บทสรุปรายงานวิจัยเรื่อง แนวทางปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการยุบพรรคการเมือง (ตอนจบ)

26 กุมภาพันธ์ 2555 20:58 น.

       2. สภาพปัญหาของการยุบพรรคการเมืองไทย
                   นับแต่การประกาศใช้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541 ต่อเนื่องถึงพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2550 จวบจนปัจจุบัน มีพรรคการเมืองที่ถูกยุบหรือถูกประกาศให้สิ้นสภาพไปแล้วจำนวนรวมทั้งสิ้น 123 พรรค[1] นำมาซึ่งข้อวิจารณ์และปัญหาหลายประการ ซึ่งในงานวิจัยนี้ ได้จำแนกปัญหาออกได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ ๆ อันได้แก่
        
              2.1 ปัญหาในระบบพรรคการเมืองและระบบการเมืองไทย
              การยุบพรรคการเมืองนำมาซึ่งปัญหาในระบบพรรคการเมืองและการเมืองไทย 5 ประการ กล่าวคือ
                         ประการแรก เป็นการลดทอนความหลากหลายทางการเมือง (Political Pluralism) ในสังคมไทย ซึ่งสวนทางกับหลักการอันเป็นที่ยอมรับระดับสากลในรัฐประชาธิปไตยทั้งหลายที่มุ่งรักษาความหลากหลายในสังคม
                         ประการที่สอง เป็นการลดโอกาสในการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน เพราะรัฐธรรมนูญไทยมีเงื่อนไขบังคับให้ผู้สมัคร ส.ส. ต้องสังกัดพรรคการเมือง การยุบพรรคการเมืองจึงเท่ากับเป็นการปิดโอกาสที่ประชาชนจะมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยตรงในฐานะผู้สมัคร ส.ส. ของพรรคการเมืองที่มีอุดมการณ์และเจตนารมณ์ทางการเมืองตรงกันกับประชาชนผู้นั้น
                     ประการที่สาม เป็นการทำลายตัวกลางเชื่อมโยงระหว่างรัฐกับประชาชน (Political Linkage) อันเป็นหน้าที่สำคัญของพรรคการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกรณีการยุบพรรคการเมืองที่มีสมาชิกพรรคเป็น ส.ส.ซึ่งกำลังทำหน้าที่ตัวกลางเชื่อมระหว่างรัฐกับประชาชนในระบบการเมืองอย่างเป็นทางการ
                     ประการต่อมา เป็นการทำลายโอกาสที่พรรคการเมืองไทยจะพัฒนาไปสู่การเป็นสถาบันในระบบการเมือง กล่าวคือ ในประเทศประชาธิปไตยที่ระบบพรรคการเมืองเข็มแข็ง พรรคการเมืองจะเป็นสถาบันในระบบการเมืองที่แยกออกจากตัวบุคคลผู้เป็นแกนนำของพรรคการเมืองทั้งในทางกฎหมายและในทางปฏิบัติ ซึ่งต่างจากกรณีของไทยในหลายพรรคการเมือง แต่ทั้งนี้ พรรคการเมืองต่าง ๆ ไม่ว่าจะมีจุดกำเนิดอย่างไร