ครั้งที่ 280

18 ธันวาคม 2554 17:00 น.

       สำหรับวันจันทร์ที่ 19 ธันวาคม 2554 ถึงวันอาทิตย์ที่ 1 มกราคม 2555
        
       “ป.ป.ช. ลุแก่อำนาจ ???”
        
                 ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 ธันวาคมที่ผ่านมา มีข่าวออกมาว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้เสนอเรื่องการให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการจัดทำข้อมูลรายละเอียดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างโดยเฉพาะราคากลางไว้ในระบบข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าตรวจดูได้และการกำหนดมาตรการที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม ต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อดำเนินการตามมาตรา 103/8 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 คือ เพื่อให้คณะรัฐมนตรีสั่งการให้หน่วยงานของรัฐจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนดโดยหน่วยงานของรัฐจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 180 วันนับแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ดำเนินการดังกล่าว
                 จากข่าวที่ปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์บางฉบับ มีการนำเสนอข้อมูลว่า มีรัฐมนตรีหลายคนไม่พอใจในการเสนอเรื่องดังกล่าวโดยเห็นว่า ป.ป.ช. ลุแก่อำนาจและก้าวล่วงเข้ามายุ่งกับการทำงานของฝ่ายบริหารซึ่งจะทำให้เป็นอุปสรรคต่อการทำงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐได้
                 เนื่องจากตัวผมเองมีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดทำรายละเอียดเกี่ยวกับการกำหนดให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการจัดทำข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างโดยเฉพาะราคากลางและการคำนวณราคากลางไว้ในระบบข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าตรวจดูได้ซึ่งเป็นที่มาของเอกสารที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้นำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีดังกล่าวข้างต้น จึงขอนำเรื่องดังกล่าวมาเขียนไว้ในบทบรรณาธิการครั้งนี้โดยก่อนที่จะกล่าวถึงเรื่องที่เป็นปัญหา ก็ต้องขอเล่าให้ฟังถึงความเป็นมาของการเสนอเรื่องดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรีว่ามีความเป็นมาอย่างไรก่อน
                 เรื่อง “การให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการจัดทำข้อมูลรายละเอียดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างโดยเฉพาะราคากลางไว้ในระบบข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าตรวจดูได้และการกำหนดมาตรการที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม” นั้น มีที่มาจากบทบัญญัติมาตรา 103/7 วรรคแรกแห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 ที่ว่า “ให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการจัดทำข้อมูลรายละเอียดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างโดยเฉพาะราคากลางและการคำนวณราคากลางไว้ในระบบข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าตรวจดูได้”และจากมาตรา 103/8 ที่ว่า “ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีหน้าที่รายงานต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อสั่งการให้หน่วยงานของรัฐจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างตามมาตรา 103/7 วรรคหนึ่ง โดยหน่วยงานของรัฐจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ดำเนินการดังกล่าว และให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีหน้าที่ติดตามผลการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีในกรณีดังกล่าวด้วย
       หน่วยงานของรัฐใดฝ่าฝืนหรือไม่ดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ให้ถือว่าผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องมีความผิดทางวินัยหรือเป็นเหตุที่จะถูกถอดถอนจากตำแหน่งหรือต้องพ้นจากตำแหน่ง แล้วแต่กรณี”
                 กฎหมาย ป.ป.ช. ฉบับที่ 2 นี้มีประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจพอสมควร  เริ่มต้นในสมัยรัฐประหาร สภานิติบัญญัติแห่งชาติในคราวประชุมครั้งที่ 51/2550 วันพุธที่ 19 กันยายน 2550 ได้พิจารณาและลงมติรับหลักการในวาระที่หนึ่งแห่งร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่คณะรัฐมนตรี  นางจุรี  วิจิตรวาทการและคณะ และคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นผู้เสนอ โดยให้ถือเอาร่างที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอเป็นหลักในการพิจารณา ต่อมาสภานิติบัญญัติแห่งชาติในการประชุมครั้งที่ 71/2550 วันพฤหัสบดีที่ 13 ธันวาคม 2550 ได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ... ในวาระที่สองเรียงตามลำดับมาตราจนจบร่างและลงมติในวาระที่สาม ซึ่งมีผู้เข้าประชุม 129 คน เห็นด้วย 124 เสียง ไม่เห็นด้วย 1 เสียง งดออกเสียง 4 เสียง ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ส่งร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ซึ่งต่อมา ศาลรัฐธรรมนูญก็ได้มีคำวินิจฉัยที่ 3/2551 ลงวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2551 ว่า ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและเป็นอันตกไป  จากนั้น เมื่อมีการเลือกตั้งทั่วไปในปี พ.