ล้างไม่ล้างรัฐประหาร: ๓ ปุจฉา ถึง ๓๐ อาจารย์

9 ตุลาคม 2554 18:36 น.

       ผู้เขียนนับถืออาจารย์นิติศาสตร์ ๒๓ ท่าน ที่แสดงบทบาททางวิชาการ “เห็นต่าง” กับ ข้อเสนอ “คณะนิติราษฎร์” ( http://bit.ly/pED5v8 ) ซึ่งไม่ใช่ครั้งแรกที่มีอาจารย์ปะทะอาจารย์ ตัวอย่างในอดีต โปรดดู http://bit.ly/q0tcX6
        
       ผู้ที่น่าจะดีใจที่สุดตอนนี้ เห็นจะเป็น “คณะนิติราษฎร์” เสียเองที่จุดกระแสได้แรงเกินคาด ส่วนอาจารย์นิติศาสตร์ที่เหลือโดยเฉพาะที่รับเงินเดือนจากประชาชน หากท่านจะร่วมคิดบ้างก็คงดีไม่น้อย
        
       ผู้เขียนอ่านแถลงการณ์ของอาจารย์ทั้ง ๒๓ ท่าน รู้สึกทันทีว่าเป็นคำเตือนของผู้หวังดี แต่น่าเสียดายที่ไม่ได้เพิ่มมิติทางความคิดให้กับสังคมมากเท่าที่ผู้เขียนคาดหวัง โดยเฉพาะส่วนที่ติงนิติราษฎร์ว่า
        
       “ละเลยการกล่าวและวิพากษ์ถึงเหตุปัจจัยหรือบริบททางสังคมสืบเนื่องก่อนการรัฐประหารอันเป็นต้นเหตุของความเลวร้ายที่แท้จริง คือ พฤติกรรมของนักการเมืองในอดีตก่อนการรัฐประหาร เป็นเผด็จการรัฐสภา มีการทุจริตคอรัปชั่นอย่างกว้างขวาง และแทรกแซงองค์กรตรวจสอบและกระบวนการยุติธรรม ทำให้ไม่สามารถที่จะแก้ไขปัญหาความไม่ชอบธรรมดังกล่าว ด้วยกระบวนการปกติตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายต่างๆ ได้  อันเป็นการทำลายหลักนิติธรรมและหลักประชาธิปไตย”
        
       เมื่ออาจารย์ทั้ง ๒๓ ได้กรุณาเตือนนิติราษฎร์ทั้ง ๗ โดยยกพระอภิธรรมอ้างถึง “เหตุปัจจัย” ของปัญหา ผู้เขียนจะขอน้อมเสนอปุจฉาวิสัชชนา ๓ ข้อ สำหรับทั้ง ๓๐ อาจารย์และญาติมิตรทั้งหลาย ดังนี้
        
       ข้อที่ ๑: จริงหรือไม่ว่า  “ระบอบทักษิณ” อาจเกลียดนิติราษฎร์
        
       การถกเถียงแทบทั้งหมดที่ผ่านมา ดูเป็นการต่อสู้ระหว่างฝ่ายที่ปฏิเสธ “ลัทธิรัฐประหาร” กับอีกฝ่ายที่เกลียดชัง “ระบอบทักษิณ” ที่จำใจยอมรับ “ลัทธิรัฐประหาร” เพื่อโค่น “ระบอบทักษิณ” เพราะฝ่ายตนมองว่า “ระบอบทักษิณ” เป็นภัยต่อประชาธิปไตยไทยยิ่งกว่า “ลัทธิรัฐประหาร” เสียอีก
        
       ในบทความนี้ผู้เขียนย้ำว่าตนไม่จำเป็นต้องตัดสินว่า “ระบอบทักษิณ”  มีจริงหรือไม่และชั่วร้ายจริงหรือไม่ แต่ผู้เขียนจะสมมติ (arguendo) ว่าหาก “ระบอบทักษิณ” มีและชั่วร้ายตามที่หลายคนว่าจริง (ไม่ว่าแต่ละคนจะให้นิยามว่าอย่างไร) “ระบอบทักษิณ” ที่ว่านั้นย่อมไม่ต้องการให้ข้อเสนอของนิติราษฎร์เกิดขึ้น เพราะหากล้างผลคำพิพากษาจาก “ลัทธิรัฐประหาร” (ซึ่งวันนี้ “ระบอบทักษิณ” อ้างได้เต็มปากว่าไม่ชอบธรรมหรือเป็นเผด็จการ ฯลฯ) แล้วไซร้ ข้อเสนอนิติราษฎร์ก็จะนำภัยมาสู่ “ระบอบทักษิณ” ที่ร้ายแรงยิ่งขึ้นไปอีก
        
