บันทึก เรื่อง หลักกฎหมายปกครองทั่วไป

9 ตุลาคม 2554 18:36 น.

       งานเขียนทางวิชาการฉบับนี้ไม่ได้เคารพรูปแบบงานเขียนในลักษณะของบทความทางวิชาการ แต่จัดทำในรูปแบบของบันทึกโดยมีการนำเสนอเรียงตามลำดับตัวเลขเพื่อให้ง่ายต่อการเรียงลำดับความคิดในเรื่องหลักกฎหมายปกครองทั่วไป ซึ่งเป็นการนำเสนอทางวิชาการที่ผู้เขียนได้เคยนำเสนอเป็นรูปบทความเผยแพร่ในเว็บไซด์ www.pub-law.net เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๔๙ บทความฉบับดังกล่าวเป็นการกล่าวถึงการเรียกขานชื่อหลักกฎหมายทั่วไปและการพิจารณาหลักกฎหมายทั่วไปเพื่อเป็นการอุดช่องว่างของกฎหมายลายลักษณ์อักษร
                       บันทึกฉบับนี้จึงขอนำเสนอแง่มุมของหลักกฎหมายทั่วไปในอีกมิติหนึ่ง กล่าวคือ ความหมายและตัวอย่างของหลักกฎหมายทั่วไปที่สภาแห่งรัฐของฝรั่งเศสยกขึ้นมากล่าวอ้างในคำพิพากษา โดยมีการเปรียบเทียบกับแนวคิดในเรื่องหลักกฎหมายปกครองทั่วไปในศาลปกครองของไทย ซึ่งจะเป็นการสร้างความเข้าใจก่อนที่จะนำผู้อ่านไปยังประเด็นที่ว่าตุลาการศาลปกครองไม่ได้มีเพียงหน้าที่ในการ “ค้นหา” หลักกฎหมายทั่วไปเพื่อนำมาอุดช่องว่างในกฎหมายปกครองเท่านั้น แต่ยังมีหน้าที่ในการ “ยืนยัน” การมีอยู่ของหลักกฎหมายทั่วไปด้วย ซึ่งผู้เขียนได้เคยแสดงทัศนะดังกล่าวไว้แล้วในบทความเรื่อง “ตุลาการศาลปกครองกับบทบาทในการสร้างและพิจารณาหลักกฎหมายทั่วไป”[๑] โดยในบทความดังกล่าวได้มีการกล่าวถึงบริบทในเชิงประวัติศาสตร์ที่มีผลต่อการสร้าง พัฒนา และวิเคราะห์หลักกฎหมายทั่วไปทั้งในประเทศฝรั่งเศสและประเทศไทย แต่ไม่ได้มีการยกตัวอย่างหลักกฎหมายทั่วไปโดยการเปรียบเทียบกับหลักอื่นๆในระบบกฎหมายฝรั่งเศสและแนวโน้มของการพัฒนาหลักกฎหมายทั่วไปในศาลปกครองดังเช่นที่ทำการนำเสนอในบันทึกฉบับนี้
                       เค้าโครงการศึกษาเรื่องหลักกฎหมายปกครองทั่วไปตามบันทึกฉบับนี้จึงแบ่งออกเป็นสองส่วนเพื่อความสะดวกในการทำความเข้าใจ กล่าวคือ แบ่งการศึกษาเป็นการวิเคราะห์หลักกฎหมายทั่วไปในตามกฎหมายฝรั่งเศส และตามกฎหมายไทย[๒] ดังมีรายละเอียดดังนี้
        
