ครั้งที่ 284

12 กุมภาพันธ์ 2555 21:20 น.

         
       สำหรับวันจันทร์ที่ 13 ถึงวันอาทิตย์ที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555
       
       “ศาลยอมรับการใช้อำนาจของคณะรัฐประหาร (อีกแล้ว !!)”
        
                 เมื่อปลายเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยที่ 51/2554 เรื่อง “พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2542 มาตรา 34 (2) ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 309 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 มาตรา 36 หรือไม่”
                 ผมมีโอกาสได้อ่านคำวินิจฉัยดังกล่าวเมื่อไม่กี่วันมานี้เอง เหตุที่ได้อ่านก็เพราะมีเพื่อนข้าราชการคนหนึ่งเล่าให้ฟังว่า มีทนายความส่งจดหมายแจ้งไปยังหน่วยงานของรัฐบางแห่ง ถึงผลของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวโดยไป “แปลความ” ล่วงหน้าเพื่อประโยชน์ของลูกความตนเอง จากนั้นผมจึงได้พยายามแสวงหาจดหมายและคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญเรื่องดังกล่าวมาอ่าน จึงเป็นที่มาของการเขียนบทบรรณาธิการครั้งนี้
                 กรณีคุณหญิงจารุวรรณ  เมณฑกา อดีตผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินนับได้ว่าเป็น “มหากาพย์” ที่สำคัญเรื่องหนึ่งของประเทศไทยที่แม้เวลาจะผ่านไปนานหลายปี เรื่องที่เกิดขึ้นก็ยังไม่ยุติแถมยังมีความยุ่งยากสลับซับซ้อนมากขึ้นเรื่อย ๆ และแม้จะมีหลายองค์กรเข้ามาเกี่ยวข้องและให้ความเห็น แต่ปัญหาก็ยังคงอยู่ต่อไป ล่าสุดก็คือกรณีที่เกิดจากคำวินิจฉัยที่ 51/2554 ของศาลรัฐธรรมนูญ
                 คำวินิจฉัยที่ 51/2554 เกิดจากการที่ผู้ตรวจการแผ่นดินได้ฟ้องคุณหญิงจารุวรรณ  เมณฑกา ต่อศาลปกครองกลางในปี พ.ศ. 2553 ว่า คุณหญิงจารุวรรณฯ ออกคำสั่งสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเพื่อยกเลิกคำสั่งแต่งตั้งรองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินให้รักษาราชการแทนผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินหลังจากที่คุณหญิงจารุวรรณฯ มีอายุครบ 65 ปีบริบูรณ์ ซึ่งถือว่าต้องพ้นจากตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินไปแล้วตามมาตรา 34 (2) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2542 คุณหญิงจารุวรรณฯ จึงไม่มีอำนาจออกคำสั่งดังกล่าว ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงฟ้องขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนคำสั่งสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินของคุณหญิงจารุวรรณฯ และต่อมา นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรวาส ผู้ซึ่งคุณหญิงจารุวรรณฯ ได้ออกคำสั่งให้รักษาราชการแทนผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินและต่อมาได้ออกคำสั่งเพิกถอนดังกล่าว ได้ยื่นคำร้องสอดเข้ามาในฐานะเป็นผู้มีส่วนได้เสีย ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนคำสั่งสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินของคุณจารุวรรณฯ พร้อมทั้งขอให้ศาลมีคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษา ศาลปกครองชั้นต้นจึงมีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับตามคำสั่งของคุณหญิงจารุวรรณฯ ไว้เป็นการชั่วคราว ต่อมา ศาลปกครองชั้นต้นก็ได้มีคำพิพากษาในเรื่องดังกล่าวว่า คุณหญิงจารุวรรณฯ พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินเมื่ออายุครบ 65 ปีบริบูรณ์ ตามมาตรา 34 (2) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2542 คำสั่งของคุณหญิงจารุวรรณฯ ที่ออกมาภายหลังจากที่พ้นจากตำแหน่งแล้ว จึงเป็นการออกคำสั่งโดยไม่มีอำนาจ ศาลจึงมีคำพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของคุณหญิงจารุวรรณฯ และให้คำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งของคุณหญิงจารุวรรณฯ มีผลใช้บังคับต่อไปจนกว่าศาลปกครองสูงสุดจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น
                 คุณหญิงจารุวรรณฯ ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด พร้อมกับยื่นคำโต้แย้งเพื่อส่งเรื่องดังกล่าวให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่า ประกาศของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ฉบับที่ 29 ลงวันที่ 30 กันยายน 2549 ข้อ 2 ที่ว่า ให้ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2549 คงอยู่ในตำแหน่งต่อไป จนถึงวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2550  และข้อ 3 ที่ว่า ให้ดำเนินการสรรหาและแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินใหม่ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2542 ภายในเก้าสิบวัน นับตั้งแต่ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินตามข้อ 2 ของประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 12 ลงวันที่ 20 กันยายน พุทธศักราช 2549 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศฉบับนี้พ้นจากตำแหน่ง โดยในระหว่างที่ยังไม่มีคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินที่พ้นจากตำแหน่งตามวรรคหนึ่งยังคงปฏิบัติหน้าที่คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินไปพลางก่อน นั้น  ได้กำหนดวันสิ้นสุดการปฏิบัติหน้าที่ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินไว้เพียง       2 กรณีคือ ให้ปฏิบัติหน้าที่ตามกำหนดระยะเวลาจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2550 และให้ปฏิบัติหน้าที่ไปพลางก่อนจนกว่าจะมีคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน บทบัญญัติทั้ง 2 ข้อ จึงเป็นกรณีให้คุณหญิงจารุวรรณฯ ปฏิบัติหน้าที่คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินไปพลางก่อนในระหว่างที่ยังไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งโดยมิได้นำเรื่องอายุหรือคุณสมบัติของผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2542 มาใช้บังคับ บทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ศาลปกครองชั้นต้นนำมาปรับใช้ในการวินิจฉัยว่าคุณหญิงจารุวรรณฯ พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินเมื่ออายุครบ 65 ปีบริบูรณ์ตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน ทำให้คำสั่งของคุณหญิงจารุวรรณฯ ที่ออกมาในภายหลังจากที่คุณหญิงจารุวรรณฯ พ้นจากตำแหน่งเป็นการออกคำสั่งโดยไม่มีอำนาจและเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงขัดหรือแย้งต่อมาตรา 309 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ประกอบกับมาตรา 36 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 และประกาศของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 12 ลงวันที่ 20 กันยายน พุทธศักราช 2549 และฉบับที่ 29 ลงวันที่ 30 กันยายน พุทธศักราช2549
