มาตรการทางกฎหมายในการจัดการปัญหาน้ำท่วมของประเทศอังกฤษ (ตอนที่ 1)

6 พฤศจิกายน 2554 18:07 น.

       [1] บทนำ
       ปัญหาอุทกภัยหรือภัยอันเกิดจากน้ำเป็นสาเหตุ เช่น ปัญหาน้ำท่วม ปัญหาน้ำป่าไหลหลาก เป็นต้น ปัญหาอุทกภัยดังกล่าวย่อมส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศอย่างหลีกเลี่ยงมิได้ นอกจากนี้ มนุษย์ที่เป็นองค์ประกอบหนึ่งของระบบนิเวศ ก็ย่อมได้รับผลกระทบโดยตรงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้จากปัญหาอุทกภัย ทั้งนี้ หลายประเทศในอดีตที่ผ่านมาได้เคยเผชิญปัญหาวิกฤติอุทกภัยมาแล้ว โดยหลายประเทศเมื่อได้รับประสบการณ์จากความสูญเสียจากอุทกภัยในอดีต ก็นำประสบการณ์มาพัฒนานโยบายสาธารณะและมาตรการทางกฎหมายเพื่อแก้ปัญหาอุทกภัยอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
       ประเทศอังกฤษเป็นประเทศหนึ่งที่เคยได้รับผลกระทบที่ร้ายแรงจากอุทกภัยมาหลายครั้ง แต่ครั้งที่ร้ายแรงและส่งผลกระทบต่อประเทศมากที่สุดครั้งหนึ่ง ได้แก่ น้ำท่วมในฤดูร้อนในปี ค.ศ. 2007 (Flooding in the UK 2007) โดยวิกฤติการน้ำท่วมครั้งนี้ทำให้ประชาชนเกือบทั่วทั้งเกาะอังกฤษได้รับความสูญเสียจากมหันตภัยน้ำท่วมในครั้งนั้น ซึ่งภายหลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว นักวิชาการที่มีบทบาทสำคัญคนหนึ่ง ได้แก่ เซอร์ไมเคิล พิทท์ (Sir Michael Pitt) นักวิชาการด้านผังเมืองคนสำคัญ[1] ได้จัดทำเอกสาร Pitt’s Review ขึ้น โดยเอกสารดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ที่สำคัญในการวางแผนเตรียมการป้องกันและบริหารจัดการวิกฤติการน้ำท่วมทั้งแผนเฉพาะหน้าและแผนระยะยาว ทั้งนี้ เอกสารดังกล่าวได้วิเคราะห์ถึงบทเรียนที่ได้รับจากน้ำท่วมในฤดูร้อนในปี ค.ศ. 2007 และมาตรการในการรับมือในระยะสั้นและระยะยาว โดยมาตรการที่สำคัญในการรับมือปัญหาน้ำท่วมในระยะยาวที่เซอร์พิทท์ ได้นำเสนอนั้น ได้แก่ การจัดทำมาตรการทางกฎหมายในการจัดการปัญหาน้ำท่วม ดังนั้น รัฐบาลประเทศอังกฤษได้ตอบสนองแนวทางและข้อเสนอแนะของเซอร์พิทท์ ในการแก้ปัญหาน้ำท่วม โดยบัญญัติกฎหมาย Flood and Water Management Act 2010 ขึ้น  เพื่อสร้างหลักการต่างๆในการเตรียมรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วมอย่างยั่งยืน  (The developing principles for sustainable flood) นอกจากนี้กรมสิ่งแวดล้อม อาหารและกิจการชนบท (Department for Environment Food and Rural Affairs - defra) ได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์ในการจัดการบริหารจัดการความเสี่ยงต่อวิกฤติการน้ำท่วมและการกัดเซาะชายฝั่งของอังกฤษ (National flood and coastal erosion risk management strategy for England) เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติของส่วนราชการต่างๆ ในการแก้วิกฤติน้ำท่วมในระยะยาวอีกด้วย
       สำหรับวิกฤติการปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ต่างๆ ของประเทศไทยในปัจจุบันนี้ ประเทศไทยมีสภาพไม่แตกต่างจากประเทศอังกฤษเมื่อครั้งเผชิญวิกฤติการน้ำท่วมในปี น้ำท่วมในฤดูร้อนในปี ค.ศ. 2007 หรือเมื่อสี่ปีที่ผ่านมา แต่อย่างไรก็ดี เมื่อศึกษาจากบทเรียนของประเทศอังกฤษ ภายหลังจากเกิดวิกฤติการน้ำท่วมใหญ่ของประเทศอังกฤษครั้งนั้นแล้ว รัฐบาลอังกฤษไม่ได้นิ่งนอนใจแต่อย่างใด หากแต่รัฐบาลและส่วนราชการต่างๆ ได้เตรียมระดมความคิดโดยยึดแนวทางการศึกษาของ Pitt’s Review เป็นหลัก จนกระทั้งได้ตรากฎหมายเพื่อบริหารจัดการวิกฤติน้ำท่วมอย่างยั่งยืน
       บทความฉบับนี้ ผู้เขียนมุ่งเขียนขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ที่สำคัญสองประการ ประการแรก บทความนี้เขียนขึ้นเพื่อเป็นการให้กำลังใจคนไทยในการต่อสู้กับวิกฤติน้ำท่วมครั้งยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์ที่กำลังเผชิญอยู่นี้ เพราะไม่ใช่ประเทศไทยเพียงประเทศเดียวที่พึ่งกำลังเผชิญปัญหานี้อยู่ ในอดีตที่ผ่านมาหลายๆ ประเทศ เช่น ประเทศอังกฤษ เป็นต้น ก็ได้เผชิญวิกฤติการครั้งร้ายแรงมาแล้ว หากแต่เมื่อบ้านเมืองผ่านพ้นวิกฤติ สิ่งที่รัฐบาลและส่วนราชการต่างๆ กระทำ ได้แก่ การตอบสนองต่อ Pitt’s Review จนนำไปสู่การบัญญัติกฎหมาย Flood and Water Management Act 2010 ขึ้น ประการต่อมา มาตรการทางกฎหมายในการจัดการปัญหาน้ำท่วมของประเทศอังกฤษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลักการเตรียมรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วมอย่างยั่งยืน ของ Pitt’s Review ย่อมเป็นแนวทางที่สำคัญที่รัฐบาลไทยควรศึกษาไว้และอาจนำไปสู่การตรากฎหมายเฉพาะในการบริหารจัดการวิกฤติน้ำท่วมในอนาคตได้ทางหนึ่ง
       [1.1] ปัญหาน้ำท่วมครั้งใหญ่ของประเทศอังกฤษในปี ค.ศ. 2007 (The Summer 2007 Floods in England) ประเทศอังกฤษเคยได้รับผลกระทบจากปัญหาปัญหาอุทกภัยมาหลายครั้ง แต่ปัญหาจากเหตุการณ์อุทกภัยที่ประเทศอังกฤษได้รับบทเรียนจากการสูญเสียทั้งทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรมนุษย์อย่างรุนแรงครั้งล่าสุด ได้แก่ ปัญหาน้ำท่วมระหว่างเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคม ในฤดูร้อนปี ค.ศ. 2007 (The summer 2007 flooding) โดยวิกฤติน้ำท่วมดังกล่าวเกิดจากปริมาณของฝนที่ตกลงมาอย่างต่อเนื่องและมีปริมาณมากในรอบ 60 ปี[2] ซึ่งถือเป็นเหตุการณ์ที่ต่างจากฝนตกตามฤดูกาลทั่วไป (Exceptional rainfall in the summer of 2007)  
       ทั้งนี้ วิกฤติการณ์น้ำท่วมดังกล่าว ได้ครอบคลุมไปในหลายบริเวณและกินความเสียหายเกือบทุกพื้นที่ของเกาะอังกฤษ เช่น กลอสเตอร์เชียร์ ฮาร์ทฟอร์ทเชียร์ อ็อกฟอร์ดเชียร์ และเบิรก์เชียร์ เป็นต้น[3] สำหรับผลกระทบที่ตามมาต่อประชาชนในท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมดังกล่าว ทำให้ประชาชนหลายครอบครัวไม่มีที่อยู่อาศัย สาธารณูปโภคและการคมนาคมถูกตัดขาด[4] ภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมต่างๆ ได้รับความเสียหาย[5] โดยความเสียหายจากปัญหาน้ำท่วมได้ส่งผลให้มีผู้ไร้ที่อยู่อาศัยชั่วคราวถึง 44,600 ครัวเรือน และ มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าวถึง 13 คน[6] โดยมูลค่าความเสียหายที่รัฐและประชาชนทางเศรษฐกิจที่ประชาชนประเทศอังกฤษได้รับได้รับในขณะนั้น เป็นจำนวนเงินกว่าสามพันล้านปอนด์ (£3 billion) และภาคธุรกิจกว่า 7,100 แห่งยังได้รับความเสียหายจากวิกฤติน้ำท่วมครั้งนี้โดยตรง[7]
       เมื่อภายหลังจากวิกฤติน้ำท่วมในครั้งนี้ ได้มีหลายภาคส่วนได้หารือกันถึงสาเหตุของน้ำท่วมในครั้งนี้ เพราะนอกจากภัยธรรมชาติที่อยู่นอกเหนือจากความควบของส่วนราชการต่างๆและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของอังกฤษแล้ว ปัญหาเฉพาะหน้าที่ส่วนราชการต่างๆ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เผชิญอยู่ ณ ขณะนั้นและไม่สามารถแก้ไขได้เพราะขาดการเตรียมการเป็นอย่างดีมาล่วงหน้าเพื่อรองรับวิกฤติน้ำท่วม เช่น  ปัญหาการระบายน้ำได้อย่างทันท่วงที (Drainage systems) เป็นต้น
       นอกจากนี้ ความรับผิดชอบในการบริหารจัดการความเสี่ยงเพื่อการรับมือต่อวิกฤติน้ำท่วม (Flood risk responsibilities) ในก่อนปี ค.ศ. 2007 ยังขาดนโยบายสาธารณะและมาตรการทางกฎหมายเพื่อสนับสนุนการจัดผังเมืองและบูรณาการในการแก้ปัญหาน้ำท่วมอย่างเป็นรูปธรรม เช่น การพัฒนาแนวทางการสร้างระบบระบายน้ำทิ้งที่ดี (Public drainage and sewerage system) หรือการพัฒนาระบบระบายน้ำอย่างยั่งยืน (Sustainable drainage systems (SUDs)) เป็นต้น
       จากเหตุผลที่ได้กล่าวมาในข้างต้น รัฐบาลอังกฤษจึงได้พัฒนาการลงทุนระยะยาวเพื่อบริหารความเสี่ยงจากวิกฤติการน้ำท่วมในอนาคตที่อาจจะเกิดขึ้นได้ (Long-term investment strategy for flood risk management) โดยในปัจจุบันนี้ รัฐบาลได้วางแผนระยะยาวเพื่อรองรับปัญหาน้ำท่วมอันอาจจะเกิดขึ้นได้ภายในระยะเวลา 25 ปีข้างหน้า (ค.ศ. 2010-2035) เพื่อรองรับปัญหาน้ำท่วมและการกัดเซาะของชายฝั่งที่ได้รับผลกระทบมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change)[8] ที่ทั้วโลกกำลังประสบปัญหาในปัจจุบัน
       [1.2] ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกับวิกฤติน้ำท่วมครั้งใหญ่ของประเทศอังกฤษในปี ค.ศ. 2007
       ปัญหาอุทกภัยของประเทศอังกฤษในฤดูร้อนปี 2007 ได้ถูกเชื่อมโยงกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change)[9] กล่าวคือ การเปลี่ยนแปลงลักษณะอากาศโดยเฉลี่ยของประเทศอังกฤษ อาจส่งผลให้เกิดความแปรผันของธรรมชาติอย่างรุนแรงกว่าที่เคยเป็นในอดีต[10] ซึ่งวิกฤติน้ำท่วมในฤดูร้อนในปี ค.ศ. 2007 มีลักษณะรุนแรงกว่าน้ำท่วมในรอบ 60 ปีของอังกฤษและมิใช้ลักษณะฝนตกต้องตามฤดูกาลตามปกติโดยทั่วไป ดังที่ได้กล่าวมาแล้วในข้างต้น[11] นอกจากนี้  ปัญหาวิกฤติน้ำท่วม ค.ศ. 2007 ได้เกิดขึ้นผิดฤดูในช่วงฤดูร้อน ซึ่งโดยทั่วไปแล้วปริมาณน้ำฝนของประเทศอังกฤษในฤดูร้อนจะมีปริมาณที่น้อยมาก กล่าวคือ วิกฤติน้ำท่วมในครั้งนี้มีลักษณะของการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศอย่างสุดขั้ว  (Extreme weather events) นั้นเอง[12]
       นอกจากนี้ ยังมีเอกสารหลายฉบับได้สนับสนุนแนวคิดของความสัมพันธ์ระหว่างปัญหาวิกฤติน้ำท่วม ค.ศ. 2007 กับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศอย่างสุดขั้ว เช่น เอกสาร Stern Review[13] ได้พยากรณ์ในเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศของอังกฤษอย่างสุดขั้ว อาจก่อให้เกิดฝนตกหนักและอาจมีอุทกภัยตามมาอย่างฉับพลันและได้มีการคาดการณ์ถึงปริมาณน้ำฝนและระดับน้ำทะเลอาจมีการเพิ่มขึ้นในอนาคตอีกด้วย[14] เป็นต้น
       ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศอย่างสุดขั้วที่ส่งผลให้เกิดปริมาณน้ำฝนที่มากขึ้น ย่อมก่อให้เกิดความเสี่ยง (Risk) ต่อหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการวางผังเมืองและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการรับมือกับปัญหาน้ำท่วมหรือชีวิตและทรัพย์สินของภาคเอกชน ดังนั้นจึงควรมีการเตรียมการเพื่อรับมือกับความเสี่ยงของการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศอย่างสุดขั้วและความเสี่ยงของวิกฤติน้ำท่วมในอนาคต
