|
|
น้ำขึ้นให้รีบตัก: พลิก วิกฤติน้ำปากไหลหลาก สู่ โอกาสทางประชาธิปไตย 23 ตุลาคม 2554 16:59 น.
|
โครงบทความ
บทนำ: น้ำท่วมแล้วไง ?
ปุจฉาที่ ๑: เธอ ไม่ท่วม ท่วมแต่ ฉัน ฉันก็คนเหมือนกัน ฉันฟ้องศาลได้หรือไม่ ?
ปุจฉาที่ ๒: ถ้า คปภ. แก้น้ำท่วม แล้ว คอป. แก้อะไร ?
ปุจฉาที่ ๓: กฎหมายปันน้ำใจแก้ภัยวิกฤต เสนอได้ด้วยหรือ ?
บทส่งท้าย: น้ำขึ้นให้รีบตัก
บทนำ: น้ำท่วมแล้วไง ?
วันแรกถาม...น้ำท่วมแล้วไง ?
บ้านแรกอาจตอบ สงสารและเป็นกำลังใจ...
บ้านที่สองอาจตอบ จะไปช่วยบรรจุถุงขึ้นรถ กด like ให้สตางค์ วางแผงขายเสื้อ...
บ้านที่สามอาจตอบ ไม่น่าไปกั้นน้ำแบบนี้ ทำไมท่วมแต่เขา แบ่งมาท่วมเราบ้างก็ได้...
วันต่อมา ทั้งสามบ้านจม ถามต่อว่า...น้ำท่วมแล้วไง ?
บ้านแรกอาจไม่ได้ตอบว่า คงเป็นเพราะกรรม เป็นเพราะธรรมชาติ จะทำไงได้ ...
บ้านที่สองอาจไม่ได้ตอบว่า ต้องอดทน ต้องสู้ ต้องไม่ยอมแพ้...
บ้านที่สามอาจไม่ได้ตอบว่า ยอมท่วมเราบ้างก็ได้ ก็ยุติธรรมแล้ว...
ทั้งสามบ้านอาจไม่ได้ตอบอะไรเลย เพราะอาจจำใจต้องออกไปป้องกันหรือไม่ก็พังคันกั้นน้ำ
มวลน้ำใจของคนไทยเอ่อล้นมาพร้อมกับสารพัดวาทะว่าด้วยวิกฤตอุทกภัย บ้างก็ว่าเพราะธรรมชาติส่งมรสุมมาหนักและนานกว่าปกติ บ้างก็ว่าเป็นฝีมือมนุษย์ที่ตัดไม้แล้วเททรายถมคลอง บ้างก็ว่าเพราะคนเห็นแก่ตัวกั้นน้ำไว้จนระบายช้าผิดธรรมชาติ บ้างก็ว่าภาครัฐบริหารน้ำสะเปะสะปะ คนหนึ่งกักไว้ผลิตไฟ อีกคนกักไว้กันแล้ง อีกคนกักไว้กันท่วม เลยไม่รู้จะกักกันอย่างไร บ้างก็ว่าต้องวางผังเมืองและสร้างทางน้ำใหม่ หรือไม่ก็บอกให้จัดพิธีขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ฯลฯ
คำพูดเหล่านี้มีแง่มุมน่าสนใจสามประการ
ประการแรก คำพูดเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่แช่เปื่อยมาจากวิกฤตน้ำท่วมในอดีต เปรียบดั่ง วิกฤตน้ำปากไหลหลาก ที่ช่วยกันพูด ช่วยกันคิด ช่วยกันเถียง แต่พอน้ำลด น้ำปากก็หมด แน่นอนว่าน้ำใจของผู้มีจิตอาสานั้นน่าชื่นชมอย่างไม่ต้องสงสัย แต่ตะกอนความจริงที่เหลือก็คือ ความคิดเห็นที่จะแก้ไขปัญหาได้ไหลลงท่อออกทะเลไปกับน้ำ ฝ่ายที่บริจาคของเก่าก็เก็บเงินซื้อของใหม่ ฝ่ายที่ได้รับของบริจาคก็เก็บเงินซ่อมบ้านแล้วรอรับบริจาคครั้งต่อไป ส่วนนักคิดนักวิจารณ์นักวิชาการก็รอไต่อ่างมาพายเรือวนกันอีกรอบทุกห้าถึงสิบปี
ประการที่สอง เมื่อน้ำท่วมทุกคนไม่เท่ากัน มุมมอง ความเป็นธรรมในการจัดการน้ำท่วม ของตนในสถานการณ์หนึ่ง อาจตรงกันข้ามกับมุมมองตนเองในอีกสถานการณ์หนึ่ง สมมติมีคนไทยแบบ John Rawls วันแรกอยู่ที่กรุงเทพฯ นั่งทำบุญบริจาค like ทาง facebook แต่ก็กดดู update เพราะกลัวน้ำมา แต่วันที่สองต้องไปนั่งกดจิตและรอความช่วยเหลืออยู่บนหลังคาที่นครสวรรค์ แม้ชื่อสถานที่จะทำให้เชื่อว่าเป็นแดนเทวดาเหมือนกัน แต่คนคนนี้ก็คงหนักใจที่จะข่มให้ตนสวมผ้าคลุมไม่รู้ร้อน (veil of ignorance) มองไม่เห็นสิ่งที่ตนเจอมากับตัวตลอดสองวันเพื่อใคร่ครวญอย่างยุติธรรมว่า หากตนเป็นรัฐบาลตนจะเร่งแก้ปัญหาน้ำท่วมอย่างไรให้เป็นธรรมกับทุกฝ่าย ?
ประการที่สาม คงดีไม่น้อยหากประโยคว่า เราจะฝ่าวิกฤตนี้ไปด้วยกัน ไหลหลากท่วมท้นมาจากคนไทยทุกคน แต่ก็คงน่ารันทดยิ่งนักหากคำพูดดังกล่าวกลับกลบเสียงคนไทยแบบ John Rawls จนแทบไม่ได้ยิน เพราะพอเริ่มคิดเริ่มพูดทวงหาความเป็นธรรม ก็ถูกก่นด่าว่าสร้างความแตกแยกไปทำไม หากไม่ถูกบังคับให้ไปนั่งบนหลังคา ก็กลับไปนั่งกด like ยังจะดูดีมีคุณธรรมเสียยิ่งกว่า
บทความนี้จึงจำต้องละเรื่อง วิกฤตน้ำท่วม เพื่อมาร่วมคิดเรื่อง วิกฤตน้ำปากไหลหลาก แทน โดยขอชวนให้ช่วยกันคิดว่า นอกจากคนไทยจะมีจิตอาสาบริจาคให้กำลังใจกัน หรือต่อว่าติติงกัน หรือพร่ำวนกับข้อเสนอสูงส่งในหนังสือพิมพ์และจอโทรทัศน์ (อันล้วนเป็นสิ่งที่จำเป็น) จะยังพอมี กระบวนการ อื่นใดหรือไม่ ที่สามารถเอื้อให้คนไทยร่วมกันไล่ วิกฤตน้ำปากไหลหลาก ออกไป แม้ วิกฤตน้ำท่วม อาจจะกลับมาตามธรรมชาติก็ตาม ?
