|
|
ความคิดเห็นต่อคำพิพากษาศาลปกครองพิษณุโลก กรณีชาวบ้านเขาหม้อฟ้องให้เพิกถอนประทานบัตรเหมืองแร่ทองคำของบริษัท อัครา ไมนิ่ง จำกัด (ตอนที่๓) 6 พฤษภาคม 2555 23:47 น.
|
ตอนที่ ๓: ผลของคำพิพากษาคดีที่ชาวบ้านเขาหม้อยื่นฟ้องให้เพิกถอนประทานบัตรเหมืองแร่ทองคำของบริษัท อัครา ไมนิ่ง จำกัด
บทความชิ้นนี้เป็นตอนที่ ๓ ต่อจาก ตอนที่ ๑: ความร่วมมือระหว่างบริษัท อัครา ไมนิ่ง จำกัด และหน่วยงานราชการของรัฐ ในการทำคำชี้แจงและให้ถ้อยคำต่อศาลปกครองพิษณุโลกเพื่อพิจารณาคำขอให้ศาลมีคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษา และ ตอนที่ ๒: ความร่วมมือระหว่างบริษัท อัครา ไมนิ่ง จำกัด และหน่วยงานราชการของรัฐ ในการทำคำชี้แจงและให้ถ้อยคำต่อศาลปกครองพิษณุโลกเพื่อพิจารณาและพิพากษาคดีที่ชาวบ้านเขาหม้อยื่นฟ้องให้เพิกถอนประทานบัตรเหมืองแร่ทองคำและเงิน
จากกรณีที่ศาลปกครองพิษณุโลกออกนั่งพิพากษาคดีระหว่างนางสาวสื่อกัญญา ธีระชาติดำรง ชาวบ้านบ้านเขาหม้อ ต. เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร ซึ่งเป็นผู้ฟ้องคดี กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) คณะกรรมการเหมืองแร่ อธิบดีกรมป่าไม้ องค์การบริหารส่วนตำบลเขาเจ็ดลูก ซึ่งเป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ - ๕ ตามลำดับ และบริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด ซึ่งเป็นผู้ร้องสอด เมื่อวันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๕๕ ที่ผ่านมา ในกระบวนการไต่สวนและแสวงหาข้อเท็จจริงก่อนการพิจารณาคดีและคำพิพากษามีการยื่นคำชี้แจงและให้ถ้อยคำต่อศาลโดยบริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด และหน่วยงานราชการของรัฐ ในประเด็นที่เป็นสาระสำคัญหลายประการซึ่งส่งผลต่อการพิจารณาและพิพากษาคดีดังกล่าวของศาลในเวลาต่อมา
คดีนี้นางสาวสื่อกัญญา ธีระชาติดำรง ได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองพิษณุโลกตั้งแต่วันที่ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ โดยขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง ดังนี้
๑. เพิกถอนประทานบัตรที่ ๒๖๙๑๗/๑๕๘๐๔, ๒๖๙๒๒/๑๕๘๐๕, ๒๖๙๒๑/๑๕๘๐๖, ๒๖๙๒๐/๑๕๘๐๗ และ ๒๖๙๒๓/๑๕๘๐๘
๒. เพิกถอนมติของสภาองค์การบริหารส่วนตำบลเขาเจ็ดลูก เมื่อวันที่ ๓ มิถุนายน ๒๕๔๘
๓. เพิกถอนคำสั่งกรมป่าไม้ที่อนุญาตให้ผู้ร้องสอดเข้าทำประโยชน์ในเขตพื้นที่ป่าไม้ ตามหนังสือกรมป่าไม้ ที่ ทส ๑๖๐๒.๔/๑๓๙๖ ลงวันที่ ๒๓ มกราคม ๒๕๕๑
๔. ขอให้สั่งระงับการดำเนินการใด ๆ ในเขตพื้นที่ประทานบัตรทั้ง ๕ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเสียหายเป็นการชั่วคราว
ซึ่งศาลได้มีคำสั่งรับคำฟ้องไว้พิจารณาและสั่งให้บริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด เข้ามาเป็นคู่กรณีในฐานะผู้ร้องสอดโดยนางสาวสื่อกัญญา ธีระชาติดำรง หรือผู้ฟ้องคดีมีคำขอมาพร้อมคำฟ้องโดยขอให้ศาลมีคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษาโดยขอให้สั่งระงับการดำเนินการใด ๆ ในเขตพื้นที่ประทานบัตรพิพาททั้ง ๕ แปลงตามที่ได้กล่าวไปแล้ว เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเสียหายเป็นการชั่วคราว และมีคำร้องขอไต่สวนฉุกเฉินเพื่อให้ศาลมีคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองชั่วคราว ลงวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๕ ดังนี้
๑. ให้ระงับการดำเนินการใดในเขตพื้นที่ประทานบัตรพิพาท
๒. ให้เปิดทางสาธารณประโยชน์เพื่อให้ผู้ฟ้องคดีและประชาชนในชุมชนสามารถใช้สัญจรไปมาได้
๓. กำหนดมาตรการหรือวิธีการชั่วคราวอื่นใดตามที่ศาลเห็นสมควรเพื่อไม่ให้ฝุ่นละอองและเสียงที่เกินมาตรฐานรบกวน ก่อความรำคาญต่อชาวบ้านและชุมชน อีกทั้งกำหนดไม่ให้ทำให้เกิดสารพิษเจือปนในน้ำใต้ดินและลำคลองตามธรรมชาติ ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพและชีวิตของประชาชนในชุมชนอย่างร้ายแรง
แต่หลังจากที่ศาลมีคำสั่งยกคำขอในเรื่องการกำหนดมาตรการหรือวิธีการเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษาของผู้ฟ้องคดีแล้ว (โปรดดูบทความตอนที่ ๑) ศาลได้ดำเนินการแสวงหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติมต่อไปโดยมีคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดี ผู้ถูกฟ้องคดี และหน่วยงานราชการต่าง ๆ ยื่นคำชี้แจงและให้ถ้อยคำเพิ่มเติม เรียกเอกสาร ตรวจสอบสถานที่การทำเหมืองและหมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบ ตั้งคณะกรรมการพยานผู้เชี่ยวชาญ ฯลฯ (โปรดดูบทความตอนที่ ๒)ต่อจากนั้นศาลได้ตรวจพิจารณาเอกสารทั้งหมดในสำนวนคดี รวมทั้งบทกฎหมายและกฎที่เกี่ยวข้องประกอบแล้วจึงได้ออกนั่งพิจารณาคดีเมื่อวันที่ ๑๙ มีนาคม ๒๕๕๕ โดยได้รับฟังสรุปข้อเท็จจริงของตุลาการเจ้าของสำนวน และรับฟังคำแถลงการณ์ด้วยวาจาของตุลาการผู้แถลงคดีด้วยแล้ว ซึ่งข้อเท็จจริงที่รับฟังได้จากการออกนั่งพิจารณาคดีของศาลในวันดังกล่าว มีประเด็นสำคัญหลายประการควรค่าแก่การศึกษาของสาธารณชน
