ปกิณกะ: ความรู้เกี่ยวกับประมวลกฎหมายสิ่งแวดล้อมว่าด้วยการควบคุมภาวะน้ำท่วมและกฎหมายเสริมสร้างการควบคุมภัยพิบัติทางธรรมชาติของฟิลิปปินส์

12 กุมภาพันธ์ 2555 21:32 น.

       [1] ความนำ
       ฟิลิปปินส์เป็นประเทศหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่ประกอบด้วยพื้นที่ชายฝั่งทะเลที่มีระยะทางที่ยาวทำให้ฟิลิปปินส์เป็นประเทศที่มีพรมแดนทางทะเลที่ติดต่อระหว่างกันยาวมากที่สุดในโลกและประกอบด้วยเกาะจำนวนถึง 7,107 เกาะ ด้วยสภาพภูมิประเทศดังกล่าวทำให้ฟิลิปปินส์เป็นประเทศหนึ่งที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุทกภัยจากภาวะน้ำท่วมค่อนข้างสูง เช่น ภาวะท่วมเฉียบพลัน (Flash flood) และภาวะน้ำท่วมจากวาตภัย (Estuarine flood) เป็นต้น นอกจากนี้ ลักษณะทางกายภาพของฟิลิปปินส์ที่ตั้งอยู่บนรอยต่อของแผ่นเปลือกโลกฟิลิปปินส์กับยูเรเซียนที่ยังมีการเคลื่อนตัวของเปลือกโลกและการปะทุของภูเขาไฟอยู่อย่างต่อเนื่อง เช่น ภูเขาไฟตาอาล ภูเขาไฟพินาตูโบและภูเขาไฟมายอน เป็นต้น ดังนั้น ประเทศฟิลิปปินส์จึงเป็นประเทศหนึ่งที่มีความเสี่ยงต่อการประสบเหตุการณ์ภัยพิบัติที่ซ้ำซ้อนจากภาวะน้ำท่วมกับภัยพิบัติอื่นๆ เช่น ภูเขาไฟระเบิดและแผ่นดินไหว เป็นต้น
       ด้วยเหตุผลที่กล่าวมา ทำให้รัฐบาลฟิลิปปินส์ในสมัยประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส ได้ตราประมวลกฎหมายสิ่งแวดล้อมของประเทศฟิลิปปินส์ (Presidential Decree No. 1152 หรือ Philippine Environmental Code) ที่กำหนดมาตรการเฉพาะในการควบคุมภาวะน้ำท่วมและภัยพิบัติทางธรรมชาติของประเทศฟิลิปปินส์ (Flood Control and Natural Calamities) ที่กำหนดหลักในการป้องกันภาวะน้ำท่วมและภัยพิบัติทางธรรมชาติอื่นๆ อันเป็นการป้องกันความเสี่ยงจากภาวะน้ำท่วมที่ประเทศฟิลิปปินส์กำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบันและอนาคต
       นอกจากนี้ ประเทศฟิลิปปินส์ยังได้บัญญัติกฎหมายเสริมสร้างการควบคุมภัยพิบัติทางธรรมชาติของฟิลิปปินส์  Presidential Decree (P.D.) no.1566 (June 11, 1978) อันเป็นกฎหมายที่กำหนดโครงสร้างสภาเฉพาะในการเสริมสร้างกลไกในการกระจายอำนาจในการจัดทำบริการสาธารณะด้านป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัยกับการเสริมสร้างความร่วมมือภายใต้ระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของฟิลิปปินส์และหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องในการป้องกันภัยจากภาวะน้ำท่วม
       นอกจาก ประมวลกฎหมายสิ่งแวดล้อมและกฎหมายเสริมสร้างการควบคุมภัยพิบัติทางธรรมชาติของฟิลิปปินส์แล้ว ประเทศฟิลิปปินส์ยังได้กำหนดมาตรการทางกฎหมายอื่นๆ ที่สนับสนุนในการควบคุมภาวะน้ำท่วม เช่น มาตรการทางกฎหมายการคลังและภาษีอากรขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่กำหนดให้มีการจัดเก็บภาษีน้ำท่วม (Metropolitan flood tax) ในมหานครมะนิลา ที่เป็นเมืองหลวงของประเทศฟิลิปปินส์ อันเป็นภาษีที่จัดเก็บจากประชาชนที่อาศัยในกรุงมะนิลา เพื่อน้ำไปเป็นแหล่งทุนสำหรับโครงการควบคุมภาวะน้ำท่วมต่างๆของกรุงมะนิลา เป็นต้น