ผู้เขียนขอร่วมคิดผ่าน สามปุจฉา ว่าด้วยกระบวนการทางตุลาการ บริหาร และ นิติบัญญัติ ที่อาจเปลี่ยน วิกฤตน้ำปากไหลหลาก ให้เป็น โอกาสทางประชาธิปไตย ได้ดังนี้
* *
ปุจฉาที่ ๑ : เธอ ไม่ท่วม ท่วมแต่ ฉัน ฉันก็คนเหมือนกัน ฉันฟ้องศาลได้หรือไม่ ?
ผู้เขียนไม่คิดว่ามีศาลใดในโลกที่มีอำนาจสั่งให้น้ำลดแล้วไหลลงทะเล แต่ก็ไม่คิดว่าวันนี้สังคมไทยมีคำตอบที่ชัดเจนว่า การระบายน้ำออกทะเลได้เร็วและดีที่สุด นั้นต้องทำอย่างไร ผู้เขียนเองไม่ได้เชี่ยวชาญการจัดการปัญหาอุทกภัย และไม่ทราบถึงหลักการทางวิทยาศาสตร์ หรือหลักการใดที่จะนำมาตัดสินความเป็นธรรม อีกทั้งบรรดาผู้เชี่ยวชาญและรัฐบาลก็พูดไม่ตรงกัน หลายคนรวมถึงผู้เขียนก็ไม่รู้จะเชื่อใคร
กระนั้นก็ดี ยังมีประชาชนไทยที่ถูกบังคับให้ต้องเชื่อตัวเอง เมื่อตนเชื่อว่าถูกข่มเหงให้ถูกท่วมและไม่เป็นธรรม แต่เมื่อไม่รู้จะพึ่งใคร ก็จำใจตั้งศาล ณ บัลลังก์คันดิน และไม่ยั้งที่จะลงมือบังคับคดีพิทักษ์ทรัพย์รถแบ็คโฮแล้วปล่อยหรือกักน้ำด้วยตนเอง ภาพเช่นนี้ทั้งน่าเห็นใจและหนักใจไม่น้อยไปกว่าภาพที่ผู้ว่าราชการจังหวัดหลั่งน้ำตาขอร้องให้ประชาชนบางส่วนยอมเสียสละเพื่อช่วยกันรักษาจังหวัดไว้ แม้จะต้องแลกด้วยตำแหน่งของตนก็ตาม
สังคมไทยเริ่มตั้งคำถามว่าใครมีคุณธรรม ใครเห็นแก่ตัว แต่การตั้งคำถามที่ไร้กระบวนการและทิศทางเช่นนี้ กว่าจะหาคำตอบได้สุดท้ายน้ำท่วมก็ลด น้ำปากก็หมด คนก็ลืม เรื่องที่ปะทะกันก็แล้วไป ไว้อีกห้าหกปีค่อยว่ากันใหม่
แต่ลองคิดไกลไปอีกขั้น หากประชาชนที่เชื่อว่าตนตกเป็นเหยื่อน้ำท่วมอย่างสาหัสมากกว่าที่ควรจะเป็น เพราะว่ารัฐได้กั้นน้ำเพื่อปกป้องประชาชนอีกส่วน จะถือว่าประชาชนส่วนแรก ถูกเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม และนำคดีไปฟ้องศาลได้หรือไม่ ? หรือประชาชนต้องจำยอมเชื่อฟังข้อมูลของเจ้าหน้าที่ที่บอกว่าต้องยอมให้ท่วม เพราะเจ้าหน้าที่รู้ดีที่สุดโดยประชาชนไม่อาจโต้แย้งหรือตรวจสอบได้ ? หรือประชาชนจำต้องกลับไปตั้งศาล ณ บัลลังก์คันดิน (ซึ่งอาจลามไปถึงบัลลังก์คอนกรีต) แล้วบังคับคดีด้วยตนเองต่อไป ?
ผู้เขียนเห็นว่า ช่องทางแสวงหาความยุติธรรม ณ บัลลังก์ศาลปกครองก็พอมีอยู่ โดยประชาชนผู้ได้รับความเสียหายอาจยื่นฟ้อง นายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี กรมชลประทาน และฟ้องเผื่อไปถึง คปภ. (คณะกรรมการบริหารจัดการแก้ปัญหาอุทกภัยนโคลนถล่มและภัยแล้ง) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมทรัพยากรน้ำ และผู้ว่าราชการจังหวัดที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนเจ้าหน้าที่ของรัฐและหน่วยงานทางปกครองที่เกี่ยวข้องกับการจัดการและบริหารน้ำ ด้วยเหตุว่าการที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งหลายได้มีข้อสั่งการ มติ คำสั่ง หรือกระทำทางปกครองอันนำไปสู่หรือมีผลกัก กั้น ปล่อย หรือจัดการน้ำในบางบริเวณจนผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหายอย่างสาหัสเกินกว่าที่ควรเป็นนั้น ถือเป็นการกระทำทางปกครองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ที่ว่า ไม่ชอบด้วยกฎหมาย นั้น อาจฟ้องว่าเพราะ มีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่ง พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองฯ และขอให้ศาลสั่งห้ามการกระทำลักษณะดังกล่าว ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ซึ่งข้อสำคัญ คือ มาตรา ๗๒ วรรคหนึ่ง (๑) และวรรคสอง แห่ง พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองฯ ได้ให้อำนาจศาลสามารถบังคับสั่งห้ามการกระทำไปถึงอนาคตได้ อีกทั้งยังกำหนดเงื่อนไขเพื่อความเป็นธรรมเฉพาะกรณีได้อีกด้วย
นอกจากจะฟ้องเรื่อง การเลือกปฏิบัติ หากจะฟ้องเรื่องการ ละเลยต่อหน้าที่ หรือ ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร (เช่น หน้าที่การป้องปัดภัยพิบัติ การให้ข้อมูลหรือสั่งอพยพ การให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูเยียวยา ฯลฯ) หรือ การกระทำละเมิดหรือรับผิดอย่างอื่น (เช่น เลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมจนทำให้เกิดความเสียหายในชีวิต ร่างกายและทรัพย์สิน ฯลฯ) ก็อาจฟ้องไปพร้อมกัน อีกทั้งการฟ้องคดีเกี่ยวกับประโยชน์สาธารณะย่อมไม่ติดข้อจำกัดเรื่องอายุความตาม มาตรา ๕๒ แห่ง พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองฯ
แต่ใช่ว่าฟ้องไปแล้วศาลจะต้องรับฟ้อง ศาลปกครองอาจไม่รับฟ้องโดยอธิบายว่า การบริหารจัดการน้ำในยามอุทกภัยไม่ถือเป็นการใช้อำนาจทางปกครอง แต่เป็นการใช้อำนาจบริหารราชการแผ่นดินหรือเป็นเรื่องดำเนินการตามนโยบายรัฐบาล หรืออธิบายว่าคดีนี้ไม่สามารถกำหนดคำบังคับคดีได้ หรือหากฟ้องช้า ก็อาจอธิบายว่าการกระทำทางข้อเท็จจริงเสร็จสิ้นไปแล้วเปลี่ยนแปลงไม่ได้ หรือศาลอาจพิจารณาว่าการแก้ไขปัญหายังอยู่ระหว่างการดำเนินการตามขั้นตอนและสั่งการไม่แล้วเสร็จ ศาลจึงอาจไม่รับคดีไว้พิจารณา เป็นต้น
