|
|
ครั้งที่ 278 20 พฤศจิกายน 2554 17:54 น.
|
สำหรับวันจันทร์ที่ 21 พฤศจิกายนถึงวันอาทิตย์ที่ 4 ธันวาคม 2554
กฎหมายเฉพาะเกี่ยวกับการบริหารจัดการภัยพิบัติ
สองสัปดาห์ที่ผ่านมายังคงเป็นสองสัปดาห์ที่มีแต่ความวุ่นวายเรื่องน้ำท่วม โดยเฉพาะเมื่อน้ำเริ่มเข้ามาใกล้เขตกรุงเทพมหานคร คนเมืองหลวงซึ่งมีวิถีชีวิต แบบหนึ่ง จึงพยายาม ป้องกัน ไม่ให้น้ำเข้ามากระทบกับชีวิตและทรัพย์สินของตัวเอง ผ่านไปทางไหนจึงเห็น กำแพง ที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำเข้าไปในทรัพย์สินของตัวเอง ดู ๆ ไปแล้วไม่ต่างอะไรไปจากเมืองที่กำลังมีสงคราม นอกจากนี้แล้ว การบังคับใช้กฎหมายก็ยังไม่มีอีกด้วย ในช่วงเวลาดังกล่าว เราจึงเห็นรถมอเตอร์ไซค์ขึ้นไปวิ่งบนทางด่วนหรือรถไปจอดอยู่บนทางด่วนได้อย่างไม่น่าเชื่อครับ
คนส่วนใหญ่คงมีความรู้สึกไม่ต่างกันเท่าไรว่า รัฐบาลไม่มีความสามารถในการบริหารจัดการมหาอุทกภัยครั้งนี้ได้เลย คงไม่ต้องดูไปไกลถึงว่า น้ำมาจากไหน ด้วยเหตุใด แต่เอาแค่ การข่าว ก็ทำให้ประชาชนสับสนแล้วว่า น้ำจะท่วมหรือไม่ท่วมบริเวณใดบ้าง ผมมีเพื่อนที่อยู่กลางกรุงเทพมหานครอพยพครอบครัวไปอยู่ต่างจังหวัด เช่ารถที่สามารถลุยน้ำได้มาใช้เพราะเชื่อข่าวของทางราชการที่ว่า น้ำจะท่วมกรุงเทพฯ เมื่อปลายเดือนที่ผ่านมา เพื่อนหมดเงินไปเยอะกับการ ห่อ บ้านของตัวเองจนแทบจะเรียกได้ว่า ไม่มีใครหรืออะไรสามารถเล็ดรอดเข้าไปในบ้านได้ถ้าไม่แกะสิ่งที่ห่ออยู่ออกก่อน เกือบสามสัปดาห์ผ่านไป จนวันนี้ก็ยังไม่มีวี่แววว่าน้ำจะเข้ามาถึงกลางกรุงเทพฯ เพื่อนผมซึ่งหมดเงินหมดทองและเสียเวลาทำงานไปเกือบเดือน เสียสุขภาพจิตกันทั้งครอบครัวเพราะเชื่อ ข่าว ที่ได้รับจากทางราชการ ถามผมว่าจะทำอย่างไรดี จะกลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้เมื่อไร คำถามพวกนี้ก็ไม่มีใครตอบได้ เช่นเดียวกับผู้ที่ถูกน้ำท่วมไปแล้วก็คงอยากทราบเหมือนกันว่าเมื่อไรน้ำจะลดและเมื่อไรจะกลับไปใช้ชีวิตตามปกติได้ คำถามพวกนี้ก็ไม่มีใครตอบได้เช่นกัน ผมถึงได้กล่าวไว้ในตอนต้นว่า รัฐบาลไม่มีความสามารถในการบริหารจัดการมหาอุทกภัยครั้งนี้ได้เลยครับ
ส่วนเรื่อง นิวไทยแลนด์ ที่รัฐบาลหยิบยกมาพูดเมื่อสองสัปดาห์ที่แล้วและผมได้นำมาเขียนไว้ในบทบรรณาธิการครั้งที่ผ่านมาก็เงียบหายไปไหนไม่ทราบ แต่เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมารัฐบาลกลับตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสองชุดเพื่อ รองรับ สิ่งที่จะต้องทำหลังน้ำลด คณะกรรมการชุดแรก คือ คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ส่วนคณะกรรมการชุดที่สอง คือ คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ โดยคณะกรรมการชุดแรกเข้ามาทำเรื่องการจัดระเบียบการบริหารจัดการน้ำของประเทศไทย ส่วนคณะกรรมการชุดที่สองก็จะเข้ามาสร้างความเชื่อมั่นและฟื้นฟูประเทศหลังประสบกับมหาอุทกภัย