และไม่ว่าสภาพข้อเท็จจริง ณ ปัจจุบันเกี่ยวกับการบริหารงานของพรรคการเมืองนั้น ๆ จะเป็นเช่นไร ก็ล้วนแล้วแต่มีโอกาสที่จะพัฒนาไปสู่สภาวะการเป็น “สถาบัน” ได้ ซึ่งกฎหมายพรรคการเมืองปัจจุบันก็กำหนดมาตรการหลายอย่างที่จะส่งเสริมให้พรรคการเมืองพัฒนาไปสู่จุดนั้นได้ ภายใต้สภาพการณ์ที่ว่า พรรคการเมืองต้องสามารถดำรงอยู่ได้อย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลาที่ยาวนานพอสมควรที่จะให้เกิดการพัฒนาตนเอง ดังนั้น การยุบพรรคการเมือง โดยเฉพาะพรรคที่ได้รับการยอมรับจากประชาชนให้มีผู้แทนในสภา เพียงเพราะเหตุกระทำผิดกฎหมายหรือไม่ทำหน้าที่บางอย่าง  เท่ากับเป็นการทำลายโอกาสที่พรรคการเมืองไทยจะพัฒนาไปสู่การเป็นสถาบัน ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อระบบการเมืองไทยในระยะยาว
                         ประการสุดท้าย เป็นชนวนบ่มเพาะปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองในสังคมไทยในระยะที่ผ่านมาให้ลุกลามบานปลายยิ่งขึ้น เนื่องจาก ผู้มีอำนาจทางการเมืองไทยทุกฝ่ายต่างพยายามใช้กลไกการยุบพรรคการเมืองเป็นเครื่องมือกำจัดศัตรูคู่แข่งขันทางการเมือง โดยอาศัยช่องทางที่กฎหมายไทยกำหนดเหตุแห่งการยุบพรรคการเมืองไว้อย่างกว้างขวางมาก และปราศจากกลไกทางวิธีพิจารณาที่ประกันมิให้มีการยุบพรรคการเมืองได้โดยง่าย การยุบพรรคการเมืองของไทยจึงกลายเป็นเครื่องมือสลายการรวมกลุ่มของนักการเมืองในพรรคการเมืองขนาดใหญ่ เป็นกลไกเปลี่ยนแปลงการจับขั้วทางการเมืองเพื่อจัดตั้งรัฐบาล และถูกใช้เป็นอาวุธเพื่อการตอบโต้ทางการเมือง
                         การใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือกำจัดศัตรูทางการเมืองนี่เองเป็นหนึ่งในหลายสาเหตุที่ทำให้ปัญหาความขัดแย้งแบ่งเป็นฝักฝ่าย สีเหลือง - แดง ในสังคมไทย ยิ่งลุกลามบานปลายมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความผิดปกติหลายอย่างเกี่ยวกับการดำเนินคดียุบพรรคการเมืองที่ผ่านมา บางกรณีก็ดำเนินการอย่างรวดเร็ว และไม่เคร่งครัดในเรื่องข้อบกพร่องทางวิธีพิจารณามากนัก แต่บางกรณีกลับเป็นตรงกันข้าม ทั้งนี้ แม้ว่าการดำเนินการต่าง ๆ จะกระทำโดยสุจริตและถูกต้องตามกฎหมาย แต่ก็ทำให้สาธาณชนโดยเฉพาะที่อยู่ในขั้วตรงกันข้ามกับพรรคการเมืองที่ถูกดำเนินคดีเกิดความเคลือบแคลงสงสัยในความสุจริตและเที่ยงธรรมของนายทะเบียน กกต. และศาลรัฐธรรมนูญ
        
