|
|
รัฐธรรมนูญ อุดมคติหรือขยะทางความคิด ปัจฉิมบท 18 ธันวาคม 2554 16:44 น.
|
ตามที่ข้าพเจ้าได้นำเสนอประเด็นต่าง ๆ ในการแลกเปลี่ยนด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญของไทย นั้น ประเด็นสุดท้ายที่ข้าพเจ้าอยากจะเสนอความคิดเห็นในพื้นที่เครือข่ายสังคมออนไลน์นี้ ซึ่งเป็นพื้นที่สาธารณะที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการพัฒนาองค์ความรู้ทางด้านกฎหมายมหาชนและกฎหมายปกครองของไทย ให้ก่อตัวขึ้นรูปไปในบริบทแห่งสังคมที่เป็นแบบฉบับของเรา เพื่อสร้างหลักกฎหมายโดยเฉพาะด้านมหาชนให้เป็นที่ยอมรับหรืออย่างดีที่สุดคือ เป็นแบบอย่างให้กับรัฐชาติอื่นที่ต้องการพัฒนาทางกฎหมายมหาชนเหมือนกัน
สำหรับในตอนสุดท้ายนี้ ข้าพเจ้าขอเสนอในประเด็นใหญ่ที่อยากจะให้เราท่านทั้งหลายทบทวนไปด้วยกัน คือ เรื่องการใช้อำนาจอธิปไตย ส่วนความเป็นเจ้าของนั้นคงไม่ต้องพูดถึงเพราะรับกันอยู่แล้วว่าเป็นของประชาชน ซึ่งใช้ผ่านทางฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายรบริหารและฝ่ายตุลาการโดยมีสิ่งที่ต้องทบทวนอยู่หลายประการ ดังนี้
๑. ฝ่ายนิติบัญญัติ
๑.๑ การกระจายอำนาจอธิปไตย ในสภาพของสังคมการเมืองไทยจะเห็นได้ว่า ฝ่ายนิติบัญญัติในหลายเขตมีความสัมพันธ์ทางครอบครัวไม่ว่าจะเป็น พ่อ แม่ พี่ น้อง หรือความสัมพันธ์ทางการแต่งงาน สภาพการณ์นี้ไม่เอื้อต่อระบอบประชาธิปไตย ด้วยเหตุผลที่ว่า ก่อให้เกิดระบบอุปถัมภ์อยู่เหนือระบบเหตุผลเมื่อต้องปฏิบัติหน้าที่แทนส่วนรวม อีกทั้งยังก่อให้เกิดการกระจุกตัวของอำนาจอธิปไตย ซึ่งในหลักการเป็นอำนาจของปวงชนชาวไทยมิใช่ตระกูลใดตระกูลหนึ่ง ซึ่งอาจจะกำหนดว่า มาตรา...บิดาและมารดา พี่และน้อง คู่สมรสและบุตรธิดากับสมาชิกรัฐสภา ไม่สามารถเป็นสมาชิกรัฐสภาในเวลาเดียวกันได้
๑.๒ จำนวนของสมาชิกรัฐสภา ซึ่งสภาพการณ์ของไทยข้าพเจ้าก็ไม่ทราบว่าจำนวนของสมาชิกรัฐสภากับจำนวนประชากรที่กำหนดในปัจจุบันมีความสัมพันธ์กันอย่างไร แต่อย่างน้อยจำนวนสมาชิกรัฐสภาควรจะสื่อหรือสะท้อนมิใช่แต่จำนวนประชากร แต่ควรจะสะท้อนถึงกลุ่มผลประโยชน์ต่าง ๆ ในสังคมนอกเหนือจากนายทุน นักธุรกิจ และผู้มีอิทธิพลทั้งในระดับประเทศ และระดับท้องถิ่นต่าง ๆ โดยอาจใช้อาชีพ หรือพื้นที่ในการจัดแบ่งกลุ่ม เพื่อคำนวณสัดส่วนของสมาชิกรัฐสภาด้วยก็ได้ ทั้งนี้อาจจะกำหนดให้สมาชิกรัฐสภาสักส่วนหนึ่งมาจากกลุ่มอาชีพต่าง โดยอาจกำหนดดังนี้
มาตรา...รัฐสภาประกอบไปด้วยสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ทั้งสองสภาต้องประกอบด้วยตัวแทนกลุ่มอาชีพต่าง ๆ อย่างน้อยไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนสมาชิกรัฐสภาทั้งหมดทั้งนี้ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
.....................................................................................................................................................................................................................................................................................................
