|
|
ครั้งที่ 273 11 กันยายน 2554 21:48 น.
|
สำหรับวันจันทร์ที่ 12 กันยายน ถึงวันอาทิตย์ที่ 25 กันยายน 2554
แก้รัฐธรรมนูญอย่างไรให้ปลอดภัย
ช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา มีผู้มาสัมภาษณ์ผมหลายคนเกี่ยวกับเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เนื่องจากรัฐบาลได้ประกาศว่าจะดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญภายในปีแรกของการทำงาน คำถามส่วนใหญ่ที่ผมถูกถามก็คือ สมควรแก้รัฐธรรมนูญในประเด็นใดบ้าง
ในเรื่องของการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ไม่ใช่เฉพาะรัฐบาลปัจจุบันที่คิดจะแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 นับตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมีผลใช้บังคับ ก็มีเสียงเรียกร้องจากหลายกลุ่มให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเนื่องจากมีที่มาและมีเนื้อหาบางส่วนที่ไม่เป็นประชาธิปไตย แต่ก็เป็นอย่างที่เราทราบกันดีอยู่แล้วว่า เมื่อ สีหนึ่ง คิดอยากจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ อีกสีหนึ่ง ก็จะคัดค้าน จึงทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่สามารถทำได้อย่างง่ายดายนัก แต่ในที่สุด ก็เกิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญไปแล้วครั้งหนึ่ง ซึ่งก็ไม่มีปัญหาอะไรเกิดขึ้นเพราะเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพียงเล็กน้อยและไม่มีผลกระทบกับใครทั้งนั้น
ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา เมื่อมีข่าวการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญตามแบบของรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 ขึ้นมาอีก ผู้คนส่วนหนึ่งเริ่มรู้สึกว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับอาจเป็นความจริงขึ้นมาได้ ในบทบรรณาธิการนี้ ผมจึงขอเสนอแนวคิดอีกแนวคิดหนึ่งที่ไม่ให้สภาร่างรัฐธรรมนูญเข้ามาเป็นผู้เริ่มต้นในการแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นแนวคิดที่ ตรงกันข้าม กับสิ่งที่รัฐบาลกำลังนำเสนออยู่ในปัจจุบันครับ
เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า จุดอ่อน ของพรรคเพื่อไทยที่สำคัญที่สุดมีอยู่เรื่องเดียวเท่านั้นคือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ทุกครั้งที่มีการพูดถึงเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็จะจบลงตรงที่ว่า แก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อคน ๆ เดียว และคนจำนวนหนึ่งก็จะพุ่งเป้าไปที่การ แก้ไขมาตรา 309 ซึ่งเป็นมาตราที่ถูกออกแบบมาให้รองรับการกระทำที่เกี่ยวเนื่องกับการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 โดยมีความคิดว่าหากยกเลิกมาตรา 309 ก็จะส่งผลทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร พ้นจากบรรดาความผิดทั้งหลาย เพราะฉะนั้น การแก้ไขรัฐธรรมนูญจึงเป็นจุดเปราะบางของพรรคเพื่อไทยที่หากคิดจะ ทำเอง แล้ว โอกาสที่จะเกิดความวุ่นวายทางการเมืองก็มีอยู่มาก และหากควบคุมความวุ่นวายที่เกิดขึ้นไม่ได้ก็คงเกิดปัญหาใหญ่ทางการเมืองตามมาอย่างแน่นอน ดังนั้น หากพรรคเพื่อไทยคิดจะ แก้ไขรัฐธรรมนูญ โจทย์ใหญ่ที่จะต้องคิดก่อนที่จะมีการดำเนินการ ก็คือ แก้รัฐธรรมนูญอย่างไรให้ปลอดภัย