ในอดีตเคยมีตัวอย่างคดีที่ประชาชนโต้แย้งมติรัฐมนตรีเกี่ยวกับการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยที่มีลักษณะเลือกปฏิบัติ ศาลปกครองชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฟ้อง โดยเห็นว่าเป็นกรณีที่ฝ่ายบริหารกระทำการในฐานะที่เป็นรัฐบาล เป็นเพียงแนวทางการช่วยเหลือผู้ประสบภัย ศาลปกครองจึงมิอาจตรวจสอบได้โดยสภาพ อย่างไรก็ดี ศาลปกครองสูงสุดกลับเห็นว่า การใช้อำนาจทางปกครองเพื่อปฏิบัติตามนโยบายคณะรัฐมนตรีนั้น ประชาชนผู้มีส่วนได้เสียย่อมโต้แย้งได้ จึงมีคำสั่งให้รับคดีดังกล่าวไว้พิจารณา (คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๖๗๒/๒๕๕๑)
สุดท้ายแม้หากศาลรับคดีไว้พิจารณา ก็ยังมีปัญหาว่า การเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม หรือการกระทำที่ไม่ชอบนั้นเป็นอย่างไร และต้องพิจารณาควบคู่กับหลักกฎหมายปกครองอื่นอย่างไร เช่น หลักความได้สัดส่วนและสมควรแก่เหตุ หลักคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ หรือหลักความชัดเจนแน่นอนและคาดหมายได้จากการกระทำทางปกครอง หลักกฎหมายเหล่านี้เปิดช่องให้ศาลสามารถชั่งน้ำหนักว่า ฝ่ายปกครองได้แก้ปัญหาอุทกภัยตามความจำเป็นและสมเหตุสมผลหรือไม่ เช่น ทำไปเพื่อรักษาประโยชน์สาธารณะไม่ว่าจะเป็นความมั่นคงและเศรษฐกิจของชาติ ฯลฯ ซึ่งจะฟังขึ้นหรือไม่เช่นใดนั้น ย่อมขึ้นอยู่กับดุลพินิจที่ศาลจะไต่สวนฟังความจากทุกฝ่าย ไม่ใช่ให้ใครผูกขาดความเป็นธรรมตามอำเภอใจแต่ผู้เดียว
ผู้เขียนพึงตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมดังนี้
ข้อสังเกตประการแรก การฟ้องคดีจะสำเร็จหรือมีผลออกมาเช่นใดนั้น ผู้เขียนไม่ติดใจมากเท่ากับการสนับสนุนให้ประชาชนคนไทยตื่นตัวกับสิทธิเสรีภาพที่ตนมีอยู่ และไม่ขยาดกลัว กระบวนการประชาธิปไตย ที่ประกันให้ทุกคนในสังคมมีสิทธิและช่องทางในการเรียกร้องความเป็นธรรมด้วยตนเองอย่างเท่าเทียมกัน การเผชิญหน้าอย่างสันติผ่านกระบวนการกฎหมาย ย่อมไม่ใช่ตัวเลือกสำรองของการใช้ กฎหมู่ หรือ กฎแห่งความอาทรเมตตา ที่แคบกว้างตามอำเภอใจของแต่ละบุคคล
แน่นอนว่าในวิกฤตปัจจุบันย่อมไม่มีใครอยากให้ใครถูกน้ำท่วม แต่ก็คงมีน้อยคนที่ปฏิเสธการเอาตัวรอด และคงไม่เป็นธรรมหากจะบอกว่าคนถูกท่วมกับคนไม่ถูกท่วมมีสิทธิคิดแทนกันได้ ไม่ว่าสุดท้ายผลแห่งคดีจะออกมาเช่นใด หากศาลรับฟ้อง ทุกฝ่ายย่อมได้ประโยชน์จากการอาศัยกระบวนการยุติธรรมเพื่อแสวงหาข้อเท็จจริงและฟังความทุกฝ่ายอย่างเป็นธรรม ศาลสามารถเรียกพยานและเอกสารรวมถึงข้อมูลที่ภาครัฐเก็บไว้มาไต่สวน ซึ่งประชาชนผู้ฟ้องก็จะได้ร่วมตรวจสอบ ตลอดจนนำความเห็นของพยานผู้เชี่ยวชาญและประสบการณ์การแก้ปัญหาในต่างประเทศมาสนับสนุนหักล้างให้เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาได้
สมควรกล่าวเพิ่มว่า การอาศัยกระบวนการยุติธรรมเพื่อ แสวงหาข้อเท็จจริง จำเป็นอย่างยิ่งในสังคมไทยที่ประชาชนไม่อาจหวังพึ่งภาครัฐ สื่อมวลชน หรือนักวิชาการได้เท่าที่ควร เห็นได้จากข้อถกเถียงบางส่วนที่ยังวกวนและไม่กระจ่าง ณ เวลานี้ อาทิ
- จริงหรือไม่ว่า ความรุนแรงและความยืดเยื้อของวิกฤตที่ประชาชนในบางพื้นที่ต้องถูกน้ำท่วมสูงเป็นเวลานานเป็นเพราะภาครัฐเลือกปฏิบัติช่วยเหลือเฉพาะพื้นที่บางส่วนโดยการไม่ปล่อยให้น้ำระบายออกตามธรรมชาติโดยสะดวก ? และจริงหรือไม่ว่า การปล่อยให้น้ำท่วมทุกพื้นที่ก็มิได้ทำให้นำท่วมจุดใดลดน้อยลง โดยเฉพาะกรุงเทพฯ ที่มิได้ออกแบบมาให้ระบายน้ำหลากนอกแม่น้ำ การยอมให้น้ำท่วมกรุงเทพฯ ก็มิได้ช่วยให้อะไรดีขึ้น ?
- จริงหรือไม่ว่า ภาครัฐได้ละเลยการบริหารจัดการน้ำโดยกักน้ำในเขื่อนไว้มากและนานเกินไปตั้งแต่สมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ และต่อมาในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ก็ไม่มีการจัดการปล่อยน้ำให้ทันการณ์ ? และจริงหรือไม่ว่าเป็นเพราะมีเหตุให้เชื่อว่าจำเป็นต้องกักน้ำจำนวนมากไว้กันแล้ง ?
- จริงหรือไม่ว่า รัฐบาลได้เลือกปฏิบัติโดยทุ่มงบประมาณวัสดุก่อสร้างคันหรือเขื่อนกั้นน้ำให้แข็งแรงและทนทานเฉพาะบางพื้นที่ ในขณะที่บางพื้นที่กลับได้รับการสนับสนุนที่ขาดแคลนไม่เท่าเทียมกัน (เทียบคันดินกับคันคอนกรีต) หรือแม้แต่ กองเรือผลักดันน้ำครั้งใหญ่ที่สุดในโลก นั้น หากมีประโยชน์ตามที่อ้างจริง ย่อมต้องไม่เลือกปฏิบัติจัดเฉพาะที่ปลายน้ำเจ้าพระยาเท่านั้น แต่ต้องขับน้ำจากภาคกลางตอนบนเพื่อเร่งผลักมวลน้ำลงมาแต่เนิ่นๆ ก่อนที่มวลน้ำที่สมทบจากภาคเหนือจะสูงขึ้น ?
