|
|
เหตุที่ต้องยกเลิก MOU 2544 ว่าด้วยพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา 29 มกราคม 2555 20:58 น.
|
1. ความเป็นมา
ตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1982 ไหล่ทวีปของรัฐชายฝั่งประกอบด้วย พื้นดินท้องทะเลและดินใต้ผิวดินของบริเวณใต้ทะเล ซึ่งขยายเลยทะเลอาณาเขตออกไปตลอดแนวทอดยาวตามธรรมชาติของดินแดนจนถึงริมนอกของขอบทวีป หรือจนถึงระยะ 200 ไมล์ทะเลจากเส้นฐานซึ่งใช้วัดความกว้างของทะเลอาณาเขตในกรณีที่ริมนอกของขอบทวีปขยายไปไม่ถึงระยะนั้น รัฐชายฝั่งมีสิทธิอธิปไตยในการสำรวจและแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติในไหล่ทวีปของตน และผู้ใดจะดำเนินการเหล่านี้ต้องได้รับความยินยอมจากรัฐชายฝั่งนั้นก่อน
กัมพูชาและไทยได้ประกาศกำหนดเขตไหล่ทวีปของตนในอ่าวไทยเมื่อปี 2515 และ 2516 ตามลำดับ การประกาศอ้างสิทธิเขตไหล่ทวีปของทั้งสองฝ่ายทำให้เกิดพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนทางทะเลประมาณ 26,000 ตร.กม. ทั้งสองฝ่ายได้มีการเจรจาเรื่องเขตแดนทางทะเลหลายครั้งเริ่มตั้งแต่ปี 2513 จนในที่สุดเมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 2544 ในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ทั้งสองฝ่ายได้มีการลงนามรับรองบันทึกความเข้าใจไทย-กัมพูชา ว่าด้วยพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนทางทะเลในไหล่ทวีป ซึ่งต่อไปเรียกว่า MOU 2544
MOU 2544 เป็นบันทึกความเข้าใจที่กำหนดกรอบและกลไกในการเจรจาเพื่อหาข้อสรุปเรื่องการปักปันเขตแดน (delimitation) ทางทะเลในพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนส่วนบนที่อยู่เหนือเส้นละติจูด 11 องศาเหนือ โดยมีพื้นที่ประมาณ 10,000 ตร.กม. ซึ่งต่อไปเรียกพื้นที่ส่วนนี้ว่า พื้นที่ทับซ้อนส่วนบน และเรื่องการพัฒนาร่วมทรัพยากรปิโตรเลียมสำหรับพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนส่วนล่างที่อยู่ใต้เส้นละติจูด 11 องศาเหนือ ในลักษณะพื้นที่พัฒนาร่วม (Joint Development Area: JDA) โดยมีพื้นที่ประมาณ 16,000 ตร.กม ซึ่งต่อไปเรียกพื้นที่ส่วนนี้ว่า พื้นที่ทับซ้อนส่วนล่าง โดยต้องดำเนินการทั้งสองเรื่องในลักษณะที่ไม่แบ่งแยกออกจากกัน (indivisible package) และให้มีคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิค (Joint Technical Committee: JTC) ดำเนินการพิจารณาและเจรจาร่วมกันในเรื่องนี้ ทั้งนี้ได้ตกลงกันว่า MOU 2544 และการดำเนินการทั้งหมดตาม MOU 2544 จะไม่กระทบต่อการอ้างสิทธิทางทะเลของแต่ละฝ่าย
ไทยและกัมพูชาได้มีการเจรจาและดำเนินการตาม MOU 2544 ตั้งแต่หลังการลงนามรับรองเมื่อปี 2544 แต่จนถึงปัจจุบันยังไม่สามารถตกลงหาข้อสรุปใดๆ ได้ โดยเมื่อวันที่ 10 พ.ย. 2552 ค.ร.ม. ในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้มีมติเห็นชอบในหลักการให้ยกเลิก MOU 2544 และให้นำเรื่องเสนอต่อรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบ โดยให้กระทรวงการต่างประเทศพิจารณาข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างรอบคอบ ซึ่งมีเหตุผลให้ยกเลิกเนื่องจากการที่รัฐบาลกัมพูชาแต่งตั้งพ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร เป็นที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจ จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการเจรจาภายใต้ MOU 2544 ทั้งนี้เพราะ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร เกี่ยวข้องโดยตรงในการผลักดันให้จัดทำ MOU 2544 และรับรู้ท่าทีในการเจรจาของฝ่ายไทย รัฐบาลไทยจึงไม่อาจดำเนินการเจรจาภายใต้ MOU 2544 ได้อีก แต่จนถึงปัจจุบัน MOU 2544 ยังไม่ถูกยกเลิกอย่างเป็นทางการแต่อย่างใด
ต่อมารัฐบาล น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้เข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2554 และมีท่าทีชัดเจนว่าจะไม่ยกเลิก MOU 2544 ยิ่งไปกว่านั้นยังจะเร่งเจรจากับกัมพูชาเพื่อร่วมกันพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมในพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนดังกล่าว และเมื่อวันที่ 3 ต.ค. 2554 ที่ประชุมกระทรวงการต่างประเทศซึ่งมีนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล ร.ม.ว. การต่างประเทศ เป็นประธาน ได้มีความเห็นว่า หลักการของ MOU 2544 ยังมีประโยชน์อยู่ และจะเสนอเรื่องนี้ให้ ค.ร.ม. พิจารณา ล่าสุดเมื่อวันที่ 29 ธ.ค. 2554 นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล และนายพิชัย นริพทะพันธุ์ ร.ม.ว. กระทรวงพลังงาน ได้เยือนกัมพูชาอย่างเป็นทางการ โดยทั้งสองได้แถลงต่อสื่อมวลชนว่า ฝ่ายกัมพูชาต้องการเร่งรัดการเจรจาเพื่อแบ่งปันผลประโยชน์ในพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนทางทะเลตาม MOU 2544 ให้เสร็จโดยเร็วภายในหนึ่งปีครึ่ง โดยทั้งสองเห็นด้วยกับการเร่งรัดการเจรจาดังกล่าว แต่ต้องรอเสนอเรื่องให้ ค.ร.ม. พิจารณาก่อน
อย่างไรก็ดี ในขณะนี้มีประชาชนไทยจำนวนมากไม่เห็นด้วยกับการเจรจาตามกรอบ MOU 2544 เนื่องจากเห็นว่าไทยเสียเปรียบอย่างมาก รวมทั้งมีข้อสงสัยและห่วงใยในเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนที่อาจมีของนักการเมืองทั้งฝ่ายไทยและฝ่ายกัมพูชา รวมทั้งของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ด้วย
2. เหตุผลที่ต้องยกเลิก MOU 2544
