การดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพขององค์การบริหารส่วนตำบลภายใต้พระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจและกฎหมายมหาชนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

23 เมษายน 2555 14:32 น.

       บทนำ 
        
       การให้บริการด้านสาธารณสุขแก่ประชาชนนั้น โดยทั่วไปแล้วคนมักเข้าใจว่าเป็นบทบาท
       หน้าที่ขององค์กรในหน่วยงานรัฐ โดยเฉพาะกระทรวงสาธารณสุขซึ่งมีหน้าที่ดังกล่าวโดยตรง ดังวิสัยทัศน์ของกระทรวงสาธารณสุขที่กล่าวว่า “กระทรวงสาธารณสุข เป็นองค์กรหลักในการพัฒนาระบบสุขภาพที่มีคุณภาพ ประสิทธิภาพ และเสมอภาค โดยการมีส่วนร่วมของประชาชน ชุมชน และทุกภาคส่วน เพื่อสร้างสังคมที่มีจิตสำนึกด้านสุขภาพ ให้คนไทยทุกคนมีสุขภาพดี สู่เป้าหมายสังคมอยู่เย็นเป็นสุข ตามแนวเศรษฐกิจปรัชญาพอเพียง” (วิสัยทัศน์กระทรวงสาธารณสุข, กระทรวงสาธารณสุข) แต่อันที่จริงแล้ว ในบริบทของงานส่งเสริมสุขภาพและงานสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม หรือการบริการสาธารณสุขขั้นมูลฐาน ปรากฎว่าหน่วยงานรัฐส่วนกลางหรือราชการส่วนกลาง ได้มีการกระจายอำนาจการจัดการดังกล่าวไปสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแล้ว นับแต่ได้มีการจัดตั้งองค์กรปกครองท้องถิ่นขึ้น กล่าวคือ นับแต่พระราชกำหนดสุขาภิบาลกรุงเทพฯ ร.ศ.๑๑๖ ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ได้กำหนดให้สุขาภิบาลกรุงเทพ ฯ มีหน้าที่ดำเนินการรักษาความสะอาดและป้องกันโรค ทำลายขยะมูลฝอย จัดสถานที่ถ่ายอุจจาระปัสสาวะสำหรับราษฎรทั่วไป ห้ามการปลูกสร้างหรือซ่อมแซมโรงเรือนที่จะเป็นเหตุให้เกิดโรค รวมทั้งขนย้ายสิ่งโสโครกที่ทำความรำคาญให้กับราษฎรไปทิ้ง เป็นต้น หรือแม้แต่ปัจจุบัน ในการกำหนดหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนตำบลต่าง ๆ ก็ยังคงกำหนดให้มีหน้าที่รักษาความสะอาดของถนนหรือทางเดินและที่สาธารณะ รวมทั้งการกำจัด
       มูลฝอยและสิ่งปฏิกูล ป้องกันและระงับโรคติดต่อ จัดให้มีน้ำสะอาดหรือการประปา โรงฆ่าสัตว์ ตลาด ท่าเทียบเรือ ท่าข้าม บำรุงทางระบายน้ำ ส้วมสาธารณะ รวมทั้งการ ส่งเสริมพัฒนาอาชีพ การพัฒนาสตรี เด็ก และผู้สูงอายุ การศึกษาของชุมชน การบริการสาธารณสุข การบำรุงสถานกีฬา สถานพักผ่อนหย่อนใจและอื่น ๆ (กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย, ๒๕๓๘ก) และในปัจจุบัน จากพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจ พุทธศักราช ๒๕๔๒ และพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจ (ฉบับที่ ๒) พุทธศักราช ๒๕๔๙ ยังได้กำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่าง ๆ มีหน้าที่ในการจัดระบบการบริการสาธารณะเพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นของตนเอง ดังที่บัญญัติไว้ในหมวด ๒ มาตรา ๑๖ (๑๙) ว่า ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่าง ๆ ดำเนินการเกี่ยวกับการสาธารณสุข การอนามัยครอบครัว และการรักษาพยาบาล
                       อำนาจหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนตำบลดังกล่าวข้างต้น ล้วนเป็นภารกิจที่เกี่ยวกับการส่งเสริมสุขภาพขั้นพื้นฐาน หรือการสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อมพื้นฐาน เพื่อการป้องกันโรคติดต่อและส่งเสริมการอนามัยสิ่งแวดล้อมของชุมชนท้องถิ่นนั้น ๆ ซึ่งสอดคล้องกับบทบัญญัติแห่ง               รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับพุทธศักราช ๒๕๔๐ และฉบับพุทธศักราช ๒๕๕๐ ที่บัญญัติเกี่ยวกับสิทธิในการได้รับบริการสาธารณสุขและสวัสดิการจากรัฐอันถือได้ว่า เป็นการให้บริการสาธารณะนั่นเอง
                       ดังนั้น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่าง ๆ เช่น องค์การบริหารส่วนตำบล จึงเป็นองค์กรที่สำคัญ ที่มีบทบาทในการให้บริการสาธารณะ พัฒนาด้านการสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตขั้นพื้นฐานของประชาชนในท้องถิ่นนั้น ๆ นั่นเอง
        
       ๑. ความเป็นมาขององค์การบริหารส่วนตำบล
        
       หลังจากได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาสู่ระบอบประชาธิปไตย เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๗๕ จุดแรกเริ่มของการปรับปรุงก็คือ การกำหนดให้ตำบลมีรูปแบบเป็น “สภาตำบล” โดยคำสั่งกระทรวงมหาดไทยที่ ๒๒/๒๔๙๙ ลงวันที่ ๘ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๙๙ เรื่อง ระเบียบบริหารราชการส่วนตำบลและหมู่บ้าน ซึ่งมีความมุ่งหมายที่จะกระตุ้นและส่งเสริมให้ราษฎร ได้มีส่วนร่วมในการจัดกิจการส่วนท้องถิ่นของตน แต่ยังถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของราชการส่วนภูมิภาค นอกจากนี้ รัฐบาลในช่วงนั้นยังได้ออกกฎหมายคือ พระราชบัญญัติระเบียบบริหารส่วนตำบล พุทธศักราช ๒๔๙๙ ยกฐานะตำบลที่เข้าหลักเกณฑ์ตามกฎหมายกำหนดเป็นองค์การบริหารส่วนตำบล อันเป็นราชการส่วนท้องถิ่นประเภทหนึ่ง แต่การยกฐานะตำบลดังกล่าวก็ประสบปัญหาด้านฐานะทางการคลังและความรู้ความเข้าใจของประชาชน จึงไม่สามารถดำเนินการได้อย่างประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย จากนั้น ในปีพุทธศักราช ๒๕๐๙ รัฐบาลในขณะนั้น ได้กำหนดนโยบายให้มีโครงการพัฒนาพลเมืองระบอบประชาธิปไตย จึงได้มีคำสั่งกระทรวงมหาดไทยที่ ๒๗๕/๒๕๐๙ ลงวันที่ ๑ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๐๙ เรื่อง ระเบียบบริหารราชการส่วนตำบลและหมู่บ้าน (ฉบับที่ ๒) เพื่อปรับปรุงแก้ไขรูปแบบสภาตำบล ตามคำสั่งกระทรวงมหาดไทยที่ ๒๒๒/๒๔๙๙  โดยได้ปรับปรุงตามกำลังงบประมาณที่ได้รับในแต่ละปี ดังนั้น โดยสรุปการบริหารราชการที่เกี่ยวข้องกับหน่วยปกครองในตำบลในขณะนั้นมีอยู่ ๓ แบบคือ
       ๑) คำสั่งมหาดไทยที่ ๒๒๒/๒๔๙๙
       ๒) พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการส่วนตำบล พุทธศักราช ๒๔๙๙
       ๓) คำสั่งมหาดไทยที่ ๒๗๕/๒๕๐๙
       จากสภาพความหลากหลายของการบริหารราชการเกี่ยวกับหน่วยการปกครองในระดับตำบลทั้ง ๓ รูปแบบ ในปีพุทธศักราช ๒๕๑๕ จึงได้มีประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๖ ลงวันที่ ๑๓ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๑๕ เป็นผลให้ยกเลิกการบริหารราชการทั้ง ๓ รูปแบบดังกล่าว และได้กำหนดให้การบริหารราชการเกี่ยวกับหน่วยการปกครองระดับตำบล เป็นรูปแบบเดียวกันทั้งประเทศ (นคร พจนวรพงษ์, & สมบัติ พรหมเมศร์, ๒๕๓๗)
        
       . กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับองค์การบริหารส่วนตำบล
        
       ตระกูล มีชัย (๒๕๓๗) ได้กล่าวถึงนโยบายต่อเรื่องการกระจายอำนาจ พิจารณาจากบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและนโยบายของรัฐบาลว่า มีดังนี้คือ
       1) รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการปกครองท้องถิ่น การปกครองตนเองอันเป็นลักษณะสำคัญของการกระจายอำนาจ
       ๒) นโยบายของรัฐบาล
       ๒.๑) รัฐบาลชุดพระยามโนปกรณ์นิติธาดา
       ๒.๒) รัฐบาลหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมทย์
       ๒.๓) รัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์
       ๒.๔) รัฐบาลนายอานันท์ ปันยารชุน
       ๒.๕) รัฐบาลนายชวน หลีกภัย ได้ตราพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหาร
       ส่วนตำบล พุทธศักราช ๒๕๓๗ ขึ้น เพื่อเป็นการกระจายอำนาจให้สภาตำบลเป็นนิติบุคคล มีอำนาจในการบริหารงานในเขตตำบล และมีอำนาจในการตัดสินใจ การทำนิติกรรมสัญญา การจัดทำกิจการบริการเพื่อหารายได้เป็นของตนเอง และสามารถที่จะออกข้อบังคับท้องถิ่นได้ในระดับหนึ่ง ภายใต้การควบคุมดูแลจากภาครัฐ
       สรุปได้ว่า หลังจากได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาสู่ระบอบประชาธิปไตย รัฐบาลได้มีการกำหนดให้ตำบลมีรูปแบบเป็น “สภาตำบล” ซึ่งมีความมุ่งหมายที่จะกระตุ้นและส่งเสริมให้ราษฎร ได้มีส่วนร่วมในการจัดกิจการส่วนท้องถิ่นของตน แต่ยังถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของราชการส่วนภูมิภาค จนกระทั่งได้มีบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จำนวน ๔ ฉบับ (๒๕๑๑, ๒ ๕๑๑, ๒๕๒๑ และ ๒๕๓๔) ที่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการปกครองท้องถิ่น การปกครองตนเอง อันเป็นลักษณะสำคัญของการกระจายอำนาจ และนโยบายของรัฐบาลชุดต่าง ๆ เช่น รัฐบาลชุดพระยามโนปกรณ์นิติธาดา รัฐบาลหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมทย์ เรื่อยมา จนกระทั่งถึงรัฐบาลนายชวน หลีกภัย ซึ่งได้ตราพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พุทธศักราช ๒๕๓๗ ขึ้น เพื่อเป็นการกระจายอำนาจให้สภาตำบลเป็นนิติบุคคล มีอำนาจในการบริหารงานในเขตตำบล และมีอำนาจในการตัดสินใจดำเนินกิจการใด ๆ ได้เองตามขอบเขตของอำนาจหน้าที่ที่ได้
       ถูกกำหนดไว้
       นอกจากพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พุทธศักราช ๒๕๓๗ ที่ได้กล่าวถึงการกระจายอำนาจที่ชัดเจนแล้ว ยังมีรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ ซึ่งได้ให้ความสำคัญกับการกระจายอำนาจการปกครองไปสู่ท้องถิ่น โดยกำหนดในหมวด ๕ มาตรา ๗๘ และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๗๘ (๓) ที่กำหนดให้รัฐต้องกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นพึ่งตนเองและตัดสินใจในกิจการของท้องถิ่นได้เอง พัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น และระบบสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ ตลอดทั้งโครงสร้างพื้นฐานสารสนเทศในท้องถิ่นให้ทั่วถึงและมีระบบเท่าเทียมกันทั้งประเทศ รวมทั้งพัฒนาจังหวัดให้มีความพร้อมให้เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดใหญ่ โดยคำนึงถึงเจตนารมณ์ของประชาชนในจังหวัดนั้น (กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย, ๒๕๓๘ก ๒๕๓๘ข และ ๒๕๔๓ก)
       ส่วนทางด้านการปกครองส่วนท้องถิ่น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับพุทธศักราช ๒๕๔๐ กำหนดไว้ในหมวด ๙ มาตรา ๒๘๒ ถึงมาตรา ๒๙๐ และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับพุทธศักราช ๒๕๕๐ กำหนดไว้ในหมวด ๑๔ มาตรา ๒๘๑ ถึง ๒๙๐ สรุปได้ว่า รัฐจะต้องให้ความเป็นอิสระแก่ท้องถิ่นตามหลักแห่งการปกครองตนเองตามเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่น โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งหลายย่อมมีอิสระในการกำหนดนโยบาย การปกครอง การบริหาร การบริหารงานบุคคล การเงินและการคลัง และมีอำนาจหน้าที่ของตนเองโดยเฉพาะ โดยมีรัฐบาลกลางเป็นผู้มีหน้าที่กำกับดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเท่าที่จำเป็นภายในกรอบของกฎหมาย และเพื่อกระจายอำนาจให้แก่ท้องถิ่นเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รัฐธรรมนูญยังกำหนดให้มีกฎหมายกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจ ซึ่งมีสาระสำคัญในการกำหนดอำนาจและหน้าที่ในการจัดระบบบริการสาธารณะระหว่างรัฐกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และระหว่างการปกครองส่วนท้องถิ่นด้วยกันเองเป็นสำคัญ
                       ดังที่ได้กล่าวไว้ในช่วงต้นว่า พระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจ พุทธศักราช ๒๕๔๒ และพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจ (ฉบับที่ ๒) พุทธศักราช ๒๕๔๙ ได้กำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่าง ๆ มีหน้าที่ในการจัดระบบการบริการสาธารณะเพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นของตนเอง โดยกำหนดไว้ในหมวด ๒ มาตรา ๑๖ (๑๙) ว่า ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่าง ๆ ดำเนินการเกี่ยวกับการสาธารณสุข การอนามัยครอบครัว และการรักษาพยาบาล ซึ่งพบว่าในปัจจุบัน มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบางแห่งที่มีศักยภาพในเรื่องงบประมาณ ได้มีการดำเนินงานในเรื่องดังกล่าวไปบ้างแล้ว เช่น การให้ทุนอุดหนุนแก่นักเรียนพยาบาลเพื่อกลับมาปฏิบัติงานในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือการสนับสนุนงบประมาณบางส่วนให้กับหน่วยงานด้านสุขภาพในท้องถิ่น เช่น สถานีอนามัย ซึ่งปัจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (ชูชัย ศุภวงศ์ และคณะ.  (๒๕๕๒)  เพื่อซื้อเวชภัณฑ์ต่าง ๆ เป็นต้น
       ในการบริหารประเทศที่กำหนดในกฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทั้ง ๒ ฉบับ ได้จำแนกระเบียบบริหารราชการแผ่นดินไว้ว่า ๑) ราชการส่วนกลาง หมายถึง หน่วยงานที่มีหน้าที่ในการกำหนดนโยบายในการบริหารประเทศ ได้แก่ กระทรวง ทบวง กรม  ๒) ราชการส่วนภูมิภาค หมายถึง หน่วยงานของทางราชการที่ได้รับมอบอำนาจจากส่วนกลางให้ไปปฏิบัติงานในพื้นที่
       ต่าง ๆ ของประเทศและทำหน้าที่ในการกำกับ ดูแล องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้ปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ขัดต่อระเบียบ กฎหมาย หรือฝ่าฝืนต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน ได้แก่ จังหวัด อำเภอ และ ๓) ราชการส่วนท้องถิ่น หมายถึง หน่วยงานที่รัฐบาลกระจายอำนาจให้คนในท้องถิ่นบริหารงานเพื่อแก้ปัญหา พัฒนา และให้บริการแก่คนในท้องถิ่นเอง ปัจจุบันมี ๕ รูปแบบคือ องค์การบริหารส่วนตำบล เทศบาล องค์การบริหารส่วนจังหวัด กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา (http://arc.rint.ac.th/ localorg/morgan.html)
       องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งจัดตั้งขึ้นตาม       พระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พุทธศักราช ๒๕๓๗ มีฐานะเป็นนิติบุคคล (http://arc. rint.ac.th/localorg/mobt.html) องค์การบริหารส่วนตำบลแต่ละแห่งจะมีพื้นที่รับผิดชอบในเขตตำบลที่ไม่อยู่ในเขตของเทศบาล หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น ยกเว้นองค์การบริหารส่วนจังหวัด
       องค์การบริหารส่วนตำบลมีรูปแบบคล้ายการปกครองระดับชาติ  กล่าวคือ  ประกอบด้วย   ๒ ส่วนคือ ๑) สภาองค์การบริหารส่วนตำบล ประกอบด้วยสมาชิกซึ่งได้รับเลือกตั้งจากราษฎรในหมู่บ้านในตำบลนั้น ๆ หมู่บ้านละ ๒ คน สภาองค์การบริหารส่วนตำบล มีหน้าที่ให้ความเห็นชอบแผนพัฒนาตำบล ร่างข้อบังคับตำบล ร่างข้อบังคับงบประมาณรายจ่ายประจำปี และควบคุมการปฏิบัติงานคณะกรรมการบริหารองค์การบริหารส่วนตำบล  และ ๒) คณะกรรมการบริหารองค์การบริหารส่วนตำบล โดยสภาองค์การบริหารส่วนตำบล จะเป็นผู้เลือกคณะกรรมการบริหารองค์การบริหารส่วนตำบล ซึ่งประกอบด้วย ประธานกรรมการบริหาร ๑ คน และกรรมการบริหาร ๒  คน คณะกรรมการบริหารองค์การบริหารส่วนตำบล  มีหน้าที่บริหารงานองค์การบริหารส่วนตำบล จัดทำแผนพัฒนาตำบล และงบประมาณรายจ่ายประจำปีรายงานผลการปฏิบัติ และการใช้จ่ายเงินให้สภาองค์การบริหารส่วนตำบลทราบและปฏิบัติหน้าที่อื่น ๆ ตามกฏหมาย
       ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นว่า องค์การบริหารส่วนตำบล เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีรูปแบบคล้ายการปกครองระดับชาติ นั่นคือ มีส่วนของสภาองค์การบริหารส่วนตำบล หัวหน้าทีมของสภาองค์การบริหารส่วนตำบล เรียกว่า ประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบล ซึ่งสภาองค์การบริหารส่วนตำบล มีหน้าที่ให้ความเห็นชอบแผนพัฒนาตำบล ร่างข้อบังคับตำบล ร่างข้อบังคับงบประมาณรายจ่ายประจำปี และควบคุมการปฏิบัติงานของคณะกรรมการบริหารองค์การบริหารส่วนตำบล  และส่วนของคณะกรรมการบริหารองค์การบริหารส่วนตำบล มีหน้าที่ในการปฏิบัติภารกิจตามที่ได้ตั้งเป้าหมายเอาไว้ โดยหัวหน้าทีมของคณะกรรมการบริหารองค์การบริหาร      ส่วนตำบลในช่วงแรกนั้น เรียกว่า ประธานกรรมการบริหารองค์การบริหารส่วนตำบล ต่อมา เพื่อให้เกิดความเหมาะสมและสอดคล้องกับแนวทางในการปฏิบัติงานซึ่งได้จำลองรูปแบบการปกครองมาจากรัฐบาล รัฐบาลของ พ.ต.ท. ดร.ทักษิณ ชินวัตร จึงได้มีการแก้ไขพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล (ฉบับที่ ๕) พุทธศักราช๒๕๔๖ โดยในมาตรา ๕๘ กล่าวว่า “ให้องค์การบริหารส่วนตำบลมีนายกองค์การบริหารส่วนตำบลคนหนึ่ง ซึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น”     (http://www.ect.go.th/thai/local/doc/prbsapatumbon.doc)
        
       ๓. ภารกิจในการจัดการด้านสุขภาพขององค์การบริหารส่วนตำบล
        
       อำนาจหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนตำบลดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น  ล้วนเป็นภารกิจที่เกี่ยวกับการส่งเสริมสุขภาพขั้นพื้นฐาน หรือการสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อมพื้นฐาน เพื่อการป้องกันโรคติดต่อและส่งเสริมการอนามัยสิ่งแวดล้อมของชุมชนท้องถิ่นนั้นๆ ซึ่งสอดคล้องกับบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ราชอาณาจักรไทยฉบับปัจจุบัน มาตรา ๕๒ วรรค ๒ ที่บัญญัติว่า "การบริการทางสาธารณสุขของรัฐ ต้องเป็นไปอย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ โดยจะต้องส่งเสริมให้องค์กรปกครองท้องถิ่นและเอกชนมีส่วนร่วมด้วยเท่าที่จะกระทำได้" และมาตรา ๒๙๐  บัญญัติว่า  “เพื่อส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นย่อมมีอำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด ดังนั้น องค์กรปกครองท้องถิ่นจึงเป็นองค์กรหรือกลไกของประชาชนที่สำคัญ
       ที่มีบทบาทในการพัฒนาการสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิต
       ขั้นพื้นฐานของประชาชนในท้องถิ่นนั้น ๆ นั่นเอง ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษาของเกรียงศักดิ์
       อัตถประเสริฐกุล (๒๕๓๙) ที่ได้ทำการวิจัยเรื่อง องค์การบริหารส่วนตำบลกับการบริหารจัดการสาธารณสุขมูลฐาน: ความเชื่อมั่นและคาดหวังของชุมชน โดยทำการสัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่าง ๔ กลุ่ม คือ ประชาชน  อาสาสมัครสาธารณสุข  ข้าราชการและสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล พบว่า สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลส่วนใหญ่มีความเห็นว่า องค์การบริหารส่วนตำบลควรรับผิดชอบดำเนินกิจกรรมการบริหารจัดการงานสาธารณสุขมูลฐานในเรื่อง
       ๑) การกำหนดทิศทางและนโยบายการพัฒนางานสาธารณสุขของตำบล
       ๒) การจัดทำแผนการบริหารสถานีอนามัย
       ๓) การคัดเลือกและดูแลอาสาสมัครสาธารณสุข
       ๔) การจัดการงบประมาณ
       ๕) การจัดทำข้อมูลข่าวสารสาธารณสุข
       ๖) ดูแลการทำงานของศูนย์สาธารณสุขมูลฐานชุมชน
       ๗) การจัดสวัสดิการและการจัดการกองทุนในหมู่บ้าน ยกเว้นเรื่องการบริหารการฝึกอบรม
       