       [2] ปัญหาน้ำท่วมของฟิลิปปินส์
       ประเทศฟิลิปปินส์ได้ประสบกับปัญหาน้ำท่วมมาเป็นเวลายาวนาน เนื่องมาจากลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่ประกอบด้วยพื้นที่ชายฝั่งทะเลที่มีระยะทางที่ยาวทำให้ฟิลิปปินส์เป็นประเทศที่มีพรมแดนทางทะเลที่ติดต่อระหว่างกันยาวมากที่สุดในโลกและประกอบด้วยเกาะจำนวนมาก[1]ซึ่งในอดีตที่ผ่านมาประเทศฟิลิปปินส์ได้เผชิญกับวิกฤติน้ำท่วมที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตประชาชน ทรัพยสิน และทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง[2]
       สำหรับตัวอย่างของเหตุการณ์น้ำท่วมที่สำคัญของประเทศฟิลิปปินส์ที่ได้ส่งผลกระทบต่อประชาชนชาวฟิลิปปินส์ เช่น วิกฤติน้ำท่วมฟิลิปปินส์ในระหว่างเดือนกันยายนปี ค.ศ.1972 สาเหตุของวิกฤติน้ำท่วมดังกล่าวเกิดจากปริมาณฝนที่ตกอย่างหนักในเมืองลูซอน จนทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำหลายสายได้เอ่อล้นฝั่งไหลเข้าท่วมสาธาณูปโภคและบ้านเรือนของประชาชน ซึ่งรัฐบาลสมัยประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์คอส ในขณะนั้นถึงกับประกาศกฎอัยการศึกเพื่อใช้ควบคุมสถานการณ์วิกฤติน้ำท่วมดังกล่าว[3]
       วิกฤติน้ำท่วมฟิลิปปินส์ระหว่างเดือนสิงหาคมในปี ค.ศ. 2004 ประเทศฟิลิปปินส์ได้ประสบปัญหาภาวะน้ำท่วมใหญ่จากปริมาณฝนตกหนักที่ต่อเนื่องเป็นเวลานานจากอิทธิพลของพายุไต้ฝุ่น Chaba ที่พัดผ่านกรุงมะนิลาและบริเวณจังหวัดใกล้เคียง โดยภาวะน้ำท่วมดังกล่าวก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนถึง 4,392 ครอบครัวและมีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์น้ำท่วมดังกล่าว นอกจากนี้ วิกฤติน้ำท่วมดังกล่าวยังก่อให้เกิดความเสียหายต่อโครงสร้างพื้นฐานของประเทศและสาธารณูปโภคต่างๆ ของกรุงมะนิลาและเมืองที่ได้รับผลกระทบ[4] วิกฤติน้ำท่วมฟิลิปปินส์ในระหว่างเดือนมิถุนายนปี ค.ศ. 2008 ประเทศประเทศฟิลิปปินส์ได้ประสบปัญหาภาวะน้ำท่วมใหญ่และดินถล่มจากอิทธิผลของพายุไต้ฝุ่น Fengshen อันก่อให้เกิดความเสียหายต่อต่อประชาชนถึง 81,000 ครอบครัวและมีผู้เสียชีวิตจากวิกฤติน้ำท่วมดังกล่าวถึง 557 คนและมีจำนวนผู้สูญหายถึง 87 คน[5] และวิกฤติน้ำท่วมฟิลิปปินส์ในระหว่างเดือนกันยายนปี ค.ศ. 2009 ประเทศประเทศฟิลิปปินส์ได้ประสบปัญหาภาวะน้ำท่วมใหญ่จากอิทธิผลของพายุไต้ฝุ่น Ketsana อันก่อให้เกิดความเสียหายต่อต่อประชาชนถึง 20,000 ครอบครัวและมีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าวถึง 50 คน นอกจากนี้ น้ำท่วมดังกล่าวยังได้ส่งผลกระทบต่อสาธาณูปโภคและบ้านเรือนของประชาชน[6]
       [3] ประมวลกฎหมายสิ่งแวดล้อมของประเทศฟิลิปปินส์ (Philippine Environment Code, P.D. 1152 (Approved by President Ferdinand E. Marcos, 6 June 1977))