       หลักกฎหมายทั่วไปในกฎหมายปกครองฝรั่งเศส
       ๑.ความหมาย : หลักกฎหมายที่มีอยู่และศาลได้ยกมากล่าวอ้างแม้จะไม่มีปรากฎเป็นกฎหมายลายลักษณ์อักษร
       ๒. พบถ้อยคำนี้ครั้งแรกในการเขียนคำพิพากษาของสภาแห่งรัฐในคดี Aramu ค.ศ. ๑๙๔๕  สำหรับคดีที่คุ้นเคยกันดีและมีหลักกฎหมายทั่วไปปรากฎอยู่ด้วยคือ คำพิพากษาในคดี Blanco ค.ศ. ๑๙๗๓ ที่วางหลักในเรื่องความรับผิดของรัฐในกรณีที่มีบุคคลกระทำการในกิจการของรัฐก่อความผิดขึ้น ซึ่งเป็นการเทียบเคียงหลักกฎหมายละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่ง (ดังนั้น จึงทำให้เกิดการศึกษาในเวลาต่อมาในเรื่องของการนำกฎหมายแพ่งมาปรับใช้ในคดีปกครอง รวมทั้งแนวคิดของตุลาการศาลปกครองในการนำกฎหมายแพ่งมาพิจารณาในคดีปกครอง)
       ๓.หลักกฎหมายปกครองทั่วไปเมื่อเปรียบเทียบกับหลักอื่นๆที่มีความหมายใกล้เคียง
       ๓.๑ หลักกฎหมายทั่วไปกับหลักความเป็นธรรม (l’équité) - หลักความเป็นธรรมเป็นแนวคิดสืบเนื่องมาจากกฎหมายโรมันตั้งแต่สมัยกฎหมายสิบสองโต๊ะ ซึ่งมีไว้เพื่อเป็นหลักในการพิจารณาตัดสินคดีและต่อมาก็พัฒนามาเป็นหลักกฎหมายที่ศาลยอมรับนับถือว่าเป็นหัวใจหลักในการพิจารณา หลักดังกล่าวมีอิทธิพลมาในระบบกฎหมายในระบบเก่าของฝรั่งเศส(ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี ๑๗๘๙) ซึ่งระบบกฎหมายในช่วงเวลาดังกล่าวมีความเกี่ยวข้องกับกษัตริย์อย่างมาก ซึ่งลักษณะดังกล่าวมีความคล้ายคลึงกับการปกครองโรมันสมัยที่มีหลักนี้ขึ้นแต่แรก โดยจะนำเอาหลักความเป็นธรรมนี้มาใช้ในการพิจารณาคดีเมื่อบทบัญญัติของกฎหมายที่มีในเรื่องดังกล่าวขัดแย้งกัน การอ้างหลักดังกล่าวทำให้กษัตริย์มีความมั่นใจในการเป็นผู้ระงับข้อพิพาทด้วยความเป็นธรรมมากขึ้น ต่อมาเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองและมีแนวคิดพื้นฐานในเรื่องความเท่าเทียมกัน หลักเรื่องความเป็นธรรมจึงกลายมาเป็นแนวคิดในเรื่องของหลักแห่งความเท่าเทียมกัน (le principe d’égalité) แทน ซึ่งหลักดังกล่าวนี้ได้ปรากฎอยู่ในมาตรา ๑ ของคำประกาศสิทธิพลเมืองของฝรั่งเศส ปัจจุบันหลักแห่งความเท่าเทียมกันได้ปรากฎอยู่ในข้อตกลงระหว่างประเทศหลายประการด้วยกัน เช่น สนธิสัญญากรุงเฮกในส่วนของการระงับข้อพิพาทว่าหากไม่มีบทบัญญัติกฎหมายนั้นไว้ ให้ศาลตัดสินไปตามหลักกฎหมายทั่วไปและหลักความเท่าเทียมกัน หรือในมาตรา ๓๘ ที่รองรับสถานะของศาลระหว่างประเทศ ก็ได้กำหนดไว้ว่าการตัดสินคดีต้องเป็นไปด้วยความเท่าเทียมกันและความถูกต้อง (ex aequo et bono)  หรือหมายถึงความเป็นธรรมนั่นเอง ปัจจุบันพบหลักนี้ได้ในกฎหมายอาญา ประมวลกฎหมายอาญาฝรั่งเศส และประมวลกฎหมายแพ่งฝรั่งเศส
