สสร.55

26 กุมภาพันธ์ 2555 20:58 น.

       เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาผมได้มีโอกาสเข้าร่วมเวทีถกแถลงกระบวนการเปลี่ยนแปลงแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งจัดโดย โครงการเชียงใหม่จัดการตนเอง สถาบันการจัดการสังคม และสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา โดยได้มีการแลกเปลี่ยนความเห็นกันอย่างกว้างขวาง และผู้เข้าร่วมซึ่งมาจากทุกสีอาทิเครือข่ายบ้านชุ่มเมืองเย็น,กลุ่ม นปช.แดงเชียงใหม่, ภาคีคนฮักเชียงใหม่,นายทหารนอกและในราชการ,กลุ่มพิทักษ์คุณธรรมเชียงใหม่,นักวิชาการ ฯลฯ ได้ขอให้ผมเป็นผู้สรุปรวบรวมมติเพื่อเสนอต่อสาธารณะและผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไป
       ก่อนที่จะนำไปสู่มติที่ว่า เราได้มีการทบทวนกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับในสองครั้งหลัง       ที่ผ่านมา ซึ่งก็คือ
       สภาร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2539(สสร.39) ซึ่งเป็นสภาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 โดย สสร.39 นี้ประกอบไปด้วยสมาชิกจำนวน 99 คน โดยมีที่มาจากตัวแทนที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนทางอ้อม 76 จังหวัด และตัวแทนนักวิชาการ จำนวน 23 คน ซึ่ง สสร.ที่เป็นตัวแทนของประชาชนนั้นมีที่มา 3 ขั้นตอน คือ
       1.จากการเลือกตั้งของประชาชนในจังหวัดนั้นๆ
       2.ให้ผู้สมัครคัดเลือกกันเองให้เหลือจังหวัดละ 10 คน รวมเป็น 760 คน
       3.จากนั้นส่งรายชื่อทั้ง 760 คน ให้สมาชิกรัฐสภาซึ่งประกอบไปด้วย สส.และ สว.คัดเลือกขั้นสุดท้ายให้เหลือจังหวัดละ 1 คน รวม 76 คน ซึ่งในครั้งนั้นคุณทักษิณก็เป็นผู้ที่อยู่ 1 ใน 10 ของจังหวัดเชียงใหม่ แต่มาสอบตกในขั้นตอนของการคัดเลือกของ สส.และ สว. ฉะนั้น ใครที่ว่าคุณทักษิณไม่เคยสอบตกจึงไม่จริง
       สภาร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550(สสร.50) ซึ่งเป็นสภาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 โดย สสร.50 นี้ได้รับการสรรหามาจากสมาชิกสมัชชาแห่งชาติ พ.ศ.2549 จำนวน 1,982 คน ลงมติคัดเลือกกันเองเหลือ 200 คน แล้ว คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ(คมช.)คัดเหลือ 100 คน และ สสร.50 นี้ คัดเลือกกันเองให้เหลือ 25 คน รวมกับผู้ที่ คมช.ส่งมาอีก 10 คน รวมเป็น     35 คน ทำหน้าที่เป็นคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญฯ
       ในส่วนของความเห็นของเวทีฯที่เชียงใหม่นี้ ได้สรุปข้อเสนอเกี่ยวกับองค์ประกอบและคุณสมบัติของ สสร.55 ดังนี้
       1.มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด จำนวน 300 คน โดยเป็นการเลือกตั้งทางตรง ใช้จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง จำนวนตามสัดส่วนประชากร ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเลือกได้เพียงคนเดียว(one man one vote) (ทำนองเดียวกับการเลือกตั้ง สว.ตามรัฐธรรมนูญปี 40) นับคะแนนรวมที่เขตโดย กกต.เป็นผู้จัดการเลือกตั้ง
         เหตุผล จำนวน 300 คน เพื่อให้กระจายไปยังภาคส่วนต่างๆโดยตัวแทนกลุ่มต่างๆ เช่น กลุ่มเกษตรกร กลุ่มครู ฯลฯ จะมีโอกาสเป็น สสร.ได้มากขึ้นกว่าร่างฯของพรรคเพื่อไทย พรรคชาติไทยพัฒนา และ นปช.ซึ่งโอกาสจะเป็นของพรรคการเมืองที่มีหัวคะแนนจัดตั้งในพื้นที่สามารถบล็อกโหวตได้มากกว่า แต่ในข้อเสนอของจังหวัดเชียงใหม่นืที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถเลือกได้เพียงคนเดียว แน่นอนว่าตัวแทนพรรคการเมืองคงจะมาในลำดับต้นๆ แต่ในลำดับท้ายๆก็จะเป็นโอกาสของผู้ที่มิใช่ตัวแทนของพรรคการเมือง
