|
|
ครั้งที่ 290 6 พฤษภาคม 2555 23:54 น.
|
สำหรับวันจันทร์ที่ 7 พฤษภาคม ถึงวันอาทิตย์ที่ 20 พฤษภาคม 2555
"การเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศส 2012"
ผมมาอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศสได้สองสัปดาห์แล้ว เมือง Brest ที่ผมมาเป็น visiting professor อากาศยังหนาวอยู่ บางวัน 5 องศา บางวันก็มีฝนตกตลอดทั้งวัน บางวันก็ลมแรงมาก อากาศแปรปรวน ตลอดเวลาและผิดปกติสำหรับเดือนเมษายน-พฤษภาคมครับ ทราบว่าเมืองไทยร้อนมากกว่าปกติ โลกเราคงแก่มากแล้วนะครับถึงได้มีอาการผิดปกติเช่นนี้
เมื่อตอนมาถึงประเทศฝรั่งเศสได้ไม่กี่วัน มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศสครั้งใหม่ วันเวลาผ่านไปเร็วมากเพราะเมื่อ 5 ปีที่แล้วในการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งก่อนตอนเดือนเมษายน 2550 ผมก็อยู่ที่ประเทศฝรั่งเศสโดยผมได้รับเชิญมาเป็น visiting professor ที่มหาวิทยาลัย Paul Cézanne Aix-Marseille 3 ครับ ในช่วงเวลานั้นผมได้เขียนเรื่องการเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศสเอาไว้ในบทบรรณาธิการครั้งที่ 157 และ 158 ที่ได้เผยแพร่ไปในระหว่างเดือนเมษายน 2550 ในบทบรรณาธิการครั้งนี้ผมก็จะขอเขียนเรื่องการเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศสสำหรับปี 2555 ครับ
แม้ว่าคนฝรั่งเศสจะมีโอกาสเลือกตั้งหลายประเภทไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นทั้ง 3 ระดับ การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการเลือกตั้งสมาชิกสภายุโรป แต่การเลือกตั้งประธานาธิบดีก็ถือเป็นเรื่องใหญ่และเป็นการเลือกตั้งที่มีความสำคัญที่สุดเพราะเป็นการเลือก "ประมุข" ของรัฐที่ "แตกต่าง" ไปจากประมุขของรัฐอื่นในทวีปยุโรปเพราะประธานาธิบดีไม่ได้มีฐานะเป็นเพียงประมุขของรัฐหรือสัญลักษณ์ของประเทศแต่เพียงอย่างเดียวแต่รัฐธรรมนูญฝรั่งเศสได้กำหนดให้ประธานาธิบดีมีบทบาทในการบริหารประเทศด้วยโดยมาตรา 5 ของรัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศสฉบับปัจจุบันคือฉบับปี ค.ศ. 1958 บัญญัติไว้ว่า ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐต้องดูแลให้มีการเคารพในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและจะต้องใช้อำนาจที่มีอยู่ดูแลการดำเนินการของสถาบันการเมืองแห่งรัฐให้เป็นไปโดยปกติและให้มีความต่อเนื่องของรัฐ นอกจากนี้แล้วประธานาธิบดีก็ยังเป็นผู้ประกันความเป็นเอกราชของชาติ บูรณภาพแห่งดินแดนและการเคารพต่อสนธิสัญญาต่าง ๆ ด้วยบทบัญญัติในมาตรา 5 นี้เองที่ทำให้ประธานาธิบดีเป็นบุคคลที่สำคัญที่สุดของประเทศฝรั่งเศส
ประธานาธิบดีฝรั่งเศสได้รับการเลือกตั้งโดยการออกเสียงเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชนและมีวาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี ซึ่งเดิมเมื่อรัฐธรรมนูญฉบับปี ค.ศ. 1958 ประกาศใช้บังคับนั้น ประธานาธิบดีได้รับการเลือกตั้งโดยอ้อม แต่ต่อมาในปี ค.ศ. 1962 ก็ได้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้ประชาชนสามารถออกเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีได้โดยตรง เช่นเดียวกับกรณีวาระการดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดีที่ได้รับการแก้ไขจาก 7 ปีไปเป็น 5 ปี เมื่อปี ค.ศ. 2000 และในปี ค.ศ. 2008 ก็ได้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญอีกครั้งหนึ่งเพื่อห้ามประธานาธิบดีดำรงตำแหน่งเกิน 2 วาระติดต่อกัน
