|
|
ความคิดเห็นต่อคำพิพากษาศาลปกครองพิษณุโลก กรณีชาวบ้านเขาหม้อฟ้องให้เพิกถอนประทานบัตรเหมืองแร่ทองคำของบริษัท อัครา ไมนิ่ง จำกัด 6 พฤษภาคม 2555 23:47 น.
|
ความคิดเห็นต่อคำพิพากษาศาลปกครองพิษณุโลก กรณีชาวบ้านเขาหม้อฟ้องให้เพิกถอนประทานบัตรเหมืองแร่ทองคำของบริษัท อัครา ไมนิ่ง จำกัด
บทความขนาดยาวชิ้นนี้ แบ่งเป็นชิ้นย่อย ๓ ตอน คือ ตอนที่ ๑: ความร่วมมือระหว่างบริษัท อัครา ไมนิ่ง จำกัด และหน่วยงานราชการของรัฐ ในการทำคำชี้แจงและให้ถ้อยคำต่อศาลปกครองพิษณุโลกเพื่อพิจารณาคำขอให้ศาลมีคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษา ตอนที่ ๒: ความร่วมมือระหว่างบริษัท อัครา ไมนิ่ง จำกัด และหน่วยงานราชการของรัฐ ในการทำคำชี้แจงและให้ถ้อยคำต่อศาลปกครองพิษณุโลกเพื่อพิจารณาและพิพากษาคดีที่ชาวบ้านเขาหม้อยื่นฟ้องให้เพิกถอนประทานบัตรเหมืองแร่ทองคำและเงิน และตอนที่ ๓: ผลของคำพิพากษาคดีที่ชาวบ้านเขาหม้อยื่นฟ้องให้เพิกถอนประทานบัตรเหมืองแร่ทองคำและเงิน เพื่อแสดงความคิดเห็นต่อคำพิพากษาศาลปกครองพิษณุโลกกรณีชาวบ้านเขาหม้อฟ้องให้เพิกถอนประทานบัตรเหมืองแร่ทองคำและเงินของบริษัท อัครา ไมนิ่ง จำกัด ซึ่งมีหลากหลายประเด็นที่น่าสนใจต่อการรับรู้ของสาธารณชนเป็นอย่างยิ่ง
ตอนที่ ๑: ความร่วมมือระหว่างบริษัท อัครา ไมนิ่ง จำกัด และหน่วยงานราชการของรัฐ ในการทำคำชี้แจงและให้ถ้อยคำต่อศาลปกครองพิษณุโลกเพื่อพิจารณาคำขอให้ศาลมีคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษา
จากกรณีที่ศาลปกครองพิษณุโลกออกนั่งพิพากษาคดีระหว่างนางสาวสื่อกัญญา ธีระชาติดำรง ชาวบ้านบ้านเขาหม้อ ต. เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร ซึ่งเป็นผู้ฟ้องคดี กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) คณะกรรมการเหมืองแร่ อธิบดีกรมป่าไม้ องค์การบริหารส่วนตำบลเขาเจ็ดลูก ซึ่งเป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ - ๕ ตามลำดับ และบริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด ซึ่งเป็นผู้ร้องสอด เมื่อวันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๕๕ ที่ผ่านมา โดยมีคำพิพากษาว่า ให้เพิกถอนประทานบัตรที่ ๒๖๙๑๗/๑๕๘๐๔, ๒๖๙๒๒/๑๕๘๐๕, ๒๖๙๒๑/๑๕๘๐๖, ๒๖๙๒๐/๑๕๘๐๗ และ ๒๖๙๒๓/๑๕๘๐๘ ลงวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๕๑ โดยให้การเพิกถอนมีผลในวันที่ผู้ร้องสอดไม่จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการเหมืองแร่ทองคำให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ ระเบียบปฏิบัติและแนวทางในการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ ลงวันที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๕๒ ให้เสร็จสมบูรณ์ภายในกำหนดหนึ่งปี หรือเมื่อรายงานนั้นไม่ได้รับความเห็นชอบ ทั้งนี้นับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด คำขออื่นให้ยก[1]
ในกระบวนการไต่สวนและแสวงหาข้อเท็จจริงก่อนการพิจารณาคดีและคำพิพากษามีการยื่นคำชี้แจงและให้ถ้อยคำต่อศาลโดยบริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด และหน่วยงานราชการของรัฐ ในประเด็นที่เป็นสาระสำคัญหลายประการซึ่งส่งผลต่อการพิจารณาและพิพากษาคดีดังกล่าวของศาลในเวลาต่อมา
คดีนี้นางสาวสื่อกัญญา ธีระชาติดำรง ได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองพิษณุโลกตั้งแต่วันที่ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ โดยขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง ดังนี้
๑. เพิกถอนประทานบัตรที่ ๒๖๙๑๗/๑๕๘๐๔, ๒๖๙๒๒/๑๕๘๐๕, ๒๖๙๒๑/๑๕๘๐๖, ๒๖๙๒๐/๑๕๘๐๗ และ ๒๖๙๒๓/๑๕๘๐๘
๒. เพิกถอนมติของสภาองค์การบริหารส่วนตำบลเขาเจ็ดลูก เมื่อวันที่ ๓ มิถุนายน ๒๕๔๘
๓. เพิกถอนคำสั่งกรมป่าไม้ที่อนุญาตให้ผู้ร้องสอดเข้าทำประโยชน์ในเขตพื้นที่ป่าไม้ ตามหนังสือกรมป่าไม้ ที่ ทส ๑๖๐๒.๔/๑๓๙๖ ลงวันที่ ๒๓ มกราคม ๒๕๕๑
๔. ขอให้สั่งระงับการดำเนินการใด ๆ ในเขตพื้นที่ประทานบัตรทั้ง ๕ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเสียหายเป็นการชั่วคราว
ซึ่งศาลได้มีคำสั่งรับคำฟ้องไว้พิจารณาและสั่งให้บริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด เข้ามาเป็นคู่กรณีในฐานะผู้ร้องสอดโดยนางสาวสื่อกัญญา ธีระชาติดำรง หรือผู้ฟ้องคดีมีคำขอมาพร้อมคำฟ้องโดยขอให้ศาลมีคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษาโดยขอให้สั่งระงับการดำเนินการใด ๆ ในเขตพื้นที่ประทานบัตรพิพาททั้ง ๕ แปลงตามที่ได้กล่าวไปแล้ว เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเสียหายเป็นการชั่วคราว และมีคำร้องขอไต่สวนฉุกเฉินเพื่อให้ศาลมีคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองชั่วคราว ลงวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๕ ดังนี้
๑. ให้ระงับการดำเนินการใดในเขตพื้นที่ประทานบัตรพิพาท
๒. ให้เปิดทางสาธารณประโยชน์เพื่อให้ผู้ฟ้องคดีและประชาชนในชุมชนสามารถใช้สัญจรไปมาได้
๓. กำหนดมาตรการหรือวิธีการชั่วคราวอื่นใดตามที่ศาลเห็นสมควรเพื่อไม่ให้ฝุ่นละอองและเสียงที่เกินมาตรฐานรบกวน ก่อความรำคาญต่อชาวบ้านและชุมชน อีกทั้งกำหนดไม่ให้ทำให้เกิดสารพิษเจือปนในน้ำใต้ดินและลำคลองตามธรรมชาติ ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพและชีวิตของประชาชนในชุมชนอย่างร้ายแรง
ผู้ร้องสอดคือบริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด และหน่วยงานราชการของรัฐได้ทำคำชี้แจงและให้ถ้อยคำต่อศาล โดยมี ๖ ประเด็นสำคัญที่ชวนให้สาธารณชนพิเคราะห์พิจารณาร่วมกัน ดังนี้
ประเด็นแรก - สถานะบริษัทสัญชาติไทยของบริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด ?
บริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด ยื่นคำชี้แจงและให้ถ้อยคำต่อศาลว่า ผู้ร้องสอดจดทะเบียนตามกฎหมายไทย มีบริษัท คิงส์เกท คอนโซลิเดดเต็ด ประเทศออสเตรเลียเป็นผู้ถือหุ้นร้อยละ ๔๙ ของทุนจดทะเบียน[2]
ในบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นของบริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด ในวันประชุมสามัญประจำปีเมื่อวันที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๕๑ แจ้งว่าผู้ถือหุ้นสัญชาติไทยกับสัญชาติออสเตรเลียมีสัดส่วนการถือหุ้นเป็นร้อยละ ๕๒ ต่อ ๔๘ ซึ่งถ้าหากพิจารณาเฉพาะสัดส่วนการถือหุ้นก็จะเห็นได้ว่าบริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด มีการถือครองหุ้นโดยฝ่ายไทยมากกว่าฝ่ายออสเตรเลีย เป็นไปตามเงื่อนไขตามบัตรส่งเสริมเลขที่ ๑๐๗๑/๒๕๔๔ ที่คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ ออกให้แก่บริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด เมื่อวันที่ ๒๔ มกราคม ๒๕๔๔ ซึ่งเป็นบัตรส่งเสริมในส่วนของการทำเหมืองแร่ทองคำและเงินตามโครงการเหมืองแร่ทองคำชาตรี[3] ที่มีเงื่อนไขว่าในปีที่ ๕ ของการให้บัตรส่งเสริม บริษัทฯ จะต้องแปลงสภาพให้มีผู้ถือหุ้นไทยจำนวนร้อยละ ๕๑ แต่เมื่อพิจารณาระหว่างสัดส่วนการถือหุ้นกับการถือหุ้นเกินกว่ากึ่งหนึ่งของทุนจดทะเบียนจะทำให้เกิดความสงสัยว่าแท้จริงแล้วบริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด เป็นบริษัทสัญชาติไทยหรือไม่ เนื่องจากหุ้นบุริมสิทธิทั้งหมดที่ผู้ถือหุ้นฝ่ายไทยเป็นผู้ถือเอาไว้นั้น ได้แจ้งเอาไว้ในบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นเมื่อวันที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๕๑ ว่าได้ชำระเงินแล้วเพียง ๒.๕๐ บาทต่อหุ้นเท่านั้น จากราคาเต็มหุ้นละ ๑๐ บาท คิดเป็นจำนวนเงินเพียง ๖๖,๗๕๐,๐๐๐ บาท เมื่อรวมกับจำนวนเงิน ๕๐ บาท ที่ชำระหุ้นสามัญ ๕ หุ้นของบุคคลสัญชาติไทยได้เท่ากับ ๖๖,๗๕๐,๐๕๐ บาท ยังเหลือค่าหุ้นบุริมสิทธิของผู้ถือหุ้นฝ่ายไทยส่วนที่ยังไม่ได้ชำระอีก ๒๐๐,๒๕๐,๐๐๐ บาท ในส่วนหุ้นสามัญของฝ่ายออสเตรเลียได้ชำระเงินเต็มตามจำนวนราคาหุ้นทั้งหมดที่ถือไว้คือ ๒๔๔,๙๙๙,๙๕๐ บาท จากหลักฐานในส่วนนี้จะเห็นความแตกต่างอย่างชัดเจนระหว่างสัดส่วนการถือหุ้นกับการถือหุ้นเกินกว่ากึ่งหนึ่งของทุนจดทะเบียน ถึงแม้ฝ่ายไทยจะถือครองจำนวนหุ้นมากกว่าฝ่ายออสเตรเลียแต่เงินที่ชำระหุ้นแล้วกลับน้อยกว่าฝ่ายออสเตรเลีย จะถือว่าเป็นการถือหุ้นที่ไม่ถึงกึ่งหนึ่งของทุนจดทะเบียน ซึ่งพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. ๒๕๔๒ ให้ความสำคัญในเรื่องของการถือหุ้นเกินกว่ากึ่งหนึ่งของทุนจดทะเบียนมากกว่าสัดส่วนการถือหุ้น ซึ่งถ้าดูในมุมมองนี้แล้วจะทำให้สัดส่วนการถือหุ้นเกินกว่ากึ่งหนึ่งของทุนจดทะเบียนระหว่างฝ่ายไทยกับฝ่ายออสเตรเลียเป็นร้อยละ ๒๑.๕ ต่อ ๗๘.๕ ทันที นั่นก็แสดงว่าบริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด มีสถานะเป็นบริษัทต่างด้าวสัญชาติออสเตรเลียมากกว่าสัญชาติไทย