                 ในส่วนของการที่ไม่มี สสร.มาจากผู้เชี่ยวชาญเป็นการเฉพาะนั้น เห็นว่าไม่จำเป็น เพราะการ    ยกร่างกฎหมายนั้น ผู้ที่ยกร่างรายมาตรานั้นถือว่าเป็นช่างเทคนิคซึ่งเปรียบเสมือนช่างตัดผมที่ต้องตัดเป็นรูปทรงหรือเนื้อหาตามที่เจ้าของหัวซึ่งก็คือความต้องการของประชาชนผ่าน สสร. ซึ่งเราสามารถตั้ง      ผู้เชียวชาญมาในขั้นตอนของกรรมาธิการฯในภายหลังได้ โดยไม่จำเป็นต้องมี สสร.ผู้เชี่ยวชาญอีก      ชนชั้นหนึ่ง
       2.คุณสมบัติ อายุ 40 ปีขึ้นไป ไม่จำกัดคุณวุฒิการศึกษา
         เหตุผล อายุ 40ปีตามคุณสมบัติของสมาชิกวุฒิสภาซึ่งน่าจะมีวุฒิภาวะตามสมควร โดยไม่จำเป็นต้องจำกัดด้วยวุฒิการศึกษา เพราะปราชญ์ชาวบ้านหรือผู้ประสบความสำเร็จในชีวิตก็ไม่ได้จบการศึกษาสูงๆแต่อย่างใด
       3.ข้อห้าม หลังจากยกร่างสำเร็จแล้วภายในระยะเวลา 2 ปี ไม่สามารถดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระตลอดจนองค์กรอื่นตามรัฐธรรมนูญได้ที่สำคัญคือไม่มีค่าตอบแทนหรือเงินเดือนประจำ มีเฉพาะเบี้ยประชุม เบี้ยเลี้ยงและค่าพาหนะเดินทางเท่านั้น
          เหตุผล เพื่อได้มาซึ่งคนที่มีจิตอาสาเพื่อประโยชน์ส่วนรวมจริงๆ และที่ผ่านๆมา สสร.บางคนตั้งแต่ได้รับเลือกเข้าไปบางคนแทบไม่ได้เข้าประชุมหรือแสดงความเห็นต่อที่ประชุมแต่อย่างใดแต่รับค่าตอบแทนเต็มโดยไม่ตกหล่นแม้แต่บาทเดียว แต่ในข้อเสนอของจังหวัดเชียงใหม่นี้จ่ายเฉพาะผู้ที่งานจริง
       4.ลักษณะพิเศษ
       4.1 สามารถหาเสียงได้และบังคับให้ต้องเสนอวิสัยทัศน์หรือแนวนโยบายเป็นข้อผูกมัดว่าเมื่อได้เป็นแล้วจะเสนอความเห็นอย่างไร
         เหตุผล ตำแหน่ง สสร.เป็นตำแหน่งทางการเมืองการจำกัดไม่ให้หาเสียงเป็นการผิดธรรมชาติ การเสนอวิสัยทัศน์หรือแนวนโยบายก็เพื่อให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถพิจารณาก่อนตัดสินในลงคะแนน
       4.2 ใช้ระเวลาร่างไม่เกิน 360 วัน
         เหตุผล รัฐธรรมนูญมีความสำคัญต่อโครงสร้างการเมืองการปกครองประเทศ ควรใช้ความรอบคอบ ไม่ควรเร่งรีบจนเกินไป ที่สำคัญขณะนี้เรายังมีรัฐธรรมนูญฯใช้อยู่ ไม่เหมือนในบางสมัยที่มีแต่รัฐธรรมนูญหรือธรรมนูญชั่วคราวเท่านั้น
       ทั้งนี้ ใน 3 เดือนแรกต้องมีการจัดให้มีการรับฟังข้อเสนอแนะในระดับจังหวัดก่อนการยกร่างแล้ว เมื่อ    ยกร่างเสร็จจึงมีการทำประชามติก่อนการประกาศใช้ว่า จะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้
       ถึงแม้ว่าข้อเสนอจากเวทีเชียงใหม่นี้จะไม่มีผลทางกฎหมายใดใดที่จะไปบีบบังคับให้สมาชิกรัฐสภารับไปบรรจุในร่างแก้ไขมาตรา 291 ของรัฐธรรมนูญฯในครั้งนี้ก็ตาม แต่อย่าลืมว่าเสียงเล็กเสียงน้อยเหล่านี้เมื่อรวมกันเข้าแล้วสมาชิกรัฐสภาที่ถือว่าเป็นผู้แทนของปวงชนชาวไทยย่อมสมควรที่จะรับฟัง เพราะไม่เช่นนั้นรัฐธรรมนูญที่ท่านพยายามจะร่างขึ้นมาใหม่นี้ ย่อมเป็นไปไม่ได้ที่จะได้การยอมรับและได้รับการพิทักษ์ปกป้องอย่างเต็มหัวใจจากประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยที่แท้จริง
        
       ------------------------


พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=1695
เวลา 28 มีนาคม 2567 19:00 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)