สำหรับผู้มีสิทธิสมัครเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจะได้แก่ พลเมืองฝรั่งเศสที่มีอายุเกินกว่า 18 ปี และไม่มีข้อผูกพันด้านการทหาร ผู้สมัครที่เสนอตัวเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจะต้องได้รับเสียงสนับสนุนอย่างน้อย 500 เสียงจากผู้ที่มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน (les élus) ไม่น้อยกว่า 30 จังหวัด (département) โดยผู้สมัครจะต้องรวบรวมเสียงสนับสนุนดังกล่าวเสนอต่อคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ (Conseil Constitutionnel) ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมกระบวนการเลือกตั้งประธานาธิบดีตามแบบที่คณะตุลาการรัฐธรรมนูญกำหนด คณะตุลาการรัฐธรรมนูญจะทำการตรวจสอบคำเสนอว่าเป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎหมายและตามกฎเกณฑ์ที่คณะตุลาการรัฐธรรมนูญได้วางไว้หรือไม่ จากนั้น คณะตุลาการรัฐธรรมนูญก็จะประกาศรายชื่อผู้เข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในรัฐกิจจานุเบกษา (le Journal Officiel) โดยในช่วงระยะเวลาก่อนที่คณะตุลาการรัฐธรรมนูญจะประกาศรายชื่อนั้น ผู้ที่พบว่าผู้สมัครรายใดมีคุณสมบัติไม่ตรงตามกฎหมายก็สามารถคัดค้านได้ และในวันที่คณะตุลาการรัฐธรรมนูญประกาศรายชื่อผู้สมัครเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดี ผู้สมัครทุกคนจะต้องส่งบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของตนต่อคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ เฉพาะบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีเท่านั้นที่คณะตุลาการรัฐธรรมนูญจะประกาศในรัฐกิจจานุเบกษาภายหลังจากที่ได้มีการประกาศผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีอย่างเป็นทางการแล้ว โดยจะทำเป็นประกาศต่อท้ายผลการเลือกตั้งประธานาธิบดี
การหาเสียงเลือกตั้ง เริ่มตั้งแต่มีการประกาศรายชื่อผู้สมัครเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีไปจนถึงเวลาเที่ยงคืนของวันศุกร์ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งแต่ละรอบซึ่งในการเลือกตั้งครั้งนี้ก็คือ เที่ยงคืนของวันศุกร์ที่ 20 เมษายน 2012 สำหรับการเลือกตั้งรอบแรก และเที่ยงคืนของวันศุกร์ที่ 4 พฤษภาคม 2012 สำหรับการเลือกตั้งรอบที่สอง การหาเสียงเลือกตั้งประกอบด้วยหลักใหญ่ ๆ 2 หลักคือ
ความเสมอภาคในบรรดาผู้สมัครเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดี เนื่องจากผู้สมัครทุกคนมิได้มีฐานะทางการเงินและความสามารถที่จะสื่อสารแก่ประชาชนอย่างเท่าเทียมกัน รัฐจึงให้ความช่วยเหลือแก่ผู้สมัครทุกรายอย่างเท่าเทียมกัน ในกรณีที่ประธานาธิบดีคนปัจจุบันสมัครเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีอีกครั้งหนึ่งก็จะต้องเคารพกฎเกณฑ์ต่าง ๆ เหมือนผู้สมัครรายอื่น และมีสิทธิได้รับการสนับสนุนช่วยเหลือจากรัฐเช่นเดียวกับผู้สมัครรายอื่นคือ สามารถใช้วิทยุโทรทัศน์ในการหาเสียงตามเวลาที่รัฐจัดสรรให้ ได้รับความช่วยเหลือในการจัดทำเอกสารในการหาเสียงไม่ว่าจะเป็นโปสเตอร์ แผ่นพับ จดหมายหาเสียงที่รัฐจะจัดส่งให้แก่ประชาชนทุกคน