ผมเคยเสนอไปแล้วหลายครั้งถึงรูปแบบของการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยนักวิชาการ ซึ่งก็ไม่เป็นที่ยอมรับและสนใจของผู้คนในสังคมมากนัก ในวันนี้ แม้ผมจะยังยึดมั่นในข้อเสนอเดิม แต่เพื่อให้สอดคล้องกับสิ่งที่รัฐบาลกำลังจะนำเสนอก็คือการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ ผมจึงขอเสนอให้มี คณะนักวิชาการ เข้ามามีบทบาทในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ ที่ผมคิดว่า คณะนักวิชาการ มีความเหมาะสมกว่า สภาร่างรัฐธรรมนูญ ที่มาจาก ตัวแทนประชาชน ก็เพราะผมมองว่า การจัดทำรัฐธรรมนูญนั้น ผู้จัดทำควรจะต้องเป็นผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ จะต้องทำงานบนพื้นฐานของวิชาการและสามารถทำเอกสารการศึกษาวิเคราะห์ (study report) ที่ได้มาตรฐาน การจัดทำรัฐธรรมนูญโดยไม่มีการศึกษาวิเคราะห์ที่รอบคอบและได้มาตรฐานย่อมจะก่อให้เกิดปัญหาในทางบริหารตามมา และอาจเกิดปัญหาการบิดเบือนการใช้อำนาจ (abuse of power) ซึ่งจะก่อให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดี ด้วยเหตุนี้ที่ผมคิดว่าควรเป็นหน้าที่ของคณะนักวิชาการ ที่จะเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องในตอนเริ่มต้นกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยการทำ ข้อเสนอเพื่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก่อนที่จะมีการตั้ง สภาร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อไปครับ
หน้าที่ของ คณะนักวิชาการ ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญเริ่มต้นจากการต้องทำการศึกษารัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 และฉบับปี พ.ศ. 2550 อย่างละเอียดดูก่อนว่า รัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับมีปัญหา อุปสรรคและข้อบกพร่องอย่างไรในระหว่างที่มีผลใช้บังคับ ในการศึกษาของ คณะนักวิชาการ ควรแยกปัญหา อุปสรรคและข้อบกพร่องที่ตรวจสอบพบออกเป็นสองส่วน ส่วนแรกคือปัญหา อุปสรรคและข้อบกพร่องที่เกิดขึ้นจากตัวบทของรัฐธรรมนูญ กับส่วนที่สองคือ ปัญหา อุปสรรคและข้อบกพร่องที่เกิดจาก พฤติกรรม ของผู้ใช้รัฐธรรมนูญที่พยายามหาทางใช้รัฐธรรมนูญเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ตนเองและพวกพ้องมากกว่าให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนครับ
เมื่อได้ทราบถึงปัญหา อุปสรรคและข้อบกพร่องทั้งสองส่วนแล้ว ก็เป็นหน้าที่ของ คณะนักวิชาการ ที่จะต้องมาวิเคราะห์ว่า จำเป็นต้องแก้รัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะในส่วนของปัญหาที่เกิดจาก ตัวบท ของรัฐธรรมนูญนั้น เป็นสิ่งที่อย่างไรเสียก็คงต้องแก้ไข แต่ปัญหาที่เกิดจาก พฤติกรรม ของผู้ใช้รัฐธรรมนูญในบางครั้งอาจไม่มีความจำเป็นถึงขนาดที่จะต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ได้หากผู้ใช้รัฐธรรมนูญ เข้าใจ ในความเป็นรัฐธรรมนูญเพียงพอ เมื่อ คณะนักวิชาการ ทำการวิเคราะห์ปัญหา อุปสรรคและข้อบกพร่องทั้งหมดจนได้ความกระจ่างแล้ว คณะนักวิชาการ ก็จะต้องทำการศึกษาต่อไปถึงทิศทางที่ประเทศไทยจะเดินต่อไปในวันข้างหน้า เช่น