              2.2 ปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญและการละเมิดพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนที่ไทยเป็นภาคี
        
                   เหตุยุบและสิ้นสภาพพรรคการเมือง กระบวนการ และผลของการยุบพรรคการเมืองตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญและกฎหมายพรรคการเมืองไทยนั้น มีปัญหาในเชิงหลักการ ทั้งจากมุมมองในมิติรัฐศาสตร์ที่เกี่ยวกับระบบพรรคการเมืองและระบบการเมืองไทย และจากมุมมองในมิตินิติศาสตร์ทั้งในประเด็นปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญและความสอดคล้องกับหลักกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ และจากมุมมองในมิติความเหมาะสมของนิตินโยบาย (Legal Policy) ดังนี้
        
                     2.2.1 ปัญหาในเชิงหลักการ ได้แก่
                               (1) เหตุแห่งการสิ้นสภาพพรรคการเมือง ได้แก่ (ก) เหตุที่ไม่สามารถดำเนินการจัดหาสมาชิกได้ไม่น้อยกว่า 5,000 คน กระจายไปในทุกภาค และจัดตั้งสาขาพรรคในทุกภาค 4 ภาค 4 สาขา ภายในเวลาหนึ่งปีนับแต่วันที่นายทะเบียนรับจดแจ้งการจัดตั้งพรรคการเมือง (ข) เหตุที่มีจำนวนสมาชิกเหลือไม่ถึงห้าพันคน เป็นระยะเวลาติดต่อกันหนึ่งปี และ (ค) ไม่มีการเรียกประชุมใหญ่พรรคการเมือง หรือไม่มีการดำเนินกิจกรรมใดทางการเมืองเป็นระยะเวลาติดต่อกันหนึ่งปี โดยมิได้มีเหตุอันสมควรอันจะอ้างได้ตามกฎหมาย
        
                               (2) เหตุแห่งการยุบพรรคการเมือง ได้แก่ (ก) เหตุที่ไม่ยื่นรายงานการดำเนินกิจการของพรรคการเมืองภายในกำหนดเวลาโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร และ (ข) การไม่ยื่นรายงานการใช้จ่ายเงินสนับสนุนของพรรคการเมือง หรือยื่นรายงานที่ไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง หรือใช้จ่ายเงินที่ได้รับสนับสนุนจากกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมืองโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมาย และ (ค) กระทำการฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมาย ทั้งในเรื่องการรับคนต่างด้าวเข้าเป็นสมาชิกหรือปล่อยให้ยุ่งเกี่ยวกับกิจการของพรรค การที่พรรคการเมืองเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเลือกตั้งและการได้มาซึ่ง ส.ว. การที่พรรคการเมืองรับบริจาคโดยรู้ว่าได้มาโดยมิชอบด้วยกฎหมาย และการรับบริจาคจากต่างด้าว รวมทั้งการที่พรรคการเมืองใส่ความว่าบุคคลหรือพรรคการเมืองอื่นกระทำผิดกฎหมายพรรคการเมืองโดยปราศจากมูลความจริง ตลอดจนข้อห้ามอื่น ๆ ตามกฎหมายเลือกตั้ง
                             ส่วนเหตุยุบพรรคการเมืองเพราะสมาชิกหรือกรรมการบริหารพรรคการเมืองกระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา หรือระเบียบหรือประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งมีผลทำให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมนั้น แม้เป็นกรณีที่บัญญัติไว้โดยตรงในรัฐธรรมนูญ มาตรา 237 วรรคสองก็ตาม แต่ผู้วิจัยก็เห็นว่า เป็นหลักการที่ไม่สอดคล้องกับหลักนิติธรรมหรือหลักนิติรัฐ และหลักกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ จึงจัดไว้ในกลุ่มที่มีปัญหาในเชิงหลักการนี้ด้วย
        
                         (3) ผลของการยุบพรรคการเมือง ได้แก่ กรณีการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ทั้งตามมาตรา 237 วรรคสองของรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้กรรมการบริหารพรรคทั้งคณะต้องถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งไปพร้อมกับการยุบพรรค หรือกรณีตามมาตรา 98 ของกฎหมายพรรคการเมืองที่กรรมการบริหารพรรคการเมืองอาจถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง
                     2.2.2 ปัญหาจากการใช้และการตีความบทบัญญัติรัฐธรรมนูญและกฎหมาย
        