๑.๓ การใช้อำนาจนิติบัญญัติ เป็นที่ทราบกันดีว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน แต่เหตุใดไม่ให้ประชาชนเป็นผู้ใช้ ในกรณีนี้อาจบัญญัติว่า มาตรา...อำนาจนิติบัญญัติเป็นของพลเมืองไทย พลเมืองไทยเป็นผู้ใช้อำนาจนิติบัญญัติผ่านทางรัฐสภา
๑.๔ ความมีเสรีภาพในการทำหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภา แยกเป็น
๑.๔.๑ การสมัครรับเลือกตั้ง การเลือกตั้งเป็นรูปแบบของระบอบประชาธิปไตยที่เด่นชัดและเป็นพื้นฐานขั้นต้นที่จะพัฒนาต่อไปในชั้นของเนื้อหาสาระ แต่กลับถูกจำกัดในการใช้เสรีภาพดังกล่าวโดยการกำหนดให้สมาชิกสภาฯ ต้องสังกัดพรรคการเมือง กรณีนี้คือยกเลิกการบังคับให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต้องสังกัดพรรคการเมือง เพราะในความเป็นจริงบุคคลอาจจะมีค่านิยม อุดมการณ์ทางการเมืองไม่ตรงกับพรรคการเมืองใดในประเทศไทยก็ได้
๑.๔.๒ การมีฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ในกรณีนี้ข้าฯ ไม่เห็นด้วยอันเนื่องมาจากสภาผู้แทนราษฎรชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าเป็นตัวแทนของประชาชน ไม่มีฝักมีฝ่าย มีหน้าที่หลักในการปฏิบัติหน้าที่โดยส่วนรวม เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศและประชาชนส่วนใหญ่ ไม่ว่าหน้าที่ในการตรากฎหมาย ตรวจสอบฝ่ายบริหาร ฯ การให้ความเห็นชอบเกี่ยวกับการคลัง เป็นฝ่ายหนึ่งในสามฝ่ายของอำนาจอธิปไตย เพราะฉะนั้นจึงไม่ควรมีการแบ่งแยกอีก ซึ่งไม่เฉพาะฝ่ายค้านเท่านั้น สมาชิกสภาผู้แทนฯ ฝ่ายรัฐบาลก็ไม่ควรมีเช่นเดียวกัน ทั้งนี้อาจบัญญัติเพื่อให้การเป็นตัวแทนของสมาชิกรัฐสภาจากประชาชนมีผลเป็นรูปธรรมว่า
มาตรา...การออกเสียงลงคะแนนของสมาชิกรัฐสภา นอกจากไม่ผูกพันต่ออาณัติใด ๆ ต้องเป็นไปตามมโนธรรมของตนที่ต้องรับผิดชอบต่อประเทศชาติและพลเมืองไทย
กรณีการออกเสียงลงคะแนนไม่เป็นไปตามวรรคแรก พลเมืองไทยหรือผู้มีส่วนได้เสียอาจยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้การออกเสียงลงคะแนนในเรื่องนั้น ๆ เป็นอันใช้บังคับไม่ได้และให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องชะลอการปฏิบัติจนกว่าจะมีคำวินิจฉัยของศาล
๒ ฝ่ายบริหาร
๒.๑ ที่มาของฝ่ายบริหาร ในปัจจุบันฝ่ายบริหารมาทั้งจากฝ่ายนิติบัญญัติและบุคคลภายนอก ในส่วนของหัวหน้าฝ่ายบริหาร คือ นายกรัฐมนตรีต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรและทูลเกล้าเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยแต่งตั้ง ในส่วนนี้ทำให้ฝ่ายบริหารมีข้อจำกัดในการทำหน้าที่ได้อย่างอิสระจากสภาฯ แม้ว่าโดยหลักการแล้วฝ่ายบริหารต้องรับผิดชอบต่อสภาฯ แต่ควรรับผิดชอบต่อสภาฯ เฉพาะในเรื่องการปฏิบัติหน้าที่เท่านั้น อันน่าจะถูกจริตของสังคมไทยมากว่า และคงจะมีคำถามต่อไปว่า แล้วนายกรัฐมนตรีจะมาจากไหน อย่างไร ประเด็นนี้ ข้าพเจ้าเห็นว่าข้าฯ เกิดช้าเกินไปที่จะได้เสนอความคิดเห็นนี้อันเป็นประเด็นปัญหาที่สำคัญ ซึ่งหากความเห็นนี้เป็นที่ยอมรับและได้รับการบัญญัติให้เป็นกฎหมายรัฐธรรมนูญจริง ในปัจจุบันและอนาคตของไทยอาจจะเปลี่ยนไปจากที่เป็นอยู่
สิ่งดังกล่าวคือ เมื่อเราปวงชนชาวไทยทุกคนรับกันทั้งสิ้นว่ามีความจงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์ โดยเห็นตรงกันว่าเป็นสถาบันที่กอบกู้และรักษาเอกราชของชาติมาตั้งแต่อดีตไม่ต้องไปไกลแค่ราชวงษ์จักรีของเรา และพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบันคือพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ก็ทรงพระปรีชาในศาสตร์อย่างหลากหลายหากษัตริย์พระองค์ใดในนานาอารยประเทศเทียบได้ยากยิ่ง และการปกครองของไทย ก็เป็นระบอบประชาธิปไตยโดยพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ทั้งนี้การใช้พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในทางนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ ปรากฏตามมาตรา ๓ แห่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน โดยที่ข้าฯ เห็นว่านอกจากการกำหนดดังกล่าวแล้ว ในบริบทของสังคมไทยที่เป็นปัญหาอยู่ในขณะนี้โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ ไม่ว่าจะด้วยเรื่องความจงรักภักดี การอ้างสถาบันเพื่อความชอบธรรมของฝ่ายตน สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนสะท้อนถึงช่องว่างที่ยังมีอยู่ของการใช้อำนาจอธิปไตยในสังคมการเมืองไทย
การที่จะทำให้ช่องว่างดังกล่าวหมดไปควรที่จะสร้างระบบความสัมพันธ์ของการใช้อำนาจอธิปไตยเสียใหม่ โดยการให้พระมหากษัตริย์ใช้อำนาจอธิปไตยเองได้โดยตรง ซึ่งอำนาจดังกล่าวก็เป็นของพระองค์แต่เดิมในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ หากแต่ไม่ได้หมายความว่าจะให้พระองค์ทรงสิทธิขาดทั้งอำนาจนิติบัญญัติ บริหาร และตุลากาลเหมือนกาลก่อน ซึ่งนั้นไม่เป็นไปตามหลักการแบ่งแยกอำนาจ และอาจถูกตีความว่าเป็นระบบอำนาจนิยมได้ แต่โดยที่การปกครองของไทย เป็นระบอบประชาธิปไตย แบบรัฐสภา ซึ่งโดยทั่วไปในหลายประเทศได้กำหนดไว้เลยว่า รัฐสภาเป็นองค์กรสูงสุดในการใช้อำนาจอธิปไตย ทั้งนี้คงเนื่องมาจากว่ารัฐสภามาจากการเลือกตั้งของประชาชน เมื่อเป็นเช่นนี้ฝ่ายนิติบัญญัติก็มีผู้ใช้อำนาจแล้ว
