การกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคอันนำไปสู่การยุบพรรคการเมือง

11 กันยายน 2554 21:40 น.

       เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมานี้ปรากฏข้อเท็จจริงตามข่าวว่า  กกต.  มีมติให้เสนอเรื่องต่อศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง  (ใบแดง)  สส.  ท่านหนึ่งที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในขณะนี้  เป็นระยะเวลา  ๕  ปี จากกรณีที่ถูกร้องว่า  ในการเลือกตั้งซ่อม  ส.ส.  จ.นครราชสีมา  เมื่อวันที่  ๑๒  ธันวาคม  ๒๕๕๓  สส.  ท่านนั้นลงสมัครรับเลือกตั้งซ่อมครั้งนั้นและกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา  พ.ศ.  ๒๕๕๐  มาตรา  ๕๓  เนื่องจากนำผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปจัดเลี้ยงแจกสิ่งของที่เป็นเครื่องใช้ไฟฟ้า  ประกอบกับเมื่อ  สส.  ท่านนั้น  เป็นรองหัวหน้าพรรคอยู่ด้วย  จึงมีการพูดกันว่า  กรณีดังกล่าวจะเป็นเหตุนำไปสู่การยุบพรรคและเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรค
       ในเบื้องต้นนั้น  การยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญขอให้พิจารณาวินิจฉัยว่ายุบพรรคการเมืองและเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งนั้น  เมื่อ  กกต.  ประกาศผลการเลือกตั้งแล้ว  กกต.  ไม่มีอำนาจวินิจฉัยว่าการกระทำของ  สส.  เป็นความผิดตามกฎหมายเลือกตั้งและไม่มีอำนาจเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งได้  แต่  กกต.  ต้องส่งเรื่องไปให้ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งเป็นผู้พิจารณาวินิจฉัย  ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  มาตรา  ๒๓๙  วรรคสอง  ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งฯ  มาตรา  ๑๑๑  หากศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งมีคำสั่งให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเนื่องจากเห็นว่ากระทำการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งฯ  มาตรา  ๕๓  และมีผลทำให้การเลือกตั้งซ่อมครั้งนั้นมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม  และต่อมาเมื่อความปรากฏต่อนายทะเบียนพรรคการเมืองแล้ว  นายทะเบียนพรรคการเมืองโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการการเลือกตั้งต้องแจ้งต่ออัยการสูงสุดพร้อมด้วยหลักฐานเพื่อยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้มีคำสั่งยุบพรรคการเมืองนั้น  ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง  พ.ศ.  ๒๕๕๐  มาตรา  ๙๕
       กรณีนี้ทำนองเดียวกันนี้  ศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยไว้แล้วในคดียุบพรรคพลังประชาชน  ตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่  ๒๐/๒๕๕๑  ลงวันที่  ๒  ธันวาคม  ๒๕๕๑  สรุปได้ว่า
       ประเด็นที่  ๑  ปัญหาข้อเท็จจริงว่ารองหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งฯ  หรือไม่ 
       เมื่อศาลฎีกามีคำสั่งไว้แล้วว่า  รองหัวหน้าพรรคกระทำการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งฯ  มาตรา  ๕๓  และมีผลทำให้การเลือกตั้ง  สส.  ไม่ได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม  ซึ่งประเด็นที่ศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้แล้วนั้นเป็นประเด็นข้อเท็จจริงเดียวกันกับคดีนี้  (คดียุบพรรคพลังประชาชน-ผู้เขียน)  และเป็นประเด็นที่อยู่ในอำนาจของศาลฎีกาเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาดประเด็นการทุจริตการเลือกตั้ง  สส.  ไว้โดยเฉพาะ  จึงต้องถือเป็นยุติตามคำสั่งของศาลฎีกาแล้ว  ตามรัฐธรรมนูญ  มาตรา  ๒๓๙  ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งฯ  มาตรา  ๑๑๑  ศาลรัฐธรรมนูญย่อมไม่มีอำนาจเข้าไปตรวจสอบคำวินิจฉัยในปัญหาที่เป็นอำนาจหน้าที่ของศาลฎีกาได้  และศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่ใช่ศาลที่มีอำนาจรับวินิจฉัยอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลฎีกาด้วย  อีกทั้ง  ประเด็นต่าง  ๆ  ที่พรรคพลังประชาชนคัดค้านมา  ศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้แล้ว  จึงไม่อยู่ในอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญที่จะวินิจฉัยเป็นอย่างอื่นได้เช่นกัน  เพราะไม่มีกฎหมายใดให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยล้มล้างหรือเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลฎีกาได้  ซึ่งศาลแต่ละระบบนั้นเป็นอิสระต่างหากจากกัน
       ประเด็นที่  ๒  กรณีมีเหตุสมควรให้ยุบพรรคพลังประชาชนหรือไม่