                         เหตุแห่งการยุบพรรคการเมืองตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ซึ่งได้รับการขยายความโดยมาตรา 94 (1) (3) และ (4) นั้น เป็นเหตุแห่งการยุบพรรคการเมืองที่สอดคล้องกับหลักการยุบพรรคการเมืองที่ได้รับการยอมรับในประเทศประชาธิปไตยดั้งเดิมทั้งหลายและสอดคล้องกับหลักกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ อย่างไรก็ดี ด้วยความที่ถ้อยคำที่บัญญัติเป็นกฎหมายมีลักษณะกว้างขวาง ไม่เฉพาะเจาะจง จึงเคยเกิดกรณีที่มีการตีความแบบขยายความ ส่งผลให้หลายฝ่าย โดยเฉพาะนักวิชาการ เห็นว่า เป็นการตีความที่ไม่สอดคล้องกับหลักนิติรัฐ หลักการตีความรัฐธรรมนูญและขัดกับหลักตรรกะ รวมทั้งยังมีผลเป็นการลิดรอนสิทธิมนุษยชนตามพันธกรณีที่ประเทศไทยเป็นภาคี นอกจากนี้ การประเมินสภาพข้อเท็จจริงเกี่ยวกับ “ความร้ายแรง” ของพฤติการณ์หรือการกระทำของพรรคการเมือง กรรมการบริหาร หรือสมาชิกพรรคอันเป็นเหตุให้สั่งยุบพรรคต่าง ๆ ในคดีที่ผ่าน ๆ มา ก็ยังต้องด้วยข้อสงสัยว่า เป็นไปตามมาตรฐานในศาลของประเทศประชาธิปไตยดั้งเดิมและศาลสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศหรือไม่
                         ยิ่งไปกว่านั้น การดำเนินการต่าง ๆ เกี่ยวกับการยุบพรรคการเมือง นับตั้งแต่ขั้นตอนของนายทะเบียน กกต. และศาลรัฐธรรมนูญ ที่ผ่านมา ก็มีข้อเท็จจริงที่บ่งชี้ว่า มิได้เคารพต่อสิทธิที่จะนำคดีไปสู่ศาล และสิทธิที่ได้รับการพิจารณาอย่างเป็นธรรมของบรรดาผู้ได้รับผลกระทบจากการยุบพรรคการเมือง เช่นเดียวกันกับผลทางกฎหมายของการยุบพรรคการเมืองในบางประการก็ไม่น่าจะเป็นการตีความและปรับใช้กฎหมายอย่างถูกต้องเหมาะสม
        
              2.3 ปัญหาเกี่ยวกับมาตรการทางกฎหมายในการควบคุมและยุบพรรคการเมือง
        
                     2.3.1 การขาดมาตรการที่เหมาะสมในการควบคุมพรรคการเมือง หรือการไม่นำมาตรการที่มีอยู่แล้วมาใช้บังคับ
        
                     รัฐธรรมนูญและกฎหมายพรรคการเมืองฉบับปัจจุบันได้กำหนดมาตรการอื่น ๆ นอกเหนือจากการยุบพรรคการเมือง ซึ่งรัฐอาจนำมาใช้เพื่อควบคุมการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองและกิจการภายในของพรรคการเมือง รวมทั้งพฤติกรรมของหัวหน้า กรรมการบริหาร และสมาชิกพรรคการเมืองให้ถูกต้องตามกฎหมาย สอดคล้องกับหลักประชาธิปไตย และเป็นไปตามรัฐธรรมนูญไว้หลายประการ อาทิ การสั่งให้มติหรือข้อบังคับพรรคการเมืองเป็นอันยกเลิกไป การสั่งการให้พรรคการเมืองหรือบุคคลใด ๆ เลิกการกระทำเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยหรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจโดยวิถีทางนอกรัฐธรรมนูญ การสั่งให้ระงับหรือจัดการแก้ไขการกระทำที่ฝ่าฝืนนโยบายหรือข้อบังคับพรรคการเมือง การสั่งให้หัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคทั้งคณะหรือบางคนพ้นจากตำแหน่ง ฯลฯ แต่ที่ผ่านมา องค์กรผู้บังคับใช้กฎหมายกลับมิได้พิจารณาปรับใช้มาตรการดังกล่าวแทนการยุบพรรคการเมือง ทั้ง ๆ ที่เห็นได้ชัดว่า มาตรการเหล่านี้ มีผลกระทบต่อเสรีภาพในการจัดตั้งพรรคการเมืองและดำเนินกิจกรรมทางการเมืองของสมาชิกพรรคการเมือง และสิทธิเสรีภาพของกรรมการบริหารพรรคการเมือง น้อยกว่าการยุบพรรคการเมืองและการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคทั้งคณะ แต่ทั้งนี้ ปัญหาส่วนหนึ่งเป็นเพราะกฎหมายพรรคการเมืองไทยไม่เปิดช่องให้ทำเช่นนั้นได้
        