                 ศาลปกครองสูงสุดได้ส่งคำโต้แย้งดังกล่าวไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัย ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญก็ได้มีคำวินิจฉัยที่ 51/2554 ว่า มาตรา 34 (2) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2542 ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 309 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 มาตรา 36
                 ผลของคำวินิจฉัยดังกล่าวไม่มีปัญหาอะไรทั้งนั้น แต่เหตุผลที่ปรากฏอยู่ในคำวินิจฉัยดังกล่าวต่างหากที่สร้างความเข้าใจที่สับสน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตั้งแต่ตอนท้ายของหน้าที่ 4 ไปจนจบซึ่งผมจะขอคัดลอกมานำเสนอไว้ ณ ที่นี้ คือ
                 “พิจารณาแล้วเห็นว่า ประกาศของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 12 ลงวันที่ 20 กันยายน พุทธศักราช 2549 และประกาศของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 29 ลงวันที่ 30 กันยายน พุทธศักราช 2549 กำหนดให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2542 ยังคงบังคับใช้ต่อไป เว้นแต่บทบัญญัติในส่วนที่ 1 หมวด 1 จนกว่าจะมีกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมหรือยกเลิกและให้ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2549 คงอยู่ในตำแหน่งต่อไป จนถึงวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2550 ให้ดำเนินการสรรหาและแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินใหม่ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2542 ภายในเก้าสิบวัน โดยในระหว่างที่ยังไม่มีคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ให้ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินที่พ้นจากตำแหน่งยังคงปฏิบัติหน้าที่คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินไปพลางก่อน
                   ต่อมารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 มาตรา 36 ซึ่งเป็นบทเฉพาะกาลได้บัญญัติรับรองให้ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีผลบังคับใช้ได้โดยชอบด้วยกฎหมายและชอบด้วยรัฐธรรมนูญไว้ชั้นหนึ่ง และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ก็มีบทเฉพาะกาลตามมาตรา 309 บัญญัติติให้ถือว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 อีกชั้นหนึ่งด้วย นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 302 วรรคหนึ่ง (3) ยังได้บัญญัติให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2542 มีผลใช้บังคับต่อไปเช่นกัน
                   จึงเห็นได้ว่า ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขทั้งสองฉบับ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2542 ต่างมีผลบังคับใช้อยู่ในส่วนที่ไม่ขัดหรือแย้งกัน กล่าวคือ การใดที่ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขกำหนดไว้ให้เป็นไปตามนั้น เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินและให้การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐเป็นไปอย่างต่อเนื่องในลักษณะของบทเฉพาะกาล ส่วนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2542 มาตรา 34 (2) ที่บัญญัติว่า นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระตามมาตรา 33 แล้ว ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินยังพ้นจากตำแหน่งเมื่อมีอายุครบหกสิบห้าปีบริบูรณ์อีกกรณีหนึ่ง
                   เมื่อพิจารณารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 309 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 มาตรา 36 ซึ่งเป็นบทบัญญัติรับรองการใด ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับประกาศหรือคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขว่าเป็นการอันชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2542 มาตรา 34 (2) ที่กำหนดการพ้นจากตำแหน่งของผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินเมื่ออายุครบหกสิบห้าปีบริบูรณ์ แล้วเห็นว่า บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและกฎหมายดังกล่าวมีเจตนารมณ์ของการบังคับใช้ต่างกรณีกัน ดังนั้น พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2542 มาตรา 34 (2) จึงมิได้ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 309 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 มาตรา 36 แต่อย่างใด”
                   นี่ก็เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ศาลไทยยอมรับความถูกต้องของสิ่งที่เกิดขึ้นจากการใช้อำนาจของคณะรัฐประหาร  แม้ว่าการรัฐประหารนั้นจะผ่านพ้นไปนานหลายปีแล้วก็ตาม บทบัญญัติต่าง ๆ ที่คณะรัฐประหารเขียนขึ้นใช้บังคับในวันนั้น ก็ยังคงมีผลใช้บังคับต่อไปในวันนี้ โดยมีเหตุผลว่า “เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินและให้การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐเป็นไปอย่างต่อเนื่องในลักษณะของบทเฉพาะกาล” ถ้อยคำของศาลรัฐธรรมนูญถ้อยคำนี้เองที่ส่งผลทำให้บทบัญญัติของคณะรัฐประหารมีความเป็นอมตะ ใช้บังคับอยู่ได้ตลอดไปในฐานะบทเฉพาะกาลที่แม้จะมีข้อความขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติหลักแต่ก็สามารถใช้บังคับได้ในฐานะข้อยกเว้นครับ !!!
                 ไม่ทราบจะโทษใครดีระหว่างคณะรัฐประหาร ผู้เขียนมาตรา 36 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 และผู้เขียนมาตรา 309 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 เพราะเขียนกลไกต่าง ๆ ให้รับกันได้ดีเหลือเกิน สิ่งที่คณะรัฐประหารทำจึงมีผลต่อมาเรื่อย ๆ จนถึงทุกวันนี้และยิ่งได้รับการรับรองครั้งล่าสุดจากศาลรัฐธรรมนูญตามคำวินิจฉัยนี้ด้วยแล้ว ก็ยิ่งทำให้พลังอำนาจของคณะรัฐประหารยังคงสว่างไสวอยู่ในแผ่นดินไทยได้ต่อไปครับ
                 ผมคงไม่ก้าวล่วงเข้าไปคาดเดาว่า ศาลปกครองสูงสุดจะว่าอย่างไรกับเรื่องนี้เพราะเมื่อศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยไปแล้ว ขั้นตอนต่อไปก็คือการส่งคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญกลับไปยังศาลปกครองสูงสุดเพื่อพิจารณาต่อไปบนพื้นฐานที่ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยเอาไว้
                 น่าเสียดายที่พลาดโอกาสทองไปอีกครั้งหนึ่ง ศาลไทยน่าจะปฏิเสธการรัฐประหาร ศาลไทยน่าจะไม่ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นจากการใช้อำนาจของคณะรัฐประหารเพราะการรัฐประหารเป็นการกระทำผิดตามมาตรา 113 แห่งประมวลกฎหมายอาญา
                 น่าสงสัยนะครับว่า ทำไมผู้คนจำนวนหนึ่งถึงได้มองเห็นกันว่า การรัฐประหารเป็นความผิดตามมาตรา 113 แห่งประมวลกฎหมายอาญาที่ผู้ทำมีโทษประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิต แต่ศาลซึ่งต้องเป็นผู้ต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดกลับมองไม่เห็นครับ !!!
       