       รัฐบาลฟิลิปปินส์ในสมัยประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส ได้จัดทำประมวลกฎหมายสิ่งแวดล้อม (Philippine Environment Code, P.D. 1152) ขึ้นโดยกำหนดแนวทางในการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมให้อยู่ภายใต้บทบัญญัติเดียวกัน เพื่อก่อให้เกิดปทัสถานเดียวกันในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ ประมวลกฎหมายดังกล่าวได้กำหนดแนวทางในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมและแนวทางในการบำรุงรักษาสิ่งแวดล้อม ให้มนุษย์สามารถอยู่รวมกับสิ่งแวดล้อมหรืออาศัยประโยชน์จากสิ่งแวดล้อมอย่างมีคุณภาพมากที่สุดและอย่างยั่งยืน[7]
       นอกจากประมวลกฎหมายดังกล่าวจะสร้างมาตรฐานในการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังได้กำหนดมาตรการต่างๆเพื่อป้องกันความเสี่ยงและอันตรายจากสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ ที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อความเป็นอยู่ของมนุษย์ในหลายลักษณะ[8] เช่น มาตรการในการจัดการคุณภาพอากาศ มาตรการในการจัดการคุณภาพน้ำ มาตรการในการคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติ และมาตรการในการป้องกันภัยพิบัติจากธรรมชาติ เป็นต้น
       ดังนั้น มาตรการเพื่อป้องกันความเสี่ยงและอันตรายจากสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติภายใต้ประมวลกฎหมายสิ่งแวดล้อม ย่อมก่อให้เกิดการป้องกันภัยล่วงหน้าจากภัยอันตรายจากสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดความแน่ใจว่าประชาชนของตนจะได้รับความปลอดภัยหรือได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์อันเกิดจากความเสี่ยงดังกล่าวน้อยที่สุด โดยอาศัยวิธีการป้องกันภัยล่วงหน้า (Precautionary approach) ในการเสริมสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนว่าประชาชนจะไม่ประสบอันตรายหรือได้รับอันตรายน้อยที่สุดจากการบริหารงานของภาครัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
       นอกจากนี้ ประมวลกฎหมายดังกล่าวยังได้เสริมสร้างมาตรการเฉพาะเพื่อเพิ่มพูนศักยภาพในการป้องกันภัยอันตรายจากอุทกภัย  ซึ่งมีสาเหตุมาจากผลกระทบจากที่รุนแรงจากปรากฎการณ์ทางธรรมชาติและการขาดความเชื่อมั่นในทางวิทยาศาสตร์ที่จะป้องกันเหตุการณ์ที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมทุกๆเหตุการณ์ได้
       [3.1] สาระสำคัญของมาตรการเฉพาะในการควบคุมภาวะน้ำท่วมและภัยพิบัติทางธรรมชาติในประมวลกฎหมายสิ่งแวดล้อมของประเทศฟิลิปปินส์
       ประมวลกฎหมายดังกล่าวยังได้กำหนดมาตรการเฉพาะเพื่อกำหนดแนวทางในการป้องกันภัยอันตรายจากภาวะน้ำท่วมและเพื่อให้ประชาชนได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำท่วมน้อยที่สุด โดยการบัญญัติมาตรการเฉพาะในการควบคุมภาวะน้ำท่วมและภัยพิบัติทางธรรมชาติของประเทศฟิลิปปินส์ (Flood Control and Natural Calamities) ได้กำหนดหลักการที่สำคัญสำหรับการป้องกันภาวะน้ำท่วม อันเป็นการป้องกันความเสี่ยงจากภาวะน้ำท่วมที่ประเทศฟิลิปปินส์กำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบันและอนาคตไว้ ได้แก่ ประมวลกฎหมายสิ่งแวดล้อมของประเทศฟิลิปปินส์ มาตรา 34 ได้กำหนดมาตรการในการสร้างขั้นตอนและกระบวนการในการควบคุมภาวะน้ำท่วม โดยให้เป็นไปตามประมวลกฎหมายฉบับนี้และบทบัญญัติอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ รวมไปถึงผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจากภาวะน้ำท่วม  โดยรัฐต้องกระทำการเพื่อควบคุมภาวะน้ำท่วมดังต่อไปนี้[9]