                     2.3.2 การขาดมาตรการทางกฎหมายที่จะทำให้การยุบพรรคการเมืองเกิดสภาพบังคับที่แท้จริง
        
                         ข้อเท็จจริงที่ปรากฎในสังคมการเมืองไทยในระยะสาม-สี่ปีมานี้ ชี้ชัดแล้วว่า การยุบพรรคการเมืองมิได้ส่งผลในทางปฎิบัติสมดังเจตนาของ “ผู้มีอำนาจ” ที่ต้องการสลายขั้วพรรคการเมืองเดิมที่เป็นปฏิปักษ์เลย  หัวหน้าเงาของพรรคการเมืองยังคงสั่งการ ตัดสินใจว่าพรรคจะเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคการเมืองใดหรือไม่ กำหนดตัวบุคคลที่จะเป็นรัฐมนตรีในสัดส่วนของพรรค และตัดสินใจในเรื่องสำคัญ ๆ ของพรรค แม้ว่าผู้วิจัยจะไม่เห็นด้วยกับการยุบพรรคการเมืองแทบทุกคดีที่ผ่านมา แต่ก็ตระหนักว่า สภาพข้อเท็จจริงนี้สะท้อนช่องโหว่ของกฎหมายไทยที่มิอาจทำให้การยุบพรรคการเมืองเกิดสภาพบังคับที่แท้จริง
        
       3. ข้อเสนอแนะ
        
                ผู้วิจัยมีข้อเสนอแนะเพื่อแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ดังกล่าวข้างต้น ดังต่อไปนี้
        
                3.1 มาตรการเฉพาะหน้า: ตีความและใช้บังคับกฎหมายให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญและหลักกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ
        
                ในเบื้องต้น การใช้และการตีความกฎหมายของนายทะเบียน กกต. และศาลรัฐธรรมนูญ ต้องเคารพหลักเสรีภาพในการจัดตั้งพรรคการเมืองและดำเนินกิจกรรมทางการเมือง สิทธิในการฟ้องร้องคดีต่อศาล สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาอย่างเป็นธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การยุบพรรคการเมืองตามรัฐธรรมนูญมาตรา 237 วรรคสอง
        
              3.2 มาตรการระยะยาว: แก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
        
                     3.2.1 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (2550)
                         (1) ปรับปรุงความในมาตรา 68 วรรคสี่ โดยกำหนดให้กรรมการบริหารพรรคการเมืองและสมาชิกพรรคการเมืองผู้ซึ่งเป็นสาเหตุให้มีการยุบพรรคการเมืองดังกล่าวถูกต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือดำรงตำแหน่งใด ๆ ในพรรคการเมืองเป็นเวลาห้าปีนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคการเมืองนั้น
                         (2) ยกเลิกความในมาตรา 237 วรรคสอง การยุบพรรคการเมืองเพราะผู้สมัครเลือกตั้ง ส.ส. ในนามของพรรคกระทำการฝ่าฝืนกฎหมายเลือกตั้ง
                         (3) เพิ่มบทบัญญัติใหม่ในหมวด 10 ศาล ส่วนที่ 2 ศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอื่นที่กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญกำหนดให้อยู่ในเขตอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ
                         (4) ปรับปรุงมาตรา 216 วรรคแรก โดยกำหนดให้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้ถือเสียงข้างมาก “เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติเป็นอย่างอื่น” จากเดิมที่ระบุว่า “เว้นแต่จะมีบัญญัติเป็นอย่างอื่นในรัฐธรรมนูญนี้”
        
                         3.2.2 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2550
        
       ตารางที่ 7 ข้อเสนอการแก้ไขกฎหมายพรรคการเมือง
        
       
       
       
       
       (1) อำนาจของนายทะเบียนพรรคการเมืองและคณะกรรมการการเลือกตั้ง
       
       
                  - ปรับปรุงมาตรา 91 วรรคสอง มาตรา 93 วรรคสอง และมาตรา 95 โดยกำหนดให้คณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นองค์กรหลักในการพิจารณาการสิ้นสภาพพรรคการเมืองและการเสนอคำร้องเพื่อยุบพรรคการเมือง ส่วนนายทะเบียนพรรคการเมืองให้เป็นองค์กรรอง มีอำนาจหน้าที่ควบคุมพรรคการเมืองในเรื่องอื่น ๆ ทั่วไป ทั้งนี้ เมื่อมีการร้องเรียนหรือนายทะเบียนพบเหตุต้องสงสัยว่า มีพรรคการเมืองเข้าข่ายต้องสิ้นสภาพหรือต้องด้วยเหตุยุบพรรคการเมือง ให้นายทะเบียนเสนอเรื่องต่อ กกต. เพื่อพิจารณา
                กล่าวอีกนัยหนึ่ง อำนาจในการวินิจฉัยให้พรรคการเมืองสิ้นสภาพไปก็ดี อำนาจในการเสนอคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญก็ดี เป็นอำนาจของ กกต. มิใช่ อำนาจร่วมกัน (Co-decision) ของ นายทะเบียนและ กกต. ดังเช่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
       
       
       
       
       (2) เหตุแห่งการสิ้นสภาพพรรคการเมือง
       
       
                - ยกเลิกเหตุสิ้นสภาพพรรคการเมืองตามมาตรา 91 (1) เพราะไม่สามารถหาสมาชิกได้ครบ 5,000 คน หรือมีสาขาพรรคครบทุกภาค
                - ลดจำนวนสมาชิกขั้นต่ำอันเป็นเหตุสิ้นสภาพตามมาตรา 91 (2) ให้เหลือ 15 คนดังเช่นกฎหมายพรรคการเมือง 2541
                - ปรับปรุงเหตุสิ้นสภาพตามมาตรา 91 (4) การไม่เรียกประชุมใหญ่หรือไม่ดำเนินกิจกรรมทางการเมือง โดยขยายระยะเวลาออกไปเป็นสองปี
       
       
       
       
       (3) การพิจารณาให้พรรคการเมืองสิ้นสภาพ
       
       
                 - ปรับปรุงมาตรา 91 โดยเพิ่มหลักการใหม่ได้แก่
                          (ก) ห้ามมิให้นายทะเบียนประกาศให้พรรคการเมืองสิ้นสภาพในช่วงเวลา 90 วันก่อนวันที่สภาผู้แทนราษฎรครบวาระ หรือนับแต่วันที่มีการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร ไปจนถึงวันเลือกตั้ง
                          (ข) ให้การประกาศว่าพรรคการเมืองสิ้นสภาพความเป็นพรรคการเมืองมีผลตั้งแต่วันที่นายทะเบียนออกประกาศเป็นต้นไป
                          (ค) ให้สมาชิกของพรรคการเมืองที่ถูกประกาศให้สิ้นสภาพไป จำนวนไม่น้อยกว่า 15 คน สามารถร้องคัดค้านต่อศาลรัฐธรรมนูญได้
       
       
       
