ครั้งที่ 271

14 สิงหาคม 2554 18:28 น.

       ครั้งที่ 271
       สำหรับวันจันทร์ที่ 15 สิงหาคม ถึงวันอาทิตย์ที่ 28 สิงหาคม 2554
       
       “ถ้าคิดจะนิรโทษกรรม.....”
       
       เมื่อวันเสาร์ที่ 6 สิงหาคมที่ผ่านมา คณะกรรมการกิจการนิสิต คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดเสวนาทางวิชาการเนื่องในวันรพี หัวข้อ “นิรโทษกรรมทางการเมือง .... ทางออกหรือทางตัน !?” โดยมีวิทยากร 3 คนคือ รองศาสตราจารย์แก้วสรร อติโพธิ อดีตคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) คุณพงศ์เทพ เทพกาญจนา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และผม การเสวนาทางวิชาการดังกล่าวใช้เวลา 3 ชั่วโมงซึ่งนับว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับความสำคัญของหัวข้อ เนื่องจากผมเตรียมข้อมูลไปพูดและไม่มีโอกาสได้พูดให้ละเอียดจนจบ จึงขอนำข้อมูลเหล่านั้นมาเรียบเรียงเป็นบทบรรณาธิการครั้งนี้ครับ


       เป็นที่ยอมรับกันทุกฝ่ายและทุกภาคส่วนแล้วว่า รัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 เป็นต้นเหตุของความสับสนวุ่นวายที่เกิดขึ้นในประเทศไทยเรื่อยมาจนกระทั่งทุกวันนี้ หลังรัฐประหาร มีการออกกฎระเบียบจำนวนมากโดยคณะรัฐประหาร รวมทั้งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2549 ที่แม้จะมีจำนวนเพียง 39 มาตรา แต่ก็ออกฤทธิ์ทำให้เกิดเหตุการณ์สำคัญ ๆ ตามมามากมาย ทั้งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวและบรรดาประกาศ คำสั่งของคณะรัฐประหารนำไปสู่การยุบพรรคการเมือง การเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคการเมือง ไปไกลจนถึงการยึดทรัพย์นักการเมือง นอกจากนี้ ยังเกิดการชุมนุมทางการเมืองอีกหลายครั้งจากหลายฝ่าย สร้างความสูญเสียทั้งชีวิตของพลเรือนและข้าราชการทหารตำรวจ มีผู้ถูกจับกุมคุมขังจำนวนมาก มีการฟ้องร้องเป็นคดีความในศาลแทบจะทุกศาลอยู่ไม่น้อยกว่า 100 คดี เกิดความแตกแยกทางความคิดในหมู่ประชาชนอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน มีการแบ่งเป็นฝักเป็นฝาย ขัดแย้งกันอย่างรุนแรงเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
       ที่ผ่านมา มีเสียงเรียกร้องจากหลาย ๆ ฝ่ายให้ผู้ที่มีความคิดเห็นไม่ตรงกันหันหน้าเข้าหากันเพื่อสร้างความสงบให้กับประเทศชาติ ในบรรดาข้อเสนอที่จะทำให้เกิดความสงบในประเทศชาติมีอยู่หลายแนวทางด้วยกัน รัฐบาลชุดที่ผ่านมาได้ตั้ง “คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.)” ขึ้นมาเพื่อหาแนวทางในการสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นในประเทศชาติ นอกจากนี้แล้ว ก็ยังมีแนวทางอีกแนวทางหนึ่งที่เสนอให้มีการ “นิรโทษกรรม” แต่แนวทางในการนิรโทษกรรมนั้นยังไม่มีความชัดเจนเท่าไรนักเพราะยังไม่มีการดำเนินการใด ๆ จากทุก ๆ ฝ่าย นอกจากนี้ ความคิดในเรื่องนิรโทษกรรมที่ได้เสนอออกมาสู่สาธารณะนั้น ผู้เสนอก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะทำอย่างไร จะนิรโทษกรรมเรื่องอะไรหรือนิรโทษกรรมให้กับใครบ้าง ด้วยเหตุนี้เองที่ทำให้เรื่องของการนิรโทษกรรมยังไม่มีความชัดเจนและก็ยังไม่มีคำตอบว่า จะทำได้หรือไม่ อย่างไร
