชุมชน เป็นกระบวนการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ฯลฯ[26] ถึงแม้ว่าลักษณะของประชาสังคมที่นำเสนอนี้ มักเป็นสภาวะหรือธรรมชาติ (nature) ของประชาสังคมซึ่งดูค่อนข้างเป็นนามธรรม แต่กระนั้นก็สามารถใช้เป็นกรอบในการมองหรือกำกับรูปธรรมของการปฏิบัติได้ เช่น “ความหลากหลาย” อาจทำให้เรามองเห็นถึง ฐานเดิมหรือบริบทของประชาคมแต่ละพื้นที่ที่แตกต่างกันไป หรือ “ความเป็นชุมชน” มีพื้นฐานมาจากระบบคุณค่าที่แฝงอยู่ในวิถีชีวิต วัฒนธรรมของคนท้องถิ่น เป็นต้น ส่วน “องค์ประกอบของประชาสังคม” นั้น เป็นแนวทางหรือยุทธศาสตร์ที่ขบวนการประชาสังคมพึงถือเป็นเงื่อนไขในการปฏิบัติ อันเป็นหนทางนำไปสู่ประชาสังคมที่เข้มแข็งต่อไป
                   การศึกษาเรื่อง “การเมืองภาคประชาชน” หรือ “ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม” หรือ “ประชาสังคม” จึงนับเป็นเรื่องน่าสนใจอยู่เสมอ เพราะมันแปรเปลี่ยนและเคลื่อนไหวไปตามการปรับตัวของสังคมที่ขอบเขตของสถาบันต่างๆ นับวันเริ่มจะขาดความแน่นอนและเลื่อนไหลอยู่เรื่อยๆ การพยายามชี้ให้เห็นภาพและนิยามว่าสิ่งที่กล่าวนั้นมีอยู่จริงหรือไม่? และ “หน้าตา/ตำแหน่งแห่งที่” ของมันเป็นอย่างไร? จึงเป็นปมปัญหาที่นักวิชาการหรือผู้ที่สนใจพยายามหาคำตอบอยู่เสมอมา ผู้เขียนหวังว่าทรรศนะเสริมนี้จะเป็นเสมือน “ไฟฉาย” ที่ชี้ให้เห็นถึงมุมมองของสิ่งเหล่านี้ในด้านของนิยามและข้อจำกัดของมันที่ดำรงอยู่อีกแง่มุมหนึ่ง ถึงแม้ว่าจะเป็นไฟฉายนี้ที่เดี๋ยวสว่างเดี๋ยวดับก็ตาม
       
       
       
       
       [1] ประภาส ปิ่นตบแต่ง. 2540. การเมืองบนท้องถนน 99 วันสมัชชาคนจน.กรุงเทพฯ: ศูนย์วิจัยและผลิตตำรามหาวิทยาลัยเกริก. และดูงานที่นำเข้าทฤษฎี NSM และปรับใช้ NSM ในการศึกษา “การเมืองภาคประชาชน” เช่น ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร. 2545. ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมรูปแบบใหม่.กรุงเทพฯ: วิภาษา. พิมพ์ครั้งที่ 2; ผาสุก พงษ์ไพจิตร (บก.). 2545. วิถีชีวิต วิธีสู้ ขบวนการประชาชนร่วมสมัย. เชียงใหม่: Silkworm Books.
       
       
       [2] ดูได้จากงานของ เอนก เหล่าธรรมทัศน์. 2538. สองนัคราประชาธิปไตย: แนวทางการปฏิรูปการเมืองเศรษฐกิจเพื่อประชาธิปไตย. กรุงเทพฯ: มติชน; เอนก เหล่าธรรมทัศน์. 2549. ทักษิณา-ประชานิยม.กรุงเทพฯ: มติชน.
       
       
       [3] นับจากนี้ ผู้เขียนขออนุญาตใช้คำว่า “NSM” เพื่อแทนคำว่า “ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมรูปแบบใหม่”
       
       
       [4] อิทธิพลของ NSM มิได้จำกัดตัวอยู่ที่การเมืองภาคประชาชนในชนบทหรือกลุ่มเกษตรกร ดังเช่นที่เราเห็นในกรณีตัวอย่างคือ สมัชชาคนจน เท่านั้น หากแต่ถ้าพิจารณาการเมืองของขบวนการแรงงานและขบวนการกลุ่มอื่นๆ ที่อยู่ในภาคอุตสาหกรรม เราจะพบว่าขบวนการจำนวนมากมุ่งเน้นการขับเคลื่อนและรวมตัวกันทางการเมืองผ่านการจัดตั้งเครือข่ายหลวมๆ ที่สนใจประเด็นเฉพาะหน้าด้วย โดยบอกเลิกการจัดตั้งพรรคการเมืองปฏิวัติของชนชั้นเช่นเดียวกัน
       
       
       [5] ประภาส ปิ่นตบแต่ง. 2550. “ทักษิณา-ประชานิยม: คู่มือรัฐประหาร และรัฐธรรมนูญสีเหลือง.” ใน ฟ้าเดียวกัน. ปีที่ 5 ฉบับที่ 1 (มกราคม-มีนาคม), น.155.
       