เมื่อมีการวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องดังกล่าวออกไปสู่สาธารณชน (โปรดดูบทความ นอมินี ในโครงสร้างและสายสัมพันธ์เชื่อมโยงการถือหุ้นของบริษัท อัครา ไมนิ่ง จำกัด ?) ได้ทำให้ผู้ถือหุ้นฝ่ายไทยรายใหญ่ที่สุด คือ บริษัท สินภูมิ จำกัด ที่ถือหุ้นอยู่ในบริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด ทำการชำระหุ้นเต็มจำนวนแล้วเมื่อวันที่ ๕ เมษายน ๒๕๕๓[4] แต่อย่างไรก็ตามมีข้อที่ต้องใคร่ครวญพิจารณาต่อสถานะความเป็นบริษัทสัญชาติไทยของบริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด อยู่ ๓ ประการด้วยกัน คือ หนึ่ง-บริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด เป็นบริษัทสัญชาติไทยตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. ๒๕๔๒ หรือไม่ สอง-ผู้ถือหุ้นฝ่ายไทยมีส่วนร่วมในการบริหารกิจการของบริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด หรือไม่ และสาม-ผลประโยชน์จากรายได้ที่ได้จากการประกอบกิจการเหมืองแร่และโรงถลุงแร่ทองคำและเงินของบริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด ตกอยู่กับฝ่ายไทยหรือฝ่ายออสเตรเลียมากกว่ากัน
เมื่อผู้ถือหุ้นฝ่ายไทยในบริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด ได้ดำเนินการชำระหุ้นเต็มจำนวนเพื่อทำให้ข้อครหาเกี่ยวกับความเป็นนอมินีให้กับผู้ถือหุ้นสัญชาติออสเตรเลียหมดไป แต่สถานะความเป็นบริษัทสัญชาติไทยของบริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด ก็ยังคลุมเครืออยู่เช่นเดิม เหตุก็เพราะว่าผู้ถือหุ้นฝ่ายไทยเลือกถือหุ้นบุริมสิทธิเป็นส่วนใหญ่ มีเพียง ๕ หุ้นที่เป็นหุ้นสามัญเท่านั้น ซึ่งบ่งชี้ถึงเจตนาบางอย่างในกระบวนการถือหุ้นที่มีลักษณะสมยอมและยินยอมต่อผู้ถือหุ้นรายใหญ่สัญชาติออสเตรเลีย คือ บริษัท คิงส์เกท คอนโซลิเดดเต็ด โดยสมยอมและยินยอมให้ผู้ถือหุ้นรายใหญ่สัญชาติออสเตรเลียเป็นผู้มีสิทธิออกเสียงในการประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อเพิ่มทุนและกุมอำนาจในการเป็นเจ้าของและบริหารงานบริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด อย่างเต็มกำลัง โดยผู้ถือหุ้นฝ่ายไทยเลือกที่จะงดการมีสิทธิออกเสียงในที่ประชุมผู้ถือหุ้น ขอเพียงแค่รอรับเงินปันผลจากการถือหุ้นบุริมสิทธิก็พอใจแล้ว
ในส่วนของรายได้จากการประกอบกิจการเหมืองแร่และโรงถลุงแร่ทองคำและเงินของบริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด ถึงแม้จะยังไม่มีตัวเลขมาแสดงให้เห็นในวันนี้ว่าตกอยู่ที่ผู้ถือหุ้นฝ่ายไทยหรือฝ่ายออสเตรเลียมากกว่ากัน แต่มีข้อสงสัยว่านอกจากเงินปันผลที่จ่ายให้แก่ผู้ถือหุ้นแล้ว รายได้ส่วนที่เหลืออีกเป็นจำนวนมากผู้บริหารภายใต้อาณัติของผู้ถือหุ้นสัญชาติออสเตรเลียนำไปเก็บไว้ที่ไหน หรือนำไปใช้อะไรบ้าง
ประเด็นที่สอง - อีไอเอไม่สอดคล้องกับรายงานลักษณะธรณีวิทยาแหล่งแร่และแผนผังโครงการทำเหมือง
บริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด หรือผู้ร้องสอดได้ทำคำชี้แจงและให้ถ้อยคำต่อศาลว่าผู้ร้องสอดได้จัดทำเอกสารประกอบคำขอ คือ รายงานธรณีวิทยาแหล่งแร่ซึ่งกรมทรัพยากรธรณีตรวจสอบให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ ๑๖ ตุลาคม ๒๕๕๐ รายงานลักษณะธรณีซึ่ง กพร. ให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๔๙ แผนผังโครงการทำเหมือง ซึ่ง กพร. ให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ ๙ ตุลาคม ๒๕๔๙ และวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๕๑ รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ได้ผ่านการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญมีหนังสือแจ้งความเห็นชอบเมื่อวันที่ ๑๑ เมษายน ๒๕๕๐[5]
รายงานลักษณะธรณีวิทยาแหล่งแร่เป็นเอกสารสำคัญที่จะต้องระบุรายละเอียดเกี่ยวกับจุดที่ตั้งโครงการและลักษณะภูมิประเทศ โดยต้องประกอบไปด้วยตำแหน่งที่ตั้ง ขนาดของพื้นที่โครงการ ประเภทของพื้นที่พร้อมรายละเอียด เช่น เป็นที่ดินกรรมสิทธิ์หรือมีสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายที่ดิน หรือที่ดินของรัฐ เป็นต้น ลักษณะภูมิประเทศต้องระบุสภาพภูมิประเทศของพื้นที่โครงการ แสดงจุดที่ตั้งโครงการโดยใช้แผนที่ลักษณะภูมิประเทศ มาตรา ๑:๕๐,๐๐๐ เป็นอย่างต่ำ แสดงข้อมูลการใช้ประโยชน์ของพื้นที่โครงการและพื้นที่ข้างเคียง และแสดงเส้นทางการคมนาคมเข้าสู่พื้นที่โครงการโดยละเอียด ในด้านลักษณะธรณีวิทยาแหล่งแร่ต้องระบุรายละเอียดเกี่ยวกับการกำเนิดของแหล่งแร่ การวางตัวของแหล่งแร่สัมพันธ์กับชั้นหินข้างเคียง ความหนาของชั้นดิน ชั้นหิน รูปร่างและขนาดของแหล่งแร่ คุณสมบัติของแร่ เช่น ความหนาแน่นของแร่ในพื้นที่โครงการ คุณสมบัติทางเคมี การนำไปใช้ประโยชน์ เป็นต้น และข้อมูลอื่นที่มีความสำคัญของแหล่งแร่ ซึ่งมีผลต่อการออกแบบการทำเหมืองและเป็นไปตามหลักวิชาการทางธรณีวิทยา นอกจากนี้ต้องประเมินปริมาณสำรองแหล่งแร่และความสมบูรณ์ของแหล่งแร่ มูลค่าแหล่งแร่ พร้อมแผนที่ลักษณะธรณีวิทยาแหล่งแร่ของพื้นที่โครงการ มาตราส่วน ๑:๕๐,๐๐๐ หรือใหญ่กว่า และต้องแสดงภาพขอบเขตและภาพตัดขวางแหล่งแร่โดยละเอียด นอกจากนี้ยังต้องแสดงข้อมูลเกี่ยวกับความแข็งแรงทางกลศาสตร์ของโครงสร้างธรณีวิทยาแหล่งแร่และหินข้างเคียง การจัดคุณภาพหินและค่าเฉพาะต่าง ๆ ของชั้นดิน ชั้นหินและชั้นแร่ ทั้งนี้ เพื่อใช้ในการออกแบบการทำเหมืองแร่ให้เป็นไปตามหลักวิชาการ
ในส่วนของแผนผังโครงการทำเหมืองจะต้องมีรายละเอียดที่ระบุถึงลักษณะโครงการและประโยชน์ที่จะได้รับจากโครงการ ซึ่งจะต้องประกอบไปด้วยเนื้อหาหลัก ๕ เรื่องด้วยกัน คือ
หนึ่ง-การวางแผนและออกแบบเหมืองจะต้องมีรายละเอียดเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์ของพื้นที่โครงการโดยระบุตำแหน่งที่ตั้งของสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ ในพื้นที่โครงการ และการใช้ประโยชน์อื่น ๆ เช่น ที่ตั้งสำนักงาน โรงแต่งแร่ พื้นที่เก็บกองแร่ พื้นที่เก็บกองเปลือกดิน เศษหิน บ่อดักตะกอน อาคารเก็บวัตถุระเบิด เป็นต้น พร้อมแผนที่รายละเอียดการวางรูปแบบเหมือง การกำหนดอัตราการผลิตแร่ การออกแบบเหมือง ระยะเวลาการทำเหมือง ความลาดเอียงรวมของหน้าเหมือง การออกแบบการทำเหมืองเพื่อการประเมินปริมาณสำรองแหล่งแร่ที่สามารถทำเหมืองได้ การประเมินปริมาตรเปลือกดินและเศษหินที่เกิดจากการทำเหมือง มูลค่าแหล่งแร่จากการทำเหมือง
