ครั้งที่ 275

9 ตุลาคม 2554 18:47 น.

       สำหรับวันจันทร์ที่ 10 ตุลาคม ถึงวันอาทิตย์ที่ 23 ตุลาคม 2554
        
       
       “ภาคเอกชนกับการต่อต้านการคอร์รัปชัน”
       
       ช่วงเวลา 3 - 4 เดือนที่ผ่านมา มีข่าวภาคเอกชนรวมกลุ่มกันจัดตั้งเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชัน โดยในการแถลงเปิดตัวเครือข่ายดังกล่าว มีการให้ข้อมูลต่อสาธารณชนว่า ในปี พ.ศ. 2553 ภาคธุรกิจต้องจ่ายเงินใต้โต๊ะให้กับนักการเมืองและข้าราชการเป็นจำนวนเงินถึงสองแสนล้านบาท ภาคเอกชนจึงรวมตัวกันเข้าเพื่อต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน
       เรื่องการทุจริตคอร์รัปชันในประเทศไทยและในประเทศอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นประเทศด้อยพัฒนาหรือประเทศที่กำลังพัฒนาไม่ใช่เรื่องแปลก แต่การเข้ามาของภาคเอกชนเพื่อต่อต้านการคอร์รัปชันกลับเป็นเรื่องแปลก เพราะเท่าที่ผ่านมาจนกระทั่งปัจจุบันและก้าวไปถึงอนาคตด้วย การคอร์รัปชันในภาครัฐจะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้า “ภาคเอกชน” ไม่ร่วมมือ เพราะฉะนั้น การ “จ่าย” จึงเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการคอร์รัปชันที่เกิดขึ้นในทุกประเทศทั่วโลกและส่วนใหญ่แล้ว “ผู้จ่าย” ก็หนีไม่พ้น “ภาคเอกชน” ที่เข้ามาทำงานกับภาครัฐนั่นเอง หากภาคเอกชนต้องการที่จะต่อต้านการคอร์รัปชันก็ทำได้ง่ายๆ เพียงแค่ “หยุดจ่าย” เพราะฉะนั้น การรวมกลุ่มกันจัดตั้งเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชันของภาคเอกชนจึงเป็นเรื่องแปลกเรื่องหนึ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้ แต่ก็ถือว่าเป็นเรื่องแปลกที่ดี เละน่าสนใจติดตาม
       ในประเทศไทย การทุจริตคอร์รัปชันมีมานานมากแล้ว เดิมเราใช้คำว่า “ฉ้อราษฎร์ บังหลวง” โดยคำว่า การฉ้อราษฎร์ หมายถึง การหลอกหรือโกงราษฎร ส่วนการบังหลวง ได้แก่ การนำเอาของหลวงมาเป็นของตน การกระทำที่เรียกว่า การฉ้อราษฎร์ บังหลวงนั้นถือว่าเป็นการกระทำผิดที่ร้ายแรงมาก ในอดีต กฎหมายตราสามดวงได้ระบุโทษข้าราชการที่มีพฤติกรรมฉ้อราษฎร์ บังหลวงไว้ 10 ประการ โดยมีโทษหนักที่สุดก็คือ “ฟันคอ ริบเรือน”
       ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้น ก็อย่างที่ทราบคือ ขุนนางมีบารมีและมีอำนาจมาก ก่อนการปฏิรูประบบราชการในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว การปฏิบัติราชการของขุนนางกับการประกอบกิจการส่วนตัวของขุนนางมักอยู่ในลักษณะที่ปนกันและแยกไม่ออก นอกจากนี้แล้ว ในช่วงเวลาดังกล่าว ระบบอุปถัมภ์ยังเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในแวดวงราชการ เห็นได้จากการรับคนเข้าทำงานในระบบราชการมักจะพิจารณาจากชาติวุฒิ ประกอบกับคุณวุฒิและวัยวุฒิ การติดต่อราชการส่วนใหญ่มักเริ่มจากการนำของกำนัลมาให้ขุนนางหรือข้าราชการระดับสูงเพื่อตอบแทนการให้บริการ สิ่งเหล่านี้ทำให้ชนชั้นสูงพยายามรักษาสถานะของตนเอาไว้เพื่อให้อำนาจคงอยู่กับตัวตลอดไป ระบบอุปถัมภ์จึงเริ่มจากการที่ขุนนางหรือข้าราชการระดับสูงต้องดูแลคนในอุปถัมภ์ของตนเพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิประโยชน์อื่น ๆ ความสัมพันธ์ในระบบอุปถัมภ์จึงกลายเป็นตัวเชื่อมระหว่างประชาชนกับขุนนางและข้าราชการ
       หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 คณะราษฎรเข้ามามีอำนาจ คณะราษฎรกลายเป็นชนชั้นปกครองใหม่ที่ควบคุมอำนาจทางการเมือง ทางการทหาร และทรัพยากรของรัฐทั้งหมด ในฐานะที่เป็นผู้ควบคุมทุนของรัฐ คณะราษฎรได้นำทุนของรัฐไปสร้างรัฐวิสาหกิจและบริษัทกึ่งราชการขึ้นจำนวนหนึ่งโดยรัฐบาลเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่และอยู่ภายใต้การบริหารงานของข้าราชการที่มาจากคณะราษฎรหรือบุคคลที่ใกล้ชิดกับคณะราษฎร ธุรกิจของคณะราษฎรส่วนหนึ่งที่ดำเนินการค้าร่วมกับพ่อค้าชาวจีนประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก เช่นกรณีของบริษัทข้าวไทยที่คณะราษฎรได้ตั้งพ่อค้าข้าวชาวจีนคนหนึ่งเป็นผู้จัดการบริษัท เริ่มแรกบริษัทข้าวไทยได้เช่าโรงสีของผู้จัดการบริษัทมาดำเนินงาน ผู้จัดการบริษัทได้แต่งตั้งญาติพี่น้องและผู้ใกล้ชิดไปเป็นผู้จัดการโรงสีข้าวต่าง ๆ ที่อยู่ในเครือของบริษัทข้าวไทย เมื่อต้องส่งข้าวไปขายต่างประเทศ บริษัทข้าวไทยก็ได้เช่าเรือบรรทุกข้าวจากบริษัทอีกบริษัทหนึ่งซึ่งเป็นบริษัทของผู้จัดการบริษัท บริษัทข้าวไทยมีกรรมการบริษัทจำนวนหนึ่งเป็นข้าราชการที่ทรงอิทธิพลในขณะนั้นและมีบางคนที่เป็นรัฐมนตรีด้วย บริษัทข้าวไทยจึงกลายเป็นบริษัทที่ประสบความสำเร็จในการค้าและมีผลกำไรอย่างมากจากการดำเนินงาน กลายเป็นฐานอำนาจทางเศรษฐกิจอีกแห่งหนึ่งของคณะราษฎร เกิดผลประโยชน์จากบริษัทตามมามากมายในรูปแบบของเงินเดือน เงินปันผล เงินบำเหน็จกรรมการ และอื่น ๆ นอกจากบริษัทข้าวไทยแล้ว ก็ยังมีบริษัทไทยเดินเรือทะเล บริษัทไทยเศรษฐกิจประกันภัยและธนาคารมณฑลที่คณะราษฎรได้ก่อตั้งขึ้นมา กิจการทั้งหลายมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันภายใต้วัตถุประสงค์เดียวกันคือเพื่อทำธุรกิจ ซึ่งถ้าหากพิจารณาเรื่องและพฤติกรรมที่เกิดขึ้นในบริบทปัจจุบันก็จะพบว่า ไม่ว่าจะเป็นการทำกิจการโดยนำเงินของรัฐมาเป็นทุนในการดำเนินงาน แต่เมื่อได้ประโยชน์ก็แบ่งปันกันการแต่งตั้งคนใกล้ชิดเข้าไปทำงาน ล้วนแล้วแต่เป็นการทุจริตคอร์รัปชันทั้งสิ้น
       การรัฐประหารในปี พ.ศ. 2490 เป็นการรัฐประหารครั้งแรกที่มีการนำเอาเรื่องของการทุจริต คอร์รัปชันมาเป็น “เหตุที่ใช้ในการรัฐประหาร” โดยก่อนช่วงเวลาดังกล่าว เกิดการทุจริตคอร์รัปชันในระบบราชการ มีการนำเงินไปซื้อจอบเสียมแจกให้ราษฎรที่ทำการเกษตร แต่จอบเสียมเหล่านั้นไม่ได้มาตรฐาน จึงกลายเป็นที่มาของคำว่า “กินจอบกินเสียม” ต่อมาในสมัยจอมพลสฤษฎ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี การทุจริตคอร์รัปชันกลายมาเป็นเรื่องใหญ่ระดับประเทศ เพราะเมื่อพิจารณาจากพินัยกรรมของจอมพลสฤษฎ์ฯ ที่เขียนเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2503 ที่กล่าวว่าให้แบ่งเงินให้ทายาท 2 คน คนละ 1 ล้านบาท ในกรณีที่เมื่อจอมพลสฤษฎ์ฯ ถึงแก่กรรมแล้วมีเงินเกิน 10 ล้านบาท แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงใน 3 ปีต่อมา เมื่อจอมพลสฤษฎ์ฯ ถึงแก่กรรมและมีการตรวจสอบทรัพย์สินจอมพลสฤษฎ์ฯ ก็พบว่าจอมพลสฤษฎ์ฯ มีทรัพย์สินสูงถึง 2,800 ล้านบาท รัฐบาลในขณะนั้นจึงทำการยึดทรัพย์จอมพลสฤษฎ์ฯ ต่อมาก็เกิดการยึดทรัพย์จอมพลถนอม กิตติขจร และเครือญาติอีกกว่า 400 ล้านบาท จากนั้นเกิดการยึดทรัพย์นักการเมืองจำนวน 13 คนหลังการรัฐประหารในปี พ.ศ. 2534 แต่ในครั้งหลังนี้ นักการเมืองกลับหลุดรอดไปได้อย่างไม่น่าเชื่อเพราะศาลฎีกามีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งยึดทรัพย์ของคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน โดยให้เหตุผล “ด้านกฎหมายเอกชน” ว่า ....จึงเป็นการออกและใช้กฎหมายที่มีโทษในทางอาญาย้อนหลังไปลงโทษแก่ผู้ร้อง ซึ่งรัฐธรรมนูญทุกฉบับมีบทบัญญัติห้ามออกกฎหมายที่มีโทษทางอาญาให้มีผลย้อนหลัง เพื่อคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน อันถือได้ว่าเป็นประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอีกประการหนึ่งด้วย...... ล่าสุด ก็อย่างที่ทราบกัน คือ การยึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เมื่อต้นปี พ.ศ. 2553 ที่ผ่านมา
       การยึดทรัพย์ที่กล่าวมาแล้วเป็นส่วนหนึ่งของกลไกในการตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชันนักการเมืองระดับสูง แต่ในส่วนของการทุจริตคอร์รัปชันในภาครัฐ ก็ไม่ใช่ว่าภาครัฐเองไม่สนใจที่จะแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันในระดับข้าราชการประจำที่เกิดขึ้น ที่ผ่านมา มีความพยายามอย่างมากดังจะเห็นได้จากการตั้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ (ป.ป.ป.) ในปี พ.ศ. 2518 การจัดทำรัฐธรรมนูญในปี พ.ศ. 2540 ที่สร้างกลไกการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐเอาไว้อย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการตั้งคณะกรรมการ ป.ป.ช. ค.ต.ง. ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง รวมไปถึงการแก้ไขกฎหมาย ป.ป.ช. ครั้งล่าสุดเมื่อต้นปี พ.ศ. 2554 ที่ผ่านมา เพื่อกำหนดมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตเอาไว้อย่างมาก ดังที่ผมได้นำมาเขียนเอาไว้แล้วในบทบรรณาธิการครั้งที่ 261 และ 262 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของความพยายามที่จะแก้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันที่เกิดจากการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานของรัฐเพราะในวันหนึ่ง ๆ นั้นมีการจัดซื้อจัดจ้างเกิดขึ้นเป็นจำนวนมากในการปฏิบัติงานของหน่วยงานของรัฐ การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐมีจำนวนมากและมีวงเงินที่สูงมากจึงกลายเป็นสิ่งที่ “หอมหวาน” สำหรับผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย การจัดซื้อจัดจ้างอยู่ภายใต้การแข่งขันของภาคเอกชนเพื่อให้ได้เข้ามาเป็นคู่สัญญากับภาครัฐ การทุจริตคอร์รัปชันจึงเกิดขึ้น การแข่งขันกันของภาคเอกชนในเรื่องของการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐจึงเป็นการแข่งขันที่ “รุนแรง” และเป็นบ่อเกิด “ขนาดใหญ่” ของการทุจริตคอร์รัปชันในประเทศไทยในช่วงเวลาที่ผ่านมา ซึ่งก็เป็นที่ทราบกันดีอยู่ทั่วไปว่า “ไม่จ่าย” ก็ “ไม่ได้งาน” ที่ผ่านมาก็มักเกิดการโทษกันไปโทษกันมาระหว่างนักการเมืองและข้าราชการประจำกับภาคเอกชน ฝ่ายหนึ่งก็อ้างว่าอีกฝ่ายหนึ่งเรียกผลประโยชน์ ในขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งก็บอกว่า มีการเสนอผลประโยชน์ให้กับตนเอง เป็นต้น แต่รวมความแล้ว ในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐมีบางส่วนที่เกิดการทุจริตขึ้น หาไม่แล้วภาคเอกชนคงไม่ออกมารณรงค์ให้ต่อต้านการคอร์รัปชันเป็นแน่
       ผมมองการออกมาต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันของภาคเอกชนด้วยความสนใจว่า จะเดินไปทางไหน ในตอนต้น ทราบว่าจะมีการทำแผนแม่บทและแผนปฏิบัติการต่อต้านการคอร์รัปชัน แต่ต่อมาก็เห็นออกมาให้ข่าวอยู่ประปรายที่ไม่ค่อยจะ “ตรงประเด็น” ของทั้งการป้องกันและการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันเท่าไรนัก เช่น การแถลงข่าวโดยใส่เสื้อยืดสัญลักษณ์ การใส่ wristband รวมไปถึงการเดินการวิ่งเพื่อต่อต้านคอร์รัปชัน สิ่งที่เกิดขึ้นมีลักษณะเป็นการดำเนินการเชิงสัญลักษณ์เสียมากกว่า ในขณะที่เมื่อผมได้ทราบข่าวว่าภาคเอกชนเข้ามารณรงค์เรื่องการต่อต้านคอร์รัปชันนั้น ผมนึกว่าคงสนุกแน่เพราะอย่างน้อยภาคเอกชนที่เคยต้อง “จ่าย” ให้กับใครไปก็น่าจะออกมา “แฉ” เพื่อให้เกิดการดำเนินการทางกฎหมายกับบุคคลเหล่านั้น หรือไม่ก็หากทราบว่า ภาคเอกชนคู่แข่งรายใด “จ่าย” ให้ใครเพื่อให้ตนเอง “ได้งาน” จากภาครัฐแล้วทำให้ภาคเอกชนรายอื่นไม่ได้ ก็ควรที่จะออกมา “แฉ” เช่นเดียวกัน หรือถ้าหาก “ไม่กล้า” ก็อาจจะทำการ “แฉ” ที่ไม่ต้องถึงขนาดระบุชื่อคนหรือหน่วยงานก็ได้หากไม่มีหลักฐานหรือไม่มีใบเสร็จ แต่เป็นการให้ข้อมูลเชิงลึกกับประชาชนว่า ภาคเอกชนเจอกับอะไรไปบ้างกว่าจะได้งานจากภาครัฐมาทำ จริงอยู่ที่แม้ภาคเอกชนเองจะเป็นส่วนสำคัญของการกระทำความผิด แต่หากภาคเอกชนต้องการกลับใจ หรือกลับเนื้อกลับตัวจริง ๆ ก็สามารถทำได้เพราะการให้ข้อมูลที่หน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐทุจริตต่อสาธารณชนย่อมส่งผลให้หน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เคยมีพฤติกรรมในด้านการทุจริตคอร์รัปชันต้องหยุดคิดทบทวนดูใหม่ว่า จะยังมีพฤติกรรมเช่นนั้นต่อไปหรือไม่ เพื่อช่วยเหลือประเทศชาติ และเพื่อให้การใช้ภาษีอากรเป็นไปอย่างคุ้มค่าที่สุด ภาคเอกชนที่เข้ามาร่วมกันต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันจึงควรต้องช่วยกันให้ข้อมูลแก่สาธารณชนว่า