       ในทางวิชาการนั้น มี 3 กรณีที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด อาจจะเรียกได้ว่าเป็นบทยกเว้นของความผิดก็ว่าได้ 3 กรณีที่ว่านี้ก็คือ การอภัยโทษ การนิรโทษกรรมและการล้างมลทิน การอภัยโทษ คือ การให้อภัยในโทษที่กำลังได้รับอยู่ การอภัยโทษจะเป็นการยกโทษให้ทั้งหมดคือไม่ต้องรับโทษที่ยังมีอยู่อีกต่อไปหรือจะเป็นการลดโทษบางส่วนให้ก็ได้ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงและพฤติกรรมของแต่ละบุคคลที่กำลังรับโทษอยู่ การอภัยโทษใช้สำหรับกรณีคดีถึงที่สุดแล้วและบุคคลกำลังได้รับโทษอยู่ ส่วนการนิรโทษกรรม ได้แก่การทำสิ่งที่ผิดกฎหมายให้ถูกต้องตามกฎหมายและไม่เป็นความผิดอีกต่อไป ผลก็คือผู้ที่ทำผิดแล้วได้รับนิรโทษกรรมจะถือว่าผู้นั้นไม่เป็นผู้ที่ทำผิดและไม่ต้องได้รับโทษ สำหรับการล้างมลทินนั้น ก็คือการลบล้างมลทินที่มีอยู่อันเนื่องมาจากการได้รับโทษ เป็นการยกเลิกประวัติที่เคยได้รับโทษให้หมดไป
       ในประเทศไทยนั้น มีการอภัยโทษ การนิรโทษกรรมและการล้างมลทินเกิดขึ้นหลายครั้งแล้ว แต่ในที่นี้จะขอนำมากล่าวถึงแต่เฉพาะเรื่องของการนิรโทษกรรมเท่านั้น ที่ผ่านมาเคยมีการนิรโทษกรรมมาแล้วร่วม 20 ครั้ง การนิรโทษกรรมที่เกิดขึ้นมีหลายเหตุผลด้วย ไม่ว่าจะเป็นการนิรโทษกรรมให้แก่ผู้ทำการปฏิวัติรัฐประหาร เช่น พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ทำรัฐประหาร พ.ศ. 2490 หรือพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการยึดและควบคุมอำนาจการปกครองแผ่นดินเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 พ.ศ. 2534 การนิรโทษกรรมให้แก่ผู้ชุมนุมทางการเมือง เช่น พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่นักเรียน นิสิต นักศึกษาและประชาชน ซึ่งกระทำความผิดเกี่ยวเนื่องกับการเดินขบวนเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2516 พ.ศ. 2516 พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดในการชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ระหว่างวันที่ 4 ถึงวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 พ.ศ. 2521 หรือพระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมกันระหว่างวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 ถึงวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 พ.ศ. 2535 หรือการนิรโทษกรรมให้แก่ผู้ทำการกบฏ เช่น พระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดฐานกบฏและจลาจล พุทธศักราช 2488 เป็นต้น
       ในส่วนของรูปแบบของการนิรโทษกรรมนั้น นอกจากการนิรโทษกรรมจะทำได้โดยการออกเป็นพระราชบัญญัติและพระราชกำหนดดังที่ได้กล่าวไปแล้ว การนิรโทษกรรมยังสามารถเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญได้อีกด้วย ดังเช่นในการรัฐประหารครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ก็มีการเขียนบทบัญญัติที่มีลักษณะเป็นการนิรโทษกรรมเอาไว้ในมาตรา 37 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2549 ว่า “บรรดาการกระทำทั้งหลายซึ่งได้กระทำเนื่องในการยึดและควบคุมอำนาจการปกครองแผ่นดิน เมื่อวันที่ 19 กันยายน พุทธศักราช 2549 ของหัวหน้าและคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รวมตลอดทั้งการกระทำของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำดังกล่าวหรือของผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากหัวหน้าหรือคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือของผู้ซึ่งได้รับคำสั่งจากผู้ที่ได้รับมอบหมายจากหัวหน้าหรือคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อันได้กระทำไปเพื่อการดังกล่าวข้างต้นนั้น