       -          การควบคุมการพังทลายของชายฝั่งแม่น้ำ ชายฝั่งทะเลสาบและชายฝั่งทะเล
       -          การควบคุมกระแสน้ำและภาวะน้ำท่วมในแม่น้ำและทะเลสาบ
       -          การอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำสำหรับวัตถุประสงค์เฉพาะตามมาตรานี้ไม่ได้หมายความรวมถึงการเก็บกักน้ำ
       -          การดูแลผลกระทบจากภาวะน้ำท่วมต่อการประมงและการจับสัตว์ป่าจากภาวะน้ำท่วมและการนันทนาการอื่นๆ จากแหล่งน้ำทางธรรมชาติ
       -          การสนับสนุนมาตรการในการควบคุมการผันน้ำและการใช้น้ำจากแหล่งน้ำต่างๆ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพต่อการจัดการภาวะน้ำท่วม โดยการควบคุมดังกล่าวต้องก่อให้เกิดผลกระทบต่อคุณภาพน้ำและวัตถุประสงค์ของการใช้น้ำอื่นๆให้น้อยที่สุด
       -          รัฐควรกระตุ้นให้เกิดการวิจัยเกี่ยวกับสาเหตุที่เกี่ยวข้องกับแหล่งน้ำตามธรรมชาติและการอนุรักษ์ทรัพยากรดิน เพื่อน้ำความรู้ไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์
       นอกจากนี้ ประมวลกฎหมายสิ่งแวดล้อมของประเทศฟิลิปปินส์ มาตรา 35 ยังได้วางหลักเกณฑ์ในเรื่องของการบรรเทาผลกระทบจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ กล่าวคือ[10] รัฐบาลต้องส่งเสริมและสนับสนุนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการการพยากรณ์อากาศ ธรณีวิทยา และดาราศาสตร์ สามารถรวมกันทำการศึกษาเพื่อหาแนวทางในการติดตามและป้องกันภัยอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้จากพายุไต้ฝุ่น แผ่นดินไหว สึนามิ และพายุประเภทต่างๆ เพื่อนำไปสู่การบรรเทาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชนและเพื่อหาแนวทางในการป้องกันผลกระทบดังกล่าวต่อไปในอนาคต
       [3.2] ประโยชน์ของมาตรการเฉพาะในการควบคุมภาวะน้ำท่วมและภัยพิบัติทางธรรมชาติของประเทศฟิลิปปินส์
       ประเทศฟิลิปปินส์ได้กำหนดรูปแบบของประมวลกฎหมายสิ่งแวดล้อมให้เป็นรูปแบบของกฎหมายที่กำหนดด้านมาตรฐานและแนวทางในการจัดการสิ่งแวดล้อมเพียงฉบับเดียว (A single unifying Codification) เพื่อกำหนดแนวทางในการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมให้อยู่ภายใต้บทบัญญัติเดียวกันและก่อให้เกิดปทัสถานเดียวกันในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมในเรื่องที่สำคัญและอาจกระทบต่อวิถีชีวิตมนุษย์ได้ ทั้งนี้ รวมไปถึงการควบคุมและจัดการภัยพิบัติทางธรรมชาติที่อาจกระทบต่อความเป็นอยู่ของมนุษย์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