       
       [6] ประภาส ปิ่นตบแต่ง. 2555. ห้องเรียนประชาธิปไตย “ขบวนการเคลื่อนไหวของประชาชนไทย: ข้อถกเถียง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก http://www.prachatai.com/journal/2012/03/39672, 15 มี.ค. 2555.
       
       
       [7] โปรดดู ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร. 2545. อ้างแล้ว.
       
       
       [8] โปรดดู  เอนก เหล่าธรรมทัศน์. 2540. ส่วนรวมที่มิใช่รัฐ: ความหมายของประชาสังคม. โครงการวิจัยและพัฒนาประชาสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล.
       
       
       [9] ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร. 2545. อ้างแล้ว.
       
       
       [10] ตัวอย่างของขบวนการเคลื่อนไหวใหม่ทางสังคมนี้ในต่างประเทศ ไชยรัตน์ ใช้ตัวอย่างที่แม้มิใช่ตัวแทนแต่ก็ทำให้เห็นรูปแบบการต่อสู้เคลื่อนไหวที่เปลี่ยนแปลงชัดเจนจาก 3 ขบวนการคือ ขบวนการโซลิดาริตี้ (Solidarity) หรือสหภาพแรงงานเสรีในโปแลนด์ ขบวนการอนุรักษ์ธรรมชาติที่มีชื่อว่า “โลกมาก่อน!” (Earth First!) ในสหรัฐอเมริกา และขบวนการเรียกร้องสิทธิมนุษยชน (Human Rights Movements) 3 แบบ คือ สิทธิในการทำงานนอกบ้านของผู้หญิงอินเดียและบังกลาเทศ สิทธิของคนพื้นเมืองดั้งเดิมในทวีปอเมริกาเหนือและใต้ และสิทธิของผู้หญิงอินเดียนในแคนาดา ขบวนการตัวอย่างนี้ต่างจากการรวมกลุ่มแบบองค์กรอาสาสมัคร (Civic Groups and Voluntary Organizations) ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกัน (ประมาณทศวรรษ 1970s) ที่มองว่ารัฐเป็นกรรมการกลางที่ตอบสนองความต้องการหรือข้อเรียกร้องของประชาชน จึงมีแนวโน้มช่วยขยายอำนาจรัฐให้กว้างไกลออกไป
       
       
       [11] เอนก เหล่าธรรมทัศน์. 2540. อ้างแล้ว.
       
       
       [12] ประชาธิปไตยในลักษณะนี้ มีความแตกต่างประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม (Participatory Democracy) และประชาธิปไตยแบบตัวแทน (Representative Democracy) ในลักษณะของความหมายที่กว้างกว่า โปรดดู ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร. 2545. อ้างแล้ว, น.65. หรืองานที่เกี่ยวกับทฤษฎีประชาธิปไตยแบบเข้มข้น (Radical Democracy) อันจะนำไปสู่การพัฒนาประชาธิปไตยในลักษณะที่เป็นประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ (Deliberative Democracy) และจุดบกพร่องที่สำคัญ โดย Warren, Mark E. 1996. “What Should We Expect from More Democracy?: Radically Democratic Response to Politics.” In Political Theory. Vol. 24/2 (May), pp.241-270.
       
       
       [13] เอนก เหล่าธรรมทัศน์. 2540. อ้างแล้ว.
       
       
       [14] Mouffe, Chantal. 1995. “Democratic Politic and the Questions of Identity.” In John Rajchman (ed.) The Identity in Question. New York: Routledge, pp.3-12.
       
       
       [15] แนวคิดกลไกทางอุดมการณ์ของรัฐในการผลิตซ้ำคุณค่า โปรดดู  Althusser, Louis. 1971. “Ideology and Ideological State Apparatuses.”  In  Lenin and Philosophy, and Other  Essays. Ben Brewster (translated).  London: New Left Books, pp.127-188.
       
       
       [16] ดูการอภิปรายถึง วิถีของการต่อสู้ทางการเมือง (mode of politics) ใน Sylvain Lazarus. 2007. “Lenin and the Party, 1902-November 1917.” In Sebastian Budgen, Stathis Kouvelakis and Slavoj Zizek (eds.) Lenin Reloaded: Toward a Politics of Truth. Durham and London: Duke University Press, pp.255-268.
       
       
       [17] โปรดดู Gustave Le Bon. 1995. The Crowd. New Brunswick and London: Transaction Publishers. และดูงานที่วิจารณ์ความไม่เพียงพอของการอธิบายของ Le Bon เช่น Ernesto Laclau. 2005. On Populist Reason. London and New York: Verso, pp.21-30.
       
       
       [18] ประภาส ปิ่นตบแต่ง. 2551. “การเมืองด้านมืด.” ใน Way. กรกฎาคม.
       