การกระทำดังกล่าวมาทั้งหมดนี้ ไม่ว่าเป็นการกระทำเพื่อให้มีผลบังคับในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหาร หรือในทางตุลาการ รวมทั้งการลงโทษและการกระทำอันเป็นการบริหารราชการอย่างอื่น ไม่ว่ากระทำในฐานะตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำ หรือผู้ถูกใช้ให้กระทำ และไม่ว่ากระทำในวันที่กล่าวนั้นหรือก่อนหรือหลังวันที่กล่าวนั้น หากการกระทำนั้นผิดต่อกฎหมาย ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง”และแม้กระทั่งในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน มาตราสุดท้ายคือมาตรา 309 ที่บัญญัติว่า “บรรดาการใด ๆ ที่ได้รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 ว่าเป็นการชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ รวมทั้งการกระทำที่เกี่ยวเนื่องกับกรณีดังกล่าวไม่ว่าก่อนหรือหลังวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ให้ถือว่าการนั้นและการกระทำนั้นชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้” ก็ถือได้ว่าเป็นบทบัญญัติที่มีผลเป็นการนิรโทษกรรมทั้งย้อนหลังและล่วงหน้าได้เช่นกัน
       ผลของการนิรโทษกรรมก็จะเป็นไปตามที่บัญญัติเอาไว้ในกฎหมายนิรโทษกรรม อย่างเช่น พระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมกันระหว่างวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 ถึงวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 พ.ศ. 2535 ได้บัญญัติ “นิรโทษกรรมอย่างกว้าง” เอาไว้ในมาตรา 3 ว่า “บรรดาการกระทำทั้งหลายทั้งสิ้นของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมกันระหว่างวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 ถึงวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 และได้กระทำในระหว่างวันดังกล่าว ไม่ว่าได้กระทำในฐานะเป็นตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำหรือผู้ถูกใช้ หากการกระทำนั้นผิดต่อกฎหมาย ก็ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิดและความรับผิดชอบโดยสิ้นเชิง” ในขณะที่ มาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการอันเป็นความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักรระหว่างวันที่ 25 และวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2520 พ.ศ. 2520 ก็ได้บัญญัติถึงการ “นิรโทษกรรมอย่างแคบ” คือนิรโทษกรรมเฉพาะการกระทำบางอย่างเอาไว้ว่า “บรรดาการกระทำอันเป็นความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักรซึ่งได้กระทำระหว่างวันที่ 25 และวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2520 และบรรดาการกระทำอันเป็นความผิดอื่นที่เกี่ยวเนื่องกับหรือเนื่องจากการกระทำอันเป็นความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักรระหว่างวันดังกล่าว ทั้งนี้ไม่รวมถึงการกระทำอันเป็นความผิดต่อชีวิต ให้ถือว่าการกระทำนั้น ๆ ไม่เป็นความผิดอีกต่อไป ........”
       ทั้งหมดก็คือ บางส่วนของข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจากการนิรโทษกรรมในช่วงเวลาที่ผ่านมาครับ
       