รัฐจะชดใช้เงินค่าใช้จ่ายในการหาเสียงเรื่องตั้งให้แก่ผู้สมัครทุกคนที่ได้คะแนนเสียงในการเลือกตั้งไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ของจำนวนผู้มาใช้สิทธิทั้งหมด ซึ่งกรณีดังกล่าวถือเป็นการช่วยเหลือด้านการเงินให้แก่ผู้สมัครที่ได้ใช้ไปในระหว่างการหาเสียงของตน ซึ่งเงินที่รัฐจะชดใช้ให้หนี้เป็นจำนวนน้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนเงินที่ได้จ่ายไปจริง โดยผู้สมัครจะต้องจัดส่งบัญชีค่าใช้จ่ายในการหาเสียงเลือกตั้งของตนให้แก่คณะตุลาการรัฐธรรมนูญภายใน 60 วันหลังจากที่มีการประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการในรัฐกิจจานุเบกษา
ส่วนระบบการเลือกตั้ง การเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศสใช้ระบบการเลือกตั้งโดยตรง (suffrage universel direct) โดยประชาชนชาวฝรั่งเศสที่อยู่ทั้งในและนอกประเทศเป็นผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งผู้ที่จะได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีจะต้องได้คะแนนเสียงข้างมากอย่างเด็ดขาด ดังนั้น หากในการเลือกตั้งที่ไม่มีผู้สมัครรายใดได้รับเสียงเกินกว่าร้อยละ 50 ของผู้มาออกเสียง ในอีก 14 วันถัดมาก็จะต้องจัดให้มีการเลือกตั้งรอบที่สอง โดยการเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศสครั้งนี้ กำหนดไว้ให้เป็นวันอาทิตย์ที่ 22 เมษายน 2012 เหตุที่กำหนดให้ผู้สมัครเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจะต้องได้รับคะแนนเสียงข้างมากอย่างเด็ดขาดก็เพราะต้องการให้ผู้ที่จะมาเป็นประธานาธิบดีชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงส่วนใหญ่ข้างมากของประชาชนในประเทศ เพราะถ้าไม่เป็นเช่นนั้นก็จะเกิดความไม่มั่นคงในการใช้อำนาจบริหารกิจการของประเทศ เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาดังกล่าว รัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญจึงได้กำหนดไว้ว่า ถ้าในการออกเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งใดไม่มีผู้ได้คะแนนเสียงข้างมากเกินกว่าร้อยละ 50 ในอีกสองอาทิตย์ต่อมา ซึ่งในการเลือกตั้งครั้งนี้ก็คือ ในวันอาทิตย์ที่ 6 พฤษภาคม 2012 จะต้องจัดให้มีการเลือกตั้งในรอบที่สอง โดยคณะตุลาการรัฐธรรมนูญจะประกาศรายชื่อของผู้สมัคร 2 คนแรกที่ได้คะแนนเสียงมากที่สุดตามลำดับในการเลือกตั้งรอบแรกให้เข้ามาเป็นผู้ชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในรอบที่สองครับ ในเรื่องการเลือกตั้งประธานาธิบดีสองรอบนี้ ศาสตราจารย์ Maurice Duverger นักกฎหมายมหาชนชื่อดังคนหนึ่งของฝรั่งเศสได้ให้คำจำกัดความเอาไว้ว่า รอบแรกคือการคัดเลือก รอบสองคือการคัดออก
ทั้งหมดนี้ก็เป็นกระบวนการเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศสอย่างย่อ ๆ ก่อนจะจบเรื่องการเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศส ผมก็จะขอเล่าให้ฟังอีกเล็กน้อยถึงอำนาจของประธานาธิบดีฝรั่งเศสซึ่งมีอยู่มากมายตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ อำนาจโดยตรง ได้แก่ เป็นผู้แต่งตั้งนายกรัฐมนตรี (มาตรา 8) เป็นผู้ประกาศให้มีการออกเสียงประชามติในร่างกฎหมายสำคัญ ๆ (มาตรา 11) ยุบสภาผู้แทนราษฎร (มาตรา 