เป็นที่ทราบกันดีว่า ภัยธรรมชาตินั้นมีอยู่หลายประเภท เราก็ไม่ทราบว่าจะมีภัยธรรมชาติประเภทใดที่จะเกิดขึ้นในประเทศเราเมื่อไร เช่นเดียวกับที่เราไม่ทราบว่าจะเกิดมหาอุทกภัยในครั้งนี้นั่นเอง คณะกรรมการชุดแรกที่รัฐบาลตั้งขึ้นมาเพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำจึงเป็น อีกคณะกรรมการหนึ่ง ที่ทุก ๆ รัฐบาลทำเหมือน ๆ กันหลังจากที่มีเหตุการณ์ร้ายแรงเกิดขึ้นไปแล้วซึ่งในวันนี้เราก็ไม่ทราบว่ามีคณะกรรมการ แบบนี้ อยู่กี่ชุดและทำอะไรกันไปบ้าง วิธีการตั้งคณะกรรมการแบบนี้นิยมใช้กันมากแม้จะถูกวิจารณ์ว่าเป็นการกระทำที่เข้าทำนอง วัวหายล้อมคอก ซึ่งไม่น่าจะเป็นสิ่งที่ถูกต้องและเหมาะสมสำหรับปัญหาใหญ่ระดับประเทศ ส่วนคณะกรรมการชุดหลังคงไม่ต้องกล่าวถึงเท่าไรนักเพราะก็คงเป็นเรื่องปกติอีกเช่นกันที่เราต้องมีคณะกรรมการประเภทนี้ขึ้นมาเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน นักลงทุน และผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดว่า สมควรที่จะอยู่และประกอบธุรกิจในประเทศนี้ต่อไปเพราะเรามีคณะกรรมการชุดแรกขึ้นมาแก้ปัญหาของประเทศแล้ว
ผมไม่แน่ใจว่า คณะกรรมการทั้ง 2 ชุดที่รัฐบาลตั้งขึ้นมาจะมอง ไปไกล ได้ขนาดไหนและจะทำอะไรได้มากน้อยเพียงใด ทั้งนี้ เนื่องจากกรอบของคณะกรรมการชุดแรกถูกกำหนดให้ทำเฉพาะเรื่อง น้ำ แต่เพียงเรื่องเดียว คณะกรรมการจึงไม่น่าจะมอง ไปไกล ถึงขนาด วางระบบบริหารจัดการภัยพิบัติ ทุกประเภทเป็นแน่ครับ ก็น่าเสียดายโอกาสที่เราจะได้ทบทวนบรรดากฎหมายที่มีอยู่ทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจของฝ่ายบริหารในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการภัยพิบัติว่า ใช้ประโยชน์ได้มากน้อยเพียงใด
พูดถึงเรื่องของกฎหมายที่มีอยู่เกี่ยวกับการบริหารจัดการภัยพิบัติ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมมีประชุมในส่วนราชการแห่งหนึ่งซึ่งในที่ประชุมก็ได้มีการหยิบยกประเด็นเรื่องน้ำท่วมและการแก้ปัญหาน้ำท่วมขึ้นมา ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่หลายคนต่างพยายามพูดถึง บทบาท ของตนที่เข้าไปทำงานกับรัฐบาลและเมื่อผมมีโอกาสพูด ผมก็ได้เสนอแนวคิดเกี่ยวกับการมีกฎหมายเฉพาะหรือกฏหมายพิเศษเพื่อไว้ใช้ในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจากภัยพิบัติขนาดใหญ่แต่ก็ได้ถูก รองปลัด คนหนึ่งโต้ขึ้นมาว่า ปัจจุบันเรามีกฎหมายป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยใช้บังคับอยู่แล้ว จึงไม่มีความจำเป็นต้องมีกฎหมายพิเศษใด ๆ ขึ้นมาใหม่
ก่อนที่ผมจะอธิบายเหตุผลของการ มี หรือ ไม่มี กฎหมายเฉพาะเพื่อใช้ในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากภัยพิบัติขนาดใหญ่ ลองมาดูเหตุผลของการประกาศใช้พระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 กันก่อน เหตุผลของการประกาศใช้บังคับกฎหมายที่ปรากฏอยู่ในตอนท้ายของกฎหมายมีใจความว่า หมายเหตุ : เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากการปฏิรูประบบราชการตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 ได้จัดตั้งกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยขึ้นเป็นส่วนราชการสังกัดกระทรวงมหาดไทย มีภารกิจหลักในการป้อง บรรเทา ฟื้นฟูสาธารณภัยและอุบัติภัย ซึ่งมีผลทำให้งานด้านสาธารณภัยและงานด้านอุบัติภัยที่เดิมดำเนินการโดยกองป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยและสำนักงานคณะกรรมการป้องกันอุบัติภัยแห่งชาติ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักนายกรัฐมนตรีมารวมอยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานเดียวกัน นอกจากนี้กฎหมายว่าด้วยการป้องกันและระงับอัคคีภัยเป็นกฎหมายที่มีสาระสำคัญและรายละเอียดเกี่ยวกับการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในด้านอัคคีภัย รวมทั้งหน่วยงานที่จะต้องปฏิบัติ เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายดังกล่าวก็เป็นหน่วยงานเดียวกันเพื่อให้การปฏิบัติงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและแนวทางเดียวกัน ตลอดจนเพื่อให้เกิดความเป็นเอกภาพในการอำนวยการและบริหารจัดการเกี่ยวกับการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จึงเห็นสมควรนำกฎหมายว่าด้วยการป้องกันภัยฝ่ายพลเรือนและกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและระงับอัคคีภัยมาบัญญัติไว้รวมกัน จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ เพราะฉะนั้น ใบเบื้องต้นควรต้องทำความเข้าใจให้ตรงกันก่อนว่า กฎหมายป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยฉบับนี้ไม่ได้มีขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากภัยพิบัติขนาดใหญ่ แต่ที่ปรากฏในเจตนารมณ์ของการมีกฎหมายฉบับดังกล่าวก็คือ การรวบรวมหน่วยงานและกฎหมายที่เกี่ยวข้องเข้าด้วยกัน โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือ กองป้องกันภัยฝ่ายพลเรือนและสำนักงานคณะกรรมการป้องกันอุบัติภัยแห่งชาติ ส่วนกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้ง 2 ฉบับก็คือ พระราชบัญญัติป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน พ.ศ. 2522 และพระราชบัญญัติป้องกันและระงับอัคคีภัย พ.ศ. 2542 หน่วยงานทั้ง 2 หน่วยงานและกฎหมายทั้ง 2 ฉบับได้ถูกนำมารวมไว้ภายใต้พระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 ซึ่งแตกต่างไปจากกฏหมายเฉพาะอีกฉบับหนึ่งซึ่งมีผู้คนจำนวนมาก รวมทั้งอดีตนายกรัฐมนตรีคนก่อนหน้านี้ เสนอให้นำมาใช้ในการแก้ปัญหาน้ำท่วมครั้งนี้ด้วย กฏหมายดังกล่าวคือพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ซึ่งเหตุผลของการประกาศใช้บังคับกฏหมายที่ปรากฎอยู่ในตอนท้ายของกฏหมายมีใจความว่า "หมายเหตุ : เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกำหนดฉบับนี้ คือ โดยที่กฎหมายว่าด้วยการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานานแล้ว