รัฐธรรมนูญ อุดมคติหรือขยะทางความคิด

23 ตุลาคม 2554 16:59 น.

       รัฐธรรมนูญ อุดมคติหรือขยะทางความคิด
       ในห้วงของเทศกาลบ้านเมือง เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ต้องมีการขยับเขยื่อนเคลื่อนไหว ซึ่งคนไทยและไม่ใช่คนไทยทั้งหลาย ยังมิคลายความกังวลระคนสงสัยว่าจะเป็นไปในทิศใดสูงหรือต่ำ ดำหรือขาว ๒๕๔๐ หรือ ๒๕๕๐ หรือ ๒๕๕๐ หรืออาจจะไปไกลถึง ๒๕๑๗   ก็ยากจะคาดคะเน
       อย่างไรก็ตามตามพื้นฐานที่เราต้องทำให้เป็นสามัญ คือ การย้อนไปถึงความคิดรวบยอดอันเป็นพื้นฐานและที่มาแห่งลายลักษณ์อักษรที่บัญญัติขึ้น เราหมายรู้ว่าสิ่งนั้น คือ ตำแหน่งแห่งหนของอำนาจการปกครองบ้านเมืองว่าด้วยการปกครองอันเป็นสิ่งคู่มนุษย์ตั้งแต่บรรพกาลที่ไม่เคยขาดตอนตลอดสายแห่งวิวัฒนาการของสัตว์สังคม อันขอละไว้ในฐานที่เข้าใจมิให้เยิ่นเย้อและเผลอสร้างความระอา หลักคิดที่ดำเนินเรื่องให้เฟื่องฟู อันว่าการใช้อำนาจในระบอบการปกครองประชาธิปไตยนั้น ต้องหลีกเลี่ยงการรวมศูนย์ของการใช้อำนาจโดยดูได้จากความคิดของมองเตสกิเออที่พยายามอธิบายถึงการแบ่งแยกอำนาจระหว่างนิติบัญญัติ บริหารและตุลาการ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วก็มิได้แบ่งแยกกันเด็ดขาดอย่างสิ้นเชิงในระบบรัฐสภาแต่หากเป็นระบบประธานาธิปดีจะมีความเด่นชัดมากกว่า แต่นี้เป็นบั้นปลายท้ายสายธารแห่งประชาธิปไตยแล้ว
       บ่อเกิดของอำนาจอธิปไตยในอดีตกาล การปกครองเกิดขั้นก็เนื่องแต่มนุษย์มีการรวมตัวตั้งแต่สองคนขึ้นไปในภาวะเช่นนี้ ความธรรมปกติย่อมต้องมีบุคคลที่มีภาวะที่ชอบนำและตามในช่วงนี้ผู้นำโดยส่วนใหญ่น่าจะมีความเข้มแข็งทางด้านร่างกายสามารถที่จะปกป้องดูแลความปลอดภัยทั้งชีวิต ร่างกายและทรัพย์สินให้กับผู้ตามของตน ซึ่งก็ไม่ต่างอะไรกับหัวหน้าฝูงในสัตว์ต่างๆ แต่หากในกลุ่มนั้นๆ มีผู้มีบุคคลที่มีภาวะผู้นำหลายคนก็มีความจำเป็นอย่างยิ่งในการคัดสรรผู้ที่จะเข้าสู่ตำแหน่งผู้นำในที่นี้ก็หนีไม่พ้นการใช้กำลัง
        ต่อมาพัฒนาการทางการเมืองก็เข้าสู่ยุคนครรัฐประมาณ ๗๐๐ ก่อนคริสตกาลและนครรัฐรุ่งเรืองที่สุดในทางความคิดทางการเมืองประชาธิปไตยคือ นครรัฐเอเธนส์ ประมาณ ๕๐๐ ปี ก่อนคริสตกาล ซึ่งเป็นประชาธิปไตยทางตรงและระบอบการปกครองประชาธิปไตยนี้เอง ถูกยกให้เป็นการปกครองที่เลวร้ายน้อยที่สุดตามที่อริสโตเติ้ลได้สรุปไว้ใน “Polistics” โดยมีข้อคิดพื้นฐานอยู่ที่ในภาวะที่ปกติมนุษย์เป็นคนดีมีเหตุมีผล จากนั้นก็ค่อย ๆ พัฒนาต่อมาจนถึงยุคของรัฐชาติ ระบอบประชาธิปไตยได้เริ่มก่อตัวขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมในอังกฤษและประชาธิปไตยก็เริ่มขยายตัวทางความคิดไปสู่ประเทศต่างๆ ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นอเมริกา ฝรั่งเศส เป็นต้น