       กล่าวคือ นิติราษฎร์เสนอให้ล้มล้างระบอบคำพิพากษาที่รับลัทธิรัฐประหาร และกล่าวในแถลงการณ์ ข้อ ๕ ว่า “หากจะเริ่มดำเนินคดีกับบุคคลดังกล่าวใหม่ก็สามารถกระทำไปตามกระบวนการทางกฎหมายปกติได้” 
        
       แม้นิติราษฎร์ใช้ถ้อยคำหลวม แต่การประกันว่า “ระบอบทักษิณ” จะต้องถูกตรวจสอบว่าผิดหรือไม่อีกรอบนั้น นอกจากควรถูกบังคับตามกฎหมายแล้ว ยังเป็นเงื่อนไขบังคับทางข้อเท็จจริงที่เลี่ยงไม่ได้ กล่าวคือ หากไม่สามารถวางหลักประกันดังกล่าว กลุ่มอำนาจที่ต้าน “ระบอบทักษิณ” ก็จะไม่มีทางยอมให้ล้าง “ลัทธิรัฐประหาร” ได้ หากดูให้ดีจะพบว่าบัดนี้เกิดช่องทางให้ฝ่ายไม่เอา “ลัทธิรัฐประหาร” และฝ่ายไม่เอา “ระบอบทักษิณ” ร่วมมือกันให้สมประโยชน์ทั้งสองฝ่าย
        
       กล่าวคือ หาวิธีรวมพลังบังคับ “ระบอบทักษิณ” กลับเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมในยามปกติ และหาก “ระบอบทักษิณ” (ที่เชื่อกันว่าชั่วร้ายอย่างชัดแจ้ง) ได้ถูกตัดสินว่าผิดซ้ำอีกรอบ ย่อมเป็นการปิดฝาโลง “ระบอบทักษิณ” ถาวรว่าไม่ต้องมาอ้างอีกแล้วว่าถูกกลั่นแกล้ง ไม่ต้องมาอ้างอีกแล้วว่าจะไม่รับโทษเพราะคำพิพากษาที่ไม่ยุติธรรม ฯลฯ แต่หาก “ระบอบทักษิณ” ไม่มีอยู่หรือไม่ได้ชั่วร้ายผิดกฎหมาย ก็มิต้องกังวลอะไร
        
       ในทางตรงกันข้าม หากไม่มีข้อเสนอนิติราษฎร์ หนทางสู่ “การนิรโทษกรรม” ในคราบการปรองดองด้วยอำนาจในสภาของ “ระบอบทักษิณ” (arguendo) ก็จะคล่องสะดวก อาจเข้าสู่ระบอบ “เกี้ยเซี้ย” ระหว่างที่ผู้มีอำนาจ ไม่มีใครถูก ไม่มีใครผิด ยอมๆ กันไป หรือยิ่งกว่านั้นคือ “ระบอบทักษิณ” ล่อให้รัฐประหารอีกรอบเพื่อสวนหมัดล้มเสี้ยนหนามให้เด็ดขาด ส่วนประชาชนที่ล้มตายจากการชุมนุม หรือที่อดอยากจากการโกงกิน ก็แค่ไปเลือกตั้งใหม่ครั้งต่อไปตามที่เทวดาท่านใคร่ให้ไปเวียนว่ายในนรกตามเดิม
        
       ดังนั้น ประชาชนคนไทยที่รับไม่ได้กับ “ระบอบทักษิณ”  แทนที่จะต่อต้านข้อเสนอนิติราษฎร์ อาจลองมาคิดอีกมุมว่า จะทำอย่างไรให้ข้อเสนอนิติราษฎร์กลายเป็นเครื่องมือจัดการกับ “ระบอบทักษิณ” ได้ดีขึ้น จะเข้าท่ากว่าหรือไม่!?
        