บทบัญญัติต่าง ๆ ไม่สามารถนำมาใช้แก้ไขสถานการณ์ที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐที่มีหลากหลายรูปแบบให้ยุติลงได้โดยเร็ว รวมทั้งไม่อาจนำมาใช้ในการแก้ไขปัญหาที่เกิดจากภัยพิบัติสาธารณะและการฟื้นฟูสภาพความเป็นอยู่ของประชาชนที่ได้รับความเสียหายและเนื่องจากในปัจจุบันมีปัญหาเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐ ซึ่งมีความร้ายแรงมากยิ่งขึ้นจนอาจกระทบต่อเอกราชและบูรณภาพแห่งอาณาเขต และก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในประเทศ รวมทั้งทำให้ประชาชนได้รับอันตรายหรือเดือดร้อนจนไม่อาจใช้ชีวิตอย่างเป็นปกติสุข และไม่อาจแก้ไขปัญหาด้วยการบริหารราชการในรูปแบบปกติได้ สมควรต้องกำหนดมาตรการในการบริหารราชการสำหรับสถานการณ์ฉุกเฉินไว้เป็นพิเศษเพื่อให้รัฐสามารถรักษาความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัย และการรักษาสิทธิและเสรีภาพของประชาชนทั้งปวงให้กลับสู่สภาพปกติได้โดยเร็ว จึงเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้เพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ และป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ จึงจำเป็นต้องตราพระราชกำหนดนี้"
เห็นไหมครับว่าเหตุผลของการมีกฏหมายของกฏหมายทั้งสองฉบับนั้นเป็นคนละเรื่องกันเลย !!!!! แต่เนื่องจากกฏหมายฉบับหลังถูกนำมาใช้ในเชิงของการ "ปราบปราม" มาหลายครั้งจนทำให้ภาพลักษณ์ของกฏหมายดูน่ากลัว จึงน่าจะเป็นเหตุให้รัฐบาลนำเอากฏหมายฉบับแรกมาใช้ในการแก้ปัญหาน้ำท่วมครั้งนี้
แม้เนื้อหาของกฎหมายป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจะมี บางส่วน ที่ดีและอาจนำมาใช้กับการบริหารจัดการภัยพิบัติขนาดใหญ่ได้ แต่ก็คงสู้กฎหมายที่ตราขึ้นมาโดยเฉพาะเพื่อการนั้นไม่ได้ในหลายกรณีด้วยกัน จึงเห็นได้ว่า จากการที่นายกรัฐมนตรีได้ใช้อำนาจตามกฎหมายป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในการแก้ปัญหามหาอุทกภัยครั้งนี้ถึงได้เกิดปัญหาตามมามากมายหลายประการโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัญหาระหว่างรัฐบาลกับกรุงเทพมหานครที่ดูจะ ไปด้วยกันไม่ได้ ในหลายกรณีจนทำให้การแก้ปัญหาต้องพบกับอุปสรรคหลาย ๆ ครั้ง
ต้องเข้าใจว่า กรุงเทพมหานครก็เป็นเช่นเดียวกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นๆที่ได้รับการรับรองความเป็นอิสระในการทำงานและการบริหารจัดการไว้ในรัฐธรรมนูญ จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครซึ่งได้รับเลือกโดยตรงจากประชาชนชาวกรุงเทพฯ จะพยายามทำหน้าที่ของตนในแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครด้วยตนเองจนบางครั้งก็ไปคนละแนวทางกับ ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม (ศปภ.) ของรัฐบาลซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ใช้อำนาจตามกฎหมายป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยครับ !!!