ศ. 2551 และมีสภาผู้แทนราษฎร ก็ได้มีการนำร่างกฎหมายดังกล่าวเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรอีกครั้งหนึ่ง รวมทั้งยังมีร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตที่เสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอีก 4 ฉบับ ในที่สุด ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติในวาระที่หนึ่งรับหลักการแห่งร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญทั้ง 5 ฉบับพร้อมกันไป มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... จำนวน 36 คน ซึ่งต่อมา สภาผู้แทนราษฎรก็ได้ลงมติเห็นชอบด้วยกับร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... และส่งให้วุฒิสภาพิจารณาต่อไปเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2552  จากนั้น ก็เป็นกระบวนการพิจารณาร่างกฎหมายของวุฒิสภา ตามมาด้วยการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญโดยศาลรัฐธรรมนูญ  จนกระทั่งในที่สุด พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 ก็ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาไปเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2554 ที่ผ่านมา
                 นี่คือความเป็นมาของกฎหมาย ป.ป.ช. ฉบับที่ 2  และจากการตรวจสอบพบว่า มาตรา 103/7 และมาตรา 103/8 อันเป็นเรื่องเกี่ยวกับการกำหนดให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการจัดทำข้อมูลรายละเอียดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างโดยเฉพาะราคากลางและการคำนวณราคากลางไว้ในระบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าตรวจดูได้ที่ได้มีการนำเสนอคณะรัฐมนตรีไปเมื่อวันที่ 13 ธันวาคมที่ผ่านมานั้น มาจากการที่คณะกรรมาธิการวิสามัญได้เพิ่มมาตราดังกล่าวเข้าไปใหม่เป็นร่างมาตรา 103/6/6 และร่างมาตรา 103/6/7 และสภาผู้แทนราษฎรก็ได้เห็นชอบด้วยกับร่างมาตราที่เพิ่มเข้าไปใหม่ของคณะกรรมาธิการครับ
                 ในเมื่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตมีบทบัญญัติเช่นนั้น ก็ต้องเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่จะต้องดำเนินการตามบทบัญญัติดังกล่าวโดยมาตรา 72 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ฉบับที่ 2 กำหนดให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการกำหนดหลักเกณฑ์ตามมาตรา 103/7 และรายงานต่อคณะรัฐมนตรีให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน นับแต่วันที่กฎหมายใช้บังคับและเมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในเรื่องดังกล่าว หน่วยงานของรัฐก็ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน นับแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ดำเนินการ
                 เมื่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 มีผลใช้บังคับ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการและคณะทำงานขึ้นมาหลายชุดเพื่อดำเนินการจัดทำเรื่องต่าง ๆ ที่กฎหมายฉบับใหม่กำหนดให้ต้องทำ โดยในเรื่องที่เป็นปัญหาข้างต้นได้มีการแต่งตั้ง “คณะทำงานศึกษาและจัดทำร่างรายงานของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อสั่งการให้หน่วยงานของรัฐจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้าง” ขึ้น โดยมีผมเป็นประธานคณะทำงานและมีผู้แทนจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นคณะทำงานด้วย คณะทำงานมีอำนาจหน้าที่สำคัญ 3 ประการด้วยกันคือ ศึกษาวิเคราะห์และจัดทำรายละเอียดเกี่ยวกับการกำหนดให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการจัดทำข้อมูลรายละเอียดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างโดยเฉพาะราคากลางและการคำนวณราคากลางไว้ในระบบข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าตรวจดูได้  จัดทำร่างรายงานของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาสั่งการให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการจัดทำข้อมูล  และกำหนดวิธีการของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อติดตามผลการดำเนินการของหน่วยงานของรัฐในการดำเนินการตามมติของคณะรัฐมนตรีในเรื่องนี้  การทำงานของคณะทำงานนั้น เราได้เชิญทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องมาร่วมประชุมและให้ข้อมูลเพื่อประกอบการจัดทำ จนกระทั่งแน่ใจแล้วว่า เรื่องการกำหนดให้หน่วยงานของรัฐจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างนั้นสามารถทำได้และไม่สร้างภาระให้กับทั้งหน่วยงานของรัฐและภาคเอกชน รวมทั้งยังสามารถ “ส่งเสริม” การป้องกันการทุจริตได้ด้วย คณะทำงานจึงได้เสนอเรื่องดังกล่าวต่อคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อศึกษาวิเคราะห์และพิจารณาดำเนินการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตที่แก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับการกำหนดหลักเกณฑ์การทำสัญญาระหว่างหน่วยงานของรัฐและการจัดให้มีรางวัลตอบแทนหรือประโยชน์อื่นใดแก่บุคคล (คณะที่ 2) ที่มีกรรมการ ป.ป.ช. คือ ศาสตราจารย์ ดร.ภักดี โพธิศิริ เป็นประธานอนุกรรมการ  จากนั้น คณะอนุกรรมการก็ได้จัดรับฟังความคิดเห็นจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง ภายหลังจากที่ได้ทำการปรับปรุงตามข้อสังเกตก็ได้มีการเสนอเรื่องดังกล่าวต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อให้ความเห็นชอบ  จากนั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. ก็ได้เสนอเรื่องดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรี
                 เมื่อพิจารณาดูอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ทั้งตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้องแล้ว ก็พบว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช. นั้นมีหน้าที่ในการตรวจสอบฝ่ายบริหาร ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐระดับสูงซึ่งคณะรัฐมนตรีก็เป็นหนึ่งในบรรดาผู้ที่ต้องถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตรวจสอบ มาตรา 103/8 แห่งกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตจึงได้บัญญัติไว้แต่เพียงให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีหน้าที่รายงานต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อสั่งการให้หน่วยงานของรัฐจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างตามมาตรา 103/7 วรรคหนึ่งโดยหน่วยงานของรัฐจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ดำเนินการดังกล่าว
                   ในความเห็นของผมนั้น มาตรา 103/8 เขียนไว้ชัดเจนว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีหน้าที่รายงานต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อสั่งการให้หน่วยงานของรัฐจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างตามมาตรา 103/7 วรรคหนึ่งโดยหน่วยงานของรัฐจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ดำเนินการดังกล่าว ซึ่งก็หมายความว่า คณะรัฐมนตรีไม่อาจพิจารณาปรับปรุงหรือแก้ไขหรือไม่เห็นด้วยกับเรื่องดังกล่าวได้ โดยตรรกะง่าย ๆ อยู่ตรงที่ว่า คณะรัฐมนตรีเป็นหนึ่งในบรรดาผู้ที่ต้องถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตรวจสอบ หากผู้ถูกตรวจสอบสามารถกำหนดวิธีการตรวจสอบได้ตามใจตัวเอง การตรวจสอบที่ดีและถูกต้องก็จะไม่มีทางเกิดขึ้นได้ ดังนั้น การเสนอเรื่องของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ต่อคณะรัฐมนตรีจึงมีวัตถุประสงค์เพียงเพื่อให้คณะรัฐมนตรีสั่งการให้หน่วยงานของรัฐภายใต้บังคับบัญชาของคณะรัฐมนตรีดำเนินการตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เสนอ ส่วนในตอนท้ายของมาตราดังกล่าวที่เขียนว่า ....นับแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ดำเนินการดังกล่าวได้นั้น ไม่ได้หมายความว่า คณะรัฐมนตรีมีอำนาจพิจารณาความเห็นชอบในสิ่งที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เสนอเพราะหากกฎหมายต้องการเช่นนั้นคงเขียนไว้ชัดเจนแล้วตั้งแต่ตอนต้นว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีหน้าที่รายงานต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา
                 ด้วยเหตุนี้เอง ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 ธันวาคมที่ผ่านมา หน่วยงานของรัฐจึงมีเวลาเตรียมตัว 180 วัน ที่จะดำเนินการตามแนวทางที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้กำหนดเอาไว้ครับ  แต่อย่างไรก็ตาม ขณะเขียนบทบรรณาธิการนี้ไม่ทราบว่าคณะรัฐมนตรีมีมติว่าอย่างไร เพื่อความชัดเจนจึงควรรอผลการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการก่อน
                 คงไม่ต้องกล่าวต่อไปแล้วนะครับว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. ลุแก่อำนาจหรือไม่ อย่างไร เพราะเมื่อพิจารณาจากความเป็นมาของกฎหมายและสภาพบังคับของกฎหมาย ก็คงชัดเจนแล้วว่าเรื่องของ “การให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการจัดทำข้อมูลรายละเอียดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างโดยเฉพาะราคากลางไว้ในระบบข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าตรวจดูได้และการกำหนดมาตรการที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม” นั้นเป็นเรื่องที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ต้องรีบเร่งดำเนินการภายใต้กรอบและระยะเวลาตามบทบัญญัติของกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ฉบับที่ 2 ที่จัดทำขึ้นโดยสภาผู้แทนราษฎรชุดที่แล้วนั่นเองครับ !!!
                 เป็นการไม่สมควรที่จะนำเรื่องบางเรื่อง เช่น ที่มาของกรรมการ ป.ป.ช. ชุดปัจจุบัน มาใช้ในการ “โจมตี” การทำงานของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่ต้องทำตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายอย่างเคร่งครัด เพราะในวันนี้ ไม่ว่าใครมาเป็นกรรมการ ป.ป.ช. ก็ต้องทำตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ฉบับที่ 2 กันทั้งนั้น ในทางกลับกัน ควรมองดูผลที่เกิดขึ้นจากการดำเนินการตามกฎหมายเสียก่อนว่าก่อให้เกิดผลดีต่อประเทศชาติและประชาชนมากน้อยเพียงใด สำหรับในส่วนของหน่วยงานของรัฐที่ต้องดำเนินการตามข้อเสนอของคณะกรรมการ ป.ป.ช. นั้น หน่วยงานของรัฐบางแห่งอาจต้องลำบากมากขึ้น แต่ถ้าผลออกมาแล้วสามารถป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันได้ เราจะปฏิเสธไปทำไมครับ !!!
                 ผมได้นำข้อมูลบางส่วนของ “การกำหนดให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการจัดทำข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างโดยเฉพาะราคากลางและการคำนวณราคากลางไว้ในระบบข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าตรวจดูได้” มาเสนอไว้เพื่อประกอบการพิจารณาของผู้ที่สนใจเรื่องนี้ครับ
        