       จรัส สุวรรณมาลา (๒๕๓๙) ศึกษาเรื่อง สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบลศักยภาพและทางเลือกสู่อนาคต โดยสัมภาษณ์บุคคลระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล สมาชิกสภาตำบล และ   องค์การบริหารส่วนตำบลและประชาชน พบว่า สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล มีโครงสร้างองค์กรที่เล็กมีความยืดหยุ่นที่สูง ประกอบด้วยบุคคลในท้องถิ่น มีการทำงานเป็นทีม มีความตั้งใจทำงานเพื่อชุมชนตนเองสูง สามารถประสานงานขอความช่วยเหลือ รวมทั้งทำกิจกรรมร่วมกับหน่วยราชการ รัฐวิสาหกิจและองค์กรเอกชนได้ แต่มีส่วนที่จำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขเพื่อพัฒนาศักยภาพ การบริหารให้ดียิ่งขึ้น ได้แก่ การวางแผนและการจัดทำงบประมาณ การบริหาร   จัดการงบประมาณและบุคลากร
       ชาติ ไทยเจริญ (๒๕๔๗) ศึกษาเรื่อง ความคิดเห็นของบุคลากรในองค์การบริหารส่วนตำบล เขตจังหวัดกาฬสินธุ์ ต่อภารกิจด้านการดูแลสุขภาพของประชาชนในท้องถิ่น พบว่า ร้อยละ ๙๙.๖ ของ องค์การบริหารส่วนตำบล รับรู้ว่า จะต้องดำเนินการด้านการดูแลสุขภาพของประชาชนในท้องถิ่น และส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยว่า ๑) โครงสร้างของระบบบริการสุขภาพในปัจจุบัน ได้แก่ สถานีอนามัย ศูนย์แพทย์ชุมชน เป็นต้น มีความเหมาะสมในการให้บริการสุขภาพแก่ประชาชน และ ๒) โครงสร้างทางด้านการบริหารงานในปัจจุบันขององค์การบริหารส่วนตำบล มีความเหมาะสมดีแล้ว และสามารถรองรับภารกิจในด้านการดูแลสุขภาพได้ และในส่วนของกิจกรรมบริการสุขภาพที่ องค์การบริหารส่วนตำบล ควรจะต้องดำเนินการนั้น เห็นด้วยกับด้านกิจกรรมบริการสุขภาพที่จะดำเนินการขององค์การบริหารส่วนตำบล ทั้งในการดำเนินการจัดตั้งศูนย์กระตุ้นพัฒนาการเด็ก การบริการให้ภูมิคุ้มกันโรค การจัดหน่วยดูแลด้านอนามัยโรงเรียน การให้คำแนะนำปรึกษาต่าง ๆ แก่สตรีวัยเจริญพันธุ์ เช่น การป้องกันโรคทางเพศสัมพันธ์ การเตรียมความพร้อมในการมีครอบครัว การบริการตรวจครรภ์และฝากครรภ์ การบริการทำคลอดทั้งในและนอกสถานที่ การออกเยี่ยมมารดาหลังคลอด การจัดบริการตรวจสุขภาพผู้สูงอายุ การส่งเสริมการรวมกลุ่มของผู้สูงอายุ การบริการดูแลสุขภาพผู้ป่วยเรื้อรัง การให้คำแนะนำเรื่องการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ การฟื้นฟูสุขภาพแก่ผู้พิการต่างๆ การจัดสวัสดิการในด้านต่าง ๆ ที่จำเป็นแก่ผู้พิการและผู้ด้อยโอกาส การจัดสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อมที่อยู่อาศัย รวมทั้งในแหล่งชุมชนแออัด การสร้างสวนสาธารณะหรือสวนสุขภาพ เพื่อให้ประชาชนได้มีสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ  การส่งเสริมให้สมาชิกในกลุ่มต่าง ๆ  ได้มีการแข่งขันกีฬาเพื่อสร้างความสามัคคีและสร้างสุขภาพ การออกมาตรการเพื่อรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง การดำเนินการจัดทำระบบการกำจัดขยะมูลฝอยและสิ่งปฏิกูลต่าง ๆ การดำเนินการจัดทำระบบการบำบัดน้ำเสีย การจัดบริการส่งเสริมสุขภาพต่าง ๆ เช่น จัดกลุ่มออกกำลังกาย ให้คำปรึกษาเพื่อลดภาวะเสี่ยง  การออกเยี่ยมและให้คำแนะนำสมาชิกในครอบครัว เกี่ยวกับการปฏิบัติตัวเพื่อให้มีสุขภาพที่ดี และการป้องกันโรคต่างๆ  การบริการให้การรักษาพยาบาลเบื้องต้น เช่น การให้น้ำเกลือ ปฐมพยาบาลต่าง ๆ จ่ายยาตามบัญชียา  การออกระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการฌาปนกิจต่างๆ  การบริการให้วัคซีนป้องกันโรคแก่สัตว์เลี้ยงของประชาชน  การบริการให้วัคซีนป้องกันโรค แก่สัตว์เลี้ยงของประชาชน  การออกระเบียบควบคุมการขนย้ายสัตว์ เช่น โค กระบือ เพื่อป้องกันโรคระบาดต่าง ๆ  การดูแลสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อมของโรงฆ่าสัตว์ และตรวจสอบความสะอาดของสัตว์ที่ชำแหละ  การดำเนินการเพื่อรักษาความปลอดภัยต่าง ๆ เช่น จัดให้มีเวรยามตรวจสอบตามสถานที่สำคัญ ๆ  การตรวจสอบอาคาร สถานที่ซึ่งเป็นแหล่งมหรสพว่า ดำเนินการก่อสร้างอย่างถูกต้องตามหลักหรือไม่ การออกระเบียบในการใช้สถานที่สาธารณะของประชาชน เช่น ห้ามขีดเขียน ห้ามทิ้งขยะ และ การออกระเบียบข้อบังคับในการต่อเติมอาคารต่าง ๆ การดำเนินการเพื่อป้องกันสาธารณภัยต่าง ๆ เช่น จัดให้มีการอบรมบุคลากรเพื่อป้องกันภัยต่าง ๆ จัดตั้งหมายเลขโทรศัพท์สำหรับขอความช่วยเหลือเมื่อเกิดเหตุร้าย และเตรียมอุปกรณ์เกี่ยวกับการบรรเทาสาธารณภัยให้พร้อม เช่น รถดับเพลิง ถังดับเพลิง
       นอกจากนี้ สุดเขตต์ เข็มไท (๒๕๔๐) ได้ศึกษาเรื่อง อำนาจหน้าที่ขององค์การบริหาร
       ส่วนตำบล (อบต.) ในการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับการสาธารณสุขพบว่า กลุ่มตัวอย่างมีระดับความรู้ ความเข้าใจในภาพรวมเกี่ยวกับโครงสร้างและองค์ประกอบ อำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย อยู่ในเกณฑ์ที่ค่อนข้างดี แต่ยังมีส่วนที่ต้องปรับปรุงคือ ความรู้ในเรื่องของการได้รับการแต่งตั้งให้มีฐานะการบังคับใช้กฎหมาย ความรู้ในอำนาจหน้าที่ที่ต้องทำในเขตองค์การบริการส่วนตำบลคือ
       ยังขาดความเข้าใจที่ชัดเจนในเรื่องอำนาจ หน้าที่ที่องค์การบริหารส่วนตำบล จะต้องปฏิบัติในพื้นที่ของตนเอง ส่วนการปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ในการนำกฎหมายที่ว่าด้วยการสาธารณสุขมาบังคับใช้ อยู่ในเกณฑ์ที่ต้องปรับปรุง ซึ่งพบว่า องค์การบริหารส่วนตำบลยังมีการนำเอาพระราชบัญญัติที่ว่าด้วยการสาธารณสุขมาบังคับใช้น้อยมาก โดยพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พุทธศักราช ๒๕๓๕ และพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พุทธศักราช ๒๕๓๕ เป็นพระราชบัญญัติที่มีการนำมาใช้โดยองค์การบริหารส่วนตำบลมากที่สุด ในส่วนของการจัดทำแผนงานโครงการในชุมชน ส่วนใหญ่แล้วจะเน้นหนักที่โครงสร้างพื้นฐานมากกว่าโครงการด้านสาธารณสุข เช่น จะดำเนินการในเรื่องการจัดสร้างถนน หรือการจัดหาสาธารณูปโภคต่าง ๆ และมีการจัดกิจการบริการคือ การจัดสร้างระบบประปา การกำจัดมูลฝอยและสิ่งปฏิกูล การจัดให้มี    ตลาดสดหรือตลาดนัด มากกว่าการดำเนินการหรือโครงการทางด้านสาธารณสุข
        
       ๔. กรณีตัวอย่างเกี่ยวกับข้อกฎหมายที่เกิดจากการดำเนินงานขององค์การบริหาร
       ส่วนตำบล / หน่วยงานทางปกครอง
        
           จากการค้นคว้าของผู้เขียนบทความเกี่ยวกับการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพขององค์การบริหารส่วนตำบล / หน่วยงานทางปกครองนั้น ผู้เขียนบทความพบว่า ปัญหาเกี่ยวกับ
       ข้อกฎหมายทางปกครองที่พบนั้น สามารถจำแนกออกเป็นด้าน ๆ ได้ดังนี้
       ๔.๑ กรณีที่องค์การบริหารส่วนตำบล / หน่วยงานทางปกครอง ละเลย ละเว้น กระทำการใด ๆ
       อันเป็นการละเมิด หรือกระทำการโดยมิชอบด้วยกฎหมาย
       ๔.๒ กรณีที่องค์การบริหารส่วนตำบล / หน่วยงานทางปกครอง มีข้อร้องเรียนหรือได้รับ
       ข้อร้องเรียนเกี่ยวกับสัญญาในลักษณะต่าง ๆ
        
       ๔.๑) กรณีที่องค์การบริหารส่วนตำบล / หน่วยงานทางปกครอง ละเลย ละเว้น กระทำการใด ๆ อันเป็นการละเมิด หรือกระทำการโดยมิชอบด้วยกฎหมาย
        
       . คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองกระทำการโดยมิชอบ
       ด้วยกฎหมาย
        
       ในคดีหมายเลขแดงที่ อ. ๒๔๔ / ๒๕๕๓ ผู้ฟ้องคดีทั้งสองร้อยสิบเอ็ดคนยื่นอุทธรณ์
       คำพิพากษา ในคดีหมายเลขดำที่ ๑๐๙/๒๕๔๕ หมายเลขแดงที่ ๓๑๙/๒๕๔๗ ของศาลปกครองชั้นต้น (ศาลปกครองขอนแก่น) โดยคดีนี้ผู้ฟ้องคดีทั้งสองร้อยสิบเอ็ดคนฟ้องว่า  ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสาม (องค์การบริหารส่วนตำบลคำม่วง ที่ ๑ เทศบาลตำบลน้ำพอง ที่ ๒ และ เทศบาลตำบลเขาสวนกวาง  ที่ ๓ - ทั้งนี้ โครงการก่อสร้างที่ทิ้งขยะ เป็นโครงการที่เกิดจากความร่วมมือของผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง ๓) ได้ร่วมกันกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องการก่อสร้างที่ทิ้งขยะ เช่น มิได้ทำการประชาพิจารณ์กับประชาชนผู้เกี่ยวข้อง เป็นการใช้อำนาจโดยไม่ถูกต้องตามรูปแบบขั้นตอน
       ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง ดังนี้
                                       ๑. สั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ยกเลิกมติที่ประชุมในการก่อสร้างที่ทิ้งขยะ
       โดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากราษฎร
                                       ๒. สั่งให้ยกเลิกการก่อสร้างโครงการปรับปรุงระบบกำจัดขยะมูลฝอย
       ในบริเวณพื้นที่กำจัดขยะมูลฝอยเดิมของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓
                                       ศาลปกครองสูงสุดพิเคราะห์แล้ว เห็นว่า กรณีถือได้ว่าผู้ถูกฟ้องคดีได้ดำเนินการให้บุคคลในชุมชนท้องถิ่นมีสิทธิได้รับข้อมูล คำชี้แจงและเหตุผลก่อนการดำเนินโครงการดังกล่าว และให้มีสิทธิแสดงความคิดเห็นของตนในเรื่องดังกล่าวตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่สมควรแก่กรณีแล้ว (คดีนี้เป็นโครงการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จึงขึ้นอยู่กับดุลพินิจของผู้ว่าราชการจังหวัดที่จะพิจารณาความเหมาะสมว่าควรจัดให้มีการทำประชาพิจารณ์หรือไม่ เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่นได้ใช้ดุลพินิจโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงเหลือแต่เพียงกรณีการพิจารณาความเหมาะสมว่าสมควรจัดให้มีการทำประชาพิจารณ์หรือไม่ ซึ่งเป็นดุลพินิจโดยเฉพาะของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่จะพิจารณาตามความเหมาะสม ศาลไม่อาจก้าวล่วงเข้าไปใช้ดุลพินิจพิจารณาทบทวนในเรื่องความเหมาะสมแทนเจ้าหน้าที่ของรัฐฝ่ายบริหารซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรงในการบริหารราชการแผ่นดินได้ มิฉะนั้น จะกลายเป็นการบริหารราชการแผ่นดินโดยศาลซึ่งเป็นองค์กรทางฝ่ายตุลาการ อันขัดต่อหลักการแบ่งแยกอำนาจตามมาตรา ๓ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  ดังนั้น การดำเนินโครงการระบบกำจัดขยะมูลฝอยในคดีนี้ แม้ว่าจะจัดทำประชาพิจารณ์หรือไม่ก็ตาม ก็มิได้ทำให้การดำเนินโครงการระบบกำจัดขยะมูลฝอยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะการตัดสินใจว่าควรจัดทำประชาพิจารณ์หรือไม่ เป็นการใช้ดุลพินิจของผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่นเป็นผู้พิจารณาความเหมาะสม และไม่ปรากฏว่าผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่นได้ใช้ดุลพินิจโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่อย่างใด) ดังนั้น การก่อสร้างโครงการระบบกำจัดขยะมูลฝอยร่วมของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามจึงไม่เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยมาตรา ๕๙ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐
        
       . คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่
       ของรัฐ อันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ
                                      
                ผู้ถูกฟ้องคดี (องค์การบริหารส่วนตำบลกุดโดน) ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษา ในคดีหมายเลขดำที่ ๑๐๗ / ๒๕๔๙ หมายเลขแดงที่ ๑๔ / ๒๕๕๐ ของศาลปกครองชั้นต้น (ศาลปกครองขอนแก่น)
                คดีนี้ผู้ฟ้อง (นางสมจิตร  ภูแล) คดีฟ้องว่า  เดิมผู้ฟ้องคดีได้รับอนุญาตจากผู้ถูกฟ้องคดีและผู้บริหารศูนย์อบรมเด็กก่อนเกณฑ์ในวัดอภิสิทธิ์หนองแวงม่วงเข้าฝึกงานโดยไม่ได้รับค่าตอบแทน เมื่อทำงานได้ประมาณ ๕ เดือน นางสาวเดือนฉาย อุปนันท์ ครูพี่เลี้ยงของศูนย์ได้ลาออก ผู้บริหารศูนย์และคณะกรรมการบริหารศูนย์จึงได้ประชุมเมื่อวันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๔๘ และมีมติคัดเลือกผู้ฟ้องคดีเป็นครูพี่เลี้ยงแทน พร้อมออกหนังสือแต่งตั้งเมื่อวันที่ ๑๘ มีนาคม ๒๕๔๘ และได้ส่งหนังสือแต่งตั้งผู้ฟ้องคดีเป็นครูพี่เลี้ยงต่อผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อพิจารณาอนุญาต แต่ผู้ถูกฟ้องคดีได้กระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีโดยไม่ส่งหนังสือดังกล่าวต่อผู้ว่าราชการจังหวัด ทำให้ผู้ฟ้องคดีไม่ได้รับการแต่งตั้งเป็นครูพี่เลี้ยงตั้งแต่วันที่ ๑๘ มีนาคม ๒๕๔๘ ถึงวันที่ ๒๙ มีนาคม ๒๕๔๙ ซึ่งหากผู้ฟ้องคดีได้รับการแต่งตั้ง ผู้ฟ้องคดีจะได้รับเงินค่าตอบแทน ๖๙,๖๐๐ บาท
                ขอให้ศาลพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีชดใช้ค่าเสียหายจากมูลละเมิดดังกล่าวเป็นเงิน ๖๙,๖๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ย ๕,๘๐๐ บาท รวมเป็นเงิน ๗๕,๖๐๐ บาท
                      ศาลปกครองชั้นต้นอนุญาตให้ผู้ฟ้งคดีดำเนินคดีโดยได้รับยกเว้นค่าธรรมเยมศาลทั้งหมดตามคำขอของผู้ฟ้องคดี ศาลปกครองสูงสุดพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ผู้ถูกฟ้องคดีโดยนายกองค์การบริหารส่วนตำบลกุดโดนมิได้มีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องส่งรายชื่อผู้ฟ้องคดีไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์แต่อย่างใด กรณีจึงมิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติตามมาตรา๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ศาลปกครองจึงไม่อาจรับคำฟ้องนี้ไว้พิจารณาได้  ที่ศาลปกครองชั้นต้นพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดีจำนวน ๒๙,๙๓๕.๔๘ บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของ
       ยอดเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จนั้น ศาลปกครองสูงสุดไม่เห็นพ้องด้วย
                 พิพากษากลับคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้นเป็นยกฟ้อง และให้คืนเงินค่าธรรมเนียมศาลในชั้นอุทธรณ์ทั้งหมดแก่ผู้ถูกฟ้องคดี
        
       ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ (ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดนครสวรรค์ 
       ที่ ๑ องค์การบริหารส่วนตำบลแควใหญ่  ที่ ๒ กรมประมง  ที่ ๓ และ นายกองค์การบริหาร
       ส่วนตำบลแควใหญ่  ที่ ๔) ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษา ในคดีหมายเลขดำที่ ๖๖ / ๒๕๔๖ หมายเลขแดงที่ ๑๗๓ / ๒๕๕๐ ของศาลปกครองชั้นต้น (ศาลปกครองพิษณุโลก)
                คดีนี้ผู้ฟ้องคดี (นางจุฑารัตน์  ชาวโพธิ์ทอง) ฟ้องว่า ผู้ฟ้องคดีและประชาชนที่อาศัยอยู่ตามคลองบอระเพ็ดได้รับความเดือดร้อนจากการใช้น้ำในคลองบอระเพ็ด เนื่องจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้ปล่อยน้ำเสียที่ดำเนินกิจการต่างๆ ลงสู่คลองดังกล่าว โดยมิได้ผ่านการบำบัดแต่อย่างใด ทำให้สภาพน้ำมีกลิ่นเหม็น สีของน้ำเขียวข้น ประชาชนที่ใช้น้ำในคลองต้องทนทุกข์ทรมานต่อการใช้น้ำที่สกปรกและมีกลิ่นเหม็นขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ทำการปิดท่อระบายทิ้ง
       น้ำเสียที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ปล่อยลงสู่คลองบอระเพ็ดโดยเด็ดขาด
       ศาลปกครองสูงสุดพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ปล่อยน้ำเสียลงสู่
       คลองบอระเพ็ดโดยไม่มีระบบบำบัดน้ำเสียและไม่คำนึงถึงสภาพทางกายภาพของคลองบอระเพ็ด
       ที่ไม่เหมาะสมที่จะรองรับน้ำเสียใดๆ จึงเป็นการกระทำที่ขัดต่อภาระหน้าที่ในการพัฒนาทรัพยากรทางประมงและอนุรักษ์ทรัพยากรทางน้ำอย่างยั่งยืนของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ทั้งยังก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชนที่ใช้น้ำในคลองบอระเพ็ดเพื่อการอุปโภคบริโภค อันเป็นการกระทำที่ขัดต่อวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีตามภาระหน้าที่ที่ดี ก่อให้เกิดความเดือดร้อนเสียหายต่อผู้ฟ้องคดีและราษฎรในละแวกใกล้เคียง จึงถือได้ว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ กระทำละเมิดอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ จึงเป็นคดีพิพาทตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒  เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ เป็นส่วนราชการต้นสังกัดของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ต้องรับผิดในทางละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี  การที่ศาลปกครองชั้นต้นพิพากษาห้ามมิให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ระบายทิ้งน้ำเสียจากการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ภายในหน่วยงานของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ลงสู่คลองบอระเพ็ดโดยไม่ผ่านระบบบำบัดน้ำเสียก่อน ภายใน ๑๘๐ วัน นับแต่วันที่ได้มีคำพิพากษาถึงที่สุด จึงชอบแล้ว
        