หากเห็นว่ารูปแบบของ รัฐสวัสดิการ เป็นสิ่งที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย ก็จะต้องนำเสนอเรื่องดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรม ประกอบด้วยเหตุผลที่สนับสนุนแนวคิดของตนเองเอาไว้ด้วย เมื่อทำทุกอย่างครบแล้ว คณะนักวิชาการ ก็จะต้องจัดทำ ข้อเสนอทางวิชาการ ซึ่งประกอบด้วยสาระสำคัญ 4 ส่วนด้วยกัน ส่วนแรกเป็นสภาพปัญหาที่เกิดจากจากการบังคับใช้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับปี พ.ศ. 2540 และฉบับปี พ.ศ. 2550 ที่ส่งผลกระทบต่อประเทศชาติและประชาชน ส่วนที่สองเป็นสภาพปัญหาของประเทศที่กำลังเผชิญอยู่ ส่วนที่สามเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น และส่วนสุดท้ายเป็นข้อเสนอที่เป็นรูปธรรมคือ หากต้องแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับก็ต้องมีการนำเสนอร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ซึ่งจะต้องประกอบด้วยคำอธิบายสาระสำคัญที่ปรากฏอยู่ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
ข้อเสนอทางวิชาการ ที่ว่านี้จะต้องมีรายละเอียดที่สมบูรณ์ ครบถ้วน มีความเป็นเหตุเป็นผล และเป็นรูปธรรม โดย คณะนักวิชาการ ควรที่จะต้องทำตารางเปรียบเทียบบทบัญญัติรายมาตราของรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 กับข้อเสนอของ คณะนักวิชาการ ที่ควรจะต้องเป็นร่างรัฐธรรมนูญพร้อมด้วยเหตุผลที่สนับสนุนข้อเสนอของตนเองเอาไว้ให้ชัดเจนด้วย
ข้อเสนอทางวิชาการ คือ งานชิ้นเดียวของ คณะนักวิชาการ เมื่อส่งมอบงานให้กับ ผู้แต่งตั้ง แล้วคณะนักวิชาการ ก็หมดหน้าที่ลงในทันที เหตุการณ์ต่อจากนั้นก็คือ ผู้แต่งตั้ง จะต้องนำเอา ข้อเสนอทางวิชาการ ของคณะนักวิชาการ เข้าสู่การวิพากษ์วิจารณ์และรับฟังความคิดเห็นอย่างกว้างขวางด้วยการเผยแพร่เอกสารดังกล่าวทุกวิถีทาง รวมทั้งจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นเพื่อให้ประชาชนทั่วไป เจ้าหน้าที่ของรัฐ นักการเมืองทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่น และทุกภาคส่วนของสังคมให้สังคมได้เรียนรู้และรับทราบปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยอย่างชัดเจน รวมทั้งทำความเข้าใจในบรรดา ข้อเสนอทางวิชาการ เหล่านั้นด้วย
ขั้นตอนสุดท้ายคงเป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุด ภายหลังจากรับฟังความคิดเห็น หากปรากฏว่าควรต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญตามข้อเสนอของ คณะนักวิชาการ ก็คงต้องพิจารณากันดูว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญตามข้อเสนอนั้นเป็นการแก้ไขมากหรือน้อย ถ้าแก้ไขมาก ก็ควรตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาพิจารณาข้อเสนอของคณะนักวิชาการอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งในขั้นตอนนี้คงใช้เวลาไม่นานนักเพราะสภาร่างรัฐธรรมนูญมี ข้อเสนอทางวิชาการ ของคณะนักวิชาการ เป็นฐานในการทำงานอยู่แล้ว แต่ถ้าหากเป็นการแก้ไขน้อย ก็คงต้องให้เป็นหน้าที่ของรัฐสภาที่จะดำเนินการต่อไปโดยไม่จำเป็นต้องตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญให้ยุ่งยากและสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุครับ !!!