                       ในส่วนของกฎหมายมหาชน ถือว่าหลักแห่งความเป็นธรรมถือเป็นพื้นฐานแห่งการชอบด้วยกฎหมาย (légitimité) ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของกฎหมายมหาชนสมัยใหม่ที่มีแนวคิดในการชั่งน้ำหนักผลประโยชน์ของมหาชน โดยหลักดังกล่าวจะเป็นการแสดงถึงการเติมเต็มทางกฎหมายที่ขาดไปเสียมิได้ในเรื่องการเคารพหลักในเรื่องความเท่าเทียมกัน หรืออาจกล่าวได้อีกประการว่าหลักแห่งความเป็นธรรมนี้เป็นแนวคิดทางมนุษธรรมในการช่วยเหลือผู้อ่อนแอกว่า ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดของหลักนี้ก็คือ หลักความเท่าเทียมกันภายใต้กฎหมาย หรือหลักความเสมอภาคของประชาชนในการได้รับบริการสาธารณะนั่นเอง
       ๓.๒ หลักกฎหมายทั่วไปกับหลักกฎหมายพื้นฐานที่ได้รับการรับรองจากบรรดากฎหมายแห่งสาธารณรัฐ (les principes fondamentaux reconnus par les lois de la République)
                       หลักกฎหมายพื้นฐานที่ได้รับการรับรองจากบรรดากฎหมายแห่งสาธารณรัฐ เป็นหลักกฎหมายกลุ่มหนึ่งที่ได้รับการรับรองโดยการบัญญัติไว้ในคำปรารภของรัฐธรรมนูญฉบับปี ค.ศ. ๑๙๔๖ ซึ่งตัวรัฐธรรมนูญเองก็มิได้ให้ความหมายแน่ชัดว่าหมายถึงหลักอะไรและมีขอบเขตเช่นไร ต่อมาได้มีการตีความคดีโดยคณะตุลาการรัฐธรรมนูญในคดีหนึ่งเป็นการให้ความหมายของหลักนี้เอาไว้ว่า มีความหมายถึงบรรดากฎเกณฑ์ที่มีคุณค่าเทียบเท่ารัฐธรรมนูญที่เกิดจากการที่คณะตุลาการรัฐธรรมนูญได้กำหนดขึ้นโดยเทียบเคียงมาจากตัวบทกฎหมายที่เคยมีผลใช้บังคับในฝรั่งเศสตั้งแต่สาธารณรัฐที่ ๑ (ค.ศ.๑๗๙๒) จนกระทั่งถึงก่อนค.ศ. ๑๙๔๖ และกฎหมายดังกล่าวต้องเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพของประชาชน
                       ประเด็นที่ว่าหลักกฎหมายพื้นฐานที่ได้รับการรับรองจากบรรดากฎหมายแห่งสาธารณรัฐมีความคล้ายคลึงกับหลักกฎหมายทั่วไปนั้น คือประเด็นที่ว่าการเกิดขึ้นของหลักกฎหมายดังกล่าวเกิดโดยการตีความของศาลและมีบางหลักกฎหมายเป็นได้ทั้งหลักกฎหมายพื้นฐานที่ได้รับการรับรองจากบรรดากฎหมายแห่งสาธารณรัฐและหลักกฎหมายทั่วไป กล่าวคือ หลักกฎหมายพื้นฐานที่ได้รับการรับรองจากบรรดากฎหมายแห่งสาธารณรัฐเกิดโดยคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ในขณะที่หลักกฎหมายปกครองทั่วไปเกิดจากการตีความของสภาแห่งรัฐ แต่ก็มีหลักกฎหมายบางหลักมีสถานะเป็นทั้งสองหลักกฎหมาย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าในกรณีดังกล่าวจะมีการให้คุณค่าของหลักนั้นๆเช่นไร ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับการที่ผู้ตีความจะพิจารณา
       ๔.สภาวะในปัจจุบันของหลักกฎหมายทั่วไปในฝรั่งเศส : การพัฒนาหลักกฎหมายทั่วไปในบางสาขากฎหมายเป็นไปอย่างรวดเร็วซึ่งเป็นการพัฒนาในทางตรงกันข้ามกับแนวคำพิพาษาในเรื่องดังกล่าว สาขาที่กล่าวถึงนี้คือสาขาเกี่ยวกับการจัดการบริหารงานภาครัฐ (la fonction publique)[๓] โดยหลักแล้วการตีความหลักกฎหมายทั่วไปเป็นไปตามเวลาในขณะนั้นสถานะการณ์ที่กำหนดและไม่ควรจะมีการตีความที่เคร่งครัดเกินไปนักแต่ก็ไม่ควรจะมีการตีความที่บ่งชี้และคำนึงถึงเหตุการณ์ในอนาคตมากจนเกินไปนัก