       ๔.๒) กรณีที่องค์การบริหารส่วนตำบล / หน่วยงานทางปกครอง มีข้อร้องเรียนหรือได้รับ
       ข้อร้องเรียนเกี่ยวกับสัญญาในลักษณะต่าง ๆ
                                       ๔.๒.๑ คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองเรื่องการจัดซื้อ จัดจ้าง
                                       ผู้ฟ้องคดี (องค์การบริหารส่วนตำบลหนองขนาก) อุทธรณ์คำพิพากษา ในคดีหมายเลขดำที่ ๑๐๒๔ / ๒๕๔๘ หมายเลขแดงที่ ๗๔๖ / ๒๕๕๑ ของศาลปกครองชั้นต้น (ศาลปกครองกลาง)
                                       คดีนี้ผู้ฟ้องคดีฟ้องและเพิ่มเติมคำฟ้องว่า  เมื่อวันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๔๗ ผู้ฟ้องคดีได้ทำสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างขยายเขตท่อเมนประปาหมู่บ้าน หมู่ที่ ๑๑ บ้านบ่อแร่ ตำบลหนองขนาก อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยดำเนินการก่อสร้างขยายเขตท่อเมนประปาหมู่บ้านชนิดท่อพีวีซี ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๒ นิ้ว ชั้นคุณภาพ ๘.๕ พร้อมข้อต่อชนิดต่าง ๆ มีความยาว ๑,๗๐๐ เมตร กับผู้ถูกฟ้องคดี (นายเฉลียว  รางวัลหลาย) ตามสัญญาจ้างเลขที่ ๑ / ๒๕๔๗ ลงวันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๔๗ โดยผู้ฟ้องคดีตกลงจ่ายและผู้ถูกฟ้องคดีตกลงรับเงินค่าจ้างจำนวน ๘๘,๐๘๐ บาทiและผู้ถูกฟ้องคดีต้องเริ่มทำงานที่รับจ้างภายในวันที่ ๑๔ มิถุนายน ๒๕๔๗ โดยต้องทำงานให้แล้วเสร็จสมบูรณ์ภายในวันที่ ๘ กรกฎาคม ๒๕๔๗  ต่อมา ผู้ถูกฟ้องคดีได้มีหนังสือลงวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๔๗ ถึงนายกองค์การบริหารส่วนตำบลหนองขนากแจ้งว่า ผู้ถูกฟ้องคดีได้ดำเนินการส่งมอบงานจ้างเหมาก่อสร้างขยายเขตท่อเมนประปาเสร็จเรียบร้อยแล้ว และในวันเดียวกันคณะกรรมการตรวจการจ้างของผู้ฟ้องคดีได้ตรวจรับมอบงานดังกล่าว จากนั้นได้มีราษฎรบ้านบ่อแร่ร้องเรียนต่อปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลหนองขนากว่า ผู้ถูกฟ้องคดีก่อสร้างขยายเขตท่อเมนประปาหมู่บ้านดังกล่าวได้เพียง ๑,๒๒๘ เมตร ยังขาดปริมาณงานอีก ๔๗๒ เมตร หรือคิดเป็นจำนวนท่อประมาณ ๑๑๘ ท่อน ผู้ฟ้องคดีจึงได้มีหนังสือ ที่ อย ๘๓๕๐๑/๒๒๕ ลงวันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๔๗ แจ้งให้ผู้ถูกฟ้องคดีดำเนินการก่อสร้างส่วนที่เหลือให้แล้วเสร็จ แต่ผู้ถูกฟ้องคดีเพิกเฉย ผู้ฟ้องคดีจึงต้องว่าจ้างผู้รับเหมารายใหม่ให้มาดำเนินการก่อสร้างส่วนที่ยังขาดอยู่อีก ๔๗๒ เมตร ตามใบสั่งจ้างเลขที่ ๘๑/๒๕๔๗ ลงวันที่ ๖ กันยายน ๒๕๔๗ คิดเป็นเงิน ๒๒,๖๖๐ บาท ต่อมา ผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสือ ที่ อย ๘๓๕๐๑/๒๖๒ ลงวันที่ ๓ กันยายน ๒๕๔๗ แต่งตั้งอนุญาโตตุลาการฝ่ายผู้ฟ้องคดีดำเนินการชี้ขาดข้อพิพาทตามสัญญาข้อ ๑๙ พร้อมทั้งมีหนังสือ ที่ อย ๘๓๕๐๑/๒๔๘ ลงวันที่ ๓ กันยายน ๒๕๔๗ แจ้งให้ผู้ถูกฟ้องคดีดำเนินการตั้งอนุญาโตตุลาการฝ่ายตนเอง ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีได้แต่งตั้งนายสมมาตร ศรีวชิราพร เป็นอนุญาโตตุลาการ ต่อมาอนุญาโตตุลาการของทั้งสองฝ่ายได้นัดพร้อมกันเพื่อแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการอีกคนหนึ่งซึ่งเป็นคนกลางเพื่อตัดสินชี้ขาดคดี ณ สถาบันอนุญาโตตุลาการ สำนักงานศาลยุติธรรม แต่เนื่องจากต้องเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมาก ประกอบกับคดีต้องใช้ระยะเวลานานและไม่มีสภาพบังคับ ผู้รับมอบอำนาจของทั้งสองฝ่ายจึงได้ทำบันทึกข้อตกลงเมื่อวันที่ ๒๙ เมษายน ๒๕๔๘ โดยไม่ติดใจตั้งอนุญาโตตุลาการคนกลางและสละสิทธิการแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการตามสัญญาจ้างข้อ ๑๙ เป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีไม่สามารถบังคับผู้ถูกฟ้องคดีให้ชำระค่าเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดีได้จึงฟ้องคดีต่อศาลปกครอง
                                       ขอให้ศาลปกครองมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีชำระเงินจำนวน ๒๒,๖๖๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้องคดีเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้ฟ้องคดี
                                       ศาลปกครองสูงสุดพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ผู้ถูกฟ้องคดีมีหน้าที่ต้องคืนเงินอันเกิดจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีดำเนินการก่อสร้างท่อเมนประปาไม่ครบถ้วนเป็นระยะทาง ๔๗๒ เมตร คิดเป็นเงิน ๒๒,๖๖๐ บาท ให้แก่ผู้ฟ้องคดี ส่วนกรณีที่ศาลปกครองชั้นต้นเห็นว่า ผู้ฟ้องคดี ผู้ควบคุมงาน และคณะกรรมการตรวจการจ้างของผู้ฟ้องคดีประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ผู้ฟ้องคดีจึงไม่อาจอ้างความสำคัญผิดอันเกิดจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงดังกล่าวมาเป็นประโยชน์นั้น  เห็นว่า กรณีความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของผู้ฟ้องคดี ผู้ควบคุมงาน และคณะกรรมการตรวจการจ้างที่ควรได้รับการตรวจสอบปรับปรุงและแก้ไขการดำเนินงานจากหน่วยงานที่ควบคุมหรือกำกับดูแลและควรรับผิดอย่างใดอย่างหนึ่งจากการประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงนั้น ต้องแยกส่วนจากความรับผิดอันเกิดจากการไม่ปฏิบัติตามสัญญาจ้างให้ครบถ้วนของผู้ถูกฟ้องคดีที่มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามสัญญาต่อผู้ฟ้องคดี โดยหาใช่เป็นกรณีที่จะกล่าวอ้างเพื่อให้ผู้ถูกฟ้องคดีพ้นจากความรับผิดตามสัญญานี้ไปได้ ที่ศาลปกครองชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ศาลปกครองสูงสุดไม่เห็นพ้องด้วย
                                       พิพากษากลับคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น เป็นให้ผู้ถูกฟ้องคดีชดใช้เงินจำนวน ๒๒,๖๖๐ บาท ให้แก่ผู้ฟ้องคดี พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้องคดีเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้ฟ้องคดี ทั้งนี้ ให้แล้วเสร็จภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด รวมทั้งให้คืนค่าธรรมเนียมศาลตามส่วนแห่งการชนะคดี
                                       (ด้วยความเคารพ คดีนี้ผู้เขียนบทความไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดที่พิพากษากลับคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น เพราะผู้เขียนบทความเห็นว่าคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้นนั้นชอบแล้ว เนื่องจากกรณีดังกล่าว ผู้ฟ้องคดี ผู้ควบคุมงาน และคณะกรรมการตรวจการจ้างของผู้ฟ้องคดีประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ผู้ฟ้องคดีจึงไม่อาจอ้างความสำคัญผิดอันเกิดจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงดังกล่าวมาเป็นประโยชน์เพื่อให้ตนและพวกพ้นจากความรับผิดได้ เพราะหากคณะกรรมการตรวจการจ้างของผู้ฟ้องคดีปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรอบคอบและใส่ใจมากกว่านี้ กรณีปัญหาดังกล่าวก็ไม่น่าจะเกิดขึ้นจนถึงกับต้องดำเนินการฟ้องร้องคดีต่อกัน ซึ่งทำให้เสียงบประมาณ เสียเวลาโดยใช่เหตุ)
        
       ๔.๒.๒ คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองเรื่องสัญญาจ้างพนักงาน
       ผู้ฟ้องคดี (นางสาวอรทัย  คำพล) ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่ง ในคดีหมายเลขดำที่
       ๓๗/๒๕๕๓ หมายเลขแดงที่ ๙๗/๒๕๕๓ ของศาลปกครองชั้นต้น (ศาลปกครองขอนแก่น)
                                       คดีนี้ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่า ผู้ถูกฟ้องคดี (องค์การบริหารส่วนตำบลดงบัง) ได้ทำสัญญาจ้างผู้ฟ้องคดีเป็นพนักงานจ้างตามภารกิจ ตำแหน่งผู้ช่วยครูดูแลเด็กอนุบาลและปฐมวัย ตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม ๒๕๔๙ ถึงวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๕๒ ตามสัญญาจ้างพนักงานจ้างองค์การบริหารส่วนตำบลดงบัง สัญญาเลขที่ ๔/๒๕๔๙ ลงวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๔๙ และหลังจากสัญญาจ้างสิ้นสุดลงแล้ว ผู้ถูกฟ้องคดีได้มีหนังสือ ที่ นค ๘๐๙๐๔/๕๕๓ ลงวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๕๒ แจ้งผู้ฟ้องคดีว่า บัดนี้ได้ครบกำหนดสัญญาจ้างในวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๕๒ และจากผลการประเมินการปฏิบัติงานของผู้ฟ้องคดี พบว่าการปฏิบัติงานของผู้ฟ้องคดีไม่ผ่านเกณฑ์การประเมิน ผู้ถูกฟ้องคดีจึงไม่สามารถต่อสัญญาจ้างเป็นพนักงานจ้างตามภารกิจให้กับผู้ฟ้องคดีได้ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๕๒ เป็นต้นไป ต่อมา ผู้ถูกฟ้องคดีได้มีคำสั่งองค์การบริหารส่วนตำบลดงบัง ที่ ๒๑๘/๒๕๕๒ ลงวันที่ ๒๒ ธันวาคม ๒๕๕๒ ให้ผู้ฟ้องคดีพ้นจากตำแหน่งผู้ดูแลเด็กศูนย์พัฒนาเด็กเล็กวัดอรัญญิกาวาส หมู่ที่ ๔ บ้านดงโทน สังกัดผู้ถูกฟ้องคดี ตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๕๒ ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าคำสั่งดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่เป็นไปตามระเบียบกรมการศาสนา ว่าด้วยศูนย์อบรมเด็กก่อนเกณฑ์ในวัด พ.ศ. ๒๕๔๒ หลังจากผู้ถูกฟ้องคดีมีคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีพ้นจากตำแหน่งแล้ว ผู้ถูกฟ้องคดีได้มีประกาศองค์การบริหารส่วนตำบลดงบัง เรื่อง รับสมัครสอบคัดเลือกบุคคลเพื่อสั่งจ้างและแต่งตั้งเป็นพนักงานจ้างตามภารกิจ ตำแหน่ง ผู้ดูแลเด็กเล็ก ประจำศูนย์พัฒนาเด็กเล็กวัดอรัญญิกาวาส หมู่ที่ ๔ บ้านดงโทน ลงวันที่ ๑๒ มกราคม ๒๕๕๓ ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าประกาศดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะการแต่งตั้งและถอดถอนครูพี่เลี้ยงเป็นอำนาจของผู้บริหารศูนย์ (หมายถึงเจ้าอาวาส) ตามความในข้อ ๑๓ ของระเบียบกรมการศาสนา ว่าด้วยศูนย์เด็กก่อนเกณฑ์ในวัด พ.ศ. ๒๕๔๒ ถ้าประกาศดังกล่าวมีผลบังคับและมีการดำเนินการสอบคัดเลือกต่อไปจะมีผลกระทบทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนไม่มีรายได้เลี้ยงชีพ
                                       ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง ดังนี้
                                       ๑) เพิกถอนคำสั่งองค์การบริหารส่วนตำบลดงบัง ที่ ๒๑๘/๒๕๕๒ ลงวันที่ ๒๒ ธันวาคม ๒๕๕๒
                                       ๒) เพิกถอนประกาศองค์การบริหารส่วนตำบลดงบัง เรื่อง รับสมัครสอบคัดเลือกบุคคลเพื่อสั่งจ้างและแต่งตั้งเป็นพนักงานจ้างตามภารกิจ ตำแหน่ง ผู้ดูแลเด็กเล็กประจำศูนย์พัฒนาเด็กเล็กวัดอรัญญิกาวาส หมู่ที่ ๔ บ้านดงโทน ลงวันที่ ๑๒ มกราคม ๒๕๕๓
                       ๓) มีคำสั่งทุเลาการบังคับตามประกาศของผู้ถูกฟ้องคดีตามข้อ ๒ ไว้ก่อนจนกว่า
       ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนศาลปกครองชั้นต้นพิจารณาเห็นว่า การต่อสัญญาจ้างพนักงานจ้างตามภารกิจ และพนักงานจ้างทั่วไปขององค์การบริหารส่วนตำบล เป็นดุลยพินิจขององค์การบริหารส่วนตำบลนั้น  นอกจากนี้ กรณีการไม่ต่อสัญญาให้กับผู้ฟ้องคดีก็มิใช่กรณีพิพาทเพราะเหตุมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสัญญาจ้าง ดังนั้น เมื่อสัญญาจ้างสิ้นสุดแล้วผู้ถูกฟ้องคดีจะทำสัญญาจ้างผู้ฟ้องคดีต่อไปอีกหรือไม่ เป็นเรื่องการบริหารงานภายในของผู้ถูกฟ้องคดีที่จะต้องดำเนินการตามความเหมาะสม ศาลไม่อาจมีคำบังคับให้ผู้ถูกฟ้องคดีทำสัญญาจ้างผู้ฟ้องคดีได้ตามมาตรา ๗๒ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
                            ศาลปกครองสูงสุดพิเคราะห์แล้วเห็นว่า สัญญาจ้างพนักงานจ้างองค์การบริหารส่วนตำบลดงบัง สัญญาเลขที่ ๔/๒๕๔๙ เมื่อวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๔๙ เป็นสัญญาระหว่างผู้ฟ้องคดีกับผู้ถูกฟ้องคดีโดยมีวัตถุประสงค์แต่งตั้งให้ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ดูแลเด็กเล็กประจำศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก วัดอรัญญิกาวาส เมื่อสัญญาได้สิ้นสุดลงตามระยะเวลาที่ได้กำหนดไว้ในสัญญาแล้ว จึงเป็นการเลิกจ้างตามสัญญา ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีจะทำสัญญาจ้างผู้ฟ้องคดีต่อไปอีกหรือไม่ เป็นอำนาจของผู้ถูกฟ้องคดีที่จะต้องดำเนินการตามความเหมาะสมและเป็นดุลยพินิจของผู้ถูกฟ้องคดี คำขอของผู้ฟ้องคดีจึงเป็นกรณีที่ศาลไม่สามารถออกคำบังคับได้ ตามมาตรา ๗๒ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ส่วนคำขอของผู้ฟ้องคดีที่ให้เพิกถอนประกาศของผู้ถูกฟ้องคดี เรื่อง รับสมัครสอบคัดเลือกบุคคลเพื่อสั่งจ้างและแต่งตั้งเป็นพนักงานจ้างตามภารกิจ ตำแหน่ง ผู้ดูแลเด็กประจำศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก วัดอรัญญิกาวาส หมู่ที่ ๔ บ้านดงโทน ลงวันที่ ๑๒ มกราคม ๒๕๕๓ เห็นว่า การประกาศดังกล่าวเป็นการดำเนินการตามหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีในการคัดเลือกบุคคล เพื่อสั่งจ้างพนักงานจ้างตามภารกิจแทนผู้ฟ้องคดีซึ่งพ้นจากหน้าที่เนื่องจากสัญญาจ้างสิ้นสุดลงตามระยะเวลาของสัญญาจ้าง จึงไม่มีผลกระทบต่อสิทธิหรือหน้าที่ของผู้ฟ้องคดีอันจะทำให้ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายจากประกาศดังกล่าว ผู้ฟ้องคดีจึงไม่ใช่ผู้มีสิทธิฟ้องคดีเพื่อขอให้เพิกถอนประกาศดังกล่าว ตามมาตรา ๔๒ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ที่ศาลปกครองชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา ไม่พิจารณาคำขอวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษา และให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ ศาลปกครองสูงสุดเห็นพ้องด้วย
        