       การที่ประมวลกฎหมายสิ่งแวดล้อมของฟิลิปปินส์ ได้บัญญัติมาตรการเฉพาะเกี่ยวกับกำหนดขอบเขตของความรับผิดชอบของรัฐในการกำหนดมาตรการจัดการความเสี่ยงจากภาวะน้ำท่วม เพื่อกำหนดแนวทางในการป้องกันภัยอันตรายจากภาวะน้ำท่วมและให้ประชาชนได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำท่วมน้อยที่สุด ย่อมถือเป็นแนวทางที่สำคัญในการรับมือกับวิกฤติน้ำท่วมโดยมุ่งให้ประชาชนได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำท่วมน้อยที่สุด ทั้งนี้ ข้อดีของการบัญญัติมาตรการเฉพาะในประมวลกฎหมายสิ่งแวดล้อมของประเทศฟิลิปปินส์มีสองประการ ได้แก่ ประการแรก มาตรการเฉพาะในประมวลกฎหมายดังกล่าวสามารถระบุขั้นตอนและกระบวนการที่สำคัญ ในการควบคุมภาวะน้ำท่วมและผลกระทบจากภาวะน้ำท่วมโดยตรงต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจากภาวะน้ำท่วมดังที่ได้กล่าวมาในข้างต้น เช่น การอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำภายหลังจากภาวะน้ำท่วม เป็นต้น ประการต่อมา กฎหมายดังกล่าวได้กำหนดถึงแนวทางในการเตรียมการป้องกันภัยจากภาวะน้ำท่วมล่วงหน้า โดยอาศัยแนวทางของการพยากรณ์อากาศเพื่อให้ได้ผลลัพท์จากการพยากรณ์ปรากฎการณ์ทางธรรมชาติและสภาพอากาศที่อาจก่อให้เกิดภาวะน้ำท่วมได้
       [4] กฎหมายเสริมสร้างการควบคุมภัยพิบัติทางธรรมชาติของฟิลิปปินส์
       [4.1] สาระสำคัญกฎหมายเสริมสร้างการควบคุมภัยพิบัติทางธรรมชาติของฟิลิปปินส์ (Presidential Decree (PD) No. 1566 Strengthening the Philippine Disaster Control Capability and Establishing the National Program on Community Disaster Preparedness (Promulgated on 11 June 1978))
       ในภาวะที่ประเทศประสบความเสี่ยงที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อม การดำเนินการใดๆ เพื่อให้เกิดความแน่ใจว่าประชาชนของตนจะได้รับความปลอดภัยหรือได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์อันเกิดจากความเสี่ยงดังกล่าวน้อยที่สุด ดังนั้น การบัญญัติมาตรการทางกฎหมายเฉพาะในประมวลกฎหมายสิ่งแวดล้อมของประเทศฟิลิปปินส์ให้สอดคล้องกับความเสี่ยงจากลักษณะทางกายภาพและภูมิประเทศของพื้นที่ ประกอบกับสภาพอากาศที่ประเทศเผชิญอยู่บ่อยครั้ง ย่อมก่อให้เกิดการป้องกันภัยล่วงหน้าและเสริมสร้างแนวทางในการหาการกระทำต่างๆจากภาครัฐเพื่อรับมือกับสถานการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติ ซึ่งประมวลกฎหมายสิ่งแวดล้อมของประเทศฟิลิปปินส์ มาตรา 34 และ มาตรา 35 ได้กำหนดวิธีการให้รัฐและประชาชนสามารถอยู่รวมกับความเสี่ยงจากภาวะน้ำท่วมที่ประเทศฟิลิปปินส์ได้เผชิญอยู่บ่อยครั้งอย่างมากที่สุด โดยมุ่งหมายให้ประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุดเมื่อเกิดภาวะน้ำท่วม
       นอกจากประมวลกฎหมายสิ่งแวดล้อมของประเทศฟิลิปปินส์ มาตรา 34 และ มาตรา 35 ที่เป็นมาตรการเฉพาะในการรับมือกับสถานการณ์ภัยพิบัติจากภาวะน้ำท่วม ประเทศฟิลิปปินส์ยังได้บัญญัติกฎหมายเสริมสร้างการควบคุมภัยพิบัติทางธรรมชาติของฟิลิปปินส์  Presidential Decree (P.D.) no.1566 (June 11, 1978) อันเป็นกฎหมายที่กำหนดโครงสร้างสภาความร่วมมือต้านภัยพิบัติแห่งชาติ (National Disaster Coordinating Council - NDCC)[11] และสภาประสานงานภัยพิบัติในภูมิภาค (Regional Disaster Coordinating Councils - RDCC)[12] ที่มีหน้าที่ในการประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานของภาครัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น[13]ในการรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติในรูปแบบต่างๆและร่วมกันบริหารความเสี่ยงจากภัยพิบัติทางธรรมชาติในรูปแบบต่างๆ นอกจากนี้ สภาความร่วมมือต้านภัยพิบัติแห่งชาติดังกล่าวของฟิลิปปินส์ ยังมีหน้าที่ที่สำคัญในการจัดหาแหล่งเงินทุน กิจกรรมและวิธีการบรรเทาทุกข์เพื่อสนับสนุนกิจกรรมในการรับมือและบรรเทาภัยพิบัติ[14]สำหรับแต่ละภูมิภาคของฟิลิปปินส์[15]
       นอกจากนี้ กฎหมายกฎหมายเสริมสร้างการควบคุมภัยพิบัติทางธรรมชาติของฟิลิปปินส์  ยังได้กำหนดให้รัฐจัดทำแผนในการรับมือภัยพิบัติทางธรรมชาติ[16] เพื่อเป็นการสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น[17]สามารถรับมือกับภัยพิบัติจากภาวะน้ำท่วมได้อย่างทันท่วงที ทั้งนี้ กฎหมายดังกล่าวได้กำหนดแนวทางในการประสานความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่างๆไว้ ได้แก่[18]
       -          กรมป้องกันภัยฝ่ายพลเรือนต้องเตรียมแผน[19]ในการรับมือกับหายนะและภัยพิบัติทางธรรมชาติ (National Disaster and Calamities Preparedness Plan)
       -          ปัจจัยต่างๆและคำแนะนำในการรับมือกับภัยพิบัติแห่งชาติต้องสอดคล้องกับแผนในการรับมือกับหายนะและภัยพิบัติทางธรรมชาติ
       -          แผนที่จะนำไปบังคับใช้ทุกแผนต้องถูกจัดทำเป็นเอกสารและสำเนาเพื่อเสนอต่อกรมป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน
       -          แผนที่ดำเนินการต้องถูกพิจารณาและปรับปรุงเท่าตามความจำเป็นและจัดทำสำเนาเพื่อเสนอต่อกรมป้องกันภัยฝ่ายพลเรือนฟิลิปปินส์
       กฎหมายดังกล่าวยังระบุให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับแผนดังกล่าวต้องจัดหาเงินทุนหรืองบประมาณในการสนับสนุนกิจกรรมในการรับมือภัยภัยพิบัติทางธรรมชาติโดยมาตรการดังกล่าวได้ถูกกำหนดขึ้นเพื่อเป็นการเพิ่มทุนให้แก่กองทุนภัยพิบัติทางธรรมชาติ (Calamity fund)[20] เพื่อนำเงินจากกองทุนดังกล่าวมาเสริมศักยภาพในการรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ[21]
       [4.2] ประโยชน์ของกฎหมายเสริมสร้างการควบคุมภัยพิบัติทางธรรมชาติของฟิลิปปินส์
       กฎหมายเสริมสร้างการควบคุมภัยพิบัติทางธรรมชาติของฟิลิปปินส์เป็นกฎหมายเฉพาะที่สนับสนุนการกระจายอำนาจในการป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัย (Decentralisation of Disaster Prevention and Mitigation) อันเป็นส่วนสำคัญในการสนับสนุนการป้องกันภัยธรรมชาติต่างๆ โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีบทบาทที่สำคัญในการสนับสนุนการป้องกันภัยธรรมชาติ โดยท้องถิ่นสามารถดำเนินการกิจกรรมทางปกครองและจัดทำบริการสาธารณะเพื่อป้องกันภัยธรรมชาติในรูปแบบต่างๆ สำหรับในส่วนของอำนาจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการบริหารความเสี่ยงจากภาวะน้ำท่วมนั้น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอาจมีอำนาจดังกล่าวตามที่กฎหมายปกครองและกฎหมายเฉพาะว่าด้วยการป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัยนั้นได้ให้อำนาจเพื่อดำเนินกิจกรรมและบริการสาธารณะด้านการป้องกันภัยพิบัติทางธรรมชาติ