       ข้อที่ ๒: จริงหรือไม่ว่า ผู้ไม่เห็นด้วยกับนิติราษฎร์ ไม่ได้แปลว่าต้องยอมรับรัฐประหาร
        
       ข้อเสนอกลุ่มนิติราษฎร์มีลักษณะกล้าหาญและน่านับถือ และถูกต้องแล้วที่ทางนิติราษฎร์กล่าวว่าเป็นข้อเสนอเชิงหลักการให้นำไปถกเถียงกันต่อ แต่พึงระวังว่าผู้ใดจะเห็นด้วยกับนิติราษฎร์โดยทันทีหรือไม่นั้น โดยตรรกะแล้วไม่ได้ตัดสินว่าผู้นั้นเห็นด้วยกับการรัฐประหารหรือไม่ 
        
       ที่กล่าวทำนองว่า หากท่านไม่เห็นด้วยกับเรา ก็แสดงว่าท่านเห็นด้วยกับรัฐประหาร นอกจากจะเป็นตรรกะที่ผิดเพี้ยนและขาดความเยือกเย็นทางวิชาการ ยังส่งผลร้ายแบ่งฝ่ายว่าการต่อสู้กับ “ลัทธิรัฐประหาร” จะมีเฉพาะฝ่ายเห็นด้วย กับฝ่ายไม่เห็นด้วยกับนิติราษฎร์ ซึ่งอาจเป็นการทำลายพันธมิตรจำเป็นของนิติราษฎร์เสียเอง
        
       สมาชิกกลุ่มนิติราษฎร์ท่านหนึ่งที่กล่าวในการแถลงว่า ตนนั้นแม้จะไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร แต่ในคืนวันที่ ๑๙ กันยายน ตนก็มิได้ออกไปต่อสู้กับรถถัง เพราะรู้ว่าสู้ตอนนั้นย่อมสู้ไม่ได้ แต่บัดนี้ถึงเวลาแล้วที่ต้องแก้สิ่งที่ผิดให้กลับมาถูก ซึ่งผู้เขียนก็เห็นด้วยกับตรรกะดังกล่าว คือ การต่อสู้ใดๆ ไม่ได้อยู่แค่ที่หลักการ แต่ต้องอยู่ที่จังหวะและโอกาส การยอมจำนนใน “สนามรบ” เพื่อเก็บโอกาสไปชนะใน “สงคราม” ไม่ใช่เรื่องแปลก
        
       ฉันใดก็ฉันนั้น ผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับนิติราษฎร์ทันที ไม่ใช่ว่าไม่ต้องการสู้ “สงคราม” เดียวกันเคียงข้างนิติราษฎร์ เพียงแต่อาจยังไม่แน่ใจใน “สนามรบ” เฉพาะหน้า ว่าสบโอกาสให้ชนะ “สงคราม” ได้หรือไม่ เช่น
        
       - หลักประกันการตรวจสอบ “ระบอบทักษิณ” หลังการลบล้างคำพิพากษานั้น มั่นคงชัดเจนเพียงใดที่จะไม่กลายเป็นช่องโอกาสในการล้างผิดหรือลอยนวลอันอาจนำไปสู่ความขัดแย้งรุนแรงอีกรอบ?
       - จังหวะเวลาของกระบวนการปรองดองที่เน้นการค้นหาความจริงและเยียวยาผู้เสียหายที่ดำเนินการอยู่นั้น จะถูกกระทบหรือไม่อย่างไร?
       - ขุมพลังทางอำนาจและปัญญาอันจำเป็นต่อการปฏิรูปสถาบันทหารและสถาบันตุลาการนั้นมีเพียงพอแล้วหรือไม่ และเสี่ยงต่อการถูกตอบโต้ (backlash) โดยสถาบันตัวแทนอำนาจเหล่านี้หรือไม่อย่างไร?
       - แม้ผู้เขียนจะไม่ใช่นักเศรษฐศาสตร์หรือนักประวัติศาสตร์ แต่ก็อดสงสัยไม่ได้ว่าเงื่อนไขและจังหวะในการเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมายเพื่อล้าง “ลัทธิรัฐประหาร” นี้ สอดรับกับปัญหาเศรษฐกิจโลกหรือการสืบราชบัลลังก์หรือไม่อย่างไร?
        
        ฯลฯ
        
       กล่าวอีกทางก็คือ ข้อเสนอนี้สุกงอมด้วย สาระ วาระและโอกาสเพียงใดที่จะไม่ถูกฉวยไปใช้เป็นดาบสองคมที่ทิ่มแทงทหารกล้าผู้ตีดาบขึ้นเสียเอง!
        