จากข้อมูล ข้อเท็จจริง และหลักกฎหมายระหว่างประเทศ เห็นว่า MOU 2544 เป็นบันทึกความเข้าใจที่ทำให้ไทยเสียเปรียบในการเจรจากับกัมพูชาอย่างมาก รวมทั้งอาจมีการการดำเนินการที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนของนักการเมืองทั้งฝ่ายไทยและฝ่ายกัมพูชาเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งยากแก่การตรวจสอบ จึงเห็นควรต้องยกเลิก MOU 2544 ด้วยเหตุผลสำคัญดังนี้
2.1 เส้นเขตไหล่ทวีปที่กัมพูชาอ้างสิทธิละเมิดอนุสัญญาเจนีวาว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1958 ซึ่งกัมพูชาเป็นภาคีอย่างร้ายแรง จึงควรต้องให้กัมพูชาปรับเส้นเขตไหล่ทวีปทั้งหมดของตนให้เป็นไปตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศเสียก่อน
แต่ MOU 2544 กลับกำหนดกรอบให้มีการเจรจาปรับเส้นเขตไหล่ทวีปเฉพาะในส่วนพื้นที่ทับซ้อนส่วนบนเท่านั้นซึ่งมีพื้นที่เพียงประมาณ 10,000 ตร.กม. แต่พื้นที่ทับซ้อนส่วนล่างซึ่งมีพื้นที่ถึงประมาณ 16,000 ตร.กม. ไม่ต้องมีการเจรจาปรับเส้นเขตไหล่ทวีปแต่อย่างใดโดยให้ใช้เป็นพื้นที่พัฒนาร่วม
เส้นเขตไหล่ทวีปที่กัมพูชาอ้างสิทธิซึ่งเกี่ยวข้องกับไทยแบ่งออกได้เป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่มีฝั่งทะเลประชิดกับไทย และส่วนที่มีฝั่งทะเลตรงข้ามกับไทย ในการกำหนดเส้นเขตไหลทวีปนั้นต้องอิงอนุสัญญาระหว่างประเทศที่ประเทศนั้นเป็นภาคี จารีตประเพณีระหว่างประเทศ และหลักทั่วไปของกฎหมายที่ถูกยอมรับโดยอารยประเทศ เป็นต้น
กัมพูชาและไทยเป็นภาคีของอนุสัญญาเจนีวาว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1958 เมื่อปี 2503 และ 2511 ตามลำดับ ทั้งสองฝ่ายจึงมีข้อผูกพันที่จะต้องปฏิบัติตามอนุสัญญาดังกล่าวซึ่งบัญญัติว่า หากไม่มีการตกลงกันหรือมีพฤติการณ์พิเศษ สำหรับไหล่ทวีปของรัฐชายฝั่งที่มีฝั่งทะเลอยู่ประชิดกันให้ใช้หลักระยะห่างเท่ากัน (The principle of equidistance) จากจุดที่ใกล้ที่สุดของเส้นฐานซึ่งใช้วัดความกว้างของทะเลอาณาเขตของแต่ละรัฐ
แต่กัมพูชากลับกำหนดตามใจชอบโดยลากเส้นเขตไหล่ทวีปของตนจากฝั่งที่ตำแหน่งซึ่งอ้างว่าเป็นหลักเขตแดนทางบกไทย-กัมพูชาหลักสุดท้ายที่มาจดริมทะเล ตรงออกไปยังประมาณกลางขอบนอกด้านตะวันออกของเกาะกูดซึ่งเป็นของไทย จากนั้นจึงลากเส้นเขตไหล่ทวีปเริ่มต้นใหม่จากขอบนอกด้านตะวันตกของเกาะกูดในระดับและทิศทางเดียวกัน ตรงออกไปทางทิศตะวันตกจนเกือบถึงกึ่งกลางอ่าวไทย การกระทำลักษณะนี้เป็นการละเมิดอนุสัญญาเจนีวาอย่างร้ายแรง ซึ่งไม่มีอารยประเทศใดทำกัน
นอกจากนี้การกำหนดเส้นเขตไหล่ทวีปในส่วนที่มีฝั่งทะเลตรงข้ามกับไทย ถึงแม้กัมพูชาจะใช้เส้นมัธยะ (Median line) ตามอนุสัญญาเจนีวา แต่เส้นฐานตรงที่ใช้วัดความกว้างของทะเลอาณาเขตซึ่งใช้เป็นเส้นอ้างอิงในการกำหนดเส้นเขตไหล่ทวีปของกัมพูชานั้น ไม่เป็นไปตามอนุสัญญาเจนีวา เนื่องจากกัมพูชาใช้หินกัสโรเวีย (Kusrovie) และหินคอนดอร์ (Condor) ซึ่งไม่ใช่เกาะแต่เป็นโขดหินที่โผ่พ้นน้ำเฉพาะเมื่อน้ำทะเลลดและอยู่ห่างจากฝั่งมาก เป็นจุดฐานของเส้นฐานตรงดังกล่าว ยิ่งไปกว่านั้นกัมพูชายังไม่พิจารณาให้ผล (effect) ต่อเกาะใดๆ ของไทย การกระทำดังกล่าวมีผลทำให้เส้นเขตไหล่ทวีปที่กัมพูชาอ้างสิทธิขยายกว้างออกไปกว่าที่ควรจะเป็นอย่างมาก โดยเป็นการขยายกินพื้นที่เข้ามาในฝั่งไทย