       
       (4) เหตุแห่งการยุบพรรคการเมือง
       
       
                   - ยกเลิกเหตุยุบพรรคการเมืองตามมาตรา 93 กรณีรายงานการดำเนินกิจการของพรรคการเมืองและกรณีการใช้จ่ายและรายงานการใช้จ่ายเงินสนับสนุนของพรรคการเมือง
                   - ปรับปรุงเหตุเหตุยุบพรรคการเมืองตามมาตรา 94 (1) โดยตัดข้อความตอนท้ายที่ว่า “หรือกระทำการตามที่รัฐธรรมนูญให้ถือว่าเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจโดยวิธีการดังกล่าว” ออกไป
                   - ปรับปรุงเหตุยุบพรรคการเมืองตามมาตรา 94 (2) การยุบพรรคเพราะฝ่าฝืนกฎหมายเลือกตั้ง โดยเพิ่มองค์ประกอบเรื่องความร้ายแรงและผลกระทบในวงกว้าง ได้แก่ (ก) พฤติกรรมการฝ่าฝืนกฎหมายต้องร้ายแรง และ (ข) ส่งกระทบต่อความสุจริตและเที่ยงธรรมของการเลือกตั้งอย่างกว้างขวาง
                   - ปรับปรุงเหตุยุบพรรคการเมืองตามมาตรา 94 (3) “กระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ”  โดยตัดคำว่า “อันอาจ” ออกไป
                   - ปรับปรุงเหตุยุบพรรคการเมืองตามมาตรา 94 (4) โดยตัดคำว่า “อันอาจ” ออกไป สำหรับกรณีภัยต่อความมั่นคงของรัฐทั้งภายในและภายนอกราชอาณาจักร และโดยการเพิ่มองค์ประกอบเรื่องความร้ายแรงในกรณีกระทำการขัดต่อกฎหมายหรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
                   - ยกเลิกเหตุยุบพรรคการเมืองตามมาตรา 94 (5) ทั้งอนุมาตรา
                   - ยกเลิกเหตุยุบพรรคการเมืองตามมาตรา 104 วรรคสาม
       
       
       
       
       (5) ผลของการสิ้นสภาพพรรคการเมือง
       
       
                   - ปรับปรุงมาตรา 97 ใหม่ โดยกำหนดให้หัวหน้าและกรรมการบริหารพรรคการเมืองซึ่งปล่อยปละละเลย มิได้ดำเนินการตามหน้าที่ที่กฎหมายกำหนด อันเป็นเหตุให้พรรคการเมืองดังกล่าวต้องสิ้นสภาพไป จะจดแจ้งจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่หรือเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมืองไม่ได้ ภายในกำหนด 5 ปีนับแต่วันที่พรรคการเมืองนั้นสิ้นสภาพไป
       
       
       
       
       (6) ผลของการยุบพรรคการเมือง
       
       
                   - ปรับปรุงมาตรา 98 ใหม่ โดยกำหนดให้หัวหน้าและกรรมการบริหารพรรคการเมืองซึ่งเป็นสาเหตุให้พรรคการเมืองนั้นถูกยุบไป ต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือดำรงตำแหน่งใด ๆ ในพรรคการเมืองเป็นเวลาห้าปีนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคการเมืองนั้น
                    - เพิ่มหลักการใหม่ ห้ามการจัดตั้งพรรคการเมืองแทนที่ (Substitute Organization) พรรคการเมืองที่ถูกยุบไป ทั้งนี้ เฉพาะกรณีพรรคการเมืองที่ถูกยุบไปเพราะเหตุกระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย และเหตุกระทำการอันเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐทั้งภายในและภายนอกราชอาณาจักรเท่านั้น
                  ในกรณีที่มีเหตุดังกล่าว ให้ กกต. เสนอเรื่องผ่านอัยการสูงสุดเพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคการเมืองแทนที่นั้นได้เลย โดยไม่ต้องรอให้มีพฤติการณ์การกระทำความผิดอื่น ๆ ขึ้นใหม่
       
       
       