หากต้องการให้การใช้อำนาจในการแก้ปัญหาภัยพิบัติของฝ่ายบริหารเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ก็น่าที่จะต้องมีกฎหมายเฉพาะเกี่ยวกับการบริหารจัดการภัยพิบัติระดับชาติเพื่อบูรณาการการแก้ปัญหาสำคัญของประเทศในประเทศที่มีทั้งหน่วยงานของรัฐและทั้งกฎหมายที่ซ้ำซ้อนกัน ทำให้การแก้ปัญหาไม่สะดวก ไม่ราบรื่น และเป็นไปได้ช้า ไม่สอดคล้องกับความจริงที่เกิดขึ้น โดยในเบื้องต้น ควรจะต้องวางเกณฑ์ให้ชัดเจนก่อนว่า ระหว่างตัวบุคคลที่จะให้เป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในการบูรณาการการใช้อำนาจนั้น ควรเป็นบุคคลคนเดียวเช่นนายกรัฐมนตรี หรือควรจะเป็นองค์กรกลุ่มเช่นคณะกรรมการ จากนั้นจึงค่อยจัดทำกฏหมายโดยกฎหมายดังกล่าวจะต้องมีสถานะเป็นกฎหมายกลางที่มีบทบัญญัติยกเว้นการใช้บังคับกฎหมายอื่น ๆ ที่ใช้กันอยู่ในยามปกติ กล่าวคือ เมื่อมีการประกาศภัยพิบัติเกิดขึ้น อำนาจต่าง ๆ ที่มีอยู่ตามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและตามกฎหมายต่าง ๆ จะต้องถูกดึงกลับมาเป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรีเพียงคนเดียวหรือคณะกรรมการที่กฎหมายตั้งขึ้นแต่เพียงคณะเดียว อย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อให้เกิดการบูรณาการการใช้อำนาจไปอยู่ที่คนคนเดียวหรือคณะกรรมการชุดเดียว จากนั้น นายกรัฐมนตรีหรือคณะกรรมการก็จะใช้อำนาจตามกฎหมายเฉพาะ สั่งการ ให้หน่วยงานของรัฐหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไปดำเนินการในเรื่องใดต่อไปก็ได้ภายใต้การ บังคับบัญชา ของนายกรัฐมนตรีหรือคณะกรรมการ หรืออาจมอบอำนาจดังกล่าวให้กับหน่วยงานของรัฐหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไปใช้แทนก็ได้ ซึ่งก็น่าจะทำให้การแก้ไขปัญหามีระบบ ชัดเจน และรวดเร็วเด็ดขาดกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน การตรากฎหมายเช่นว่านี้ก็จะต้องเขียนเป็นข้อยกเว้นไว้ในรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับเรื่องความเป็นอิสระขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วย มิฉะนั้น กฎหมายเฉพาะก็จะขัดรัฐธรรมนูญครับ
ในส่วนของเนื้อหาของกฏหมายเฉพาะเกี่ยวกับการบริหารจัดการภัยพิบัตินั้น ผมได้เคยเขียนไว้บางส่วนในบทบรรณาธิการครั้งที่ 276 ว่าการบริหารจัดการภัยพิบัติอย่างเป็นระบบนั้นควรจะต้องประกอบด้วยขั้นตอนที่สำคัญ 3 ขั้นตอนด้วยกัน คือ การป้องกัน การรับมือ และการฟื้นฟู โดยในส่วนของการป้องกัน ได้แก่ การดำเนินการทั้งหลายทั้งปวงก่อนที่ภัยพิบัติจะเกิดขึ้น ซึ่งก็มีอยู่หลายสิ่งหลายอย่างที่ฝ่ายปกครองสามารถทำได้ เช่น การประเมินสถานการณ์ล่วงหน้า การวางแนวทางในการปฏิบัติการ การติดตามสถานการณ์ การวางมาตรการในการรองรับ การวิเคราะห์เพื่อหาทางป้องกัน การคาดการณ์เกี่ยวกับอันตรายและความเสียหายที่จะเกิดขึ้น