       ผู้สนับสนุนนิติราษฎร์โปรดมีกำลังใจเถิดว่า ยังมีประชาชนอีกมากที่ไม่ยอมรับ “ลัทธิรัฐประหาร” และพร้อมจะสู้สงครามเคียงข้างท่านเพื่อทำลายกรงขังทางความคิด แต่กรงนี้ไม่ได้มีเพียงชั้นเดียว และประตูกรงก็อาจมีหลายประตู หากรีบออกผิดช่อง ก็อาจไปติดในอีกชั้นที่ออกยากขึ้น
        
       ภารกิจสำคัญของสังคมไทยตอนนี้คือการเปิดกว้างและประคับประคองขัดเกลาข้อเสนอนิติราษฎร์ให้ตกผลึกและรอบด้านยิ่งขึ้น มีพันธมิตรยิ่งขึ้น ที่สำคัญ ผู้สนับสนุนนิติราษฎร์จะต้องไม่กลายมาเป็นอุปสรรคเสียเอง ไม่ว่าโดยการตะเบ็งน้ำเสียงแห่งเหตุผลจนอู้อี้และเหือดแห้ง หรือโดยถือตัวบ่มเพาะความหมั่นไส้ริษยา  แบ่งฝักแบ่งฝ่าย อันเป็นต้นเหตุที่ทำลายกลุ่มปัญญาชน-พลังประชาชนมาแล้วนักต่อนัก
        
       ดังที่อาจารย์ทั้ง ๒๓ ท่านกล่าวว่า ตนไม่ประสงค์เป็น “เผด็จการทางภูมิปัญญา” นั้น ก็น่าคิดอยู่ว่า เป็นทั้ง “การวินิจฉัยโรค” และ “สำแดงอาการ” ในเวลาเดียวกันหรือไม่!?
        
       ข้อที่ ๓: จริงหรือไม่ว่า “ระบอบทักษิณ” กำเนิดมาจาก “ลัทธิรัฐประหาร”?
        
       ยังมีประชาชนอีกจำนวนมากที่ “ทำใจไม่ได้” (คือคิดไม่ตกผลึก) ว่าจะเลือกทางแก้ปัญหาแบบใด จะแก้แบบผู้ที่ยังไงก็ไม่เอา “ระบอบทักษิณ”หรือจะแก้แบบผู้ที่ยังไงก็ไม่เอา“ลัทธิรัฐประหาร”   
        
       ส่วนผู้รู้ทั้งหลายต่างใช้เวลามานำหลักการและวาทกรรมทั้งปวงมาหักล้างกันว่าทางเลือกของตนนั้นดีกว่าทางเลือกอีกฝ่ายอย่างไร
        
       ผู้เขียนเตือนว่า จงอย่าปล่อยให้ผู้ใดตีกรอบให้เราถูกติดกับทางความคิดดังกล่าว เพราะ “ระบอบทักษิณ” กับ “ลัทธิรัฐประหาร” ไม่ใช่เรื่องที่ต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง! แต่ถ้าชั่วทั้งคู่ ต้องไม่เลือกทั้งคู่!
        
       ผู้เขียนเสนอแนวคิดทางเลือกใหม่ว่า “ระบอบทักษิณ” ไม่ได้ถูกโค่นล้มโดย “ลัทธิรัฐประหาร” อย่างที่หลายคนเข้าใจ ต่ตรงกันข้าม  “ระบอบทักษิณ” ต่างหากที่เป็นผลพวงจาก “ลัทธิรัฐประหาร”! ดังนี้
        
       ในขั้นแรกต้องเข้าใจว่า “ระบอบทักษิณ”  หมายถึงระบอบอำนาจที่อ้างประชาธิปไตยมาโกงกินและทำลายบ้านเมืองไม่ว่ายุคสมัยใด
        
       ผู้เขียนย้ำอีกครั้งว่าบทความนี้ไม่เถียงว่า “ระบอบทักษิณ”  มีจริงและชั่วร้ายจริงหรือไม่ แต่จะสมมติ (arguendo) ว่าหาก “ระบอบทักษิณ” มีและชั่วร้ายตามที่มีการว่าจริง การแก้ปัญหาด้วยรัฐประหารก็ไม่ได้ทำให้ “ระบอบทักษิณ” หายไป เพียงแต่อ่อนแอชั่วครู่แล้วกลับมาแข็งแกร่งกว่าเดิม อาจเปลี่ยนชื่อคน หน้าตา รูปแบบไปตามกาลเวลา
        
       ขั้นต่อมา คืออาศัย “ทฤษฎีกระบวนการทางประชาธิปไตย” วิเคราะห์ว่า“ระบอบทักษิณ” มาจาก “ลัทธิรัฐประหาร” ดังนั้นการปราบ “ระบอบทักษิณ” ก็ต้องปราบที่ “ลัทธิรัฐประหาร”
        