ฉะนั้นตามที่ได้กล่าวมาแล้วในข้างต้นถึงความไม่ชัดเจนในการทำหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายบริหาร จะเป็นไปได้หรือไม่ที่กฎหมายรัฐธรรมนูญจะมอบอำนาจในส่วนของฝ่ายบริหารคืนให้พระมหากษัตริย์ได้ใช้อำนาจนี้โดยตรงหรือร่วมใช้อำนาจกับคณะรัฐมนตรีโดยตรง โดยให้พระมหากษัตริย์มีอำนาจหน้าที่คล้ายกับประธานาธิบดีในประเทศที่ปกครองด้วยรูปแบบประธานาธิบดี เช่น สหรัฐอเมริกา หรือรูปแบบผสม เช่น ฝรั่งเศส เป็นต้น เพราะอย่างไรก็ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญก็บัญญัติให้พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขของรัฐมาแต่เดิมอยู่แล้ว โดยการกำหนดว่า
มาตรา...พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอื่นจำนวนอย่างน้อย...คน ตามพระราชประสงค์ ในการประชุมคณะรัฐมนตรีให้พระมหากษัตริย์หรือรัชทายาทที่ได้รับมอบหมายทรงเป็นประธานในที่ประชุม
ที่ยกไว้ให้พิจารณานั้นแม้ในประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยโดยพระมหากษัตริย์มีอำนาจจำกัดอย่างประเทศนอร์เวย์ยังให้พระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจในลักษณะดังกล่าว
๒.๒ การใช้อำนาจของฝ่ายบริหาร กรณีนี้ขอเน้นไปที่การใช้อำนาจบริหารที่เกี่ยวกับวินัยทางการคลัง เพราะส่วนนี้หากไม่มีการกำหนดกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนอาจสร้างปัญหาอย่างใหญ่หลวงให้กับประเทศได้โดยการกำหนดให้มีหมวดว่าด้วยการคลังขึ้นมีเป็นการเฉพาะ ซึ่งในหลายประเทศเช่น ญี่ปุ่น เป็นต้น ก็มีการกำหนดเรื่องการคลังไว้เป็นการเฉพาะ อาจมีสักมาตราที่กำหนดว่า การกระทำทางการคลังไม่ว่าจะเป็นอำนาจของรัฐสภาหรือคณะรัฐมนตรีก็ตาม เมื่อดำเนินการแล้วต้องแถลงให้พลเมืองไทยทราบอย่างน้อยหนึ่งครั้งต่อปี
กรณีคณะรัฐมนตรีเป็นผู้ใช้อำนาจเมื่อดำเนินการแล้วต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภาด้วย และเผยแพร่ให้สาธารณะชนทราบ อย่างน้อยทางช่องทางการสื่อสารทางอิเล็คทรอนิค ภายใน ๓๐ วันเมื่อรัฐสภามีมติ
๓ ฝ่ายตุลาการ
๓.๑ การตรวจสอบการใช้อำนาจฝ่ายตุลาการ ปัจจุบันการใช้อำนาจขององค์กรศาลต่ออำนาจตุลาการซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในสามของอำนาจอธิปไตย เท่าที่เป็นอยู่น่าจะยังมีความไม่สมบูรณ์ จริงอยู่ที่รัฐธรรมนูญต้องประกันและรับรองความอิสระขององค์กรศาล แต่นั้นน่าจะเฉพาะเรื่องการปฏิบัติหน้าที่ในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดี ดังที่ได้กล่าวมาแล้วบ้างในเบื้องต้นว่ารัฐสภามีความรับผิดชอบต่อประชาชนในทางการเมือง รัฐบาลหรือคณะรัฐมนตรีก็รับผิดชอบต่อรัฐสภาในทางการเมืองเช่นกัน แล้วองค์กรศาลรับผิดชอบต่อใคร ซึ่งเป็นคำถามที่ต้องหาคำตอบ อันเนื่องแต่ระบบการเมืองไทยดังปัจจุบันสิ่งที่เป็นปัญหาใหญ่คือ การออกแบบระบบความสันพันธ์ของโครงสร้างทางการเมืองที่ยังขาดดุลยภาพ ถ้าจะให้เปรียบก็เหมือนกับรถยนต์ที่สมบูรณ์ในความเป็นรถยนต์แล้วแต่ยังไม่ได้ตั้งศูนย์และถ่วงล้อ การขับเคลื่อนพัฒนาการทางการเมืองของไทยจึงเป็นอยู่ดังที่เห็นในปัจจุบัน ขอยกตัวอย่างของประเทศญี่ปุ่นซึ่งผู้พิพากษาสูงสุดอาจถูกถอดถอนได้ด้วยการลงคะแนนของประชาชน และการแต่งตั้งผู้พิพากษาศาลล่างคณะรัฐมนตรีเป็นผู้แต่งตั้งจากรายชื่อที่ศาลสูงสุดเสนอ เป็นต้น ทั้งนี้อาจยกเป็นกรณีศึกษาได้ว่า
มาตรา...อำนาจตุลาการเป็นของพลเมืองไทย พลเมืองไทยใช้อำนาจตุลาการผ่านองค์กรศาล
(๑) พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งประธานศาลสูงสุดทุกศาลโดยความเห็นชอบของรัฐสภา
(๒) ประธานศาลสูงสุดทุกศาลแต่งตั้งผู้พิพากษาในศาลสูงสุดโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี
(๓) ประธานศาลสูงสุดทุกศาลแต่งตั้งผู้พิพากษาในศาลอุทธรณ์และหรือศาลชั้นต้น แล้วแต่กรณีตามความเห็นนของคณะกรรมการที่องค์กรศาลจัดตั้ง ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ
(๔) กรณีศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นไปตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญนี้
ที่กล่าวมาทั้งหมดจะเป็นอุดมคติหรือขยะทางความคิดก็ตาม ล้วนแต่เป็นไปโดยอัตตาทางความเห็นของข้าพเจ้าเพียงผู้เดียว อันอาจเป็นมายาคติก็ได้ ฉะนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ท่านผู้ทรงความรู้หรือผู้มีความสนใจในรัฐธรรมนูญทั้งหลายที่จะต้องเติมเต็มคติในทางรัฐธรรมนูญให้อุดมคือสมบูรณ์ โดยการเสนอความคิดความเห็นในทางกฎหมายรัฐธรรมนูญอย่างจริงจังและสุจริตใจเสียที อย่าปล่อยให้อำนาจอธิปไตยของเราที่ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ไปตกอยู่แก่บางกลุ่ม บางพวก ที่เขียนหรือสร้างรัฐธรรมนูญขึ้นมาด้วยอคติ ๔ และก่อให้เกิดปัญหาทั้งในเชิงโครงสร้าง และเนื้อหา อันนำมาซึ่งปัญหาของชาติ และประชาชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
หากท่านเห็นว่าสิ่งที่กล่าวมาเป็นขยะก็ขอให้ท่านได้นำขยะนี้เข้าสู่กระบวนการ ๓ อาร์(Reduce,Reuse,Recycle) เพื่อที่จะทำให้ขยะนี้ได้มีประโยชน์เกื้อกูลแก่แผ่นดินบ้างแม้เพียงธุลีก็ตาม
ปัจฉิมบทนี้ ขอเรียกร้องต่อหมู่มวลประประชาไทย ขอใส่ใจประชาธิปไตยที่มีอยู่ หากไม่มีแล้วใส่ใจคงได้ดู ข้าฯและสูต้องหลั่งเลือดเพื่อประชาธิปไตย หวังใจเป็นอย่างยิ่งว่าคงไม่เกิดเหตุเภทภัยนี้ในแผ่นดินไทย.
|
|
|
พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=1670
เวลา 22 พฤศจิกายน 2567 20:41 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)
|
|