       [2] เอกสารเกี่ยวกับการผังเมืองเพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วมในอดีตของอังกฤษ (Planning Policy Guidance and Statement)
       แม้ในอดีตที่ผ่านมา รัฐบาลอังกฤษได้มีการจัดทำเอกสารเกี่ยวกับการผังเมืองเพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วมมาหลายฉบับ[15] ได้แก่ ข้อเสนอแนะนโยบายการผังเมือง 1 ค.ศ. 1997 (Planning Policy Guidance 1)[16] แถลงการณ์นโยบายการผังเมือง 1 ค.ศ. 2005 (The Planning Policy Statement 1 - PPS1)[17] บันทึกแนวทางนโยบายผังเมือง 25 ค.ศ. 2001 (Planning Policy Guidance Note 25 Development and Flood Risk) และ แถลงการณ์นโยบายการผังเมือง 25 ค.ศ. 2006 (Planning Policy Statement 25 Version 2006 - PPS25) ที่ได้กล่าวถึงระบบผังเมืองและแนวทางในการแก้ปัญหาน้ำท่วมของประเทศอังกฤษ[18]
       [2.1] ข้อเสนอแนะนโยบายการผังเมือง 1 ค.ศ. 1997 (Planning Policy Guidance 1)
       ข้อเสนอแนะนโยบายการผังเมือง 1 ค.ศ. 1997 ได้กำหนดแนวทางการวางระบบผังเมืองอย่างยั่งยืนภายใต้หลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable development) ซึ่งคำแนะนำด้านนโยบายดังกล่าว ได้กำหนดหลักเกณฑ์เพื่อสนับสนุนการวางผังเมืองอย่างยั่งยืนไว้ โดยกำหนดยุทธศาสตร์ที่สำคัญสามประการหลักๆ ด้วยกัน ได้แก่ ประการแรก เพื่อตอบสนองความต้องการของภาครัฐและเอกชนในการแสวงหาประโยชน์จากการวางผังเมือง แต่การตอบสนองความต้องการดังกล่าวต้องไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วย ประการที่สอง เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพของที่ดินอย่างสูงสุดในการทำงานและดำรงชีพของประชาชน ประการที่สาม กำหนดแนวทางในการลดความต้องการในการเดินทางหรือย่นระยะทางในการเดินทางของประชาชน
       นอกจาก การกำหนดแนวทางการวางระบบผังเมืองอย่างยั่งยืน ข้อเสนอแนะดังกล่าวยังได้กำหนดการพัฒนาแบบผสมผสาน (Mixed-use development) โดยอาศัยบทบาทและอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการผังเมืองท้องถิ่น (Local planning authorities) แม้ว่าแผนดังกล่าวจะเป็นแผนการพัฒนาแบบผสมผสานในการพัฒนาผังเมืองในเรื่องต่างๆ แต่อย่างไรก็ดี แผนดังกล่าวไม่ได้กำหนดกรอบในเรื่องของมาตรการทางกฎหมายหรือนโยบายในการจัดการปัญหาน้ำท่วมไว้โดยเฉพาะแต่อย่างใด[19] คงกำหนดเพียงแนวทางให้ส่วนราชการผังเมืองท้องถิ่นให้ออกแบบและวางสาธารณูปโภคให้เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน (the availability of adequate infrastructure) ซึ่งอาจรวมความไปถึงสาธารณูปโภคเพื่อป้องกันน้ำท่วม เช่น ท่อระบายน้ำเสีย ระบบการระบายน้ำและชลประทาน เป็นต้น
       สำหรับมาตรการทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับข้อเสนอแนะนโยบายการผังเมือง 1 ค.ศ. 1997 ได้แก่ กฎหมายTown and Country Planning Act 1990[20] Planning (Listed Buildings and Conservation Areas) Act 1990[21] และ กฎหมาย Planning (Hazardous Substances) Act 1990[22]  ซึ่งกฎหมายทั้งสามฉบับนี้มิใช่มาตรการทางกฎหมายในการจัดการกับปัญหาน้ำท่วมโดยตรง โดยเป็นกฏหมายกำหนดแนวทางการอนุรักษ์สิ่งก่อสร้างทางประวัติศาสตร์และการจัดการสารอันตรายที่อาจส่งผลกระทบต่อชุมชนเมือง ทั้งนี้ มาตรการทางกฎหมายทั้งสามฉบับนี้ เพียงกำหนดแนวทางในการบริหารจัดการผังเมืองทั่วไป โดยมิได้รองรับหรือกำหนดแนวทางการจัดการน้ำท่วมโดยทั่วไปหรือน้ำท่วมจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศอย่างสุดขั้วแต่อย่างใด
       [2.2] แถลงการณ์นโยบายการผังเมือง 1 ค.ศ. 2005 (The Planning Policy Statement 1 - PPS1)
       แถลงการณ์นโยบายการผังเมือง 1 ค.ศ. 2005 หรือ PPS1ได้ถูกจัดทำขึ้นและใช้แทนข้อเสนอแนะนโยบายการผังเมือง 1 ค.ศ. 1997 ซึ่งเป็นแผนที่เก่าและล้าหลัง ทั้งนี้ PPS1 ยังถูกกำหนดขึ้นเพื่อเป็นเครื่องมือในการวางกรอบนโยบายแบบครอบคลุมด้านการผังเมืองโดยการนำเอาหลักการนำการพัฒนาอย่างยั่งยืน มาใช้ในการพัฒนาระบบผังเมือง (Delivering Sustainable Development)[23]
       ทั้งนี้ หลักการนำการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Delivering Sustainable Development) ในแผน PPS1 ได้กำหนดแนวทางการแก้ปัญหาผลกระทบจากสิ่งแวดล้อม โดยนำเอาหลักการนำการพัฒนาอย่างยั่งยืนเพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงในการเกิดปัญหาน้ำท่วมและความเสี่ยงจากปริมาณระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น[24] นอกจากนี้ PPS1 ยังได้ให้ข้อเสนอแนะและกำหนดแนวทางในการพัฒนาในการรับมือกับภัยธรรมชาติ (natural hazards) เพื่อแก้ปัญหาวิกฤติน้ำท่วมและการเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศที่มีแนวโน้มที่จะทวีความรุนแรงได้ในอนาคต
       [2.3] บันทึกแนวทางนโยบายผังเมือง 25 ค.ศ. 2001 (Planning Policy Guidance Note 25 Development and Flood Risk)
       บันทึกแนวทางนโยบายผังเมือง 25 ค.ศ. 2001 เป็นแนวทางที่รัฐบาลอังกฤษได้กำหนดขึ้นพิจารณาขึ้นตอนการผังเมืองและกระบวนการพัฒนาเพื่อลดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินอันเกิดจากปัญหาน้ำท่วม[25] ทั้งนี้ รัฐบาลอังกฤษได้ศึกษาแนวทางในการจัดการและลดความเสี่ยงจากปัญหาน้ำท่วม โดยรัฐบาลอังกฤษได้นำหลักเกณฑ์ที่สำคัญสองประการที่สำคัญได้แก่ หลัก Precautionary Basis และหลัก Sustainable Development[26]                          
       หลัก Precautionary Basis[27] ได้แก่ หลักการเฝ้าระวังภัยอันตรายที่เกี่ยวเนื่องกับภัยจากน้ำท่วม ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการประเมินความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของสถานการณ์น้ำท่วมก็ดีหรือการประเมินสถานการณ์ก่อนน้ำท่วมและแจ้งข่าวสารต่อประชาชนก่อนก็ดี ย่อมเป็นการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและเพิ่มความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนได้  [28]
       สำหรับหลัก Sustainable Development ได้แก่ หลักที่รัฐบาลอังกฤษได้พัฒนาขึ้นเพื่อให้มีการจัดการปัญหาน้ำท่วมอย่างยั่งยืนและบริหารจัดการความเสี่ยงจากปัญหาน้ำท่วมอย่างยั่งยืน โดยรัฐบาลต้องการเพิ่มการเรียนรู้ของผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศที่สัมพันธ์กับผลกระทบความเสี่ยงอันเกิดมาจากน้ำท่วมที ทั้งนี้ อาศัยทางเลือกอย่างยั่งยืน (sustainable alternatives) เช่น การพัฒนาระบบการจัดการระบายน้ำ(conventional drainage systems) และการจัดการผังเมืองที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่รับน้ำและการป้องกันชายฝั่ง (management planning in relation to both river catchments and coastal cells) เป็นต้น
       สำหรับองค์กรที่บังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการความเสี่ยงจากปัญหาน้ำท่วมในขณะนั้น (ก่อนจัดทำ PPS25) ได้แก่ กระทรวงการเกษตร ประมงและอาหาร (Ministry for Agriculture Fisheries and Food (MAFF)) (ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นเปลี่ยนชื่อเป็นกรมสิ่งแวดล้อม อาหารและกิจการชนบท (The Department for Environment, Food and Rural Affairs (DEFRA) The Environment Agency) และ Local authorities 
       กระทรวงการเกษตร ประมงและอาหาร (Ministry for Agriculture Fisheries and Food (MAFF)) ได้พัฒนายุทธศาสตร์สำหรับปัญหาน้ำท่วมและการป้องกันชายฝั่ง ค.ศ. 1993 (Strategy for flood and coastal defence (1993))[29] โดยมีเป้าหมายสามประการในการลดความเสี่ยงจากปัญหาน้ำท่วม ได้แก่ ประการแรก สนับสนุนให้มีระบบการเตือนภัยน้ำท่วมอย่างเพียงพอ ประการที่สอง สนับสนุนให้มีการสนับสนุนทางเทคนิคและมาตรการในการป้องกันน้ำท่วมอย่างยั่งยืน ประการที่สาม เพิ่มการสนับสนุนและการพัฒนาในพื้นที่ความเสี่ยงจากปัญหาน้ำท่วม ต่อมา กระทรวงการเกษตร ประมงและอาหารหรือ MAFF ได้เปลี่ยนชื่อเป็นกรมสิ่งแวดล้อม อาหารและกิจการชนบท (Department for Environment, Food and Rural Affairs (DEFRA)) ที่ยังคงมีบทบาทที่สำคัญในการสนับสนุนยุทธศาสตร์สำหรับปัญหาน้ำท่วมและการป้องกันชายฝั่ง ค.ศ. 1993
       สำนักสิ่งแวดล้อม (Environment Agency) เป็นองค์กรหลักในการให้คำปรึกษาแก่ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐต่างๆ (supervisory duty) ที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันน้ำท่วม นอกจากนี้ องค์กรดังกล่าวยังเป็นองค์กรหลักในการปฏิบัติเกี่ยวกับการรับผิดชอบแม่น้ำสายหลักของประเทศและการป้องกันแนวชายฝั่งทะเลและควบคุมระดับน้ำทะเล
       บทบาทที่สำคัญของสำนักสิ่งแวดล้อมของอังกฤษที่สำคัญอีกประการหนึ่ง ได้แก่ การประกาศเตือนภัยเกี่ยวกับภัยอันตรายของน้ำท่วม (The dissemination of flood warnings) ที่มีหน้าที่ในการประกาศเตือนภัยต่อประชาชนเกี่ยวกับภยันอันตรายของน้ำท่วมในภาวะต่างๆ นอกจากนี้ กฎหมาย Water Resources Act 1991 มาตรา 105 ยังได้กำหนดหน้าที่ของสำนักสิ่งแวดล้อมของอังกฤษ ให้มีหน้าที่ในการสำรวจเหตุที่เกี่ยวข้องกับน้ำท่วม (a duty to survey matters relating to flooding) ทั้งนี้รวมไปถึงหน้าที่ในการระบุพื้นที่ที่เกิดปัญหาน้ำท่วมหรืออาจจะเกิดปัญหาน้ำท่วม (identification of areas where flood defence problems are likely) ดังนั้น ถือว่ามาตรา 105 เป็นมาตรการที่สำคัญในการสนับสนุนการประกาศเตือนภัยและระบุขอบเขตที่ราบน้ำท่วมถึง (flood plains) พื้นที่ที่น้ำท่วมถึง (washland areas) และพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมแล้ว (land liable to flood)[30] นอกจากนี้ สำนักสิ่งแวดล้อมของอังกฤษ ยังมีหน้าที่ในการรับผิดชอบสำหรับการให้ความยินยอมในการระบายน้ำ (Drainage consents) จากสถานที่ต่างๆ ภายใต้ ภาค 2 ของ กฎหมาย Environmental Protection Act 1990[31]
       องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (Local authorities) มีหน้าที่ในการเป็นองค์กรภาคปฏิบัติในการจัดการน้ำทั่วไป (ordinary watercourses) ภายใต้การทำงานของคณะกรรมการระบายน้ำภายใต้ หรือ Internal Drainage Boards (IDBs) ทั้งนี้ ฝ่ายผังเมืองท้องถิ่นยังมีหน้าที่ที่สำคัญในการรับผิดชอบแผนพัฒนาเพื่อป้องกันผลกระทบจากน้ำท่วม ภายใต้กฎหมาย Building Regulations 2000 ซึ่งเป็นกฎหมายที่กำหนดให้มีการออกแบบอาคารหรือสิ่งปลูกสร้าง โดยอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างต้องมีการระบายน้ำที่เหมาะสม (functional design of and drainage from buildings)[32] นอกจากนี้ ยังมีสำนักทางหลวง (Highways authorities) ที่มีหน้าที่รับผิดชอบการระบายน้ำจากถนนหลวงเพื่อให้สะดวกต่อการสัญจรอีกทางหนึ่ง
       [2.4] แถลงการณ์นโยบายการผังเมือง 25 ค.ศ. 2006 (Planning Policy Statement 25 Version 2006 - PPS25)
       แม้ว่าน้ำท่วมและปริมาณน้ำขึ้นน้ำของชายฝั่ง ถือเป็นปรากฎการณ์หรือภัยธรรมชาติที่อาจเกิดขึ้นได้จากกระบวนการทางธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ แต่อย่างไรก็ดี ปัญหาน้ำท่วมก็ย่อมเป็นภัยต่อชีวิตและทรัพย์สิน ดังนั้น การแม้ว่าเราไม่สามารถป้องกันโทษภัยของปัญหาน้ำท่วมได้เสียทั้งหมด แต่อย่างไรก็ดีการวางแผนและการจัดการที่ดี ย่อมทำให้สามารถบรรเทาปัญหาลงได้ [33] ดังนั้น แถลงการณ์นโยบายการผังเมือง 25 ค.ศ. 2006 หรือ PPS 25 ได้ถูกจัดทำขึ้นแทนบันทึกแนวทางนโยบายผังเมือง 25 ค.ศ. 2001 ที่ได้ถูกยกเลิกลงไป
       แผน PPS 25 เป็นแผนของรัฐบาลอังกฤษโดยการบูรณาการความร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับปัญหาน้ำท่วมและการผังเมือง ได้แก่ เจ้าของที่ดินและผู้จัดสรรที่ดิน (Owner/Developer) องค์กรผังเมืองภูมิภาค (Regional Planning Body) องค์กรผังเมืองท้องถิ่น (Local Planning Authority) องค์กรสิ่งแวดล้อม (Environment Agency) และฝ่ายอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ในการต่อสู้วิกฤติน้ำท่วมในช่วงก่อนที่จะเกิดวิกฤติน้ำท่วมในฤดูร้อนในปี ค.ศ. 2007  ทั้งนี้ แผนดังกล่าวได้กำหนดกรอบวัตถุประสงค์ที่สำคัญในการกำหนดแผน (Key Planning Objectives) ในการต่อสู้กับปัญหาน้ำท่วม โดยอาศัยวิธีการและกลไกในการจัดการความเสี่ยงที่จะเกิดน้ำท่วมได้ (risk of flooding) โดยกำหนดมาตรการเพื่อลดความเสี่ยงและไม่สร้างความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดปัญหาน้ำท่วมเพิ่มขึ้น[34]
       ทั้งนี้ องค์กรผังเมืองส่วนภูมิภาค (Regional Planning Bodies - RPBs) และองค์กรผังเมืองส่วนท้องถิ่น (Local Planning Authorities - LPAs) ควรนำเอาหลักการนำการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยอาศัยการเตรียมยุทธศาสตร์ผังเมืองเพื่อรับมือกับปัญหาน้ำท่วมสามประการ ได้แก่ ประการแรก การประเมินความเสี่ยง (Appraising risk) กล่าวคือ รัฐบาลต้องระบุพื้นที่ที่มีความเสี่ยงและระดับความเสี่ยงการเกิดน้ำท่วม ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วมจากแม่น้ำ ทะเล หรือแหล่งน้ำอื่นๆ  นอกจากนี้   รัฐยังต้องเตรียมการประเมินความเสี่ยงน้ำท่วมระดับภูมิภาค(Regional Flood Risk Appraisals (RFRAs))หรือประเมินความเสี่ยงน้ำท่วมทางยุทธศาสตร์ (Strategic Flood Risk Assessments (SFRAs)) เพื่อให้แสวงหาแนวทางในการแก้ปัญหาที่เหมาะสม ประการที่สอง การจัดการความเสี่ยง (Managing risk) กล่าวคือ เป็นการจัดการความเสี่ยงโดยกำหนดนโยบายเพื่อลดความเสี่ยงและหลีกเลี่ยงความเสี่ยงจากปัญหาน้ำท่วมต่อประชาชน โดยต้องคำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่อาจกระทบต่อปัญหาน้ำท่วมด้วย ประการที่สาม การลดความเสี่ยงของปัญหาน้ำท่วม (Reducing risk) ได้แก่ การอาศัยการป้องกันปัญหาน้ำท่วมโดยวิธีการจัดการน้ำท่วมที่ดีทั้งในปัจจุบันและในอนาคต เช่น จัดให้มีระบบลำเลียงน้ำ (conveyance of flood water) เก็บกักน้ำ (storage of flood water) เป็นต้น โดยวิธีการจัดการน้ำท่วมที่ดีควรมีลักษณะเป็นการสร้างระบบการระบายน้ำอย่างยั่งยืน (Sustainable Drainage Systems (SUDS)) เพื่อลดสาเหตุและผลกระทบของน้ำท่วมในอนาคต
       [3] เอกสารวิจารณ์ของเซอร์ไมเคิล พิทท์ (Sir Michael Pitt's Review - The Pitt Review)
       [3.1] ความนำ
       เอกสารวิจารณ์ของเซอร์ไมเคิล พิทท์ หรือ Pitt Review เป็นเอกสารที่จัดทำโดยเซอร์ไมเคิล พิทท์ นักวิชาการด้านผังเมืองคนสำคัญของอังกฤษ[35] โดยเอกสารดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ที่สำคัญในการวางแผนเตรียมการป้องกันและบริหารจัดการความเสี่ยง (risk) จากวิกฤติการน้ำท่วมทั้งแผนเฉพาะหน้าและแผนระยะยาว ทั้งนี้ เอกสารดังกล่าวได้วิเคราะห์ถึงบทเรียนที่ได้รับจากน้ำท่วมในฤดูร้อนในปี ค.ศ. 2007 ที่เกิดจากฝนตกอย่างหนักติดต่อกัน (Extreme rainfall) ดังที่ได้กล่าวมาแล้วในข้างต้น [36] ดังนั้น ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการความเสี่ยงของปัญหาน้ำท่วมและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น[37] จึงควรร่วมมือกันเพื่อรับมือกับความเสียงของวิกฤติการน้ำท่วมที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต
       [3.2] สาเหตุที่ทำให้เกิดฝนตกอย่างหนักติดต่อกัน (Extreme rainfall)
       ปริมาณฝนที่ตกลงมาอย่างหนักติดต่อกัน (Extremely heavy rainfall) ในระหว่างพฤษภาคมถึงกรกฎาคม ค.ศ. 2007 ถือว่ามีปริมาณมากที่สุดนับตั้งแต่สถิติถูกบันทึกไว้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1766 จึงถือได้ว่าฝนที่ตกอย่างหนัก ถือเป็นสภาวะที่ไม่ปกติของสภาพอากาศ (Unusual weather conditions) ทั้งนี้ มีปริมาณน้ำฝนที่ตกวัดได้ 414 มิลลิลิตรซึ่งถือเป็นสถิติสูงสุดนับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1766 เป็นต้นมา ผลที่ตามมาจากการเพิ่มของปริมาณฝนที่ตกลงมาอย่างหนักติดต่อกัน นั้นก็คือ รัฐไม่สามารถรับมือกับปัญหาน้ำท่วมได้ กล่าวคือ การระบายน้ำไม่สามารถระบายให้ทันท่วงที ได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ต่ำ (low-lying areas) จึงส่งผลให้เกิดน้ำท่วมอย่างหนักในเวลาต่อมา[38]
       ผลกระทบของน้ำท่วมในฤดูร้อนในปี ค.ศ. 2007 ได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อประชาชนทำให้ประชาชนไม่มีน้ำประปาใช้เป็นเวลาสองอาทิตย์ 140,000 ครัวเรือน มีผู้ไร้ที่อยู่อาศัยชั่วคราวถึง 44,600 ครัวเรือน และ มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าวถึง 13 คน[39] โดยมูลค่าความเสียหายที่รัฐและประชาชนทางเศรษฐกิจที่ประชาชนประเทศอังกฤษได้รับได้รับในขณะนั้น เป็นจำนวนเงินกว่าสามพันล้านปอนด์ (£3 billion) และภาคธุรกิจกว่า 7,100 แห่งยังได้รับความเสียหายจากวิกฤติน้ำท่วมครั้งนี้โดยตรง
       [3.3] ข้อเสนอแนะเร่งด่วน 35 ประการของ Pitt Review (Pitt Review’s Recommendation)
       เอกสาร Pitt Review[40] ได้ให้ข้อเสนอแนะเร่งด่วนในการบริหารความเสี่ยงวิกฤติน้ำท่วม (Flood risk management) 92 ประการดังต่อไปนี้[41]
       -          ข้อแนะนำประการที่ 1: ในการเพิ่มของคำทำนายในสภาพอากาศที่เกิดขึ้นในอนาคต รัฐบาลควรให้ความสำคัญกับการปรับตัวและการบรรเทาผลกระทบเพื่อช่วยให้สังคมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ (climate change) ในอนาคต
       -          ข้อแนะนำประการที่ 2: สำนักสิ่งแวดล้อมควรมีบทบาทในการดูแลภาพรวมของความเสี่ยงจากวิกฤติน้ำท่วมทั้งหมด รวมไปถึงความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากแหล่งน้ำผิวดิน (surface water flood risk) และความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากแหล่งน้ำใต้ดิน (groundwater flood risk) ทันทีที่เกิดผลกระทบ
       -          ข้อแนะนำประการที่ 3: สำนักอุตุนิยมวิทยา (The Met Office)[42] ควรดำเนินการในการปรับปรุงวิธีการทำนายและพยากรณ์เพื่อให้รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถรับมือกับระดับความฉุกเฉินได้
       -          ข้อแนะนำประการที่ 4: สำนักสิ่งแวดล้อมควรพัฒนาเครื่องมือและเทคนิคใน การทำนายและสร้างแบบจำลองเหตุการณ์น้ำท่วม การแจกแจงเหตุการณ์ภาวะน้ำท่วมที่เกิดขึ้นอย่างผันผวนและรุนแรงขึ้น และความลึกและความเร็วของระดับน้ำ
       -          ข้อแนะนำประการที่ 5: สำนักสิ่งแวดล้อมควรประสานความร่วมมือในการทำงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อสามารถแก้ปัญหาวิกฤติน้ำท่วมได้อย่างเร่งด่วนและรวดเร็ว โดยควรพัฒนาเครื่องมือและเทคนิคเพื่อที่จะกำหนดรูปแบบของน้ำท่วม
       -          ข้อแนะนำประการที่ 6: สำนักสิ่งแวดล้อมและสำนักอุตุนิยมวิทยาควรประสานความร่วมมือในการจัดตั้งศูนย์ประสานงานวิกฤติน้ำท่วม (a joint centre) เพื่อปรับปรุงความสามารถทางเทคนิคในการพยากรณ์ การจัดทำแบบจำลองต่อสู้วิกฤติ และการเตือนภัยเพื่อต่อสู้กับวิกฤติน้ำท่วม
       -          ข้อแนะนำประการที่ 7: รัฐบาลควรจัดให้มีข้อสันนิษฐานต่ออาคารหรือสิ่งปลูกสร้างที่อยู่ในบริเวณที่มีความเสี่ยงต่อน้ำท่วมสูง ตามที่ PPS25 (Version 2006) ได้กำหนดไว้ รวมทั้งให้พิจารณาถึงแหล่งที่มาของความเสี่ยงวิกฤติน้ำท่วมจากสาเหตุต่างๆและสนับสนุนให้ผู้พัฒนาอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างต้องร่วมรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการป้องกันน้ำท่วมตามความจำเป็น
       -          ข้อแนะนำประการที่ 8: การปฏิบัติงานและประสิทธิผลของ  PPS25 และอำนาจหน้าที่ของสำนักสิ่งแวดล้อม ควรถูกทบทวนและเสริมสร้างความเข้มแข็งของอำนาจให้มากขึ้นตามความจำเป็น
       -          ข้อแนะนำประการที่ 9: ประชาชนไม่ควรวางสิ่งกีดขวางพื้นผิว (impermeable surfaces) ในการจัดสวนหน้าบ้านและรัฐบาลควรให้แนะนำแก่ประชาชนในการในการจัดสวนหลังบ้านและการจัดวางสิ่งของของภาคธุรกิจเพื่อไม่เป็นอุปสรรคต่อการระบายน้ำ
       -          ข้อแนะนำประการที่ 10: สิทธิของเอกชนผู้ดำเนินโครงการจัดสรรที่ดินหรือผู้ก่อสร้างอสังหาริมทรัพย์ ในการติดตั้งท่อระบายน้ำจากการก่อสร้างอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างต่างๆ เพื่อเชื่อมต่อกับระบบระบายน้ำเสียของเทศบาลหลักควรถูกยกเลิกเสีย