ในการดำเนินการต่าง ๆ ที่ว่านี้ ฝ่ายปกครองอาจต้องมีการออกกฎหรือคำสั่งล่วงหน้าเพื่อรองรับการดำเนินการของตนที่จะมีขึ้นในเวลาต่อมาก็ได้ สำหรับในส่วนของการรับมือนั้น เมื่อเกิดภัยพิบัติขึ้น เป็นหน้าที่ของฝ่ายปกครองที่จะต้องเป็นผู้เข้าไปรับผิดชอบและดำเนินการต่าง ๆ เพื่อให้เหตุการณ์กลับคืนสู่สภาพเดิมโดยเร็ว ตรงนี้นี่เองที่กฏหมายเฉพาะจะต้องกำหนดให้ชัดเจนว่า อำนาจต่าง ๆ ที่มีอยู่ตามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและตามกฎหมายต่าง ๆ จะต้องถูกดึงกลับมาเป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรีเพียงคนเดียวหรือคณะกรรมการที่กฎหมายตั้งขึ้นแต่เพียงคณะเดียว อย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อให้เกิดการบูรณาการการใช้อำนาจไปอยู่ที่คนคนเดียวหรือคณะกรรมการชุดเดียวที่จะเข้าไปสั่งการหรือตัดสินใจได้ การปล่อยให้แต่ละกระทรวงหรือแต่ละหน่วยงานดำเนินการรับมือกับสิ่งที่เกิดขึ้นตามอำนาจหน้าที่ของตัวเองอาจทำให้เราไม่สามารถแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้อย่างคล่องตัวเพราะแต่ละกระทรวงหรือแต่ละหน่วยงานต่างก็มีทั้งคน ทั้งเงิน และทั้งภาระหน้าที่ของตัวเอง รวมทั้งยังมีผู้บังคับบัญชาของตนเองอีกด้วย การแก้ปัญหาจึงไม่สามารถทำได้โดยง่าย ในทางกลับกัน หากเราสามารถบูรณาการอำนาจในการวินิจฉัย อำนาจในการสั่งการและอำนาจในการดำเนินการทั้งหมดไว้ที่ ศูนย์กลาง แต่เพียงแห่งเดียวได้ เราก็จะสามารถทำให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปได้อย่างดี รวดเร็วและตรงจุด ส่วนการฟื้นฟูนั้น แนวทางที่ใช้กันอยู่ก็คือการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ได้รับผลกระทบด้วยการให้กู้ยืมเงินระยะยาว การพักหนี้รายย่อยให้แก่โรงงานหรือบุคคลที่ได้รับความเสียหายจากภัยพิบัติ หรือไม่ก็เพิ่มประเภทของการลดหย่อนภาษีให้มากขึ้น เป็นต้น
กฎหมายเฉพาะนี้อาจนำไปใช้ได้ในหลาย ๆ เหตุการณ์ไม่ว่าจะเป็นการเตรียมความพร้อมในการรับมือกับภัยพิบัติต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นภัยพิบัติจากธรรมชาติ จากโรคระบาด หรือจากสงครามก็ได้ ส่วนเงื่อนไขในการนำกฎหมายมาใช้ก็คงต้องเขียนเอาไว้อย่างละเอียดชัดเจนว่า หากมีการใช้กลไกของรัฐที่มีอยู่หรือใช้กฎหมายที่มีอยู่จะแก้ปัญหาได้ช้าและไม่ทันการครับ
กลับมาที่การแก้ปัญหาเรื่องน้ำท่วม ถ้าเราไม่มองว่าน้ำท่วมเป็นภัยพิบัติระดับชาติและอาจเกิดขึ้นได้กับพื้นที่เล็ก ๆ การมีกฎหมายพิเศษเกี่ยวกับการป้องกันภัยจากน้ำท่วมก็เป็นสิ่งจำเป็น โดยผมคิดว่า กฎหมายพิเศษฉบับหลังนี้น่าจะเป็นกฎหมายที่กำหนดภารกิจของส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่นไว้ให้ชัดเจนและละเอียดเพราะเป็นที่ทราบกันดีอยู่ว่า เมื่อมีการกระจายอำนาจการปกครองไปสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภารกิจบางประการก็โอนจากรัฐไปเป็นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพราะฉะนั้น