       โดยอธิบายตาม “ทฤษฎีกระบวนการทางประชาธิปไตย” ซึ่งมีหลักการดังนี้
        
       หลักที่ ๑. ประชาธิปไตยเป็นระบอบที่สันนิษฐานว่า เสียงส่วนใหญ่ย่อมตัดสินใจเลือกสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับตนเอง แต่การตัดสินใจของเสียงส่วนใหญ่ ต้องไม่ละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของเสียงส่วนน้อย
        
       หากหลักแรกเป็นจริง คำถามคือ เหตุใดเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนคนไทยจึงได้เลือกผู้แทนและรัฐบาลที่คดโกงและนำมาสู่ “ระบอบทักษิณ” หลายต่อหลายครั้ง ทั้งที่ “ระบอบทักษิณ” (arguendo) ได้โกงกินรวมอำนาจและทำลายประชาธิปไตยอันเป็นภัยต่อเสียงส่วนใหญ่เสียเอง?
        
       คำตอบตื้นเขินที่มักได้ยินก็คือ เพราะเสียงส่วนใหญ่ของประเทศยังโง่เขลาและไร้การศึกษา เข้าไม่ถึงข้อมูลและข้อเท็จจริงที่จะทำให้เขาหล่านั้นเลือกคนดีมาบริหารประเทศ อีกทั้งยากจนแร้นแค้นจนยึดปากท้องตนเองในระยะสั้นเป็นหลัก
        
       หากสมมติ (arguendo) ว่าคำตอบนี้ถูก ก็ถูกได้แค่ครึ่งเดียว เพราะคำตอบที่ครบถ้วนนั้น ต้องอาศัย “ทฤษฎีกระบวนการทางประชาธิปไตย” ซึ่งอธิบายต่อว่า
        
       หลักที่ ๒. แม้เสียงส่วนใหญ่ย่อมตัดสินใจเลือก “สิ่งที่ดีที่สุด” สำหรับตนเอง แต่การจะค้นพบว่า “สิ่งที่ดีที่สุด” คืออะไรนั้น ไม่อาจข้ามขั้นตอนของเวลาและประสบการณ์ทางประชาธิปไตยที่ลองผิดลองถูก ไม่มีใครเกิดมาฉลาดทันทีหรือวิ่งได้โดยไม่เคยล้ม และความล้มเหลวผิดพลาดของตนเอง (โดยไม่มีผู้ใดมาตัดตอนคิดและตัดสินใจแทน) ย่อมเป็นเหตุสำคัญที่จะทำให้เรียนรู้ จำ และ เข้าใจ แม้จะต้องใช้เวลา
        
       เช่น หากรัฐประหารตัดตอนโค่น “ระบอบทักษิณ” เสียงส่วนใหญ่ก็จะยังปักใจยึดมั่นในการตัดสินใจของตน เพราะยังไม่ทันได้ทราบกับตนว่า “ระบอบทักษิณ” ชั่วอย่างไร และยังเพิ่มความชอบธรรมหรือความเห็นใจที่จะเลือก “ระบอบทักษิณ” กลับเข้ามาอีกครั้ง
        
       ส่วน “คนดี” ข้างน้อยไม่อาจต่อสู้กับ “คนไม่ดี” ข้างมากเพราะ“ลัทธิรัฐประหาร”ฝังรากว่าใครมีอำนาจผู้นั้นย่อมชนะคนดีไม่มีอำนาจย่อมไม่อาจสู้ด้วยหลักการหรือกติกาแลก็จำใจเลือกสองอย่างระหว่างเข้าร่วมกับอำนาจที่ชั่วร้ายหรือเลือกที่จะแสวงหาความสุขโดยไม่ยุ่งเกี่ยวกับอำนาจการเมืองจนไม่มีคนดีเหลือให้ประชาชนเลือก
        
       อย่างมากสุดที่คนดีจะทำ ก็คือ เป็นผู้ดีทรงคุณธรรมที่คอยให้คำปรึกษา คอยตัดสินคนอื่น แต่ไม่เคยเสนอตนเป็นตัวเลือก หรือแย่กว่านั้นคือ เสียสละยึดอำนาจไว้ชั่วคราวเพื่อส่งต่อให้รัฐบาลใหม่ แต่จะไม่รับผิดชอบใดๆ ไม่ว่าประเทศชาติจะขัดแย้ง ประชาชนจะล้มตาย หรือ “ระบอบทักษิณ” จะกลับมา
        