- จริงหรือไม่ว่า เขตอุตสาหกรรมที่จมน้ำไปหลายแห่งนั้น บางแห่งได้รับการเลือกปฏิบัติให้ความคุ้มกันดูแลหนาแน่นเป็นพิเศษยิ่งกว่าที่อื่น (แม้สุดท้ายจะรักษาไว้ไม่ได้ก็ตาม) เพราะเจ้าหน้าที่ภาครัฐระดับสูงมีส่วนได้เสียกับกำไรของเขตอุตสาหกรรมนั้น ในขณะที่หลายพื้นที่กลับไม่ได้รับการแจ้งเตือนและถูกละเลย ?
- จริงหรือไม่ว่า การบริหารน้ำที่เลือกปฏิบัติและผิดพลาดเป็นผลมาจากการที่เจ้าหน้าที่บางหน่วยงาน ไม่กล้าปฏิบัติหน้าที่หรือให้ข้อมูลอย่างเต็มที่ เพราะเกรงกลัวอิทธิพลทางการเมืองที่โยงใยกับผลประโยชน์ของพื้นที่บางบริเวณ และงบประมาณในการเตรียมการรับมือน้ำท่วมกลับถูกย้ายไปใช้เพื่อการอื่น ?
ฯลฯ
ผู้เขียนไม่ปักใจว่าคำตอบของคำถามข้างต้นจะเป็นอย่างไร และไม่อาจทราบได้ว่าเป็นเพียงข้ออ้างข้อสงสัยที่ลึกซึ้งหรือเลื่อนลอย ขณะเดียวกันก็เห็นใจประชาชนที่อัดอั้นและต้องการเรียกร้องความเป็นธรรมไม่น้อยไปกว่าที่เห็นใจภาครัฐและฝ่ายปกครองตลอดจนกองทัพที่เหน็ดเหนื่อยกับการพยายามแก้ปัญหาให้ดีที่สุด มีหลายคดีในอดีตที่ฝ่ายปกครองพยายามผันระบายน้ำ แต่เมื่อไม่อาจทำให้ถูกใจทุกคนก็ถูกฟ้องหลายคดี เชื่อเหลือเกินว่าหากทำให้ไม่มีใครถูกท่วมได้ ภาครัฐก็คงกระทำไปแล้ว
กระนั้นก็ดี ผู้เขียนจำต้องย้ำว่ากระบวนการยุติธรรมไม่ใช่ระบบการต่อว่าให้ร้ายว่าใครผิดใครถูก แต่เป็นกระบวนการนำความจริงมาเปิดเผย โต้แย้ง และตรวจสอบอย่างเป็นระบบเพื่อปรับปรุงแก้ไขสิ่งที่อาจผิดพลาด ถูกปิดบังหรือถูกละเลย ผู้ที่ชนะคดีในทางกฎหมาย ใช่ว่าจะต้องชนะในทางความเป็นจริงเสมอไป ตรงกันข้าม การที่ศาลไม่รับฟ้องคดีจนประชาชนไร้ที่พึ่งนั้น อาจจุดประกายการต่อสู้ทางประชาธิปไตยเพื่อปฏิรูปสังคมก็เป็นได้
ข้อสังเกตประการที่สอง รัฐธรรมนูญได้ประกัน ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และ ความเสมอภาค ให้คนไทยทุกคนได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรม ไม่ว่าจะในยามแล้งหรือยามน้ำหลาก ไม่ว่าจะรวยจนหรืออยู่ ณ จังหวัดใด
แต่คำว่า ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และ ความเสมอภาค นั้น ไม่ได้แปลว่า ทุกคนต้องได้รับการปฏิบัติเหมือนกันทุกประการ ตรงกันข้าม ยามใดที่ ทุกคนต้องได้รับการปฏิบัติเหมือนกัน ยามนั้น ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และ ความเสมอภาค ย่อมไม่หลงเหลือ
ลองนึกถึงสังคมที่คนทุกคนไม่ว่า เด็กทารก มหาเศรษฐี หรือคนชราที่ตกงาน ต้องจ่ายภาษีเท่ากัน เกณฑ์ทหารพร้อมกัน และได้รับเงินเบี้ยเลี้ยงจากรัฐบาลเท่ากัน ก็คงจะเห็นภาพปัญหาได้โดยไม่ต้องอธิบาย แต่การที่เด็กทารกกลับนำไปสู่สิทธิการหักภาษี หรือคนชราที่ตกงานได้รับเบี้ยเลี้ยงจากรัฐบาลมากกว่ามหาเศรษฐี ก็เป็นภาพการ การเลือกปฏิบัติ อย่างเป็นธรรมที่เราชินตา
รัฐธรรมนูญ มาตรา ๓๐ ก็ใช้ถ้อยคำที่แสดงให้เห็นว่า การเลือกปฏิบัติ ไม่ใช่เป็นสิ่งต้องห้าม ดังที่บัญญัติว่า
การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลเพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ ความพิการ สภาพทางกายหรือสุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรม หรือความคิดเห็นทางการเมืองอันไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ จะกระทำมิได้
เห็นได้ว่ากฎหมายไม่ได้ห้าม การเลือกปฎิบัติ ทั้งปวง แต่เจาะจงห้ามเฉพาะการเลือกปฎิบัติ ที่ไม่เป็นธรรม อีกทั้งยังต้องเกิดจาก เหตุแห่งความแตกต่าง เฉพาะตามที่กฎหมายระบุไว้ แม้กฎหมายจะใช้ถ้อยคำกินความทั่วไปแต่ก็ไม่ได้เปิดกว้างว่าจะเป็นเหตุอะไรก็ได้ เช่น หากรัฐจะเลือกปฏิบัติลดภาษีให้เฉพาะผู้ที่ฉลาดปราดเปรื่องเพื่อกันการสมองไหลออกนอกประเทศ ก็อาจมีผู้เถียงว่าทำได้แน่นอน
ยิ่งไปกว่านั้น รัฐธรรมนูญ มาตรา ๓๐ บัญญัติต่อไปว่า
มาตรการที่รัฐกำหนดขึ้นเพื่อขจัดอุปสรรคหรือส่งเสริมให้บุคคลสามารถใช้สิทธิและเสรีภาพได้เช่นเดียวกับบุคคลอื่น ย่อมไม่ถือเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม...
หากสมมติ (arguendo) ว่า ศาลเห็นว่าการจัดการกักกั้นน้ำมีลักษณะ เลือกปฏิบัติ ขั้นต่อไปที่จะพิจารณาว่า เป็นธรรมหรือไม่ นั้น ก็น่าคิดว่าการกักกั้นน้ำเพื่อปกป้องพื้นที่บางส่วนในประเทศจะถือว่าเป็นมาตรการที่ทำไปเพื่อ ขจัดอุปสรรคหรือส่งเสริมให้บุคคลสามารถใช้สิทธิและเสรีภาพได้เช่นเดียวกับบุคคลอื่น ตามหลักการใน รัฐธรรมนูญ มาตรา ๓๐ ได้หรือไม่ ?