ด้วยวิธีการเช่นนี้ จะทำให้เราได้รัฐธรรมนูญที่ผ่านการศึกษาวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ ถูกต้องตามหลักวิชาการ แต่อย่างไรก็ตาม หากไม่ไว้ใจ คณะนักวิชาการ หรือเกรงว่าคณะนักวิชาการ จะพลาดเพราะ ขาดประสบการณ์ ก่อนที่จะนำ ข้อเสนอทางวิชาการ ออกสู่สายตาสาธารณชน ก็สามารถกำหนดให้มีขั้นตอนของการให้ความเห็นใน ข้อเสนอทางวิชาการ ของคณะนักวิชาการ โดยสมาชิกรัฐสภาก่อนก็ได้ โดยจัดให้มีการประชุมร่วมของรัฐสภาเพื่อแสดงความคิดเห็น จากนั้น ก็นำเอาประเด็นข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะที่ได้จากรัฐสภามาเสนอไว้เป็นข้อสังเกตแนบท้าย ข้อเสนอทางวิชาการ
ถ้ารัฐบาลเห็นด้วยกับแนวทางที่ผมเสนอข้างต้น ก็มาถึงจุดสุดท้ายที่จะต้องพิจารณาคือ ใครคือ คณะนักวิชาการ ที่จะเข้ามาทำ ข้อเสนอทางวิชาการ ?
ในบ้านเรา มีนักวิชาการอยู่มากมายที่มีความรู้ความสามารถ ในอดีต สมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ก็เคยให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาไปทำข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 มาแล้ว แต่ตอนนั้นผมเข้าใจว่า มหาวิทยาลัยต่าง ๆ ต่างคนก็ต่างทำ เลยไม่เกิดผลในทางปฏิบัติและพอมีการรัฐประหาร ทุกอย่างก็จบสิ้นลง
หากจะให้ผมเสนอ ผมคิดว่าเรื่องนี้ควรทำโดยหลายสถาบันหรือหลายองค์กรทางวิชาการเพื่อนำผลที่ได้มาเปรียบเทียบกัน โดยผมเห็นว่า สภาวิจัยแห่งชาติและสถาบันพระปกเกล้า น่าจะเป็น สถาบัน ที่เหมาะสมที่สุดที่จะทำการศึกษาเพื่อให้ได้ข้อเสนอแนะที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ แต่ถ้าจะเอาให้สุดขั้วกันไปเลย ก็อาจจะขอให้สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ (TDRI) เป็นผู้ทำเพิ่มขึ้นอีก 1 รายก็ได้ ส่วนสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยนั้น ผมคิดว่า คงยากที่จะเข้ามาร่วมในการหาทางออกให้กับประเทศด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในฐานะที่เป็นผู้มีประสบการณ์มาแล้ว เนื่องจากผมเคยเสนอขอทุนสนับสนุนการทำวิจัยเมื่อต้นปี พ.ศ. 2554 เพื่อทำการวิจัย เรื่อง รูปแบบขององค์กรในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญและร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย แต่ต่อมา ผมก็ได้รับคำตอบปฏิเสธเป็นหนังสือไม่ให้ทำงานวิจัยเรื่องดังกล่าวโดยมีเหตุผลว่า ยังไม่สามารถจัดสรรทุนวิจัยให้ได้ ดังนั้น ในเมื่อสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยไม่ให้ความสำคัญกับการศึกษาวิจัยเรื่องรัฐธรรมนูญ ก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไปรบกวนใด ๆ ทั้งสิ้น ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของสภาวิจัยแห่งชาติ สถาบันพระปกเกล้าและสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศจะเหมาะสมกว่า นอกจากนี้ หากจะให้สถาบันหรือองค์กรมากกว่า 1 แห่งเป็นผู้ทำการศึกษาที่กล่าวแล้วข้างต้น ก็ควรให้เป็นหน้าที่ของสภาร่างรัฐธรรมนูญที่จะตั้งขึ้นมาเป็นผู้ เลือก ว่าจะนำเรื่องใดจาก ข้อเสนอทางวิชาการ ของสถาบันหรือองค์กรใดมาบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญครับ
รัฐบาลควรให้งบประมาณสนับสนุนการจัดทำข้อเสนอทางวิชาการของ คณะนักวิชาการ ในจำนวนที่มากพอสมควร เพื่อที่จะได้ ระดม ผู้เชี่ยวชาญจากทุกสาขามาร่วมกันศึกษาวิเคราะห์เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญที่สมบูรณ์ที่สุดให้กับประเทศไทยต่อไปครับ
ข้อเสนอ ข้อเสนอทางวิชาการ ซึ่งเป็น ผลงานของคณะนักวิชาการ จะเป็นสิ่งที่ทั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญและประชาชนนำไปประกอบการตัดสินใจว่า ควรจะแก้รัฐธรรมนูญหรือไม่ อย่างไร และโดยวิธีใด
รัฐบาลไม่จำเป็นต้องตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาทำเองให้เปลืองตัวเพราะไม่ว่าจะตั้งใครมาก็ไม่สามารถพ้นข้อครหาไปได้ครับ !!!