       -          ข้อแนะนำประการที่ 11: กฎระเบียบในการก่อสร้างอาคารควรได้รับการปรับปรุง เพื่อให้แน่ใจว่าอาคารใหม่ทุกอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างใหม่ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงที่จะถูกน้ำท่วมสูง มีความทนต่อสภาพน้ำท่วมหรือมีความยืดหยุ่นต่อสถานการณ์น้ำท่วม
       -          ข้อแนะนำประการที่ 12: องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรให้ประชาชนได้รับสิทธิในการเข้ารับการคัดเลือกสำหรับเงินทุนหรือเงินกู้ยืมในการป้องกันน้ำท่วม (flood resistance) หรือ ติดตั้งอุปกรณ์ (resilience products) เพื่อป้องกันทรัพย์สินที่อยู่ในพื้นที่ที่มีความเสียงจากปัญหาน้ำท่วมสูง
       -          ข้อแนะนำประการที่ 13: องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรสนับสนุนให้ภาคธุรกิจเตรียมการในการเสริมการป้องกันน้ำท่วมทรัพย์สินและเตรียมการรับมือวิกฤติน้ำท่วม ภายใต้กฎหมายบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน Civil Contingencies Act 2004[43]  เพื่อสนับสนุนให้ภาคธุรกิจสามารถดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง (business continuity)
       -          ข้อแนะนำประการที่ 14: องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรนำการบริหารจัดการความเสี่ยงในวิกฤติน้ำท่วมท้องถิ่น ด้วยการสนับสนุนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
       -          ข้อแนะนำประการที่ 15: องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรจัดการปัญหาวิกฤติน้ำท่วมท้องถิ่นด้วย การทำงานกับกับหลายฝ่าย  การก่อตั้งผู้รับผิดชอบความเสี่ยง (establishing ownership) และ ความรับผิดชอบทางกฎหมาย (legal responsibility)
       -          ข้อแนะนำประการที่ 16: องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรตรวจสอบและจัดทำแผนที่ในการประเมินการระบายน้ำและบริหารความเสี่ยงจากน้ำท่วม (ทั้งบนดินและใต้ดิน) รวมไปถึงการกำหนดการรับผิดชอบความเสี่ยง (risk ownership)[44] และเงื่อนไขต่างๆ
       -          ข้อแนะนำประการที่ 17: องค์กรที่เกี่ยวข้องทุกองค์กรควรมีหน้าที่ในการแบ่งปันข้อมูลและความร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและสำนักสิ่งแวดล้อมเพื่ออำนวยความสะดวกในการจัดการความเสียงของวิกฤติน้ำท่วม
       -          ข้อแนะนำประการที่ 18: แผนการบริหารจัดการจัดการแหล่งน้ำพื้นผิวของท้องถิ่นควรจัดให้มีหลักการพื้นฐานสำหรับการจัดการความเสี่ยงต่อวิกฤติน้ำท่วมของท้องถิ่นทั้งหมด (all risk)
       -          ข้อแนะนำประการที่ 19: องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรประเมินศักยภาพทางเทคนิค (technical capabilities) ในการนำความรับผิดชอบที่สัมพันธ์กับการจัดการความเสี่ยงน้ำท่วมของท้องถิ่น
       -          ข้อแนะนำประการที่ 20: รัฐบาลอังกฤษควรแก้ปัญหาของบทบาทและความรับผิดชอบขององค์กรสำหรับหน้าที่ในการรับผิดชอบและบำรุงรักษาเพื่อพัฒนาระบบระบายน้ำอย่างยั่งยืน (Sustainable drainage systems (SUDs))
       -          ข้อแนะนำประการที่ 21: กรมสิ่งแวดล้อม อาหารและกิจการชนบท หรือ DEFRA ควรร่วมมือกับการประปาอังกฤษหรือ Ofwat[45] และภาคอุตสาหกรรมน้ำเพื่อสำรวจมาตรฐานจัดการความเสี่ยง ที่เหมาะสมสำหรับระบบระบายน้ำเสียสาธารณะ (public sewerage systems)
       -          ข้อแนะนำประการที่ 22:  การประปาอังกฤษหรือ Ofwat ควรให้ความสำคัญในทางที่เหมาะสมเพื่อจัดทำเค้าโครงการลงทุนในเครือข่ายการบำบัดน้ำทิ้งในปัจจุบัน เพื่อแก้ปัญหาของการเพิ่มความเสี่ยงของภาวะน้ำท่วม
       -          ข้อแนะนำประการที่ 23:  รัฐบาลอังกฤษควรพัฒนาแนวทางในการวางแผนยุทธศาสตร์ระยะยาว (strategic long-term) เพื่อการลงทุนในการบริหารจัดการปัญหาน้ำท่วม โดยควรกำหนดให้เป็นแผนระยะยาว 25 ปี
       -          ข้อแนะนำประการที่ 24: รัฐบาลอังกฤษควรพัฒนาโครงการซึ่งส่งเสริมและสนับสนุนให้ชุมชนท้องถิ่น (local communities) ลงทุนในการจัดหามาตรการจัดการความเสี่ยงจากปัญหาน้ำท่วม
       -          ข้อแนะนำประการที่ 25: สำนักสิ่งแวดล้อมควรรักษาระดับการตรวจสอบความเสี่ยง (risk-based approach) เพื่อให้สามารถรับรู้ถึงระดับของความเสี่ยงในแต่ละระดับที่จะต้องมีการแก้ไขความเสี่ยง (maintenance risk) และเพื่อให้ประชาชนได้รับรู้ถึงระดับความเสี่ยงต่างๆ (the levels of maintenance) ในแต่ละระดับของวิกฤติน้ำท่วมและระดับการประเมินความเสี่ยงขั้นต่างๆ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรให้ประชาชนได้รับทราบโดยการจัดพิมพ์เผยแพร่ตารางงานของแต่ละท้องถิ่น
       -          ข้อแนะนำประการที่ 26:  รัฐบาลอังกฤษควรพัฒนาคำแนะนำในการจัดการกับวิกฤติน้ำท่วมที่มีมาตรฐานเดียวกัน (single set of guidance) สำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและสาธารณชนในเรื่องของประโยชน์และโทษของการใช้ถุงทราย (the use and usefulness of sandbags) ในการป้องกันน้ำท่วมและทางเลือกอื่นๆ other (alternatives) แทนการให้ท้องถิ่นไปจัดทำกันเองหรือแต่ละท้องถิ่นต่างคนต่างทำ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดวิธีการและมาตรฐานในการรับมือกับปัญหาน้ำท่วมเดียวกัน
       -          ข้อแนะนำประการที่ 27: กรมสิ่งแวดล้อม อาหารและกิจการชนบท หรือ DEFRA สำนักสิ่งแวดล้อม และสำนักทรัพยากรธรรมชาติอังกฤษ ควรประสานการปฏิบัติรวมกันระหว่างผู้เกี่ยวข้องในการจัดตั้งโครงการผ่านแผนการรับมือกับภาวะน้ำท่วม (Catchment Flood Management Plans)[46] และแผนการจัดการชายฝั่งทะเล (Shoreline Management Plans)
       -          ข้อแนะนำประการที่ 28: รัฐบาลอังกฤษควรบัญญัติมาตรการทางกฎหมายเฉพาะ โดยตราในรูปแบบของพระราชบัญญัติเพียงฉบับเดียว (a single unifying Act) เพื่อกำหนดชนิดของปัญหาน้ำท่วมทั้งหมด ความรับผิดชอบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  และการมาตรการจัดการความเสี่ยงจากภาวะน้ำท่วม[47]                     
       -          ข้อแนะนำประการที่ 29: รัฐบาลอังกฤษและอุตสาหกรรมประกันภัยควรประสานงานร่วมกันเพื่อนำไปสู่โปรแกรมการเรียนรู้ร่วมกันเพื่อประโยชน์แก่การประกันภัยสำหรับกรณีที่มีภัยพิบัติน้ำท่วม
       -          ข้อแนะนำประการที่ 30: รัฐบาลอังกฤษควรทบทวนและปรับปรุงคำแนะนำเกี่ยวกับการประกันภัย เพื่อสร้างแนวทางปฏิบัติที่ดี (good practice guide) สำหรับกิจการอาคารสงเคราะห์ (social housing) และเผยแพร่แนวทางการสนับสนุนกิจกรรมประกันภัยที่สร้างสรรค์เพื่อสนับสนุนให้มีการจัดแผนการประกันภัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย (ในกรณีประกันภัยจากอุทกภัยหรือภัยพิบัติน้ำท่วม)
       -          ข้อแนะนำประการที่ 31: ในพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมนั้น ประกาศประกันภัยควรให้ข้อมูลรวมไปถึงความเสี่ยงจากปัญหาน้ำท่วมและขั้นตอนอย่างง่ายในการบรรเทาผลกระทบต่างๆ
       -          ข้อแนะนำประการที่ 32: อุตสาหกรรมประกันภัยควรพัฒนาและสร้างแนวทางในการให้คำแนะนำแก่ภาคอุตสาหกรรมในกรณีที่มีปัญหาน้ำท่วม โดยการสร้างแนวทางให้คำแนะนำควรครอบคลุมไปถึงความคาดหวังอย่างมีเหตุผลของผู้รับประกัน (insurers) และการปฏิบัติที่สมเหตุสมผลต่อลูกค้า
       -          ข้อแนะนำประการที่ 33: สำนักสิ่งแวดล้อมควรจัดให้มีการบริการเตือนภัยน้ำท่วมเฉพาะสำหรับผู้ปฏิบัติงานในสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน (infrastructure operators) เพื่อให้ได้รับทราบเกี่ยวกับรายละเอียดของความเร็วและความลึกของระดับน้ำท่วมในเชิงลึก เพื่อสามารถเตรียมการรับมือกับปัญหาน้ำท่วมได้อย่างทันท่วงที
       -          ข้อแนะนำประการที่ 34: สำนักอุตุนิยมวิทยาและสำนักสิ่งแวดล้อมควรประกาศเตือนในกรณีที่ต้องการให้ประชาชนรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินในระดับสูง ที่ต้องการเพิ่มระดับการเตรียมการที่มากขึ้น
       -          ข้อแนะนำประการที่ 35: สำนักอุตุนิยมวิทยาและสำนักสิ่งแวดล้อมควรประกาศเตือนภัยน้ำท่วมร่วมกันและประกาศข้อมูลของผลกระทบต่อสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำท่วมฉุกเฉินต่อผู้ปฏิบัติงานในองค์กรต่างๆที่เกี่ยวข้องและต่อสาธารณชน
       -          ข้อแนะนำประการที่ 36: สำนักสิ่งแวดล้อมควรให้ข้อมูลที่สามารถมองเห็นสภาพน้ำท่วมได้ โดยข้อมูลดังกล่าวควรจัดทำในรูปแบบข้อมูลแผนที่ทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อประโยชน์แก่การบังคับบัญชาของผู้บริหารหน่วยงานรภาครัฐ
       -          ข้อแนะนำประการที่ 37: สำนักสิ่งแวดล้อมควรทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาและนำเครื่องมือที่ทำให้มองเห็นสภาพน้ำท่วมได้ (flood visualisation tools)[48] โดยเครื่องมือดังกล่าวควรถูกออกแบบเพื่อรายงานข้อมูลให้แก่ผู้บริหารความเสี่ยง ผู้ว่างแผนสถานการณ์ฉุกเฉินและผู้ตอบสนองต่อแผนดังกล่าว
       -          ข้อแนะนำประการที่ 38: องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรสร้างความตกลงให้เป็นไปตามแนวทางในการเตรียมการของสมาคมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและคณะรัฐมนตรีในการรับมือกับปัญหาน้ำท่วม
       -          ข้อแนะนำประการที่ 39: รัฐบาลอังกฤษควรให้การสนับสนุนอย่างเร่งด่วน ในด้านงบประมาณสำหรับการพัฒนาศักยภาพของหน่วยกู้ภัยน้ำท่วม สำนักดับเพลิง และสำนักบรรเทาสาธารณภัย เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายสามารถบรรลุได้
       -          ข้อแนะนำประการที่ 40: กรมสิ่งแวดล้อม อาหารและกิจการชนบท หรือ DEFRA ควรแก้ไขกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำขั้นต่ำ (the minimum amount of water) (ระดับหรือปริมาณน้ำขนาดไหนที่ควรประกาศเป็นสถานการณ์ฉุกเฉิน) เพื่อสะท้อนความต้องการในการรับมือกับสถานการณ์เท่าที่จำเป็น