       ในประเทศไทยแนวคิดประชาธิปไตยเข้ามามีอิทธิพลทางความคิดก่อน พ.ศ.๒๔๗๕ โดยดูได้จากการที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตั้งสุขาภิบาลใน ร.ศ.๑๑๖ (พ.ศ.๒๔๔๐) และจากการที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทดลองตั้งดุสิตธานี ในปี พ.ศ.๒๔๖๐ จนถึงปีพ.ศ.๒๔๗๕ คณะราษฏรได้กระทำการปฏิวัติเปลี่ยนระบอบจากสมบูรณาญาสิทธิราชสู่ประชาธิปไตยซึ่งต่อมาพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสละราชสมบัติ
       โดยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชกระแสรับสั่งบางตอนในการนี้ว่า “ข้าพเจ้าพร้อมที่จะสละอำนาจซึ่งข้าพเจ้ามีอยู่แต่ก่อนให้แก่ประชาชนทั่ว ๆ ไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยอมสละให้แก่บุคคล หรือคณะใด ๆ เพื่อที่จะใช้อำนาจนั้น ๆ ด้วยสมบูรณาญาสิทธิ โดยไม่ฟังเสียอันแท้จริงของประชาชน”ตั้งแต่พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ.๒๔๗๕ จนถึงรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๕๐ ที่ผ่านมามีการล้มล้างรัฐธรรมนูญและก่อตั้งรัฐธรรมนูญทั้งสิ้น ๑๘ ฉบับ ซึ่งก็มิได้แปลกอันใดเพราะทุกสิ่งย่อมเกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไป อย่างเป็นพลวัตรของมัน
        ในเมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชประสงค์ในการพระราชทานอำนาจของพระองค์ในฐานะรัฐาธิปัตย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชให้แก่ประชาชนข้างต้น พร้อมกับพระราชทานรัฐธรรมนูญในวันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๗๕ จะเห็นได้อย่างชัดแจ้งว่าอำนาจอธิปไตยถูกโอนมาสู่ ๒ แหล่ง คือ รัฐธรรมนูญและประชาชน ในส่วนของประชาชนก็ยังคงอยู่แม้จะถูกบิดเบือนอันเนื่องมาจากระบบผู้แทน ส่วนที่สองรัฐธรรมนูญเหตุไฉนเมื่อมีการเปลี่ยนผู้ครองอำนาจโดยการก่อรัฐประหารแล้ว เหตุใดคณะผู้ก่อการจึงมีสิทธิในการล้มล้างรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นอำนาจตามกฎหมาย ทั้งนี้ตามเหตุผลของเรื่องแล้วข้าพเจ้ามีความเห็นว่าแม้คณะผู้ก่อการจะมีอำนาจ(Power) ซึ่งเป็นอำนาจตามข้อเท็จจริงที่ได้มาด้วยกำลัง แต่รัฐธรรมนูญนั้นเปรียบเสมือนองค์กรๆ หนึ่ง ที่รับโอนอำนาจอธิปไตยมาและแบ่งแยก จัดสรร กำหนด ให้อำนาจอธิปไตยสามารถจับต้องได้อย่างเป็นรูปธรรม และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือทำให้การใช้อำนาจของรัฐไม่เป็นไปโดยอำเภอใจของผู้ใช้อำนาจนั้น ฉะนั้นแม้คณะผู้ก่อการจะได้ยึดอำนาจทั้งปวงแล้วแต่อำนาจที่ท่านได้เป็นเพียงอำนาจ(Power) เท่านั้น ในทางกลับกันอำนาจ(Authority) ของรัฐธรรมนูญยังคงอยู่