หากเราจะมีกฎหมายเกี่ยวกับการป้องกันภัยจากน้ำท่วมก็ควรจะต้องกำหนดไว้ให้ชัดเจนเลยว่า รัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ใครมีอำนาจหน้าที่อะไรเมื่อเกิดอุทกภัยขึ้นโดยรัฐในที่นี้ คือ จังหวัดหรืออำเภอ ควรเข้าไปรับผิดชอบในเรื่องใหญ่ ๆ เช่น ประปา ไฟฟ้า โทรคมนาคม สาธารณูปโภคที่ไม่ได้อยู่ในอำนาจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น ทางรถไฟ ทางระบายน้ำ หรือแม้กระทั่งถนน นอกจากนี้ รัฐควรต้องรับผิดชอบในเรื่องสุขอนามัย แพทย์และที่พักอาศัยด้วย ส่วนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็จะต้องรับผิดชอบในสิ่งที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของตน โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องทำแผน 3 แผน คือ แผนเฝ้าระวัง แผนช่วยเหลือ และแผนป้องกัน
แผนเฝ้าระวัง วันนี้ก็เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า พื้นที่ใดถูกน้ำท่วมไปบ้าง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจึงต้องจัดทำแผนที่ที่แสดงให้เห็นถึงพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วมและพื้นที่ใกล้เคียงที่มีความเสี่ยงที่จะถูกน้ำท่วมเพื่อให้ประชาชนได้เฝ้าระวังและเพื่อใช้เป็นข้อมูลในหลาย ๆ ด้านโดยเฉพาะอย่างยิ่งการซื้อขายที่ดินหรือการก่อสร้างอาคารในบริเวณดังกล่าว นอกจากนี้แล้ว แผนเฝ้าระวังยังจะต้องประกอบด้วย ขั้นตอน ระยะเวลา และวิธีการเตือนภัย การให้ความช่วยเหลือประชาชน การเดินทางหรือการอพยพ ที่พักอาศัย และเสบียงระหว่างที่เกิดอุทกภัย ทุกอย่างต้องชัดเจนเพื่อให้ประชาชนสามารถเอาตัวรอดได้เมื่อเกิดอุทกภัย
แผนช่วยเหลือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีบุคลากรไม่มากนัก จึงควรเปิดรับสมัคร ผู้ช่วย ซึ่งกฎหมายพิเศษที่ออกมาจะต้องให้อำนาจ ผู้ช่วย เหล่านี้เอาไว้เพื่อให้ทำงานช่วยเหลือฝ่ายปกครองในการแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะต้องจัดให้มีความช่วยเหลือแก่ผู้ประสบอุทกภัยในส่วนของการอพยพ ที่พักอาศัย และเสบียง ทั้งยังต้องช่วยเหลือค่าใช้จ่ายบางส่วนในการซ่อมแซมที่พักอาศัยหรือที่ทำมาหากินให้แก่ผู้ประสบอุทกภัยด้วยเพราะคนเหล่านี้เสียภาษีให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ส่วนแผนป้องกัน ระยะยาวควรกำหนดไว้ในตัวบทกฎหมายว่า ผู้ที่อยู่อาศัยริมแม่น้ำไม่ว่าจะเป็นรัฐหรือเอกชนจะต้องเป็นผู้ทำเขื่อนหรือกำแพงขนาดสูงตามแบบที่รัฐกำหนดเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำเอ่อล้นไหลทะลักเข้ามาท่วมเมือง เรื่องหลังนี้มีตัวอย่างที่ทำกันในหลายประเทศครับ
ขอฝากผู้รู้ทั้งหลายให้ไปช่วยคิดกันต่อว่า เนื้อหาสาระที่จำเป็นในกฏหมายทั้งสองฉบับนี้ควรมีเรื่องอะไรอีกครับ !!!!!