                               ๔.๒.๓ คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองเรื่องการผิดสัญญาใช้ทุนลศึกษาต่อ
                                       ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง (นายอัครพล  อัครประชะ  ที่ ๑ และ นายบรรจง  อัครประชะ  ที่ ๒) ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษา ในคดีหมายเลขดำที่ ๙๑๑/๒๕๔๘ หมายเลขแดงที่ ๔๖๔/๒๕๔๙ ของศาลปกครองชั้นต้น (ศาลปกครองกลาง)
                                       คดีนี้ผู้ฟ้องคดี (มหาวิทยาลัยมหิดล) ฟ้องว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นส่วนราชการมีฐานะเทียบเท่ากรม อยู่ในสังกัดของกระทรวงศึกษาธิการ ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เดิมเป็นนักศึกษาผู้ช่วยพยาบาลของผู้ฟ้องคดี โดยได้เข้าศึกษาในสถานศึกษาของผู้ฟ้องคดีเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๕ และได้ทำสัญญาการเป็นนักศึกษาผู้ช่วยพยาบาล ฉบับลงวันที่ ๑๓ พฤษภาคม ๒๕๔๕ ให้ไว้กับผู้ฟ้องคดี สัญญาดังกล่าวมีสาระสำคัญเกี่ยวกับการเข้ารับราชการหรือทำงานภายหลังจากสำเร็จการศึกษาไว้ว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จะรับราชการหรือทำงานในส่วนราชการหรือองค์การของรัฐบาลเป็นเวลาไม่น้อยกว่าสองปีติดต่อกันตั้งแต่เริ่มรับราชการหรือทำงานในส่วนราชการหรือองค์การของรัฐบาลที่ผู้ฟ้องคดีจัดสรรให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ไปเข้ารับราชการหรือทำงาน หากผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ไม่เข้ารับราชการหรือทำงานดังกล่าว ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จะต้องรับผิดชดใช้เบี้ยปรับให้แก่ผู้ฟ้องคดีเป็นเงินทั้งสิ้น ๑๐๐,๐๐๐ บาท ภายในกำหนดเวลาที่ผู้ฟ้องคดีเรียกร้องให้ชำระ แต่ถ้าหากผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้เข้ารับราชการหรือทำงานบ้างแต่ไม่ครบกำหนดเวลาตามที่กล่าวข้างต้น ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จะต้องรับผิดชดใช้เงินให้แก่ผู้ฟ้องคดีตามระยะเวลาที่ขาด โดยคิดคำนวณลดลงตามส่วนเฉลี่ยจากเงินที่ต้องชดใช้ดังกล่าว และเพื่อเป็นหลักประกันการปฏิบัติตามสัญญาดังกล่าว ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ซึ่งเป็นบิดาของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้ทำสัญญาค้ำประกัน ฉบับลงวันที่ ๑๓ พฤษภาคม ๒๕๔๕ ให้ไว้กับผู้ฟ้องคดี โดยมีสาระสำคัญว่า ถ้าผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ กระทำผิดสัญญาที่ให้ไว้ต่อผู้ฟ้องคดีเป็นเหตุให้เกิดความรับผิดต้องชดใช้เงินให้แก่ผู้ฟ้องคดีแล้ว ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ยินยอมชดใช้เงินตามจำนวนที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จะต้องรับผิดนั้นให้แก่ผู้ฟ้องคดีจนครบถ้วนโดยผู้ฟ้องคดีมิจำต้องเรียกร้องให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ชดใช้เงินดังกล่าวก่อน
                                       ศาลปกครองสูงสุดได้ตรวจพิจารณาเอกสารทั้งหมดในสำนวนคดี กฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ ฯลฯ ที่เกี่ยวข้องประกอบแล้วพิเคราะห์ว่า ที่ศาลปกครองชั้นต้นพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินจำนวน ๗๕,๖๗๑.๖๐ บาท ให้แก่ผู้ฟ้องคดีพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงินจำนวน ๗๓,๙๒๔.๗๕ บาท นับตั้งแต่วันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๔๘ อันเป็นวันถัดจากวันฟ้องคดีเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ทั้งนี้ ให้ชำระให้แล้วเสร็จภายใน ๓๐ วัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด และให้คืนค่าธรรมเนียมศาลทั้งหมดจำนวน ๑,๘๙๒.๕๐ บาท ให้แก่ผู้ฟ้องคดี ศาลปกครองสูงสุดเห็นพ้องด้วย
       (ด้วยความเคารพ กรณีนี้หากผู้ฟ้องคดี พิจารณาโดยละเอียดหรือมอบหมายให้ผู้รับผิดชอบ ดำเนินการตรวจสอบก่อนที่จะอนุมัติคำสั่งลาออกของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ที่ พ. ๑๑๖/๒๕๔๗ (ที่ถูกคือ ๑๖๖/๒๕๔๗) ลงวันที่ ๓ กันยายน ๒๕๔๗ ว่า ผู้ที่จะลาออกมีพันธะผูกพันกับหน่วยงานราชการหรือหน่วยงานใด ๆ ที่เกี่ยวข้องหรือไม่ อย่างไร และหากมี ก็ให้ดำเนินการแก้ไขให้แล้วเสร็จเสียก่อนจึงจะอนุมัติ เช่น เรื่องการชดใช้ทุนตามสัญญาการรับทุน ปัญหาการฟ้องร้องคดีปกครองดังกล่าวก็คงไม่เกิดขึ้น - ผู้เขียนบทความ)
        
       ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งห้า (นางอาจารีย์ เบทซ์ หรือเจริญบุตร ที่ ๑ นางมนทิกา  จันทร-
       โชติวงศ์ ที่ ๒ นางบานเย็น เจริญบุตร ที่ ๓ นางสาวมยุรี เจริญศรี ที่ ๔ และ สิบโท วินิจฉัย เจริญบุตร ที่ ๕) ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษา ในคดีหมายเลขดำที่ ๗๑๒/๒๕๔๗ หมายเลขแดงที่ ๑๖๐๗/๒๕๔๘ ของศาลปกครองชั้นต้น (ศาลปกครองกลาง)
                                       คดีนี้ผู้ฟ้องคดี (สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข) ฟ้องว่า  ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เป็นผู้ได้รับการคัดเลือกให้เข้าศึกษาวิชาประกาศนียบัตรพยาบาลศาสตร์ ตั้งแต่ปีการศึกษา ๒๕๓๒ ถึงปีการศึกษา ๒๕๓๖ ระหว่างรับราชการได้ลาศึกษาต่อภายในประเทศระดับปริญญาโทและได้รับทุนรัฐบาลไปศึกษาต่อในระดับปริญญาเอก ณ ต่างประเทศ โดยได้ทำสัญญาเข้าศึกษาในระดับต่าง ๆ ไว้กับผู้ฟ้องคดี ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ถึงผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๕ เป็นผู้ค้ำประกันการปฏิบัติและความรับผิดของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ตามสัญญาดังกล่าว ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้ เมื่อวันที่ ๓ มิถุนายน ๒๕๔๐ (ที่ถูกต้อง คือ วันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๓๒) ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้ทำสัญญารับทุนเพื่อศึกษาวิชาประกาศนียบัตรพยาบาลศาสตร์ ฉบับลงวันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๓๒ ไว้กับผู้ฟ้องคดีโดยมีสาระสำคัญว่า เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จะเข้ารับราชการเป็นข้าราชการหรือลูกจ้างในส่วนราชการที่ได้รับการจัดสรรทุนหรือส่วนราชการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นเวลาเท่ากับระยะเวลาที่ใช้ในการศึกษาแต่ไม่น้อยกว่า ๔ ปี ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้ใช้เวลาศึกษาตั้งแต่วันที่ ๕ มิถุนายน ๒๕๓๒ ถึงวันที่ ๑๕ มีนาคม ๒๕๓๖ หลังจากที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ สำเร็จการศึกษา ผู้ฟ้องคดีได้มีคำสั่งที่ ๔๗๗๖/๒๕๓๖ ลงวันที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๓๖ บรรจุผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เข้าเป็นข้าราชการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ณ โรงพยาบาลยโสธร สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดยโสธร ตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน ๒๕๓๖ และในวันเดียวกันก็ได้รับแต่งตั้งให้ปฏิบัติราชการในตำแหน่งวิทยาจารย์ ๓ ที่วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีสรรพสิทธิประสงค์ อุบลราชธานี ตามคำสั่งที่ ๔๗๗๗/๒๕๓๖ ลงวันที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๓๖ ต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้รับอนุมัติให้ลาศึกษาต่อภายในประเทศตั้งแต่วันที่ ๒๔ เมษายน ๒๕๓๘ ถึงวันที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๔๐ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้ทำสัญญาของผู้ได้รับอนุมัติให้ลาไปศึกษาหรือฝึกอบรมภายในประเทศโดยได้รับเงินเดือนเต็มระหว่างลา ฉบับลงวันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๓๘ และฉบับลงวันที่ ๑๘ มีนาคม ๒๕๔๐ ไว้กับผู้ฟ้องคดีโดยมีสาระสำคัญในสัญญาทั้งสองฉบับว่า เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ สัญญาว่าจะเข้ารับราชการหรือปฏิบัติราชการที่หน่วยงานผู้ฟ้องคดีเป็นเวลารวมกันไม่น้อยกว่าสองเท่าของเวลาที่ไปศึกษา ถ้าผิดสัญญาดังกล่าวผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จะชดใช้คืนให้แก่ผู้ฟ้องคดี ซึ่งทุน และหรือเงินเดือนรวมทั้งเงินเพิ่ม และหรือเงินอื่นใดทั้งสิ้นที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้รับจากทางราชการในระหว่างที่ได้รับอนุมัติให้ไปศึกษา นอกจากนี้จะจ่ายเงินเป็นเบี้ยปรับให้แก่ผู้ฟ้องคดีอีกสองเท่าของเงินที่ต้องชดใช้คืนดังกล่าวด้วย ถ้าผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ รับราชการไปบ้างแต่ไม่ครบเวลาตามที่กล่าว เงินที่จะชดใช้คืนและเบี้ยปรับจะลดลงตามส่วนของเวลา
       ที่ได้รับราชการไปบ้างแล้ว ในการนี้มีผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ทำสัญญาค้ำประกัน ฉบับลงวันที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๓๘ และฉบับลงวันที่ ๑๘ มีนาคม ๒๕๔๐ ให้ไว้กับผู้ฟ้องคดีเพื่อเป็นการค้ำประกันการปฏิบัติและความรับผิดของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ตามสัญญาที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้ให้ไว้กับผู้ฟ้องคดีข้างต้น ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้ใช้เวลาศึกษาตามสัญญาดังกล่าวตั้งแต่วันที่ ๒๔ เมษายน ๒๕๓๘ ถึงวันที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๔๐ เป็นเวลา ๙๘๐ วัน โดยได้รับเงินเดือนจากทางราชการไปเป็นจำนวน ๒๔๗,๙๒๙.๑๐ บาท ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้กลับเข้าปฏิบัติราชการที่วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีสรรพสิทธิประสงค์ อุบลราชธานี เมื่อวันที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๔๐ ต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้รับอนุมัติให้ลาศึกษาต่อ ณ ต่างประเทศ โดยรับทุนรัฐบาล (กระทรวงสาธารณสุข) โดยได้ทำสัญญาของข้าราชการที่ไปศึกษาหรือฝึกอบรม ณ ต่างประเทศ ฉบับลงวันที่ ๕ มกราคม ๒๕๔๑ ไว้กับผู้ฟ้องคดีโดยมีสาระสำคัญในสัญญาว่า เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ สัญญาว่าจะรับราชการต่อไปในหน่วยงานผู้ฟ้องคดี หรือในกระทรวง ทบวง กรมอื่นตามที่ทางราชการเห็นสมควรเป็นเวลาไม่น้อยกว่าสองเท่าของระยะเวลาที่ไปศึกษา หากผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ผิดสัญญาดังกล่าว ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จะชดใช้คืนให้แก่ผู้ฟ้องคดีซึ่งทุน และหรือเงินเดือนรวมทั้งเงินเพิ่ม และหรือเงินอื่นใดทั้งสิ้นที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้รับไปจากทางราชการในระหว่างที่ได้รับอนุมัติให้ไปศึกษา นอกจากนี้จะจ่ายเงินเป็นเบี้ยปรับอีกสองเท่าของเงินที่ต้องชดใช้คืนด้วยโดยลดลงตามส่วนของเวลาที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้รับราชการไปบ้างแล้ว ในการนี้มีผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๕ ทำสัญญาค้ำประกัน ฉบับลงวันที่ ๕ มกราคม ๒๕๔๑ ไว้กับผู้ฟ้องคดี ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้เดินทางไปศึกษาตั้งแต่วันที่ ๑๑ มกราคม ๒๕๔๑ ถึงวันที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๔๔ รวมเป็นเวลา ๑,๒๓๓ วัน ได้รับทุนการศึกษาเป็นจำนวน ๘๓,๗๗๐ บาท กับอีก ๕๕,๐๓๑.๔๑ ดอลลาร์สหรัฐ และได้รับเงินเดือนจากทางราชการไปเป็นจำนวน ๓๑๕,๔๖๖.๔๕ บาท หลังจากสำเร็จการศึกษาแล้วผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้กลับเข้าปฏิบัติราชการตั้งแต่วันที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๔๔ จนถึงวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๔๖ แล้วได้ขอลาออกจากราชการและได้รับอนุมัติให้ลาออกตั้งแต่วันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๔๖ ตามคำสั่งจังหวัดอุบลราชธานี ที่ ๑๓๘๖/๒๕๔๖ ลงวันที่ ๒๓ มิถุนายน ๒๕๔๖ ทำให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ปฏิบัติราชการชดใช้ไม่ครบระยะเวลาตามที่กำหนดไว้ในสัญญาของผู้ได้รับอนุมัติให้ลาไปศึกษาหรือฝึกอบรมภายในประเทศโดยได้รับเงินเดือนเต็มระหว่างลา ฉบับลงวันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๓๘ และฉบับลงวันที่ ๑๘ มีนาคม ๒๕๔๐ กับสัญญาของข้าราชการที่ไปศึกษาหรือฝึกอบรม ณ ต่างประเทศ ฉบับลงวันที่ ๕ มกราคม ๒๕๔๑ ที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้ทำไว้กับผู้ฟ้องคดี ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จึงตกเป็นผู้ผิดสัญญา ทำให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ซึ่งเป็นผู้ให้สัญญา และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ถึงผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๕ ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันต้องร่วมกันหรือแทนกันรับผิดชดใช้เงินทุน เงินเดือน พร้อมเบี้ยปรับอีกสองเท่าโดยลดลงตามส่วนของเวลาที่ได้ปฏิบัติราชการชดใช้ไปบ้างแล้วให้แก่ผู้ฟ้องคดี กล่าวคือ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ถึงผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ต้องร่วมกันรับผิดชดใช้เงินจำนวน ๗๑๗,๒๒๓.๔๗ บาท รวมกับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี นับแต่วันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๔๗ ถึงวันฟ้องคดีจำนวน ๑,๔๖๙.๗๒ บาท เป็นเงินทั้งสิ้น ๗๑๘,๖๙๓.๑๙ บาท และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ กับผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๕ ต้องร่วมกันหรือแทนกัน รับผิดชดใช้เงินจำนวน ๑,๑๙๗,๗๐๙.๓๕ บาท กับอีก ๑๖๕,๐๙๔.๒๓ ดอลลาร์สหรัฐ
                                       ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งดังนี้
                                       ๑. ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ถึงผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ร่วมกันหรือแทนกันชดใช้เงินจำนวน ๗๑๘,๖๙๓.๑๔ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี จากต้นเงินจำนวน ๗๑๗,๒๒๓.๔๗ บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้นให้แก่ผู้ฟ้องคดี
                                       ๒. ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๕ ร่วมกันหรือแทนกันชดใช้เงินจำนวน ๑,๑๙๗,๗๐๙.๓๕ บาท กับอีก ๑๖๕,๐๙๔.๒๓ ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี จากต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้นให้แก่ผู้ฟ้องคดี
                                       ๓. ให้คืนค่าธรรมเนียมศาลทั้งหมดให้แก่ผู้ฟ้องคดี
       ศาลปกครองสูงสุดได้ตรวจพิจารณาเอกสารทั้งหมดในสำนวนคดี กฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ ฯลฯ ที่เกี่ยวข้องประกอบแล้วพิเคราะห์ว่า ที่ศาลปกครองชั้นต้นพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินจำนวน ๗๑๘,๖๙๓.๑๔ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี ของต้นเงินจำนวน ๑๗,๒๒๓.๔๗ บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องคดีเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่ผู้ฟ้องคดี และให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๕ ร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินจำนวน ๑,๑๙๗,๗๐๙.๓๕ บาท กับอีก ๑๖๕,๐๙๔.๒๓ ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี ของต้นเงิน จำนวนดังกล่าวนับแต่วันฟ้องคดีเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่ผู้ฟ้องคดี ทั้งนี้ หากผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๕ ประสงค์จะชดใช้เงินดังกล่าวเป็นเงินไทยทั้งหมด ก็ให้คิดเป็นเงินบาทตามอัตราแลกเปลี่ยนของธนาคารพาณิชย์ในกรุงเทพมหานครในวันที่ชำระเงินให้แก่ผู้ฟ้องคดี ถ้าอัตราแลกเปลี่ยนในวันดังกล่าวไม่มีก็ให้ถือเอาวันสุดท้ายที่มีอัตราแลกเปลี่ยนเช่นว่าก่อนวันที่ที่ชำระเงิน กับให้คืนค่าธรรมเนียมศาลทั้งหมดให้แก่ผู้ฟ้องคดี  ทั้งนี้ ภายใน ๓๐ วัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุดนั้น ศาลปกครองสูงสุดเห็นพ้องด้วย
       (ด้วยความเคารพ กรณีนี้หากผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี พิจารณาโดยละเอียด
       หรือมอบหมายให้ต้นสังกัดตรวจสอบก่อนที่จะอนุมัติคำสั่งลาออกของจังหวัดอุบลราชธานี ที่ ๑๓๘๖/๒๕๔๖ ลงวันที่ ๒๓ มิถุนายน ๒๕๔๖ ว่า ผู้ที่จะลาออกมีพันธะผูกพันกับหน่วยงานราชการหรือหน่วยงานใด ๆ ที่เกี่ยวข้องหรือไม่ อย่างไร และหากมี ก็ให้ดำเนินการแก้ไขให้แล้วเสร็จเสียก่อนจึงจะอนุมัติ ปัญหาการฟ้องร้องคดีปกครองดังกล่าวก็คงไม่เกิดขึ้น - ผู้เขียนบทความ)
        
                                       จากกรณีตัวอย่างปัญหาเกี่ยวกับข้อกฎหมายที่พบในการปฏิบัติงานขององค์การบริหารส่วนตำบล / หน่วยงานทางปกครองพบว่า ส่วนใหญ่แล้วคดีที่เกิดขึ้นนั้นมักเป็นกรณีที่องค์การบริหารส่วนตำบล / หน่วยงานทางปกครอง ละเลย ละเว้น กระทำการใด ๆ อันเป็นการละเมิด หรือกระทำการโดยมิชอบ หรือกรณีที่องค์การบริหารส่วนตำบล / หน่วยงานทางปกครอง มีข้อร้องเรียนต่อศาลปกครองเองหรือได้รับข้อร้องเรียนจากผู้อื่นที่ยื่นต่อศาลปกครอง เกี่ยวกับสัญญาในลักษณะต่าง ๆ ซึ่งผู้เขียนบทความได้หยิบยกมาประกอบในบทความเพื่อให้เห็นภาพเป็นบางส่วนเท่านั้น เพราะยังมีคดีความที่เกิดกับองค์การบริหารส่วนตำบล / หน่วยงานทางปกครองอีกมากมายที่ผู้เขียนบทความไม่ได้กล่าวถึงไว้ในที่นี้ สำหรับกรณีข้อพิพาททางปกครองที่ผู้เขียนบทความนำมายกเป็นตัวอย่างนั้น ปัจจุบันอาจยังไม่เป็นปัญหากับองค์การบริหารส่วนตำบล / หน่วยงานทางปกครอง เช่น กรณีที่นักเรียนทุน (นักเรียนพยาบาลหรือบุคลากรสาธารณสุขอื่น ๆ ที่ได้รับทุนการศึกษาจากองค์การบริหารส่วนตำบล / หน่วยงานทางปกครอง) ผิดสัญญาการชดใช้ทุน แต่ในอนาคต เมื่อองค์การบริหารส่วนตำบล / หน่วยงานทางปกครอง มีความเข้มแข็งมากขึ้น เติบโตขึ้น ทั้งในด้านกรอบอัตรากำลัง การบริหารงานบุคคล การบริหารงบประมาณ กรอบความคิดใหม่ ๆ ที่เห็นถึงความสำคัญของการจัดระบบบริการสาธารณะในด้านสุขภาพและได้มีการอุดหนุนทุนการศึกษาแก่นักเรียนทุน เช่น นักเรียนแพทย์ นักเรียนพยาบาล เป็นต้น หากนักเรียนทุนต่าง ๆ เหล่านั้นเกิดบิดพริ้ว ไม่ปฏิบัติตามสัญญาที่ทำไว้ (จากการศึกษาของผู้เขียนบทความพบว่า ปัจจุบัน มีองค์การบริหารส่วนตำบลหลายแห่ง ได้ดำเนินการเตรียมความพร้อมในการดำเนินงานร่วมกับพยาบาลไว้บ้างแล้ว ดังเช่นที่องค์การบริหารส่วนตำบลน้ำพองได้ดำเนินการ คือ ส่งนักเรียนที่สำเร็จการศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖ ในพื้นที่ เข้ารับการศึกษาที่คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น หรือที่วิทยาลัยพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขอีกหลาย ๆ แห่งในประเทศไทย ซึ่งรับนักเรียนที่สำเร็จการศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖ ที่ถูกส่งมาจากองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งต่าง ๆ ภายในจังหวัด เพื่อมารับการศึกษาในหลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต และเมื่อผู้เข้ารับการศึกษาเหล่านี้สำเร็จการศึกษาไปแล้ว ก็เป็นที่คาดหมายว่า องค์การบริหารส่วนตำบลแห่งนั้น ๆ จะรับพยาบาลวิชาชีพเหล่านี้ ไปร่วมปฏิบัติงาน เพื่อดูแลสุขภาพและให้บริการด้านสุขภาพ แก่ประชาชนในชุมชนต่อไป) องค์การบริหารส่วนตำบล / หน่วยงานทางปกครองจะได้มีแนวทางในการปฏิบัติเพื่อเขียนสัญญาป้องกันการเกิดปัญหาดังกล่าวไว้ หรือหากเกิดปัญหาในกรณีที่ผู้เขียนบทความยกตัวอย่างไว้ องค์การบริหารส่วนตำบล / หน่วยงานทางปกครอง จะได้มีแนวทางในการปฏิบัติเพื่อใช้ประกอบในการต่อสู้คดีที่เกิดขึ้นได้
        