       -          ข้อแนะนำประการที่ 41: องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับใหญ่  (Upper tier local authorities)[49] ควรเป็นผู้ตอบสนองต่อการรวามกันวางแผนเพื่อแก้ไขปัญหาเหตุฉุกเฉินจากสภาวะอากาศในระดับท้องถิ่นและเพื่อกระท้อนการเตรียมการหลายหน่วยงานในการตอบสนองต่อคำเตือนสภาพอากาศและการประเมินผลกระทบต่อท้องถิ่น
       -          ข้อแนะนำประการที่ 42: เว้นเสียแต่จะตกลงกันเป็นอย่างอื่นในระดับท้องถิ่น ตำรวจควรจัดการหารือรวมกันและนำไปสู่การสนธิกำลังจากหลายหน่วยงานในการทำงานภายใต้กรณีที่มีคำสั่งสถานการณ์ฉุกเฉินชั้นสูงสุด (Gold Commands)[50] ภายใต้สภาพอากาศที่รุนแรง (severe weather events)
       -          ข้อแนะนำประการที่ 43: คำสั่งสถานการณ์ฉุกเฉินชั้นสูงสุด (Gold Commands) ควรถูกจัดทำในช่วงเริ่มต้นของการเตือนภัยขั้นต้น (early stage on a precautionary basis) ในสถานการณ์ที่มีความเสี่ยงต่อน้ำท่วมรุนแรง
       -          ข้อแนะนำประการที่ 44: ในการปฏิบัติงานอาสาสมัครขององค์กรอาสาสมัคร (Activities of voluntary organizations) ประเภทที่ 1 และ 2[51] อาสาสมัครหรือองค์กรอาสาสมัครต่างๆ ควรประเมินประสิทธิภาพของเครื่องอำนวยความสะดวกที่ตอบสนองสถานการณ์ฉุกเฉิน รวมไปถึงที่พักที่สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์ อุปกรณ์สารสนเทศ และระบบโทรคมนาคม และการปฏิบัติควรปรับปรุงตามความจำเป็น  
       -          ข้อแนะนำประการที่ 45:  ในการทำงานของสำนักงานทางหลวง (Highways Agency)  ที่ทำงานผ่านที่ประชุมความร่วมมือภาวะวิกฤติท้องถิ่น (Local Resilience Forums)[52] ควรพิจารณาความเสียหาย (vulnerability) บนถนนมอเตอร์เวย์และถนนอันเป็นทางที่รถบรรทุกวิ่งเมื่อมีกรณีน้ำท่วม โดยการตรวจดูเชิงยุทธศาสตร์ เพื่อให้ที่อยู่ในสภาวะที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้(strand) นั้น ได้รับความช่วยเหลือจากการลำเลียงที่ดีบนทางหลวง
       -          ข้อแนะนำประการที่ 46: อุตสาหกรรมรถไฟ ควรพัฒนาแผนผ่านทางที่ประชุมความร่วมมือท้องถิ่น เพื่อรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินเกี่ยวกับผู้โดยสารที่ติดค้างอยู่บนการเดินทางโดยรถไฟ
       -          ข้อแนะนำประการที่ 47: กระทรวงกลาโหมอังกฤษ ควรระบุจำนวนของทหารที่ได้รับการฝึกเพื่อรองรับคำสั่งสถานการณ์ฉุกเฉินชั้นสูงสุด ในการลำเลียงระหว่างพื้นที่ที่เป็นเขตฉุกเฉินและในการทำงานรวมกับสำนักคณะรัฐมนตรีนั้น ควรระบุกลไกที่เหมาะสมสำหรับการปฏิบัติการของทหาร
       -          ข้อแนะนำประการที่ 48: กลยุทธ์ทางการเมืองเพื่อรับมือกับวิกฤติน้ำจากรัฐบาลกลาง (Central government crisis machinery)[53] ควรถูกนำมาใช้ หากมีการคาดการณ์ว่าอาจมีการได้รับผลกระทบเป็นวงกว้างและมีวิกฤติน้ำท่วมสูงหรือมีเหตุการณ์วิกฤติน้ำท่วมได้เกิดขึ้นแล้ว
       -          ข้อแนะนำประการที่ 49: การบริหารจัดการน้ำท่วมระดับชาติ (national flooding exercise) ควรเปิดโอกาสในขั้นต้นเพื่อทดสอบการเตรียมการใหม่ๆ ซึ่งรัฐบาลกลางได้นำมาเพื่อแก้ปัญหาสถานการณ์ฉุกเฉินในกรณีวิกฤติน้ำท่วมและขาดแคลนสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน
       -          ข้อแนะนำประการที่ 50: รัฐบาลควรริเริ่มอย่างเร่งด่วนในการวางโปรแกรมการปฏิบัติที่เป็นระบบเพื่อลดการหยุดชะงักในการทำงานของภาครัฐอันเป็นผลมาจากภัยอันตรายทางธรรมชาติ โดยจัดพิมพ์กรอบการทำงานระดับชาติ และแถลงนโยบายซึ่งกำหนด กระบวนการ (process) ระยะเวลา (timescales) และความคาดหวัง (expectations) ในการต่อสู้กับวิกฤติน้ำท่วม
       -          ข้อแนะนำประการที่ 51: หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องและสำนักสิ่งแวดล้อมควรปฏิบัติงานร่วมกับผู้ปฏิบัติงานในสาธารณูปโภคต่างๆ เพื่อระบุช่องโหว่และประเมินความเสี่ยงในวิกฤติน้ำท่วมและสรุปสถานการณ์น้ำท่วม (summary of the analysis) ควรถูกจัดพิมพ์ในแผนเผชิญภาวะวิกฤติของภาครัฐ (Sector Resilience Plans)[54]
       -          ข้อแนะนำประการที่ 52: ในระยะสั้น รัฐบาลและผู้ปฏิบัติงานในบริการสาธารณูปโภคต่างๆ ควรประสานงานรวมกันเพื่อสร้างระดับการรับมือ (level resilience) ในการประเมินสาธารณูปโภคต่างๆ โดยเพื่อสร้างความมั่นในในการดำเนินการปฏิบัติภายใต้เหตุการณ์น้ำท่วมที่ร้ายแรง
       -          ข้อแนะนำประการที่ 53: หน้าที่เฉพาะ (specific duty) ควรถูกกำหนดอยู่ภายใต้ผู้กำหนดเกณฑ์ทางเศรษฐกิจ (Committee on UK Economic Regulators)[55] เพื่อสร้างการรับมือกับสถานการณ์วิกฤติในสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน
       -          ข้อแนะนำประการที่ 54:  รัฐบาลควรขยายหน้าที่ภายใต้การวางแผนต่อเนื่องของภาคธุรกิจ เพื่อกิจกรรมและการดำเนินงานของสาธารณูปโภคของรัฐประเภทที่สอง[56] สามารถสร้างมาตรฐานเป็นไปตามมาตรฐานทางด้านการบริหารความต่อเนื่องธุรกิจ (BS 25999)[57] และสร้างความโปรงใส่ เพื่อสร้างความมั่นใจผ่านการการเปรียบเทียบรายงานประจำปีในแต่ละหน่วยงาน
       -          ข้อแนะนำประการที่ 55: รัฐบาลควรเสริมสร้างความเข้มแข็งและอาศัยมาตรการกฎหมายบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ต่อผู้ดำเนินงานในสาธารณูปโภคของรัฐประเภทที่สอง เพื่อให้มีการแบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับความเสี่ยงจากการประเมินต่อสาธารณูปโภคต่างๆ ซึ่งอาจช่วยให้ที่ประชุมความร่วมมือภาวะวิกฤติท้องถิ่นสามารถวางแผนรับมือกับวิกฤติน้ำท่วมได้ดียิ่งขึ้น
       -          ข้อแนะนำประการที่ 56: รัฐบาลควรออกแนวทางการปฏิบัติสำหรับผู้ดำเนินงานในสาธารณูปโภคของรัฐประเภทที่สอง ตามกฎหมายกฎหมายบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน(Guidance on expected levels of Category 2 responders) เพื่อกำหนดการวางแผน การบริหารจัดการและตอบสนอง และพิจาณาถึงการเตรียมการเพื่อบังคัยใช้แนวทางการปฏิบัตินั้น
       -          ข้อแนะนำประการที่ 57: รัฐบาลควรจัดหาแผนที่แหล่งเก็บน้ำ (inundation maps) ทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็กเพื่อให้ที่ประชุมความร่วมมือภาวะวิกฤติท้องถิ่น ประชุมประเมินความเสี่ยงและวางแผนเพื่อรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉิน รวมไปถึงแผนที่ดังกล่าวอาจใช้ประโยชน์สำหรับการเตือนภัยและอพยพประชาชน ทั้งนี้ แผนที่ดังกล่าวอาจเป็นประโยชน์ต่อการจัดหาข้อมูลทางอินเตอร์เน็ตที่เกี่ยวกับความเสี่ยงน้ำท่วม เพื่อให้ประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับข้อมูลมากขึ้น
       -          ข้อแนะนำประการที่ 58:  รัฐบาลควรปรับปรุงกฎหมายตามรายงานประจำสองปีของสำนักสิ่งแวดล้อมในเรื่องเขื่อนและความปลอดภัยในสถานการณ์ฉุกเฉินผ่านมาตรการทางกฎหมายในการจัดการปัญหาน้ำท่วม (โดยปัจจุบันกฎหมายดังกล่าว ได้แก่ กฎหมาย Flood and Water Management Act 2010)
       -          ข้อแนะนำประการที่ 59: สภาที่ปรึกษาด้านกฎหมายและความเสี่ยง (The Risk and Regulation Advisory. Council - RRAC) ของอังกฤษ ควรสำรวจว่าประชาชนสามารถปรับปรุงความเข้าใจเกี่ยวกับความเสี่ยงชุมชน (community risks)  รวมไปถึงการให้ความร่วมมือในสถานการณ์น้ำท่วม และสภาดังกล่าวควรหาวิธีที่เหมาะสมในการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจต่างประชาชนในการรับมือวิกฤติน้ำท่วม[58]
       -          ข้อแนะนำประการที่ 60: รัฐบาลควรปฏิบัติการรณรงค์ให้ข้อมูลสาธารณะในการป้องกันปัญหาน้ำท่วม โดยข้อมูลดังกล่าวควรเป็นชุดข้อมูลที่บรรยายไปในแนวทางเดียวกันทั้งหมด (single definitive set) เพื่อเป็นการแนะนำการป้องกันและบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนและภาคธุรกิจ ทั้งนี้ รัฐบาลอาจใช้สื่อและการสื่อสารผ่านองค์กรต่างๆทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ
       -          ข้อแนะนำประการที่ 61: สำนักสิ่งแวดล้อมควรปฏิบัติงานรวมกับผู้ดำเนินงานท้องถิ่น ในการเพิ่มการรับรู้ (awareness) เกี่ยวกับพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อภาวะน้ำท่วมและระบุกลไกในการเตือนภัยสาธารณะ โดยเฉพาะกลไกในการตอบสนองต่อความเสี่ยงในกรณีน้ำท่วม
       -          ข้อแนะนำประการที่ 62: สำนักสิ่งแวดล้อมควรทำงานอย่างเร่งด่วนกับบริษัทโทรคมนาคมในการจัดหาระบบโทรศัพท์พิเศษเพื่อแจ้งเตือนน้ำท่วมในทุกบ้านและทุกภาคธุรกิจ
       -          ข้อแนะนำประการที่ 63: ความเสี่ยงต่อภาวะน้ำท่วมควรถูกจัดทำเป็นข้อผูกพันสำหรับกรณีที่ประชาชนเข้าซื้อที่อยู่หรืออสังหาริมทรัพย์ และควรจัดให้เป็นส่วนหนึ่งของข้อมูลเพื่อพิจารณาการเลือกบ้านหรือที่อยู่อาศัย
       -          ข้อแนะนำประการที่ 64: ที่ประชุมความร่วมมือภาวะวิกฤติท้องถิ่นควรพัฒนาแผนการเตือนภัยตามบ้าน (door-knocking) โดยประสานงานร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการแจ้งเตือนภาวะน้ำท่วมและจัดหาข้อมูลและประเมินความต้องการสวัสดิการของประชาชนเมื่อเกิดวิกฤติน้ำท่วม
       -          ข้อแนะนำประการที่ 65: สำนักงานอุตุนิยมวิทยาและสำนักสิ่งแวดล้อมควรเร่งสร้างการผลิตตัววัดทางเลือกข้อมูลเตือนภัยสาธารณะให้เข้าถึงประชาชน รวมทั้งค่าใช้จ่าย สิทธิประโยชน์ต่างๆ และความเป็นไปได้
       -          ข้อแนะนำประการที่ 66: ศูนย์ติดต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรนำข้อสอบถามต่างๆจากประชาชนระหว่างและหลังจากเกิดภัยพิบัติน้ำท่วมมาพิจารณา
       -          ข้อแนะนำประการที่ 67:  สำนักคณะรัฐมนตรีควรจัดคำแนะนำสำหรับที่ประชุมความร่วมมือภาวะวิกฤติท้องถิ่นที่มีประสิทธิภาพและเชื่อมโยงกับเว็บไซต์สำหรับจัดเป็นข้อมูลสาธารณะก่อน ขณะและหลังจากเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน
       -          ข้อแนะนำประการที่ 68: ผู้นำของสภาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและผู้บริหารระดับสูงควรให้ความมั่นใจต่อสาธารณชนและให้คำแนะนำผ่านสื่อท้องถิ่นระหว่างเกิดวิกฤติน้ำท่วม ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของบทบาทในการประสานงานในฐานะที่เป็นผู้ออกคำสั่งสถานการณ์ฉุกเฉินระดับสูง