แน่นอนว่ามาตรการลดภาษีและดอกเบี้ย ชะลอหนี้สิน ลดค่าน้ำค่าไฟ ฯลฯ แก่ผู้ประสบภัยย่อมชอบด้วยหลักการนี้ แต่การเลือกปฏิบัติเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในการประกอบธุรกิจและเดินทางไปมาอย่างอิสระของคนส่วนหนึ่ง จะแลกด้วยการละเมิดสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน เช่น ชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สิน หรือแม้แต่สิทธิในเคหสถานที่ต้องเสียหายหรือจมน้ำนานมากขึ้นได้หรือไม่ อย่างไร ? เส้นวัดความสำคัญของสิทธิเสรีภาพแต่ละประเภทของบุคคลในแต่ละสถานการณ์อยู่ที่ใด ?
ศาลไทยพร้อมศึกษาประสบการณ์ของศาลต่างประเทศที่ใช้เวลาเป็นร้อยปีในการพัฒนาหลักเกณฑ์เหล่านี้แทนการตีความตัวบทลายลักษณ์อักษรตามอำเภอใจหรือไม่ ? หรือศาลไทยจะถือว่าเป็นคำถามที่กฎหมายควรละคำตอบไว้ให้ประชาชนอาศัยกระบวนการทางการเมืองเพื่อเรียนรู้และตัดสินใจตามกาลเวลา ?
ประเด็นทางนิติศาสตร์ที่ท้าทายเหล่านี้เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้สำหรับประชาธิปไตยใดที่กำลังพัฒนา แม้คำตอบอาจไม่ชัดเจนทุกข้อ แต่สิ่งที่แน่ชัดในขั้นต้นก็คือ รัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๘ วรรคสาม ประกอบกับมาตรา ๖๗ วรรคสาม ประกันให้ประชาชนทุกคนสามารถยกสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคขึ้นอ้างได้โดยตรงด้วยตนเองเพื่อขอความคุ้มครองจากศาล และศาลก็ย่อมมีดุลพินิจว่าจะคุ้มครองอย่างไรให้เป็นธรรมกับทุกฝ่าย รวมถึงภาครัฐที่ต้องรับหน้าที่ปฏิบัติตามคำพิพากษา
ผู้เขียนเชื่อว่ากระบวนการยุติธรรมไม่ใช่ของวิเศษสำเร็จรูปที่ดีพร้อม แต่ต้องผ่านการทดสอบ ปฏิบัติจริง และขัดเกลาพัฒนาตามกาลเวลา คำพูดมักง่ายที่ว่าผู้อยู่ในสถานะต่างกันย่อมได้รับการปฏิบัติที่ต่างกัน และต้องยอมรับสภาพนั้นเสมอไป จึงเป็นกรงความคิดที่คับแคบและตื้นเขินไม่ต่างไปจากปัญหาเรื่องรัฏฐาธิปัตย์รัฐประหารอันล้วนต้องอาศัยการพัฒนาขัดเกลาโดยสถาบันตุลาการที่ลึกซึ้ง หลักแหลมและแยบยล ดังที่ผู้เขียนภาวนาว่าประชาชนจะได้ขอพึ่งพิงและตรวจสอบวิพากษ์วิจารณ์ต่อไปจากยามวิกฤตครั้งนี้
* *
ปุจฉาที่ ๒ : ถ้า คปภ. แก้น้ำท่วม แล้ว คอป. แก้อะไร ?
หน่วยงานที่โดดเด่นและเป็นที่สนใจของประชาชนมากที่สุดในเวลานี้ เห็นจะเป็น คปภ. (คณะกรรมการบริหารจัดการแก้ปัญหาอุทกภัย ดินโคลนถล่มและภัยแล้ง) แต่หากคิดให้ไกลอีกขั้นหนึ่ง คณะกรรมการอีกชุดซึ่งเป็นที่สนใจพักใหญ่ก่อนหน้านี้ คือ คอป. (คณะกรรมการอิสระตรวจสอบค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ) ก็สามารถมีบทบาทสำคัญเช่นกัน
ผู้เขียนเสนอให้ผลิกวิกฤตครั้งนี้เป็นโอกาสให้ประชาชนได้แสดงพลังเรียกร้องให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฉบับที่สอง โดยแก้ไขเพิ่มเติมระเบียบสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์เพื่อขยายอำนาจหน้าที่ภารกิจ ของ คอป. ให้ครอบคลุมถึงการ ตรวจสอบค้นหาความจริงเกี่ยวกับวิกฤตอุทกภัย ว่าความไม่เป็นธรรมและความขัดแย้งในวิกฤตครั้งนี้มีจริงหรือไม่ และมีที่มาที่ไปอย่างไร ในต่างประเทศ เช่น ออสเตรเลีย ก็ได้มีการตั้ง Queensland Floods Commission of Inquiry ศึกษาข้อผิดพพลาดในการบริหารจัดการปัญหาอุทกภัยร้ายแรงเมื่อไม่นานมานี้
อาจมีผู้ท้วงข้อเสนอดังกล่าวว่า คอป. จะเกี่ยวกับเรื่องน้ำท่วมได้อย่างไร ทั้งที่ไม่ได้เกี่ยวกันกับเรื่องการสังหารประชาชนหรือความขัดแย้งทางการเมือง อีกทั้งภารกิจที่มีอยู่ก็หนักหนาอยู่แล้ว หากจะมีจริง ก็อาจอาศัยคณะกรรมาธิการรัฐสภาหรือตั้งคณะกรรมการอิสระชุดใหม่ หรือผู้ตรวจการแผ่นดิน หรือ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติก็จะเหมาะสมกว่า
ผู้เขียนไม่ขัดข้องหากจะมีผู้ใดช่วยกันตรวจสอบ แต่ในส่วน คอป. พึงมีข้อสังเกตดังนี้
ข้อสังเกตประการแรก วิกฤตอุทกภัยครั้งนี้ไม่ได้เป็นเพียงเรื่องภัยธรรมชาติ ฝนผิดฤดูหรือการบริหารผิดพลาดทั่วไป แต่เป็นเรื่องความขัดแย้งและความรู้สึกที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม ประชาชนบางส่วนเชื่อว่าภาครัฐเตรียมการบริหารจัดการและช่วยเหลือเยียวยาในแต่ละจังหวัดและพื้นที่อย่างไม่เท่าเทียมกัน หากวิกฤตอุทกภัยครั้งนี้รุนแรงยืดยื้อและคำถามต่างๆ ยังคงปราศจากคำตอบ สถานการณ์ก็อาจสะเทือนลึกถึงรากปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมและปะทุต่อไปสู่ปัญหาอื่นอีกมาก