ศาลได้พิเคราะห์ว่าคำฟ้องคดีนี้ผู้ฟ้องคดี หรือ นางสาวสื่อกัญญา ธีระชาติดำรง ฟ้องรวมมาสองข้อหา คือ ข้อหาที่หนึ่ง ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่าผู้ถูกฟ้องคดี ๑ ออกประทานบัตรที่ ๒๖๙๑๗/๑๕๘๐๔, ๒๖๙๒๒/๑๕๘๐๕, ๒๖๙๒๑/๑๕๘๐๖, ๒๖๙๒๐/๑๕๘๐๗ และ ๒๖๙๒๓/๑๕๘๐๘ ลงวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๕๑ (ประทานบัตรพิพาท) โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และข้อหาที่สอง ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่า เมื่อผู้ร้องสอด หรือบริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด ได้รับประทานบัตรพิพาทแล้วได้ทำเหมืองหรือแต่งแร่โดยฝ่าฝืนกฎหมาย การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และ ๒ ไม่เพิกถอนประทานบัตรพิพาทจึงเป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ
ในข้อหาที่หนึ่ง ศาลได้พิเคราะห์ว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ หรือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมได้ใช้ดุลพินิจตามหลักปฏิบัติราชการเพื่อรักษาประโยชน์ส่วนรวม และตามหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีภายใต้หลักเกณฑ์ของกฎหมายที่ให้อำนาจในการออกประทานบัตรพิพาทขณะนั้นแล้ว แต่อย่างไรก็ดี เมื่อได้มีประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดประเภท ขนาด และวิธีปฏิบัติสำหรับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ ที่ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือเอกชนจะต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม พ.ศ. ๒๕๕๓ ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑ กันยายน ๒๕๕๓ โดยลำดับที่ ๒.๒ ของตารางในเอกสารแนบท้ายประกาศกระทรวงฉบับดังกล่าว กำหนดให้เหมืองแร่โลหะอื่นที่ใช้ไซยาไนด์ในกระบวนการผลิตทุกขนาด เป็นโครงการหรือกิจการที่จะต้องได้รับอนุญาตจากทางราชการตามกฎหมายให้เสนอรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ตามบทบัญญัติมาตรา ๖๗ วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญฯ ประกอบกับรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ของโครงการเหมืองแร่ทองคำของผู้ร้องสอดระบุว่าต้องใช้ไซยาไนด์ในกระบวนการผลิต จึงถือว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้รู้หรือควรรู้ว่าโครงการเหมืองแร่ทองคำของผู้ร้องสอดเป็นโครงการหรือกิจการตามประกาศดังกล่าวซึ่งจะต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมเพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติมาตรา ๖๗ วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญฯ ตั้งแต่วันที่ ๑ กันยายน ๒๕๕๓ ดังนั้น เพื่อให้การออกประทานบัตรพิพาทเป็นไปโดยชอบตามหลักเกณฑ์ของบทบัญญัติมาตรา ๖๗ วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญฯ และเป็นไปตามหลักความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำทางปกครอง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จึงชอบที่จะแก้ไขคำสั่งอนุญาตคำขอประทานบัตรพิพาทเดิมโดยให้ผู้ร้องสอดจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสุขภาพของโครงการเหมืองทองคำเพิ่มเติม ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ ระเบียบปฏิบัติและแนวทางในการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ ลงวันที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๕๒ ตั้งแต่วันที่ ๑ กันยายน ๒๕๕๓ ดังนั้น เมื่อไม่ปรากฏว่าผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ได้ดำเนินการดังกล่าว จึงถือว่าคำสั่งอนุญาตคำขอประทานบัตรพิพาทไม่เป็นตามขั้นตอนอันเป็นสาระสำคัญตามที่กฎหมายกำหนด และถือว่าประทานบัตรที่ ๒๖๙๑๗/๑๕๘๐๔, ๒๖๙๒๒/๑๕๘๐๕, ๒๖๙๒๑/๑๕๘๐๖, ๒๖๙๒๐/๑๕๘๐๗ และ ๒๖๙๒๓/๑๕๘๐๘ ลงวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๕๑ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย[1]