สอง-การทำเหมือง จะต้องมีรายละเอียดเกี่ยวกับแผนการทำเหมือง โดยระบุแผนงานการพัฒนาหน้าเหมือง การเปิดเปลือกดินและหิน การผลิตแร่ การควบคุมคุณภาพแร่ กรณีที่มีการใช้วัตถุระเบิดให้ระบุรายละเอียดการใช้และเก็บวัตถุระเบิด ได้แก่ การออกแบบการเจาะรูระเบิด เช่น ขนาดรูเจาะระเบิด ระยะระหว่างรู ระยะระหว่างแถว ความลึกรูเจาะ ชนิดของวัตถุระเบิด ปริมาณการใช้ต่อรูเจาะระเบิดและต่อจังหวะถ่วง เป็นต้น รวมถึงรายละเอียดการออกแบบอาคารเก็บวัตถุระเบิด การรักษาความปลอดภัยในการใช้และเก็บวัตถุระเบิด การขนส่งวัตถุระเบิด เป็นต้น ต้องแสดงข้อมูลเกี่ยวกับปริมาตรและการจัดการเปลือกดิน เศษหินและมูลดินทรายที่เกิดจากการทำเหมือง โดยระบุการเก็บกองและการดูแลรักษาที่สามารถป้องกันการชะล้างพังทลาย การแก้ไขปัญหาสภาพความเป็นกรดด่างและการปนเปื้อนของโลหะหนักสู่พื้นที่ภายนอก กรณีที่มีการใช้น้ำในการทำเหมือง ต้องระบุการใช้น้ำสำหรับกิจกรรมต่าง ๆ และการป้องกันและรักษาคุณภาพน้ำในพื้นที่โครงการ เช่น การระบายน้ำ ทิศทางการไหลของน้ำ การกักเก็บน้ำ การปรับปรุงคุณภาพน้ำก่อนการระบายออกสู่แหล่งน้ำสาธารณะ เป็นต้น ในส่วนของเครื่องจักระและอุปกรณ์ที่ใช้ในการทำเหมือง ต้องระบุขนาดและจำนวนของเครื่องจักรแต่ละชนิดที่สัมพันธ์กับแผนการทำเหมือง การบำรุงรักษาเครื่องจักรอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้มีความปลอดภัยต่อการใช้งาน
สาม-การแต่งแร่ ต้องแสดงรายละเอียดกรรมวิธีในการแต่งแร่โดยต้องระบุการทำงานต่าง ๆ แต่ละขั้นตอนในกระบวนการแต่งแร่พร้อมแผนภูมิในการทำงาน เครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ใช้ในการแต่งแร่ต้องระบุขนาดและจำนวนของเครื่องจักรแต่ละชนิด การจัดการแร่และหางแร่โดยระบุการเก็บแร่และหางแร่ที่ได้จากกระบวนการแต่งแร่ เช่น พื้นที่ที่ใช้ในการเก็บกอง ปริมาตรการเก็บกอง การดูแลรักษาก่อนการจำหน่าย เป็นต้น การจัดการของเสียจากการแต่งแร่ เช่น ฝุ่น น้ำเสีย กาก ตะกอน ต้องระบุวิธีการจัดการ การออกแบบพื้นที่กักเก็บ ปริมาตรของเสียที่เกิดจากกระบวนการแต่งแร่ การกำจัดของเสียจากพื้นที่กักเก็บ และมาตรการติดตามตรวจสอบและเฝ้าระวังการปนเปื้อนของของเสียสู่สิ่งแวดล้อมทั้งในพื้นที่โครงการและพื้นที่ข้างเคียง
สี่-การประเมินมูลค่าโครงการเหมืองแร่โดยให้แสดงรายละเอียดการวิเคราะห์การลงทุน เช่น ผลตอบแทนการลงทุน ระยะเวลาการคืนทุน ผลกำไร เป็นต้น
ห้า-มาตรการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมและการฟื้นฟูพื้นที่หลังการทำเหมือง ต้องมีรายละเอียดให้ชัดเจน ดังนี้
(๑) ผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและการป้องกันผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่คาดว่าจะเกิดจากการทำเหมือง การแต่งแร่ และกิจกรรมต่าง ๆ ในพื้นที่โครงการ เช่น สภาพภูมิทัศน์ ข้อมูลผลกระทบจากการใช้วัตถุระเบิด ฝุ่น เสียง แรงสั่นสะเทือน น้ำเสีย เป็นต้น
(๒) แผนการฟื้นฟูสภาพเหมืองและพื้นที่โครงการควบคู่ไปกับการทำเหมืองและแผนจัดการในการปิดเหมือง
(๓) เงื่อนไขและมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กระทรวงอุตสาหกรรม กำหนดไว้เพื่อให้เจ้าของโครงการเหมืองแร่ปฏิบัติตามโดยเคร่งครัด
จะเห็นได้ว่าเนื้อหารายละเอียดที่จำเป็นจะต้องมีหรือปรากฎอยู่ในเอกสารรายงานลักษณะธรณีวิทยาแหล่งแร่และแผนผังโครงการทำเหมืองก็คือเนื้อหาที่จำเป็นจะต้องมีหรือปรากฎอยู่ในอีไอเอหรือรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมนั่นเอง เนื่องจากว่าหลักการทำอีไอเอจะต้องทำอีไอเอตามแผนผังโครงการทำเหมืองและรายงานลักษณะธรณีวิทยาแหล่งแร่ในพื้นที่ที่ได้รับความเห็นชอบให้ทำเหมืองและโรงแต่งแร่ ซึ่งในที่นี้คือประทานบัตร เพื่อจะได้ทำการประเมิน วิเคราะห์หรือคาดการณ์และวางมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบด้านต่าง ๆ ให้ถูกต้องและไม่คลาดเคลื่อนไปจากพื้นที่ที่ได้รับประทานบัตร แต่ความเป็นจริงกลับปรากฏว่ารายงานลักษณะธรณีวิทยาแหล่งแร่และแผนผังโครงการทำเหมืองไม่ได้ถูกนำไปเป็นส่วนหนึ่งของอีไอเอ มีการจัดทำเอกสารทั้ง ๒ ชิ้นดังกล่าวแยกออกไปจากการทำอีไอเอ มิหนำซ้ำเอกสารทั้ง ๒ ชิ้นดังกล่าวยังได้รับความเห็นชอบจากหน่วยงานที่ทำหน้าที่ให้อนุญาตสัมปทานเท่านั้น นั่นคือกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) แต่ไม่ได้ผ่านกระบวนการให้ความเห็นชอบจากหน่วยงานที่กำกับ ดูแลหรือวางมาตรการเกี่ยวกับการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม เช่นสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) และคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) แต่อย่างใด และยังเป็นการได้รับความเห็นชอบภายหลังจากที่อีไอเอผ่านความเห็นชอบไปแล้วอีกด้วย กล่าวคือรายงานลักษณะธรณีวิทยาแหล่งแร่ได้รับความเห็นชอบจาก กพร. และกรมทรัพยากรธรณีเมื่อวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๔๙ และ ๑๖ ตุลาคม ๒๕๕๐ ตามลำดับ ส่วนแผนผังโครงการทำเหมือง กพร. ให้ความเห็นชอบสองครั้งเมื่อวันที่ ๙ ตุลาคม ๒๕๔๙ และวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๕๑ แต่อีไอเอ สผ. และ คชก. ให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐ และทำหนังสือแจ้งความเห็นชอบต่อผู้ร้องสอดและ กพร. เมื่อวันที่ ๑๑ เมษายน ๒๕๕๐
ซึ่งตามหลักการที่ถูกต้องแล้วเอกสารทั้ง ๒ ชิ้นดังกล่าวจะต้องได้รับความเห็นชอบก่อนการพิจารณาให้ความเห็นชอบอีไอเอเพื่อจะได้นำข้อมูลรายละเอียดทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเอกสารทั้ง ๒ ชิ้นดังกล่าวเอามาประกอบใส่ไว้ในอีไอเอด้วย ที่น่าแปลกก็คือ สผ. และ คชก. ไม่มีรายงานลักษณะธรณีวิทยาแหล่งแร่และแผนผังโครงการทำเหมืองเป็นส่วนประกอบในการพิจารณาให้ความเห็นชอบอีไอเอ เพราะเอกสารทั้ง ๒ ชิ้นดังกล่าวได้รับความเห็นชอบหลังจากอีไอเอผ่านความเห็นชอบไปแล้ว
ประเด็นที่สาม - การบิดเบือนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียตามมาตรา ๘๘/๗ ของกฎหมายแร่
บริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด ได้พรรณนาว่าองค์กรของตนได้ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายถูกต้องครบถ้วน ผ่านกระบวนการกลั่นกรองและให้ความเห็นชอบก่อนได้รับอนุญาตประทานบัตรพิพาท รวมทั้งได้รับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียตามมาตรา ๘๘/๗ แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐[6] ซึ่งเป็นถ้อยคำที่บิดเบือนทั้งสิ้น
มาตรา ๘๘/๗ ระบุว่าเมื่ออีไอเอของผู้ขอประทานบัตรทำเหมืองใต้ดินได้รับความเห็นชอบตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแล้วให้รัฐมนตรีประมวลข้อมูลด้านต่าง ๆ เช่น ข้อมูลโครงการที่ยื่นประกอบคำขอประทานบัตร และเนื้อหาในอีไอเอประกอบกับความเห็นของผู้พิจารณารายงาน เป็นต้น เข้าสู่กระบวนการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในกฎหมายหรือระเบียบราชการที่เกี่ยวข้องแล้วแต่กรณี เพื่อประกอบการกำหนดเงื่อนไขอันจำเป็นในประทานบัตรต่อไป แต่เมื่อบริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด ยกมาตรา ๘๘/๗ ในส่วนของหมวด ๔/๑ การทำเหมืองใต้ดิน ขึ้นมาอ้างความรับผิดชอบในการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียแล้ว ก็ต้องนำหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในมาตราอื่นของหมวดการทำเหมืองใต้ดิน แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐ ขึ้นมาใช้เป็นแนวปฏิบัติด้วย
ซึ่งหลักเกณฑ์และเงื่อนไขเกี่ยวกับการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียในมาตราอื่นของหมวดการทำเหมืองใต้ดินระบุว่าคณะกรรมการร่วมระหว่างรัฐ ผู้ประกอบการและประชาชนจะต้องคัดเลือกผู้มีส่วนได้เสียจากผู้มีสิทธิในที่ดินหรืออยู่อาศัย กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน กลุ่มผู้บริหารและสมาชิกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและตัวแทนองค์กรเอกชนในท้องที่ที่ประสงค์จะขอประทานบัตรทำเหมือง เพื่อเข้าสู่กระบวนการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสีย และก่อนมีการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นจะต้องจัดส่งรายงานเบื้องต้นเกี่ยวกับข้อมูลโครงการที่ยื่นประกอบคำขอประทานบัตร และเนื้อหาในอีไอเอประกอบกับความเห็นของผู้พิจารณารายงาน ให้ผู้มีส่วนได้เสียพิจารณาล่วงหน้าก่อนการประชุมด้วย แต่เมื่อตรวจสอบดูข้อมูลทั้งหมดแล้วไม่พบว่ามีการตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างภาครัฐ ผู้ประกอบการและประชาชนขึ้นมาเพื่อดำเนินการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียแต่อย่างใด