2.2 กรอบในการเจรจาตาม MOU 2544 ทำให้กัมพูชาไม่ต้องปรับเส้นเขตไหล่ทวีปที่ตนอ้างสิทธิในพื้นที่ทับซ้อนส่วนล่างให้เป็นไปตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ อีกทั้งยังสามารถใช้การปรับเส้นเขตไหล่ทวีปที่ตนอ้างสิทธิในพื้นที่ทับซ้อนส่วนบนซึ่งกัมพูชาแทบจะไม่ได้พื้นที่เลยในส่วนนี้มาใช้เจรจาต่อรองได้
จากรายละเอียดการเจรจาระหว่างไทยกับกัมพูชาในเรื่องพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนในไหล่ทวีปใน 3 ครั้งที่สำคัญ คือ เมื่อวันที่ 2-5 ธ.ค. 2513 14 มี.ค. 2535 และ 27-28 เม.ย. 2538 พอสรุปได้ว่า กัมพูชามีท่าทีชัดเจนมาตลอดว่าต้องการให้พื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนในไหล่ทวีปทั้งหมดเป็นพื้นที่พัฒนาร่วม โดยให้แบ่งผลประโยชน์ฝ่ายละเท่ากัน และไม่สนใจที่จะปรับปรุงเส้นเขตไหล่ทวีปที่ตนอ้างสิทธิให้เป็นไปตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ
ส่วนไทยมีท่าทีว่าเขตไหล่ทวีปที่กัมพูชาอ้างสิทธิไม่เป็นไปตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ กัมพูชาต้องปรับเส้นเขตไหล่ทวีปของตนให้ถูกต้องตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศจนเหลือพื้นที่ทับซ้อนที่แท้จริงที่สมเหตุผลและมีพื้นที่น้อยที่สุด แล้วจึงค่อยมาพิจารณาพื้นที่นั้นเพื่อทำเป็นพื้นที่พัฒนาร่วม ท่าทีของไทยดังกล่าวถือได้ว่าเป็นท่าทีที่ถูกต้องและเหมาะสม รวมทั้งสอดคล้องกับท่าทีการเจรจาเขตแดนทางทะเลของไทยที่ผ่านมากับประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ
นอกจากนี้กัมพูชามีความต้องการที่จะให้ดำเนินการตกลงทำเป็นพื้นที่พัฒนาร่วมให้เร็วที่สุดเพื่อการแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรปิโตรเลียมในพื้นที่ดังกล่าว อันจะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของตนอย่างสำคัญยิ่ง ในขณะที่ไทยไม่มีความจำเป็นที่ต้องรีบเร่งในเรื่องดังกล่าวอย่างเช่นกัมพูชา ความต้องการในการรีบเร่งที่แตกต่างกันนี้ทำให้ไทยอยู่ในฐานะที่เหนือกว่ากัมพูชาในการเจรจาก่อนการจัดทำ MOU 2544
แต่ MOU 2544 กลับกำหนดกรอบในการเจรจาที่ต่างไปจากท่าทีเดิมของไทยดังกล่าวอย่างสิ้นเชิง โดยกำหนดกรอบให้เจรจาปรับเส้นเขตไหล่ทวีปให้เป็นไปตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศเฉพาะในส่วนพื้นที่ทับซ้อนส่วนบนเท่านั้น แต่พื้นที่ทับซ้อนส่วนล่างไม่ต้องมีการเจรจาปรับเส้นเขตไหล่ทวีปแต่อย่างใด โดยให้ใช้เป็นพื้นที่พัฒนาร่วม นอกจากนี้ยังกำหนดให้การดำเนินการสำหรับพื้นที่ทับซ้อนทั้งสองส่วนมีลักษณะที่ไม่แบ่งแยกออกจากกัน