ดูเหมือนว่าบทพิเคราะห์ของศาลตามย่อหน้าที่กล่าวมาดูดีที่พิเคราะห์ว่าคำสั่งอนุญาตประทานบัตรพิพาททั้ง ๕ แปลง ไม่เป็นไปตามขั้นตอนอันเป็นสาระสำคัญตามที่กฎหมายกำหนด และถือว่าประทานบัตรพิพาททั้ง ๕ แปลง ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ศาลก็ได้พิเคราะห์ประเด็นนี้เชื่อมโยงกับข้อหาที่สองว่า ประทานบัตรพิพาทเป็นคำสั่งทางปกครองตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ แม้เป็นคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายดังที่ได้วินิจฉัยแล้วก็ตาม แต่คำสั่งทางปกครองดังกล่าวย่อมมีผลตราบเท่าที่ยังไม่มีการเพิกถอนหรือสิ้นผลลงโดยเงื่อนเวลาหรือโดยเหตุอื่น ตามมาตรา ๔๒ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน ความไม่ชอบด้วยกฎหมายจึงเป็นเพียงเหตุให้เพิกถอนคำสั่งทางปกครองดังกล่าวเท่านั้น ดังนั้นประทานบัตรพิพาทจึงมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายจนกว่าจะถูกเพิกถอน ศาลจึงมีปัญหาที่ต้องพิจารณาตามคำฟ้องข้อแรกว่า การที่ผู้ร้องสอดผู้ถือประทานบัตรพิพาท หรือบริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด กระทำการปิดกั้นและขุดทำลายทางสาธารณประโยชน์ที่อยู่ในพื้นที่ประทานบัตรเพื่อนำแร่ทองคำและเงินใต้ถนนมาเป็นประโยชน์ของตน ทำให้ชาวบ้านไม่สามารถสัญจรได้ เป็นการฝ่าฝืนกฎหมายเข้าข่ายที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ต้องเพิกถอนประทานบัตรหรือไม่ ซึ่งศาลได้พิเคราะห์ว่า บทบัญญัติตามมาตรา ๖๓[2] และ มาตรา ๑๓๘[3] ของกฎหมายแร่ ๒๕๑๐ มิได้ห้ามผู้ถือประทานบัตรปิดกั้น ทำลาย หรือกระทำด้วยประการใดให้เป็นการเสื่อมประโยชน์แก่ทางหลวงหรือทางน้ำสาธารณะโดยเด็ดขาด ผู้ถือประทานบัตรสามารถยื่นคำขอรับใบอนุญาตปิดกั้นทางสาธารณะจากเจ้าพนักงานอุตสาหกรรมแร่ประจำท้องที่ได้ ซึ่งได้ปรากฏข้อเท็จจริงว่า บริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด หรือผู้ร้องสอดได้ทำการปิดกั้น หรือทำลายหรือกระทำให้เสื่อมประโยชน์แก่ทางหลวงหรือทางน้ำสาธารณะในเขตประทานบัตรที่ ๒๖๙๑๐/๑๕๓๖๕ (หนึ่งในประทานบัตรตามโครงการเหมืองแร่ทองคำชาตรี[4]) และที่ ๑๖๙๑๗/๑๕๘๐๔ (หนึ่งในประทานบัตรพิพาท ๕ แปลง ที่อยู่ในคำฟ้องคดีนี้) โดยเจ้าพนักงานอุตสาหกรรมแร่ประจำท้องที่จังหวัดพิจิตรได้เปรียบเทียบปรับตามมาตรา ๑๓๘ ของกฎหมายแร่ ๒๕๑๐ เป็นเงิน ๒,๐๐๐ บาท แล้วเมื่อวันที่ ๑๔ มกราคม ๒๕๕๓ และต่อมาเมื่อวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ เจ้าพนักงานอุตสาหกรรมแร่ประจำท้องที่จังหวัดพิจิตร ได้ออกใบอนุญาตปิดกั้น ทำลายหรือกระทำให้เสื่อมประโยชน์แก่ทางหลวงหรือทางน้ำสาธารณะให้ผู้ร้องสอดตามเลขที่ประทานบัตรที่กล่าวมาแล้ว รวมทั้งยังได้ออกใบอนุญาตทำเหมืองใกล้ทางหลวงหรือทางสาธารณะให้แก่ผู้ร้องสอดซึ่งเป็นผู้ถือประทานบัตรตามโครงการเหมืองแร่ทองคำชาตรีเมื่อวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ อีกด้วย และแม้จะถูกร้องเรียนจากชาวบ้านต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๕ หรือ อบต. เขาเจ็ดลูก ว่าผู้ร้องสอดได้ล้อมรั้วลวดหนามปิดกั้นและทำให้เสื่อมสภาพทางสาธารณประโยชน์ และ อบต. เขาเจ็ดลูกมีหนังสือแจ้งให้บริษัทฯ เปิดเส้นทางสาธารณประโยชน์ดังกล่าว แต่เมื่อประมวลพฤติการณ์แห่งคดีและความร้ายแรงประกอบแล้ว เห็นว่า กรณียังไม่ถึงขนาดที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จะใช้ดุลพินิจเพิกถอนประทานบัตรพิพาท
ศาลได้พิจารณาปัญหาตามคำฟ้องข้อต่อไปว่า การที่ผู้ร้องสอด หรือบริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด ทำเหมืองหรือแต่งแร่โดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายเป็นเหตุให้สารพิษจากโลหะหนัก เช่น สารหนู และแมงกานีส ปนเปื้อนสู่แหล่งน้ำธรรมชาติและน้ำใต้ดินในระดับที่เป็นอันตรายต่อชีวิตของผู้ฟ้องคดีและชุมชนชาวบ้านเขาหม้อที่อาศัยอยู่ใกล้เคียง ซึ่งเป็นการทำเหมืองและการแต่งแร่อันน่าจะเป็นเหตุให้แร่ที่มีพิษหรือสิ่งอื่นที่มีพิษก่อให้เกิดอันตรายแก่บุคคล สัตว์ พืชหรือทรัพย์สิน และต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดในใบอนุญาต เป็นการฝ่าฝืนกฎหมายเข้าข่ายที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ต้องเพิกถอนประทานบัตรหรือไม่ ซึ่งศาลได้พิจารณาปัญหานี้โดยคำนึงถึงความร้ายแรงตามพฤติการณ์แห่งกรณีและความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการที่บริษัทฯ กระทำการฝ่าฝืนกฎหมายดังกล่าวเป็นสำคัญ ศาลจึงพิเคราะห์ว่า แม้การปนเปื้อนของสารไซยาไนด์ และโลหะหนัก เช่น สารหนู แมงกานีสและปรอทในแหล่งน้ำธรรมชาติและน้ำใต้ดินอาจมีสาเหตุมาจากการทำเหมืองหรือการแต่งแร่ของผู้ร้องสอดก็ตาม แต่ยังไม่ถึงขั้นที่อาจก่อให้เกิดอันตรายแก่บุคคล สัตว์ พืช หรือทรัพย์สินอย่างรุนแรงจนเป็นเหตุให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ต้องใช้ดุลพินิจเพิกถอนประทานบัตรพิพาท ดังเช่นที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้าง แต่เป็นกรณีที่ผู้ร้องสอดสามารถแก้ไขเยียวยาได้ โดยปรากฏว่าผู้ร้องสอดได้ดำเนินการแก้ไขและบรรเทาความเสียหายตามคำแนะนำของคณะเจ้าหน้าที่ผู้ตรวจสอบของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ แล้ว ดังนั้น การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และ ๒ ไม่เพิกถอนประทานบัตรพิพาทจึงเป็นการใช้ดุลพินิจโดยชอบแล้ว และไม่เป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติอีกด้วย[5]