       กลับมาสู่ปัจจุบัน ผมไม่ทราบว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในบ้านเราทุกวันนี้นั้น ต้องการ “นิรโทษกรรม” หรือไม่ แต่อย่างไรก็ตาม หากคำตอบสุดท้ายของการจบสิ้นปัญหาทั้งหลายทั้งปวงของประเทศอยู่ที่การนิรโทษกรรม คำถามที่ตามมาก็คือ จะนิรโทษกรรมอะไรกันบ้าง เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นในช่วงเวลา 5 - 6 ปีที่ผ่านมานั้นมีมากมายหลายอย่างเหลือเกินครับ
       ผมลองประมวลดูว่าจะต้องนิรโทษกรรมอะไรบ้างจากเสียงเรียกร้องของคนหลาย ๆ กลุ่มแล้ว พบว่า มีเรื่องใหญ่ ๆ ที่อยู่ในความต้องการที่จะให้มีการนิรโทษกรรม 3 เรื่องด้วยกันคือ การยุบพรรคการเมืองและการคืนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคการเมืองที่ถูกยุบ เรื่องการคืนทรัพย์ของอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาให้ยึดทรัพย์จำนวนเจ็ดหมื่นหกพันล้านบาทเศษไปเมื่อต้นไปเมื่อต้นปี พ.ศ. 2550 และเรื่องสุดท้ายคือ เรื่องความไม่สงบทางการเมืองที่เกิดขึ้นหลาย ๆ ครั้งในช่วงเวลา 5 - 6 ปีที่ผ่านมา
       ในเรื่องแรกคือ เรื่องการยุบพรรคการเมืองและการคืนสิทธิเลือกตั้งให้แก่กรรมการบริหารพรรคการเมืองที่ถูกยุบนั้น สามารถแยกพิจารณาได้เป็น 2 เรื่องย่อยคือ การยุบพรรคการเมืองและการคืนสิทธิเลือกตั้งให้แก่กรรมการบริหารพรรคการเมืองที่ถูกยุบ โดยในเรื่องของการยุบพรรคการเมืองนั้น การนิรโทษกรรมคงไม่มีผลใด ๆ เกิดขึ้นเพราะพรรคการเมืองทั้งหลายก็ถูกยุบไปแล้วและบรรดาสมาชิกพรรคการเมืองเหล่านั้นก็ได้ไปตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาใหม่กันไปหมดแล้ว การนิรโทษกรรมให้กับเรื่องการยุบพรรคการเมืองจึงไม่เกิดประโยชน์ใด ๆ ทั้งสิ้น เว้นไว้แต่ว่ายังมีคนอยากใช้ชื่อพรรคการเมืองที่ถูกยุบไปครับ ! ส่วนการนิรโทษกรรมเพื่อคืนสิทธิเลือกตั้งให้แก่บรรดากรรมการบริหารพรรคการเมืองที่ถูกยุบนั้น เนื่องจากเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจากบทบัญญัติของประกาศของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 27 ที่ “เพิ่มโทษ” ให้กับพรรคการเมืองที่ถูกยุบว่า ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองที่ถูกยุบมีกำหนด 5 ปีนับแต่วันที่มีคำสั่งให้ยุบพรรคการเมือง และต่อมารัฐธรรมนูญปัจจุบันก็ได้นำเอาการ “เพิ่มโทษ” ดังกล่าวไปบัญญัติไว้ในมาตรา 237 วรรคสองด้วย ดังนั้น หากจะนิรโทษกรรมเรื่องดังกล่าวก็สามารถทำได้ด้วยการออกเป็นกฎหมาย นิรโทษกรรมแต่ก็ต้องไม่ลืมด้วยว่า โทษของการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคการเมืองก็ยังคงอยู่ในรัฐธรรมนูญปัจจุบัน ซึ่งในเรื่องดังกล่าวก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันมากตลอดเวลาว่า โทษของการเพิกถอนสิทธิกรรมการบริหารพรรคการเมืองทุกคนซึ่งอาจมีบางคนได้รับรู้หรือรู้เห็นหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้งเป็นการลงโทษที่รุนแรงและไม่ยุติธรรม ในเรื่องนี้เองที่ผมมีความเห็นว่า การนิรโทษกรรมคงเป็นประโยชน์เฉพาะผู้ที่ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งจำนวน 200 กว่าคนเท่านั้น แต่โทษและความผิดในเรื่องดังกล่าวก็ยังมีอยู่และยังอาจเกิดกับพรรคการเมืองอื่นและกับกรรมการบริหารพรรคการเมืองอื่นได้ (รวมทั้งพรรคเพื่อไทยด้วย) ด้วยเหตุนี้เองที่หากจะแก้ปัญหาเรื่องดังกล่าวอย่างตรงจุด นอกเหนือไปจากการนิรโทษกรรมผู้ที่ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งจำนวน 200 กว่าคนแล้ว ยังอาจต้องทบทวนบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าวด้วยว่าสมควรมีอยู่ต่อไปหรือไม่ เพื่อไม่ให้เกิดเรื่องเช่นนี้อีกในอนาคต