แต่ตามข้อเท็จจริงพื้นที่ทับซ้อนส่วนบนนั้น กัมพูชากำหนดเส้นเขตไหล่ทวีปตามใจชอบ ในขณะที่ไทยมีการกำหนดที่มีความสอดคล้องตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศมากกว่ากัมพูชาอย่างมีนัยสำคัญในบริเวณพื้นที่ทับซ้อนทั้งส่วนบนและล่าง ดังนั้นหากกำหนดให้ถูกตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศแล้ว กัมพูชาแทบจะไม่ได้พื้นที่อะไรเลยในบริเวณพื้นที่ทับซ้อนส่วนบน และพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนที่แท้จริงในบริเวณพื้นที่ทับซ้อนส่วนล่างจะเหลือน้องลงจากเดิมอย่างมากในทางที่เป็นคุณต่อไทย
ดังนั้นการผูกประเด็นเจรจาให้พื้นที่ทับซ้อนทั้งสองส่วนแยกต่างหากจากกันมิได้ มีผลที่เป็นคุณต่อกัมพูชามากกว่าไทย โดยก่อนจัดทำ MOU 2544 กัมพูชาอยู่ในฐานะที่ไม่สามารถต่อรองอะไรได้มาก เพราะกัมพูชากำหนดเส้นเขตไหล่ทวีปของตนโดยไม่เป็นไปตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศใดๆ แต่เมื่อจัดทำ MOU 2544 แล้ว พื้นที่ทับซ้อนส่วนล่างไม่มีประเด็นที่จะต้องอ้างอิงหลักกฎหมายระหว่างประเทศใดอีกต่อไป ในขณะที่พื้นที่ทับซ้อนส่วนบนเป็นส่วนที่กัมพูชาแทบจะไม่ได้พื้นที่อะไรเลยอยู่แล้วหากกำหนดตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ แต่กัมพูชากลับสามารถใช้การเจรจาในพื้นที่ทับซ้อนส่วนบนมาเป็นประโยชน์สำหรับการเจรจาต่อรองกับไทยในพื้นที่ทับซ้อนส่วนล่างได้
2.3 แหล่งปิโตรเลียมในพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนในไหล่ทวีปไทย-กัมพูชา มีการกระจายตัวอยู่ไม่สม่ำเสมอ และค่อนข้างเป็นไปได้อย่างมากว่าส่วนใหญ่อยู่ที่ด้านตะวันตกของพื้นที่ดังกล่าวซึ่งอยู่ใกล้ฝั่งไทย
มีการคาดการณ์ที่น่าเชื่อถือได้ในทางธรณีวิทยาว่า แหล่งทรัพยากรทรัพยากรปิโตรเลียมที่มีศักยภาพนั้นอยู่ที่บริเวณตะวันออกของแอ่งปัตตานี (Pattani Trough) ซึ่งต่อจากน่านน้ำไทยออกไปในพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนในไหล่ทวีปไทย-กัมพูชา และค่อนข้างเป็นไปได้อย่างมากว่า ทรัพยากรปิโตรเลียมในพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนนั้น มีการกระจายตัวอยู่ไม่สม่ำเสมอโดยส่วนใหญ่อยู่ที่ด้านตะวันตกของพื้นที่ดังกล่าวซึ่งอยู่ใกล้ฝั่งไทย