       นอกจากนี้ กฎหมายเสริมสร้างการควบคุมภัยพิบัติทางธรรมชาติของฟิลิปปินส์ยังได้กำหนดหน่วยงานเฉพาะ ได้แก่ สภาความร่วมมือต้านภัยพิบัติแห่งชาติ และสภาประสานงานภัยพิบัติในภูมิภาค ที่จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ในการประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานของภาครัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดังที่ได้กล่าวมาในข้างต้น โดยสภาทั้งสองมีบทบาทที่สำคัญในการเสริมสร้างแนวทางการประสานความร่วมมือ (Cooperation) กับองค์กรอื่นๆที่เกี่ยวข้องในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อการบริหารจัดการความเสี่ยงจากภาวะน้ำท่วม
       [5] บทสรุป
       การกำหนดแนวทางและมาตรการในการแก้ปัญหาภาวะน้ำท่วมไว้ในประมวลกฎหมายสิ่งแวดล้อมของประเทศฟิลิปปินส์ ที่เป็นการกำหนดรูปแบบการจัดการผลกระทบสิ่งแวดล้อมเพียงฉบับเดียว (A single unifying Codification) ย่อมทำให้เกิดแนวทางในการป้องกันภัยพิบัติตามธรรมชาติที่อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้ชัดเจนและเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น อันถือเป็นการกำหนดวิธีการป้องกันภัยล่วงหน้า ในการเสริมสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนว่าประชาชนจะไม่ประสบอันตรายหรือได้รับอันตรายน้อยที่สุดจากการบริหารงานในการป้องกันภาวะน้ำท่วมของภาครัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  นอกจากนี้ ประเทศฟิลิปปินส์ยังได้กำหนดกฎหมายกฎหมายเสริมสร้างการควบคุมภัยพิบัติทางธรรมชาติ ที่กำหนดแนวทางในการกระจายอำนาจในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยไปสู่ท้องถิ่นและการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ภายใต้แนวทางตามแผนในการรับมือกับหายนะและภัยพิบัติทางธรรมชาติของฟิลิปปินส์
       แม้ว่าประเทศฟิลิปปินส์จะมีมาตรการทางกฎหมายในการรับมือกับภาวะน้ำท่วมที่ดีสักเพียงใดก็ตาม แต่อย่างไรก็ดี จากหายนะของภาวะน้ำท่วมในระหว่างเดือนธันวาคม พ.ศ. 2554 ที่ผ่านมา ย่อมแสดงให้เห็นว่าแม้จะมีการบัญญัติกฎหมายที่เสริมสร้างการป้องกันภัยพิบัติจากภาวะน้ำท่วมล่วงหน้า แต่ด้วยอิทธิพลของพายุโซนร้อนวาชิ (Tropical Storm Washi) ที่รุนแรงส่งผลกระทบให้เกิดภาวะน้ำท่วมและดินถล่มในหลายพื้นที่จนทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่าหกร้อยศพและมีผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ภาวะน้ำท่วมดังกล่าวเป็นจำนวนมาก จึงถือเป็นความท้าทายของประเทศฟิลิปปินส์ในการบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบันให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดและกำหนดแนวทางในการพัฒนาการป้องกันภัยจากภาวะน้ำท่วมล่วงหน้าในอนาคตเพื่อต่อสู้กับอุทกภัยและจัดการกับความเสี่ยงจากภาวะน้ำท่วมต่อไปในอนาคตให้มีประสิทธิภาพ เพื่อลดจำนวนของความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนชาวฟิลิปปินส์ต่อไป
        