       -          ข้อแนะนำประการที่ 69: ประชาชนควรเตรียมอุปกรณ์ที่จำเป็นในภาวะน้ำท่วม ได้แก่ เอกสารประชาชน กรมธรรม์ประกันภัย เบอร์โทรศัพท์ที่จำเป็น (รวมทั้งเบอร์โทรศัพท์องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น บริการฉุกเฉินและสายด่วนน้ำท่วมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น) ไฟฉาย แบตเตอร์รี่ วิทยุ โทรศัพท์มือถือ ถุงมือยาง กระดาษเปียกทำความสะอาด เจลล้างมือ อุปกรณ์ปฐมพยายาลและผ้าห่ม
       -          ข้อแนะนำประการที่ 70: รัฐบาลอังกฤษควรก่อตั้งโครงการเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนและชุมชนสามารถเตรียมตัวรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินระหว่างเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินได้ โดยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรมุ่งความช่วยเหลืออันเป็นที่ต้องการของคนให้พื้นที่อย่างมากที่สุด
       -          ข้อแนะนำประการที่ 71: กรมอนามัยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรพัฒนาชุดคำแนะนำสุขภาพในกรณีที่เกิดภาวะน้ำท่วม (single set of flood-related health advice) สำหรับประชาชนและธุรกิจซึ่งควรนำมาใช้โดยองค์กรทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่น และจัดเผยแพร่ในหลายทาง
       -          ข้อแนะนำประการที่ 72: การตอบสนองของท้องถิ่นและกลุ่มประสานงานการฟื้นฟูภาวะน้ำท่วมด้านสาธารณสุขควรให้ความมั่นใจว่าการสนับสนุนสุขภาพและสุขภาวะได้ถูกเตรียมความพร้อมเพื่อตอบสนองผู้ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วม ภายใต้คำแนะนำของกรมอนามัย
       -          ข้อแนะนำประการที่ 73: รัฐบาลอังกฤษ สมาคมผู้ประกันภัยอังกฤษ (Association of British
       Insurers) และองค์กรอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ควรประสานงานร่วมกันเพื่อแสวงหาการปรับปรุงทางกระบวนการและเทคโนโลยี ที่สามารถทำให้ปริมาณท่วมน้ำลงลงได้อย่างรวดเร็วและกระบวนการที่เสถียรในการฟื้นฟูอาคารบ้านเรือนหลังภาวะน้ำท่วม
       -          ข้อแนะนำประการที่ 74: การติดตามตรวจสอบผลกระทบของภาวะน้ำท่วมในเรื่องอนามัยและสวัสดิภาพของประชาชนและการบรรเทาผลกระทบต่างๆ ควรจัดให้เป็นส่วนหนึ่งของงานกลุ่มประสานงานฟื้นฟูระบบในการประสานงานเยี่ยวยาฟื้นฟู
       -          ข้อแนะนำประการที่ 75: สำหรับกรณีที่สถานการณ์น้ำท่วมฉุกเฉินได้กินวงกว้างไปหลายพื้นที่ รัฐบาลท้องถิ่นควรทำการเชื่อมโยงและประสานงาน หากกรณีแห่งความจำเป็นให้ดำเนินการฟื้นฟู่รวมกัน
       -          ข้อแนะนำประการที่ 76: องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรประสานความร่วมมือโครงการการมีส่วนร่วมของชุมชนในพื้นที่ ระหว่างช่วงของการฟื้นฟูหลังภาวะน้ำท่วม (recovery phase)
       -          ข้อแนะนำประการที่ 77: กลุ่มประสานฟื้นฟูระดับท้องถิ่นและระดับชาติควรจัดตั้งขึ้นมาจากการเริ่มต้นของสถานการณ์ฉุกเฉินและควรมีการยื่นมือช่วยเหลืออย่างเป็นทางการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
       -          ข้อแนะนำประการที่ 78:  จุดมุ่งหมายและวัตถุประสงค์สำหรับขั้นตอนการฟื้นฟู ควรถูกตกลงกันตั้งแต่เริ่มต้นโดยกลุ่มให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูต่างๆ โดยมุ่งเน้นและอาศัยการส่งผ่านจากโครงการความช่วยเหลือหลักเมื่อมีการประสานความร่วมมือหลายองค์การของการฟื้นฟู เพื่อไม่ให้มีระยะเวลานานเกินกว่าที่จำเป็น
       -          ข้อแนะนำประการที่ 79: หน่วยงานรัฐควรพัฒนาการเตรียมการเพื่อจัดคำแนะนำและการสนับสนุนจากองค์กรที่มีประสบการณ์ในพื้นที่ที่ต้องการการฟื้นฟูจากสถานการณ์ฉุกเฉิน
       -          ข้อแนะนำประการที่ 80: คำแนะนำของรัฐบาลกลางทั้งหมดควรถูกปรับปรุงเพื่อตอบสนองต่อการเตรียมการใหม่ๆ เพื่อฟื้นฟูและที่ประชุมความร่วมมือภาวะวิกฤติท้องถิ่น ควรวางแผน ฝึกอบรม และบริหารตามหลักการพื้นฐานนี้
       -          ข้อแนะนำประการที่ 81: ควรมีกรอบการทำงาน รวมไปถึงนิยามและระยะเวลาสำหรับรายงานการฟื้นฟูในศูนย์กลางท้องถิ่น
       -          ข้อแนะนำประการที่ 82: รัฐบาลควรจัดพิมพ์บทสรุปรายเดือนของความก้าวหน้าในระยะการฟื้นฟู รวมไปถึงสถิติของประชาชนที่ยังคงไม่อยู่บ้านจากบ้านเรื่อนในพื้นที่ทั้งหมด
       -          ข้อแนะนำประการที่ 83: องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรดำเนินการเตรียมการรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูสำหรับกรณีทั้งหมด เว้นเสียแต่เกิดสถานการณ์ฉุกเฉินอย่างหนัก และทบทวนข้อสัญญาประกันภัยที่ได้จัดทำไว้ทั้งหมด โดยอาศัยประสบการณ์จากวิกฤติน้ำท่วมปี 2007 ที่ผ่านมา
       -          ข้อแนะนำประการที่ 84: รัฐบาลกลางควรวางแผนล่วงหน้าแทนที่จะเป็นแผนเฉพาะหน้าในการให้ความช่วยเหลือทางการเงินเพื่อการฟื้นฟูจากเหตุการณ์สถานการณ์ฉุกเฉินที่ร้ายแรง
       -          ข้อแนะนำประการที่ 85: กลุ่มประสานการฟื้นฟูในท้องถิ่น (Local Recovery Coordination Groups) ควรทำคำแนะนำแก่สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นเกี่ยวกับการฟื้นฟูระยะยาว (longer-term regeneration) และโอกาสพัฒนาเศรษฐกิจ (economic development opportunities)
       -          ข้อแนะนำประการที่ 86: รัฐบาลอังกฤษควรจัดพิมพ์แผนการปฏิบัติเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติตามคำแนะนำใน Pitt Review โดยอธิบดีกรมสิ่งแวดล้อม อาหารและกิจการชนบท หรือ DEFRA ควรดำเนินการตรวจสอบเพื่อที่จะดำเนินการในการปรับปรุงกระบวนการดำเนินกิจกรรมต่างๆที่เกี่ยวข้อง
       -          ข้อแนะนำประการที่ 87: รัฐบาลอังกฤษควรจัดตั้งคณะกรรมการจากคณะรัฐมนตรีขึ้น เพื่อปรับปรุงศักยภาพในการจัดการปัญหาน้ำท่วมและนำไปสู่การนำข้อแนะนำต่างๆใน Pitt Review ไปปฏิบัติ
       -          ข้อแนะนำประการที่ 88: รัฐบาลอังกฤษควรก่อตั้งที่ประชุมความร่วมมือภาวะวิกฤติแห่งชาติ (National Resilience Forum) ในการดำเนินการวางแผนระดับหลายหน่วยงานเพื่อจัดการกับวิกฤติน้ำท่วมและสถานการณ์ฉุกเฉินอื่นๆ
       -          ข้อแนะนำประการที่ 89: คณะกรรมการสิ่งแวดล้อม อาหารและกิจการชนบท (Environment, Food and Rural Affairs Committee) ควรทบทวนความพร้อมของประเทศในการจัดการวิกฤติน้ำท่วมในสถานการณ์ฉุกเฉินและจัดทำการประเมินของกระบวนการในการนำคำแนะนำของ Pitt Review ไปปฏิบัติภายในระยะเวลา 12 เดือน
       -          ข้อแนะนำประการที่ 90: องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับบนทั้งหมดควรตั้งคณะกรรมการเพื่อตรวจสอบและกำกับดูแล (Oversight and Scrutiny Committees) เพื่อทบทวนการทำงานของภาครัฐและจัดหาบริการที่จำเป็นเพื่อจัดการความเสี่ยงภาวะน้ำท่วม ทั้งนี้ ต้องมีการสนับสนุนที่กฎหมายบัญญัติเพื่อรวมมือและแบ่งปันข้อมูลซึ่งกันและกัน
       -          ข้อแนะนำประการที่ 91: คณะกรรมการเพื่อตรวจสอบและกำกับดูแลควรเตรียมการจัดทำบทสรุปประจำปีสำหรับการปฏิบัติการจัดการความเสี่ยงในน้ำท่วมและแนวทางในการนำเอาคำแนะนำใน Pitt Review ไปปฏิบัติและรายงานประจำปีต่างๆ ควรจะถูกตีพิมพ์เพื่อเผยแพร่และถูกทบทวนโดยหน่วยงานรัฐบาลต่างๆ และสำนักสิ่งแวดล้อม
       -          ข้อแนะนำประการที่ 92: ที่ประชุมความร่วมมือภาวะวิกฤติท้องถิ่นต่างๆ ควรประเมินและแบ่งปันประสบการณ์สำหรับการตอบสนอง Pitt Review และประสบการณ์จากระยะการฟื้นฟูจากภาวะน้ำท่วมโดยให้ข้อมูลด้านการวางแผนเพื่อภาวะฉุกเฉินในอนาคต
       [3.4] ข้อแนะนำประการที่ 28 ของ Pitt Review กับแนวทางในการพัฒนากฎหมายบริหารจัดการความเสี่ยงวิกฤติน้ำท่วม
       ก่อนเกิดวิกฤติน้ำท่วม ค.ศ. 2007 บทบัญญัติกฎหมายของอังกฤษมีลักษณะทั่วไป กล่าวคือ เป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการสิ่งแวดล้อมของผังเมืองและบริหารจัดการน้ำโดยทั่วไป แต่มิใช่กฎหมายเฉพาะเพื่อแก้ปัญหาวิกฤติน้ำท่วมโดยเฉพาะที่กำหนดการบริหารความเสี่ยงวิกฤติน้ำท่วมในรูปแบบใหม่[59] ได้แก่ กฎหมาย Land Drainage Act 1991 กฎหมาย Water Resources Act 1991 กฎหมาย Environment Act 1995 และ กฎหมาย Water Act 2003 ดังที่ได้กล่าวไปในข้างต้น
       นอกจากนี้ บทบัญญัติกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการปัญหาวิกฤติน้ำท่วม ยังมิได้เอื้อต่อการบูรณาการในการจัดการปัญหาน้ำท่วมอย่างเป็นระบบและชัดเจน[60] โดยที่หน่วยงานไหนเป็นเป็นผู้บังคับใช้กฎหมายฉบับใดก็จะบังคับใช้แต่เฉพาะที่หน่วยงานของตนมีอำนาจ ทำให้ขาดการบูรณาการในการบริหารจัดการน้ำ เช่น กฎหมายทางหลวงอังกฤษ หรือ Highways Act 1980 รับผิดชอบเฉพาะการระบายน้ำจากทางหลวง (highway drainage) และกฎหมายว่าด้วยการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินอังกฤษ หรือ กฎหมาย Civil Contingencies Act 2004 ที่กำหนดหน้าที่หลักในการเตือนภัย แจ้งข่าว และประเมินความเสี่ยงจากวิกฤติน้ำท่วมเป็นหน้าที่ของผู้ดำเนินงานในสาธารณูปโภคของรัฐประเภทที่หนึ่ง[61] ตามกฎหมายกฎหมายบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินได้กำหนดไว้ แต่ละเลยถึงบทบาทของผู้ดำเนินงานในสาธารณูปโภคของรัฐประเภทที่สอง เป็นต้น
       หลังจากเกิดวิกฤติน้ำท่วม ค.ศ. 2007 ข้อเสนอของ Pitt Review ที่ต้องการให้รัฐบาลอังกฤษจัดทำบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการจัดการความเสี่ยงของปัญหาน้ำท่วมให้มีความทันสมัยมากยิ่งขึ้น[62] (Modernising flood risk legislation) ดังนั้น แนวคิดในการบัญญัติมาตรการทางกฎหมายเฉพาะ โดยตราในรูปแบบของพระราชบัญญัติเพียงฉบับเดียว (a single unifying Act) เพื่อกำหนดขอบเขตของความรับผิดชอบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและกำหนดมาตรการจัดการความเสี่ยงจากภาวะน้ำท่วม[63] ภายใต้แนวคิดของการบริหารจัดการวิกฤติน้ำท่วมอย่างยั่งยืน[64]และภายใต้อิทธิพลของกฎหมายสหภาพยุโรปว่าด้วยเรื่องการจัดการวิกฤติน้ำท่วม[65] จึงได้ถือกำเนิดขึ้น
        