       เรื่องต่อมาคือ เรื่องการนิรโทษกรรมเพื่อให้มีการคืนทรัพย์ของอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นั้น ในความเห็นส่วนตัว แม้ผมจะไม่เห็นด้วยกับการดำเนินการทั้งหมดโดย คตส. ก่อนที่เรื่องดังกล่าวจะถูกส่งต่อมายังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจนนำไปสู่คำพิพากษายึดทรัพย์ แต่เมื่อการยึดทรัพย์ทำโดยคำพิพากษาของศาล ซึ่งมีทั้งโครงสร้างและอำนาจหน้าที่ตามที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายรองรับไว้ หากจะมีการนิรโทษกรรม ก็ต้องทำให้คำพิพากษาดังกล่าวสิ้นผลลง ซึ่งผมเห็นว่าการกระทำเช่นนั้นจะส่งผลกระทบตามมามากมาย รวมทั้งยังอาจเป็นประเด็นต่อเนื่องไปในอนาคตด้วยหากเราออกกฎหมายมายกเลิกเพิกถอนคำพิพากษาของศาล ดังนั้น ในขณะนี้คงต้องเคารพผลของคำพิพากษาที่ออกมาครับ
       แต่อย่างไรก็ตาม หากจะต้องเอาทรัพย์สินที่ถูกยึดไปคืนจริง ๆ ก็พอมีทางอยู่บ้าง แต่คงไม่สามารถกล่าวในที่นี้ได้เพราะอาจเกิดประเด็นใหม่ขึ้นมาเป็นข้อโต้เถียงซึ่งก็จะกระทบกับบรรยากาศของการปรองดองที่กำลังจะเกิดขึ้นได้ครับ
       ส่วนเรื่องสุดท้ายคือ เรื่องการนิรโทษกรรมให้แก่ผู้ชุมนุมและก่อความไม่สงบในช่วงเวลา 5 - 6 ปีที่ผ่านมานั้น ที่ดีที่สุดและถูกต้องเหมาะสมที่สุดก็คือ รอให้มีความชัดเจนก่อน ควรรอบทสรุปของการทำงานของ “คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.)” ก่อนว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นและความรุนแรงที่เกิดขึ้นในแต่ละครั้งนั้น ความจริงคืออะไร ใครผิด ใครถูก พูดกันง่าย ๆ ก็คือ ต้องมีข้อยุติ ต้องมีผู้รับผิดชอบ ต้องทราบว่าใครเป็นผู้ทำผิดและต้องทำความจริงให้ปรากฏก่อน มิฉะนั้นเรื่องของ “ชายชุดดำ” “ผู้ก่อการร้าย” หรือ “91 ศพ” ก็จะยังคงเป็นประเด็นที่เราสงสัยกันอยู่ต่อไปไม่รู้จบ เมื่อมีข้อยุติที่ชัดเจนแล้ว หาก คอป. เห็นว่าควรนิรโทษกรรม ก็ค่อยมาออกกฎหมายนิรโทษกรรมกันต่อไป ซึ่งก็ทำได้แม้เวลาจะผ่านไปหลายปีแล้วก็ตาม เคยมีตัวอย่างของการนิรโทษกรรมลักษณะนี้มาแล้วคือ พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ระหว่างวันที่ 4 ถึงวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 พ.ศ. 2521 เป็นกฎหมายที่ออกมาในปี พ.ศ. 2521 เพื่อนิรโทษกรรมให้กับการกระทำที่เกิดขึ้นในระหว่างวันที่ 4 - 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 โดยในคำปรารภของกฎหมายดังกล่าวก็ได้เขียนคำอธิบายเจตจำนงของการนิรโทษกรรมเอาไว้ดีมากคือ .........โดยที่ได้พิจารณาเห็นว่าการพิจารณาคดีเนื่องในการชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ระหว่างวันที่ 4 ถึงวันที่ 6 ตุลาคม 2519 นั้นได้ล่วงเลยมานานพอสมควรแล้วและมีท่าทีว่ายืดเยื้อต่อไปอีกนาน ถ้าจะดำเนินคดีต่อไปจนเสร็จสิ้นก็จะทำให้จำเลยต้องเสียอนาคตในทางการศึกษาและการประกอบอาชีพยิ่งขึ้น และเมื่อคำนึงถึงว่าการชุมนุมดังกล่าวก็ดี การกระทำอันเป็นความผิดทั้งหลายทั้งปวงก็ดี เกิดขึ้นเนื่องจากความไม่เข้าในสถานการณ์ที่แท้จริงเพราะเหตุแห่งความเยาว์วัยและขาดประสบการณ์ของผู้กระทำความผิด ประกอบกับรัฐบาลนี้มีความประสงค์อย่างแน่วแน่ที่จะให้เกิดความสามัคคีในระหว่างคนในชาติ จึงเป็นการสมควรให้อภัยการกระทำดังกล่าวนั้นเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้กระทำความผิด ทั้งผู้ที่กำลังถูกดำเนินคดีอยู่และผู้ที่หลบหนีไปได้ประพฤติปฏิบัติตนในทางที่ถูกที่ควรและกลับมาร่วมกันทำคุณประโยชน์และช่วยกันจรรโลงประเทศชาติให้เจริญรุ่งเรืองต่อไป ....
        ทั้งหมดก็คือความเห็นของผมเกี่ยวกับเรื่องของการนิรโทษกรรมและก่อนที่จะจบบรรณาธิการนี้ ก็ขอฝากไปยังรัฐบาลใหม่ด้วยว่า ทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการนิรโทษกรรมนั้น รัฐบาลไม่ควรทำเองและไม่ควรเข้าไปยุ่งเกี่ยวใด ๆ ทั้งสิ้นเพราะถือว่ามีส่วนได้เสียโดยตรง หากรัฐบาลยังยืนยันที่จะให้ คอป. ทำงานต่อไป ก็คงจะต้องขอให้ คอป. พิจารณาเลยไปถึงว่า เพื่อสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นในประเทศควรมีการนิรโทษกรรมไหม นิรโทษกรรมใคร นิรโทษกรรมการกระทำใด เมื่อได้ข้อยุติที่ชัดเจนจาก คอป. แล้ว รัฐบาลจึงค่อยไปดำเนินการต่อตามข้อเสนอของ คอป. ต่อไปครับ
       