ดังนั้น การที่บริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด อ้างว่าได้รับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียตามมาตรา ๘๘/๗ โดยเป็นการจัดเวทีตามลำพังตนเอง ไม่ใช่การจัดเวทีจากคณะกรรมการร่วม จึงไม่ถือว่าเป็นการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียตามมาตรา ๘๘/๗ ที่กล่าวอ้างแต่อย่างใด ซึ่งเป็นการกล่างอ้างที่บิดเบือนกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างชัดเจน ส่งผลต่อการขาดความรับผิดชอบของสังคมและธรรมาภิบาลที่พึงมีของผู้ประกอบการเหมืองแร่
มีประเด็นที่น่าสนใจในลำดับต่อไปก็คือเหตุใดการทำเหมืองแบบเปิดหน้าดินชนิดแร่ทองคำและเงินของบริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด ในแปลงประทานบัตรพิพาททั้ง ๕ แปลง จึงอ้างกระบวนการรังฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียตามกฎหมายแร่ในส่วนของหมวดการทำเหมืองใต้ดิน สาเหตุก็เพราะว่า หมวด ๔/๑ การทำเหมืองใต้ดิน เกิดขึ้นจากการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐ ในครั้งที่ ๕ โดยเริ่มเสนอให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมมาตั้งแต่ปี ๒๕๔๑ จนมาสำเร็จเสร็จสิ้นเมื่อปี ๒๕๔๕ มีบทบัญญัติทั้งหมด ๑๓ มาตรา คือ มาตรา ๘๘/๑ - มาตรา ๘๘/๓ เนื้อหาในบทบัญญัติทั้ง ๑๓ มาตราดังกล่าวมีความแตกต่างกับบทบัญญัติในส่วนอื่นทั้งหมดของพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐ ตรงที่ได้บัญญัติวิธีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนหรือผู้มีส่วนได้เสียไว้เป็นการเฉพาะ รูปแบบและเนื้อหาของการรับฟังความคิดเห็นฯ ที่บัญญัติเอาไว้ในหมวดของการทำเหมืองใต้ดินมีอยู่หลายเรื่องด้วยกัน เริ่มจากการปรึกษาเบื้องต้นกับผู้มีส่วนได้เสียตามมาตรา ๘๘/๙ การรับฟังความคิดเห็นหลังจากที่อีไอเอผ่านความเห็นชอบแล้ว ตามมาตรา ๘๘/๗ การคัดเลือกตัวแทนผู้มีส่วนได้เสียเพื่อเป็นผู้มีสิทธิตรวจสอบการทำเหมืองใต้ดินตามมาตรา ๘๘/๑๑ และการคัดเลือกคณะกรรมการเพื่อบริหารกองทุนสนับสนุนโครงการศึกษาวิจัยของกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียตามมาตรา ๘๘/๑๐ ซึ่งรูปแบบและเนื้อหาของการรับฟังความคิดเห็นฯ ทั้ง ๔ เรื่องดังกล่าว จะต้องเริ่มต้นที่การคัดเลือกผู้มีส่วนได้เสียตามมาตรา ๘๘/๙ ให้ได้เสียก่อน ดังนั้น หากบริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด ไม่ได้มีกระบวนการคัดเลือกผู้มีส่วนได้เสียที่กำหนดไว้ตาม ๘๘/๙ ก็ไม่สามารถอ้างว่าได้รับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียตามมาตรา ๘๘/๗ แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐ เสร็จสิ้นแล้ว เนื่องจากเวทีรับฟังความคิดเห็นที่บริษัทฯ จัดขึ้นอาจจะเป็นการเกณฑ์ประชาชนที่ไม่มีความเห็นขัดแย้งกับบริษัทฯ เข้าไปร่วมเวทีแต่เพียงฝ่ายเดียวเท่านั้น และการอ้างการรับฟังความคิดเห็นตามมาตรา ๘๘/๗ เพียงประการเดียว โดยไม่จัดให้มีการมีส่วนร่วมของประชาชนในด้านอื่น ๆ ตามมาตรา ๘๘/๙ มาตรา ๘๘/๑๐ และมาตรา ๘๘/๑๑ ตามที่กล่าวมา ก็ไม่สามารถสร้างภาพความรับผิดชอบต่อสังคมของบริษัทฯ ให้ดูดีขึ้นมาได้
ประเด็นที่สี่ - บุกรุก ปิดกั้น ทำลายทางสาธารณประโยชน์จนทำให้เสื่อมสภาพ
บริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด ได้ทำการขุดทำลายทางสาธารณประโยชน์หลายเส้นทางที่อยู่ในพื้นที่ประทานบัตร เพื่อนำแร่ทองคำและเงินใต้ถนนมาเป็นประโยชน์ของบริษัท และได้ปิดกั้นทางสาธารณประโยชน์ทำให้ประชาชนไม่สามารถสัญจรไปมาได้อีกต่อไป จึงเป็นเหตุให้นางสาวสื่อกัญญา ธีระชาติดำรง หรือผู้ฟ้องคดี ร้องขอไต่สวนฉุกเฉินให้ศาลมีคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการชั่วคราวเพื่อขอให้เปิดทางสาธารณประโยชน์เพื่อให้ผู้ฟ้องคดีและประชาชนในชุมชนสามารถใช้สัญจรไปมาได้ แต่คำชี้แจงและการให้ถ้อยคำของบริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด หรือผู้ร้องสอด และกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่กลับไม่ยอมรับผิดในผลของการกระทำของตน
เบื้องแรกบริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด โต้แย้งคำฟ้องของผู้ฟ้องคดีว่าการทำเหมืองแร่ใกล้ทางหลวงหรือทางน้ำสาธารณะได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขอย่างเคร่งครัด โดยมิได้ทำเหมืองแร่ใกล้ทางหลวงหรือทางน้ำสาธารณะภายในระยะ ๕๐ เมตร หรือหากจำเป็นจะต้องทำเหมืองแร่ใกล้ทางหลวงหรือทางน้ำสาธารณะก็ได้ขออนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง[7] ส่วน กพร. ยื่นคำชี้แจงและให้ถ้อยคำต่อศาลในทางที่เป็นคุณต่อบริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด ว่ากรณีการใช้ประโยชน์ทางสาธารณะผู้ร้องสอดได้หารือเพื่อประกอบการพิจารณาอนุญาต ซึ่งกรมที่ดินมีความเห็นว่าหากผู้ร้องสอดไม่มีความประสงค์จะใช้ทางสาธารณประโยชน์ที่อยู่ภายในบริเวณที่ขอประทานบัตร ไม่ว่าจะใช้เพื่อการทำเหมืองแร่หรือใช้ในลักษณะผูกขาดแต่เพียงผู้เดียว กรณีนี้จึงไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะต้องขออนุญาตตามประมวลกฎหมายที่ดินแต่อย่างใด[8]
ประเด็นที่ต้องพิจารณาในเบื้องแรกสุดก็คือ บริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด มีความประสงค์จะใช้ทางสาธารณประโยชน์ที่อยู่ภายในเขตคำขอประทานบัตรหรือไม่ และหากมีความประสงค์จะใช้แล้วจะทำให้ทางสาธารณประโยชน์เสื่อมสภาพ ถูกปิดกั้นหรือทำลายจนเป็นเหตุให้ต้องขออนุญาตใช้ประโยชน์ตามมาตรา ๙ ของประมวลกฎหมายที่ดินหรือไม่ ซึ่งเมื่อพิจารณาถ้อยคำระหว่างบรรทัดในเบื้องแรกก็เข้าใจว่าบริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด ไม่ประสงค์จะใช้ทางสาธารณประโยชน์เพื่อการทำเหมืองแร่หรือเพื่อการอื่นที่เกี่ยวเนื่องกับการทำเหมืองแร่แต่อย่างใด แต่พอพิจารณาให้ละเอียดถี่ถ้วนในภายหลังก็ได้ความจริงว่าบริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด ประสงค์จะใช้ทางสาธารณประโยชน์เพื่อการทำเหมืองแร่หรือเพื่อการอื่นที่เกี่ยวเนื่องกับการทำเหมืองแร่มาตั้งแต่ขั้นตอนต้น ๆ ของการดำเนินการขอประทานบัตรแล้ว เหตุก็เพราะว่าในแผนผังโครงการทำเหมืองและรายงานลักษณะธรณีวิทยาแหล่งแร่ระบุถึงความประสงค์ในการปิดกั้น ขุดควักทำลายหรือทำให้เสื่อมสภาพทางสาธารณประโยชน์ในเขตคำขอประทานบัตรไว้ชัดเจน และโดยสามัญสำนึกถึงแม้ไม่นำเอกสารทั้ง ๒ ชิ้นดังกล่าวมาอ้าง โดยบริษัทฯ และ กพร. อาจจะให้เหตุผลว่าเอกสารทั้ง ๒ ชิ้นดังกล่าวจัดทำขึ้นมาภายหลัง ไม่เห็นเจตนาในการปิดกั้นหรือทำลายทางสาธารณประโยชน์ในช่วงเวลาของขั้นตอนต้น ๆ ของการดำเนินการขอประทานบัตรก็ตาม อย่างไรเสียการทำเหมืองแร่แบบเปิดหน้าดินย่อมทำให้สภาพของทางสาธารณประโยชน์เสื่อมสภาพ ถูกทำลายหรือสูญหายไปจากการขุดควักเอาสินแร่ใต้ดินอยู่เสมอ แทบไม่มีการทำเหมืองแบบเปิดหน้าดินแห่งใดในโลกจะละเว้นทางสาธารณประโยชน์ให้อยู่ในสภาพเดิมโดยไม่ถูกทำลายได้ ซึ่งข้อเท็จจริงนี้บริษัทฯ และ กพร. รับรู้มาตั้งแต่ต้น คำถามจึงมีอยู่ว่ามีการรับรู้มาตั้งแต่ในช่วงเวลาของขั้นตอนต้น ๆ ของการดำเนินการขอประทานบัตรว่าบริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด ประสงค์จะใช้เส้นทางสาธารณประโยชน์เพื่อการทำเหมืองแร่หรือเพื่อประโยชน์อื่นที่เกี่ยวเนื่องกับเหมืองแร่แล้วเหตุใดหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องจึงไม่สั่งให้บริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด ไปดำเนินการขออนุญาตใช้ทางสาธารณประโยชน์ตามมาตรา ๙ ของประมวลกฎหมายที่ดิน