ข้อสังเกตประการที่สอง ข้อเสนอนี้ไม่ได้ให้ คอป. ทำหน้าที่ศึกษาหรือแก้ไขปัญหาน้ำท่วมซึ่งมีหลายหน่วยงานรับผิดชอบอยู่แล้ว (และต้องบังคับให้รับผิดชอบต่อไป) แต่เน้นให้ คอป. ศึกษาปัญหา มิติมนุษย์ ที่สะท้อนจาก วิกฤตน้ำปากไหลหลาก กล่าวคือ ตรวจสอบค้นหาความจริงเกี่ยวกับปัจจัยแวดล้อมและรากเหง้าของปัญหาที่เกิดซ้ำซากและไม่ได้รับการแก้ไข ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความไม่เท่าเทียมกันในการบังคับใช้กฎหมายหรือการมีส่วนร่วมในการบริหารทรัพยากร การขยายชุมชนเมืองโดยละเลยสิทธิของประชาชนในบริเวณที่เกี่ยวข้อง การดองข้อเสนอโดยหน่วยงานรัฐ ประสิทธิภาพของการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐและกองทัพตลอดจนปัญหาการช่วยเหลือเยียวยาประชาชนที่ล่าช้า เหลื่อมล้ำและไม่ทั่วถึง ปัญหาการไม่ลงพื้นที่ของผู้แทนราษฎรบางส่วน รวมไปถึงการวางมาตรการเพื่อความปรองดองและลดความขัดแย้งทั้งในระดับชุมชนและระดับชาติ ไม่ว่าจะระหว่างประชาชน ภาคธุรกิจ ผู้ประกอบการที่ขึ้นราคาสินค้า หรือบริษัทประกัน ฯลฯ งานเหล่านี้ล้วนมีลักษณะคล้ายกับงานที่ คอป. รับผิดชอบมาอยู่แล้ว อีกทั้งหากภาระงานจะเพิ่มมากขึ้น คอป. ก็ย่อมสามารถแต่งตั้งผู้เชี่ยวชาญหรือคณะทำงานเพื่อช่วยศึกษาเรื่องน้ำโดยเฉพาะ ตราบใดที่การศึกษาปัญหาและแสวงหาความจริงเกี่ยวกับ ความไม่เป็นธรรม ในสังคมไทยนั้นดำเนินไปอย่างเป็นบูรณาการและไม่สะเปะสะปะ
ข้อสังเกตประการที่สาม คอป. มีลักษณะพิเศษที่น่าสนใจ เช่น นอกจากโครงสร้างทางกฎหมายได้เอื้อให้ คอป. สามารถเข้าถึงข้อมูลและเอกสารของราชการ ตลอดจนการเก็บข้อมูลจากประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ และเสนอแนะโดยตรงต่อรัฐบาลได้แล้ว คอป. ยังมีความชอบธรรมในบริบทพิเศษที่ถูกตั้งโดยรัฐบาลชุดหนึ่ง และได้รับการประกาศสนับสนุนโดยรัฐบาลอีกชุดหนึ่ง อีกทั้งผู้ทำงานก็ได้รับความไว้วางใจและเป็นที่จับตามองของสังคม การให้ คอป. มีบทบาทศึกษารากเหง้าปัญหาความขัดแย้งที่สะท้อนออกมาจากวิกฤตของชาติที่รุนแรงนี้ จึงเท่ากันเป็นการป้องกันไม่ให้ความคิดและข้อเสนอที่จะแก้ปัญหาร้ายแรงถูกเพิกเฉยหรือลอยหายให้ไปพร้อมกับน้ำที่ไหลออกสู่ทะเลดังหลายครั้งในอดีต
* *
ปุจฉาที่ ๓ : กฎหมายปันน้ำใจแก้ภัยวิกฤต เสนอได้ด้วยหรือ ?
ในภาวะที่เศรษฐกิจโลกอาจกำลังถดถอยและประเทศไทยต้องใช้งบประมาณมหาศาลเพื่อฟื้นฟูสถานการณ์ทั้งระหว่างและหลังอุทกภัยร้ายแรง การฝ่าวิกฤตร่วมกันจำเป็นต้องดำเนินไปอย่างเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนยิ่งไปกว่าการอาศัยงบประมาณปกติหรือเพิ่มหนี้สินจากการกู้ยืมเงินโดยรัฐบาล มิใช่เพื่อประโยชน์ของผู้ได้รับความช่วยเหลือเท่านั้น แต่เพื่อลดความเสี่ยงต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเสียเปรียบในการแข่งขันของทั้งประเทศในระยะยาวเช่นกัน
ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าประชาชนคนไทยจะได้ร่วมกันผลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสของพลังประชาธิปไตย โดยการเข้าชื่อและเสนอกฎหมายและผลักดันให้รัฐสภาสนับสนุน ทบทวนแก้ไขและให้ความเห็นชอบเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ชาติไทย
กฎหมายปันน้ำใจแก้ภัยวิกฤตที่ว่านี้ ภาคประชาชนสามารถเข้าชื่อเสนอเป็นกฎหมายการเงินเพื่อจัดเก็บรายได้สำหรับเร่งใช้จ่ายในการเยียวยาฟื้นฟูประเทศและกระตุ้นเศรษฐกิจไปพร้อมกัน อาจมีมาตรการสำคัญ อาทิ
มาตรการแรก ในระยะเร่งด่วน กำหนดมาตรการจัดเก็บภาษีพิเศษหรือจัดเก็บรายได้พิเศษชั่วคราวเข้ารัฐอย่างเร่งด่วนเพื่อมุ่งให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบอุทกภัยอย่างรวดเร็ว ทั่วถึง และเป็นธรรม ตลอดจนจ้างงานเพื่อเพิ่มกำลังคนหรือตอบแทนอาสาสมัคร ทั้งนี้ โดยอาศัยหลักการร่วมรับผิดชอบและแบ่งเบาภาระตามความสามารถของคนในชาติ เช่น ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยตามเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดและผู้มีรายได้น้อย ย่อมได้รับยกเว้นจากการจัดเก็บรายได้ดังกล่าว สังเกตว่าประเทศออสเตรเลีย ก็ได้กำหนดมาตรการลักษณะดังกล่าว (Temporary Flood Levy) เมื่อไม่นานมานี้หลังประสบวิกฤตอุทกภัยร้ายแรงเช่นกัน
