ความสับสนและมืดมนในศาลรัฐธรรมนูญ

9 ตุลาคม 2554 18:35 น.

       การที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญแจ้งผลการประชุมและเลือกกันเองของตุลาการศาลรัฐธรรมนูนเป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญคนใหม่เมื่อวันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๕๔ ให้ประธานวุฒิสภาทราบ เพื่อดำเนินการทูลเกล้าฯ แต่งตั้งประธานศาลรัฐธรรมนูญคนใหม่ต่อไป มีปัญหาเกิดขึ้นว่า ประธานศาลรัฐธรรมนูญคนเก่าได้ลาออกจากตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญแล้วตามที่เป็นข่าวในสื่อมวลชนภายหลังจากการประชุมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญใหม่ ๆ หรือว่าประธานศาลรัฐธรรมนูญคนเก่าขอพ้นจากตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญ แต่ยังคงดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญต่อไปจนกว่าจะครบวาระตามที่มีรายงานข่าวในภายหลัง  และไม่ว่าการออกจากตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญคนเก่าเกิดจากเหตุใดเหตุหนึ่งในสองเหตุดังกล่าว จะมีผลทางกฎหมายอย่างไร  เป็นเรื่องที่น่าพิจารณาเป็นอย่างยิ่ง
        
       กรณีลาออกจากตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญ
        
                   กรณีนี้มีความเห็นมากมายมาแล้ว ซึ่งสรุปได้ว่า ส่วนใหญ่เห็นว่า หากประธานศาลรัฐธรรมนูญลาออกจากตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญ ก็ต้องพ้นจากตำแหน่งในศาลรัฐธรรมนูญ และที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาจะต้องเลือกผู้พิพากษาในศาลฎีกาซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาศาลฎีกา ไปแทน ตามรัฐธรรมนูญปี ๒๕๕๐ มาตรา ๒๐๙ วรรคหนึ่ง (๓) และมาตรา ๒๑๐ วรรคสอง (๑) เนื่องจากประธานศาลรัฐธรรมนูญที่ลาออกเดิมเป็นผู้ซึ่งไปจากการเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา
        
       กรณีขอพ้นจากตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญแต่ยังคงดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญต่อไป
        
                 กรณีนี้ยังไม่มีผู้ให้ความเห็นมาก่อน เพราะเพิ่งจะปรากฏจากรายงานข่าวเมื่อเร็ว ๆ นี้ เนื่องจากสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาสงสัยว่า เหตุใดหนังสือที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญส่งไปให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาเพื่อให้ประธานวุฒิสภาทูลเกล้าฯ แต่งตั้งประธานศาลรัฐธรรมนูญคนใหม่ จึงไม่มีหนังสือลาออกจากตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญ หรือเขียนถ้อยตามรัฐธรรมนูญขอพ้นจากตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญ  มีแต่เขียนมาว่า ขอสลับตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญเท่านั้น 
                 รายงานข่าวครั้งนี้ไม่ตรงกับข่าวในสื่อมวลชนหลายฉบับในวันที่มีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแถลงผลการประชุมของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ ๑๐ สิงหาคม ๒๕๕๔ ว่า ”การลาออกของนายชัชไม่ได้เกิดจากการทวงสัญญา หรือถูกกดดันจากกรณีนายพสิษฐ์ อดีตเลขานุการประธานศาลรัฐธรรมนูญ นำคลิปลับการประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับคดียุบพรรคไปเผยแพร่จนเกิดความเสื่อมเสียกับองค์กร...” การค้นหาความจริงในเรื่องนี้คงต้องดำเนินการต่อไปเพื่อให้เกิดความกระจ่าง ไม่สร้างความสับสนแก่สาธารณชน        
       อย่างไรก็ตาม  หากกรณีเป็นไปตามรายงานข่าวครั้งหลังนี้ กล่าวคือ ไม่มีการลาออกจากตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญ  คงมีแต่การขอพ้นจากตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญจริง จะมีผลทางกฎหมายอย่างไร
                 ตามรัฐธรรมนูญปี ๒๕๕๐ การพ้นจากตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีได้ใน ๒ กรณี คือ การพ้นจากตำแหน่งตามวาระตามมาตรา ๒๐๘ และการพ้นจากตำแหน่งนอกจากตามวาระตามมาตรา ๒๐๙ เช่น ตาย มีอายุครบ ๗๐ ปีบริบูรณ์ และลาออก  ไม่มีกรณีที่พ้นจากตำแหน่งโดยไม่ได้ลาออก  การขอพ้นจากตำแหน่งโดยไม่ได้ลาออกจึงไม่อาจกระทำได้  กรณีที่เกิดขึ้นเข้าลักษณะการโยกย้ายของผู้พิพากษาศาลยุติธรรมและตุลาการศาลปกครอง  แต่รัฐธรรมนูญไม่ได้ออกแบบมาให้ประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญสามารถโยกย้ายสลับหน้าที่กันได้ โดยมิพักต้องพิจารณาปัญหาว่า  มีความเหมาะสมเพียงใดที่ผู้ซึ่งเดิมดำรงตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญ แต่ลงมาดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญภายหลัง  การดำเนินการของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญครั้งนี้จึงไม่ชอบด้วยด้วยรัฐธรรมนูญ.


พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=1642
เวลา 22 พฤศจิกายน 2567 17:05 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)