มีเสียงพูดกันมากเหลือเกินว่า บรรดาหมู่บ้านจัดสรรและนิคมอุตสาหกรรมบางแห่งตั้งอยู่บนพื้นที่ๆเคยเป็นทางผ่านของน้ำ ปีนี้น้ำมากก็เลยไหลไม่สะดวกจนเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดมหาอุทกภัย หากเป็นเช่นนั้นจริง ถ้าปีหน้ามีน้ำมากเช่นปีนี้ น้ำก็จะท่วมแบบปีนี้อีก ผมอยากฝากเรื่องนี้ไปถึงรัฐบาลด้วยว่า ก่อนที่จะตัดสินใจเยียวยาหรือเริ่มโครงการฟื้นฟูในรูปแบบต่างๆ ควรศึกษาหาคำตอบให้ชัดเจนก่อนว่า ที่ดินอันเป็นที่ตั้งของบ้าน หมู่บ้าน หรือนิคมอุตสาหกรรมเหล่านั้นเป็นอุปสรรคต่อการระบายน้ำหรือไม่ หากคำตอบออกมาว่าใช่ ควรรีบเวนคืนที่ดินเหล่านั้นเสียก่อนที่เจ้าของจะเข้าไปบูรณะปรับปรุงซ่อมแซม หาไม่แล้ว ปีหน้าถ้าน้ำมาก ก็จะเดือดร้อนลำบากกันทั้งประเทศอีกครับ
หนังสือ "รวมบทความกฎหมายมหาชนจาก www.pub-law.net เล่ม 10" อยู่ในระหว่างแจกจ่ายให้กับผู้ใช้บริการ www.pub-law.net ดังเช่นที่ผ่านมาทุกปีครับ กติกาในการแจกยังเหมือนเดิม ขอให้ผู้ประสงค์จะได้หนังสือหนา 512 หน้า กรุณานำซองเปล่าขนาด A4 ติดแสตมป์จำนวน 25 บาทจ่าหน้าซองถึงตนเอง พร้อมแนบสำเนาบัตรแสดงตน (บัตรข้าราชการ บัตรนิสิตนักศึกษา) เพื่อแสดงตัวตนของผู้ขอ และจดหมายขอบคุณเลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญที่ได้จัดพิมพ์หนังสือรวมบทความฯ เล่ม 10 เพื่อแจกจ่าย ส่งมาที่ ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถนนพญาไท เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330 ส่วนหนังสือ รวมบทบรรณาธิการจากเว็บไซต์ www.pub-law.net ซึ่งทั้งชุดประกอบด้วยหนังสือรวม 3 เล่ม รวบรวมบทบรรณาธิการที่ผมได้เขียนตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมานั้นยังมีพอแจกอยู่อีกไม่มากนัก ผู้สนใจกรุณาติดต่อขอรับได้โดยตรงที่หมายเลข 02 - 2182017 ต่อ 213 ในวันและเวลาราชการครับ
ในสัปดาห์นี้เรามีบทความมานำเสนอ 6 บทความด้วยกัน บทความแรกเป็นบทความที่เรียบเรียงจากปาฐกถาในงานสัมมนาวิชาการเนื่องในโอกาสครบรอบ 10 ปีศาลปกครอง เรื่อง บทบาทของนักกฎหมายและตุลาการในยุคแห่งนิติปรัชญาศตวรรษที่ 20 โดย ศาสตราจารย์ ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ บทความที่สองเป็นตอนต่อของบทความเรื่อง "มาตรการทางกฎหมายในการจัดการปัญหาน้ำท่วมของประเทศอังกฤษ (ตอนที่ 2)" ที่เขียนโดยอาจารย์ ปีดิเทพ อยู่ยืนยง บทความที่สามเป็นบทความของคุณพิภพ ภู่เพ็ง ที่เขียนเรื่อง "บทบาทของฝ่ายตุลาการในการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ" บทความที่สี่เป็นบทความตอนที่ 3 ของคุณภาคภูมิ อนุศาสตร์ เรื่อง รัฐธรรมนูญ อุดมคติหรือขยะทางความคิด 3" และบทความที่ห้า เป็นบทความเรื่อง "การดำเนินการเพื่อปฏิบัติตามคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาลโลกในคดีปราสาทพระวิหาร" ที่เขียนโดย ดร.สุวันชัย แสงสุขเอี่ยม และบทความสุดท้าย เป็นบทความของคุณมนูญ โกกเจริญพงศ์ ที่เขียนเรื่อง "ทำไม ! นักวิชาการจึงมองต่างมุม" ผมขอขอบคุณเจ้าของบทความทุกบทความไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ
พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 5 ธันวาคม 2554
ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์
|
|
|
พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=1662
เวลา 25 พฤศจิกายน 2567 06:11 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)
|