จากรายงานการสำรวจด้านธรณีวิทยา (Fact Sheet 2010-3015) ของสหรัฐอเมริกา (USGS) เมื่อเดือน มิ.ย. 2553 ซึ่งได้ให้ข้อมูลการประเมินบริเวณที่มีน้ำมันและแก๊สซึ่งยังไม่ค้นพบภายในเขตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้มีการแสดงรูปตำแหน่งของแอ่ง (Basin) ที่มีการสะสมตัวของน้ำมันและแก๊สรวม 23 แห่ง สำหรับในอ่าวไทยนั้นมีแอ่งดังกล่าวอยู่จำนวน 3 แอ่ง คือ แอ่งซีโนโซอิกไทย (Thai Cenozoic Basin) อยู่ด้านเหนือของอ่าวไทย แอ่งไทย (Thai Basin) อยู่ด้านตะวันตกของอ่าวไทยโดยมีแอ่งปัตตานีเป็นแอ่งย่อย และแอ่งมาเลย์ (Malay Basin) อยู่ทางด้านใต้ของอ่าวไทย โดยพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนในไหล่ทวีปไทย-กัมพูชา มีแอ่งที่มีการสะสมตัวของน้ำมันและแก๊สอยู่ส่วนใหญ่ในด้านที่ใกล้ฝั่งไทย ด้วยเหตุนี้กัมพูชาจึงต้องการตกลงให้พื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนดังกล่าวทั้งหมดหรือมากที่สุดเป็นพื้นที่พัฒนาร่วม โดยไม่ต้องการแบ่งเขตทางทะเลกับไทย MOU 2544 จึงตอบสนองความต้องการดังกล่าวของกัมพูชาได้อย่างดียิ่ง แต่กลับทำให้ไทยต้องเสียเปรียบอย่างมากในการเจรจาต่อรอง
2.4 ผลประโยชน์ทับซ้อนของนักการเมืองทั้งฝ่ายไทยและกัมพูชาในพื้นที่พัฒนาร่วมที่ยากแก่การตรวจสอบ
หากพิจารณาการจัดทำ MOU 2544 จะพบว่ามีการเร่งรีบอย่างมาก รัฐบาล พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 17 ก.พ. 2544 ได้จัดให้มีการเจรจาอย่างไม่เป็นทางการของเจ้าหน้าที่ระดับอาวุโสของไทยและกัมพูชาที่เสียมราฐเมื่อวันที่ 21 เม.ย. 2544 ซึ่งสามารถกำหนดแนวทางจนนำไปสู่การจัดทำ MOU 2544
ในวันที่ 4 มิ.ย. 2544 ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย ร.ม.ว. การต่างประเทศของไทยในขณะนั้น และ นายซก อัน รัฐมนตรีอาวุโส และประธานการปิโตรเลียมแห่งชาติกัมพูชา ได้ร่วมลงนามเบื้องต้นใน MOU 2544 โดยทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะเสนอบันทึกความเข้าใจดังกล่าวให้รัฐบาลของทั้งสองฝ่ายพิจารณาให้ความเห็นชอบ
ต่อมาได้มีการลงนามรับรองอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 2544 ณ กรุงพนมเปญ ในระหว่างการเยือนกัมพูชาอย่างเป็นทางการของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น จะเห็นว่ามีการใช้เวลาเพียงแค่ประมาณ 4 เดือนในการจัดทำ MOU 2544 อันบ่งบอกถึงความรีบเร่งในการจัดทำ MOU 2544 ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงในการมีผลประโยชน์ทับซ้อนของนักการเมืองทั้งฝ่ายไทยและกัมพูชาเข้ามาเกี่ยวข้อง
ยิ่งไปกว่านั้นหากดูที่แผนที่แนบท้าย MOU 2544 ซึ่งแสดงถึงการแบ่งพื้นที่ทับซ้อนส่วนบนและส่วนล่าง จะเห็นว่ามีการระบุเส้นละติจูดผิดจาก องศาเหนือ (oN) เป็น องศาตะวันออก (oE) อันเป็นการยืนยันถึงความรีบเร่งในการจัดทำ MOU 2544