       หลักกฎหมายทั่วไปในกฎหมายปกครองไทย
       ๑.มีการกล่าวถึง “หลักกฎหมายทั่วไป” ในมาตรา ๔ วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  “เมื่อไม่มีบทกฎหมายที่จะยกมาปรับกับคดีได้ ให้วินิจฉัยคดีนั้นตามจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่น ถ้าไม่มีจารีตประเพณีเช่นว่านั้นให้วินิจฉัยคดีอาศัยเทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง และถ้าบทกฎหมายเช่นนั้นก็ไม่มีด้วย ให้วินิจฉัยตามหลักกฎหมายทั่วไป”
       ๒.นอกจากการกล่าวถึงตามข้อ ๑ แล้ว ไม่พบว่ามีการเขียนถึงหลักกฎหมายทั่วไปในงานเขียนทางวิชาการใดๆ ดังนั้นจึงไม่มีการยืนยันถึงความหมายที่แท้จริงของหลักกฎหมายทั่วไปว่ามีความหมายเช่นไร ศาลฎีกาได้เคยหยิบยกถ้อยคำนี้มาใช้ในการพิจารณาพิพากษาคดีอยู่บ้าง (ราวๆ ๒๐ คดีในศาลยุติธรรม) แต่ก็ไม่ได้เขียนให้ชัดเจนว่ามีความหมายเช่นไร แต่เป็นที่เข้าใจไปในทางเดียวกันว่าเป็นหลักกฎหมายที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษรที่ศาลนำมาปรับใช้เพื่ออุดช่องว่างในกฎหมาย
       ๓.ดังนั้น แนวคิดในเรื่องหลักกฎหมายทั่วไปในกฎหมายไทย จึงเน้นไปในทางการที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้แล้วจึงค่อยไปแสวงหาหลักกฎหมายทั่วไปเพื่อนำมาอุดช่องว่างทางกฎหมาย ซึ่งแนวคิดดังกล่าวเป็นแนวคิดที่แคบกว่าแนวคิดในเรื่องเดียวกันในระบบกฎหมายฝรั่งเศส เนื่องจากในระบบกฎหมายฝรั่งเศสนั้นจะมีการหยิบยกหลักกฎหมายทั่วไปเพื่อเป็นการเพิ่มคุณค่าให้กับคำพิพากษาหรือคำแถลงการณ์ด้วย จึงเป็นที่มาของคำกล่าวที่ว่าตุลาการไม่ได้มีเพียงหน้าที่ในการ “ค้นหา” หลักกฎหมายทั่วไป แต่มีหน้าที่ในการ “ยืนยัน” ความมีอยู่ของหลักกฎหมายทั่วไป
       ๔.สำหรับแนวคิดเรื่องหลักกฎหมายทั่วไปในกฎหมายปกครอง นั้น เห็นว่า เมื่อฐานของกฎหมายปกครองไทยมาจากกฎหมายปกครองของฝรั่งเศสและเยอรมัน ดังนั้น การศึกษาหลักกฎหมายปกครองทั่วไปตามกฎหมายปกครองไทยจึงมีความจำเป็นอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้นที่จะต้องนำหลักกฎหมายทั่วไปตามแนวคิดของประเทศดังกล่าวมาศึกษา
       ๕.หลักกฎหมายทั่วไปของฝรั่งเศสเป็นแนวคิดที่พัฒนามาจากกฎหมายโรมันในเรื่องต่างๆ (ดูข้อ ๓.๑ ในส่วนของประเทศฝรั่งเศส) และแนวคิดจากรัฐธรรมนูญในการปกครองประเทศในแต่ละยุค (ดูข้อ ๓.๒ ในส่วนของประเทศฝรั่งเศส) ซึ่งลักษณะความต่อเนื่องและการพัฒนามาอย่างเป็นระบบเช่นนี้ไม่พบในระบบกฎหมายของไทย กล่าวคือ ระบบกฎหมายของไทยในยุคเก่า (สมัยอยุธยาและก่อนหน้าการปฏิรูประบบยุติธรรมในสมัยรัชกาลที่ ๕) เป็นระบบกฎหมายที่ได้รับอิทธิพลมาจากขอมโบราณและอินเดีย ซึ่งเน้นในเรื่องความดีและความสุจริตที่ได้รับการคุ้มครองจากศาสนา ดังจะเห็นได้จากระบบการสาบานและระบบการทรมานที่เชื่อว่าหากเป็นผู้บริสุทธิ์แล้วจะได้รับการคุ้มครองจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งลักษณะเช่นนี้เป็นลักษณะที่เทียบเคียงได้กับสภาพสังคมยุโรปในยุคกลาง (ศตวรรษที่ ๑๕ หรือในช่วง พ.