        
       หมายเหตุ: โปรดติดตามมาตรการทางกฎหมายในการจัดการปัญหาน้ำท่วมของประเทศอังกฤษ (ตอนที่ 2) ได้บรรยายต่อจากตอนที่ 1 ในเรื่องยุทธศาสตร์ในการจัดการทรัพยากรน้ำและอุทกภัยของประเทศอังกฤษ กฎหมายสหภาพยุโรปว่าด้วยเรื่องการประเมินความเสี่ยงและการจัดการวิกฤติน้ำท่วม (DIRECTIVE 2007/60/EC on the assessment and management of flood risks) กฎหมาย Flood and Water Management Act 2010 กลไกของกฎหมายในการจัดการทรัพยากรน้ำและอุทกภัย หน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และบทสรุปและข้อเสนอแนะ
        
        
       
       
       
       
       [1] เซอร์ไมเคิล พิทท์ ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง ประธานกรรมมาธิการผังเมืองด้านสาธารณูปโภค Chair & Commissioner of Infrastructure Planning Commission โปรดดู Commissioners,  available online at http://infrastructure.independent.gov.uk/who-we-are/our-people/commissioners/#mpitt
       
       
       [2] House of Commons Environment, Food and Rural Affairs Committee, Flooding Fifth Report of Session 2007-08 Volume I, The House of Commons, 2008, page 3.
       
       
       [3] Mentet, S.A., U.K. Summer 2007 Floods, Risks Management Solutions, 2007, page 2.
       
       
       [4] Floods force thousands from homes, Tuesday, 26 June 2007, available online at news.bbc.co.uk/1/hi/uk/6239828.stm
       
       
       [5] Department for Environment Food and Rural Affairs, Delivering Benefits through evidence The Costs of the Summer 2007 floods in England, Department for Environment Food and Rural Affairs, 2010, page 5.
       
       
       [6] Cranfield University, Impacts of the summer 2007 flood in rural England, Cranfield University, 2008, page 1.
       
       
       [7] Telegraph, Floods of summer 2007 cost the country £3.2bn, says Environment Agency, available online at www.telegraph.co.uk/earth/environment/7018047/Floods-of-summer-2007-cost-the-country-3.2bn-says-Environment-Agency.html,
       
       
       [8] Environment Agency, Investing for the future. Flood and coastal risk management in England - a long term investment strategy, available online at http://www.environment-agency.gov.uk/cy/ymchwil/llyfrgell/cyhoeddiadau/108673.aspx
       
       
       [9] Centre for Ecology & Hydrology, Summer 2007 Floods: A Very Singular Event - 11th March 2008, available online at www.ceh.ac.uk/news/news_archive/2008_news_item_05.html
       
       
       [10] Department for Environment Food and Rural Affairs, Future Water: The Government’s Water Strategy for England, Cm 7319, page 57.
       
       
       [11] BBC, Climate Change, available online at http://www.bbc.co.uk/climate/impact/flooding.shtml
       
       
       [12] Cowie, J., Climate Change: Biological & Human Aspects, Cambridge University Press, 2007, pages 364-368.
       
       
       [13] Stern, N., Stern Review: Economics of Climate Change, Cambridge University Press, 2007 โปรดดูเพิ่มเติมใน Youyuenyong, P., The UK''s legal ability to adapt to climate change, available online at www.pub-law.net/publaw/view.aspx?id=1490
       
       
       [14]สถิติและการพยากรณ์ปริมาณน้ำฝนที่เพิ่มขึ้นในอนาคต โปรดดู Foresight Flood and Coastal Defence Porject, Futher Flooding, Office of Science and Technology, 2004.
       
       
       [15] Sharples, D. and Young, S., It never rains but it pours: Pluvial flooding as a planning consideration, Journal of Planning & Environmental Law, 2008, 8, 1093-1097.
       
       
       [16] Leicestershire County Council, Planning Policy Guidance 1: General policy and principles, available online at www.leics.gov.uk/ppg01_general_policy_and_principles_1997.pdf
       
       
       [17] Communities and Local Government, Planning Policy Statement 1: Delivering Sustainable Development, available online at www.communities.gov.uk/publications/planningandbuilding/planningpolicystatemen
       
       
       [18] แท้จริงแล้ว Planning Policy Statement มีหลายฉบับ แต่ละฉบับมีคำแถลงการณ์หรือแนวทางเฉพาะเรื่อง เช่น  Planning Policy Statement 1 เป็นเรื่องของการนำพาการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Delivering Sustainable Development) Planning Policy Statement 4 เป็นเรื่องของการวางผังเมืองเพื่อเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน (Planning for Sustainable Economic) และ Planning Policy Statement 7 เป็นเรื่องของการพัฒนาอย่างยั่งยืนในพื้นที่ชนบท (Sustainable Development in Rural Areas) เป็นต้น แต่บทความฉบับนี้คัดเฉพาะเนื้อหาในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการจัดการน้ำท่วมอย่างยั่งยืนโดยตรง จึงมิได้นำมาถึงคำแถลงการณ์ทั้งหมด หากประสงค์จะศึกษาเพิ่มเติมโปรดดูรายละเอียดได้ใน Department for Communities and Local Government See website:   http://www.communities.gov.uk/corporate/
       
       
       [19] โปรดดูท้ายตาราง  Annex B: Government Statements Of Planning Policy, PPG, Leicestershire County Council, Planning Policy Guidance 1: General policy and principles, available online at www.leics.gov.uk/ppg01_general_policy_and_principles_1997.pdf
        
       
       
       [20]UK legislation, Town and Country Planning Act 1990, available online at http://www.legislation.gov.uk/ukpga/1990/8/contents
       
       
       [21] UK legislation, Planning (Listed Buildings and Conservation Areas) Act 1990, available online at www.legislation.gov.uk/ukpga/1990/9/contents
       
       
       [22] UK legislation, Planning (Hazardous Substances) Act 1990, available online at www.legislation.gov.uk/ukpga/1990/10/contents 
       
       
       [23] Grekos, M., and Woolmore, A., Turning the Tide? PPS25: Development and Flood Risks, Journal of Planning and Environment Law, 2007, 6, 835-842.
       
       
       [24] Office of the Deputy Prime Minister, Planning Policy Statement 1: Delivering Sustainable Development, Office of the Deputy Prime Minister, 2005, page 8.
       