จึงมีปัญหาให้ศาลได้พิจารณาในข้อสุดท้ายว่า แม้ประทานบัตรพิพาทเป็นคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายดังที่ได้วินิจฉัยแล้วก็ตาม แต่คำสั่งทางปกครองย่อมมีผลตราบเท่าที่ยังไม่ถูกเพิกถอนตามมาตรา ๔๒ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ ความไม่ชอบด้วยกฎหมายเป็นเพียงเหตุให้เพิกถอนคำสั่งทางปกครองเท่านั้น และโดยที่เหตุแห่งความไม่ชอบด้วยกฎหมายของประทานบัตรพิพาทเป็นเพียงการไม่ได้ดำเนินการตามกระบวนการและขั้นตอนตามที่มาตรา ๖๗ วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ กำหนดไว้ ซึ่งสามารถแก้ไขได้โดยดำเนินการให้ครบถ้วนในภายหลัง ประกอบกับความเสียหายจากการที่ผู้ร้องสอดทำเหมืองหรือแต่งแร่โดยฝ่าฝืนกฎหมาย แม้อาจเป็นเหตุให้สารไซยาไนด์ และโลหะหนัก เช่น สารหนู แมงกานีส และปรอทปนเปื้อนสู่แหล่งน้ำธรรมชาติและน้ำใต้ดินก็ตาม แต่ยังไม่ถึงขนาดที่จะก่อให้เกิดอันตรายแก่บุคคล สัตว์ พืช หรือทรัพย์สินอย่างรุนแรงจนยากแก่การเยียวยาแก้ไขในภายหลัง อันจะเป็นเหตุให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ต้องใช้ดุลพินิจเพิกถอนประทานบัตรพิพาทดังที่ได้วินิจฉัยมาแล้ว ดังนี้หากศาลจะเพิกถอนประทานบัตรพิพาทโดยให้มีผลทันที แล้วให้ผู้ร้องสอดกลับไปดำเนินการตามกระบวนการและขั้นตอนตามที่มาตรา ๖๗ วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญฯ กำหนดให้ครบถ้วนก่อน ย่อมเห็นได้ชัดว่าไม่เพียงแต่ผู้ร้องสอด พนักงาน ลูกจ้างและคนงานของผู้ร้องสอดเท่านั้นที่ต้องรับความเดือดร้อนเสียหายอย่างมาก แต่ยังกระทบต่อประโยชน์เกี่ยวข้องที่ชุมชนชาวบ้านใกล้เคียงเคยได้รับไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ของผู้ร้องสอด และโดยเฉพาะอย่างยิ่งกระทบต่อรายได้ที่รัฐต้องได้รับจากการประกอบกิจการของผู้ร้องสอดอีกด้วย[6]
ในท้ายที่สุดศาลจึงได้มีคำพิพากษา ดังนี้ พิพากษาเพิกถอนประทานบัตรที่ ๒๖๙๑๗/๑๕๘๐๔, ๒๖๙๒๒/๑๕๘๐๕, ๒๖๙๒๑/๑๕๘๐๖, ๒๖๙๒๐/๑๕๘๐๗ และ ๒๖๙๒๓/๑๕๘๐๘ ลงวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๕๑ โดยให้การเพิกถอนมีผลในวันที่ผู้ร้องสอดไม่จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการเหมืองแร่ทองคำให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ ระเบียบปฏิบัติและแนวทางในการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ ลงวันที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๕๒ ให้เสร็จสมบูรณ์ภายในกำหนดหนึ่งปี หรือเมื่อรายงานนั้นไม่ได้รับความเห็นชอบ ทั้งนี้นับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด คำขออื่นให้ยก[7]
ผลของคำพิพากษาในทางปฏิบัติจึงมีว่าหากปล่อยให้มีการทำเหมืองแร่ในแปลงประทานบัตรพิพาท ๕ แปลง ในขณะที่ศาลสั่งให้มีการจัดทำรายงาน EHIA ตามมาตรา ๖๗ วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญฯ ภายในกำหนดหนึ่งปี หรือหากผู้ฟ้องคดีตัดสินใจอุทธรณ์คดีต่อศาลปกครองกลาง ก็จะส่งผลให้การทำเหมืองในแปลงประทานบัตรพิพาท ๕ แปลง ยังคงดำเนินต่อไปได้จนกว่าคดีจะถึงที่สิ้นสุด นั่นย่อมทำให้สินแร่ทองคำและเงินในแปลงประทานบัตรพิพาท ๕ แปลง ร่อยหรอหรือหมดลงไปได้ ซึ่งถ้าหากบริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด มิสามารถจัดทำรายงาน EHIA ให้เสร็จสิ้นหรือไม่ได้รับความเห็นชอบภายในหนึ่งปีตามที่ศาลปกครองพิษณุโลกกำหนด หรือในกรณีที่ชาวบ้านเขาหม้อฟ้องอุทธรณ์คดีนี้ต่อศาลปกครองกลางแล้วคำพิพากษาในชั้นอุทธรณ์ออกมาว่าให้เพิกถอนประทานบัตรโดยไม่มีเงื่อนไข แต่การทำเหมืองแร่ในเขตประทานบัตรพิพาท ๕ แปลง ได้ดำเนินไปจนทำให้สินแร่ร่อยหรอหรือหมดลงไป เมื่อนั้นศาลจะต้องมีคำสั่งให้ชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการทำเหมืองแร่ในเขตประทานบัตรพิพาท ๕ แปลง คำถามคือใครจะเป็นผู้ชดใช้ความเสียหาย ทั้งในแง่ความเสียหายต่อเศรษฐกิจของประเทศชาติ สุขภาพอนามัยของประชาชน ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศน์ที่เสียหายถูกทำลายไป ใครจะเป็นผู้ไล่เบี้ยยึดคืนสินแร่ทองคำและเงินที่บริษัทฯ ดำเนินการขุดเอาไปในระหว่างจัดทำรายงาน EHIA หรือในระหว่างดำเนินคดีในชั้นอุทธรณ์ต่อศาลปกครอง