       
       
       
       
       [1] The World Bank East Asia and Pacific Region Rural Development and National Disaster Coordinating Council Republic of the Philippines, Natural Disaster Risk Management in The Philippines: Enhancing Poverty Alleviation through Disaster Reduction, World Bank, 2000, page 1.
       
       
       [2] Bankoff, G., Vulnerability and Flooding in Metro Manila, Research Southeast Asia, available online at http://www.iias.nl/iiasn/31/IIASN31_11.pdf
       
       
       [3] Steering Committee, Working together to secure sustainable water for all The Integrated Water Resources Management (IWRM) Plan Framework, Steering Committee, 2006, page 10.
       
       
       [4] International Federation of Red Cross and Red Crescent Societies, Philippines: Floods; Information Bulletin no. 02/04, available online at www.ifrc.org/docs/appeals/rpts04/philippinesfloodsib0204.pdf
       
       
       [5] International Federation of Red Cross and Red Crescent Societies, Philippines: Typhoon Fengshen (MDRPH004), Operations Update no. 3, available online at http://www.ifrc.org/docs/appeals/08/MDRPH00403.pdf
       
       
       [6] BBC News, Dozens dead in Philippine floods, , Saturday, 26 September 2009,  available online at http://news.bbc.co.uk/1/hi/8276347.stm
       
       
       [7] Vasquez, R., The impact of driving Forces on Environmental and Compliance and Enforcement, , Environmental Management Bureau, available online at http://www.inece.org/4thvol1/vasquez.pdf
       
       
       [8] Japan External Trade Organization, JETRO IDE - Final Report, February 20, 2006, available online at www.jetro.go.jp/world/asia/environment/info/pdf/philippine.pdf
       
       
       [9] Philippine Environment Code, P.D. 1152  section 34
       
       
       [10] Philippine Environment Code, P.D. 1152  section 35  
       
       
       [11] Presidential Decree (PD) No. 1566  section 2
       
       
       [12] Presidential Decree (PD) No. 1566  section 3
       
       
       [13] Presidential Decree (PD) No. 1566  section 4
       
       
       [14] Presidential Decree (PD) No. 1566  section 5
       
       
       [15] P.D. No. 1566 STRENGTHENING THE PHILIPPINE DISASTER CONTROL, CAPABILITY AND ESTABLISHING THE NATIONAL PROGRAM ON COMMUNITY DISASTER PREPAREDNESS, available online at http://www.cordillera.gov.ph/index.php?option=com_content&task=view&id=394
       
       
       [16] Asian Disaster Reduction Center (ADRC), Information on Disaster Risk Reduction of the Member Countries, available online at http://www.adrc.asia/nationinformation.php?NationCode=608&Lang=en&Mode=country
       
       
       [17] Presidential Decree (PD) No. 1566  section 1
       
       
       [18] President of the Philippines, “PRESIDENTIAL DECREE No. 1566 June 11, 1978: Strengthening the Philippine disaster control, capability and establishing the national program on community disaster preparedness, available online at http://www.lawphil.net/statutes/presdecs/pd1978/pd_1566_1978.html
       
       
       [19] แผนดังกล่าวต้องระบุขั้นตอนและสถานการณ์ทั้งก่อนเกิดวิกฤติน้ำท่วม ระหว่างเกิดวิกฤติน้ำท่วมและภายหลังจากเกิดวิกฤติน้ำท่วม
       
       
       [20] นอกจากกฎหมายดังกล่าวยังได้กำหนดเรื่องของกองทุนเพื่อสนับสนุนด้านงบประมาณแล้ว รัฐบาลฟิลิปปินส์ยังได้สนับสนุนในเรื่องของกำลังใจสำหรับหน่วยงานหรือผู้ปฏิบัติหน้าที่ในการต่อสู้กับภัยพิบัติและภาวะน้ำท่วม โดยได้จัดตั้งรางวัล “Gawad Kalasag” เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้กับเจ้าหน้าที่รัฐ เจ้าหน้าที่องค์กรพัฒนาเอกชนและกลุ่มคนที่มีส่วนช่วยและขับเคลื่อนแผนและมาตรการในการรับมือภัยพิบัติทางธรรมชาติ
       
       
       [21] Philippines Government (1996), Republic Act No. 8185: an act amending section 324 (d) of Republic Act no.
       7160, otherwise known as the Local Government Code of 1991, available online at
       http://www.chanrobles.com/republicactno8185.htm
       
       


พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=1690
เวลา 25 พฤศจิกายน 2567 13:30 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)