มีประเด็นที่ต้องพิจารณาในข้อต่อไปว่า ในช่วงเวลาต่อมาบริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด ได้อ้างมติที่ประชุมสภาองค์การบริหารส่วนตำบลเขาเจ็ดลูกเมื่อวันที่ ๓ มิถุนายน ๒๕๔๘ เห็นชอบให้บริษัทฯ เข้าทำประโยชน์ในพื้นที่สาธารณประโยชน์ใด ๆ โดยสามารถปิดกั้น ทำลาย หรือทำให้เสื่อมสภาพแก่ทางสาธารณประโยชน์ภายในเขตคำขอประทานบัตร[9] ได้นั้นเป็นมติที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ สิ่งที่จะต้องพิจารณาในประเด็นนี้ก็คือการที่บริษัทฯ ขอให้ที่ประชุมสภา อบต. เขาเจ็ดลูก มีมติเห็นชอบให้แก่บริษัทฯ ในประเด็นดังกล่าวนั่นย่อมเป็นการยอมรับว่าบริษัทฯ จะใช้ทางสาธารณประโยชน์ที่อยู่ภายในเขตคำขอประทานบัตรเพื่อการทำเหมืองแร่หรือเพื่อการอื่นที่เกี่ยวเนื่องกับเหมืองแร่อย่างแน่นอน ซึ่งขัดแย้งกับคำชี้แจงและการให้ถ้อยคำในตอนต้นของบริษัทฯ และ กพร. ว่าบริษัทฯ ไม่มีความประสงค์จะใช้ทางสาธารณประโยชน์เพื่อการทำเหมืองแร่หรือเพื่อการอื่นที่เกี่ยวเนื่องกับเหมืองแร่แต่อย่างใด เมื่อข้อเท็จจริงเป็นเช่นนี้แล้วสิ่งที่ประชุมของสภา อบต. เขาเจ็ดลูก จะต้องทำก็คือมีมติให้บริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด ไปดำเนินการขออนุญาตใช้ทางสาธารณประโยชน์ตามมาตรา ๙ ของประมวลกฎหมายที่ดิน โดยจัดประชุมชี้แจงและขอความเห็นชอบจากประชาชนในชุมชนที่ใช้เส้นทางสาธารณประโยชน์เพื่อการสัญจรไปมาและกิจกรรมอื่น ๆ หากชุมชนมีมติเห็นชอบก็ให้นำเสนอต่อส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเพื่ออนุญาตในขั้นตอนต่อไปและท้ายที่สุดเสียก่อน แต่ไม่ใช่มีมติเมื่อวันที่ ๓ มิถุนายน ๒๕๔๘ ให้ใช้ทางสาธารณประโยชน์ได้โดยกระโดดข้ามลัดขั้นตอน ซึ่งไม่ถูกต้องตามขั้นตอนอันเป็นสาระสำคัญตามที่กฎหมายกำหนดเช่นนี้
ดังนั้น มตินี้จึงเป็นมติที่มิชอบด้วยกฎหมายเพราะเป็นการกระโดดข้ามลัดขั้นตอนความถูกต้องของกฎหมาย เป็นผลให้ประชาชนในหมู่บ้านเขาหม้อและชุมชนใกล้เคียงต้องสูญเสียผลประโยชน์จากการใช้ทางสาธารณประโยชน์สัญจรไปมาระหว่างชุมชนและใช้ประโยชน์อื่นตามสิทธิอันพึงมีพึงได้ที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญและกฎหมายลูกอื่น ๆ นอกจากนี้ การสูญเสียประโยชน์ดังกล่าวยังส่งผลถึงอนาคตของลูกหลานในวันข้างหน้าอีกด้วย เนื่องจากเส้นทางสาธารณประโยชน์ได้สูญเสียสภาพ ถูกขุดควักทำลายไปจากการทำเหมืองแร่ทองคำและเงินจนไม่สามารถรื้อฟื้นกลับคืนได้เหมือนเก่า เมื่อประทานบัตรพิพาทสิ้นอายุลงในปี ๒๕๗๑ แต่ชุมชนเขาหม้อและชุมชนใกล้เคียงยังไม่ล่มสลายไปก็จะไม่มีเส้นทางสาธารณประโยชน์ใช้สัญจรไปมาระหว่างชุมชนได้อีกแล้ว
เหตุยังไม่จบเพียงแค่นั้น มีปัญหาที่ต้องพิจารณาเพิ่มเติมต่อไปอีกว่า บริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด ไม่ได้ดำเนินการขอใช้ทางสาธารณประโยชน์ตามมาตรา ๙ ของประมวลกฎหมายที่ดินในขั้นตอนต้น ๆ ของการดำเนินการขอประทานบัตร แต่มาขอใช้ทางสาธารณประโยชน์ตามมาตรา ๙ ภายหลังขั้นตอนต้น ๆ ของการดำเนินการขอประทานบัตรผ่านความเห็นชอบไปแล้ว กล่าวคือที่ประชุมสภา อบต. เขาเจ็ดลูก มีมติเมื่อวันที่ ๓ มิถุนายน ๒๕๔๘ ให้บริษัทฯ เข้าทำประโยชน์ในพื้นที่สาธารณประโยชน์ใด ๆ โดยสามารถปิดกั้น ทำลาย หรือทำให้เสื่อมสภาพแก่ทางสาธารณประโยชน์ภายในเขตคำขอประทานบัตร และ กพร. ได้ให้ความเห็นชอบแผนผังโครงการทำเหมืองและรายงานลักษณะธรณีวิทยาแหล่งแร่ไปแล้ว เป็นการกระทำซึ่งไม่ถูกต้องตามขั้นตอนอันเป็นสาระสำคัญตามที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ อย่างไร สิ่งที่ต้องพิจารณาในประเด็นนี้เริ่มจากที่ กพร. ได้ยื่นคำชี้แจงและให้ถ้อยคำต่อศาลในทางที่เป็นคุณต่อบริษัทฯ ว่าบริษัทฯ ไม่มีความประสงค์จะใช้ทางสาธารณประโยชน์ที่อยู่ภายในบริเวณที่ขอประทานบัตรเพื่อการทำเหมืองแร่หรือเพื่อการอื่นที่เกี่ยวเนื่องกับการทำเหมืองแร่ จึงไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะต้องขออนุญาตตามประมวลกฎหมายที่ดินแต่อย่างใด ตามที่ได้กล่าวไว้แล้วในย่อหน้าก่อน ๆ แต่หลังจากที่บริษัทฯ ได้ผ่านการดำเนินการขอประทานบัตรในขั้นตอนต้น ๆ ตามที่กล่าวไปแล้ว บริษัทฯ ได้ยื่นคำขอปิดกั้นหรือทำให้เสื่อมสภาพทางสาธารณประโยชน์ในเขตประทานบัตรตามมาตรา ๙ แห่งประมวลกฎหมายที่ดินเมื่อวันที่ ๗ มกราคม ๒๕๕๑ แต่ชาวบ้านในหมู่บ้านเขาหม้อได้คัดค้านการขอใช้ทางสาธารณประโยชน์ และที่ประชุมสภา อบต. เขาเจ็ดลูก มีมติเมื่อวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑ ไม่เห็นชอบให้ใช้เส้นทางตามที่ขอดังกล่าว จึงไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะพิจารณาอนุญาตให้ใช้เส้นทางสาธารณประโยชน์ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการขออนุญาตตามมาตรา ๙ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. ๒๕๔๓ อำเภอทับคล้อจึงได้มีคำสั่งให้ยกเลิกคำขอดังกล่าว โดยบริษัทฯ มีหนังสือลงวันที่ ๔ กันยายน ๒๕๕๒ หลังจากที่ได้รับอนุญาตประทานบัตรไปแล้วหนึ่งปีกว่า (ประทานบัตรได้รับอนุญาตเมื่อวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๕๑) เพื่อขออุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวโดยโต้แย้งว่ามติที่ประชุมสภา อบต. เขาเจ็ดลูก เมื่อวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑ เป็นมติที่ไม่ชอบเนื่องจาก อบต. เขาเจ็ดลูก ได้มีหนังสือลงวันที่ ๒๔ เมษายน ๒๕๕๐ ยืนยันมติที่ประชุมสภา อบต. เขาเจ็ดลูก ที่เห็นสมควรให้ผู้ร้องสอดเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้ พื้นที่สาธารณประโยชน์ต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดพิจิตรแล้ว อำเภอทับคล้อได้มีคำสั่ง ที่ ๒๒๕/๒๕๕๒ ลงวันที่ ๑๐ กันยายน ๒๕๕๒ แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเห็นว่ามติที่ประชุมสภา อบต. เขาเจ็ดลูก เมื่อวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑ เป็นมติที่ชอบด้วยกฎหมาย เห็นควรยืนยันตามคำสั่งเดิม ซึ่งพิจารณาแล้วเห็นว่าคำอุทธรณ์ของบริษัทฯ ไม่อาจรับฟังได้ เพราะว่าการประชุมสภา อบต. เขาเจ็ดลูก เมื่อวันที่ ๓ มิถุนายน ๒๕๔๘ ที่มีมติเห็นชอบให้ผู้ร้องสอดปิดกั้น ทำลาย หรือทำให้เสื่อมแก่ทางสาธารณประโยชน์และทางน้ำอื่น ๆ มิได้มีการยื่นคำขออนุญาตตามมาตรา ๙ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน มติที่ประชุมสภาทั้งสองครั้งจึงมิได้ขัดหรือแย้งกัน
แต่ถึงกระนั้นก็ตาม กพร. ยังได้ให้ความช่วยเหลือแก่บริษัทฯ ต่อไปโดยออกใบอนุญาตปิดกั้น ทำลายหรือกระทำให้เสื่อมประโยชน์แก่ทางหลวงหรือทางสาธารณประโยชน์แก่บริษัทฯ ตามประทานบัตรพิพาททั้ง ๕ แปลงดังกล่าว เมื่อวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ ซึ่งเป็นการออกใบอนุญาตภายหลังจากที่ได้รับอนุญาตประทานบัตรผ่านมาได้หนึ่งปีกว่าแล้ว โดยใช้อำนาจตามมาตรา ๖๓ ของพระราชบัญญัติแร่ ๒๕๑๐ แทนอำนาจตามมาตรา ๙ ของประมวลกฎหมายที่ดิน
ประเด็นจึงมีว่าทำไม กพร. ได้ให้ข้อมูลเท็จต่อศาลในทางที่เป็นคุณต่อบริษัทฯ ว่าบริษัทฯ ไม่มีความประสงค์จะใช้ทางสาธารณประโยชน์ที่อยู่ภายในบริเวณที่ขอประทานบัตรเพื่อการทำเหมืองแร่หรือเพื่อการอื่นที่เกี่ยวเนื่องกับการทำเหมืองแร่แต่อย่างใดตั้งแต่ขั้นตอนต้น ๆ ของการดำเนินการขอประทานบัตร ทั้ง ๆ ที่ กพร. รู้อยู่แก่ใจว่าบริษัทฯ จะทำเหมืองแบบเปิดหน้าดินโดยจะต้องทำลายหรือขุดควักเส้นทางสาธารณประโยชน์ให้สูญเสียสภาพไปหลายเส้นทางอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้ตามเอกสารที่ระบุไว้ในแผนผังโครงการทำเหมืองและรายงานลักษณะธรณีวิทยาแหล่งแร่ หรือถึงแม้จะไม่อ้างถึงเอกสารทั้ง ๒ ชิ้นดังกล่าว โดย กพร. อาจจะให้เหตุผลว่าเอกสารทั้ง ๒ ชิ้นดังกล่าวจัดทำขึ้นมาภายหลัง ไม่เห็นเจตนาในการปิดกั้นหรือทำลายทางสาธารณประโยชน์ในช่วงเวลาของขั้นตอนต้น ๆ ของการดำเนินการขอประทานบัตรก็ตาม แต่โดยสามัญสำนึกแล้วอย่างไรเสียการทำเหมืองแร่แบบเปิดหน้าดินย่อมทำให้สภาพของทางสาธารณประโยชน์เสื่อมสภาพ ถูกทำลายหรือสูญหายไปจากการขุดควักเอาสินแร่ใต้ดินอยู่เสมอ แทบไม่มีการทำเหมืองแบบเปิดหน้าดินแห่งใดในโลกจะละเว้นทางสาธารณประโยชน์ให้อยู่ในสภาพเดิมโดยไม่ถูกทำลายได้ และทำไมต่อมาภายหลังจากที่ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องมีมติไม่อนุญาตให้บริษัทฯ ใช้เส้นทางสาธารณประโยชน์ตามมาตรา ๙ ของประมวลกฎหมายที่ดินตามที่ได้กล่าวไปแล้ว กพร. ยังไม่ละความพยายามช่วยเหลือบริษัทฯ โดยอนุญาตให้ปิดกั้น ทำลายหรือทำให้เสื่อมประโยชน์แก่ทางสาธารณประโยชน์ที่อยู่ในแปลงประทานบัตรพิพาททั้ง ๕ แปลง โดยใช้อำนาจตามมาตรา ๖๓ ของกฎหมายแร่ได้โดยที่ไม่ผ่านการขอความเห็นชอบตามมาตรา ๙ ของประมวลกฎหมายที่ดินมาก่อนอีกด้วย