ศ. ๑๐๐๐)  ต่อมาเมื่อมีการปฏิรูประบบยุติธรรมและได้มีการรับรูปแบบการจัดการทางการศาลมาจากต่างประเทศ (รวมทั้งความคิดของบุคคลต่างๆที่ได้ไปศึกษาในต่างประเทศ) จึงได้มีการสังคายนาระบบกฎหมายไทยครั้งสำคัญ
       ๖.ดังนั้น จึงเห็นได้ว่าระบบกฎหมายไทยขาดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และแนวคิดดังกล่าวก็ยังมีผลมาจนถึงปัจจุบัน ดังที่เห็นได้จากการนำกฎหมายปกครองจากต่างประเทศมาใช้ ซึ่งก็จะทำให้เกิดปัญญาดังเช่นสมัยแรกเริ่มที่มีการนำระบบศาลยุติธรรมตามแบบอย่างของตะวันตกมาใช้ในสมัยรัชกาลที่ ๕ นั่นเอง หากเป็นเช่นนั้นแล้วก็จะทำให้เข้าใจได้มากขึ้นว่าเหตุใดการศึกษาหลักกฎหมายปกครองทั่วไปในกฎหมายไทยจึงจำเป็นต้องนำหลักกฎหมายปกครองทั่วไปของฝรั่งเศสมาศึกษาควบคู่ไปด้วย
       ๗.อย่างไรก็ดี มิได้หมายความว่าจะไม่พบหลักกฎหมายทั่วไป(แท้ๆ)ในระบบกฎหมายไทย ทั้งนี้เนื่องจากดังที่กล่าวไปแล้วว่าระบบกฎหมายไทยเน้น “หลักสุจริต” (ตามข้อ ๕ ในส่วนของไทย) และหลักความเป็นธรรม แม้แนวคิดดังกล่าวจะแตกต่างกับแนวคิดของต่างประเทศในเชิงรายละเอียดก็ตาม แต่ก็จะเห็นได้ว่าเป็นความคิดในทำนองเดียวกัน จึงอาจถือได้ว่าหลักกฎหมายทั่วไปในระบบกฎหมายไทยในปัจจุบันมีลักษณะเช่นเดียวกับหลักกฎหมายทั่วไปที่ระบบกฎหมายฝรั่งเศสได้รับการรับรองไว้เมื่อนานมาแล้วและได้นำมาปรับใช้จนปราศจากข้อสงสัย แต่หลักกฎหมายทั่วไปในกฎหมายฝรั่งเศสที่มีความเป็นสมัยใหม่เป็นหลักกฎหมายทั่วไปที่ไม่ยังพบในระบบกฎหมายไทยและน่าจะต้องใช้ระยะเวลาในการที่ระบบกฎหมายไทยจะพัฒนาไปได้ถึงจุดนั้น
       ๘.ยิ่งไปกว่านั้น การพัฒนาหลักกฎหมายทั่วไปในไทยก็ยังเป็นเรื่องที่ค่อนข้างมีอุปสรรค  เนื่องจากบุคคลผู้ใช้กฎหมายไม่ได้มีความเข้าใจอย่างถ่องแท้ในเรื่องแนวคิดของกฎหมายปกครอง ทำให้ไม่เข้าใจว่า “หลักกฎหมายทั่วไป” ในกฎหมายปกครองคือสิ่งใดกันแน่ ยิ่งไปกว่านั้นในระบบกฎหมายไทยเองยังไม่ได้มีธรรมเนียมการอ้างอิงหลักกฎหมายอื่นๆ เช่น กฎหมายรัฐธรรมนูญ(รวมทั้งแนวคิดตามกฎหมายมหาชนอื่นๆ) กฎหมายแพ่ง กฎหมายระหว่างประเทศ เข้ามาพิจารณาร่วมในการพิจารณาคดีปกครอง เหตุผลอีกประการหนึ่งที่สำคัญคือ เมื่อมีคดีเข้ามาสู่การพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองไทยแล้ว ศาลจะเน้นไปทางผลสัมฤทธิ์ของคดีเป็นสำคัญ กล่าวคือการนำเอาหลักกฎหมายที่เกี่ยวข้องมาปรับใช้ แต่มิได้มีการอ้างถึงหลักการและทฤษฎีของกฎหมายมหาชนมาเขียนไว้ในคำพิพากษาอันจะนำไปสู่การพัฒนาของหลักกฎหมายทั่วไปมากล่าวไว้ด้วย