การแก้รัฐธรรมนูญที่ปลอดภัยที่สุดจึงน่าจะมีเพียงวิธีการเดียวเท่านั้นครับ !!!
วันที่ 19 กันยายน 2554 เป็นวันครบรอบ 5 ปีของการรัฐประหารครั้งล่าสุด เป็นวันที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นผู้ทำการรัฐประหารหรือผู้ที่เข้ามามีอำนาจหลังรัฐประหารควรระลึกว่า ได้ทำอะไรกับประเทศของเราไปบ้าง จากวันนั้นถึงวันนี้ ทุกสิ่งทุกอย่างยังคงถอยหลังอย่างต่อเนื่องและยังมองไม่เห็นทางสว่าง มองไม่เห็นหนทางที่ประเทศไทยจะกลับมาอยู่ในสถานะเดิมที่เคยอยู่เมื่อก่อนปี พ.ศ. 2549 น่าเสียดายโอกาสดี ๆ ที่เราต้องเสียไปกับการกระทำของคนกลุ่มหนึ่งที่ไม่มีสำนึกในระบอบประชาธิปไตย !!! อย่าลืมเล่าให้ลูกหลานฟังนะครับว่า พวกคุณได้ทำอะไรกับประเทศชาติ ไปบ้าง อย่าลืมเล่าให้ลูกหลานฟังนะครับว่า พวกคุณได้อะไรไปบ้างกับการรัฐประหารและการเข้า มามีอำนาจหลังรัฐประหาร สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่พวกคุณต้องจดจำและสำนึกไว้ในฐานะ ผู้ทำลายชาติ ครับ !!!
สถาบันพระปกเกล้ามีหนังสือวิชาการจำนวนหนึ่งที่จะแจกให้กับผู้ใช้บริการ www.pub-law.net ครับ ใครสนใจหนังสือเล่มใด กรุณาติดต่อขอรับได้โดยตรงที่ คุณปิยะนาถ แท่งทอง หมายเลขโทรศัพท์ 02-141-9596 หรือ 086-783-2049 ครับ ต้องรีบหน่อยนะครับ เพราะหนังสือแต่ละเล่มมีจำนวนไม่มากนัก
ในสัปดาห์นี้ เรามีบทความมานำเสนอ 3 บทความด้วยกัน บทความแรกเป็นบทความของ คุณปฐมพงษ์ พิพัฒนธนากิจที่เขียนเรื่อง "การกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคอันนำไปสู่การยุบพรรคการเมือง" บทความที่สองคือบทความเรื่อง "การพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งชี้ขาดคดีปกครองใหม่ " ที่เขียนโดย คุณณรงค์ฤทธิ์ เพชรฤทธิ์ บทความสุดท้าย เป็นบทความของคุณวีรพัฒน์ ปริยวงศ์ ที่เขียนเรื่อง "ความลึกลับของ ศาลรัฐธรรมนูญ ผมขอขอบคุณเจ้าของบทความทุกบทความด้วยครับ
พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 26 กันยายน 2554
ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์
|
|
|
พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=1631
เวลา 22 พฤศจิกายน 2567 12:03 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)
|