       
       [25] ตัวอย่างเช่น ความเสียหายในน้ำท่วมช่วงเทศกาลอีสเตอร์ ค.ศ. 1998 ซึ่งเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 5 คน ก่อให้เกิดความเสียหายประมาณ 400 ล้านปอนด์ (£400M) และผู้คนอีกประมาณ 1,500 คน ไร้ที่อยู่อาศัย เป็นต้น  (แต่ความเสียหายไม่หนักเท่าน้ำท่วมปี ค.ศ. 2007)
       
       
       [26] Online Planning Aid, Planning Policy Guidance 25: Development and flood risk, available online at www.planning-applications.co.uk
       
       
       [27] Precautionary Principle หรือ Precautionary Approach รัฐบาลอังกฤษได้รับอิทธิพลของหลักนี้ จาก Rio Declaration in 1992 United Nations Environment Programme, Rio Declaration on Environment and Development, available online at www.unep.org/Documents.Multilingual/Default.asp?documentid=78&articleid=1163
       
       
       [28] Fenland Hydrotech Ltd., Planning Policy Guidance Note 25 Development and Flood Risk, available online at  www.fenhydro.co.uk/PPG25%20r1.pdf
       
       
       [29] North Norfolk District Council, Document 3 - An Introduction to Coastal Defence, available online at  www.northnorfolk.org/files/Coastal_Environment_003.pdf
       
       
       [30] UK legislation, Water Resources Act 1991, available online at  www.legislation.gov.uk/ukpga/1991/57/contents
       
       
       [31] UK legislation, Environmental Protection Act 1990, available online at  www.legislation.gov.uk/ukpga/1990/43/contents
       
       
       [32] UK legislation, The Building Regulations 2000, available online at  www.legislation.gov.uk/uksi/2000/2531/contents/made
       
       
       [33] Communities and Local Government, Planning Policy Statement 25: Development and Flood Risk, Communities and Local Government, 2006, page 1.
       
       
       [34] Oliver, R., The draft Flood and Water Management Bill 2009, Environmental Law & Management, 2009, 21 (3), 137-139.
       
       
       [35] International Association of Emergency Managers, The Pitt Review: Learning Lessons from the 2007 Floods, available online at www.iaem.com/publications/news/documents/IAEMCircular-ThePittReview.pdf
       
       
       [36] Environment Agency, Review of 2007 summer floods, Environment Agency, 2007, page 4.
       
       
       [37] Cleck, R., After the deluge, Legal Week, 2007, 10(19), 30.
       
       
       [38] Vincent, S., Lessons learned from the 2007 floods, Lloyd’s List Insurance Day, 2008, Jun 30, 6.
       
       
       [39] Cranfield University, Impacts of the summer 2007 flood in rural England, Cranfield University, 2008, page 1.
       
       
       [40]The National Archives, Learning lessons from the 2007 floods, available online at http://webarchive.nationalarchives.gov.uk/20100807034701/http://archive.cabinetoffice.gov.uk/pittreview/_/media/assets/www.cabinetoffice.gov.uk/flooding_review/pitt_review_full%20pdf.pdf
       
       
       [41] Hartley, V., Mitigating environmental risk,  Mortgage Finance Gazette, 2008, 139 (1711), 46-48.
       
       
       [42] โปรดดูรายละเอียดการพยากรณ์อากาศของอังกฤษเพิ่มเติมใน UK Met Office, available online at www.metoffice.gov.uk/weather/.../uk_forecast_weather
       
       
       [43] กฎหมาย Civil Contingencies Act 2004 เป็นกฎหมายกำหนดมาตรการในการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉินโดยมีสาระสำคัญสองภาค ได้แก่ ภาค 1 ว่าด้วยการเตรียมการของท้องถิ่นสำหรับการป้องกันพลเรือน (local arrangements for civil protection) และภาค 2 ว่าด้วยการใช้อำนาจในภาวะฉุกเฉิน (emergency powers) UK Legislation, Civil Contingencies Act 2004, Summary and Background,  available online at http://www.legislation.gov.uk/ukpga/2004/36/notes/division/2
       
       
       [44] Ownership ใน Pitt Review มิใช่แปลว่า กรรมสิทธิ์ ตามภาษาอังกฤษกฎหมายธุรกิจหรือประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ไทยโดยทั่วไป แต่ Ownership ในที่นี้ แปลตามภาษาอังกฤษกฎหมายประกันภัยและบริหารความเสี่ยง ที่แปลว่า การติดตามความเสี่ยง The Risk Management Guide, Risk Ownership, available online at www.ruleworks.co.uk/riskguide/risk-ownership.htm  ที่ Risk Owner อาจแปลว่า ผู้ติดตามความเสี่ยงหรือหน่วยงานอันเป็นเจ้าของความเสี่ยงนั้นๆ
       
       
       [45] โปรดดู The Water Services Regulation Authority (Ofwat), available online at  www.ofwat.gov.uk/
       
       
       [46]Catchment Flood Management Plans ของอังกฤษแบ่งเป็น 7 ภูมิภาค ได้แก่  Anglian Region, Midlands Region, Yorkshire & North East Region, North West Region, South East Region, South West Region และ Environment Agency Wales โดยมากจะเป็นโครงการที่ พัฒนาพื้นที่รับน้ำ (catchment areas)  โปรดดู Environment Agency, Catchment Flood Management Plans, available online at www.environment-agency.gov.uk/research/planning/33586.aspx
       
       
       [47]ข้อแนะนำประการที่ 28 นี้ถือเป็นข้อแนะนำประการที่สำคัญ ในการปฏิรูปกฎหมายเพื่อรับมือกับปัญหาน้ำท่วมให้ทันสมัยมากยิ่งขึ้น (Modernising flood risk legislation) อันเป็นที่มาของกฎหมายรับมือกับน้ำท่วมของประเทศอังกฤษฉบับปัจจุบัน ได้แก่ กฎหมาย Flood and Water Management Act 2010
       
       
       [48] เป็นเครื่องมือที่ทำให้สามารถช่วยวิเคราะห์สถานการณ์น้ำท่วม ณ เวลาขณะนั้น (real-time visualisation tools) โปรดดู  Near real-time flood detection in urban and rural areas using TerraSAR-X ของกลุ่มผู้วิจัยจาก Reading University และ Bristol University, available online at www.nceo.ac.uk/documents/real_dlr.ppt
       
       
       [49]องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับใหญ่ (Upper tier local authorities) เช่น London Borough of Barking and Dagenham. London Borough of Bexley. London Borough of Bromley และ Lower tier local authorities (districts) หรือ Non-Metropolitan Districts  เข่น Norfolk County เป็นต้น
       
       
       [50] ประเทศอังกฤษใช้ระบบโครงสร้างคำสั่งสถานการณ์ฉุกเฉินในระดับที่แตกต่างกัน ( gold-silver-bronze command structure) โปรดดูระดับของแต่ละประเภทคำสั่งใน  Health and Safety Executive, Major Incident Introduction - Additional guidance,  available online at  www.hse.gov.uk/foi/internalops/og/ogprocedures/majorincident/goldsilvbronz.htm
       
       
       [51] กิจกรรมได้แก่ การจัดหาน้ำดื่ม, อาหาร, ที่นอน, ห่อยา, และการประสานความช่วยเหลือทางโทรศัพท์  (โปรดดูคำบรรยายใน Pitt Review หน้า 208)
       
       
       [52] ที่ประชุมความร่วมมือภาวะวิกฤติท้องถิ่น (Local Resilience Forums) เป็นที่ประชุมเฉพาะในการประสานความร่วมมือเพื่อตระเตรียมการรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินในกรณีต่างๆ (Preparing for emergencies) ตัวอย่างเช่น Local Resilience Forum ของเมือง Leicester ได้แก่ Leicestershire and Rutland Local Resilience Forum เป็นต้น โปรดดู Leicester, Leicestershire & Rutland,  Local Resilience Forum, available online at http://www.localresilienceforum.org.uk/ 
       
       
       [53] ในกรณีนี้ crisis machinery หมายถึง กลไกทางการเมือง หรือ political machinery of Central Government
       
       
       [54] แผนเผชิญภาวะวิกฤติของภาครัฐในปัจจุบัน โปรดดู Cabinet Office, Sector Resilience Plan for Critical Infrastructure 2010,  available online at  www.cabinetoffice.gov.uk/.../sector-resilience-plan.pdf และหากต้องการศึกษาถึงหลักการและรายละเอียดเพิ่มเติมในแผนดังกล่าว รวมไปถึงแผนที่รัฐบาลเคยจัดทำ ได้แก่ Sector Resilience Plan for Critical Infrastructure 2009 /10 โปรดดูรายละเอียดเพิ่มเติมใน Cabinet Office, Sector Resilience Plans, available online at  http://www.cabinetoffice.gov.uk/resource-library/sector-resilience-plan-critical-infrastructure  
       
       
       [55] UK Economic Regulators มีหน้าที่ในการพิจารณากระบวนการทางกฎและระเบียบทางเศรษฐกิจ (consider the regulatory process) โดยคณะกรรมการนี้ถูกเลือกมาจาก The House of Lord โดยบทบาทที่สำคัญของกรรมการชุดนี้ คือ เพื่อติดตาม การใช้จ่ายเงินและประเมินผลหลังการดำเนินงานทางเศรษฐกิจ (post-implementation evaluation) ให้เหมาะสมและมีความเป็นไปได้ โปรดดู บทบาทและหน้าที่ของกรรมการชุดนี้ใน House of Lords, UK Economics Regulators Volume I: Report, House of Lords, 2007, page 9.
       
       
       [56] ผู้ดำเนินงานในสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน (จากภาครัฐและเอกชนที่ได้รับสัมปทาน) ของรัฐประเภทที่สอง ตามกฎหมาย The Civil Contingencies Act 2004 (CCA) อันเป็นกฎหมายบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินของอังกฤษ ได้แก่ ผู้ให้บริการไฟฟ้า (Electricity distributors and transmitters) , ผู้ให้บริการแก๊ส (Gas distributors), การประปาและการระบายน้ำ (Water and sewerage undertakers), ผู้ให้บริการโทรศัพท์ (Telephone service providers), ผู้ให้บริการรถไฟ (Network Rail, Train Operating Companies), รถไฟฟ้าใต้ดินมหานครลอนดอน (London Underground), การท่าเรือ (Harbour authorities), องค์กรยุทธศาสตร์สาธารณสุข (Strategic Health Authorities) และฝ่ายบริหารสาธารณสุขและความปลอดภัย (Health and Safety Executive) โปรดดูเพิ่มเติมใน Cabinet Office, Civil Contingencies Act - Category 2 Responders: Overview of sectors and emergency planning arrangement, available online at  https://update.cabinetoffice.gov.uk/resource-library/civil-contingencies-act-category-2-responders-overview-sectors-and-emergency-planni
       
       
       [57]โปรดดูเพิ่มเติมใน Business Continuity Institute, BSI Management Systems’ response to the Pitt Review The Government-commissioned report highlights serious failings and recommends business continuity planning to BS25999 standards, available online at  http://www.thebci.org/BSIresponsetoPittReview.pdf
       
       
       [58] Department for Business, Innovation and Skills, THE GOVERNMENT RESPONSE TOTHE RISK AND REGULATIONADVISORY COUNCIL (RRAC) REPORT “RESPONSE WITHRESPONSIBILITY: POLICY -MAKING FOR PUBLIC RISK IN THE21STCENTURY”, Department for Business, 2009, page 2.
       
       
       [59] Journal  Article, The Government’s water strategy for England: “Future Water”, Journal of Planning & Environmental Law, 2008, 6, 764-769.
       
       
       [60] Journal  Article, Flooding: Report of the House of the Commons Environment Food and Rural Affairs Select Committee, Journal of Planning & Environmental Law, 2008, 9, 1261-1268.
       
       
       [61] ผู้ดำเนินงานในสาธารณูปโภคของรัฐประเภทที่หนึ่ง ตามกฎหมาย Civil Contingencies Act 2004 ได้แก่  สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (Police forces, including the British Transport Police) หน่วยดับเพลิง (Fire services) หน่วยช่วยเหลือทางการแพทย์ฉุกเฉิน (Emergency medical services in the United Kingdom) หน่วยตำรวจน้ำ (HM Coastguard) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (Local authorities) การท่าเรือ (Port Health Authorities) กองทุนดูแลสุขภาพ (Primary Care Trusts, Acute Trusts, Foundation Trusts (and Welsh equivalents) สำนักคุ้มครองสุขภาพ (Health Protection Agency) และสำนักสิ่งแวดล้อม (Environment Agency ) โปรดดู UK Legislation, Explanatory Notes Table of contents Civil Contingencies Act 2004, available online at http://www.legislation.gov.uk/ukpga/2004/36/notes/contents
       
       
       [62] Legislative Comment, Flood and Water Management Act 2010, Journal of Planning & Environmental Law, 2010, 7, 863-864.
       
       
       [63] Denton, S., A bridge over troubled water, Post Mag. 2008,  Feb 14, 14-15.
       
       
       [64] Howarth, W., Visions, strategies and realization, Environmental Law Review, 2008, 10(4), 310-318.
       
       
       [65]Fltzgerald, K., A development perspective, Property Law Journal, 2008, 221, 21-24. 
       
       


พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=1655
เวลา 22 พฤศจิกายน 2567 20:41 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)