ซึ่งตามความเป็นจริงแล้ว การปิดกิจการเหมืองแร่ในแปลงประทานบัตรพิพาททั้ง ๕ แปลง จะไม่ส่งผลกระทบใด ๆ ต่อแผนการทำเหมืองของบริษัทฯ เลย เนื่องจากว่ายังมีประทานบัตรอีก ๔ แปลง มาทดแทนการทำเหมืองได้ โดยประทานบัตร ๔ แปลงดังกล่าวเป็นประทานบัตรที่อยู่ติดกันหรืออยู่ในกลุ่มเดียวกันกับประทานบัตรพิพาททั้ง ๕ แปลง รวมเป็นทั้งหมด ๙ แปลง เรียกรวมกันว่าแหล่งแร่ทองคำชาตรีเหนือ ซึ่งเป็นแหล่งแร่ทองคำที่อยู่ระหว่างรอยต่อจังหวัดพิจิตรและเพชรบูรณ์ โดยใช้สันปันน้ำของเขาหม้อซึ่งเป็นภูเขาลูกโดดแบ่งเขตจังหวัดทั้งสอง แต่การที่ผู้ฟ้องคดีฟ้องให้เพิกถอนประทานบัตรพิพาทเพียงแค่ ๕ แปลง ซึ่งอยู่ในเขตจังหวัดพิจิตรก็เพราะไม่มั่นใจในเรื่องของเขตอำนาจศาลและเขตการเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่สามารถฟ้องคดีต่อศาลปกครองได้ของตนเองจะข้ามไปที่ฝั่งจังหวัดเพชรบูรณ์ได้หรือไม่ จึงเป็นเหตุให้ไม่นำประทานบัตรอีก ๔ แปลง ซึ่งเป็นแหล่งแร่เดียวกันคือแหล่งทองคำชาตรีเหนือ อยู่ในอีไอเอฉบับเดียวกันและได้รับประทานบัตรพร้อมกันเมื่อวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๕๑ ซึ่งอยู่ในเขตจังหวัดเพชรบูรณ์มารวมไว้ในคำฟ้องด้วย แต่ถ้าไม่มีมาตรการสั่งให้หยุดการทำเหมืองในแปลงประทานบัตรพิพาท ๕ แปลง ในระหว่างการจัดทำรายงาน EHIA ตามมาตรา ๖๗ วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญฯ หรือระหว่างรอคำพิพากษาชั้นอุทธรณ์ของศาลปกครองกลาง อาจมีความเป็นไปได้ว่าบริษัทฯ จะปรับแผนการทำเหมืองแร่ทองคำและเงินโดยมุ่งทำเหมืองในส่วนของแปลงประทานบัตรพิพาท ๕ แปลงก่อน เพื่อต้องการให้ผลของคำพิพากษาไม่เกิดผลในทางปฏิบัติใด ๆ เนื่องจากว่ากว่าที่การจัดทำรายงาน EHIA ตามมาตรา ๖๗ วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญฯ หรือผลพิพากษาชั้นอุทธรณ์ของศาลปกครองกลางจะแล้วเสร็จ สินแร่ทองคำและเงินในแปลงประทานบัตรพิพาท ๕ แปลง ก็ร่อยหรอหรือหมดสิ้นลงไปแล้ว
ในส่วนของความช่วยเหลือจากหน่วยงานราชการของรัฐต่อบริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด ที่เตรียมการไว้แล้วหากว่าชาวบ้านหมู่บ้านเขาหม้อตัดสินใจไม่ยื่นฟ้องคดีนี้ในชั้นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองกลางต่อไป คาดว่า กพร. หรือหน่วยงานราชการอื่น ๆ อีก จะดำเนินการช่วยเหลือบริษัทฯ โดยทำหนังสือยื่นชี้แจงต่อศาลปกครองพิษณุโลกและส่วนราชการที่เกี่ยวข้องว่าโครงการเหมืองแร่ทองคำชาตรีเหนือที่มีประทานบัตรพิพาท ๕ แปลง ที่ถูกฟ้องคดีนี้รวมอยู่ด้วยมิใช่โครงการที่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ตามคำพิพากษาศาลปกครองพิษณุโลกแต่อย่างใด เนื่องจากว่าในส่วนของการทำเหมืองแร่ทองคำและเงินของบริษัทฯ ตามโครงการเหมืองแร่ทองคำชาตรีเหนือ ที่มีประทานบัตรพิพาท ๕ แปลง ที่ถูกฟ้องคดีนี้รวมอยู่ด้วยนั้นไม่ได้ใช้สารไซยาไนด์ในกระบวนการผลิต ตามข้อ ๒.๒ เหมืองแร่ตะกั่ว เหมืองแร่สังกะสี หรือเหมืองแร่โลหะอื่นที่ใช้ไซยาไนด์หรือปรอทหรือตะกั่วไนเตรต ในกระบวนการผลิต หรือเหมืองแร่โลหะอื่นที่มีอาร์เซโนไพไรต์ (arsenopyrite) เป็นแร่ประกอบ associated mineral) ของประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดประเภท ขนาด และวิธีปฏิบัติสำหรับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ ที่ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือเอกชนจะต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม พ.ศ. ๒๕๕๓ อย่างที่ศาลเข้าใจแต่อย่างใด แต่การใช้สารไซยาไนด์จะใช้เฉพาะในกระบวนการแต่งแร่หรือถลุงแร่ในโรงงานประกอบโลหกรรมเท่านั้น ซึ่งเข้าข่ายที่จะต้องจัดทำรายงาน EHIA ตามข้อ ๕.๓ อุตสาหกรรมถลุงแร่ ทองแดง ทองคำ หรือสังกะสี ของประกาศกระทรวงฉบับดังกล่าว ที่มีปริมาณแร่ป้อนเข้าสู่กระบวนการผลิตตั้งแต่ ๑,๐๐๐ ตันต่อวันขึ้นไป ซึ่งบริษัทฯ ได้จัดทำรายงาน EHIA ในส่วนของโรงประกอบโลหกรรมส่วนขยายที่มีกำลังการผลิตทองคำ ๘,๐๐๐ ตันต่อวันในปัจจุบัน เป็น ๓๒,๐๐๐ ตันต่อวัน อยู่ในขณะนี้ โดยบริษัทฯ ได้ดำเนินการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นเพื่อกำหนดขอบเขตแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (Public Scoping) เมื่อวันที่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๕๔ และจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นการทบทวนร่างรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (Public Review) เมื่อวันที่ ๑๔ กันยายน ๒๕๕๔ ที่ผ่านมาเสร็จเรียบร้อยแล้ว ตามหลักเกณฑ์ วิธีการที่กำหนดไว้ในประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ ระเบียบปฏิบัติและแนวทางในการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ ลงวันที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๕๒ โดยคาดว่าขณะนี้บริษัทฯ กำลังดำเนินการจัดทำร่างรายงาน EHIA เสนอให้กับ สผ. และ คชก. เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบในเร็ววันนี้ สอดคล้องกับคำสัมภาษณ์ของกรรมการผู้จัดการใหญ่ของบริษัทฯ ที่ให้สัมภาษณ์หลังจากที่ศาลได้อ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๕๕ ว่า บริษัทอัคราฯได้ดำเนินการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษา แม้จะเป็นโครงการที่ได้ดำเนินการมาก่อนที่รัฐบาลจะออกประกาศดังกล่าวแล้วก็ตาม เพื่อแสดงให้เห็นความมุ่งมั่นของบริษัทอัคราฯ ในการรักษาสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน ซึ่งขณะนี้มีความคืบหน้าไปแล้วพอสมควรคาดว่าจะสามารถดำเนินการแล้วเสร็จภายในเวลาที่ศาลกำหนด[8] และสอดคล้องกับคำให้การตามฟ้องคดีนี้ของ กพร. ต่อศาลที่ระบุว่าโครงการของผู้ร้องสอดมิใช่โครงการที่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ตามประกาศดังกล่าว แต่ปัจจุบันผู้ร้องสอดได้ขออนุญาตเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มแผนผังและกรรมวิธีประกอบโลหกรรมเพื่อขยายกำลังการผลิตโลหะทองคำเพื่อให้มีกำลังการผลิตตั้งแต่ ๑,๐๐๐ ตัน ต่อวัน ขึ้นไป ซึ่งการขออนุญาตเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มเติมดังกล่าวเข้าข่ายโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงตามประกาศดังกล่าวที่จะต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม พ.ศ. ๒๕๕๓ ซึ่งได้แจ้งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตรแจ้งให้ผู้ร้องสอดดำเนินการตามประกาศดังกล่าวแล้ว[9]
ซึ่งเป็นการฉวยโอกาสหรือสวมอีไอเอที่แนบเนียนมาก โดยเอารายงาน EHIA ในส่วนของการขยายโรงประกอบโลหกรรมเพื่อเพิ่มกำลังผลิตทองคำและเงินเป็น ๓๒,๐๐๐ ตัน ที่กำลังจัดทำอยู่ในขณะนี้ที่ใกล้จะเสร็จแล้วมาสวมในส่วนของการทำเหมืองแร่ตามโครงการเหมืองแร่ทองคำชาตรีเหนือ ที่มีแปลงประทานบัตรพิพาท ๕ แปลง ที่ถูกฟ้องคดีนี้รวมอยู่ด้วย ซึ่งขัดกับเจตนารมณ์ของประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดประเภท ขนาด และวิธีปฏิบัติสำหรับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ ที่ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือเอกชนจะต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม พ.ศ. ๒๕๕๓ ที่ต้องการให้จัดทำรายงาน EHIA ในส่วนของอุตสาหกรรมผลิตทองคำสองฉบับด้วยกัน คือทั้งในส่วนของกิจการทำเหมืองแร่ทองคำฉบับหนึ่งและโรงถลุงแร่หรือแต่งแร่ทองคำอีกฉบับหนึ่ง เนื่องจากเห็นพิษภัยรุนแรงจากอุตสาหกรรมผลิตแร่ทองคำที่ใช้ไซยาไนด์ในกระบวนการผลิตและอาจทำให้สารหนูและโลหะหนักชนิดอื่น ๆ ซึ่งมีอยู่ในสภาพธรรมชาติเกิดความเป็นพิษต่อสภาพแวดล้อมและสุขภาพอนามัยของมนุษย์ขึ้นได้จากผลการระเบิดเปิดหน้าดินเพื่อทำเหมือง (โปรดดูรายละเอียดในประเด็นนี้ในบทความตอนที่ ๒)
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่า กพร. หรือหน่วยงานราชการอื่น ๆ จะช่วยเหลือบริษัทฯ โดยการฉวยโอกาสนำอีไอเอในส่วนของโรงงานประกอบโลหกรรมส่วนขยายเพื่อเพิ่มกำลังผลิตทองคำเป็น ๓๒,๐๐๐ ตันต่อวัน มาสวมใส่ในส่วนของกิจการทำเหมืองแร่ทองคำตามโครงการเหมืองแร่ทองคำชาตรีเหนือที่มีแปลงประทานบัตรพิพาททั้ง ๕ แปลง ที่ถูกฟ้องในคดีนี้รวมอยู่ด้วยหรือไม่ ชาวบ้านจากหมู่บ้านหนองระมานและหมู่บ้านเขาดิน ต.เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร ซึ่งเป็นหมู่บ้านใกล้เคียงกับหมู่บ้านเขาหม้อก็ได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองพิษณุโลกอีกหนึ่งคดีแล้ว กรณีที่บริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด ก่อสร้างโรงงานประกอบโลหกรรมส่วนขยายเพื่อเพิ่มกำลังผลิตทองคำเป็น ๓๒,๐๐๐ ตันต่อวัน โดยมิชอบด้วยกฎหมาย เพราะก่อสร้างโรงงานดังกล่าวใกล้เสร็จเรียบร้อยแล้วแต่มาดำเนินการจัดทำรายงาน EHIA และขอใบอนุญาตประกอบโลหกรรมตามหลัง ซึ่งเป็นประเด็นที่เกี่ยวกับธรรมาภิบาลหรือการขาดสำนึกความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมของบริษัทฯ ดังกล่าวอย่างรุนแรง เนื่องจากว่าบริษัทฯ ได้ก่อสร้างโรงงานประกอบโลหกรรมส่วนขยายเพื่อขอผลิตทองคำจากกำลังการผลิตปัจจุบันที่ ๘,๐๐๐ ตันต่อวัน มาเป็น ๓๒,๐๐๐ ตันต่อวัน โดยได้ทำการก่อสร้างโรงงานส่วนขยายเกือบเสร็จหมดแล้ว รอเปิดระบบเท่านั้น ทั้งนี้บริษัทฯ ได้ดำเนินการก่อสร้างโรงงานดังกล่าวมาตั้งแต่ปี ๒๕๕๒ เรื่อยมาโดยที่ยังไม่ได้รับใบอนุญาตใด ๆ ทั้งสิ้น เข้าทำนองก่อสร้างไว้ก่อนขอใบอนุญาตตามหลัง หรือเปรียบได้กับการต่อเติมอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาต ทั้งนี้ใบอนุญาตที่จะต้องได้รับก่อนเพื่อนำมาขอก่อสร้างโรงงานส่วนขยายมีสองรายการ คือ รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ตามมาตรา ๖๗ วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญฯ และใบอนุญาตก่อสร้างโรงงานจากกรมโรงงาน แต่บริษัทฯ ยังไม่ได้รับใบอนุญาตทั้งสอง นั่นหมายความว่าขณะนี้บริษัทฯ ก่อสร้างโรงงานส่วนขยายโดยไม่ได้รับอนุญาต