นอกจากจะใช้วิธีจัดเก็บภาษีแล้ว ประชาชนอาจเสนอนวัตกรรมการจัดเก็บรายได้อย่างรวดเร็วและทั่วถึงรูปแบบอื่นเป็นการชั่วคราวในระยะสั้น เช่น การกำหนดให้เพิ่มจำนวนเงินที่ต้องชำระในใบแจ้งค่าใช้น้ำประปา หรือค่าไฟฟ้าสูงเกินกว่าความเป็นจริงตามอัตราส่วนและวิธีการคำนวนที่กฎหมายกำหนด ซึ่งมีข้อดีคือปกติจะมีการจัดเก็บเป็นประจำอยู่แล้ว เช่น หักบัญชีหรือบัตรเครดิต แต่เนื่องจากการวัดค่าน้ำค่าไฟมิได้สะท้อนความสามารถในการจ่ายภาษี จึงต้องมีหลักเกณฑ์ประกอบที่เหมาะสม เช่น ให้ผู้จ่ายมีสิทธิหักเงินคืนจากใบแจ้งหนี้รอบอื่นได้ เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อให้รัฐสามารถจัดเก็บรายได้อย่างสะดวกรวดเร็วสำหรับการเยียวยาฉุกเฉิน โดยไม่ต้องติดขัดกับประสิทธิภาพของการจัดเก็บภาษีของประเทศไทย
อนึ่ง ผู้เขียนไม่ใช่นักการคลังหรือนักเศรษฐศาสตร์และเชื่อว่ารายละเอียดของร่างกฎหมายต้องมีการพิจารณาอย่างรอบด้าน แต่เสนอเป็นหลักการเบื้องต้นได้ว่า การจัดเก็บรายได้ต้องตั้งอยู่บนหลักของวินัยและเสถียรภาพทางการคลัง ค่าดำเนินการ (transaction cost) ต้องโปร่งใสมีประสิทธิภาพ ป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจ (economic rent) ที่อาจมีธุรกิจหรืออุตสาหกรรมใดฉวยประโยชน์ มีการเปิดโอกาสให้ท้องถิ่นมีส่วนร่วมบริหารงบประมาณ อีกทั้งไม่ทำให้นโยบายอื่น เช่น การเพิ่มรายได้ขั้นต่ำ การก่อสร้างระบบคมนาคม หรือมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอื่นที่ชอบธรรมและจำเป็นต้องหยุดชะงัก แต่ในขณะเดียวกัน ภาครัฐก็ต้องร่วมตัดลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นอย่างเป็นรูปธรรม และหากประชาชนไม่พอใจกับการตัดลดรายจ่าย ร่างกฎหมายนี้ก็อาจเป็นโอกาสให้ภาคประชาชนได้เสนอกลไกการตรวจสอบให้ความเห็นชั่วคราวเฉพาะกรณีได้
มาตรการที่สองในระยะเร่งด่วนถึงปานกลาง กำหนดมาตรการและวิธีการนำรายได้พิเศษไปฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมหลังน้ำท่วมอย่างเป็นระบบ เช่น การนำรายได้พิเศษไปชดเชยการกำหนดมาตรการประโยชน์ทางภาษีเพื่อชักจูงให้เอกชนจ้างงานผู้ที่ตกงานหรือขาดรายได้เพราะเหตุอุทกภัย การกอบกู้ฟื้นฟูเขตอุตสาหกรรม หรือธุรกิจอื่นที่ได้รับผลกระทบรุนแรง เช่น เกษตรกรรม หรือแม้แต่ธุรกิจประกันภัย รวมถึงการใช้งบประมาณก่อสร้างและจ้างงานเพื่อซ่อมแซมก่อสร้างในลักษณะที่กระตุ้นเศรษฐกิจอย่างมีประสิทธิภาพ หรือแม่แต่การศึกษาแผนขุดคูคลองและพัฒนาที่ดินเพื่อเปลี่ยนพื้นที่เสียหายให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ อาทิ แนวคิด อยุธยา-เวนิส
มาตรการที่สามในระยะยาว กำหนดมาตรการและวิธีการนำรายได้พิเศษไปลงทุนโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ป้องกันปัญหาอุทกภัยที่กระตุ้นเศรษฐกิจและจ้างงานในระยะยาว เช่น การปรับปรุงระบบชลประทาน และก่อสร้างพื้นที่น้ำและเส้นทางระบายน้ำ (flood way) เพิ่มเติมทั่วประเทศอย่างเชื่อมโยงและเป็นระบบ
ผู้เขียนพึงมีข้อสังเกตดังนี้
ข้อสังเกตประการแรก ในเรื่องการเข้าชื่อเสนอกฎหมายนั้น รัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๖๓ ได้รับรองสิทธิให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่าหนึ่งหมื่นคนสามารถเข้าชื่อต่อประธานรัฐสภาเพื่อให้รัฐสภาพิจารณาร่างกฎหมายได้ รายละเอียดขั้นตอนอื่นยังคงเป็นไปตามที่กฎหมายฉบับเดิมกำหนดไว้ คือ พ.ร.บ. ว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ. ๒๕๔๒ เช่น ผู้เข้าชื่อเสนอกฎหมายจะต้องมีสิทธิเลือกตั้ง มีสำเนาบัตรประชาชนหรือบัตรราชการอื่นที่มีรูป และสำเนาทะเบียนบ้านพร้อมเป็นอย่างน้อย นอกจากนี้ประชาชนยังอาจขอให้คณะกรรมการการเลือกตั้งช่วยจัดให้มีการเข้าชื่อเสนอกฎหมายก็ได้ ข้อมูลเพิ่มเติมศึกษาได้ที่ http://ilaw.or.th/node/4
ข้อสังเกตประการที่สอง เรื่องที่จะเสนอไม่ใช่ว่าจะเสนออะไรก็ได้ แต่รัฐธรรมนูญกำหนดว่ากฎหมายที่เสนอต้องเป็นกรณี ตามที่กำหนด บทบัญญัติบางส่วน ในอดีตรัฐสภาเคยตีความจำกัดสิทธิประชาชนว่ากฎหมายที่เสนอต้องถูกบังคับว่าต้องมีเท่านั้น แต่ผู้เขียนย้ำว่ากฎหมายที่เสนอข้างต้นเป็นไปตามที่กำหนดโดยนัยตัวบทประกอบกับเจตนารมณ์ตามรัฐธรรมนูญหมวด ๓ และ หมวด ๕ อย่างชัดแจ้ง อาทิ มาตรา ๒๘ วรรคสี่ มาตรา ๓๐ วรรคสี่ มาตรา ๗๘ (๑) มาตรา ๘๔ มาตรา ๘๕ และ มาตรา ๘๗) และเนื่องเป็นการเสนอกฎหมายด้านการเงิน ก็จะต้องมีขั้นตอนพิเศษบางประการเกี่ยวกับฝ่ายบริหาร
ข้อสังเกตประการที่สาม สถานการณ์อุทกภัยอาจต้องใช้เวลานานในการคลี่คลาย แต่การพิจารณาร่างกฎหมายตามมาตรฐานรัฐสภาไทยอาจใช้เวลานานยิ่งกว่า ผู้เขียนหวังว่าองค์กรภาคประชาชน ภาควิชาการ รวมถึงพลังนิสิตนักศึกษาจะได้ออกมาเคลื่อนไหวร่วมยกร่างและผลักดันให้ร่างกฎหมายดังกล่าวผ่านการพิจารณาโดยสภาได้เป็นครั้งแรกของชาติ ซึ่งปริมาณรายได้ที่จัดเก็บจะมากน้อยหรือมีประโยชน์เพียงใด ก็ไม่ได้ทำให้การจุดประกายความรู้สึกร่วมรับผิดชอบของคนในสังคมร่วมกันเปลี่ยนไป และหากพรรคการเมืองหรือสมาชิกรัฐสภาท่านใดประสงค์จะทำหน้าที่เสนอร่างควบคู่กันและเปิดรับฟังความเห็นของประชาชน ก็ย่อมเป็นนิมิตหมายทางประชาธิปไตยที่ดีไม่น้อยเช่นกัน