ดังนั้น การกระทำซึ่งไม่ถูกต้องตามขั้นตอนอันเป็นสาระสำคัญตามที่กฎหมายกำหนดไม่ได้เป็นการกระทำของบริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด แต่เพียงฝ่ายเดียว แต่มี กพร. เป็นผู้มีส่วนร่วมด้วย โดยเฉพาะ กพร. ที่มีเจตนาจงใจบิดเบือนข้อมูลต่อศาลเพื่อประโยชน์ของบริษัทฯ มีพฤติกรรมแก้ต่างที่ขาดธรรมาภิบาลเพื่อการบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดี มุ่งเป็นไปเพื่อประโยชน์ของบริษัทฯ ในการขุดควักเอาสินแร่ใต้ทางสาธารณประโยชน์ได้โดยไม่ต้องรับผิดชอบต่อผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสังคม สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจและสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ที่อยู่ใกล้เคียงกับเขตประทานบัตรพิพาทแต่อย่างใด
ประเด็นที่ห้า - ปัญหาความไม่ชอบมาพากลของมติที่ประชุมสภา อบต. เขาเจ็ดลูก เมื่อวันที่ ๓ มิถุนายน ๒๕๔๘
ตามที่ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าการออกประทานบัตรพิพาททั้ง ๕ แปลงดังกล่าวไม่ถูกต้องตามขั้นตอนอันเป็นสาระสำคัญตามที่กฎหมายกำหนด โดยอ้างถึงความไม่ชอบด้วยกฎหมายของมติสภา อบต. เขาเจ็ดลูก เมื่อวันที่ ๓ มิถุนายน ๒๕๔๘ ที่มีมติเห็นชอบกับคำขอประทานบัตรดังกล่าว ที่ให้เข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้ และให้ปิดกั้น ทำลาย หรือทำให้เสื่อมประโยชน์แก่ทางสาธารณประโยชน์[10] ประเด็นสำคัญก็คือมติดังกล่าวได้นำ ๓ เรื่องมาพัวพันกัน คือ เรื่องแรก-การให้ความเห็นชอบคำขอประทานบัตรพิพาททั้ง ๕ แปลง เรื่องที่สอง-การให้ความเห็นชอบเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้ และเรื่องที่สาม-การให้ความเห็นชอบให้ปิดกั้น ทำลาย หรือทำให้เสื่อมสภาพแก่ทางสาธารณประโยชน์ ทั้ง ๆ ที่เรื่องทั้งสามต้องแยกออกจากกัน ไม่สมควรนำมาพิจารณาในวาระเดียวกันได้ เนื่องจากว่าการที่ที่ประชุมสภา อบต. เขาเจ็ดลูก จะมีมติเห็นชอบให้เข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้ และให้ปิดกั้น ทำลายหรือทำให้เสื่อมสภาพแก่ทางสาธารณประโยชน์ได้จะต้องมีฐานข้อมูลจากแผนผังโครงการทำเหมืองและรายงานลักษณะทางธรณีวิทยาแหล่งแร่รองรับ แต่ข้อเท็จจริงก็คือแผนผังโครงการทำเหมืองได้รับความเห็นชอบจาก กพร. สองครั้งเมื่อวันที่ ๙ ตุลาคม ๒๕๔๙ และวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๕๑ ส่วนรายงานลักษณะธรณีวิทยาแหล่งแร่ได้รับความเห็นชอบจาก กพร. และกรมทรัพยากรธรณีเมื่อวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๔๙ และ ๑๖ ตุลาคม ๒๕๕๐ ตามลำดับ ซึ่งเป็นช่วงเวลาภายหลังจากที่มีมติสภา อบต. เขาเจ็ดลูก เมื่อวันที่ ๓ มิถุนายน ๒๕๔๘ ทั้งสิ้น
เหตุผลต่อเนื่องในประเด็นนี้ก็คือการที่สภา อบต. เขาเจ็ดลูก จะให้ความเห็นชอบในเรื่องการให้เข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้ และให้ปิดกั้น ทำลายหรือทำให้เสื่อมสภาพแก่ทางสาธารณประโยชน์ได้จะต้องไม่มีข้อพิพาทแล้วเท่านั้น แต่หากยังมีข้อพิพาทหรือขัดแย้งกันอยู่ สภา อบต. เขาเจ็ดลูก ก็ไม่สมควรมีมติในเรื่องดังกล่าวได้ และยิ่งเห็นปัญหาของมติดังกล่าวชัดเจนขึ้นอีกจากการที่ประชุมสภา อบต. เขาเจ็ดลูก เมื่อวันที่ ๓ มิถุนายน ๒๕๔๘ ผู้ใหญ่บ้านและกำนันไม่ยอมนำรายงานการประชุมของชาวบ้านหมู่บ้านเขาหม้อที่คัดค้านประทานบัตรพิพาททั้ง ๕ แปลงเสนอต่อที่ประชุม รวมทั้งไม่ยอมสอบถามความเห็นของกรรมการหมู่บ้านเขาหม้อที่เข้าร่วมประชุมในวันดังกล่าวด้วยว่าจะคัดค้านหรือไม่ โดยรับฟังคำชี้แจงจากตัวแทนบริษัทฯ แต่เพียงฝ่ายเดียวเท่านั้น ในเรื่องของการปิดกั้น ทำลายหรือทำให้เสื่อมสภาพทางสาธารณประโยชน์ได้กล่าวไว้แล้วในหัวข้อที่ผ่านมา สำหรับในส่วนของการให้ความเห็นชอบเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้ มีข้อพิพาทระหว่างกรมป่าไม้กับเจ้าของที่ดินมาตั้งแต่ที่ดินที่ถือครองกรรมสิทธิ์ยังอยู่ในเขตพื้นที่คำขอประทานบัตร จนบริษัทฯ ได้รับอนุญาตประทานบัตรแล้วข้อพิพาทก็ยังคงอยู่ ในคดีอาญาฐานความผิดต่อกฎหมายป่าไม้ของศาลจังหวัดพิจิตร ซึ่งศาลพิพากษายกฟ้องโจทก์คือกรมป่าไม้เพราะจำเลยคือชาวบ้านหมู่บ้านเขาหม้อมีสิทธิการครอบครอบที่ดินพิพาท ในคดีหมายเลขดำที่ ๗๘๙/๒๕๕๑ หมายเลขแดงที่ ๑๓๖/๒๕๕๒ เมื่อวันที่ ๒๙ มกราคม ๒๕๕๒ ซึ่งก็เป็นช่วงเวลาภายหลังจากที่มีมติสภา อบต. เขาเจ็ดลูก เมื่อวันที่ ๓ มิถุนายน ๒๕๔๘ อีกเช่นกัน
ดังนั้น การมีมติสภา อบต. เขาเจ็ดลูก เมื่อวันที่ ๓ มิถุนายน ๒๕๔๘ ที่ให้ความเห็นชอบพัวพันกันทั้ง ๓ เรื่อง คือ เรื่องแรก-การให้ความเห็นชอบคำขอประทานบัตรพิพาททั้ง ๕ แปลง เรื่องที่สอง-การให้ความเห็นชอบเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้ และเรื่องที่สาม-การให้ความเห็นชอบให้ปิดกั้น ทำลาย หรือทำให้เสื่อมสภาพแก่ทางสาธารณประโยชน์ โดยไม่มีฐานข้อมูลจากแผนผังโครงการทำเหมือง รายงานลักษณะธรณีวิทยาแหล่งแร่ และรายงานการประชุมของชาวบ้านหมู่บ้านเขาหม้อที่คัดค้านประทานบัตรพิพาททั้ง ๕ แปลงมาประกอบการตัดสินใจ จึงเป็นมติที่รวบรัดตัดตอนไม่ถูกต้องตามขั้นตอนอันเป็นสาระสำคัญตามที่กฎหมายกำหนด
ข้อพิจารณาต่อเนื่องในท้ายที่สุดของประเด็นนี้ก็คือ นอกจากอีไอเอไม่สอดคล้องกับรายงานลักษณะธรณีวิทยาแหล่งแร่และแผนผังโครงการทำเหมืองแล้ว เพราะอีไอเอได้รับความเห็นชอบก่อนเอกสารทั้ง ๒ ชิ้นดังกล่าว ตามที่ได้กล่าวไว้แล้วในหัวข้อต้น ๆ ของบทความชิ้นนี้ อีไอเอก็ไม่สอดคล้องกับการให้อนุญาตใช้ประโยชน์พื้นที่ป่าไม้และทางสาธารณประโยชน์ในเขตพื้นที่ประทานบัตรพิพาททั้ง ๕ แปลงด้วย ก็เพราะหลังจากที่อีไอเอได้รับความเห็นชอบจาก คชก. เมื่อวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐ แล้ว ข้อพิพาทขัดแย้งในเรื่องการใช้ประโยชน์พื้นที่ป่าไม้และทางสาธารณประโยชน์ในพื้นที่ประทานบัตรพิพาททั้ง ๕ แปลง ก็ยังไม่ได้รับการคลี่คลายปัญหา จึงเชื่อได้ว่าการพิจารณาให้ความเห็นชอบอีไอเอของ สผ. และ คชก. ไม่มีเนื้อหาที่เกี่ยวกับการประเมิน วิเคราะห์หรือคาดการณ์และวางมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบต่อการใช้ประโยชน์พื้นที่ป่าไม้และทางสาธารณประโยชน์ในพื้นที่ประทานบัตรพิพาทททั้ง ๕ แปลงแต่อย่างใด
ประเด็นที่หก - ผลประโยชน์เอกชน ผลประโยชน์รัฐ ผลประโยชน์สาธารณะ
ในชั้นของการไต่สวนเพื่อพิจารณาคำขอให้ศาลมีคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษา ศาลมีคำสั่งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตรและบริษัทฯ ทำคำชี้แจงต่อศาลกรณีหากศาลมีคำสั่งให้ปิดกิจการจะทำให้เกิดผลเสียหายอย่างไรบ้าง เฉพาะประทานบัตรเลขที่ ๒๖๙๑๗/๑๕๘๐๔ จะเกิดความเสียหายในด้านใดบ้าง ยื่นต่อศาลภายในวันที่ ๙ ธันวาคม ๒๕๕๓
ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตรยื่นคำชี้แจงเพิ่มเติมตามคำสั่งศาลว่า หากปิดกิจการเหมืองแร่จะเกิดความเสียหายโดยตรงด้านแรงงาน ปัจจุบันมีการจ้างแรงงานประมาณ ๘๐๐ คน เจ้าหน้าที่รายเดือนจะได้รับผลกระทบจากการเลิกจ้าง ด้านภาษีค่าภาคหลวง ค่าธรรมเนียม ในปี พ.ศ. ๒๕๕๒ ผู้ร้องสอดได้เสียภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นเงิน ๒๘๐,๒๙๕,๘๘๘.๐๕ บาท เสียภาษีรายได้นิติบุคคลเป็นเงิน ๑๗๙,๕๑๖,๓๙๒.๓๙ บาท เสียภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายเป็นเงิน ๖๑,๖๖๒,๘๒๐.๕๖ บาท ชำระค่าภาคหลวงแร่เป็นเงิน ๓๘๑,๖๘๘,๕๖๖ บาท ซึ่งรัฐจัดสรรคืนลงสู่พื้นที่และท้องถิ่น ๖๐ % หากปิดกิจการทำให้รัฐต้องสูญเสียรายได้จำนวนมาก ความเสียหายโดยอ้อม ครอบครัว บุตร ภรรยาของแรงงานที่ถูกเลิกจ้างประมาณ ๓,๐๐๐ คน จะได้รับความเดือดร้อนโอกาสหางานใหม่มีน้อย ในจังหวัดไม่มีโรงงานขนาดใหญ่รองรับ แผนธุรกิจของบริษัทเสียหาย สัญญาที่ผูกพันไว้ล่วงหน้าต้องยกเลิกสัญญาและชำระค่าปรับผิดสัญญา เศรษฐกิจของจังหวัดและประเทศเสียหาย ธุรกิจของผู้ร้องสอดเป็นการร่วมทุนกับนักธุรกิจต่างประเทศหากถูกปิดกิจการจะทำให้นักลงทุนขาดความเชื่อมั่นและไม่กล้าลงทุนกับประเทศไทยอีก กระทบต่อภาพลักษณ์ของเศรษฐกิจไทย[11]
ส่วนบริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด ในฐานะผู้ร้องสอดได้ยื่นชี้แจงเพิ่มเติมตามคำสั่งศาลว่า หากปิดกิจการเหมืองแร่ไม่ว่าจะเป็นเฉพาะประทานบัตรที่ ๒๖๙๑๗/๑๕๘๐๔ หรือประทานบัตรอื่น โครงการจะได้รับผลกระทบและเกิดความเสียหายทั้งโครงการ เนื่องจากเชื่อมต่อแปลงประทานบัตรทุกแปลงจำนวน ๕ ประทานบัตร หากต้องปิดกิจการหรือถูกระงับลง ก่อให้เกิดความเสียหายต่อลูกจ้าง พนักงานและคนงานประมาณ ๑,๓๐๐ คน โดยร้อยละ ๖๗ เป็นการจ้างงานในท้องถิ่น กระทบต่อครอบครัว การศึกษาของบุตรหลานที่มีจำนวนกว่า ๓,๕๐๐ คน เสียหายต่อคู่สัญญาและคู่ค้าของผู้ร้องสอดซึ่งคำนวณเป็นค่าขาดรายได้กว่า ๒,๓๐๐ ล้านบาทต่อปี ทำให้รัฐต้องสูญเสียรายได้จากค่าภาคหลวงแร่เป็นจำนวนกว่า ๑,๐๐๐ ล้านบาท รวมทั้งจากภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่มอีกด้วย ความเสียหายต่อภาคสังคมและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ที่ได้จัดตั้งกองทุนพัฒนาตำบลเป็นจำนวน ๕ ล้านบาทต่อกองทุนต่อปี โครงการเพื่อการศึกษาประมาณ ๖,๐๐๐,๐๐๐ บาท โครงการเพื่อการกีฬาประมาณ ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท โครงการเพื่อการสาธารณสุขชุมชนประมาณ ๒,๗๐๐,๐๐๐ บาท โครงการส่งเสริมวัฒนธรรมประมาณ ๗๘๐,๐๐๐ บาท โครงการเพื่อการสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานประมาณ ๕,๐๐๐,๐๐๐ บาท และโครงการเพื่อทำนุบำรุงพระศาสนาประมาณ ๘๕๐,๐๐๐ บาท ความเสียหายต่อนโยบายทางเศรษฐกิจและภาพรวมของประเทศ ตลอดจนตัวเลขเงินรายได้ที่ได้จากการขายทองคำในตลาดต่างประเทศและการนำเงินรายได้เข้ามาในประเทศในแต่ละปี ความสนใจในการลงทุนและความน่าเชื่อถือของต่างประเทศ และกระทบต่อการตัดสินใจของนักลงทุนรายอื่นที่อาจมีความต้องการที่จะสำรวจและพัฒนาแหล่งแร่[12]
ตามความเป็นจริงแล้ว การปิดกิจการเหมืองแร่ในแปลงประทานบัตรพิพาททั้ง ๕ แปลง จะไม่ส่งผลกระทบใด ๆ ต่อแผนการทำเหมืองของบริษัทฯ เลย เนื่องจากว่ายังมีประทานบัตรอีก ๔ แปลง มาทดแทนการทำเหมืองได้ โดยประทานบัตร ๔ แปลงดังกล่าวเป็นประทานบัตรที่อยู่ติดกันหรืออยู่ในกลุ่มเดียวกันกับประทานบัตรพิพาททั้ง ๕ แปลง รวมเป็นทั้งหมด ๙ แปลง เรียกรวมกันว่าแหล่งแร่ทองคำชาตรีเหนือ ซึ่งเป็นแหล่งแร่ทองคำที่อยู่ระหว่างรอยต่อจังหวัดพิจิตรและเพชรบูรณ์ โดยใช้สันปันน้ำของเขาหม้อซึ่งเป็นภูเขาลูกโดดแบ่งเขตจังหวัดทั้งสอง แต่การที่ผู้ฟ้องคดีฟ้องให้เพิกถอนประทานบัตรพิพาทเพียงแค่ ๕ แปลง ซึ่งอยู่ในเขตจังหวัดพิจิตรก็เพราะไม่มั่นใจในเรื่องของเขตอำนาจศาลและเขตการเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่สามารถฟ้องคดีต่อศาลปกครองได้ของตนเองจะข้ามไปที่ฝั่งจังหวัดเพชรบูรณ์ได้หรือไม่ จึงเป็นเหตุให้ไม่นำประทานบัตรอีก ๔ แปลง ซึ่งเป็นแหล่งแร่เดียวกันคือแหล่งทองคำชาตรีเหนือ อยู่ในอีไอเอฉบับเดียวกันและได้รับประทานบัตรพร้อมกันเมื่อวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๕๑ ซึ่งอยู่ในเขตจังหวัดเพชรบูรณ์มารวมไว้ในคำฟ้องด้วย
น่าเสียดายที่ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตรและบริษัทฯ ทำคำชี้แจงตามที่ศาลสั่งเพียงแค่ชี้แจงตัวเลขความเสียหายของภาครัฐและส่วนอื่น ๆ ในสังคมไทยเฉพาะที่ได้ประโยชน์จากการทำเหมืองแร่ทองคำของบริษัทฯ แต่ไม่ได้ทำคำชี้แจงในส่วนความเสียหายต่อผลประโยชน์ทางธุรกิจของบริษัทฯ รวมทั้งคำชี้แจงนั้นน่าจะให้ครอบคลุมตัวเลขความเสียหายทางเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมของคนในพื้นที่โดยรอบแปลงประทานบัตรพิพาทด้วย เพื่อจะได้นำตัวเลขความเสียหายต่าง ๆ มาเปรียบเทียบชั่งระหว่างผลประโยชน์บริษัทฯ ผลประโยชน์รัฐและผลประโยชน์สาธารณะ เพื่อเป็นเหตุผลประกอบการตัดสินใจให้ปิดกิจการทำเหมืองแร่ทองคำในแปลงประทานบัตรพิพาทที่ละเอียดรอบคอบรัดกุมยิ่งขึ้น ดังเช่นคำชี้แจงของผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตรในเรื่องการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล เฉพาะในปี ๒๕๕๒ ที่บริษัทฯ เสียภาษีรายได้นิติบุคคลเป็นเงิน ๑๗๙,๕๑๖,๓๙๒.๓๙ บาท ส่วนคำชี้แจงของบริษัทฯ ระบุเพียงว่ารัฐจะต้องสูญเสียรายได้จากภาษีเงินได้นิติบุคคลเช่นกัน แต่ไม่ระบุตัวเลข แต่ทั้งผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตรและบริษัทฯ กลับไม่กล่าวถึงผลประโยชน์ที่บริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด ได้รับจากการได้รับสิทธิส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ แต่อย่างใดเลย โดยได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ๘ ปี หลังจากนั้นจะได้รับลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ ๕๐ อีก ๕ ปี รวมเป็นเงินของภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ประชาชนคนไทยควรจะได้รับมาใช้พัฒนาประเทศ แต่ได้รับการยกเว้นตลอดอายุบัตรส่งเสริมการลงทุนทั้งหมด ๓,๘๓๙,๗๖๙,๐๐๐ บาท รวมทั้งได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้าเครื่องจักร เป็นระยะเวลา ๘ ปีอีกด้วย ตามเงื่อนไขของบัตรส่งเสริมเลขที่ ๑๙๗๘(๒)/๒๕๕๓
ก่อนหน้านี้ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้จัดทำรายงานการศึกษานโยบายการสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำ ตีพิมพ์ในเดือนมกราคม ๒๕๕๒ โดยระบุว่าถึงแม้ กพร. จะได้มีการปรับอัตราค่าภาคหลวงแร่ทองคำใหม่ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ราคาทองคำที่ขึ้นสูงในช่วงเวลานั้น โดยจัดเก็บแบบอัตราก้าวหน้า ทำให้อัตราการจัดเก็บค่าภาคหลวงแร่ทองคำอยู่ที่ประมาณร้อยละ ๑๐ ถึงแม้จะอยู่ในเกณฑ์ที่สูงกว่าประเทศอื่นในแถบเอเชียและยุโรป ก็มิได้หมายความว่าการจัดเก็บในอัตราดังกล่าวจะมีความคุ้มค่าในเชิงเศรษฐกิจ เมื่อเปรียบเทียบกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ต้องสูญเสียไป อีกทั้งอุตสาหกรรมเหมืองแร่ทองคำของบริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด ตามประทานบัตรทั้ง ๔ แปลง ของโครงการเหมืองแร่ทองคำชาตรี ซึ่งเป็นประทานบัตรติดต่อกันกับประทานบัตรทั้ง ๙ แปลง ของโครงการเหมืองแร่ทองคำชาตรีเหนือตามที่กล่าวไปแล้ว ก็ได้รับสิทธิส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอเช่นกัน โดยได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นระยะเวลาเท่ากันกับบัตรส่งเสริมของโครงการชาตรีเหนือ ได้ทำให้รัฐสูญเสียรายได้ในรูปภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ ๓๐ ซึ่งหากคิดเป็นจำนวนเงินที่รัฐควรจะได้รับมีประมาณ ๙๙๙.๑๔ ล้านบาท[13]