       ในทางตรงกันข้าม  หากไม่มี “ลัทธิรัฐประหาร” เข้าแทรก สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือ ความเสียหายจาก “ระบอบทักษิณ” ปรากฏชัดและกระทบถึงคนส่วนใหญ่ในประเทศ (รวมไปผู้ดีทั้งหลายที่ไม่เคยจะคิดทำอะไร) ซึ่งถูกบังคับให้เรียนรู้ ตัดสินใจและมีส่วนร่วมที่ดีขึ้น
        
       กล่าวคือ ประชาชนที่อาจถูกหลอกก็รู้ทันและจับได้ว่าถูก “ระบอบทักษิณ” หลอก ชีวิตความเป็นอยู่ ปัญหาความยากจน และความมั่นคงทางเศรษฐกิจไม่ได้ดีอย่างที่ตนหลงเชื่อ (เว้นแต่ใครจะเถียงว่าคนไทยโง่เง่าสิ้นหวังที่จะเรียนรู้อะไร ซึ่งหากเป็นจริง ประชาธิปไตยก็คงไม่ใช่สิ่งที่เหมาะกับประเทศไทยเท่าไหร่นัก)
        
       ส่วนคนดีคนอื่น (ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายค้าน นักการเมืองหน้าใหม่ หรือแม้แต่คนดีที่แฝงตัวอยู่ในรัฐบาลที่พร้อมจะชิงอำนาจจากหัวหน้า “ระบอบทักษิณ”) ก็จะสบโอกาส ขอแค่เวลาให้ประชาชนเรียนรู้เพื่อเสียบแทนอย่างถูกกติกา
        
       บรรดาผู้ดีที่แสนฉลาดทั้งหลายที่รู้ว่า “ระบอบทักษิณ”  ไม่ดี แต่ก็ไม่คิดจะทำอะไร (เพราะตนมีทุนพอจะรับรัฐประหารได้) ก็จะถูกบังคับให้ปกป้องตนเองโดยการทำให้คนส่วนใหญ่ในประเทศไม่ตัดสินใจผิดอีก (คือถูกบังคับให้สนับสนุนหลักที่ ๓.)
        
       หลักที่ ๓. เมื่อเสียงส่วนใหญ่ในประเทศไม่อาจรู้ว่าสิ่งใดคือสิ่งที่ดีที่สุดในทันที เสียงส่วนใหญ่จึงย่อมไม่อาจออกกฎหมายเพื่อกำหนด “สิ่งที่ดีที่สุด” ได้ กฎหมาย (รัฐธรรมนูญ) จึงต้องมุ่งเป็นเครื่องสนับสนุนกลไกการเรียนรู้และตัดสินใจเพื่อให้เสียงส่วนใหญ่สามารถค้นหาสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับตนเองด้วยตนเอง
        
       เช่น กฎหมายไม่อาจกำหนดลักษณะ “ความดี-ความชั่ว” ของนักการเมืองได้ แต่ต้องแก้ปัญหาโดยการสนับสนุนและคุ้มครอง “กระบวนการการเรียนรู้” ที่เอื้อการตรวจสอบ ทบทวน และตีแผ่ “ความอาจดี-อาจชั่ว” ของนักการเมือง เพื่อให้ผู้เลือกตั้งส่วนใหญ่ตัดสินใจได้ดีขึ้นในครั้งต่อไป
        
       “กระบวนการ” เหล่านี้ย่อมได้แก่ สิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็นหรือประท้วงรัฐบาล สิทธิการเข้าถึงข้อมูลและข่าวสาร สิทธิในการมีวิทยุชุมชน สิทธิในการมีส่วนร่วมและสิทธิทางศาล  ตลอดจนสิทธิในสวัสดิการและการกระจายรายได้ที่เป็นธรรม ฯลฯ
        
       หลักการนี้คือหัวใจของทฤษฎี กล่าวคือ สมมติฐานที่ว่าประชาชนคนไทยไม่ได้โง่เง่าและแผ่นดินไทยย่อมไม่สิ้นพลังความดี (พลังที่ไม่อาศัย “ลัทธิรัฐประหาร”) ที่จะป้องกันไม่ให้เกิดการรวบรัดสถาปนา “ระบอบทักษิณ” อย่างเบ็ดเสร็จต่อเนื่องนานจนประชาชนอดอยากล้มตายหรือชาติล่มสลายได้ และหลักสำคัญที่จะประกันความเชื่อมั่นดังกล่าว ก็คือ การอาศัยกฎหมายที่คุ้มครองและสนับสนุน “กระบวนการการเรียนรู้” ที่กล่าวมานี้เอง
        
       สรุป: การกำจัด “ระบอบทักษิณ” และ “ลัทธิรัฐประหาร” ต้องโค่นที่ “ลัทธิรัฐประหาร”
        
       การละเมิดกระบวนการทางประชาธิปไตยตามหลักทั้งสามข้อที่กล่าวมา (โดย ทหาร ตุลาการ ปัญญาชนผู้ทรงคุณธรรม ฯลฯ) แม้จะหวังดีเพียงใด ก็เป็นการเสริมพลังให้ “ลัทธิรัฐประหาร”  และนำไปสู่ “ระบอบทักษิณ” ในลักษณะวงเวียนที่ผู้มีอำนาจต่อสู้กัน โดยมีประชาชนเป็นต้นทุน คือ
       การละเมิดหลักที่ ๑ เป็นการบังคับว่าเสียงข้างน้อยที่มีอำนาจในมือย่อมไม่ต้องเคารพกฎหมาย คือ หากคนไม่ดีกลุ่มเล็กๆ ได้รับเลือกตั้ง คนไม่ดีก็ย่อมต้องปกป้องตนเองโดยดิ้นรนสร้างตนให้กลายเป็น“ระบอบทักษิณ” เพื่อมีอำนาจรวบรัดเพียงพอที่จะต่อสู้กับ “ระบอบทักษิณถัดไป” หรือผู้ทำรัฐประหารชั่วคราวอย่างไม่สิ้นสุด
        
       การละเมิดหลักที่ ๒ เป็นการตัดตอนกระบวนการเรียนรู้และส่งเสริมให้ประชาชนเลือกคนไม่ดีซ้ำ จน “ระบอบทักษิณ” กลับมา จนแย่ที่สุดผู้คนเกิดความชินชาที่จะเรียนรู้หรือเรียกร้องสิทธิในที่สุด
        
       การละเมิดหลักที่ ๑ และ ๒ ไปเรื่อยๆ เป็นการประกันให้ผู้ดีและมั่งมีในสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายเดียวกันหรือตรงข้ามกับ “ระบอบทักษิณ” มีต้นทุนราคาถูก คือ ฝ่ายตนครองอำนาจสัก ๑๐ ปี แล้วถูกอีกฝ่ายยึดอำนาจไป ก็ไม่ขาดทุนหรือจนลง เพราะยังมีโอกาสยึดอำนาจคืนได้ และไม่มีความจำเป็นที่จะต้องสนับสนุน “กระบวนการเรียนรู้” ของคนที่เหลือในประเทศ เพราะ การกระจายรายได้ หรือเสรีภาพในความคิดเห็นนั้น มีต้นทุนสูงกว่า
        
       ประชาชนที่เหลือก็จะพบกับ “ระบอบทักษิณ” สลับกับ “ลัทธิรัฐประหาร”  ในรูปแบบที่ทันสมัยแปลกตาแต่ต่ำช้าไม่ผันแปร จึงสมแก่โอกาสสำหรับทั้งคนไม่ชอบ “ระบอบทักษิณ”  และ “ลัทธิรัฐประหาร”  ที่จะรวมพลังกัน นำข้อเสนอนิติราษฎร์มาถกเถียงให้ลึกซึ้งและถูกประเด็นมากขึ้น และเน้นที่ “กระบวนการ” มากกว่า “คุณธรรมค่านิยม” เพื่อประชาชนจะได้ชม “ปฏิวัติ” นัดจริงกันเสียที
        
       บทส่งท้าย
        
       ประการแรก บทความนี้เสนอแนวคิดที่ไม่สมบูรณ์แบบบนข้อสันนิษฐานเชิงสมมติ (arguendo) เพื่อเป็นทางเลือกของแนวคิดอื่นที่พูดกันมากแต่ก็ไม่ได้สมบูรณ์แบบเช่นกัน และหากคุณทักษิณหรือใครไม่ใช่ “ระบอบทักษิณ” ที่สมมติ ก็มิพักต้องกังวลในความบริสุทธิ์และความนิยมชมชอบแต่อย่างใด ทั้งนี้ แนวคิดที่เสนอมีฐานจากการศึกษาค้นคว้า ผู้เขียนขอน้อมรับฟังทุกความเห็นไปพัฒนาความคิด ผู้สนใจโปรดดูรายละเอียดเพิ่มที่ Thesis (LL.M.)--Harvard Law School ที่ http://discovery.lib.harvard.edu/?q=verapat และตำราสำคัญชื่อ Democracy and Distrust โดย John Hart Ely
        