นอกจากนี้เมื่อพรรคเพื่อไทยนำโดย น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาวของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ชนะการเลือกตั้ง สมเด็จฯ ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีของกัมพูชาซึ่งเคยแต่งตั้งพ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร เป็นที่ปรึกษาส่วนตัวและที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลกัมพูชาเมื่อปี 2552 ได้ออกมาแสดงความยินดีอย่างออกหน้าจนผิดสังเกต ในขณะที่รัฐบาล น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้มีท่าทีชัดเจนตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งว่าจะไม่ยกเลิก MOU 2544 ยิ่งไปกว่านั้นยังจะเร่งเจรจากับกัมพูชาเพื่อร่วมกันพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมในพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนดังกล่าว
ถึงแม้ข้อตกลงสุดท้ายที่ได้จาการเจรจาของ JTC ตาม MOU 2544 จะต้องเสนอรัฐสภาให้ความเห็นชอบตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 แต่รัฐบาล น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีเสียงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสนับสนุนอย่างน้อยถึง 300 เสียง และมีฐานเสียงสนับสนุนจากสมาชิกวุฒิสภาโดยเฉพาะอย่างยิ่งสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้งอีกจำนวนหนึ่ง จึงเป็นเรื่องไม่ยากที่จะได้เสียงเกิน 325 เสียงซึ่งเกินกึ่งหนึ่งของเสียงทั้งหมดในรัฐสภาสำหรับการให้ความเห็นชอบข้อตกลงดังกล่าว ส่งผลให้การตรวจสอบเรื่องดังกล่าวเป็นไปได้ยากยิ่ง
สำหรับการยกเลิก MOU 2544 นั้น ไทยอาจดำเนินการโดยการหยุดเจรจาตาม MOU 2544 ซึ่งก็เสมือนเป็นการยกเลิก MOU 2544 โดยปริยาย เนื่องจากยกเลิก MOU 2544 อย่างเป็นทางการอาจไม่สามารถทำได้ตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ เมื่อกัมพูชาเห็นท่าทีอย่างชัดเจนว่าไทยหยุดการเจรจา กัมพูชาก็จะเริ่มเข้ามาเจรจากับไทยใหม่เนื่องจากกัมพูชาเองมีความต้องการอย่างมากที่จะแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรปิโตรเลียมในพื้นที่ดังกล่าว เมื่อถึงเวลานั้นแล้ว ไทยควรเสนอให้มีการปักปันเขตแดนทางทะเลตลอดแนวกับกัมพูชา
หากการเจรจาปักปันเขตแดนดังกล่าวไม่ประสบผลสำเร็จภายใน 1-2 ปี ก็ควรตกลงกับกัมพูชาให้ยื่นเรื่องให้ศาลโลก หรือศาลกฎหมายทะเลระหว่างประเทศ เพื่อตัดสินกำหนดเส้นเขตแดนทางทะเล ศาลอาจใช้เวลาประมาณ 2-3 ปี ในการตัดสิน รวมเวลาการเจรจาและให้ศาลตัดสินแล้วไม่น่าจะเกิน 5 ปี ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ไม่นานนัก ทั้งนี้คำตัดสินของศาลโลกในคดีต่างๆ เกี่ยวกับเขตแดนทางทะเลที่ผ่านมามีความยุติธรรมและเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป รวมทั้งคำวินิจฉัยจากคดีดังกล่าวยังถูกใช้เป็นบรรทัดฐานในการเจรจาแบ่งเขตทางทะเลระหว่างรัฐชายฝั่งอย่างกว้างขวางอีกด้วย
|
|
|
พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=1685
เวลา 21 พฤศจิกายน 2567 23:06 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)
|
|