ในเรื่องของค่าภาคหลวงแร่กับกองทุนพัฒนาตำบลที่ยกขึ้นมาอ้างถึงความเสียหายของรัฐและประชาชนไทยหากต้องถูกศาลสั่งปิดกิจการเหมืองแร่ในแปลงประทานบัตรพิพาท เรื่องของตัวเลขที่ประชาชนและรัฐไทยควรจะได้รับก็มีความสำคัญว่าทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ต้องขุดขึ้นมาขายได้เพียงครั้งเดียวแบบใช้แล้วหมดไปไม่สามารถงอกเงยขึ้นมาใหม่ได้นั้นควรมีมูลค่าและส่วนแบ่งอย่างไรถึงจะยุติธรรม แต่ปัญหาอีกด้านหนึ่งที่มาพร้อมกับเม็ดเงินที่ได้รับจากค่าภาคหลวงแร่และกองทุนพัฒนาตำบลก็คือค่าภาคหลวงแร่ที่รัฐส่วนกลางและท้องถิ่นได้ไปนอกจากจะไม่เคยตกถึงมือผู้ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่โดยตรงแล้ว ในด้านเศรษฐกิจก็ยังไม่มีความคุ้มค่าต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ต้องสูญเสียไปอีกด้วย และไม่สามารถนำค่าภาคหลวงแร่ที่ได้รับมาชดเชย ชดใช้ ฟื้นฟู เยียวยาใด ๆ ได้เลย เนื่องจากวิธีการจัดสรรค่าภาคหลวงตลอดอายุการทำเหมืองในประเทศไทย จะจัดสรรให้แก่รัฐบาลกลาง ๔๐% องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ในเขตพื้นที่ประทานบัตร ๒๐% องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในเขตพื้นที่ประทานบัตร ๒๐% อปท. นอกเขตประทานบัตรทั้งหมดของจังหวัดที่เป็นพื้นที่ประทานบัตร ๑๐% และ อปท. อื่นๆ ทั่วประเทศซึ่งอยู่นอกเขตจังหวัดประทานบัตรอีก ๑๐% ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือค่าภาคหลวงแร่ที่รัฐส่วนกลางและท้องถิ่นได้รับนั้นจะต้องเอาไปรวมเข้ากับรายได้ส่วนอื่น ๆ ที่จัดเก็บได้ในรอบปี และนำเงินรายได้ที่จัดเก็บได้ทั้งหมดไปวางแผนพัฒนาประเทศหรือท้องถิ่นในภาพรวม แต่ไม่เคยมีการนำเงินรายได้ที่จัดเก็บได้มาวางแผนชดใช้ ชดเชย ฟื้นฟู หรือเยียวยาผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และสุขภาพของประชาชนที่ได้รับจากการทำเหมืองแร่เลย
นี่คือปัญหาสำคัญของประเทศไทย คือการพัฒนาประเทศให้เจริญเติบโตก้าวหน้าสู่ความทันสมัยแต่ไม่ได้สนใจใยดีประชาชนผู้ที่ต้องเสียสละแต่แบกรับผลกระทบ จึงมักพบเห็นอยู่เสมอว่าผู้มีอำนาจในการพัฒนาประเทศและท้องถิ่นไม่ยินยอมที่จะบรรจุแผนการชดใช้และฟื้นฟูผลกระทบจากการทำเหมืองเอาไว้ในแผนพัฒนาประเทศและท้องถิ่นในภาพรวม เพราะถ้าหากทำเช่นนั้นจะทำให้รายได้ที่กลุ่มการเมืองและกลุ่มผลประโยชน์ต่าง ๆ ทั้งในระดับชาติและท้องถิ่นได้รับลดลง เกิดเป็นปัญหาความไม่พอใจหรือรุนแรงถึงขั้นแตกแยกทางการเมืองจนทำให้ผู้บริหารประเทศและท้องถิ่นไม่สามารถควบคุมหรือรักษาความนิยมทางการเมืองได้อีกต่อไป ซึ่งจะส่งผลให้ผู้บริหารประเทศ หรือพรรคการเมืองของผู้บริหารประเทศและท้องถิ่นไม่สามารถกลับมาเป็นผู้บริหารในสมัยการเลือกตั้งครั้งหน้าได้
ดังเช่นที่ อบต. เขาเจ็ดลูก อำเภอทับคล้อ จังหวัดพิจิตร ได้รับค่าภาคหลวงแร่ทองคำปีละประมาณ ๑๒ ล้านบาท และได้รับเงินจากกองทุนพัฒนาตำบลจากบริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด ปีละ ๕ ล้านบาท รวมทั้งภาษีเงินได้ ค่าธรรมเนียม ภาษีอากรอื่น ๆ อีกหลายรายการ แต่ไม่สามารถนำเงินที่ได้รับจากบริษัทฯ มาแก้ไขปัญหาให้กับชาวบ้านในหมู่บ้านเขาหม้อที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ทองคำได้เลย เพราะสมาชิก อบต. ของหมู่บ้านอื่นอีก ๑๐ กว่าหมู่บ้าน ไม่ยินยอมให้นำเงินที่ได้รับจากบริษัทฯ มาทุ่มให้กับหมู่บ้านเขาหม้อเพียงหมู่บ้านเดียว สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือเงินที่ได้รับจากการทำเหมืองแร่ทองคำทั้งหมดถูกเฉลี่ยไปให้กับการพัฒนาหมู่บ้านทุกหมู่บ้านในเขตตำบลเขาเจ็ดลูก โดยไม่มีการแก้ไขปัญหาและผลกระทบที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านในหมู่บ้านเขาหม้อเลย ซึ่งหมู่บ้านเกินครึ่งไม่ได้เป็นหมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ทองคำของบริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด แต่อย่างใด
แต่อย่างไรก็ตาม ในท้ายที่สุดศาลพิจารณาคำขอที่ให้ศาลมีคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษาของผู้ฟ้องคดีแล้วเห็นว่า เมื่อประมวลข้อเท็จจริงที่รับฟังได้ทางไต่สวนเกี่ยวกับการปนเปื้อนโลหะหนักในแหล่งน้ำ การรับสารเคมีเข้าสู่ร่างกายของประชาชนในชุมชนบ้านเขาหม้อ การปิดกั้นและการทำให้ทางสาธารณประโยชน์เสื่อมสภาพ รวมทั้งเหตุเดือดร้อนรำคาญจากเสียงและฝุ่นละอองที่เกิดจากการทำเหมืองแร่ของผู้ร้องสอดแล้ว เห็นว่ายังไม่ถึงขั้นรุนแรงที่ศาลจำเป็นต้องมีคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการชั่วคราวให้ตามคำขอของผู้ฟ้องคดี จึงมีคำสั่งให้ยกคำขอของผู้ฟ้องคดี[14]
อ่านต่อ ตอนที่2 ตอนที่ 3
[1] คำพิพากษาศาลปกครองพิษณุโลก คดีหมายเลขดำที่ ๒๒๘/๒๕๕๓ คดีหมายหมายเลขแดงที่ ๑๖๓/๒๕๕๕ วันที่ ๒๗ เดือนมีนาคม พุทธศักราช ๒๕๕๕. หน้า ๘๕ (หน้าสุดท้าย) ย่อหน้าสุดท้าย
[2] คำพิพากษาศาลปกครองพิษณุโลก คดีหมายเลขดำที่ ๒๒๘/๒๕๕๓ คดีหมายหมายเลขแดงที่ ๑๖๓/๒๕๕๕ วันที่ ๒๗ เดือนมีนาคม พุทธศักราช ๒๕๕๕. หน้า ๕ บรรทัดที่ ๑ - ๓ ของย่อหน้าสุดท้าย
[3] โครงการเหมืองแร่ทองคำชาตรี ประกอบด้วยประทานบัตรทั้งหมด ๔ แปลง ได้รับอนุญาตประทานบัตรตั้งแต่ปี ๒๕๔๓ ต่อมาบริษัทฯ ได้ขอประทานบัตรเพิ่มเติมอีก ๙ แปลง ที่เรียกว่าโครงการเหมืองแร่ทองคำชาตรีเหนือ ซึ่งได้รับอนุญาตประทานบัตรเมื่อวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๕๑ โดยประทานบัตรทั้งโครงการชาตรีและชาตรีเหนือเป็นประทานบัตรที่มีเขตติดต่อกัน ขอร่วมแผนผังโครงการทำเหมืองเดียวกัน ซึ่งประทานบัตรที่ฟ้องคดีต่อศาลปกครองพิษณุโลกในบทความนี้เป็นประทานบัตร ๕ แปลง ที่อยู่ในเขตจังหวัดพิจิตรของโครงการเหมืองแร่ทองคำชาตรีเหนือ ส่วนประทานบัตรอีก ๔ แปลง ที่อยู่ในเขตจังหวัดเพชรบูรณ์ของโครงการเหมืองแร่ทองคำชาตรีเหนือไม่ได้นำมาร่วมฟ้องคดีต่อศาลปกครองพิษณุโลกในครั้งนี้ด้วย - ผู้เขียน
[4] สำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นบริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด คัดจากสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้น เมื่อวันที่ ๕ เมษายน ๒๕๕๓
[5] คำพิพากษาศาลปกครองพิษณุโลก คดีหมายเลขดำที่ ๒๒๘/๒๕๕๓ คดีหมายหมายเลขแดงที่ ๑๖๓/๒๕๕๕ วันที่ ๒๗ เดือนมีนาคม พุทธศักราช ๒๕๕๕. หน้า ๖ บรรทัดที่ ๙ - ๑๕
[6] คำพิพากษาศาลปกครองพิษณุโลก คดีหมายเลขดำที่ ๒๒๘/๒๕๕๓ คดีหมายหมายเลขแดงที่ ๑๖๓/๒๕๕๕ วันที่ ๒๗ เดือนมีนาคม พุทธศักราช ๒๕๕๕. หน้า ๖ บรรทัดที่ ๒๐ - ๒๗
[7] คำพิพากษาศาลปกครองพิษณุโลก คดีหมายเลขดำที่ ๒๒๘/๒๕๕๓ คดีหมายหมายเลขแดงที่ ๑๖๓/๒๕๕๕ วันที่ ๒๗ เดือนมีนาคม พุทธศักราช ๒๕๕๕. หน้า ๗ บรรทัดที่ ๗ - ๑๐ ของย่อหน้าแรก
[8] คำพิพากษาศาลปกครองพิษณุโลก คดีหมายเลขดำที่ ๒๒๘/๒๕๕๓ คดีหมายหมายเลขแดงที่ ๑๖๓/๒๕๕๕ วันที่ ๒๗ เดือนมีนาคม พุทธศักราช ๒๕๕๕. หน้า ๑๐ สองบรรทัดสุดท้าย และ หน้า ๑๑ บรรทัดที่ ๑ - ๒
[9] คำพิพากษาศาลปกครองพิษณุโลก คดีหมายเลขดำที่ ๒๒๘/๒๕๕๓ คดีหมายหมายเลขแดงที่ ๑๖๓/๒๕๕๕ วันที่ ๒๗ เดือนมีนาคม พุทธศักราช ๒๕๕๕. หน้า ๙ บรรทัดที่ ๑๖ - ๑๘ ของย่อหน้าแรก
[10] คำพิพากษาศาลปกครองพิษณุโลก คดีหมายเลขดำที่ ๒๒๘/๒๕๕๓ คดีหมายหมายเลขแดงที่ ๑๖๓/๒๕๕๕ วันที่ ๒๗ เดือนมีนาคม พุทธศักราช ๒๕๕๕. หน้า ๒ บรรทัดที่ ๑๔ - ๑๕
[11] คำพิพากษาศาลปกครองพิษณุโลก คดีหมายเลขดำที่ ๒๒๘/๒๕๕๓ คดีหมายหมายเลขแดงที่ ๑๖๓/๒๕๕๕ วันที่ ๒๗ เดือนมีนาคม พุทธศักราช ๒๕๕๕. หน้า ๑๙ ย่อหน้าสุดท้าย - หน้า ๒๐ บรรทัดที่ ๑ - ๗
[12] คำพิพากษาศาลปกครองพิษณุโลก คดีหมายเลขดำที่ ๒๒๘/๒๕๕๓ คดีหมายหมายเลขแดงที่ ๑๖๓/๒๕๕๕ วันที่ ๒๗ เดือนมีนาคม พุทธศักราช ๒๕๕๕. ย่อหน้าแรกทั้งหมดของหน้า ๒๐
[13] รายงานการศึกษานโยบายการสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำ. สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มกราคม ๒๕๕๒. หน้า ๖๑
[14] คำพิพากษาศาลปกครองพิษณุโลก คดีหมายเลขดำที่ ๒๒๘/๒๕๕๓ คดีหมายหมายเลขแดงที่ ๑๖๓/๒๕๕๕ วันที่ ๒๗ เดือนมีนาคม พุทธศักราช ๒๕๕๕. หน้า ๒๑ ย่อหน้าสุดท้าย
|
|
|
พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=1718
เวลา 22 พฤศจิกายน 2567 20:09 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)
|
|