ที่ผ่านมาในโครงการใดบ้างที่คุณทำมาค้าขายกับหน่วยงานใดทำให้คุณต้องเสียค่าน้ำร้อนน้ำชาไปเท่าไร ต้นทุนในการดำเนินงานของคุณเท่าไร ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการจริง ๆ เท่าไร และผลจากการที่คุณต้องจ่ายเงินให้กับหน่วยงานของรัฐ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐทำให้ประชาชนต้องเสียค่าบริการแพงขึ้นไปอีกเท่าไรหรือสูญเสียภาษีอากรไปมากกว่าเดิมอีกเท่าไร ข้อมูลเหล่านี้ภาคเอกชนควรนำเสนอให้ประชาชนได้รับทราบ จากนั้นก็พยายามชักชวนภาคเอกชนรายใหญ่ให้เข้ามาร่วม “แฉ” ข้อมูลประเภทเดียวกันให้ประชาชนทราบ ทำอย่างนี้ไม่กี่รายหน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เคย “เรียก” ก็จะต้องค่อย ๆ “เลิก” ทำการทุจริตคอร์รัปชันไปในที่สุด
       นอกจากนี้แล้ว ความเห็นส่วนตัวที่คิดว่าภาคเอกชนควรต้องเริ่มทำเป็นลำดับแรกก็คือ การ “ปัดกวาด” บ้านของตัวเองให้สะอาดด้วยการทำให้คนใกล้ชิดกับตนเองหยุดการทุจริตคอร์รัปชันให้ได้เสียก่อน คนใกล้ชิดในที่นี้อาจเป็นบริษัทในเครือ บริษัทที่เกี่ยวข้อง บริษัทของเพื่อนฝูง หรือแม้กระทั่งอาจเป็น “เครือญาติ” ที่ชอบ “รับ” หรือ “จ่าย” ก็ได้ครับ เมื่อทำการ “ปัดกวาด” บ้านตัวเองสะอาดเรียบร้อยแล้วจึงค่อยออกมา “ปัดกวาด” ประเทศด้วยการนำเสนอข้อมูลของการทุจริตคอร์รัปชันที่เกิดขึ้นกับตน หรือที่ทำให้ตนต้องหมดโอกาสเข้าทำงานกับภาครัฐออกมาเล่าสู่กันฟัง อย่างน้อยก็จะทำให้การดำเนินการต่อต้านการคอร์รัปชันของภาคเอกชนเปลี่ยนจากการดำเนินการในเชิงสัญลักษณ์ให้เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น
       นอกจากนี้แล้ว ก็ควรจะต้องหาหนทางดึงเอาภาคเอกชนรายอื่น ๆ มาเข้าร่วมให้ได้มากที่สุด เพราะมิเช่นนั้นแล้ว ในที่สุด เพื่อความอยู่รอดของธุรกิจ ภาคเอกชนอื่น ๆ ก็จะฉวยโอกาสที่จะได้งานโดยไม่ต้องแข่งขันกันมากเพราะมีภาคเอกชนบางส่วน “หยุดจ่าย” ครับ
       ลำพังการแถลงข่าว ไขว้มือถ่ายรูป ใส่เสื้อยืดหรือ wristband คงไม่สามารถป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันได้ครับ
       หลังจากที่รอคอยกันมานาน หนังสือ "รวมบทความกฎหมายมหาชนจาก www.pub-law.net เล่ม 10" ก็พร้อมที่จะแจกจ่ายให้กับผู้ใช้บริการ www.pub-law.net ดังเช่นที่ผ่านมาทุกปีครับ กติกาในการแจกยังเหมือนเดิม ขอให้ผู้ประสงค์จะได้หนังสือหนา 512 หน้า กรุณานำซองเปล่าขนาด A4 ติดแสตมป์จำนวน 25 บาทจ่าหน้าซองถึงตนเอง พร้อมแนบสำเนาบัตรแสดงตน (บัตรข้าราชการ บัตรนิสิตนักศึกษา) เพื่อแสดงตัวตนของผู้ขอ และจดหมายขอบคุณเลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญที่ได้จัดพิมพ์หนังสือรวมบทความฯ เล่ม 10 เพื่อแจกจ่าย ส่งมาที่ ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถนนพญาไท เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330
       