       ท้ายที่สุด ขอต้อนรับรัฐบาลใหม่ที่เป็นรัฐบาล “ของประชาชน” ผมหวังว่า รัฐบาลของประชาชนคงปฏิบัติหน้าที่อย่างดีที่สุด “เพื่อประชาชน” ครับ
       
       ในสัปดาห์นี้เรามีบทความมานำเสนอ 3 บทความด้วยกัน บทความแรกเป็นบทความเรื่อง “ความเห็นแย้งต่อคำสั่งศาลโลก 18 ก.ค. 2554 และข้อเสนอแนะ” ที่เขียนโดย ดร.สุวันชัย แสงสุขเอี่ยม อดีตสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ บทความที่สองคือบทความเรื่อง “เมื่อประธานศาลรัฐธรรมนูญลาออก” ที่เขียนโดย คุณวิปัสสนา ปัญญาญาณ บทความสุดท้ายเป็นบทความของคุณชำนาญ จันทร์เรือง ที่เขียนเรื่อง “วิจารณ์ร่าง พรบ.เชียงใหม่มหานครฯ” ผมขอขอบคุณเจ้าของบทความทั้งสามครับ
       
       พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 29 สิงหาคม 2554
       
       ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์


พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=1622
เวลา 22 พฤศจิกายน 2567 13:20 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)