                 สัปดาห์นี้เรามีบทความมานำเสนอ 4 บทความด้วยกัน บทความแรกเป็นบทความที่เขียนโดยอาจารย์ ปีดิเทพ อยู่ยืนยง และ คุณกาญจนา ลังกาพินธุ์ เรื่อง "ปกิณกะ: ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายปรับปรุงการควบคุมน้ำท่วมของประเทศเยอรมนี" บทความที่สอง เป็นบทความตอนที่สองของคุณมนูญ โกกเจริญพงศ์ ที่เขียนเรื่อง "ทำไม ! นักวิชาการจึงมองต่างมุม ๒" บทความที่สามเป็นบทความตอนจบของคุณภาคภูมิ อนุศาสตร์ เรื่อง "รัฐธรรมนูญ อุดมคติหรือขยะทางความคิด ปัจฉิมบท" บทความสุดท้าย เป็นความของคุณชำนาญ จันทร์เรือง ที่เขียนเรื่อง "สิ่งที่เป็นความผิดในตัวเองกับสิ่งที่กฎหมายบัญญัติให้เป็นความผิด" ผมขอขอบคุณเจ้าของบทความทุกบทความไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ
        
                 พบกันใหม่วันจันทร์ 2 มกราคม 2555
       
                 ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์  บรมานันท์


พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=1672
เวลา 22 พฤศจิกายน 2567 13:35 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)