การกระทำของบริษัทฯ ได้สร้างความสับสนเกี่ยวกับกระบวนการและขั้นตอนที่ถูกต้องอันเป็นสาระสำคัญตามที่กฎหมายกำหนดต่อสังคมไทยเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีการดำเนินการที่สลับกลับหัวกัน ก็คือขณะนี้บริษัทฯ กำลังดำเนินการจัดทำรายงาน EHIA ตามมาตรา ๖๗ วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญฯ ในส่วนของโรงงานประกอบโลหกรรมส่วนขยายเพื่อขยายกำลังการผลิตทองคำเป็น ๓๒,๐๐๐ ตันต่อวัน โดยได้จัดเวที Public Scoping หรือเวทีรับฟังความคิดเห็นเพื่อกำหนดขอบเขตแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และ Public Review หรือเวทีรับฟังความคิดเห็นการทบทวนร่างรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ เมื่อวันที่ ๑๑ พฤษภาคม และ ๑๔ กันยายน ๒๕๕๔ ที่ผ่านมาตามลำดับ ขั้นตอนหลังจากนี้ก็จะปรับปรุงร่างรายงาน EHIA ให้สมบูรณ์และนำส่งสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เพื่อส่งต่อให้กับคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านโครงการเหมืองแร่ (คชก.) พิจารณาให้ความเห็นชอบต่อรายงาน EHIA ต่อไป เพื่อจะได้นำรายงาน EHIA ที่ได้รับความเห็นชอบมาอ้างความชอบธรรมในภายหลัง แต่สิ่งที่น่าเคลือบแคลงสงสัยที่เกี่ยวโยงสัมพันธ์กันกับการจัดทำรายงาน EHIA ก็คือปัจจุบันบริษัทฯ ได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนประเภท ๒.๒ กิจการทำเหมืองแร่หรือแต่งแร่เมื่อวันที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๕๓ ตามบัตรส่งเสริมเลขที่ ๑๙๗๘(๒)/๒๕๕๓ ทั้ง ๆ ที่มีความเห็นจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติตามรายงานผลการตรวจสอบที่ ๖๗/๒๕๔๙ เมื่อวันที่ ๓ ตุลาคม ๒๕๔๙ ได้เสนอมาตรการแก้ไขปัญหาข้อ ๔.๔ ว่า ให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนพิจารณางดการส่งเสริมการลงทุนจากบริษัทต่างชาติในกิจการเหมืองแร่ทองคำและเงินที่ดำเนินการในประเทศไทย ภายในเวลา ๙๐ วัน นับแต่วันที่ได้รับรายงานฉบับนี้ แต่คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอตอบข้อซักถามนี้เมื่อคราวที่คณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากรธรรมชาติ ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเรียกมาชี้แจงด้วยวาจาในวันที่ ๒๘ มิถุนายน ๒๕๕๔ ว่าไม่ได้ออกบัตรส่งเสริมในส่วนของ ‘การทำเหมือง/เหมืองแร่’ แต่ออกบัตรส่งเสริม ให้ในส่วนของ ‘โรงงานถลุงแร่’ หรือโรงประกอบโลหกรรมส่วนขยายเพื่อผลิตทองคำเพิ่มเป็น ๓๒,๐๐๐ ตันต่อวัน เท่านั้น
แต่ประเด็นที่จับเท็จได้ก็คือในเงื่อนไขบัตรส่งเสริม ระบุว่าบริษัทฯ จะต้องได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานนโนบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) และคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านโครงการเหมืองแร่ (คชก.) ในด้านมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม ภายใน ๖ เดือน นับแต่ออกบัตรส่งเสริม จึงทำให้บริษัทฯ นำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการเหมืองแร่ทองคำชาตรีเหนือ (EIA ชาตรีเหนือ) ที่ได้รับความเห็นชอบจาก สผ. และคชก. เมื่อวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐ มาสวมหรือเป็นข้ออ้างต่อบีโอไอเพื่อบิดเบือนออกบัตรส่งเสริม ให้แก่บริษัทดังกล่าว กล่าวคือรายงาน EIA ชาตรีเหนือฉบับนี้เป็นรายงาน EIA ในส่วนของการขอขยาย 'การทำเหมือง/เหมืองแร่' เพื่อรวมการทำเหมืองแร่ทองคำจากแหล่งชาตรีกับแหล่งชาตรีเหนือเข้าด้วยกัน ไม่ใช่รายงาน EIA หรือ EHIA ในส่วนของการขอขยาย 'โรงงานถลุงแร่ทองคำ' หรือโรงงานประกอบโลหกรรมแต่อย่างใด ซึ่งถือว่าเป็นการบิดเบือนออกบัตรส่งเสริมแบบผิดฝาผิดตัว
สิ่งที่บีโอไอผิดพลาดก็คือถึงแม้จะอ้างว่าออกบัตรส่งเสริม ให้ในส่วนของโรงงานถลุงแร่ก็ตามก็ไม่พ้นที่จะต้องนำสินแร่จากส่วนของการทำเหมืองแร่มาป้อนแก่ส่วนโรงงานอยู่ดี แต่บีโอไอไม่สนใจว่าจะนำสินแร่มาจากที่ใดหรือจะเกิดปัญหาหรือผลกระทบอย่างไรต่อประชาชนจากการที่ต้องทำเหมืองแร่เพิ่มขึ้นเพื่อป้อนสินแร่เข้าสู่โรงงาน เพราะบีโอไอบอกว่าไม่ใช่หน้าที่ที่จะต้องคำนึงเกี่ยวกับเรื่องนี้ ข้อน่าห่วงกังวลก็คือการก่อสร้างโรงงานส่วนขยายจะส่งผลให้ต้องทำเหมืองแร่ทองคำเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ตามมาคือต้องใช้วัตถุระเบิดเพิ่มขึ้นเพื่อให้ได้ปริมาณสินแร่เพิ่มขึ้นเพื่อนำไปป้อนโรงงานถลุงแร่ และเมื่อใช้วัตถุระเบิดเพิ่มขึ้นแรงสั่นสะเทือน เสียง ฝุ่นละออง มลพิษจากการระเบิด การขนส่งสินแร่ป้อนโรงงาน การใช้ไซยาไนด์แยกแร่ สารหนูตามสภาพธรรมชาติถูกกระตุ้นจากการระเบิดเปิดหน้าดินส่งผลให้เกิดการแพร่กระจายขึ้นมาบนผิวดินและแหล่งน้ำในระดับที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว
เนื่องจากแร่ทองคำเป็นชนิดแร่ที่มีอยู่จำนวนน้อยมากในประเทศไทยหากไม่กำกับดูแลหรือวางนโยบายการสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำให้ดีจะทำให้ประชาชนไทยแทบไม่ได้ประโยชน์แต่อย่างใดเลย จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ชาวบ้านหมู่บ้านหนองระมานและเขาดินยื่นฟ้องต่อศาลปกครองเมื่อเดือนมีนาคม ๒๕๕๕ เพราะหวั่นเกรงว่าหากบริษัทฯ สร้างโรงประกอบโลหกรรมส่วนขยายเพื่อเพิ่มกำลังผลิตทองคำสูงจากปัจจุบันอีกสามเท่าตัว ผลกระทบด้านต่าง ๆ จะลุกลามจากหมู่บ้านเขาหม้อมาที่หมู่บ้านของพวกเขามากขึ้นเรื่อย ๆ
และคาดว่าคงจะมีคดีปกครองเกี่ยวกับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ทองคำและโรงถลุงแร่ทองคำของบริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด เป็นคดีที่สาม สี่ ห้า เรื่อยไป จากอีกหลายหมู่บ้านโดยรอบพื้นที่ประทานบัตรพิพาทที่อยู่ใกล้เคียงรายรอบหมู่บ้านเขาหม้อตามออกมาอีกอย่างแน่นอนในเร็ว ๆ นี้
[1] คำพิพากษาศาลปกครองพิษณุโลก คดีหมายเลขดำที่ ๒๒๘/๒๕๕๓ คดีหมายหมายเลขแดงที่ ๑๖๓/๒๕๕๕ วันที่ ๒๗ เดือนมีนาคม พุทธศักราช ๒๕๕๕. หน้า ๗๙ ย่อหน้าแรก - หน้า ๘๐ บรรทัดแรกถึงที่ ๑๐
[2] มาตรา ๖๓ แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐ ห้ามมิให้ผู้ถือประทานบัตรปิดกั้น ทำลาย หรือกระทำด้วยประการใดให้เป็นการเสื่อมประโยชน์แก่ทางหลวงหรือทางน้ำสาธารณะ เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานอุตสาหกรรมแร่ประจำท้องที่ และต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดในใบอนุญาตนั้น
[3] มาตรา ๑๓๘ แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐ ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๕๗ มาตรา ๕๙ มาตรา ๖๒ มาตรา ๖๓ มาตรา ๖๔ มาตรา ๖๗ มาตรา ๖๘ มาตรา ๖๙ หรือมาตรา ๗๔ หรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดตามมาตรา ๕๙ มาตรา ๖๒ มาตรา ๖๓ มาตรา ๖๔ มาตรา ๖๗ มาตรา ๖๘ หรือมาตรา ๗๔ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองพันบาท และรัฐมนตรีมีอำนาจสั่งเพิกถอนประทานบัตรนั้นเสียได้
[4] โครงการเหมืองแร่ทองคำชาตรี ประกอบด้วยประทานบัตรทั้งหมด ๔ แปลง ได้รับอนุญาตประทานบัตรตั้งแต่ปี ๒๕๔๓ ต่อมาบริษัทฯ ได้ขอประทานบัตรเพิ่มเติมอีก ๙ แปลง เรียกว่าโครงการเหมืองแร่ทองคำชาตรีเหนือ ซึ่งได้รับอนุญาตประทานบัตรเมื่อวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๕๑ โดยประทานบัตรทั้งโครงการชาตรีและชาตรีเหนือเป็นประทานบัตรที่มีเขตติดต่อกัน ขอร่วมแผนผังโครงการทำเหมืองเดียวกัน ซึ่งประทานบัตรพิพาท ๕ แปลง ที่ผู้ฟ้องคดี หรือนางสาวสื่อกัญญา ธีระชาติดำรง ชาวบ้านหมู่บ้านเขาหม้อได้ฟ้องคดีต่อศาลปกครองพิษณุโลกในบทความนี้เป็นประทานบัตร ๕ แปลง ที่อยู่ในเขตจังหวัดพิจิตรของโครงการเหมืองแร่ทองคำชาตรีเหนือ ส่วนประทานบัตรอีก ๔ แปลง ที่อยู่ในเขตจังหวัดเพชรบูรณ์ของโครงการเหมืองแร่ทองคำชาตรีเหนือไม่ได้นำมาร่วมฟ้องคดีต่อศาลปกครองพิษณุโลกในครั้งนี้ด้วย - ผู้เขียน
[5] คำพิพากษาศาลปกครองพิษณุโลก คดีหมายเลขดำที่ ๒๒๘/๒๕๕๓ คดีหมายหมายเลขแดงที่ ๑๖๓/๒๕๕๕ วันที่ ๒๗ เดือนมีนาคม พุทธศักราช ๒๕๕๕. หน้า ๗๙ ย่อหน้าแรก - หน้า ๘๓ ย่อหน้าสุดท้าย - หน้า ๘๔ บรรทัดแรกถึงบรรทัดที่ ๖
[6] คำพิพากษาศาลปกครองพิษณุโลก คดีหมายเลขดำที่ ๒๒๘/๒๕๕๓ คดีหมายหมายเลขแดงที่ ๑๖๓/๒๕๕๕ วันที่ ๒๗ เดือนมีนาคม พุทธศักราช ๒๕๕๕. หน้า ๗๙ ย่อหน้าแรก - หน้า ๘๔ ย่อหน้าแรก - หน้า ๘๕ บรรทัดแรก
[7] คำพิพากษาศาลปกครองพิษณุโลก คดีหมายเลขดำที่ ๒๒๘/๒๕๕๓ คดีหมายหมายเลขแดงที่ ๑๖๓/๒๕๕๕ วันที่ ๒๗ เดือนมีนาคม พุทธศักราช ๒๕๕๕. หน้า ๘๕ (หน้าสุดท้าย) ย่อหน้าสุดท้าย
[8] ศาลปค.ชี้อัคราฯไม่สร้างปัญหาสิ่งแวดล้อม. โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ วันที่ 27 มีนาคม 2555 19:50. สืบค้นข้อมูลออนไลน์จาก http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/politics/politics/20120327/444022/ศาลปค.ชี้อัคราฯไม่สร้างปัญหาสิ่งแวดล้อม.html คัดลอกเมื่อวันที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๕๕
[9] คำพิพากษาศาลปกครองพิษณุโลก คดีหมายเลขดำที่ ๒๒๘/๒๕๕๓ คดีหมายหมายเลขแดงที่ ๑๖๓/๒๕๕๕ วันที่ ๒๗ เดือนมีนาคม พุทธศักราช ๒๕๕๕. หน้า ๓๖ ย่อหน้าสุดท้าย - หน้า ๓๗ บรรทัดที่ ๑ และ ๒
|
|
|
พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=1720
เวลา 23 พฤศจิกายน 2567 02:03 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)
|
|