       นอกจากนี้แล้ว เนื่องในโอกาสครบรอบ 10 ปี ของ www.pub-law.net สมาคมกฎหมายมหาชนแห่งประเทศไทยได้สนับสนุนการจัดพิมพ์บทบรรณาธิการที่ผมได้เขียนตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมาเพื่อแจกจ่าย โดยหนังสือ “รวมบทบรรณาธิการจากเว็บไซต์ www.pub-law.net” ทั้งชุดประกอบด้วยหนังสือรวม 3 เล่ม แต่อย่างไรก็ตาม เนื่องจากงบประมาณในการดำเนินการจัดพิมพ์มีอยู่ค่อนข้างจำกัดจึงทำให้สามารถจัดพิมพ์ได้ไม่กี่ชุด ผมจึงได้มอบหนังสือดังกล่าวให้กับผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือจำนวนหนึ่งและมอบให้ห้องสมุดนิติศาสตร์ในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทำให้ในตอนนี้ มีหนังสือ “รวมบทบรรณาธิการจากเว็บไซต์ www.pub-law.net” ที่สามารถแจกให้กับผู้ใช้บริการได้เพียง 30 ชุดเท่านั้น ใครสนใจกรุณาติดต่อขอรับได้โดยตรงที่หมายเลข 02 - 2182017 ต่อ 213 ในวันและเวลาราชการครับ
       
       ในสัปดาห์นี้ เรามีบทความมานำเสนอ 6 บทความ บทความแรกเป็นของ ดร.คนใหม่ล่าสุดของสำนักงานศาลปกครองที่ว่ากันว่าเก่งเหลือเกิน เก่งระดับที่บรรดาบรมครูทั้งหลายควรต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษ ดร.ปาลีรัฐ ศรีวรรณพฤกษ์ ได้ส่งบทความ เรื่อง “บันทึก เรื่อง หลักกฎหมายปกครองทั่วไป” มาร่วมกับเราครับ บทความที่สองเป็นบทความของอาจารย์ ดร.พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย แห่งคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ที่เขียนเรื่อง “วิวัฒนาการของหลักนิติรัฐโดยสังเขป: กรณีประเทศเยอรมันและประเทศฝรั่งเศส”  บทความที่สาม เป็นบทความของ คุณวีรพัฒน์ ปริยวงศ์ นักกฎหมายอิสระ ที่เขียนเรื่อง “ล้างไม่ล้างรัฐประหาร: ๓ ปุจฉา ถึง ๓๐ อาจารย์” บทความที่สี่ เป็นบทความเรื่อง “กรณีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำพิพากษาลงโทษจำคุก พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร 2 ปี ต่อมาศาลแพ่งพิพากษาให้การซื้อขายที่ดินที่รัชดาภิเษกเป็นโมฆะ กรณีนี้ จะขอรื้อฟื้นคดีขึ้นมาพิจารณาใหม่ไม่ได้” ที่เขียนโดย คุณเฉลิมพล สุมโนพรหม นักศึกษาปริญญาเอก สาขานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง บทความที่ห้า เป็นบทความเรื่อง “ความสับสนและมืดมนในศาลรัฐธรรมนูญ” ที่เขียนโดย คุณกนก แสงวิทยา นักกฎหมายภาครัฐ และบทความสุดท้าย เป็นบทความของ คุณธีรพัฒน์ อังศุชวาล นักศึกษาปริญญาตรีชั้นปีที่ 3 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่เขียนเรื่อง “องค์การมหาชน : ผลผลิตจากการปฏิรูประบบราชการตามแผนแม่บทการปฏิรูประบบราชการ (พ.ศ. 2540-2544)” ผมขอขอบคุณเจ้าของบทความทั้งหกบทความไว้ ณ ที่นี้ครับ
       
       พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 24 ตุลาคม 2554
       ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์


พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=1643
เวลา 22 พฤศจิกายน 2567 12:28 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)