       ๙.อย่างไรก็ดี ศาลปกครองสูงสุดได้ใช้ถ้อยคำ “หลักกฎหมายทั่วไป” ไว้ในคดีหมายเลขแดง ฟ.๓๔/๒๕๕๐ ซึ่งเป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมายของพระราชกฤษฎีกากำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมสวิตช์ไฟฟ้าต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. ๒๕๔๗ โดยวางหลักว่า การกำหนดกฎหมายโดยให้เนื้อหาสาระของกฎหมายขึ้นอยู่กับการแปลภาษา การตีความ หรือความเห็นของเจ้าหน้าที่ ซึ่งเจ้าหน้าที่แต่ละคนอาจแปลภาษา ตีความ หรือให้ความเห็นแก่ผู้สอบถามหรือผู้ขอคำปรึกษาในแต่ละรายการแตกต่างกันไปตามอัตวิสัยของผู้ถามและผู้ตอบแต่ละคน ซึ่งอาจมีพื้นฐานความรู้และประสบการณ์ที่แตกต่างกันได้ ทำให้กฎหมายขาดความแน่ชัดในทางภาวะวิสัยที่จะให้ผู้ประกอบกิจการแต่ละรายยึดถือและปฏิบัติตามได้อย่างเสมอเหมือนกัน กรณีจึงเป็นการขัดต่อหลักกฎหมายทั่วไปที่ว่า การกำหนดกฎหมายให้ประชาชนหรือบุคคลกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดมีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติตตาม หากผู้ใดฝ่าฝืนผู้นั้นจะต้องได้รับโทษ จะต้องมีความชัดเจนเพียงพอที่จะทำให้ประชาชนหรือกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้องเข้าใจได้ และจะต้องมีการประกาศกฎหมายนั้นให้ประชาชนหรือกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้องได้รับทราบโดยทั่วกัน
       ๑๐.ดังนั้น ตุลาการศาลปกครองจึงถือเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาหลักกฎหมายทั่วไปในระบบกฎหมายปกครองไทย โดยอาจใช้วิธีศึกษาจากหลักกฎหมายทั่วไปของฝรั่งเศสแล้วนำมาวิเคราะห์ถึงความเหมาะสมในการนำมาปรับใช้ในกฎหมายไทย (เนื่องจากหลักกฎหมายทั่วไปในบางเรื่องในกฎหมายฝรั่งเศสไม่สามารถนำมาใช้ในระบบกฎหมายไทยได้ในขณะนี้ เนื่องจากแนวคิดพื้นฐานแตกต่างกัน เช่น ความชัดเจนของหลักการมีส่วนร่วมในบริการสาธารณะที่เท่าเทียมกัน) ตัวอย่างในกรณีนี้ก็เช่น หลักในเรื่องความเท่าเทียมกัน สิทธิในการต่อสู้คดี การมีช่องทางในการบรรเทาทุกข์แก่ผู้เดือดร้อนเสียหาย หลักที่ว่ากฎหมายไม่มีผลย้อนหลัง หลักในเรื่องอำนาจบังคับบัญชาที่ลดหลั่นลงมา ฯลฯ หรืออาจจะนำมาจากการสังเคราะห์ในกฎหมายภายในประเทศในเรื่องต่างๆ ทั้งนี้จะต้องพิจารณาตามความเหมาะสมกับสภาพการณ์ในปัจจุบันด้วย
        
        
                                      
        
       
       
       
       
       
       [๑] ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการศาลปกครอง ปีที่ ๑๑ ฉบับที่ ๒ (เมษายน-มิถุนายน ๒๕๕๔)
       
       
       [๒] เป็นการสรุปย่อมาจากบางส่วนวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกของผู้เขียน
       
       
       [๓] เทียบเคียงได้กับกลุ่มกฎหมายการบริหารงานบุคคลภาครัฐ
       
       


พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=1636
เวลา 22 พฤศจิกายน 2567 17:02 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)