12) ใช้อำนาจพิเศษในสถานการณ์ฉุกเฉิน (มาตรา 16) ส่งสาสน์แสดงเจตจำนงต่อรัฐสภา (มาตรา 18) แต่งตั้งคณะตุลาการรัฐธรรมนูญจำนวน 3 คน (มาตรา 56) และร้องขอให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ร่างกฎหมายหรือข้อตกลงระหว่างประเทศขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ (มาตรา 54 และมาตรา 61) นอกจากอำนาจโดยตรงดังกล่าว ประธานาธิบดียังมีตำแหน่งเป็นประธานกรรมการต่าง ๆ ที่สำคัญ เช่น เป็นประธานในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (มาตรา 9) เป็นประธานสภากลาโหมและเป็นจอมทัพ (มาตรา 15) ส่วนหน้าที่อื่น ๆ ซึ่งเป็นหน้าที่ข้างเคียงที่ต้องทำในฐานะที่เป็นประมุขของประเทศก็คือ การออกกฎเกณฑ์ของฝ่ายบริหาร การแต่งตั้งและการให้รัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่ง การลงนามในรัฐกำหนดและรัฐกฤษฎีกา การแต่งตั้งข้ารัฐการพลเรือนและข้ารัฐการทหาร การแต่งตั้งทูต การประกาศใช้บังคับกฎหมายและการอภัยโทษ เป็นต้น และเมื่อบุคคลใดได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดีฝรั่งเศส บุคคลผู้นั้นไม่สามารถประกอบอาชีพใด ๆ ได้ในระหว่างดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี
การเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศสครั้งนี้ผู้คนกังวลกันมากเพราะคนเก่าที่ "ดีแต่พูด ดีแต่รับปาก ดีแต่สร้างภาพ ขี้โม้ ปากไว" สามารถเข้าสู่รอบสองได้ ส่วนคนใหม่ที่เข้ารอบสองอีกคนยังดู "อ่อนหัด" และ "ขาดบุคลิกของการเป็นผู้นำ" แถมยังไม่เคยมีประสบการณ์ในการทำงานเป็นฝ่ายบริหารมาก่อนไม่ว่าจะเป็นรัฐมนตรีหรือนายกรัฐมนตรี คนฝรั่งเศสจำนวนมากที่ยังไม่ได้ตัดสินใจเลือกใครจึงกังวลใจเป็นอย่างมากในการตัดสินใจครั้งนี้ว่าจะเลือกใคร ? คงไม่ใช่เพราะ "รักพี่เสียดายน้อง" แต่น่าจะเป็น "เกลียดพี่กลัวน้อง" เสียมากกว่าเพราะหากได้คนใหม่มาเป็นประธานาธิบดีแล้วปัญหาที่ตามมาก็คือประธานาธิบดีมือใหม่ที่ไม่เคยมีประสบการณ์ในการเมืองระดับสูงเลยจะสามารถพาประเทศฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจที่กำลังเป็นปัญหาใหญ่ของยุโรปในเวลานี้ได้หรือไม่ แต่ถ้าได้คนเก่าซึ่งก็คงมั่นใจได้ในระดับหนึ่งว่าสามารถพาประเทศ "ลื่นไหล" ไปได้เรื่อยๆ แต่คนฝรั่งเศสจะมีความอดทนเพียงพอกับการมีประมุขของประเทศ "แบบนั้น" ไปได้อีกนานแค่ไหนหลังจากที่ต้องอดทนมา 5 ปีแล้วครับ !!!!!
|
สัปดาห์นี้เรามีบทความมานำเสนอบทความเดียว เป็นบทความขนาดยาวที่แบ่งเป็นสามตอน เรื่อง "ความคิดเห็นต่อคำพิพากษาศาลปกครองพิษณุโลก กรณีชาวบ้านเขาหม้อฟ้องให้เพิกถอนประทานบัตรเหมืองแร่ทองคำของบริษัท อัครา ไมนิ่ง จำกัด" ที่เขียนโดย คุณเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ โครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านทรัพยากรแร่ กลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา ผมขอขอบคุณเจ้าของบทความไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ
พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 21 พฤษภาคม 2555
ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์
|
|
|
พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=1717
เวลา 6 ตุลาคม 2567 21:09 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)
|