       การล้มเลิกรัฐธรรมนูญจึงกระทำไม่ได้เพราะไม่ใช่เจตจำนงค์ร่วมของคนในสังคม ยกตัวอย่างให้เห็นชัดคือ ในอดีตที่ผ่านมา การสถาปนารัฐธรรมนูญจะมาจากเจตจำนงของคนกลุ่มหนึ่ง คณะหนึ่ง โดยเป็นเพียงกลุ่มผลประโยชน์ชั้นสูงเท่านั้น อย่างดีที่สุดก็มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ ที่มาจากคัดสรรตามกระบวนการที่ผู้ก่อการกำหนดและให้มีการลงประชามติ แต่ไม่มีการล้มล้างครั้งไหนที่รัฐาธิปัตย์จะกำหนดให้มีการประชาพิจารณ์และลงประชามติว่าจะเอาหรือไม่เอารัฐธรรมนูญฉบับนั้น ๆ หรือว่าจะแก้ไข เปลี่ยนแปลงอย่างไร
       เช่นนี้แล้วรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยก็ไม่มีประโยชน์อันใดในทางการเมืองการปกครองเพราะตั้งอยู่แต่อำเภอใจของบุคคลเพียงกลุ่มหนึ่งคณะหนึ่งเท่านั้น “เป็นผลของต้นไม้ที่เป็นพิษ” ซึ่งเป็นคำอุปมาทางกฎหมาย ตรรกะของคำศัพท์ก็คือว่าถ้าแหล่งที่มา ("ต้นไม้") ปนเปื้อนเป็นพิษแล้วอะไรที่ได้รับ จากมัน ("ผลไม้") ก็ย่อมเป็นเช่นกัน
       ในทางกฎหมายมหาชนหลายท่านมองว่าคำสั่งคณะปฏิบัติที่สถานะเป็นกฎมายอันเนื่องมาจากคณะปฏิวัติอยู่ในฐานะรัฐาธิปัตย์ สามารถที่จะกำหนดกฎเกณฑ์ต่างๆ ให้คนในสังคมปฏิบัติและคณะฯ ดังกล่าวได้ยึดทั้งอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหารและอำนาจตุลาการ ซึ่งในที่นี้คงไม่ต้องกล่าวถึงว่าเป็นการปกครองรูปแบบใด โดยแนวทางตาม Positive Law ที่มองว่าไม่ต้องพิจารณาความชอบธรรมอันใดเลย เพียงแต่ใครมีอำนาจก็ตราหรือยกเลิกกฎหมายได้ ออกจะคับแคบเกินไปหรือไม่ เพราะนั้นเปรียบเสมือนเราได้ย้อนไปใช้ชีวิติยุคชนเผ่า ดังข้างต้นที่กล่าวมาและไม่ได้ใช้ประโยชน์อย่างไรเลยต่อพัฒนาการทางความคิด ความมีเหตุผล ทั้งทางปรัชญาและโลกแห่งความเป็นจริงที่มนุษย์พัฒนามาอย่างต่อเนื่องนับพันปีของสังคมการเมือง
       หากแต่ถ้าแนวคิดของ Positive Law ยังดำรงลึกในหลักกฎหมายของประเทศไทย ข้าพเจ้าขอเสนอแนวทางเพื่อปกป้องรักษารัฐธรรมนูญไว้ เพื่อพวกเราและอนุชนได้ต่อยอดความคิดให้งอกงาม ออกดอก ออกผล ในทางกฎหมายรัฐธรรมนูญต่อไป คือ
       บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญในมาตราใดก็ได้ ดังนี้“มาตรา..........ผู้ใด คณะใด เมื่อกระทำการรัฐประหารหรือยึดอำนาจในการปกครองประเทศได้ คำสั่ง ประกาศ หรือการกระทำใดๆ อันเป็นการล้มล้างหรือยกเลิกรัฐธรรมนูญแม้บางส่วนจะกระทำมิได้” นี้คือร่างที่ประสงค์จะให้เข้าสู่กระบวนการวิภาษวิธีในสังคมการเมืองไทย ท้ายนี้ข้าพเจ้ามีความเชื่อในเบื้องลึกว่า “การเปลี่ยนแปลงจะเป็นพลังงานในการขับเคลื่อนสังคมไปสู่รัฐในอุดมคติของพวกเราชาวไทยร่วมกัน” หรือสิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้คือลำดับขั้นของการพัฒนาประชาธิปไตยที่ถูกต้องแล้ว
        


พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=1647
เวลา 25 เมษายน 2567 14:48 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)