        
       ประการที่สอง การแก้ปัญหาประชาธิปไตยต้องเดินหน้าต่อสู้กับสิ่งผิดไม่น้อยไปกว่าการย้อนหลังเพื่อรักษาสิ่งที่ถูก สิ่งที่นิติราษฎร์เสนอนั้นเป็นการกลับไปรักษาสิ่งที่ถูก เพื่อเป็นรากฐานสำหรับการเดินหน้าต่อสู้กับสิ่งผิด แต่มีหลายสิ่งที่ประชาชนคนไทยร่วมกันเดินหน้าต่อสู้กับสิ่งผิดได้แม้ข้อเสนอของนิติราษฎร์จะยังไม่บรรลุ ไม่ว่าจะเป็นการปฏิวัติวัฒนธรรมโดยเริ่มจากการสำรวจข้อบกพร่องของ “ความเป็นไทย” อันเป็นรากฐานของลัทธิอำนาจนิยม รวมไปถึงการปฏิรูปทหารให้ฟังผู้บังคับบัญชาที่มาจากประชาชน และปฏิรูปให้ตุลาการต้องอธิบายกฎหมายให้ประชาชนเข้าใจ ตลอดจนเรียกร้องให้มหาวิทยาลัยรับผิดชอบหน้าที่การนำอภิปราย ศึกษา ค้นคว้าปัญหาอย่างเป็นระบบมากไปกว่าการยิ้มเยาะหรือชินชาต่อกลุ่มอาจารย์เพียงเจ็ดคน
        
       ส่วนการเอาผิดกับผู้ทำรัฐประหารนั้น แม้อาจยังทำไม่ได้ในทางกฎหมาย แต่วันนี้ก็ทำได้ในทางข้อเท็จจริง เช่น ใช้อำนาจนิติบัญญัติ อาศัยช่องทาง อาทิ รัฐธรรมนูญ มาตรา ๕๐ และ ๕๖ จัดให้มีกระบวนการ “ศึกษาและตีแผ่ข้อเท็จจริง” เกี่ยวกับกระบวนการรัฐประหารยึดอำนาจ ตรวจสอบทรัพย์สินหลังการพ้นตำแหน่งและบทบาทผู้ที่เกี่ยวข้องกับการรัฐประหารครั้งล่าสุด โดยแม้ยังไม่มีนัยทางกฎหมายจะลงโทษได้ แต่ผู้กระทำการเหล่านี้จะหลุดพ้นจาก “กระบวนการการจดจำและรับรู้” ของประชาชนไม่ได้ ฯลฯ
        
       ประการสุดท้าย ผู้เขียนจบบทความด้วยความคาดหวังว่าสังคมไทยกำลังก้าวออกจากยุคมืดทางนิติศาสตร์ แม้เรายังขาดนักกฎหมายที่ผสานหลักการและความเป็นจริงพร้อมเชื่อมโยงตนกับประชาชนได้อย่างลงตัว แต่อย่างน้อยกลุ่มนิติราษฎร์ที่ชำนาญทฤษฎีภาคพื้นยุโรปย่อมทราบดีถึงวลีอมตะที่ว่า การค้นหากติกาการปกครองที่แน่นอนและเป็นธรรมนั้น พึงแสวงจาก “มนุษย์ดังที่เป็นและกฎหมายดังที่ควรเป็น” (en prenant les hommes tels qu'ils sont, et les lois telles qu'elles peuvent être)  
        
       วันนี้นิติราษฎร์ได้จุดประกาย “กฎหมายดังที่ควรเป็น” แต่งานสำคัญที่เราประชาชนทุกคนต้องร่วมทำพร้อมกันก็คือ การค้นพบและทบทวนตัว “มนุษย์ดังที่เป็น” เพื่อแสวงหาว่ากติกาการปกครองที่แน่นอนและเป็นธรรมของเราอยู่ที่ใด!
        
       หมายเหตุ บทความนี้ปรับย่อมาจาก เรื่อง “๓ คำเตือนที่คนไทยต้องรู้” อ่านฉบับเต็มได้ที่ facebook.com/verapat.pariyawong  
        


พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=1641
เวลา 22 พฤศจิกายน 2567 17:20 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)