* *
บทส่งท้าย: น้ำขึ้นให้รีบตัก
แผ่นดินไทยมิได้ปูราบด้วยกลีบกฎหมาย และแม้สมมติว่าปูได้ราบเสมอกันไซร้ ก็มิอาจทำให้ศาลหรือกฎหมายฉบับใดปัดเป่าให้ทุกส่วนของแผ่นดินรอดพ้นจากอุทกภัยได้พร้อมกัน แต่ทุกปัญหาย่อมบรรเทาได้ เริ่มจากการไม่กลัวที่จะเผชิญหน้าและทวงถามความจริง และการแสดงจิตสำนึกที่ร่วมรับผิดชอบต่อประเทศชาติร่วมกันมากไปกว่า น้ำปากที่ไหลหลาก โดยผู้เขียนประสงค์ฝากข้อคิดไว้สามประการ
ข้อคิดประการแรก บทความนี้เสนอแนวคิดให้ผลิกวิกฤตรุนแรงในชาติมาเป็นโอกาสปลูกฝังพัฒนากระบวนการประชาธิปไตยผ่านข้อเสนอเบื้องต้นสามประการ
ข้อเสนอแรก คือ การใช้สิทธิทางศาล ซึ่งแม้จะมีหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการฟ้องคดีและการกำหนดคำบังคับที่จำกัด แต่มีข้อดีคือประชาชนทั่วไปสามารถใช้สิทธิได้โดยตรง และพึ่งพาเครื่องมือในการแสวงหาความจริงขององค์กรตุลาการได้ ผลทางกฎหมายของคดีจะเป็นอย่างไรอาจไม่สำคัญเท่าผลกระทบต่อความรับรู้และจดจำของประชาชน
แม้การใช้สิทธิทางศาลจะมีผลเฉพาะคดี แต่ก็สามารถเชื่อมโยงกับข้อเสนอที่สอง คือ การอาศัยอำนาจฝ่ายบริหารจัดให้คณะกรรมการอิสระ เช่น คอป. ทำหน้าที่ตรวจสอบแสวงหาความจริงเกี่ยวกับรากเหง้าปัญหา มิติมนุษย์ และทางแก้ไขในระยะยาว โดยมีประชาชนร่วมให้ข้อมูลและตรวจสอบการทำงานไปพร้อมกัน
ข้อเสนอที่สาม คือ การเข้าชื่อเสนอร่างกฎหมาย อันเป็นการปลูกฝังให้ประชาชนใช้พลังผลักดันให้ฝ่ายนิติบัญญัติทำงานอย่างแข็งขันในฐานะผู้แทนที่รับใช้ตน ตลอดจนสร้างสำนึกในการรับผิดชอบปัญหาร่วมกันและแก้ไขป้องกันความบานปลายของปัญหาอย่างเป็นระบบทันถ่วงที
ข้อคิดประการที่สอง การประกาศคุณค่าประชาธิปไตยด้วยหลักการอันโก้หรูหรือล้นด้วยคุณธรรม โดยเฉพาะในยามที่ผู้นำทางปัญญาสบโอกาสจะเปิดกรงทางความคิด ไม่ใช่ว่าเป็นเรื่องไม่ดี แต่เป็นเรื่องที่ต้องไม่พอ หรือลุ่มหลงว่าทำได้ดีแค่นั้น หรือผูกขาดว่าความถูกต้องมีแค่นั้น สิ่งที่ต้องมีมากกว่านั้น คือ การนำเสนอที่แยบยลเพื่อให้เกิด กระบวนการเรียนรู้ทางประชาธิปไตย ตามความเป็นจริงของคนในสังคม
ในบทความนี้ ศาลปกครองจะตัดสินคดีอย่างไร คอป. จะพบความจริงประการใด หรือ สภาจะแก้ไขหรือเห็นชอบร่างกฎหมายที่ประชาชนเข้าชื่อเสนอหรือไม่ อาจไม่สำคัญเท่ากับความเป็นจริงที่ว่า มีประชาชนได้สู้คดีในศาล มีประชาชนได้แลกเปลี่ยนข้อมูลกับ คอป. และมีประชาชนได้เข้าเชื่อชี้แจงและร่วมพิจารณาร่างกฎหมายกับบรรดาผู้แทนประชาชน ผู้เขียนย้ำว่า การค้นหากติกาการปกครองที่แน่นอนและเป็นธรรมนั้น พึงแสวงจาก มนุษย์ดังที่เป็นและกฎหมายดังที่ควรเป็น และจะกลับกันไม่ได้เด็ดขาด
ข้อคิดประการสุดท้าย หากถามผู้เขียนว่า ความยุติธรรมนั้นคืออะไร คงตอบอย่างไม่ตรงได้ว่า ความยุติธรรมคือสิ่งที่จะเสื่อมสลายไปเมื่อเราหยุดคิดใคร่ครวญถึงความหมายของสิ่งนั้นเอง
มีหลายครั้งที่ การตั้งคำถาม สำคัญกว่า การได้คำตอบ และในสังคมประชาธิปไตย คำถามหนึ่งข้อ อาจมี ล้านคำตอบ ยิ่งถามมากก็ยิ่งต้องคิดหาคำตอบให้เลือกมาก แต่พอเจอคำตอบใหม่ดีสักข้อ คำตอบนั้นอาจดีกว่าและแทนที่คำตอบเดิมสักสิบหรือร้อยข้อ สุดท้ายคำตอบที่ไม่ดีจึงน้อยลง แต่คำตอบที่ดีจะไม่มีวันหมดไป
ตรงกันข้าม สังคมที่มี ล้านคำถาม แต่กลับเชื่อว่ามี คำตอบเดียว ที่ตอบได้ทุกคำถาม สังคมนั้นคือสังคมที่ผู้ถามถูกบงการปลอบประโลมให้เชื่อว่าหนึ่งในคำถามล้านข้อที่ตนถามนั้น ย่อมซ้ำกับคนอื่น มีคนตอบไว้แล้ว ถามไปก็ยิ่งวุ่นวายไม่ได้อะไรขึ้นมา คำถามก็จะลดหายไปทีละข้อ จนสุดท้ายไม่เหลือคำถาม ไม่เหลือคำตอบ และไม่เหลือความหวังให้ประชาชนคนธรรมดาในสังคมนั้น
ด้วยประการฉะนี้ ผู้เขียนจึงจบด้วยการถามสั้นๆ อีกครั้งว่า... น้ำท่วมแล้วไง ?
* * *
หมายเหตุ:
บทความเผยแพร่วันที่ ๒๓ ตุลาคม ๒๕๕๔ เพื่อร่วมรำลึกถึงพระปิยมหาราชผู้ทรงริเริ่มพัฒนาการชลประทานของไทยให้ทัดเทียมนานาอารยประเทศ. เอกสารประกอบบทความอ่านได้ที่ https://sites.google.com/site/verapat/flood. ผู้เขียนขอน้อมรับข้อชี้แนะหรือคำถามที่อีเมล verapat@post.harvard.edu
|
|
|
พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=1648
เวลา 22 พฤศจิกายน 2567 17:38 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)
|