       
       [19] ยุกติ มุกดาวิจิตร. 2551. “ขบวนการประชาชนหลังขบวนการพันธมิตรฯ.” ใน วิภาษา. ปีที่ 2 ฉบับที่ 6 (1 พฤศจิกายน-15 ธันวาคม), น.19.
       
       
       [20] ยิ่งไปกว่านั้น งานวิชาการบางชิ้น เช่น เก่งกิจ กิติเรียงลาภ และ เควิน ฮิววิสัน. 2552. “บทวิพากษ์ “การเมืองภาคประชาชน” ในประเทศไทย: ข้อจำกัดของแนววิเคราะห์และยุทธศาสตร์การเมืองแบบ“ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมรูปแบบใหม่”.” ใน ฟ้าเดียวกัน. ปีที่ 7 ฉบับที่ 2 (เมษายน.-มิถุนายน), น.153-154. อธิบายถึงว่างานสาย NSM ละเลยและไม่ให้ความสำคัญกับการจัดวางบทบาทสถาบันพระมหากษัตริย์ในการอธิบายการเคลื่อนไหวของขบวนการที่กำลังศึกษาอยู่ ในขณะที่งานเหล่านี้ให้ความสำคัญกับการทำความเข้าใจขบวนการทางสังคม แต่กลับไม่สามารถอธิบายได้ว่าสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ตรงไหนของพื้นที่ระหว่างรัฐ/ประชาสังคม โดยเฉพาะอยู่ตรงไหนหรือสัมพันธ์อย่างไรต่อขบวนการทางสังคมเหล่านั้น ดังนั้น แนววิเคราะห์แบบ NSM จึงไม่สามารถอธิบายได้ว่า ทำไมขบวนการที่ถูกเรียกว่า “การเมืองภาคประชาชน” ที่ต่อต้านรัฐหรือรัฐบาล ถึงเข้าร่วมหรือทำแนวร่วมกับกลุ่มพลังอนุรักษนิยม หรือมีข้อเรียกร้องไปในทิศทางที่เป็นปฏิปักษ์ต่อประชาธิปไตย ดังในกรณีของขบวนการพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
       
       
       [21] งานที่แสดงทรรศนะข้างต้น ดูได้จาก Kengkij Kitirianglarp and Kevin Hewison. 2009. “Social Movements and Political Opposition in Contemporary Thailand.” In The Pacific Review.Vol.22 No.4 September, pp.451-477; เก่งกิจ กิติเรียงลาภ. 2552. การเมืองของการต่อสู้ทางชนชั้นในประเทศไทยจาก พ.ศ. 2535 ถึง พ.ศ. 2549. วิทยานิพนธ์ปริญญาเอก คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
       
       
       [22] โปรดดู Holloway, Richard. 2001. Using The Civil Society Index: Assessing the Health of Civil Society A Handbook for Using the CIVICUS Index on Civil Society as a Self-Assessment Tool. CIVICUS.
       
       
       [23] CIVICUS อ้างถึงใน Holloway, Richard. Ibid, pp.7.
       
       
       [24] งานเขียนลักษณะของรูปแบบคุณค่าที่เป็นตัวชี้นำรูปแบบของกลุ่มหรือองค์การที่น่าสนใจ  ในด้านของการจัดองค์การเพื่อบริการสาธารณะ เช่น Hood, Christopher. 1991. "A Public Management for all season?" In Public Administration. Vol.69  Spring, pp.3-19. 
       
       
       [25] ประเภทขององค์กรประชาสังคม (CSO) เหล่านี้ ซึ่งมุ่งคุณค่าหรือผลประโยชน์ที่แตกต่างกัน จะนำไปสู่รูปแบบองค์กรที่แตกต่างกัน ยกตัวอย่าง มุ่งองค์กรที่มุ่งประโยชน์สาธารณะเป็นหลัก (Public Benefit Organizations) จะเป็นองค์กรจำพวกมูลนิธิสาธารณกุศล องค์กรสาธารณประโยชน์ บริษัทที่ไม่แสวงกำไร เป็นต้น ในขณะที่องค์กรที่มุ่งประโยชน์ของมวลสมาชิกเป็นหลัก (Mutual Benefit Organizations) จะมีลักษณะเป็นองค์กรทางศาสนา องค์กรชุมชน พรรคการเมือง สหภาพแรงงาน เป็นต้น ดูรายละเอียดเพิ่มเติมใน Holloway, Richard. Ibid, unit 2.
       
       
       [26] โปรดดูเพิ่งเติมใน อนุชาติ พวงสำลี และ วีรบูรณ์ วิสารทสกุล. 2540. ประชาสังคม: คำ ความคิด และความหมาย. หนังสือชุดประชาสังคม ลำดับที่ 7. กรุงเทพฯ: สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา.
       
       


พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=1724
เวลา 22 พฤศจิกายน 2567 19:05 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)