ครั้งที่ 6

13 ธันวาคม 2547 15:25 น.

       "เพิ่มสาระสำคัญของ www.pub-law.net"
       

       เมื่อเช้าวันพุธที่ผ่านมา (9 พ.ค. 44) ขณะที่ผมกำลังเตรียมตัวจะเดินทางไปเป็น
       ผู้อภิปรายและผู้วิจารณ์งานวิจัยชิ้นหนึ่งของ TDRI ลูกศิษย์ที่เป็นทีมงานของ pub-law.net ก็ได้ทวงถามบทความเรื่อง “กระบวนการทางตุลาการในการควบคุมการกระทำของประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส” ตอนที่ 2 ที่จะต้องเผยแพร่ใน pub-law.net ใน
       วันจันทร์ที่ 14 พ.ค.44 นี้
       ผมมีความรู้สึกว่าช่วงเวลา 1 ถึง 2 เดือนที่ผ่านมานี้เป็นช่วงเวลาที่มีระยะสั้นผิดปกติ อาจเป็นเพราะเรามีวันหยุดมากเกินไป หรือผมมีงานมากเกินไปก็ไม่ทราบแน่ชัด แต่อย่างไรก็ตามผมได้พยายามที่จะรักษา “กฎ” ของตนเองไว้ว่าจะต้องปรับเปลี่ยน pub-law.net ทุกสองอาทิตย์ ดังนั้น ในงวดนี้บทความเรื่อง “กระบวนการทางตุลาการในการควบคุมการกระทำของประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส” ตอนที่ 2 ซึ่งเป็นตอนจบ จึงปรากฏต่อสายตาผู้อ่านตามที่ได้ “สัญญา” ไว้ในคราวที่แล้ว
       สำหรับแผนงานต่อไปของ pub-law.net นั้น ดังที่ได้เรียนให้ทราบไปแล้วเมื่อคราวก่อนว่า ผมจะนำรายชื่อหนังสือกฎหมายมหาชนภาษาฝรั่งเศสของคณะนิติศาสตร์
       จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มารวมไว้ในบรรณานุกรมหนังสือของ pub-law.net ภายในเดือนพฤษภาคมนี้
       นอกจากนี้ ผมยังมีความตั้งใจที่จะ “สัมภาษณ์” นักกฎหมายมหาชนต่างๆเพื่อให้ทราบแนวคิดและการทำงานของบุคคลเหล่านั้นต่อไป รวมทั้ง “สัมภาษณ์” หัวหน้าหน่วยงานทางด้านกฎหมายมหาชนที่สำคัญๆด้วย ทั้งนี้ เนื่องจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ.2540) ได้กำหนดให้มี “องค์กรตามรัฐธรรมนูญ” ขึ้นมาจำนวนหนึ่งโดยให้องค์กรเหล่านี้มีหน่วยธุรการเป็นของตนเอง เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า ในช่วงตั้งองค์กรใหม่เหล่านั้นขึ้นมา จึงมี “คน” จากที่เก่าถ่ายเทไปอยู่ในองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่ตั้งขึ้นมาใหม่เป็นจำนวนมาก ด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้บทบาทของหน่วยธุรการขององค์กรตามรัฐธรรมนูญเป็นที่น่าสนใจยิ่งสำหรับ
       นักกฎหมายมหาชน ทั้งนี้เนื่องจากในอดีตนั้น หน่วยธุรการขององค์กรต่างๆจะทำหน้าที่เป็น “หน่วยธุรการ” ของหน่วยงานของตนจริงๆ แต่ในปัจจุบันหน้าที่ของหน่วยธุรการเหล่านี้เปลี่ยนไปค่อนข้างมากโดยเน้นบทบาทเป็น “หน่วยธุรการทางด้านวิชาการ” ที่คอยสนับสนุนข้อมูลต่างๆให้แก่ “ผู้บริหาร” ของหน่วยงานนั้นๆ จึงเป็นที่น่าสนใจอย่างยิ่งที่จะ “ติดตาม”
       บทบาทหน่วยธุรการขององค์กรตามรัฐธรรมนูญทั้งหลายว่าจะมีความสำคัญต่อแวดวงวิชาการอย่างไร ด้วยเหตุดังกล่าว ผมจึงคิดว่าสมควรที่จะทำการ “สัมภาษณ์” หัวหน้าหน่วยงานต่างๆ
       
       เหล่านี้เพื่อให้ทราบถึงแนวคิดและปรัชญาในการทำงานของหน่วยงาน รวมทั้งความสำคัญที่มีต่อสังคมและวงการวิชาการด้านกฎหมายมหาชนด้วย โดยหน่วยงานแรกที่ผมจะไปสัมภาษณ์ได้แก่ สำนักงานศาลปกครองที่ผมเห็นว่าแม้จะเป็นหน่วยงานที่เกิดขึ้น “ทีหลัง” แต่ก็มีความเป็น
       หน่วยงานทางวิชาการมากกว่าหน่วยงานที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้หลายหน่วยงาน
       พบกันใหม่ในวันที่ 28 พฤษภาคม 2544
       
       รองศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์
       คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=17
เวลา 25 พฤศจิกายน 2567 10:00 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)