       รัฐธรรมนูญ  มาตรา  ๒๓๗  วรรคสอง  เป็นข้อสันนิษฐานเด็ดขาดของกฎหมาย  แม้พรรคการเมือง  หัวหน้าพรรค  หรือกรรมการบริหารพรรคจะไม่ได้เป็นผู้กระทำก็ตาม  กฎหมายยังให้ถือว่าเป็นผู้กระทำ  จึงเป็นข้อเท็จจริงที่ไม่อาจโต้แย้งได้  แม้ศาลรัฐธรรมนูญเองก็ไม่อาจวินิจฉัยเป็นอื่นได้  ทั้งนี้  เนื่องจากความผิดในการทุจริตซื้อสิทธิซื้อเสียงในการเลือกตั้งเป็นความผิดที่ผู้กระทำใช้วิธีการแยบยลยากที่จะจับได้  กฎหมายจึงบัญญัติให้เป็นหน้าที่ของผู้บริหารพรรคต้องคัดเลือกบุคคลที่จะเข้าร่วมทำงานกับพรรค  และคอยควบคุมดูแลไม่ให้คนของพรรคกระทำความผิด  โดยบัญญัติให้พรรคการเมืองและผู้บริหารพรรคต้องรับผิดในการกระทำของกรรมการบริหารพรรคที่ไปกระทำผิดด้วย  ในทำนองเดียวกันกับหลักความรับผิดของนิติบุคคลทั่วไปที่ว่า  ถ้าผู้แทนของนิติบุคคลหรือผู้มีอำนาจทำการแทนนิติบุคคลไปกระทำการใดที่อยู่ในขอบวัตถุประสงค์ของนิติบุคคลนั้นแล้วก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่น  นิติบุคคลจักต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของผู้แทนของนิติบุคคลหรือผู้มีอำนาจทำการแทนนิติบุคคลนั้นด้วย  จะปฏิเสธความรับผิดชอบมิได้ 
       โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  หากผู้กระทำความผิดเป็นกรรมการบริหารพรรคเสียเอง  ย่อมเป็นที่ประจักษ์ชัดอยู่ในตัวแล้วว่า  กรรมการบริหารพรรคคนนั้นมีทั้งเจตนาและกระทำผิดยิ่งกว่าเพียงรู้เห็นเป็นใจกับผู้อื่นเสียอีก  จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องให้หัวหน้าพรรคหรือกรรมการบริหารพรรคคนอื่นเป็นผู้มีส่วนรู้เห็นหรือปล่อยปละละเลย  หรือทราบถึงการกระทำนั้นแล้ว  มิได้ยับยั้งหรือแก้ไขเพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมอีกต่อไป  (ศาลรัฐธรรมนูญตีความกฎหมายตามหลักที่ว่า  “ยิ่งต้องเป็นเช่นนั้น”  (fortiori)-ผู้เขียน)
       การที่รองหัวหน้าพรรคซึ่งเป็นกรรมการบริหารพรรคมีหน้าที่ต้องควบคุมดูแลให้สมาชิกพรรคที่ตนบริหารอยู่กระทำการเลือกตั้งโดยสุจริตและเที่ยงธรรม  แต่กลับเป็นผู้มากระทำความผิดเสียเอง  อันเป็นความผิดที่ร้ายแรงและเป็นภัยคุกคามต่อการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยของประเทศ  กรณีจึงมีเหตุอันสมควรต้องยุบพรรคเพื่อให้เป็นบรรทัดฐานพฤติกรรมทางการเมืองที่ดีงามและเพื่อให้เกิดผลในทางยับยั้งป้องปรามมิให้เกิดการกระทำผิดซ้ำขึ้นอีก
       ประเด็นที่  ๓  หัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้นต้องถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งหรือไม่
       รัฐธรรมนูญ  มาตรา  ๒๓๗  วรรคสอง  และมาตรา  ๖๘  วรรคสี่  เป็นบทบังคับตามกฎหมายว่า  เมื่อศาลมีคำสั่งยุบพรรคแล้วจะต้องเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในขณะที่มีการกระทำความผิดเป็นเวลาห้าปี  ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญไม่อาจใช้ดุลพินิจสั่งเป็นอื่นได้  แม้ว่าการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคจะต้องเป็นกรณีที่หัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคแต่ละคนมีส่วนรู้เห็นหรือปล่อยปละละเลยตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองฯ  มาตรา  ๙๘  แต่ในคดีนี้เป็นการเพิกถอนตามรัฐธรรมนูญ  มาตรา  ๒๓๗  วรรคสอง  ประกอบมาตรา  ๖๘  วรรคสี่  มิใช่ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองฯ  และไม่ว่ากรณีจะเป็นเช่นใดก็ตาม  บทบัญญัติของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าวก็ไม่อาจลบล้างบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญได้    
                       ศาลรัฐธรรมนูญจึงวินิจฉัยให้ยุบพรรคพลังประชาชน  เนื่องจากรองหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งฯ  ซึ่งมีผลทำให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม  อันเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ  มาตรา  ๖๘  ประกอบมาตรา  ๒๓๗  วรรคสอง  และให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคพลังประชาชนซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในขณะที่กระทำความผิด  เป็นระยะเวลาห้าปีนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ยุบพรรคการเมือง  ตามรัฐธรรมนูญ  มาตรา  ๒๓๗  วรรคสอง  ประกอบมาตรา  ๖๘  วรรคสี่
       จากคำวินิจฉัยคดียุบพรรคพลังประชาชนจะเห็นได้ว่า  กรณีที่กรรมการบริหารพรรคการเมืองใดถูกร้องว่ากระทำความผิดต่อกฎหมายเลือกตั้ง  หากศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งมีคำสั่งให้ยกคำร้อง  เรื่องก็เป็นอันจบไป  ไม่มีประเด็นอันนำไปสู่การยุบพรรค  ในทางตรงกันข้าม  หากศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งมีคำสั่งให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเนื่องจากเห็นว่ากระทำการฝ่าฝืนกฎหมายเลือกตั้งและมีผลทำให้การเลือกตั้งซ่อมครั้งนั้นมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม  ผลการยุบพรรคและเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งก็ย่อมเป็นไปตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่กล่าวมานั่นเอง
                                                                      
        
        


พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=1627
เวลา 25 พฤศจิกายน 2567 13:46 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)