                 สัปดาห์นี้เรามีบทความมานำเสนอ 5 บทความ บทความแรก เป็นบทความภาษาฝรั่งเศสที่เขียนโดย อาจารย์ Jacques Serba แห่งมหาวิทยาลัย Bretagne Occidentale ประเทศฝรั่งเศส ที่เขียนเรื่อง “Pour améliorer les relations Etat français/ONG humanitaires: tête-à-tête ou « Grenelle »?”  บทความที่สองเป็น “บทสรุปรายงานวิจัย เรื่อง แนวทางปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการยุบพรรคการเมือง (ตอนที่ 1)” ที่เขียนโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ณรงค์เดช สรุโฆษิต แห่งคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บทความที่สาม เป็นบทความเรื่อง “ปกิณกะ: ความรู้เกี่ยวกับประมวลกฎหมายสิ่งแวดล้อมว่าด้วยการควบคุมภาวะน้ำท่วมและกฎหมายเสริมสร้างการควบคุมภัยพิบัติทางธรรมชาติของฟิลิปปินส์"   ที่เขียนโดย อาจารย์ ปีดิเทพ อยู่ยืนยง นักวิจัยประจำสาขาวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเดอมงฟอร์ต สหราชอาณาจักร  บทความที่สี่ เป็นบทความเรื่อง “บทความวิชาการ ชุด “อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต ค.ศ. 2003 : United Nations Convention against Corruption 2003 ” ตอนที่ 1 บทบัญญัติทั่วไปและพันธกรณีในการกำหนดมาตรการป้องกันการทุจริตของภาคี” ที่เขียนโดย คุณปณิธัศร์ ปทุมวัฒน์  นิติกร สำนักกฎหมาย สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา และบทความสุดท้าย เป็นบทความของ คุณภาคภูมิ อนุศาสตร์ ที่เขียนเรื่อง “สิทธิของชนชาวไทย” ครับ
       
                 ผมขอขอบคุณเจ้าของบทความทุกๆบทความไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ
        
                 พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ 2555
        
                 ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์  บรมานันท์


พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=1692
เวลา 20 เมษายน 2567 10:11 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)