       
       (7) การควบคุมพรรคการเมือง
       
       
                  - ปรับปรุงกฎหมายพรรคการเมืองในประเด็นการใช้อำนาจรัฐควบคุมกิจการของพรรคการเมืองใหม่เสียทั้งหมด โดยเพิ่มมาตรการการลด และงดการจัดสรรเงินสนับสนุน การกำหนดให้กรรมการบริหารพรรคต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมต่อ กกต. และต่อพรรคการเมือง และการขยายเหตุในการเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อมีคำสั่งให้หัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคการเมืองต้องพ้นจากตำแหน่ง
       
       
       
       
                        
                         3.2.3 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2550
        
                         (1) ยกเลิกความในมาตรา 103 วรรคสอง เพื่อให้สอดรับกับการยกเลิกบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 237 วรรคสอง และกฎหมายพรรคการเมืองมาตรา 94 (2)
                         (2) ยกเลิกความในมาตรา 140 วรรคสี่ ซึ่งกำหนดให้การใส่ความหรือกลั่นแกล้งผู้สมัคร ส.ส. ถือเป็นการกระทำที่อาจเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐอันเป็นหนึ่งในเหตุยุบพรรคการเมืองตามกฎหมายพรรคการเมือง
                         (3) ยกเลิกความในมาตรา 144 วรรคสอง ซึ่งกำหนดเหตุยุบพรรคการเมืองอันเนื่องมาจากการเรียกหรือรับผลประโยชน์เพื่อลงสมัครหรือไม่ลงสมัครรับเลือกตั้ง หรือการส่งสมาชิกลงสมัครเพื่อประโยชน์ของผู้อื่นหรือพรรคการเมืองอื่นในการหลีกเลี่ยงหลักเกณฑ์คะแนนเสียงขั้นต่ำร้อยละ 20 ในกรณีที่มีผู้สมัครรายเดียว
                         (4) ปรับปรุงความในมาตรา 163 บทเฉพาะกาลซึ่งให้ถือว่าผู้ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งตามกฎหมายเดิมเป็นผู้ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งตามกฎหมายฉบับนี้ด้วย โดยตัดข้อความว่า “หรือประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 27 เรื่อง การแก้ไขประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 15 ลงวันที่ 21 กันยายน พุทธศักราช 2549” ออกไป
        
                         3.2.4 กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ
        
                         (1) กำหนดให้มีหมวดหมู่ว่าด้วยการพิจารณาคดีเกี่ยวกับพรรคการเมืองเป็นการเฉพาะ ซึ่งคดียุบพรรคการเมืองจะเป็นหนึ่งในประเภทคดีย่อย
                         (2) บัญญัติรับรองสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาอย่างเป็นธรรมและสิทธิในการต่อสู้คดีของผู้ที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งในกรณีคดียุบพรรคการเมือง ต้องไม่จำกัดแต่เฉพาะนิติบุคคลพรรคการเมือง หากแต่ให้สิทธิแก่บุคคลที่เข้าข่ายถูกห้ามดำรงตำแหน่งต่าง ๆ อันเนื่องมาจากการที่ศาลสั่งยุบพรรคการเมืองด้วย
                         (3) บัญญัติรับรองหลักการ การวินิจฉัยสั่งยุบพรรคการเมือง ต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า สองในสามของจำนวนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้งหมดที่เป็นองค์คณะพิจารณาวินิจฉัยคดีดังกล่าว
        
        
       ___________________________
        
       
       
       
       
       [1] ข้อมูล ณ วันที่ 19 ตุลาคม 2553; ส่วนพรรคการเมืองที่ถูกยุบไปด้วยความสมัครใจหรือการยุบไปควบรวมกับพรรคการเมืองอื่น แต่เพราะด้วยเทคนิคทางกฎหมายจึงต้องอาศัยกระบวนการยุบพรรคการเมือง จำนวน 12 พรรคนั้น อยู่นอกเหนือขอบเขตเนื้อหาของงานวิจัยนี้
        
       
       


พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=1697
เวลา 22 พฤศจิกายน 2567 19:31 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)