        
       ๕. บทสรุป
        
       จากข้อเขียนข้างต้นที่กล่าวถึง ๑) ความเป็นมาขององค์การบริหารส่วนตำบล ๒) กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับองค์การบริหารส่วนตำบล ๓) ภารกิจในการจัดการด้านสุขภาพขององค์การบริหารส่วนตำบล และ ๔) กรณีตัวอย่างเกี่ยวกับข้อกฎหมายที่เกิดจากการดำเนินงานขององค์การบริหารส่วนตำบล / หน่วยงานทางปกครอง สรุปได้ว่า องค์การบริหารส่วนตำบลซึ่งเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นหน่วยงานที่จะต้องดำเนินการในกิจกรรมเกี่ยวกับสุขภาพในด้านต่าง ๆ ภายในชุมชนหรือท้องถิ่นของตนเอง เช่น การกำหนดทิศทางและนโยบายการพัฒนางานสาธารณสุขของตำบล การจัดการงบประมาณ ดูแลการทำงานของศูนย์สาธารณสุขมูลฐานชุมชน เป็นต้น อันเป็นผลเนื่องมาจาก ) รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับพุทธศักราช ๒๕๔๐ และฉบับพุทธศักราช ๒๕๕๐ และ ) พระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจ พุทธศักราช ๒๕๔๒ และพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจ (ฉบับที่ ๒) พุทธศักราช ๒๕๔๙ ที่กำหนดให้องค์การบริหารส่วนตำบล จะต้องดำเนินกิจกรรมทางด้านสุขภาพตามภารกิจที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจ ซึ่งจากงานวิจัยที่เกี่ยวข้องพบว่า องค์การบริหารส่วนตำบลบางแห่ง ได้รับรู้และตระหนักถึงบทบาทหน้าที่ของตนเองแล้ว หากแต่ยังไม่สามารถที่จะดำเนินการในเรื่องกิจกรรมทางด้านสุขภาพได้เอง จึงเป็นการให้ความช่วยเหลือหรือสนับสนุนกิจกรรมทางด้านสุขภาพในส่วนของงบประมาณ ดังจะเห็นได้จากการที่องค์การบริหารส่วนตำบลน้ำพอง ได้มีแผนรายจ่ายเกี่ยวกับโครงการทางด้านสุขภาพไว้อย่างชัดเจน (ข้อบังคับงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พุทธศักราช ๒๕๔๔, ๒๕๔๕ และ ๒๕๔๖)  โดยโครงการสุขภาพที่องค์การบริหารส่วนตำบลน้ำพองให้การสนับสนุนนั้น จะเป็นในเรื่องของ ๑) กิจกรรมการเฝ้าระวัง เช่น การตรวจมะเร็งปากมดลูกและเต้านมในสตรีวัยเจริญพันธุ์ ๒) การกระตุ้นพัฒนาการ เช่น การจัดตั้งศูนย์ดูแลเด็กวัยก่อนเรียน การจัดหาอาหารกลางวันและอาหารเสริมให้แก่เด็กวัยก่อนเรียน เป็นต้น ๓) การป้องกันโรค เช่น การให้วัคซีน หรือการซื้อทรายอะเบทเพื่อหยอดกำจัดลูกน้ำยุงลาย ๔) กิจกรรมการรักษาพยาบาลผู้ป่วย เป็นต้น และในปัจจุบัน องค์การบริหารส่วนตำบลอีกหลาย ๆ แห่ง ก็ได้เริ่มเข้ามามีบทบาทในด้านการจัดการเกี่ยวกับสุขภาพของประชาชนในชุมชนของตนเองมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ที่องค์การบริหารส่วนตำบลลาดพัฒนา อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม โดยองค์การบริหารส่วนตำบลลาดพัฒนา ได้เป็นผู้ร่วมกำหนดนโยบายและการใช้จ่ายงบประมาณทางด้านสุขภาพร่วมกับเจ้าหน้าที่ของสถานีอนามัยลาดพัฒนา เช่น ในเรื่องของการจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ที่จะต้องใช้สอยภายในสถานีอนามัย การกำหนดกิจกรรมที่จะช่วยส่งเสริมสุขภาพให้ประชาชนในชุมชน หรือองค์การบริหารส่วนตำบลงัวบา อำเภอวาปีปทุม จังหวัดมหาสารคาม เป็นต้น แต่เมื่อมองในภาพรวมจะพบว่า องค์การบริหารส่วนตำบลยังเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการด้านสุขภาพไม่มากนัก ทั้งในด้านการสนับสนุนงบประมาณด้านสุขภาพ ด้านการมีส่วนร่วมในการดำเนินกิจกรรมทางด้านสุขภาพ รวมทั้งยังมีความรู้  ความเข้าใจในอำนาจ หน้าที่ ที่จะดำเนินการทางด้านสุขภาพน้อย เพราะส่วนใหญ่แล้วจะมุ่งเน้นไปทางด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของชุมชนมากกว่า เช่น การสร้างถนน หรือการจัดหาสาธารณูปโภคต่าง ๆ ให้แก่ชุมชน ทั้งนี้โดยส่วนใหญ่แล้ว องค์การบริหารส่วนตำบลอาจมีวิสัยทัศน์ว่า ควรพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในชุมชนให้ดีเสียก่อน แล้วจึงจะให้ความสนใจหรือใส่ใจในเรื่องของสุขภาพเป็นลำดับต่อมา ทว่า ในความเป็นจริงแล้ว ทั้ง ๒ เรื่องคือ เรื่องสุขภาพอนามัยและเศรษฐกิจนั้น เป็นเรื่องที่สามารถจะก้าวไปหรือพัฒนาไปพร้อม ๆ กันได้ ดังนั้น บุคลากรด้านสุขภาพทุกฝ่าย จึงควรที่จะทำความเข้าใจถึงทัศนะของผู้ที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพของประชาชนในชุมชน โดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในฐานะที่ต้องเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงในการจัดบริการสาธารณะด้านสุขภาพให้แก่ชุมชน เพื่อก่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกันและสามารถดำเนินการร่วมกันได้อย่างราบรื่น อันจะส่งผลให้ประชาชนในชุมชนเกิดภาวะสุขภาพที่ดีต่อไป
                       
        
        
        
       บรรณานุกรม
        
       กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย.  (๒๕๓๘ก).  กฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับสภาตำบล
              และองค์การบริหารส่วนตำบล.  กรุงเทพฯ: ส่วนท้องถิ่น.
       ________.  (๒๕๓๘ข).  ข้อมูลสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล ประจำปี ๒๕๓๘
       กรุงเทพฯ: อาสารักษาดินแดน.
       ________.  (๒๕๔๓ก).  ข้อมูลสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล ประจำปี ๒๕๔๓
       กรุงเทพฯ: อาสารักษาดินแดน.
       เกรียงศักดิ์ อัตถประเสริฐกุล.  (๒๕๓๙).  องค์การบริหารส่วนตำบลกับการบริหารจัดการงาน
       สาธารณสุขมูลฐาน ความเชื่อมั่นและคาดหวังของชุมชน.  สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด
       หนองคาย.  ม.ป.ท.
       จรัส สุวรรณมาลา.  (๒๕๓๙).  สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล ศักยภาพและทางเลือก
       สู่อนาคต.  คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.  กรุงเทพฯ: ม.ป.ท.
       ชาติ ไทยเจริญ.  (๒๕๔๗). การศึกษาความคิดเห็นของบุคลากรในองค์การบริหารส่วนตำบล เขต
       จังหวัดกาฬสินธุ์ ต่อภารกิจด้านการดูแลสุขภาพของประชาชนในท้องถิ่น.  วิทยานิพนธ์
       ปริญญาพยาบาลศาสตรมหาบัณฑิต บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น.
       ชูชัย ศุภวงศ์ และคณะ.  (๒๕๕๒).  คู่มือการให้บริการของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล.
       พิมพ์ครั้งที่ ๑.  สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข.
       ตระกูล มีชัย.  (๒๕๓๗).  สภาตำบล เอกสารวิจัย สถาบันนโยบายศึกษา.  พิมพ์ครั้งที่ ๑.  กรุงเทพฯ:
       สุขุมและบุตร.
       นคร พจนวรพงษ์ & สมบัติ พรหมเมศร์.  (๒๕๓๗).  พระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหาร
              ส่วนตำบล.  กรุงเทพฯ: ฟิสิกส์เซ็นเตอร์.
       พระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจ ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
              พุทธศักราช ๒๕๔๒.  ค้นเมื่อวันที่ ๔ เมษายน ๒๕๕๕, จาก http://kormor.obec.go.th/act/act
       ๐๔๕.pdf
       พระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจ ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
       (ฉบับที่ ๒) พุทธศักราช ๒๕๔๙, ค้นเมื่อวันที่ ๔ เมษายน ๒๕๕๕, จาก
       http://kormor.obec.go.th/act/act๕๒๒.pdf
       รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐, ค้นเมื่อวันที่ ๔ เมษายน ๒๕๕๕, จาก
       http://kormor.obec.go.th/ratatum/rat๐๑.pdf
       รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐,ค้นเมื่อวันที่ ๔ เมษายน ๒๕๕๕, จาก
       http://www.ombudsman.go.th/๑๐/documents/law/Constitution๒๕๕๐.pdf
       วิสัยทัศน์ พันธกิจ และค่านิยมของกระทรวงสาธารณสุข.  ค้นเมื่อวันที่ ๔ เมษายน ๒๕๕๕, จาก
       http://www.moph.go.th/moph๒/index๔.php?page=include_page๒&id=๔๕.
       สถาบันราชภัฎนครศรีธรรมราช.  (๒๕๔๓).  การบริหารราชการแผ่นดินของไทย.  ค้นเมื่อวันที่
       ค้นเมื่อวันที่ ๔ เมษายน ๒๕๕๕, จาก http://arc.rint.ac.th/localorg/morgan.html.
       ________.  (๒๕๔๓).  องค์การบริหารส่วนตำบล.  ค้นเมื่อวันที่ ๔ เมษายน ๒๕๕๕, จาก
       http://arc.rint.ac.th/localorg/mobt.html.
       สุดเขตต์ เข็มไท.  (๒๕๔๐).  อำนาจหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ในการดำเนินงาน
       ภายใต้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการสาธารณสุข.  วิทยานิพนธ์ปริญญาวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต
       สาขาสาธารณสุขศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล.
       สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง.  (๒๕๔๖).  พระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหาร
       ส่วนตำบล (ฉบับที่ ๕).  ค้นเมื่อวันที่ ๔ เมษายน ๒๕๕๕, จาก http://www.ect.go.th/thai/
       local/doc/prbsapatumbon.doc
       องค์การบริหารส่วนตำบลน้ำพอง.  (๒๕๔๔).  ข้อบังคับงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ
       ๒๕๔๔.   (เอกสารอัดสำเนา).
       ______.  (๒๕๔๕).  ข้อบังคับงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ ๒๕๔๕.  (เอกสาร
       อัดสำเนา).
       ______.  (๒๕๔๖).  ข้อบังคับงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ ๒๕๔๖. (เอกสาร
       อัดสำเนา).
        


พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=1714
เวลา 22 พฤศจิกายน 2567 20:31 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)